วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เลี้ยงลูกแบบไหนให้เข้าข่าย Generation ME!! / สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน


น้องเชียร์กับ คุณสรวงมณฑ์ ในงานลับสมอง ประลองปัญญา ปี 2555



เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีข่าวที่ฮือฮามากในนิตยสาร “TIME” ที่ทำสกู๊ปหน้าปกเรื่อง “ME ME ME Generation” พร้อมภาพเด็กหญิงวัยสาวกำลังนอนราบกับพื้นและยกกล้องจากโทรศัพท์มือถือขึ้นโน้มลงมาถ่ายรูปหน้าตัวเอง

เนื้อหาเกี่ยวข้องกับคนรุ่นใหม่ ที่อ้างข้อมูลของโจเอล สไตน์ จาก “The National Institutes of Health” (สถาบันสุขภาพแห่งชาติอเมริกา) พบว่า คนรุ่นใหม่กว่า 80 ล้านคนในอเมริกาที่เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1980-2000 นั้นหลงตัวเองเป็นสามเท่าของคนรุ่นพ่อแม่ และกว่า 80% ของคนรุ่นนี้ที่มีอายุต่ำกว่า 23 ปี ต้องการได้งานที่มีความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่

คนรุ่นใหม่นั้นได้รับการปลูกฝังเลี้ยงดูภายใต้วัฒนธรรม “แค่เข้าร่วมก็ได้ประกาศนียบัตร” โดยไม่สนใจถึงประสิทธิผลหรือวิธีการหรือความสำคัญของการเข้าร่วม ซึ่งทำให้พวกเขามักคิดว่า หากทำงาน พวกเขาควรได้รับการโปรโมตเลื่อนขั้นทุกๆ สองปีโดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาที่ผลงานหรือประสิทธิภาพ

และจากข้อมูลดังกล่าว เขาเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Generation ME หรือกลุ่มที่มองตัวเองสำคัญที่สุด มองว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งอย่าง หรืออีกคำที่เขาเรียกว่าเป็นกลุ่มหลงตัวเอง



คนที่มี “บุคลิกภาพหลงตัวเอง” สรุปคร่าวๆ มักจะมีอาการและพฤติกรรม ดังนี้

(1) ปฏิกิริยาต่อการวิพากษ์วิจารณ์ ด้วยความโกรธแค้น สร้างความน่าละอาย/ขายหน้า และความอัปยศน่าอดสู


(2) เอาเปรียบผู้อื่น เพื่อตอบสนองความต้องการชนะ หรือวัตถุประสงค์ของตนเอง

(3) มีความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนสำคัญมากเกินพอดี

(4) พูดขยายเกินกว่าความเป็นจริงเกี่ยวกับความสำเร็จหรือความสามารถของตนเอง

(5) มีใจหมกมุ่นกับจินตนาการความสำเร็จ พลัง อำนาจ ความงาม สติปัญญา หรือรักในอุดมคติ

(6) ใช้เหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผล กับสิ่งที่ตนเองชื่นชอบ หลงใหล คาดหวัง

(7) ต้องการเป็นที่ชื่นชม ยอมรับและหลงใหลอยู่ตลอดเวลา

(8) เพิกเฉย ไม่เอาใจใส่ต่อความรู้สึกของผู้อื่น และมีความพยายามเพียงน้อยนิดที่จะแสดงความเห็นใจผู้อื่น

(9) คิดหมกมุ่นอยู่กับผลประโยชน์และความต้องการของตนเอง

(10) ไล่ตามเป้าหมายที่เห็นประโยชน์แก่ตนเอง

แม้จะมีความพยายามในการวิเคราะห์สาเหตุว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แต่ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนใหญ่และส่วนสำคัญที่สุดก็คือ การเลี้ยงดูของพ่อแม่มีส่วนอย่างมาก

แล้วเด็กแบบไหนกันที่มีแนวโน้มถูกเลี้ยงดูให้กลายเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ถูกเรียกว่า Generation ME !!

ประการแรก ลูกเป็นศูนย์กลางของบ้าน

ถ้าเปรียบเทียบกับการเลี้ยงดูของชาวจีนก็ประมาณว่าจักรพรรดิน้อย ที่พ่อแม่คอยพะเน้าพะนอ อยากได้อะไรก็ได้ ไม่ว่าจะกิน จะนอน จะเล่น จะเที่ยว จะให้ลูกเป็นผู้กำหนดตั้งแต่เล็ก ยกให้ลูกเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะรักลูกอยากตามใจลูก โดยหารู้ไม่ว่าสิ่งเหล่านี้กำลังหล่อหลอมให้ลูกของเรากลายเป็นเด็กที่เอาแต่ใจตัวเอง และมองตัวเองสำคัญที่สุด ไม่สนใจความรู้สึกของผู้อื่น

ประการที่สอง ลูกไม่เคยผิดหวัง

สืบเนื่องมาจากการเป็นศูนย์กลางของบ้าน เพราะฉะนั้นเมื่อผู้ใหญ่ในบ้านไม่เคยขัด และตามใจมาโดยตลอด จึงมักตอบสนองในทุกเรื่อง แม้บางเรื่องเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เช่น การที่ลูกอยากได้ของเล่นของคนอื่น พ่อแม่ก็จะต้องพยายามหาทางให้ลูกได้ของเล่นชิ้นนั้น ไปขอยืมมา หรือไม่ก็ต้องดิ้นรนหาซื้อของเล่นชิ้นใหม่จนได้ เป็นต้น

ประการที่สาม ลูกไม่เคยแพ้

ในที่นี้เป็นเรื่องการแข่งขันที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เล็ก เป็นเด็กที่ต้องชนะ ไม่ว่าจเะเป็นการเล่นเกม หรือการเรียนก็ตาม ยกตัวอย่าง พ่อแม่ที่เล่นกับลูก ถ้าเป็นเกมที่ต้องมีผู้แพ้ชนะ พ่อแม่มักยอมให้ลูกเป็นฝ่ายชนะตลอด เวลาลูกแพ้ ลูกมักร้องไห้หรืออารมณ์เสีย แทนที่พ่อแม่จะสอนให้ลูกรู้จักการแพ้ชนะอย่างเป็นธรรมชาติและถูกต้องตามกฎกติกา และให้เขาได้รู้จักการจัดการกับอารมณ์นั้น แต่พ่อแม่มักอ้างว่ารักลูก กลัวว่าลูกเสียใจก็เลยยอมแพ้ลูกตลอด จนเมื่อลูกต้องไปมีสังคมของเขาเอง เมื่อเขาแพ้ก็จะรู้สึกทนไม่ได้ ไม่ชอบหน้าอีกฝ่าย หรือบางทีก็กลายเป็นโกรธผู้นั้นไปเลย

ประการที่สี่ ลูกไม่เคยลำบาก

ข้อนี้มักเกิดกับกลุ่มพ่อแม่ชนชั้นกลางขึ้นไป ที่ไม่อยากให้ลูกลำบาก ยิ่งถ้าเป็นพ่อแม่ที่เคยผ่านความลำบากมาแล้ว ก็เลยมีความคิดว่าไม่อยากให้ลูกลำบากอีกต่อไป ซึ่งเป็นความคิดและความเข้าใจที่ผิด เพราะความลำบากจะทำให้ลูกมีภูมิต้านทานชีวิตที่ดี

ประการที่ห้า ลูกไม่เคยแก้ปัญหา

พ่อแม่จัดการแก้ปัญหาให้ลูกหมด เพราะคิดว่าลูกยังเด็ก ลูกคงแก้ปัญหาเองไม่ได้หรอก ทั้งที่บางเรื่องเป็นเรื่องเล็กๆ และเป็นเรื่องของเด็ก แต่พ่อแม่ก็ไม่ปล่อยวางให้ลูกได้ฝึกเจอสถานการณ์ด้วยตัวเอง แต่พ่อแม่เข้าไปแก้ปัญหาและจัดการให้หมด กลายเป็นจุ้นจ้านต่อชีวิตของลูกไปซะอีก เวลาลูกเจอปัญหาอะไรต้องให้เขาฝึกเผชิญด้วยตัวเอง มิเช่นนั้นแล้ว เขาก็จะมองเห็นแต่ตัวเอง เมื่อเกิดอะไรขึ้นมา เขาจะมองไม่เห็นปัญหาของคนอื่น หรือโทษว่าเพราะคนอื่นทำให้ฉันเกิดปัญหา

ประการที่หก ลูกได้รับคำชื่นชมและชมเชยแบบพร่ำเพรื่อ

การชื่นชมหรือชมเชยหรือให้กำลังใจลูกเป็นเรื่องจำเป็น แต่ต้องมีความพอดีและเหมาะสมกำกับอยู่ด้วย เพราะถ้าชื่นชมมากเกินไป พร่ำเพรื่อเกินไปก็กลายเป็นสร้างปัญหาด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชื่นชมเพียงแค่เปลือก ชมที่ภายนอก เช่น ชมว่าลูกแต่งตัวสวย หล่อ หรือหน้าตาดี แต่ไม่ได้ชมที่พฤติกรรมของการทำดี ก็จะทำให้ลูกหลงและถือดีว่าตัวเองหน้าตาดี และนำไปสู่อาการหลงตัวเองได้

ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วมีส่วนทำให้ลูกของคุณเข้าข่ายเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่คิดถึงตัวเอง หรือภาษาของคนชาวอเมริกันที่เขาบอกว่าเข้าข่ายหลงตัวเอง จนถึงกับบัญญัติศัพท์ใหม่ว่า “Generation ME” ที่ต้องการสะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่มักมองแต่ตัวเอง

จะว่าไปแล้วอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เกิดพฤติกรรมหลงตัวเองก็คือ “สื่อยุคไร้พรมแดน” เพราะสื่อและเทคโนโลยีที่พุ่งเป้ามาที่ตัวเด็กโดยตรง และมองว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สุดแสนจะโอชะ เพราะใช้เงินง่าย ตกเข้าไปในกระแสทุนนิยมก็ง่าย ยิ่งบรรดาสมาร์ทโฟนที่เด็กรุ่นใหม่ใช้กันเกลื่อนเมือง ก็ยิ่งเท่ากับเป็นการกระตุ้นให้กลุ่มคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มอย่างมากที่ก้าวเข้าสู่การเป็น Generation ME ได้ง่ายขึ้น

ตรงกันข้าม ถ้าเด็กเหล่านี้ได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสมและถูกวิธี มีการปลูกฝังทักษะชีวิตที่เหมาะสมกับวัย เมื่อถึงวันที่กระแสบริโภคนิยมเข้ามาปะทะตัวเด็กเต็มๆ มีสื่อไฮเทคเข้ามาถึงบ้าน แต่ทักษะชีวิตที่ได้รับการปลูกฝังมาดี

เมื่อถึงเวลานั้น ทักษะที่มี มันจะทำหน้าที่ป้องกันตัวเองได้เป็นอย่างดีค่ะ

วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

"ปิดเทอม" เพิ่มทักษะการเงินให้ลูกรัก

โดยกาญจนา หงษ์ทอง

"ปิดเทอม" อาจจะเป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ เฝ้ารอคอย

แต่ในช่วงเวลาแห่งการพักเรียนของลูกหลาน ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทายของบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองด้วยเช่นกัน

เพราะในช่วงเดือนครึ่งถึงสองเดือนนี้ เป็นโจทย์ที่พ่อแม่ต้องวางแผนว่าจะทำอย่างไรดี ให้ช่วงนี้ เป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนที่มีคุณภาพของลูกหลาน

