วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

นิทานสอนใจ : ยิ่งให้เร็ว นั่นแหละจะยิ่งช้านิทานสอนใจ

"ยิ่ง ให้เร็ว นั่นแหละจะยิ่งช้า" นิทานเรื่องนี้จะมีประโยชน์มากสำหรับครูบาอาจารย์ สำหรับเรื่องนี้ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้เรียกตัวเองว่าครูก็ตาม ก็ควรจะสนใจฟังในฐานะที่ว่าจะเป็นปัจจัย เกื้อกูลแก่ความเข้าใจธรรม และปฏิบัติธรรม เรื่องเล่านี้มีอยู่ว่ามีชายคนหนึ่ง เขาอยากเป็นนักฟันดาบที่เก่งกาจ เขาไปหาอาจารย์สอนฟันดาบเพื่อให้ช่วยสอนเขาให้เป็นนักฟันดาบ
     
       เขาถามอาจารย์ว่า "จะใช้เวลานานสักกี่ปี" อาจารย์ตอบว่า "ประมาณ 7 ปี" เขา สักจะรวนเร เพราะว่า 7 ปีนี้มันเป็นเวลาที่นานเกินไป ฉะนั้นเขาจึงขอร้องใหม่ว่า เขาจะพยายามให้สุดฝีมือ สุดความสามารถในการฝึกฝน ทั้งกำลังกายและกำลังใจทั้งหมด ถ้าเป็นเช่นนี้จะใช้เวลาสักกี่ปี อาจารย์ก็บอกว่า "ถ้าอย่างนั้นจะต้องใช้เวลาสัก 14 ปี" (แทนที่จะเป็น 7 ปี ก็ดันกลายมาเป็น 14 ปี)
     
       ชายหนุ่มคนนั้นก็อวดครวนขึ้นมาว่า บิดา ของเขาแก่มากแล้ว อาจจจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นานนัก เขาจะพยายามอย่างยิ่ง ให้บิดาของเขาได้ทันเห็นฝีมือฟันดาบของเขาก่อนตาย เขาจะแสดงฝีมือฟันดาบของเขาให้บิดาของเขาชม ให้เป็นที่ชื่นใจแก่บิดาเขาจะพยายามอย่างยิ่งที่จะแสดงความสามารถ ให้ได้ทันตอบแทนพระคุณของบิดา จะต้องใช้เวลาสักเท่าไร ขอให้อาจารย์คิดดูให้ดีๆ อีกครั้ง
     
       ท่านอาจารย์ก็บอกว่า "ถ้าอย่างนั้นต้อง 21 ปี" นี่มันเป็นอย่างไรขอให้คิดดู ว่าแทนที่จะลดลงมา มันกลายเป็นเพิ่มขึ้นเป็น 21 ปี ชายหนุ่มคนนั้นจะเล่นงานอาจารย์อย่างไรก็ไม่ได้ เพราะว่าเขาเป็นอาจารย์จะทำอย่างอื่นก็ไม่ถูกไม่ควร นึกไม่ออกว่าต้องทำอย่างไรดี เพราะว่าไม่ใครที่จะสอนฟันดาบได้ดีกว่านี้ ซึ่งเป็นอาจารย์ระดับประเทศเลยก็ว่าได้ ดังนั้นเขาจึงอดทนอยู่กับอาจารย์คนนี้ โดยที่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี
     
       หลายวันต่อมา อาจารย์ก็สั่งให้ชายคนนี้ไปทำงานในครัว ให้ตักน้ำ ผ่าฟืน และงานทุกอย่างที่อยู่ในครัว แทนการสอนให้จับดาบ ฟันดาบ
     
       เมื่อเวลาผ่านมานานพอสมควร วันหนึ่งอาจารย์ผลุนผลันเข้าไปในครัว ด้วยดาบทั้งสองมือ ฟันชายหนุ่มคนนั้นทั้งๆ ที่เขาไม่รู้ตัว เกิดเหตุการณ์อลหม่านขึ้นครั้งใหญ่ เขาจึงต่อสู้ตามเรื่องตามราวของเขา ตามที่กำลังของเขาจะสู้ได้ โดยที่เขาใช้สิ่งของที่อยู่ใกล้ๆ ตัวที่พอจะหาได้และจับได้ทันมาใช้แทนดาบ ไม่นานนักการต่อสู้ก็ยุติลง อาจารย์ก็เดินจากไป
     
       หลายวันต่อมาเขาก็ถูกอาจารย์ทดสอบด้วยวิธีนี้อีก โดยที่ไม่ทันได้ตั้งตัว จนกระทั่งอาจารย์บอกว่ากลับบ้านได้ นั่นหมายความว่าเขา เรียนฟันดาบจบหลักสูตรแล้ว และปรากฏว่า ต่อมาชายหนุ่มคนนี้ก็กลายเป็นนักฟันดาบที่โด่งดังมีชื่อเสียงในประเทศญี่ปุ่น
     
