วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

“ห้องสมุดการเรียนรู้” โฉมใหม่ไฉไลชวนค้นหา



“จากผลสำรวจของสำนัก งานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา ในเด็กระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา พบว่า เด็กไทยอ่านหนังสือเพียงปีละ 2 เล่ม ลดลงถึง 60% หากเปรียบเทียบกับปี 2548 ที่เด็กไทยอ่านหนังสือ ปีละ 5 เล่มต่อคน ต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ที่มีการอ่านหนังสือ 60 เล่มต่อคนต่อปี”

เห็นแบบนี้แล้วก็ตกใจ หากเป็นในสมัยก่อนการจะได้เรียนหนังสือมีความรู้อ่านออกเขียนได้แม้จะเป็น ความใฝ่ฝันของหลายคน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายเหมือนปัจจุบัน ยิ่งในต่างจังหวัดในชนบทด้วยแล้วกว่าจะได้หนังสือมาหัดอ่านมาหาความรู้แต่ละ เล่มมันช่างยากลำบาก แต่ในปัจจุบันโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ด้วยแล้ว การจะได้อ่านหนังสือเป็นเรื่องที่ง่ายยิ่งกว่าปลอกกล้วยเข้าปากเสียอีก แต่อาจจะเป็นเพราะในยุคนี้พ.ศ.นี้โลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนเข้าสู่ ยุคดิจิตอล หนังสือจึงเป็นสิ่งที่ดูล้าสมัย ถูกมองข้าม และถูกลืม


ทางกองนันทนาการ สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนโยบายส่งเสริมเด็ก เยาวชน และประชาชนให้รักการอ่าน จึงได้ทำการปรับปรุงห้องสมุดเดิมให้มีรูปแบบใหม่ที่มีความทันสมัย สวยงาม สะดวกเข้าถึงง่าย น่าเข้าใช้บริการ เช่นห้องสมุดที่ฉันได้ไปลองใช้ลองสัมผัสมาแล้วนั้นก็คือ “ห้องสมุด เพื่อการเรียนรู้ ซอยพระนาง”


สำหรับห้องสมุดฯ แห่งนี้ เป็นที่ดินที่กรุงเทพมหานครเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารเดิมและก่อสร้างอาคารห้องสมุดใหม่เพิ่มอีก 1 หลัง เชื่อมต่อกับอาคารเดิมออกแบบตกแต่งให้เป็นห้องสมุดภาพลักษณ์ใหม่ เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกวัย มีเทคโนโลยีการเรียนรู้สมัยใหม่ที่ครบวงจร สะดวก รวดเร็ว ทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความรู้และข้อมูลที่ตรงกับความต้องการ โดยเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. 2550 ที่ผ่านมา

ส่วนบรรยากาศภายในห้องสมุดก็จะเป็นแบบที่ผ่อนคลาย สภาพแวดล้อมสดชื่น สวยงาม สร้างแรงจูงใจโดยการออกแบบภายในและนอกอาคารที่เหมาะสมสวยงาม บริการสืบค้นด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบอินเทอร์เน็ต บริการยืม-คืนแบบ One Stop Service ที่ทันสมัย


ภายในอาคารทั้ง 2 หลังที่เชื่อมต่อกันด้วยระเบียงทางเดินระหว่างอาคารนั้นมีพื้นที่ 3 ชั้น ในทุกๆชั้นจะมีเคาน์เตอร์บริการคอยให้คำแนะนำเพื่อความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้ บริการ โดยในชั้นแรกแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 โซนด้วยกัน เมื่อเข้าไปภายใน “โถง ต้อนรับ” ฉันเจอกับเคาร์เตอร์ประชาสัมพันธ์ ที่มีพนักงานของห้องสมุดคอยให้คำแนะนำ และในโซนนี้ยังจัดเป็นมุมอ่านหนังสือพิมพ์ วารสาร และนิตยสาร ที่มีให้เลือกหยิบอ่านได้ทุกเรื่องทุกแนว ทั้งยังมีบริการสืบค้นข้อมูล และอินเทอร์เน็ตไว้บริการกันด้วย


โซนถัดไปใครที่อายุเกิน 8 ปี เป็นต้องหลีกทางให้กับหนูน้อย เพราะโซน “Kids Room“ หรือ ห้องสมุดสำหรับน้องๆวัยซนนี้เขาสงวนสิทธิ์ให้เด็กๆที่มีอายุต่ำกว่า 8 ปีเข้ามาใช้บริการเท่านั้น น้องๆจะได้สนุกสนานไปกับสื่อการสอนที่ทันสมัย ทั้งยังได้เพลิดเพลินกับนิทาน การ์ตูน สำหรับเด็กๆทุกเพศทุกคน