บางคนอาจจะพาลูกเดินทางไปท่องเที่ยวในและต่างประเทศ บางคนส่งลูกไปเข้าแคมป์ซัมเมอร์ บางคนพาลูกไปฝึกทักษะทางดนตรีและกีฬา และก็มีอีกหลายคนที่ยังให้ลูกไปเข้าโรงเรียนติวเข้มด้านวิชาการ

มีทักษะอย่างหนึ่งที่ พ่อแม่ก็สามารถสอดแทรกให้ลูกในช่วงปิดเทอมนี้ได้ คือทักษะในเรื่องเงินๆ ทองๆ Fundamentals ฉบับนี้ พาไปดูว่าพ่อแม่จะเพิ่มทักษะด้านการเงินให้กับลูกหลานในช่วงปิดเทอมอย่างไรได้บ้าง

********

ให้ลูกมีเป้าหมายในช่วงปิดเทอม-ทำงานบ้านแลกเงิน

ปิดเทอมครั้งที่ผ่านๆ มา ลูกหลานของคุณทำอะไรบ้างในช่วงเวลานี้ จริงอยู่ที่เป็นช่วงเวลาแห่งการปลดปล่อย พ่อแม่หลายๆ คนจึงให้ลูกได้พักผ่อนหย่อนสมองเที่ยวเล่นอย่างเต็มที่ อีกฝั่งหนึ่งก็จะเป็นพ่อแม่ที่คุมเข้มและกวดขันลูกอยู่ตลอดเวลา ปิดเทอมจะช้าหรือนานแค่ไหน ก็ต้องส่งลูกให้เรียนพิเศษ ติวเข้มเรื่องวิชาการ

ไม่ว่าคุณจะเป็นพ่อแม่ในแบบไหนก็ตาม ขอให้รู้ไว้ว่า ยังมีเรื่องของทักษะด้านการจัดการเงินทอง ที่คุณสามารถสอดแทรกเข้าไปอบรมสั่งสอนลูกๆ ได้แบบสบายๆ

ทุกวันนี้ อาจจะดูเหมือนมีกิจกรรมในด้านเสริมทักษะการจัดการเงินทองอย่างเป็นทางการไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริง มีกิจกรรมให้คุณได้สอดแทรกทักษะ ลองมาฟังผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการเงินเหล่านี้กัน ว่าเมื่อต้องอยู่ในบทบาทและฐานะของพ่อและแม่ จะมีวิธีการเลี้ยงดูลูกอย่างไรในช่วงปิดเทอม ให้เป็นช่วงเวลาแห่งคุณภาพ

Oให้ลูกมีเป้าหมายในช่วงปิดเทอม

การตั้งเป้าหมายในชีวิต จะทำให้เด็กมีทักษะเรื่องนี้ติดตัวไปจนโต แม้กระทั่งช่วงเวลาปิดเทอม คุณก็ควรให้ลูกตั้งเป้าหมายดูซิว่า เขาอยากทำอะไรหรือไม่

"วนา พูลผล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี ในฐานะคุณพ่ออีกคนหนึ่ง ให้ทัศนะว่า โดยปกติเด็กๆ จะมีสิ่งที่พวกเขาอยากได้และอยากทำอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้ เราสามารถให้ลูกตั้งเป้าหมายทางการเงินในช่วงปิดเทอมนั้นเลยว่า เขาอยากทำอะไร

Oทำงานบ้านแลกเงิน

วนา แนะว่า เป้าหมายของเด็ก โดยมากจะอยากได้นั่นได้นี่ ฉะนั้น เมื่อลูกอยากได้อะไร ก็ลองดูก่อนว่าของชิ้นนั้นราคาเท่าไหร่ แล้วให้ทำงานเพื่อหารายได้มาเพื่อซื้อของชิ้นนั้น เช่นถ้าเป็นเด็กโตหน่อยก็อาจจะให้เขาลองทำงานนอกบ้าน แต่ถ้าเด็กยังเล็กอยู่ ก็อาจจะใช้วิธีให้ช่วยทำงานบ้าน เพื่อแลกกับค่าขนมในช่วงปิดเทอม และให้เขาสะสมเงินเพื่อนำไปซื้อของชิ้นนั้น

"ที่จริงใช้วิธีนี้ จะทำให้ลูกรู้จักคุณค่าของเงินมากขึ้น ให้เขาช่วยรดน้ำต้นไม้ ตัดหญ้า ทำงานเพื่อแลกเงิน ไม่ใช่ว่าลูกอยากได้อะไรก็ซื้อให้ง่ายๆ หรือถ้าเขาไม่อยากได้อะไร เมื่อได้เงินก้อนเล็กๆ ก็ให้เขาเก็บสะสมเอาไว้" วนา แนะ

Oขายของหาค่าขนม

อีกวิธีหนึ่งที่เด็กๆ จะสามารถหาค่าขนมในช่วงปิดเทอมได้คือ ให้พวกเขาลองสำรวจข้าวของในบ้านดู ว่ามีเสื้อผ้ารองเท้า กระเป๋า หรือพวกของใช้สภาพดีบ้างหรือไม่ ที่ไม่ได้ใช้แล้ว จากนั้น ก็ลองรวบรวม แล้วไปเปิดท้ายขายของกันตามตลาดนัด ที่เดี๋ยวนี้มีเยอะมาก

งานนี้ได้หลายเด้งเลยทีเดียว เรียกว่า ได้ทั้งเงินค่าขนม ประสบการณ์ แล้วน้องๆ หนูๆ อาจจะได้อาชีพใหม่ ทุกๆ ปิดเทอมอาจจะกวาดของไปขายได้อีกหลายรอบ

Oทำพาร์ทไทม์ได้ทั้งเงิน&ประสบการณ์

ที่จริงก็มีงานอีกหลายแบบที่ลูกหลานของคุณทำได้ในช่วงปิดเทอม ยิ่งถ้าเป็นเด็กโตขึ้นมานิด อาจจะหางานทำเพิ่มประสบการณ์และรายได้กัน เช่นเป็นพนักงานประจำร้านอาหารตามห้างสรรพสินค้า หรือพนักงานร้านฟาสต์ฟู้ดทั่วๆ ไป นอกจากจะได้เงินค่าขนมและประสบการณ์ที่ดีแล้ว ใครจะรู้ว่าต่อไปอาจจะเป็นโพรไฟล์ที่ดีในการหางานการทำในอนาคตอีกด้วย

"เพิ่มพล ประเสริฐล้ำ" กรรมการผู้จัดการ บลจ.พรีมาเวสท์ แนะว่า ในช่วงปิดเทอม ถ้าเด็กๆ ได้ลองทำงานพิเศษ จะทำให้ลูกหลานของคุณรักเงินที่ได้มา ปกติความรักที่มีคุณค่ามักจะเกิดจากการรู้คุณค่าของสิ่งนั้นๆ ดังนั้น การที่จะทำให้ลูกหลานของคุณรักเงินและถนอมเงิน ก็คือการทำให้รู้ว่ากว่าจะได้เงินมานั้นต้องมานะอดทน

ดังนั้นช่วงปิดเทอมนี้ถ้าลูกหลานของคุณอยู่ในข่ายที่จะสามารถทำงานพิเศษได้ ก็เป็นการดีที่ท่านจะให้บุตรหลานออกไปทำงานพาร์ทไทม์ ซึ่งก็มีหลายสถาบันที่น่าเชื่อถือได้เปิดรับสมัครเด็กทำงานพิเศษช่วงปิดเรียน คุณในฐานะพ่อแม่ก็คงต้องคอยติดตามบุตรหลานในระหว่างช่วงนี้ด้วย เพื่อให้เข้าร่วมกับสังคมโดยความเหมาะสม เพราะนอกจากเด็กจะได้เบี้ยเลี้ยงแล้ว ยังได้ประสบการณ์ที่นำมาใช้ประโยชน์ในอนาคตได้

Oลิมิตวงเงินใช้จ่ายเวลาพาลูกเที่ยว

"เรืองวิทย์ นันทาภิวัฒน์" อดีตนักการเงินที่อยู่ในแวดวงกองทุนรวม แนะว่าทักษะอย่างหนึ่งที่สอนลูกได้คือเรื่องการบริหารค่าใช้จ่าย เพราะโดยมากในช่วงเวลาปิดเทอม พ่อแม่มักจะพาลูกเดินทางท่องเที่ยว ไม่ว่าจะในหรือต่างประเทศก็ตาม แต่พ่อแม่สามารถฝึกทักษะการใช้จ่ายเงินได้ เช่น มีการตกลงกันก่อนออกเดินทางว่าทริปนี้ ลูกสามารถชอปปิงได้เท่านั้นเท่านี้

"ทำแบบนี้ลูกจะรู้จักการบริหารงบไปในตัว เพราะเวลาไปเที่ยว ธรรมชาติของเด็ก เขามักจะอยากได้ของอยู่แล้ว ถ้าวันแรกๆ เขาเริ่มช้อปเยอะ ก็บอกเขาได้ว่า ถ้าลูกเริ่มจ่ายตั้งแต่วันนี้ เดี๋ยววันหลังๆ อาจจะไม่เหลือเงินไว้ซื้อของก็ได้นะ วิธีนี้จะทำให้เขารู้จักยับยั้งชั่งใจ " เรืองวิทย์แนะ

Oมีโบนัสพิเศษเมื่อออมได้เพิ่มขึ้น

วิธีนี้เพิ่มพลมองว่า แล้วแต่ผู้ปกครองแต่ละคน ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่เขาได้รู้จักผู้ปกครองหลายคนที่ใช้วิธีนี้ ปรากฏว่าลูกหลานนิยมการออมเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น ในช่วงทุกๆ 3 เดือน ผู้ปกครองก็จะเข้ามาดูบัญชีที่เปิดไว้ร่วมกันว่ามีเงินออมเพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้ามีเพิ่มขึ้นผู้ปกครองก็จะมีโบนัสให้เท่ากับจำนวนที่เพิ่มขึ้นเข้าบัญชีนี้ อาจจะนำมาประยุกต์กับช่วงเวลาปิดเทอมนี้ได้

"ผมว่าหลักๆ เราต้องทำให้ลูกหลานคิดก่อนจ่ายเงินซื้อของฟุ่มเฟือย แต่อย่าสอนให้เป็นคนตระหนี่ที่จะจ่ายเงิน นอกจากนี้ถ้าคุณเข้ามาเป็นที่ปรึกษาทุกกระบวนการให้แก่บุตรหลาน การเข้ามาเป็นที่ปรึกษานี้เองจะทำให้คุณและบุตรหลานได้พูดคุยกันมากขึ้น ซึ่งก็มีความเป็นไปได้สูงที่บุตรหลาน เมื่อจะใช้จ่ายเงินก็จะมาหารือกันก่อนใช้จ่าย ซึ่งผู้ปกครองก็อาจยึดทางสายกลาง และมีเหตุผลที่ผู้ใหญ่มีต่อผู้เยาว์ในการใช้เงินออมนี้"