       นิทานเรื่องนี้ก็จบลง ท่านลองคิดดูว่า นิทานเรื่องนี้สอนว่าอย่างไร? ตอบสั้นๆ ที่สุดก็คือ การทำอะไรด้วยความตั้งใจและมุ่งมั่นว่าตัวตนของตัวเองนั้นใช้ไม่ได้ ก็ไม่มีทางที่จะเกิดผลที่ดีได้ คือถ้าชายหนุ่มคนนี้ยังคิดว่ากูจะดี กูจะเด่นละก็ มีตัวกูเข้ามาฝึก เป็นตัวกูที่ใหญ่เอาการอยู่เหมือนกัน ที่นี้ยิ่งจะทำให้ดีที่สุด ก็จะทำให้ดีที่สุดและให้เร็วที่สุดอย่างนี้ด้วยแล้ว ไอ้ตัวกูมันยิ่งขยายออกไปอีก ถ้ายิ่งจะทันให้บิดาได้เห็น บิดาก็แก่มากแล้ว ตัวกูมันยิ่งพองมากออกไปอีก มันยิ่งเร่งร้อนออกไปอีก อย่างนี้ก็ยิ่งทำให้จิตไม่มีสมาธิ จิตเต็มอัดไปด้วยตัวกูที่กลัดกลุ้มไปด้วยตัวกูของกู ไม่เป็นจิตที่ว่างเปล่า ไม่มีสติปัญญาที่อยู่ในจิต และไม่สามารถมีสมรรถภาพเดิมๆ แท้จริงของจิตออกมาได้ เพราะมันกลัดกลุ้มอยู่ด้วยอุปาทาน ว่าด้วยตัวกูของกู หรือเป็นความเห็นแก่ตัวนี่เองมันเลยไม่เฉียบแหลม ไม่ว่องไว ไม่ active ฉะนั้นถ้าขืนทำไปอย่างนั้นจริงๆ แล้วจะต้องใช้เวลา 7 ปี หรือว่า 14 ปี หรือไม่ก็ 21 ปีจริงๆ

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
       ขณะที่เขาอยู่ในครัวนั้น เขาไม่มีความรู้สึกว่าตัวกู ของกู กูจะต้องฝึกฟันดาบในเก่งให้ได้ในเวลา 7 ปี หรือให้บิดาทันได้เห็นถึงความสามารถของลูกชายให้ได้ ความรู้สึกแบบนี้มันเลยไม่มีในตอนนั้น ซึ่งทำให้จิตเขาว่างเปล่า ถึงแม้ว่าอาจารย์จะผลุนผลันเข้าไปในลักษณะอย่างไร ปฎิภาณของจิตว่าง หรือจิตที่แท้จริงนี้ ก็มีมากพอที่จะต่อสู้ออกไปอย่างถูกต้องได้ มันเป็นการเรียกร้องขึ้นมา หรือปลุกขึ้นมาจากการหลับตามวิธีของอาจารย์ที่เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ให้กลายมาเป็นจิตที่เบิกบานเต็มที่ ซึ่งสามารถเอาไปใช้ได้เลย เขาจึงเป็นผู้ที่สำเร็จหลักสูตรโดยวิธีอันประหลาดนั้น ภายในเวลาอันสั้น ไม่ต้องใช้เวลานานถึง 7 ปีอย่างนี้เป็นต้น
     
       เกี่ยวกับข้อนี้ อยากจะให้ท่านครูบาอาจารย์สนใจที่จะนึกดูว่าความรู้สึกที่เป็นตัวตน หรือเป็นของตนนั้น อยู่ที่ตรงไหน? เหมือนอย่างที่ว่า เรา จะยิงปืนหรือยิงธนู หรือว่าขว้างแม่นในการกีฬาขว้างแม่น ถ้าจิตของผู้ขว้างมีความรู้สึกเป็นตัวกูของกู เป็นชื่อเสียงของกู ชื่อเสียงของโรงเรียนกู หรือของมหาวิทยาลัยของกูมันรัวอยู่ในใจแล้วจะไม่มีวันที่จะขว้างแม่นหรือ ขว้างถูกได้เลย เพราะว่ามันสั่นระรัวอยู่ด้วยตัวกูหรือของกูนี้
     
       ทั้งนั้น ที่ถูกที่ควรต้องมีความตั้งใจ ที่จะทำเพื่อเกียรติยศ ชื่อเสียงของโรงเรียนหรืออะไรก็ตาม แล้วจะต้องลืมให้หมด ลืมแม้แต่ตัวกู โรงเรียนกู มหาวิทยาลัยกู ให้เหลือแต่สติปัญญาและสติสัมปชัญญะที่ขว้างด้วยอำนาจของสมาธิเท่านั้น คือพูดตรงๆ ว่า ขณะนั้นมีแต่จิตที่มีสมาธิกับสติปัญญาเท่านั้น ตัวกู ของกูไม่มีเลย มันจึงเป็นจิตแท้ เป็นจิตตามสภาพของจิต มือไม้ไม่สั่น ใจไม่สั่น ประสาทไม่สั่น อะไรๆ ก็ไม่สั่น ปกติเป็น active ถึงที่สุดแล้วเขาจะขว้างแม่น เหมือนดั่งปาฏิหาริย์
     
