วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556

เราเป็นพ่อแม่แบบไหนกันนะ




# เราเป็นพ่อแม่แบบไหนกันนะ#





แนนซี่ ดาร์ลิ่งนักจิตวิทยา กล่าวว่า ลักษณะการเลี้ยงดูของพ่อแม่มีส่วนสัมพันธ์กับ พฤติกรรมของเด็กและผลสัมฤทธิ์ในชีวิตของเด็กในระยะยาว แนนซี่ได้พูดถึงลักษณะของพ่อแม่ 4 ประเภท โดยอาศัยเรื่องการสร้างวินัยภายในบ้านและการตอบสนองต่ออารมณ์ของเด็กว่า เป็นพ่อแม่ที่ไวต่อการตอบสนองทางอารมณ์ของเด็กหรือไม่ ใส่ใจกับอารมณ์ของเด็กหรือไม่ เป็นตัวแยกประเภทต่าง ๆ ของพ่อแม่ ไว้ในบทความที่ชื่อว่า "Parenting Style and Its Correlates” ดังนี้ค่ะ

1. ประเภทเอาลูกว่า (Indulgent Parents)

พ่อแม่ที่เข้าลักษณะตามนี้มักจะไม่ค่อยพยายามที่จะปรับพฤติกรรมลูก พ่อแม่จะกลัวและหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับเด็กเมื่อเวลาที่เด็กมีปัญหา และมักลงท้ายด้วยการยอมตามเด็ก หรือตอบสนองความต้องการต่าง ๆ ของเด็กโดยทันที เพื่อให้ปัญหาต่าง ๆ จบไปอย่างรวดเร็ว เด็กที่ถูกเลี่ยงโดยพ่อแม่ที่มีลักษณะแบบนี้ ถึงแม้ว่าเค้าจะเป็นเด็กที่มีความมั่นใจในตัวเอง เนื่องพ่อแม่ตอบสนองเค้าอย่างรวดเร็วและรู้สึกว่าพ่อแม่รักเค้ามาก แต่เมื่อเค้าโตขึ้นมาจะทำให้มีปัญหาพฤติกรรม เช่นเข้ากับคนอื่นยาก คิดถึงแต่ตัวเองเป็นหลัก ไม่ใส่ใจความรู้สึกของคนอื่น ตอบสนองต่อความรู้สึกของคนอื่นไม่เป็น ทำอะไรตามแต่ใจของตัวเอง ขาดวินัย เป็นต้น

2. ประเภทพ่อแม่เป็นใหญ่ (Authoritarian Parents)
พ่อแม่ที่มีลักษณะแบบนี้มักมีความเชื่อในการเลี้ยงลูกว่าพฤติกรรมของเด็กต้องถูกควบคุมให้อยู่ในกรอบให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พ่อแม่จึงมักสร้างกฏหรือระเบียบวินัยต่าง ๆ ขึ้นมาในบ้าน รวมถึงบอกให้เด็กปฏิบัติตามและรู้ถึงผลหรือโทษของการไม่ปฏิบัติตามกฎนั้น นอกจากนั้นพ่อแม่มักจะปลูกฝังให้เด็กเชื่อฟังผู้ใหญ่และปฏิบัติตามาคำสั่งของผู้ใหญ่ โดยเคร่งครัด ห้ามโต้เถียง หรือขัดแย้งต่อผู้ใหญ่ เด็กที่ถูกเลี้ยงมาแบบนี้มักจะมีพฤติกรรมไปใน 2 แบบดังนี้ค่ะ แบบที่หนึ่งคือ เลียนแบบพฤติกรรมผู้บังคับบัญชาของพ่อแม่ การที่เค้ามีพฤติกรรมแบบนี้ทำให้เค้ามีปัญหาต่อคนรอบข้าง เข้ากับคนอื่นยาก เพราะเค้าจะชอบบังคับคนอื่นให้ทำตามสิ่งที่เค้าต้องการ เค้าจะรู้สึกขัดใจง่ายถ้าอะไรไม่ไปไปตามระเบียบหรือแบบแผนที่วางไว้ ไม่เข้าใจคนอื่นที่ทำอะไรไม่มีแบบแผนในชีวิต เครียดง่าย โมโหง่าย เพราะสิ่งแวดล้อมมีแต่สิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจ แต่ข้อดีคือ เคารพผู้ใหญ่ (ต้องเข้าใจว่าอาจจะเป็นเคารพเพราะเกรงกลัว ไม่ใช่เพราะรักหรือผูกพัน) อีกแบบคือ เป็นคนเก็บกด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกกดดัน รู้สึกกลัวเมื่อต้องเผชิญหน้ากับผู้บังคับบัญชา เมื่อพวกเค้าโตขึ้นก็อาจจะเสี่ยงต่อปัญหาเรื่องซึมเศร้าหรือวิตกกังวล