เพิ่มพลบอกอีกว่า พื้นฐานของความมั่งคั่งที่มั่นคง คือรักการออมตั้งแต่วัยเด็ก ขณะที่ รากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศจริงแล้ว ก็คือทำให้คนในชาติมีนิสัยรักการออม เพราะว่าถ้าคนเราขาดเงินออมแล้ว จะมีแหล่งเงินทุนใดๆ ที่จะมั่นคงพอที่เราจะกล้านำไปลงทุน ซื้อทรัพย์สิน หลายคนคงเถียงว่าถ้าต้องการลงทุนหรือซื้อทรัพย์สินอื่นๆ ก็ใช้วิธีการกู้เงิน เพราะเป็นวิธีที่สามารถหากำไรได้ง่ายสุดและไม่ต้องรอเงินออมให้เสียเวลา แต่อย่าลืมว่าการกู้เงินย่อมต้องคืนเงินที่กู้มาพร้อมต้นทุนการกู้ หรือเราเรียกว่า “ดอกเบี้ยเงินกู้” จะมากหรือน้อยก็ขึ้นกับความยากง่ายในการกู้ เช่น ถ้ากู้ซื้อบ้านดอกเบี้ยก็ต่ำลงมา ปัจจุบันก็ไม่ต่ำกว่า 4-5% ต่อปีเมื่อเทียบกับการกู้สินเชื่อบุคคลซึ่งสูงในระดับกว่า 10%

ที่สำคัญด้วยปัจจุบันที่การกู้เงินเป็นเรื่องง่าย ถ้ากู้มาซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยเกินกว่าความสามารถที่จะจ่ายได้ จะเกิดอะไรขึ้นจะขายสินค้าฟุ่มเฟือย (ซึ่งปกติราคาขายต่อจะลดต่ำลง) เพื่อไปใช้หนี้ที่ซื้อมาราคาเต็มหรือ หรือยิ่งถ้ากู้มาเพื่อลงทุนในหุ้นแล้วขาดทุน จะหาเงินมาคืนทั้งเงินต้นที่กู้และดอกเบี้ยได้หรือ

" ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วดูเหมือนการออมจะเป็นคำตอบของการที่จะมีแหล่งเงินที่มั่นคงจริง แต่จุดอ่อนของการออมคือการทยอยเก็บ เพราะจำนวนเงินออมที่มากขึ้นต้องใช้เวลา และการมีวินัยในการเก็บ เพื่อให้ได้มีจำนวนมากพอที่เมื่อต้องการใช้จะสามารถนำมาใช้ได้ วันนี้เขาจึงอยากชักชวนให้ผู้ปกครองปลูกฝังการรักการออมให้แก่ลูกหลาน อย่างน้อยที่สุดในช่วงปิดเทอม ก็เป็นโอกาสที่ดี"

อีกอย่างหนึ่งที่เพิ่มพลบอกว่า น่าจะลองทำดูในช่วงปิดเทอม คือทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างง่าย วิธีนี้ใช้ได้กับทั้งลูกหลานที่มีความพร้อมทำงานพิเศษในช่วงปิดเทอม และลูกหลานที่ไม่มีความพร้อมทำงานช่วงปิดเทอมได้ เพราะเป็นวิธีที่ง่ายเพียงแต่นำเงินที่ได้มาเป็นตัวตั้งและหักค่าใช้จ่าย ที่เหลือเท่าไหร่ใส่กระปุกและนำไปฝากเงิน ซึ่งท่านอาจจะทำเป็นรายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือนก็ได้

เพิ่มพลย้ำว่าเราควรปลูกฝัง และสร้างพื้นฐานการเก็บออมและการรู้จักใช้เงินของเด็กๆ ตั้งแต่ช่วงนี้ ซึ่งหลายๆ คนก็คงสอนลูกหลานให้รู้จักเก็บออมหยอดกระปุกอยู่แล้ว แต่ผู้ปกครองก็ควรต้องช่วยสร้างแรงจูงใจให้นำเงินออมที่สะสมไว้ไปทำให้เกิดรายได้ด้วย ไม่ใช่แค่เก็บไว้เฉยๆ ซึ่งจะช่วยฝึกให้ลูกหลานค่อยๆ เข้าใจวิธีการลงทุนโดยการหาผลประโยชน์จากเงินออมนั้นไปในคราวเดียวกันด้วย

วิธีเบื้องต้นและปลอดภัยก็คือให้ลูกหลานมีความเข้าใจเรื่องการนำเงินออมไปฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ สร้างแรงจูงใจอยากให้เขาไปเปิดบัญชีกับธนาคารเพื่อให้ได้รับผลตอบแทน โดยเขาแนะนำให้ผู้ปกครองเป็นผู้พาเด็กไปที่ธนาคารด้วยกัน แทนที่ผู้ปกครองจะไปเปิดบัญชีให้เอง ซึ่งหากเด็กได้ไปเปิดบัญชีกับธนาคารด้วยตัวเขาเอง แม้ว่าจะยังไม่สามารถเปิดเป็นชื่อเขาได้คนเดียว แต่ก็จะสร้างความเชื่อมั่น และมั่นใจแก่เขาว่าบัญชีนี้เป็นบัญชีเงินออมที่เขาเก็บออมเอง มีเงินออมเพิ่มเมื่อไรก็สามารถนำไปฝากเพิ่ม และให้เขารับผิดชอบเก็บสมุดเงินฝากไว้เอง จะทำให้เขาเรียนรู้และเห็นความเปลี่ยนแปลงในยอดเงินในสมุดอย่างเป็นระยะๆ ซึ่งเป็นการค่อยพัฒนาให้เขาเรียนรู้การออมควบคู่กับการลงทุนในคราวเดียวกัน หากผู้ปกครองต้องการสะสมเงินไว้ให้ลูกหลานอีกส่วนหนึ่ง ก็สามารถเปิดเป็นอีกบัญชีที่ไม่เกี่ยวกับตรงนี้ ซึ่งผู้ปกครองจะเก็บสมุดบัญชีไว้เอง แยกต่างหากออกไป

"ผมเชื่อว่าด้วยวิธีเหล่านี้จริงๆ แล้วใช้ได้ตลอด แต่ถ้าอยากจะทำเป็นโปรแกรมสั้นๆ ในช่วงปิดเทอมนี้ก็สามารถทำได้ ช่วยกันให้เราเป็นสังคมรักการออม ช่วยกันสร้างเด็กให้รักการออม และสอดแทรกให้รู้จักการลงทุนด้วยการฝากเงินกับธนาคาร ก็เท่ากับว่าท่านกำลังสร้างสังคมที่ดีแก่บุตรหลานในอนาคต ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่มีปัญหาสังคมค่อนข้างมาก การสร้างหนี้สินโดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลและหนี้บัตรเครดิตกำลังเป็นปัญหาที่เรื้อรังและสร้างปัญหาสังคมขึ้น"

Oส่งเข้าแคมป์การเงิน

"วรวรรณ ธาราภูมิ" กรรมการผู้จัดการ บลจ.บัวหลวง บอกว่าที่จริงช่วงปิดเทอมควรจะมีพวกแคมป์การเงิน เพื่อส่งให้เด็กได้เข้าไปฝึกอบรมและเพิ่มพูนทักษะในเรื่องนี้ แต่ทุกวันนี้ยังไม่ค่อยมี ซึ่ง บลจ.บัวหลวงเองเราก็คิดจะทำตรงนี้ขึ้น โดยอาจจะเป็นแคมป์ที่ฝึกฝนให้ลูกน้อยมีพื้นฐานเรื่องของเงิน ๆทองๆ เพื่อให้เด็กได้มีทักษะการเงินมากขึ้น

เรืองวิทย์ บอกว่า ทุกวันนี้พวกแคมป์การเงิน หรือคอร์สอบรมการเงินในช่วงปิดเทอมยังไม่ค่อยมี ซึ่งถ้ามีจะดีมาก แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กเกินไปก็อาจจะไม่สนุก ต้องให้เด็กโตขึ้นมานิดหนึ่ง

"ในการฝึกทักษะทางการเงินนั้น ลูกของผมจะใช้วิธี ให้อ่านและเขียน เช่น อาจจะให้ลูกเขียนเรียงความช่วงปิดเทอม หรืออาจจะหาหนังสือการเงินที่อ่านง่ายๆ ให้เขาอ่าน ผมว่าทักษะสองอย่างนี้จำเป็นมากสำหรับเด็ก"

วนา เป็นอีกคนหนึ่งที่เห็นด้วยในเรื่องนี้ ว่าระหว่างปิดเทอม ควรจะมีพวกแคมป์การเงิน ที่เปิดโอกาสให้พ่อแม่ส่งลูกไปเรียนคอร์สฝึกอบรมพิเศษ เข้าแคมป์ หรือหลักสูตรสั้นๆ ที่ช่วยเสริมทักษะด้านการเงินได้

ยังพอมีเวลา สำหรับใครที่อยากให้ลูกหลานของตัวเองได้เพิ่มทักษะการเงินในช่วงปิดเทอม







ขอบคุณบทความในกรุงเทพธุรกิจ วันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2551


วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ลูกป.2 แล้ว...พัฒนาต่อไปอย่างไรดี






วันนี้อยากแบ่งปันข้อมูลให้ เพื่อนๆลูกอนุบาล  ถึงประถมต้น เกี่ยวกับการเรียนของเด็กๆสักนิด   มีเพื่อนๆผปค. มาหารือกับดิฉันในช่วงเปิดเทอมหลายคน เกี่ยวกับการเรียนของลูก ที่มีปัญหาในการเรียน หรือ กังวลว่าจะมีปัญหาในการเรียน  ดิฉันจำได้ว่า ดิฉันเคยเขียนและเคยแชร์เรื่องการเตรียมความพร้อมของเด็กอนุบาล ๓ ที่กำลังจะเข้าอนุบาลหนึ่ง   และอีกบทความนึง คือ การเรียนของเด็กป.๑  ซึ่งเป็นแนวทางที่ดิฉันใช้ในการดูแลลูกคนโต อยากบอกว่า มันมีผลต่อการเรียนและการใช้ชีวิตของลูกมากนะคะ  การที่เราเตรียมความพร้อมให้กับลูกในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นทักษะการฟัง  การอ่าน การเขียน และการคิด  ทำให้เด็กเรียนสบาย และสนุกสนานในห้องเรียน  โดยที่เราแทบจะไม่ต้องทบทวนบทเรียนที่บ้านเลย ทำให้ลูกมีเวลามากมายในการฝึกทักษะชีวิตด้านอื่นๆ


เด็กๆที่ไม่มีความพร้อมเพียงพอในการพัฒนาทักษะการเรียนมาตั้งแต่ชั้นอนุบาล ๓   เมื่อมาเรียนในโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแนววิชาการ ก็จะมีปัญหาในการเรียนในชั้นเรียน เพราะฟังไม่ทัน หรือ คิดไม่ทัน  ข้อมูลพื้นฐาน ความรู้รอบตัวไม่เพียงพอ  ทำให้ขาดความมั่นใจ ไม่สนุกกับการเรียน  และกลับบ้านก็มีปัญหาในการทบทวนบทเรียน ทำการบ้าน  ซึ่งทำให้พ่อแม่ยิ่งกังวลใจหนักเข้าไปอีก   การมาแก้ปัญหาในตอนโตนั้น ยิ่งยาก เพราะเด็กติดนิสัย รักสบาย หรือ ติดเกม ติดทีวี ติดเล่นมากเกินไป  ทำให้เค้าไม่อยากสนใจในการเรียนค่ะ  อย่างไรก็ตาม เมื่อไหร่ที่พบปัญหา ต้องรีบแก้ไขค่ะ อย่าปล่อยให้พ้นไปปีต่อปี เพราะจะหนักขึ้นเรื่อยๆ  บทเรียนของลูกก็จะยากขึ้นเรื่อยๆตามชั้นปี  พื้นฐานไม่แน่น ต่อยอดก็จะลำบากขึ้นเรื่อยๆ  เด็กก็ยิ่งท้อใจ