จากนั้นฉันขึ้นไปยังชั้นที่ 2 โซนแรกของชั้นนี้คือ “บริการ หนังสือยอดนิยม หนังสืออ้างอิง และหนังสือวิชาการต่างๆ” ที่น่าสืบ ค้น โดยแบ่งออกเป็นหมวดต่างๆ ได้แก่ ความรู้ทั่วไป, ปรัชญา, ศาสนา, สังคมศาสตร์, ภาษาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ หากเดินต่อไปข้ามระเบียงทางเดินเชื่อมจะเป็นก็จะเป็นโซนของหนังสือวิชาการ ต่ออันได้แก่ หมวดเทคโนโลยี, ศิลปะและนันทนาการ, วรรณคดี และประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีที่นั่งสบายๆไว้ให้นั่งทำการบ้านอีกด้วย


ต่อไปเป็นชั้นที่ 3 จัดเป็นโซน “หนังสือเพื่อความบันเทิง” อันได้แก่ นวนิยาย นวนิยายจีน วรรณกรรมเยาวชน เรื่องสั้น และเรื่องแปลต่างๆ นอกจากนี้ยังมีมุมที่รวบรวมหนังสือของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และมุมหนังสือของสมเด็จพระเทพฯ ไว้ให้ผู้ใช้บริการได้ศึกษาหาความรู้และทราบถึงพระราชกรณียกิจที่สำคัญต่างๆ

โซนสุดท้ายคือ “ห้องมินิเธียเตอร์” ที่ในทุกๆวันเสาร์และอาทิตย์จะมีภาพยนตร์ที่น่าสนใจต่างๆมาฉายให้ได้รับชม กันอย่างเพลิดเพลิน เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลในส่วนนี้บอกกับฉันว่าหนังบางเรื่องมีเยาวชนและผู้คนให้ ความสนใจมากขนาดมารับชมกันจนเต็มห้องเลยทีเดียว ส่วนจะมีเรื่องอะไรฉายบ้างนั้นต้องติดตามดูกำหนดการของทางห้องมินิเธียเตอร์ ได้ตลอดเวลาทำการ สำหรับห้องมินิเธียเตอร์นี้ภายในจะมีเบาะที่นั่งนุ่มๆให้เราได้นั่งชม ภาพยนตร์กันอย่างสบายๆ และจุได้หลายสิบคน แอร์ก็เย็นฉ่ำ เรียกได้ว่าเป็นโรงหนังขนาดเล็กดีๆเลยเชียว หรือผู้ใช้บริการคนใดอยากจะยืมเพลงหรือหนัง ในรูปแบบ CD VCD และ DVD ก็สามารถมาค้นหาเรื่องที่สนใจกันได้ที่นี่


สำหรับฉันขอบอกเลยว่าจะให้อยู่ที่นี่ทั้งวันก็ย่อมได้ไม่มีเบื่อ เหมือนกับผู้ใช้บริการหลายคนที่มีทั้งขาประจำ และขาจร กลุ่มนักเรียนที่มาทำรายงาน วัยรุ่นที่มานั่งอ่านนวนิยาย หรือผู้ใหญ่ที่แวะมานั่งอ่านหนังสือพิมพ์ก็มีให้เห็นตลอดทั้งวัน จากที่เห็นด้วยตาฉันถือว่าเป็นห้องสมุดที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีที เดียว


นอกจากนั้นในบริเวณห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ ซอยพระนาง แห่งนี้ยังตั้งอยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิศูนย์กลางแห่งการเดินทางทั้ง รถไฟฟ้า รถประจำทาง รถตู้โดยสาร มีให้บริการอย่างสะดวกสบาย อีกทั้งยังมีแหล่งช้อปปิ้งที่พอตกเย็นย่ำใกล้ค่ำมืดทางเท้าที่เคยว่างๆจะ เปลี่ยนสภาพเป็นร้านค้าที่ครบครันทั้งเสื้อผ้า หน้า ผม ไปจนถึงรองเท้า เครื่องประดับ มีให้เลือกซื้อหากันอย่างจุใจ และถ้าห้างเซ็นเตอร์วันไม่ถูกเผาโดยกลุ่มผู้ไม่หวังดีคิดแต่จะทำลายบ้าน เมืองเพื่อผลประโยชน์ของใครบางคนล่ะก็ จะยิ่งมีแหล่งซื้อหาสินค้าให้ช้อปกระจายกันจนฉุดไม่อยู่เลยเชียวหละ..ไม่ เชื่อลองมาซิ


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ห้องสมุดเพื่อการ เรียนรู้ ซอยพระนาง ตั้งอยู่ที่ปากซ.พระนาง (ซ.ราชวิถี 4) ถ.ราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ เปิดให้บริการฟรีทุกวันอังคาร-เสาร์ เวลา 08.30-20.00 น. สำหรับวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-17.00 น. สำหรับผู้ที่ต้องการยืมหนังสือต้องสมัครสมาชิก โดยเสียค่าสมัครสมาชิกในผู้อายุไม่เกิน 15 ปี 20 บาท/คน/ปี และค่าประกันหนังสือ 20 บาท, ผู้ที่อายุ 15 ปีขึ้นไป 40 บาท/คน/ปี และค่าประกันหนังสือ 40 บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 0-2246-3517

1 ความคิดเห็น:

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 13 กรกฎาคม 2553 16:24 น.
โดย : หนุ่มลูกทุ่ง