3. ประเภทประชาธิปไตย (Authoritative parents)
พ่อแม่พวกนี้เชื่อว่าการความสมดุลระหว่างการสร้างกรอบกฏระเบียบวินัยที่ชัดเจนกับเด็ก เอาจริงกับพฤติกรรมที่ไม่สมควร รวมถึงการเปิดโอกาสให้เด็กได้มีโอกาสได้ทำอะไรด้วยตัวเอง ช่วยเหลือตัวเอง คิดเอง ภายใต้บรรยากาศอันอบอุ่นภายในบ้านที่พ่อแม่เข้าใจและตอบสนองต่อความต้องการของเด็กแต่พอดี จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ ซึ่งจากการศึกษาก็ยืนยันตามนั้นค่ะว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงโดยพ่อแม่พวกนี้จะทำให้เค้ามั่นใจในตัวเอง มีพฤติกรรมที่ดี และประสบความสำเร็จในชีวิต

4. ประเภทฉันไม่ยุ่ง (Uninvolved Parents)
พ่อแม่ลักษณะนี้มักไม่ได้กำหนดระเบียบวินัยให้กับเด็ก และมีแนวโน้มที่จะไม่ตอบสนองต่อความต้องการของเด็กทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงสิ่งของ เด็กพวกนี้เมื่อเติบโตขึ้นมักจะมีปัญหาเรื่อง ความเฉยเมย ไม่ใส่ใจหรือสนใจความรู้สึกของผู้อื่น หรือบางรายอาจมีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์ เพราะไม่เคยถูกสอนหรือบอกให้คุมอารมณ์

ประเภทการแบ่งพวกนี้ได้มาจากการศึกษาวิจัยค่ะ เข้าใจว่าในชีวิตจริง การแบ่งแบบนี้ บางอย่างอาจจะสุดโต่งเกิดไปในความรู้สึกของผู้ปกครอง แต่สิ่งที่อยากจะบอกคือ ให้ดูว่าเราเด่นไปทางไหน แล้วลักษณะที่เราเด่นตอนนี้ อาจจะมีผลต่อเด็กในอนาคตได้อย่างไรบ้าง ที่ใช้คำว่า “อาจจะ” ในการเลี้ยงดูเพราะเรื่องบุคลิกหรือปัญหาต่าง ๆ ของเด็กในอนาคต อาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูเพียงอย่างเดียว แต่มันคือการผสมผสานระหว่างพื้นฐานเดิมของเด็ก สิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่เด็กเจอตลอดชีวิตของเค้า ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียน เพื่อน สภาพสังคม สิ่งแวดล้อม หรือสื่อ ต่าง ๆ รวมถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของเค้าที่เค้าเจอในขณะ นั้นๆ ด้วยค่ะ