แต่อย่างไรก็ตาม การที่ลูกเรียนดี เพราะเราสร้างพื้นฐานมาดี ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา เพราะการที่ลูกเรียนดี ทำให้เค้ารู้สึกว่า การเรียนเป็นเรื่องง่าย  เค้าไม่ต้องลงแรงมากในการเรียน หรือการทบทวนบทเรียน  เค้าก็อาจจะ "เหลิง" และกลายเป็นเด็กที่ไม่เพียรพยายาม  ทำอะไรก็คิดว่าง่ายไปหมด  ดังนั้นเวลาที่เหลือนี้ ก็เป็นเวลาที่มีค่า ที่เราไม่ควรให้ลูกใช้เวลาเหล่านี้ ไปกับเรื่องที่ทำลายนิสัยของเค้า เช่น การเล่นเกม หรือ การดูทีวีที่ไม่มีสาระ   ดังนั้น การจัดตารางกิจกรรมของลูกให้เหมาะสม จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น  มิฉะนั้น เราจะเสียโอกาส และสิ่งที่เราเพียรสร้างนิสัยให้ลูกมาตั้งแต่อ.๓ จะเสียหายไปด้วย การจัดตารางกิจวัตรประจำวันให้ลูก ในชั้นประถม โดยหลักๆ ดิฉันเองก็ยังยึดหลักความสมดุล  คือ ต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้พัฒนาทักษะรอบด้าน  ทั้ง กีฬา  การท่องเที่ยวเดินทางเรียนสนุกในโลกกว้าง  การพัฒนาสิ่งที่ลูกสนใจเป็นพิเศษ  การฝึกทักษะชีวิตด้านอื่นๆ การช่วยเหลือตนเอง การรับผิดชอบงานบ้าน และด้านการเรียน

มีหลายท่านอาจจะคิดว่า ลูกเรียนเก่งแล้ว ไม่จำเป็นต้องทบทวนบทเรียนอะไรมากมาย  ไม่จำเป็นต้องเรียนเสริมเพิ่มเติมอะไร  แต่ความจริงแล้วไม่ใช่  สมองและศักยภาพของคนเรานั้นมีมากมายมหาศาล  พระเจ้าท่านให้มาเหลือเฟือ  แต่อะไรที่ไม่ได้ใช้  มันจะหายไป  ดังนั้น เมื่อพบว่า ลูกมีศักยภาพในด้านใด ต้องใช้โอกาสและเวลาให้มีค่า และส่งเสริมให้เค้าได้มีโอกาสฝึกและใช้ เต็มความสามารถ ดังนั้น เวลาว่างส่วนนึงของลูก  ดิฉันเองก็ยังใช้ ในการพัฒนาต่อยอดการเรียนของลูกต่อไป ในด้านที่ลูกสนใจและชื่นชอบ คือ ด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์  รวมทั้งการอ่านและเขียนด้วย


ในด้านการอ่าน การเขียน หรือ การฝึกลูกในเรื่องวิทยาศาสตร์นั้น ดิฉันเองก็ยังใช้แนวทางเดิมที่ฝึกลูกมาตั้งแต่เด็กๆ  คือ การอ่านวารสาร  การ์ตูน  และศึกษาทางอินเตอร์เนต  ในการศึกษาเรื่องราวสนุกๆ ที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์   และการพาชมโลกกว้าง สอนด้วยการปฎิบัติการในครัว หรือการทดลอง   ด้านการเขียนก็เน้นให้สื่อสารด้วยการเขียน อธิบาย เขียนโน๊ต  อีกไม่นานคงได้เขียนไดอารี่ หรือ เขียนเรียงความสั้นๆไป ตามระดับความสามารถของเด็กป.2   ปีนี้ ดิฉันจึงหันมาศึกษาเรื่องการต่อยอดด้านวิชาคณิตศาสตร์  เพราะการเรียนคณิตศาสตร์พื้นฐานในโรงเรียนตอนนี้ ไม่ยาก  จึงได้ศึกษาข้อมูลจากข้อสอบ ระดับประถมหนึ่ง ประถมสองของประเทศสิงคโปร์   รวมทั้งตัวอย่างโจทย์ที่ใช้ในการแข่งขันสนามต่างๆ ของเมืองไทย ซึ่งเป็นโจทย์เลขประยุกต์ที่สลับซับซ้อนขึ้น   ทำให้ลูกได้รู้ว่า การเรียนในห้องเรียนที่ว่าเป็นเลิศในห้องเรียนนั้น ยังห่างไกลกับคำว่า "ใช้ได้" ซึ่งผลก็เป็นที่น่าพอใจ  คือ ลูกรู้สึกว่า ท้าทายและยินดีฝึกฝนทบทวนบทเรียนในยามว่างมากขึ้น ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อ  ฝึกฝนวันละ  ครึ่งชม. ค่อยๆฝึกแบบค่อยเป็นค่อยไป

เท่าที่ศึกษาดูจากตัวอย่างโจทย์ในสนามต่างๆ โจทย์คณิตศาสตร์ ของแต่ละในระดับชั้น มีความยากง่ายหลายระดับค่ะ   มีตั้งแต่แบบพื้นฐาน ที่เราเรียนกันตามหลักสูตรแกนกลาง ...  ไปจนถึงระดับชิงเหรียญรางวัลระดับโลก  ความยากง่ายอาจจะ แบ่งๆออกมานี่ อาจจะมีประมาณ 4-5 ระดับ   การที่ลูกทำได้คะแนนดีในโรงเรียนของตัวเอง อาจจะเป็นโจทย์ที่มีระดับความยากเพียง 1-2 เท่านั้น   แต่ยังมีโจทย์ ป.1 ป.2 ที่ยากในระดับ 3,4,5 อีก ซึ่ง ต้องอาศัยทักษะหลายๆอย่าง  ในการทำโจทย์ให้สำเร็จ  เช่น  ทักษะการอ่าน การตีความโจทย์  ต้องเก่ง ว่าเค้าพูดอะไร เค้าให้อะไรมาบ้าง  คำถามคืออะไร   บางโจทย์ อาจจะต้องอาศัยความเร็วในการอ่านด้วย  และต้องตีความเป็นสัญญลักษณ์   และอาจจะต้องคำนวณเร็ว  คำนวณคล่อง และสามารถคำนวณเลขหลายๆหลัก เป็นต้น  

โชคดีอย่างนึง ที่ครอบครัวเรา เราเป็นคนฝึกลูกเองมาตลอด ทำให้เราพอที่จะมองเห็นจุดที่ลูกยังไม่แข็งแรง  การพัฒนาต่อยอด เราจึงสามารถวางแผนได้ไม่ยาก ว่า เราควรที่จะหาโจทย์ประมาณไหน มาค่อยๆฝึกลูกให้ดีขึ้น    หากเราเอาโจทย์ที่ยากเกินไป เค้าก็อาจจะท้อในการทำ  แต่หากเราโจทย์ที่ง่ายเกินไป เค้าก็อาจจะไม่ท้าทาย ไม่สนุกที่จะทำ  โดยส่วนตัวแล้ว ดิฉันเป็นคนที่ไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์เลย  แต่ดิฉันไม่อยากให้ความชอบ หรือไม่ชอบของดิฉัน หรือ ความกลัว ความรังเกียจการแข่งขัน  เป็นการปิดโอกาสของลูกในการค้นหาศักยภาพของลูก และพัฒนาของลูก   ดังนั้น ดิฉันก็จะเปิดโอกาสในการพัฒนาลูกอย่างเต็มที่  และหากลูกมีอัจฉริยภาพในด้านนี้จริงๆ  ก็อาจจะต้องหาครูฝึกที่มีความสามารถกว่าดิฉันในการพัฒนาลูกในด้านนี้   เพราะคนเป็นพ่อแม่ ก็ไม่ได้เก่ง หรือถนัดไปทุกเรื่อง  เราทำเท่าที่เราทำได้ดี และอะไรที่เราทำไม่ได้ เราก็หาครูฝึกที่ดีให้ลูกไป จะดีกว่า  เพราะเท่าที่ดิฉันดู โจทย์ที่มีความยากเกินกว่า ระดับ 4-5 แม้ว่าเป็นโจทย์ของเด็กป.๑ ดิฉันก็แทบจะทำไม่เป็นเหมือนกัน

อยากบอกเพื่อนๆว่า มาตรฐานการศึกษาของประเทศของเราไม่เท่ากันจริงๆ  และมาตรฐานการศึกษาของโลกก็ไม่เท่ากัน   การศึกษาวิชาเดียวกัน ชั้นเดียวกัน โครงสร้่างหลักสูตรเหมือนกัน แต่มีระดับความยากง่ายอยู่ในตัวมันหลายระดับค่ะ  โดยมาตรฐานระดับ  1-2 พ่อแม่ส่วนมากก็สอนลูกเองได้  ทำ Homeschool ก็ไม่ยาก  แต่ความยากระดับ 3 บางครอบครัวอาจจะสอนลูกเองได้  ครูบางคนก็อาจจะสอนไม่ได้ด้วยซ้ำไป   แต่ความยากในระดับสูง หาคนสอนไม่ใช่ง่ายๆหรอกค่ะ  ที่จะสามารถสอน ถ่ายทอดให้เด็กเค้าใจ และคิดเป็น  ดังนั้นจึงไม่ค่อยแปลกใจเท่าไหร่  ที่ประเทศไทยเรามีมาตรฐานการศึกษาที่แตกต่างกันขนาดนี้  และคุณภาพของเด็กก็ต่างกันมาก  คะแนนโอเน็ตที่ออกมาแตกต่างมากๆ ก็อาจจะมาจากสาเหตุนี้  

แต่ถ้าจะถามดิฉันว่า จำเป็นแค่ไหน ที่ลูกจะต้องมีความสามารถ เป็นระดับสูง  ดิฉันว่าไม่จำเป็น  ขึ้นอยู่กับว่า ลูกของเรามีความถนัด มีความชอบ มีศักยภาพ และมีอัจฉริยภาพในด้านใด  หากเด็กที่เค้ามีศักยภาพสูงๆ ทางคณิตศาสตร์  เค้าจะสนุกกับมันค่ะ ที่เจอโจทย์ที่ยากและท้าทาง  สนุกในการครุ่นคิด แก้ปัญหาคณิตศาสตร์  เค้าอาจจะรู้สึกว่าเค้ากำลังเล่นเกม  ดังนั้น หากลูกเป็นแบบนี้ เราก็ส่งเสริมไปให้เต็มที่ เค้าอาจจะเกิดมาเพื่อใช้ความสามารถด้านนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมในอนาคตก็ได้   แต่หากลูกไม่ชอบ  ไม่สนุกกับมัน ก็ไม่จำเป็นต้องเคี่ยวเข็ญ  หาตัวตนของลูก และส่งเสริมลูกให้พัฒนา และทำในสิ่งที่เค้าชอบจะดีกว่าค่ะ  อย่างไรก็ตาม  แม้ลูกจะไม่ชอบอย่างไร   มาตรฐานขั้นต่ำ  1-2 ต้องพอทำได้ และต้องผ่านค่ะ จึงจะถือว่าสมดุล และไม่สร้างปัญหาในระดับชั้นสูงๆต่อไป