       หรือว่าในการจัดดอกไม้ในแจกัน คน จัดจะต้องทำจิตให้ว่างจากความเห็นแก่ตัวกู หรือชื่อเสียงของกู ตลอดจนถึงโรงเรียนของกู หมู่คณะของกูเสียก่อนแล้วเสียบดอกไม้ด้วยจิตที่ว่างเปล่าและบริสุทธิ์ นั่นแหละคือสติปัญญาล้วนๆ ไม่มีตัวกู ไม่มีของกูเจือปนอยู่ ก็จะได้แจกันที่สวยที่สุดที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน นี่เขาถือว่าเป็นหลักของนิกายเซ็น
     
       ฉะนั้นขอให้สนใจในการที่จะทำอะไรหรือมีชีวิตอยู่ด้วยความไม่มีตัวกู ของกู มันยิ่งจำเป็นมากสำหรับครูบาอาจารย์ ที่จะสอนเด็กให้ทำงานฝีมือดีด้วยจิตใจที่ปกติ ไม่สั่นในระบบประสาท ไม่สั่นในระบบความนึกคิด หรือว่าเมื่อเด็กๆ จะสอบไล่ เมื่อเขารู้สึกตัวอยู่แล้วว่า จะต้องสอบได้แล้วจะไปมัวห่วงกลัวจะสอบตก จะเสียชื่อ จะเสียเวลา ถ้าสอบไม่ได้จะไปกระโดดน้ำตาย เป็นต้น จะไปนึกทำไมว่านั่นเป็นเรื่องตัวกู ของกู เด็กคนนั้นจะต้องลืมสิ่งเหล่านั้นให้หมด แต่ถ้าเป็นการลืมแม้กระทั่งตัวเอง กับคำว่า "ลืมตัวเอง"คงจะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยดีนัก
     
       เด็กๆ ในขณะที่สอบไล่นั้นจะต้องลืมหมดแม้กระทั่งตัวเอง เหลืออยู่ในใจแต่ว่า โจทย์ปัญหาว่าอย่างไร มีใจความว่าอย่างไร แล้วคำตอบควรจะเป็นอย่างไร ถ้าจิตใจว่างจากตัวกู ว่างจากของกูแล้ว วิชาความรู้ต่างๆ ที่เคยสะสมมาตั้งแต่แรกเรียนนั้น จะกลับมาหาเราเอง ให้พวกเขาได้พบกับคำตอบอย่างถูกต้อง แต่ถ้าเขากลัดกลุ้มอยู่ด้วยตัวกูของกูแล้ว แม้เขาจะเรียนมามากอย่างไร มันก็จะไม่กลับมาหา มันมีอาการเหมือนกับการลืมหรือนึกไม่ออกนั่นแหละ แล้วมันจะระส่ำระส่ายรวนเรไปหมด ทำให้ไม่สามารถตอบคำถามได้
     
       ถ้าเด็กๆ สอบไล่ด้วยจิตที่ว่างเปล่า ผลการสอบออกมาจะได้ยิ่งกว่าการเป็นที่หนึ่งเสียอีก ฉะนั้นเขาจึงมีการสอนในเรื่องที่อย่าทำอะไรด้วยจิตที่สั่นระรัวด้วยตัวกู ของกู เพราะว่าการทำอย่างนั้น ยิ่งจะทำให้เร็วมันก็จะยิ่งช้าที่สุด ตามชื่อของนิทานเรื่องนี้ที่ว่า "ยิ่งให้เร็ว นั่นแหละจะยิ่งช้า" หรือไม่มันจะยิ่งทำไม่ได้เลย
     

3 ความคิดเห็น:

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

ที่มาค่ะ

http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000102310

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

พ่อแม่ และโรงเรียนชั้นนำในเมืองไทยหลายๆแห่ง ไม่รู้ว่า ตัวเองไม่รู้ ว่า อัตตาของตนนั้น ทำลายอัจฉริยภาพของลูก และทำลายอนาคตของชาติอย่างไร

น่าเสียดาย อาจจะเป็นกรรมของชาติก็ได้ มีคนที่มีศักยภาพมากมาย แต่กลับถูกทำลาย เพราะความ "ไม่รู้"

MeesubandMeesuk กล่าวว่า...

อืม....นิทานเรื่องนี้น่าคิด แต่อย่างน้อยก็มีหลายคนที่ผ่านมาและได้อ่าน เอาเก็บไปคิดแล้วหล่ะ