@หมอมินอินเตอร์@

ลูกเรามีลักษณะการเรียนรู้แบบไหน

แม่คนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าทำไมเวลาบอกหรือสอนอะไรแล้ว ลูกดูเหมือนไม่ค่อยรู้เรื่อง ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเด็กก็ดูเหมือนจะฟังดี ดูสนใจ ดูตั้งใจ ดูไม่ได้มีอารมณ์หงุดหงิดหรือโกรธ หรืองอแง จนปิดกั้นนการเรียนรู้ ไม่ได้มีไข้ไม่สบาย ไม่ได้ง่วงนอน แถมตอนที่แม่สอนแม่ก็อารมณ์ดี แม่ก็พยายามตั้งใจอธิบายช้า ๆ ค่อย ๆ ไปไม่เร่งรัด แต่ทำไม พอถามลูกกลับทีไรว่าเข้าใจไหม ลูกกลับไม่รู้เรื่อง จะว่าไม่ฉลาดก็ไม่ใช่ หลาย ๆ เรื่องเค้าก็ดูฉลาดดี โต้ตอบได้ทันคนทีเดียว จะว่าสมาธิสั้นหรือเหม่อลอย ก็ดูไม่ค่อยเหม่อนะคะ แถมที่รร. ครูก็บอกว่าเค้าก็ดูมีสมาธิดี แต่ครูก็ติดปัญหาเดียวกับแม่คือถ้าอธิบายให้เค้าฟัง เค้าไม่ค่อยรู้เรื่องน่ะคะ เค้าเขียนหนังสือได้นะคะ อ่านหนังสือออกค่ะ คิดเลขก็เก่ง หมอว่าลูกพี่เป็นอะไรคะ ????



คุณแม่ลองมาดูตรงนี้สิคะ เผื่อจะได้คำตอบบ้างว่า ลูกเป็นอะไร
คนเรามีลักษณะการเรียนรู้ที่เรียกว่า Learning styles แตกต่างกันค่ะ คำว่า ลักษณะการเรียนรู้หมายถึงวิธีการต่าง ๆ ที่เราใช้ในการเรียนรู้ ประมวลผล และเก็บข้อมูลในระบบความจำของเรา ถึงแม้เด็กเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เค้าได้รับ ผ่านทางระบบสัมผัส การลงมือทำ การเคลื่อนไหว การได้ยิน เหมือนกัน แต่เราจะพบว่า บางคนมีลักษณะการเรียนรู้บางอย่างที่เด่นกว่าคนอื่น เช่น เด็กคนนี้ช่างสังเกต เด็กคนนี้ฟังครูสอนรู้เรื่องหมดเลยขนาดยังไม่ได้เขียนกระดาน เด็กคนนี้ต้องให้เค้าลงมือทำเองเค้าถึงจะเข้าใจว่าเราสั่งให้เค้าทำอะไร อะไรทำให้เด็กแต่ละคนมีลักษณะ แตกต่างกัน คำตอบอันหนึ่งคือ ลักษณะการเรียนรู้ของแต่ละคนไม่เหมือนกันค่ะ

ลองมาดูกันนะคะว่าประเภทการเรียนรู้ของเด็กมีแบบไหนบ้าง และจากการสังเกตของเราลูกของเราน่าจะเข้าได้กับประเภทไหน
การเรียนรู้แบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 4 ประเภทค่ะ แบบย่อยอาจจะได้ถึง 7 ประเภทค่ะ

4 ประเภทใหญ่ ๆ มีดังนี้ค่ะ

1.Visual learners (เด็กที่เรียนรู้ได้ดี โดยอาศัยทักษะการมองเห็น/สายตา) เด็กประเภททนี้จะมีระบบประมวลผลทางสายตาที่เร็ว เด็กพวกนี้จะเรียนรู้ได้ดี จากการสังเกตพฤติกรรมของครู ของเพื่อน ของคนรอบข้าง เด็กจะสังเกตคนอื่นจากภาษากาย สีหน้าท่าทางได้ดีค่ะ เด็กกลุ่มนี้จะเรียนรู้ได้ดีถ้ามีการสอนแบบสาธิตตัวอย่างให้ดู ให้เห็นภาพรวมทั้งหมดของเรื่องราวที่เราต้องการจะสื่อกับเด็ก เด็กพวกนี้เวลาเวลาที่ระบบประมวลผลเค้าทำงาน มักจะทำงานโดยคิดเป็นภาพจินตนาการถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้มาแล้ว ก่อนที่จะเก็บเข้าในระบบความจำระยะยาวค่ะ ข้อเสียคือเด็กพวกนี้จะว่อกแว่กง่ายถ้าอยู่ในสถานที่ที่มีสิ่งเร้าทางสายตาเยอะ ๆ หรือในห้องเรียนที่วุ่นวาย หรือนั่งติดประตูหรือหน้าต่าง เนื่องจากภาพการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ภายนอกห้องเรียนจะดึงความสนใจของพวกเค้าได้เร็วค่ะ ในเด็กที่อ่านหนังสือได้แล้ว การที่เด็กพวกนี้ได้อ่านคำสั่งควบคู่ไปกับการการสอนในห้องที่มีแต่การพูดอย่างเดียว จะทำให้เค้าเข้าใจเนื้อหา และเข้าใจคำสั่งได้ดีขึ้นค่ะ ส่วนในแง่ของการปรับพฤติกรรมแนะนำว่า ถ้ามีข้อตกลงกันระหว่างเด็กกับพ่อแม่ ในเด็กที่อ่านได้ ให้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรให้เด็กอ่านควบคู่กันไปด้วยกับการพูด หรือถ้ายังอ่านไม่ได้ ก็ให้ใช้วิธีวาดภาพหรือใช้รูปภาพค่ะ เพราะจะทำให้เด็กเข้าใจสถานการณ์และเห็นภาพรวมได้ดียิ่งขึ้น ถ้าต้องการห้ามปรามพฤติกรรมแนะนำให้ใช้สีหน้าท่าทางให้ชัดเจนเอาจริง และ ให้เด็กเห็นชัดเจน เพื่อใช้ในการเตือนให้หยุดพฤติกรรมจะดีกว่าการใช้เสียงสั่งอย่างเดียว หรือตะโกน ข้ามจากอีกห้องมาอีกห้องเพื่อสั่งให้เด็กปฏิบัติตามค่ะ 