เล่าเรื่องนี้ให้เป็นแนวทางกับเพื่อนๆผปค. ที่อยู่ในระบบการศึกษาไทยค่ะ  อยากบอกว่า เราไม่จำเป็นต้องให้ลูกทำเลขยากๆ ได้ตั้งแต่ป.1-2 นะคะ อยากแนะนำว่า ค่อยเป็นค่อยไป ให้พื้นฐานแน่น และปรับระดับให้ยากขึ้นทีละนิด  หากลูกประถมปลาย สัก ป.5-ป. 6  แล้วมีทักษะ ทำเลขในระดับที่ยากขึ้นได้ ก็จะยิ่งดีต่อการสมัครศึกษาต่อระดับมัธยม รวมทั้งการเลือกสายการเรียน ก็จะมีโอกาสในการเลือกสายที่ต้องใช้ทักษะคำนวณมากๆได้   หากยังเป็นระดับอ่อนๆ ก็อาจจะต้องเลือกเรียนในสายวิชาที่ไม่ต้องใช้คณิตศาสตร์มากค่ะ








วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

วิธีป้องกันลูกถูกลักพาตัว




วิธีป้องกันลูกถูกลักพาตัว"

หากลูกหายไป ย่อมเป็นฝันร้ายที่สุดของพ่อแม่ ต่อไปนี้ คือ ข้อพึงระวัง เพื่อช่วยให้ลูกปลอดภัย

- อย่าให้ลูกใส่เสื้อผ้าหรือหมวกที่มีชื่อติดอยู่ เพราะจะทำให้ผู้ร้ายเรียกชื่อลูกได้อย่างถูกต้อง เป็นการทำให้เด็กไว้ใจ ให้เขียนชื่อไว้ด้านในของเสื้อผ้า ไม่ให้เห็นโดยง่าย

- สอนให้ลูกรู้ว่า ผู้ร้ายมาได้ทุกรูปแบบ อาจเป็นคนที่ดูเป็นมิตร เป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้ ถ้าเป็นเด็กเล็กๆ ให้สอนลูกให้รู้ว่า คนไหนเป็นคนไม่แปลกหน้า นอกนั้นที่เหลือ คือ คนแปลกหน้า

- สอนให้ลูกรู้จักชื่อจริงของตัวเอง อายุ เบอร์โทรศัพท์ บ้านเลขที่

- สอนวิธีโทรศัพท์ทางไกลผ่านโอเปอเรเตอร์ แบบเรียกเก็บเงินปลายทาง

- สอนวิธีติดต่อพ่อแม่หรือญาติ ในกรณีฉุกเฉิน หรือ ติดต่อเพื่อนบ้านที่ไว้ใจได้ วิธีโทรหาตำรวจ รถดับเพลิง หรือ รถพยาบาล ในกรณีที่ต้องการความช่วยเหลือดังกล่าว

- หากลูกอยู่บ้านคนเดียว ถ้ามีคนโทรมา สอนลูกให้ตอบไปว่า พ่อแม่อยู่บ้าน แต่กำลังยุ่ง มารับสายไม่ได้

- หากลูกอยู่บ้านคนเดียว ถ้ามีคนมา อย่าเปิดประตู ให้บอกว่าพ่อแม่กำลังยุ่งอยู่ ให้คนแปลกหน้ากลับไปก่อนแล้วค่อยมาใหม่ สอนลูกว่าอย่าพูดคุยกับคนแปลกหน้ายืดเยื้อ ถ้าลูกกลัว ให้โทรหาคุณที่ทำงาน หรือ ตำรวจ หรือ เพื่อนบ้านที่ไว้ใจได้ เพื่อจะได้มีคนมาที่บ้านได้ทันที

- สอนให้ลูกรู้จักขออนุญาตพ่อแม่ทุกครั้งก่อนที่จะรับของขวัญจากคนแปลกหน้า

- สอนให้ลูกวิ่งกลับบ้านทันที หรือ ไปบ้านเพื่อนบ้าน หรือ วิ่งไปในที่มีคนอยู่เยอะๆ หากมีคนแปลกหน้าเดินเข้ามาหา หรือ ทำให้ลูกกลัว ขณะที่ลูกกำลังอยู่คนเดียว

- หากมีคนขับรถตามลูกขณะลูกเดินอยู่ ให้ลูกวิ่งกลับไปในทางเดิม เพราะรถจะเสียเวลาวกรถกลับ อาจทำให้เลิกติดตาม แต่ถ้ายังติดตามอยู่ให้วิ่งกลับบ้าน ไปบ้านเพื่อนบ้าน หรือ ไปในที่มีคนอยู่เยอะๆ และควรสอนให้ลูกหัดจำลักษณะของคนขับ ลักษณะของรถ และหมายเลขทะเบียนรถ

- สอนลูกว่า ถ้ามีผู้ใหญ่มาขอความช่วยเหลือจากเด็ก ให้รีบบอกพ่อแม่ ครู หรือผู้ใหญ่คนอื่นมาช่วยเหลือแทน เพราะผู้ร้ายอาจแฝงมาทำทีเป็นขอความช่วยเหลือจากเด็กก็ได้

- ถ้าลูกพลัดจากพ่อแม่ในห้างสรรพสินค้า ให้ลูกตรงไปขอความช่วยเหลือจากพนักงานขาย หรือ พนักงานเก็บเงิน

- ตำรวจในเครื่องแบบเป็นบุคคลที่ลูกไว้ใจและขอความช่วยเหลือได้หากลูกมีปัญหา จึงไม่ควรขู่ลูกให้กลัวตำรวจ

เครดิต Learning Petals

ขอบคุณ คุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ สำหรับข้อมูลค่ะ

วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สอนลูกให้เอาตัวรอด เบื้องต้น






สอนลูกให้เอาตัวรอด เบื้องต้น

เอามาฝากจากเวบบอร์ด โมมี่พีเดียค่ะ ขอบคุณน้าโมมี่ สำหรับข้อมูล

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2556 เวลา 08.50 น. น้องเอย เด็กน้อยวัย 3 ขวบที่ถูกครูลืมไว้บนรถตู้กว่า 8 ชั่วโมงจนอาการโคม่าตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน น้องเอยได้จากไปแล้วอย่างสงบ ทีมงาน Momypedia ขอร่วมแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวของน้องเอย ขอให้เข้มแข็งและก้าวต่อไปเพื่อน้องเอยนะคะ ตอนนี้นางฟ้าตัวน้อยกลับสู่สวรรค์แล้วค่ะ

น้า Momy ฝากเตือนไปถึงคุณพ่อคุณแม่ค่ะว่าอันตรายสามารถเกิดขึ้นกับลูกเราได้เสมอหากผู้ใหญ่อย่างเราประมาท และเพราะความคุ้นชินนี่ล่ะค่ะที่ทำให้เราละเลยการสอนลูกให้ดูแลตัวเองเบื้องต้น หรือบางครั้งเราก็ไว้วางใจกับชีวิตประจำวันมากไป ดังนั้นหน้าที่ของพ่อแม่อย่างเราไม่ใช่แค่ดูแลค่ะ แต่เราต้องสอนและเตรียมความพร้อมของลูกเสมอเพื่อปกป้องเขาในเวลาที่เราอาจจะไม่ได้อยู่ปกป้องเขาด้วยตัวเอง

วิธีสอนลูกง่ายๆ ถ้าลูกอยู่ในรถคนเดียวแล้วร้อนจัด มืด หรือกลัว
สอนลูกบีบแตรรถ แล้วบอกว่าหยุดบีบจนกว่าจะเห็นคนเดินมาหาที่รถ
ในกรณีที่มีการเสียบกุญแจรถหรือสตาร์ทรถทิ้งไว้ สอนลูกเรื่องปุ่มเปิดปิดล็อกประตูรถ
ในกรณที่ลูกนั่งรถโรงเรียนกับเพื่อนๆ ควรสอนให้ลูกนั่งข้างๆ เพื่อน และบอกเพื่อนเสมอว่าถ้าจะลงรถให้เรียกและจับมือลงพร้อมกัน

วิธีสอนลูกเรื่องการเล่นน้ำ ป้องกันการจมน้ำ
บอกให้ลูกเล่นในสระเด็กเสมอ ไม่เล่นน้ำในบริเวณลึกและไกลขอบสระ
ให้ลูกใส่ห่วงยางรอบเอว หรือห่วงยางแขนเสมอ
บอกลูกเสมอว่าห้ามกระโดดลงน้ำแรงๆ เพราะจะทำให้หมดสติได้
บอกลูกเสมอว่าทุกครั้งที่ว่ายวนมาแตะขอบสระให้ตะโกนเรียกคุณแม่เสมอเพื่อจะได้เช็คเป็นระยะ
บอกลูกเสมอว่าไม่ควรเล่นในน้ำกับเพื่อนด้วยการขี่หลัง กดหัว หรือดำน้ำ เพราะอาจจะเกิดอันตรายได้
พ่อแม่อย่าละสายตาจากลูกเด็ดขาด ถึงจะเดินเข้าห้องน้ำแป๊บเดียวก็ควรให้ลูกขึ้นมานั่งรอริมสระก่อน พ่อแม่กลับมาจากห้องน้ำค่อยลงเล่นน้ำใหม่

วิธีสอนลูกเรื่องไฟฟ้า ไฟดูด
สอนลูกเสมอว่าห้ามใช้นิ้วหรืออะไรก็ตามแต่แหย่เต้าเสียบปลั๊กไฟ หรือพ่อแม่ควรจะหาจุกยางสำหรับกันเด็กแหย่นิ้วเข้าเต้าเสียบไปเสียบปิดไว้
สอนลูกเสมอว่าถ้าจะเปิดปิดไฟ เสียบปลั๊กทุกครั้ง มือและตัวจะต้องแห้งสนิทไม่เปียกน้ำ
นอกจากสวิตช์ไฟ สวิตช์พัดลมแล้ว ต้ิองบอกลูกว่าถ้าจะใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ให้เรียกพ่อแม่ทำเปิดให้เท่านั้น
ต้องสอนลูกเสมอว่าหากเห็นปลั๊กไฟตรงไหนไฟแลบจะต้องรีบหนีออกมาห่างๆ แล้วเรียกพ่อแม่ทันที