2.Auditory learners(เด็กที่เรียนรู้ได้ดี โดยอาศัยทักษะการฟัง) เด็กประเภทนี้จะเรียนรู้ได้ดีเมื่อประสบการณ์การเรียนรู้ถูกสร้างผ่านการสนทนา การถามตอบ การโต้ตอบ หรือการตั้งคำถาม การพูดอธิบายหลังจากที่เด็กอ่านหนังสือหรืออ่านคำสั่งจบ จะช่วยทำให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจคำสั่งได้ดีขึ้นค่ะ ข้อเสียคือเด็กพวกนี้จะว่อกแว่กง่ายต่อเสียงดัง เสียงรบกวนต่าง ๆ ดังนั้นการจัดสภาพแวดล้อมให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เงียบก็จะทำให้การเรียนรู้ของเด็ก ราบรื่นขึ้นค่ะ นอกจากนั้นในการทำการบ้าน ถ้าพ่อแม่ช่วยอ่านโจทย์ให้ลูกฟังและสรุปใจความร่วมกัน มีการโต้ตอบ ถามตอบ ก็จะทำให้เด็กเข้าใจการบ้านคำสั่ง โจทย์ งานต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ถ้าเด็กได้รับการบ้านเป็นการอ่านหนังสือ หรือการอ่านเรื่องเพื่อจับใจความแนะนำว่า หลังจากที่เด็กอ่านเสร็จควรจะมีการพูดคุยโต้ตอบกัน เพื่อให้เด็กเข้าใจเนื้อหาให้ชัดเจน สำหรับการปรับพฤติกรรมในกรณีที่เด็กเรียนรู้ได้ดีโดยการฟัง แนะนำว่า ควรทำข้อตกลงในการปรับพฤติกรรมกับเด็กโดยการใช้คำพูด ในสถานการณ์ที่อยู่ด้วยกัน 1 ต่อ 1 แล้วให้เด็กทบทวนสิ่งที่เราพูดเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจตรงกัน จะเป็นวิธีที่ช่วยให้เด็กเข้าใจเจตนาของพ่อแม่ ได้ถูกต้องและชัดเจนค่ะ

3. Tactile learners (เด็กที่เรียนรู้ได้ดีโดยอาศัยระบบการรับสัมผัส) เด็กพวกนี้การเรียนรู้ของพวกเค้าจะเกิดขึ้นได้ดี ถ้าประสบการณ์การเรียนรู้ถูกจัดให้เด็กได้มีโอกาสลงมือทำเอง เด็กพวกนี้จะเรียนรู้ได้ดีค่ะ เด็กพวกนี้มักจะชอบวาดเล่น หรือ วาดรูปเพื่อช่วยในเรื่องความเข้าใจ และความคิดรวมยอดของเค้าค่ะ (ดังนั้นถ้าเห็นเด็กวาดเล่นในระหว่างการสอน อาจจะต้องประเมินนิดนึงก่อนทำโทษนะคะ ว่าเค้าวาดเพราะอะไร) การจัดบรรยากาศการเรียนรู้โดยการให้งานหรือให้เด็กได้ลงมือทำด้วยตัวเอง เช่นการให้เด็กประดิษฐ์ หรือทำ โปรเจคต่างๆที่เค้าได้มีโอกาสได้ใช้มือของเค้าในการลงมือทำเอง จะมีส่วนช่วยให้เค้าเรียนรู้ได้ดีขึ้นค่ะ 

4. Kinesthetic learners (เด็กที่เรียนรู้ได้ดีโดยอาศัยระบบการเคลื่อนไหว เด็กพวกนี้จะคล้ายกับกลุ่มที่ 3 ค่ะคือต้องมีการปฏิบัติ มีการเคลื่อนไหว เดินไปเดินมา ดังนั้น การเพิ่มการทดลอง หรือการฝึกปฏิบัติจริง การมีกิจกรรมภาคสนาม ในกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ จะช่วยให้การเรียนรู้ของเด็กเป็นไปได้ด้วยดี กลุ่มนี้จะต่างจากกลุ่มที่ 3 ตรงที่กลุ่มที่ 3 จะเน้นทักษะการปฏิบัติที่เน้นการใช้มือเป็นหลัก แต่กลุ่มที่ 4 จะใช้ทักษะการเคลื่อนไหวทั้งหมดของร่างกายค่ะ ดังนั้นข้อเสียของเด็กกลุ่มนี้คือมักจะนั่งติดที่ไม่ได้นานค่ะ

ในกลุ่มที่ 3 และ 4 เนื่องจากเด่นเรื่องการเรียนรู้โดยการปฏิบัติลงมือทำเหมือนกัน ดังนั้นการสอนเรื่องต่าง ๆ ให้กับเด็ก ควรจะจัดบรรยากาศให้เด็กได้มีโอกาสการใช้ระบบประสาทสัมผัส ที่เค้าถนัดร่วมด้วยจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กมากกว่าแค่ให้อ่านหรือพูดให้ฟังค่ะ ในเรื่องการปรับพฤติกรรมเด็กกลุ่มนี้จะเห็นว่าเนื่องจากเด็กถนัพการลงมือปฏิบัติ การบอกด้วยวาจา หรือ การให้เด็กอ่านข้อตกลง เด็กจะอาจจะไม่เข้าใจภาพรวมทั้งหมด ดังนั้นต้องสำหรับเด็กกลุ่มนี้ต้องให้เห็นจริงถึงผลของพฤติกรรมค่ะ เด็กต้องได้รับผลจริงของการทำพฤติกรรมอันนั้น ไม่ใช่แค่บ่น หรือดุ แล้วก็ผ่านเลยไป เพราะไม่งั้นเค้าก็จะกลับมาทำใหม่ เพราะอาจจะยังเชื่อมโยงได้ไม่ได้ หรือไม่เข้าใจภาพรวมทั้งหมด

พอถึงตอนนี้คาดว่าคงเข้าใจกันชัดเจนขึ้นนะคะ ว่าทำไมเด็กบางคน พูดรอบเดียวก็รู้เรื่อง บางคนพูดแล้วพูดอีกก็ไม่รู้เรื่อง ตรงนี้ต้องลองมาทบทวนดูแล้วล่ะค่ะว่า ระบบการเรียนรู้ของลูกเป็นแบบไหนและเราปรับระบบการส่งสารของเราให้เข้ากับระบบการรับรู้ของลูกหรือยัง การจะรู้ได้ว่าลูกเด่นแบบไหนนั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือ ได้มาจากการสังเกต การตั้งสมมุติฐาน และการลองผิดลองถูกของเรากับลูกค่ะ
การที่เรารู้ว่าลูกเรามีลักษณะการเรียนรู้ประเภทไหนเด่น จะช่วยทำให้เราสามารถส่งสารถึงลูกได้มีประสิทธิภาพ ตรงกับเครื่องรับของลูกเรา รวมถึงลดปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างกันด้วยค่ะ
ต้องกลับไปสังเกตกันแล้วล่ะค่ะ
@หมอมินอินเตอร์@