หมายเหตุ
ความเห็นเพิ่มเติมของดิฉันในเรื่องนี้

  • เพื่อนๆลองทดสอบที่รถของเราดูก่อน หากเราไม่ สตาร์ทรถ แตรรถจะทำงานไม๊ หากทำงาน ก็สอนให้ลูกบีบแตรค่ะ ซ้อมลูกให้บีบแตรเลย เค้าจะได้มั่นใจ แล้วสอนลูกให้บีบแตรไปเรื่อยๆจนกว่าคนจะได้ยิน
  • Rattana Mnshang อีกประการนึง คือ ต้องสอนลูกให้เปิดล็อก ในรถของเรา ต่อให้เป็นแบบ Center Lock ย่อมมีปุ่มให้เปิดแบบ Manual ดังนั้น ให้สอนเปิดล็อก เปิดประตู อาจจะช่วยเด็กๆ เรื่องความคิดได้ หากติดอยู่ในรถโรงเรียนต้องทำอย่างไร
  • Rattana Mnshang สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ที่ให้ลูกกลับรถโรงเรียนควรทำ คือขอเบอร์คนขับรถ และทุกครั้งที่ลูกถึงบ้าน ควรให้ลูกโทรมาแจ้งเรา หากผิดเวลา เราควรโทรไปถามค่ะ อย่ารอจนผิดเวลามากๆ เพราะอาจจะสายเกินไปสำหรับการช่วยลูก
  • Rattana Mnshang การฝึกลูกในเรื่องต่างๆ อย่าใช้แต่ปากพูดๆ เพราะเด็กได้ยิน แต่เค้าไม่จดจำ ลูกก็คาดไม่ถึงว่าจะรุนแรงและเลวร้าย ทุกอย่างต้องมีการฝึกซ้อม เค้าจะได้ตระหนัก และเมือ่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เค้าจะคุมสถานการณ์ได้ดีกว่า เช่นการซ้อมหนีไฟ การซ้อมดับเพลิง ก็ควรให้เด็กๆไปซ้อมทุกปีค่ะ เมื่อเกิดเหตุการณ์ ไม่ว่า เด็กหรือผู้ใหญ่ จะสามารถจัดการณ์กับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ดีกว่าไม่ได้ซ้อม
  • Rattana Mnshang ส่วนผู้บริหารโรงเรียน ควรให้รถโรงเรียนทุกคัน และเด็กๆที่กลับรถโรงเรียน ซ้อมสถานการณ์กันนะคะ ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ใด ต้องทำอย่างไร อาจจะมีการซ้อมทุกปี ปีละครั้ง เช่น รถยางแตกกลางทาง หรือ หลับในรถ ลืมในรถ ต้องทำอย่างไร ทุกปี ทุกเทอม เรามีเด็กใหม่ๆ มาขึ้นรถ ต้องเผื่อสถานการณ์พวกนี้ และผอ.ควรใส่ใจ มาควบคุมการซ้อมด้วยตนเอง เพราะหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ท่านจะซวยที่สุดเลย
  • Rattana Mnshang ส่วนเรื่องการซ้อมเรื่องการจัดการกับไฟฟ้าดูด หรือ เครื่องใช้ไฟฟ้า นั้น หากได้ซ้อมการหนีไฟ การดับเพลิง จะได้รับการสอนเรื่องนี้ได้ดีค่ะ เพราะการซ้อมมักจะมีวีดีโอมาให้ชม มีเคสเหตุการณ์จริง และมีการแสดงเพลิงไหม้และวิธีการดับเพลิงเบื้องต้น ดูน่ากลัวค่ะ แต่เด็กจะจำเลย ดิฉันให้สองจ๋อซ้อมทุกปี สังเกตว่า เค้าจะจำรายละเอียดได้ทุกปี ตอบคำถามได้ด้วยว่าต้องทำอย่างไร ซึ่งทำให้รู้ว่า เมื่อมีการซ้อม เด็กจะมีทักษะในการแก้ปัญหานั้นๆได้ดีขึ้น เพราะเค้าจะมีข้อมูลแล้ว

วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

อย่าปิดกั้นเด็กๆ.. 50 อย่างที่เด็กอยากทำก่อนอายุ 11 ปี 9 เดือน โดย ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ










ผู้เขียนมีโอกาสอ่านบทความที่น่าสนใจบทความหนึ่งเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กๆอยากทำมากที่สุด จัดทำโดยโครงการรักธรรมชาติในป่าของประเทศอังกฤษ โดยให้เด็กๆ มีอิสระในการเลือกด้วยตัวเอง แทนการสอบถามจากผู้ใหญ่ ทางโครงการใช้วิธีสอบถามเด็กๆ ทั่วประเทศอังกฤษว่า สิ่งที่พวกเขาอยากทำมากที่สุดนคืออะไร ผลที่ได้คือคำตอบ 50 อย่าง โดย 10 ข้อแรกเเด็กต้องการทำมากที่สุด ดังนี้

1.ปีนต้นไม้ ในขณะการทำโครงการจัดทำภาพยนตร์การผจญภัยในธรรมชาติ มีเด็กอายุเกือบ 12 ปีคนหนึ่งไม่เคยปีนต้นไม้มาก่อนเลย เขาถามว่าจะปีนต้นไม้อย่างไร ทางโครงการบอกเขาว่า ก็แค่ปีนขึ้นไป ผลสรุปว่าน้องคนนี้ปีนจนถึงยอดบนสุดของต้นไม้ได้อย่างยอดเยี่ยม

2. กลิ้งตัวลงมาจากเนินเขา การกลิ้งตัวเป็นกิจกรรมที่เด็กๆชอบมาก เด็กสนุกกับการที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และตื่นเต้นมากเมื่อเวลาจะถึงจุดหมายปลายทาง การได้สัมผัสกับความรู้สึกมหัศจรรย์ของการกลิ้งจากข้างบนลงข้างล่าง การรู้สึกหัวหมุนและได้สัมผัสกับยอดหญ้า เป็นความรู้สึกที่เขาจะจดจำไปชั่วชีวิตเลยทีเดียว

3. ตั้งเต็นท์กลางป่า เวลาที่เราสร้างเต็นท์ สำหรับเด็กๆ แล้วดูเหมือนผ้าบางๆระหว่างตัวเขากับสัตว์ร้ายในป่า ไม่ว่าจะเป็นหมาป่าหรือสัตว์ร้ายต่างๆ จินตนาการของเด็กๆนั้นก้าวไปไกลมาก ทางโครงการให้กำลังใจและช่วยเด็กๆหาหนทางในการขจัดความกลัว การตั้งเต็นท์ในป่านั้นเป็นกิจกรรมที่ทั้งประหยัด สนุกสนานและน่าตื่นเต้นมากสำหรับเด็กๆ

4. สร้างถ้ำหรือกรง เด็กส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่หน้าจอทีวี จอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์หรือของเล่นโดยที่แทบจะไม่มีเวลาอยู่ในโลกแห่งความจริง หรือชื่นชมธรรมชาติที่สวยงาม เมื่อพวกเขาได้ใช้เวลาสร้างสิ่งที่พวกเขาทำเองด้วยมือ และประสบความสำเร็จ เขาจะมีความสุขมาก จากการศึกษาพบว่ามีเด็กจำนวนมากที่มีปัญหาสมาธิสั้นเวลาอยู่ในชั้นเรียนสามารถใช้เวลาสร้างถ้ำหรือกรงของเขาขึ้นเองโดยใช้เวลาหลายชั่วโมงได้ พร้อมนั่งเฝ้าดูอย่างใจจดใจจ่อว่าอะไรกำลังจะมาเยี่ยมกรงหรือถ้ำของเขาบ้าง

5. ปาก้อนหินให้กระเด้งในน้ำ แทบไม่น่าเชื่อว่าการมองการกระเด็นกระดอนในน้ำของก้อนหิน เป็นสิ่งที่สนุก ที่เด็กทุกคนใฝ่ฝัน

6. วิ่งเล่นน้ำฝน ธรรมชาติของเด็กทุกคนชอบเล่นน้ำฝน ผู้ใหญ่มักจะกลัวว่าเด็กจะเป็นหวัด หรือตัวสกปรกจากโคลนติดหลังฝนตก เด็กๆจะซึมซับความวิตกกังวลและความกลัวมาจากผู้ใหญ่อย่างไม่รู้ตัว แต่แท้จริงแล้วการเล่นน้ำฝนเป็นเหมือนของขวัญแสนวิเศษที่เด็กๆชอบ และไม่อยากจะพลาดเลย

7.เล่นว่าว เราคงเคยเล่นว่าวเมื่อยังเล็กๆ การเล่นว่าวเป็นกีฬาอย่างหนึ่งที่สนุก เด็กๆชอบวิ่งที่เนินเขาพร้อมกับว่าวของเขา ยิ่งหากมีการแข่งขันกันด้วยแล้ว ยิ่งตื่นเต้นมากขึ้น ในเวลาเดียวกันเด็กๆ จะได้สังเกตลักษณะ ท่าทางการบินของนกชนิดต่างๆ รวมทั้งชื่อของนกที่บินผ่านไปมาอีกด้วย

8. ใช้สวิงจับปลา เด็กๆจะฝึกทักษะการใช้สายตา การสังเกต ฝึกกล้ามเนื้อมือ กำลังแขนและขา ในขณะจับปลา เป็นความสนุกอีกอย่างหนึ่งที่เด็กชอบ

9. เก็บผลไม้กินจากต้น เด็กๆชอบปีนต้นไม้เก็บผลไม้ การได้กินผลไม้บนต้นและได้เอื้อมมือไปหยิบ มันเป็นสิ่งที่น่าสนุกและน่าตื่นเต้นมากสำหรับเด็ก

10. เล่นเคาะ เด็กบางคนชอบเล่นปืน ฟันดาบ และอาวุธร้ายแรงต่างๆ ยิ่งถ้าเป็นเด็กผู้ชายด้วยแล้ว สิ่งเหล่านี้แทบจะอยู่ติดเป็นนิสัย การเบี่ยงเบนให้เด็กไปเล่นเคาะ ตีกลอง น่าจะช่วยลดพฤติกรรมความรุนแรงนี้ได้

นอกจาก 10 ข้อซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กเลือกสูงสุดแล้ว ยังมี ข้อที่รองลงมา เช่น เล่นปาหิมะ หาสมบัติที่ชายหาด ทำพายโคลน สร้างเขื่อนข้างลำธาร นั่งเลื่อนลาก ฝังร่างลงในทราย แข่งขันหอยทาก ตั้งต้นไม้ทีล้มให้เข้าที่ กระโดดเชือก ทำสไลด์โคลนลื่นเล่น กินผลไม้ที่ขึ้นตามป่า ดูโพรงต้นไม้ ไปเที่ยวเกาะ สมมติว่าบินไปกับลม ทำแตรใบไม้ ขุดกระดูกหรือซากของเก่า เฝ้ามองดวงอาทิตย์ตื่นตอนเช้า
ปีนภูเขา ไปอยู่ข้างหลังน้ำตก ให้นกกินอาหารในมือ ล่าแมลง หาไข่กบ ไล่จับผีเสื้อใส่ห่วง ดักจับสัตว์ในป่า เดินเท้าเปล่า เรียกนกฮูก มองหาสิ่งแปลกๆ ในบ่อน้ำ เล่นกับผีเสื้อ จับปู ไปเดินป่าเวลากลางคืน ปลูกพืช เลี้ยงและกินพืชผลที่ปลูก เล่นว่ายน้ำแสนสนุก ล่องแพ จุดไฟโดยไม่ใช้ไม้ขีด เดินป่าโดยใช้แผนที่และเข็มทิศ สนุกกับหินก้อนกลมใหญ่ ทำอาหารจากกองไฟ ขี่ม้า หาแมลงสาบ และล่องเรือแคนูตามลำน้ำ

ผู้จัดการออนไลน์

เคล็ดลับฝึกเด็กให้รับมือกับความผิดหวัง



พญ.โสรยา ชัชวาลานนท์...

1. "ครอบครัวเข้มแข็ง คือที่พักพิงใจที่สำคัญ" ครอบครัวเป็นสถาบันหลักที่อบรมเลี้ยงดูเด็กให้เจริญเติบโตทั้งด้านร่างกาย สติปัญญาและเป็นที่พึ่งทางจิตใจที่สำคัญที่สุด เมื่อเด็กเจอความผิดหวัง หน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่คือ ต้องไม่แสดงความอ่อนแอให้ลูกเห็น เช่น ร้องไห้พร้อมกับลูก เพราะยิ่งจะทำให้เด็กเสียขวัญ และรู้สึกเสียใจที่คุณพ่อคุณแม่ต้องมาเสียน้ำตา

2. "ภาษากาย" ความรักและความอบอุ่นที่เด็กสัมผัสได้ เมื่อเด็กรู้สึกผิดหวัง ทำให้ไม่พร้อมที่จะรับฟังคำพูดปลอบประโลมหรือคำอธิบายต่างๆ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงหรือพูดให้น้อยที่สุด แล้วหันมาใช้ "ภาษากาย" เพื่อแสดงการปลอบโยนและเข้าใจถึงความรู้สึกที่เด็กมี อาทิ การกอด เอามือตบไหล่หรือใช้เวลาอยู่ด้วยกันให้นานขึ้น วิธีนี้จะช่วยให้เด็กรู้สึกว่าต่อให้เกิดอะไรขึ้นก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ก็ยังรักและเป็นกำลังใจให้เขาเสมอ

3. "ไม่ซ้ำ-ไม่ย้ำ-ไม่ตำหนิ" นอกจากคำตำหนิแล้วคำต้องห้ามที่ไม่ควรพูดให้เด็กได้ยิน เช่น น่าเสียดาย เพราะจะยิ่งไปซ้ำเติมภาวะจิตใจที่แย่อยู่แล้วให้หนักเข้าไปอีก

4. "เป็นผู้รับฟังที่ดี" พยายามกระตุ้นให้เด็กเล่าหรืออธิบายสิ่งที่ติดค้างในใจ เพื่อระบายความรู้สึกที่ไม่สบายใจออกมา คุณพ่อคุณแม่อาจถามในประเด็นที่สำคัญและรับฟังคำตอบอย่างตั้งใจ เพราะเพียงแค่ได้เล่าออกมาให้ใครสักคนฟังเด็กจะรู้สึกสบายใจขึ้น

5. "เบี่ยงเบนความสนใจจากอดีตด้วยกิจกรรมใหม่ๆ ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน" บางครั้งเด็กจะกังวลและยังจดจ่ออยู่กับความผิดหวังในอดีตที่ผ่านไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยและแนะนำโดยให้มองไปยังเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตแทน

6. "ความพ่ายแพ้และความผิดหวัง คือเครื่องเตือนใจให้เราอย่าหยุดพัฒนาตัวเอง" คุณพ่อคุณแม่ควรใช้เวลาอยู่กับเด็ก โดยเน้นพูดคุยถึงเรื่องดีๆ ในวันข้างหน้า เช่น อนาคตอยากทำอะไร รู้สึกอย่างไรถ้าวันหนึ่งประสบความสำเร็จในชีวิต ได้ทำในสิ่งที่อยากทำมานาน หรือให้เล่าประสบการณ์ดีๆ ที่ประทับใจเพื่อลดความรู้สึกด้านลบของเด็ก

7. "ค้นหาเด็กเก่งคนใหม่ที่ซ่อนอยู่ในลูกคนเดิม" คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลดความกังวลให้กับเด็กได้ ด้วยการดึงความสามารถด้านอื่นๆ ที่เด็กมีอยู่ออกมาอีก จะช่วยให้ลูกมีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาความสามารถนั้นมาทดแทน

การเลี้ยงลูกในยุคที่มีการแข่งขันสูง คุณพ่อคุณแม่รุ่นใหม่จึงต้องสร้าง "ต้นทุนชีวิตและภูมิคุ้มกันทางจิตใจ" ให้ลูก ไม่ว่าจะเป็นการทุ่มเททั้งความรักและความปรารถนาดี เปิดใจรับฟังและทำความเข้าใจในสิ่งที่ลูกพูด เพื่อหล่อหลอมให้ลูกๆ เจริญเติบโตและเริ่มต้นตั้งหลักชีวิตได้อย่างแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต

พญ.โสรยา ชัชวาลานนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
โรงพยาบาลเด็ก สมิติเวช ศรีนครินทร์

ที่มา คอลัมน์ สดจากเยาวชน/ข่าวสดออนไลน์

วันอาทิตย์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

....14 วิธี เตรียมลูกน้อยเข้าโรงเรียน....



....14 วิธี เตรียมลูกน้อยเข้าโรงเรียน....

การเข้าเรียนครั้งแรกเป็นเหตุการณ์น่าตื่นเต้น ประทับใจทั้งพ่อ แม่ ลูก จึงต้องมีการเตรียมพร้อมกันพอควร สำหรับการก้าวสู่โลกกว้างของลูกน้อยค่ะ

โรงเรียนอนุบาลเป็นแหล่งส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก เสริมพัฒนาการครบทุกด้าน ให้ความรู้สึกมั่นคง ฝึกฝนนิสัยการกิน การเล่น การดู การฟัง การมีเหตุผล การปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันที่พึ่งพาตนเองได้ พร้อมที่จะอยู่กับผู้อื่น หล่อหลอม การเป็นคนดี มีคุณธรรม ไม่ว่าทางบ้านพ่อแม่จะอบรมเลี้ยงดูมาอย่างไร ก็จะมาหล่อหลอมด้วยกันที่โรงเรียนอนุบาล จึงต้องควรเตรียมความพร้อมล่วงหน้า ขอแนะนำวิธีดังนี้นะคะ

1. การเตรียมตัวเตรียมใจ พ่อ แม่ ลูก

ควรพูดถึงการไปโรงเรียนในภาพพจน์ที่ดี มีคุณครูใจดี เพื่อนๆ น่ารัก ของเล่นสนุก ได้วาดรูป อ่านนิทาน เป็นต้น

2. การแต่งตัวไปโรงเรียน

ต้องฝึกให้สามารถแต่งตัวได้เองในช่วงเช้าที่รีบเร่งลูกต้องตื่นเช้า เข้าห้องน้ำ ลูกจะค่อยๆ รู้หน้าที่ คือนอนหัวค่ำ ถ้าจะให้ดีควรได้ 10 ชั่วโมง คือนอน 3 ทุ่ม เนื่องจาก 4 ทุ่มถึงตี 2 จะมีการหลั่ง Growth hormone เต็มที่ เด็กจะพัฒนาสมอง ร่างกาย การเรียบเรียงข้อมูลโดยสมองจะเลือกเก็บข้อมูลที่มีประโยชน์ อย่าให้ลูกนอนดึกจะตื่นสาย และขี้เกียจไปโรงเรียน ตื่นเช้าจะสดชื่นพร้อมเรียนรู้ ฝึกให้ลูกจัดข้าวของไปโรงเรียนให้เรียบร้อยก่อนเข้านอน ตอนเช้าจะได้ไม่วุ่นวาย และร้องงอแง พานให้อารมณ์เสียกันทั้งบ้าน

3. การขับถ่ายของลูก

วันแรกๆ ของการเปิดเรียนอาจจะโกลาหล ถ้าไม่ได้ฝึกซ้อมไว้ล่วงหน้าสัก 2 สัปดาห์ ความรีบเร่ง และตื่นเต้นอาจทำให้เด็กท้องผูก หรือไม่ขับถ่ายที่โรงเรียน เด็กหลายคนที่ยังควบคุมการขับถ่ายได้ไม่ดีนัก ควรบอกให้คุณครูทราบ ซึ่งคุณครู และพี่เลี้ยงต้องดูแลเด็กหลายคนถ้าฝึกให้ลูกควบคุมได้ และบอกได้เมื่อถึงเวลาจะขับถ่าย จะช่วยได้มากค่ะ

4. อย่าลืมอาหารเช้า

อาหารเช้าสำคัญเป็นพลังสมอง และร่างกาย เด็กต้องการอาหารสมองในการเรียนรู้ แต่ธรรมชาติของเด็กเล็กมักโยเยไม่กินอาหารเช้า จึงควรให้เด็กนอนเร็ว ตื่นเช้า และกินอาหารเช้าก่อนเปิดเทอมจริง ถ้าทำไม่ได้ก็เริ่มตั้งแต่วันเปิดเรียนเพื่อปรับความเคยชินให้ลูก อย่ารีบเร่งมากนักเพื่อไม่ให้ทุกคนเครียดในวันแรก อาหารเช้าควรมีคุณค่าทางโภชนาการควรมีนมเสริมอาหารเช้าสัก 1 แก้ว ถ้าปรับเวลาได้เด็กจะกินอาหารเช้าได้ดีค่ะ

5. การนอนดึก

มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก เด็กนอนดึกจะนอนไม่พอ งอแงในตอนเช้า การเรียนรู้ไม่ดี จนส่งผลต่อศักยภาพในการเรียนรู้ และไอคิว อีคิวได้ ดังนั้นพ่อแม่อย่านอนดึกนะคะ เพราะลูกจะนอนดึกด้วย คือวันศุกร์-เสาร์อาจจะอนุโลมได้ ก่อนนอนให้ลูกแปรงฟัน สวดมนต์ ฟังนิทานให้จิตใจสงบ ไม่มีทีวี เปิดดังในห้องนอน หรี่ไฟลงให้ลูกหลับ อาจร้องเพลงให้ฟัง หรือเล่านิทาน เล่าเรื่องดีๆ ของวันแรกในการไปโรงเรียนให้เขาฝันดี

6. เริ่มฝึกเรื่องการรักษาเวลา และตรงต่อเวลา

เด็กๆ มีหลายประเภท คือทำอะไรรวดเร็ว หรือยืดยาด ต่อรอง งอแง โดยเฉพาะวันแรก หรือวันจันทร์ ควรให้ลูกเริ่มฝึกวินัยเรื่องกำหนดเวลา เช่น

• ตอนเช้าลูกจะมีนาฬิกาปลุก หรือพ่อแม่ปลุก ควรอาบน้ำแปรงฟัน แต่งตัวเสร็จในเวลากี่โมง สอนให้ลูกดูนาฬิกาและเวลาของวันด้วย อาหารเช้าเวลากี่โมง ขึ้นรถไปโรงเรียนกี่โมง

• กลับจากโรงเรียนให้ลูกวิ่งเล่นได้ แล้วอาบน้ำกี่โมง เวลาตั้งโต๊ะอาหารกี่โมง ทำการบ้านกี่โมง ดูทีวีได้นิดหน่อย 3 ทุ่ม เข็มนาฬิกาอยู่ที่เลข 9 (สอนลูกดูนาฬิกาด้วย) ลูกควรแปรงฟัน เตรียมเข้านอน

7. พ่อแม่เป็นต้นแบบให้ลูกทำตาม

ถ้าพ่อแม่รักษาเวลา รักษาระเบียบ และกฎเกณฑ์ในบ้านลูกจะทำตาม เมื่อเขาทำความดีคำพูดชมเชยมีประโยชน์ ไม่ทำอันตรายต่อลูก แต่ไม่ตามใจจนลูกทำอะไรไม่ได้ด้วยตนเอง

8. ให้ลูกช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด

ลูกอยู่บ้านเป็นทั้งแก้วทั้งแหวน บางครั้งเราก็ตามใจลูกมาก ไม่ต้องทำอะไรด้วยตนเอง อยากได้อะไรก็ตะโกนเรียกให้ผู้ใหญ่ทำแทน ทำให้ลูกอ่อนแอและไม่พัฒนา จึงต้องให้ลูกแสดงความสามารถ เช่น ลากกระเป๋าเล็กๆ หิ้วกระติกน้ำเอง หรือใส่ และถอดรองเท้าเอง ถ้าเขาทำได้จะมีความภูมิใจมาก

9. ยามลูกเจ็บป่วย

ลูกอาจไม่สบายมากขึ้น จากการเดินทาง หรือการเข้าเรียน และกิจกรรม อีกทั้งอาจแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น หรือรับเชื้อจากผู้อื่นง่ายขึ้น เมื่อแพทย์แนะนำว่ามาเรียนได้จึงค่อยมา ปีแรกของชีวิตอนุบาลเด็กจะป่วยกันบ่อยๆ จากโรคหวัด เชื้อไวรัส และอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ปีที่ 2 และ 3 จะป่วยน้อยลงตามลำดับค่ะ

10. ลูกบอกความต้องการตนเองให้คนอื่นเข้าใจได้

เด็กที่ไม่คุ้นกับสถานที่ที่ ไม่ใช่บ้าน บางคนไม่บอกความต้องการตนเอง และคุณครูก็ไม่รู้ว่าเด็กต้องการอะไร บางคนเอาแต่ร้องไห้ หรืออาละวาด ต้องฝึกลูกว่าถ้าต้องการอะไรจะต้องบอกว่าอย่างไร เช่น หนูปวดฉี่ ปวดอึ หนูหิว หนูกลัว ก็ให้พูดออกมากับคุณแม่บ่อยๆ แล้วเขาก็จะพูดให้คุณครูฟังเข้าใจได้

11. ลูกควรฝึกการรอคอย

เกิดจากการตามใจเด็กมาก อยากได้อะไรต้องได้โดยเฉพาะวัย 3 ปี จึงต้องฝึกฝนเพื่อให้เขาเป็นเด็กดี มีอีคิวที่ดี รอได้ ต้องฝึกที่บ้าน เพราะคุณครูมีคนเดียวเด็กหลายคน จะให้คุณครูดูแลพร้อมกันทุกคนเป็นไปไม่ได้ เวลาจะเล่นก็ต้องมีการต่อแถว จะรอเวลา ซึ่งเด็กจะทำได้ถ้าเข้าร่วมกิจกรรม

12. ลูกควรฟังผู้อื่นด้วย

เด็กที่พูดไม่หยุด ไม่ฟังใคร ทำให้การเรียนรู้ การเข้ากลุ่มเป็นไปได้ไม่ดี ต้องฝึกให้ลูกรู้จักฟัง เช่น จากการเล่านิทานให้ลูกฟัง และแม่ซักถาม ทบทวนว่าจับใจความได้ หรือไม่ คุณกับลูก ถึงประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาในแต่ละวัน ให้ลูกเล่าว่าวันนี้เล่นกับใครเล่นอะไรกัน คุณครูอ่านนิทานเรื่องอะไร

13. เรียนรู้แบ่งปันผู้อื่น

การเล่นกับเพื่อนๆ แบ่งของเล่นกัน เล่นด้วยกัน ช่วยกันเก็บของเล่น เด็กจะเรียนรู้ทักษะ คือเป็นทั้งผู้รับ ผู้ให้ ฝึกการเป็นผู้นำ เป็น LEADERSHIP ได้ตั้งแต่เด็กๆ

14. ลูกมีพรสวรรค์ด้านใด

เด็กทุกคนมีความ "เก่ง" ที่ซ่อนอยู่ในตัว เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่เปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงถึงศักยภาพนั้น หรือไม่ บางคนเก่งทางการเคลื่อนไหวร่างกาย บางคนพูดเก่ง บางคนตลกเก่ง บางคนเงียบๆ แต่อ่านนิทานเร็ว บางคนนำกลุ่มเก่ง (มีภาวะผู้นำ) ฯลฯ

การมาโรงเรียนเด็กจะมาเรียนรู้จากคุณครู และเพื่อนๆ เป็นการเพิ่มทักษะของตนเอง มีเพื่อนมากขึ้น มีความสุข มีพัฒนาการครบถ้วน ทั้งร่างกายเติบโตแข็งแรง อารมณ์มั่นคง พัฒนาอีคิว และพรหมวิหาร 4 การเข้าสู่คนหมู่มาก และสังคมสติปัญญาพัฒนา มีจริยธรรม คุณธรรมสู่ความเป็นเด็กเก่ง ดี มีสุข นั่นเองค่ะ




ขอบคุณข้อมูลจากโรงเรียนอนุบาลเด่นหล้าค่ะ ขอเก็บไว้ใน บล็อกนี้ เพื่อสะดวกในการค้นหาของผปค.

"20 ข้อที่แม่ควรสอนลูกสาว"


1.ครอบครัวจะเป็นครอบครัวตลอดไป แม่จะรักพ่อเสมอ เราจะอยู่เป็นครอบครัวเพื่อให้ลูกมีที่พึ่งพิง เพื่อเป็นตัวอย่างครอบครัวที่ดีให้ลูกเห็น เพราะเราปรารถนาให้ลูกได้มีครอบครัวที่สมบูรณ์เช่นกัน


2.ลูกดูดีเสมอในสายตาของแม่ ความงามเกิดขึ้นได้จากภายใน ไม่ใช่แค่รูปลักษณ์ภายนอก และแม่รักลูกในสิ่งที่ลูกเป็น

3.ลูกมีศักยภาพเพียงพอในการทำสิ่งที่ลูกอยากทำ แต่อย่ากลัวที่จะล้มเหลว

4.สอนลูกให้ปฏิเสธเป็น หากถูกชักจูงให้ทำสิ่งที่ไม่ดีหรือลูกไม่อยากทำ

5.ลูกควรมีระเบียบวินัยและเรียนรู้ถูกผิดตั้งแต่ในบ้าน เป็นคนที่รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เมื่อออกนอกบ้านจะได้ไม่เป็นที่ระอา

6.จงทะนงในศักดิ์ศรี พึ่งพาตัวเองได้ เป็นคนมีอารมณ์ขัน และปฏิบัติต่อทุกคนที่ลูกพบด้วยความสุภาพ ไม่ว่าจะเป็นคุณครู ภารโรง หรือ พนักงานขาย เพราะทุกคนมีเกียรติและศักดิ์ศรี

7.สอนลูกให้กินเป็น อาหารที่ดีต่อสุขภาพ แต่ไม่หมกมุ่นกับการกินให้ผอม

8.สุภาพบุรุษพึงปฏิบัติด้วยความสุภาพและให้ความนับถือต่อลูก ให้ดูพ่อของลูกเป็นตัวอย่างที่ดี อย่ายอมรับสิ่งที่น้อยกว่านั้น เพื่อลูกจะได้ไม่เสียใจภายหลัง

9.แต่งกายให้เหมาะสม อย่าดึงดูดสายตาผู้คนด้วยการแต่งกาย เพราะมันไม่ใช่ของจริงแท้สำหรับคนที่จะมาสนใจลูก

10.จงสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้คนที่ดี เพราะเขาเหล่านั้นจะช่วยเติมเต็ม และทำให้ชีวิตลูกมีความสุข

11.อย่ายุ่งกับสารเสพติด และ ดื่มอัลกอฮอล์มากเกินไปเพราะจะทำให้เกิดอันตราย ยิ่งถ้าเป็นเด็กหรือวัยรุ่นยิ่งอันตราย

12.พ่อจะเป็นฮีโร่และคอยปกป้องลูกเสมอ หากมีใครมาทำร้ายลูก

13.เรียนรู้วิธีใช้จ่ายเงินอย่างชาญฉลาด เริ่มได้ตั้งแต่เด็ก

14.จงมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่นเสมอ

15.อดทน อดกลั้น รอคอย อย่ามีเพศสัมพันธ์ก่อนเวลาอันควร จนกว่าจะพบคนที่เหมาะสม ในเวลาที่เหมาะสม

16.อย่าทำชีวิตให้ซับซ้อน ความเรียบง่าย คือ สิ่งที่ลึกซึ้งและคงทน และช่วยให้ลูกไม่เหนื่อยเกินความจำเป็น

17.ให้เชื่อมั่นในพระเจ้า (ศาสนา) จงยึดมั่นในความดี

18.ให้ลูกรู้สึกขอบคุณทุกสิ่งที่ทำให้ลูกเป็นลูก จะทำให้ลูกเป็นคนอ่อนน้อม และกตัญญูกับทุกคนที่มีบุญคุณกับลูก

19.จงเป็นคนมุ่งมั่น ไม่ย่นย่อ ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคง่ายๆ เป็นคนหาความรู้ใส่ตัวเสมอ

20.และจำไว้ว่า พ่อและแม่รักลูกเสมอ และ รักตลอดไป

เครดิต Haylee Wilkerson , skinnymom.com

"20 ข้อที่แม่ควรสอนลูกชาย"

"20 ข้อที่แม่ควรสอนลูกชาย"

1.ฝึกเล่นกีฬา เพราะ กีฬาสอนให้รู้จักการชนะอย่างมีเกียรติ แพ้อย่างสง่างาม เชื่อฟังกติกา ทำงานเป็นทีม การแบ่งเวลา การขอเวลานอกเพื่อหาวิธีแก้เมื่อเจออุปสรรค 

2.เวลาฉี่ให้ระวัง เพราะคนอื่นต้องมาทำความสะอาดที่เลอะ

3.หัดเก็บเงินตั้งแต่เล็ก เพราะวันหนึ่งลูกจะต้องใช้

4.ให้แม่สอนลูกให้รู้วิธีล้างจาน ทำอาหาร ซักผ้า รีดผ้า ดูดฝุ่น กวาดบ้าน ถูบ้าน เอาหล่ะ เราไปทำกันเลย

5.อย่ารังแกคน อย่าเป็นคนเริ่มทำร้ายผู้อื่น แต่ถ้ามีใครมาแกล้ง ก็ต้องป้องกันตัวเอง

6.การศึกษาและความรู้เป็นสิ่งที่ไม่มีใครขโมยไปจากเราได้

7.จงเข้มแข็งและอ่อนโยนในคราวเดียวกัน

8.จงมั่นใจในตัวเองทุกครั้งที่ต้องปรากฏตัว

9.ผู้หญิงทำได้ทุกอย่างที่ผู้ชายทำ รวมถึงการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และ การตื่นขึ้นมาเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกตอนตี 3 ดังนั้นจึงควรให้ความนับถือภรรยาเพื่อความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว

10."ครับผม" "ได้ครับ" จงพูดไว้ให้ติดปาก

11.เหตุผลที่เรียกว่า"ของลับ" ก็เพราะว่ามันไม่ควรโชว์ จงอย่าเกามันในที่สาธารณะ

12.เพื่อนเป็นสิ่งที่มีอิทธิพล จงเป็นผู้นำที่ดีแล้วผู้อื่นจะคล้อยตาม

13.ฝึกการเป็นผู้นำที่อบอุ่นและเข้าถึงจิตใจของผู้อื่น

14.การเป็นคนจิดใจดี ดีกว่า การเป็นคนที่ถูกต้องเสมอ

15.จงฝึกเป็นคนมีอารมณ์ขัน จะช่วยเยียวยาทุกสิ่ง

16.จงเลือกคนมาเป็นภรรยาอย่างตรึกตรอง

17.การให้ดอกไม้ภรรยาแบบไม่มีเหตุผล เป็น
ความคิดที่ดีเสมอ

18.เพื่อความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว จงอย่าคาดหวังว่าลูกจะได้สิ่งใดจากภรรยา ถ้าลูกไม่สามารถให้สิ่งนั้นกับเธอ

19.ปฏิบัติต่อผู้หญิงทุกคนด้วยความสุภาพ โดยเฉพาะกับภรรยา ไม่เช่นนั้นลูกจะรู้สึกโดดเดี่ยวตลอดไป

20.และอย่าลืมที่จะโทรศัพท์หาแม่บ่อยๆ เพราะว่าแม่คิดถึงลูกตลอดเวลา

เครดิต Learning petals