วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556

เราเป็นพ่อแม่แบบไหนกันนะ




# เราเป็นพ่อแม่แบบไหนกันนะ#





แนนซี่ ดาร์ลิ่งนักจิตวิทยา กล่าวว่า ลักษณะการเลี้ยงดูของพ่อแม่มีส่วนสัมพันธ์กับ พฤติกรรมของเด็กและผลสัมฤทธิ์ในชีวิตของเด็กในระยะยาว แนนซี่ได้พูดถึงลักษณะของพ่อแม่ 4 ประเภท โดยอาศัยเรื่องการสร้างวินัยภายในบ้านและการตอบสนองต่ออารมณ์ของเด็กว่า เป็นพ่อแม่ที่ไวต่อการตอบสนองทางอารมณ์ของเด็กหรือไม่ ใส่ใจกับอารมณ์ของเด็กหรือไม่ เป็นตัวแยกประเภทต่าง ๆ ของพ่อแม่ ไว้ในบทความที่ชื่อว่า "Parenting Style and Its Correlates” ดังนี้ค่ะ

1. ประเภทเอาลูกว่า (Indulgent Parents)

พ่อแม่ที่เข้าลักษณะตามนี้มักจะไม่ค่อยพยายามที่จะปรับพฤติกรรมลูก พ่อแม่จะกลัวและหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับเด็กเมื่อเวลาที่เด็กมีปัญหา และมักลงท้ายด้วยการยอมตามเด็ก หรือตอบสนองความต้องการต่าง ๆ ของเด็กโดยทันที เพื่อให้ปัญหาต่าง ๆ จบไปอย่างรวดเร็ว เด็กที่ถูกเลี่ยงโดยพ่อแม่ที่มีลักษณะแบบนี้ ถึงแม้ว่าเค้าจะเป็นเด็กที่มีความมั่นใจในตัวเอง เนื่องพ่อแม่ตอบสนองเค้าอย่างรวดเร็วและรู้สึกว่าพ่อแม่รักเค้ามาก แต่เมื่อเค้าโตขึ้นมาจะทำให้มีปัญหาพฤติกรรม เช่นเข้ากับคนอื่นยาก คิดถึงแต่ตัวเองเป็นหลัก ไม่ใส่ใจความรู้สึกของคนอื่น ตอบสนองต่อความรู้สึกของคนอื่นไม่เป็น ทำอะไรตามแต่ใจของตัวเอง ขาดวินัย เป็นต้น

2. ประเภทพ่อแม่เป็นใหญ่ (Authoritarian Parents)
พ่อแม่ที่มีลักษณะแบบนี้มักมีความเชื่อในการเลี้ยงลูกว่าพฤติกรรมของเด็กต้องถูกควบคุมให้อยู่ในกรอบให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พ่อแม่จึงมักสร้างกฏหรือระเบียบวินัยต่าง ๆ ขึ้นมาในบ้าน รวมถึงบอกให้เด็กปฏิบัติตามและรู้ถึงผลหรือโทษของการไม่ปฏิบัติตามกฎนั้น นอกจากนั้นพ่อแม่มักจะปลูกฝังให้เด็กเชื่อฟังผู้ใหญ่และปฏิบัติตามาคำสั่งของผู้ใหญ่ โดยเคร่งครัด ห้ามโต้เถียง หรือขัดแย้งต่อผู้ใหญ่ เด็กที่ถูกเลี้ยงมาแบบนี้มักจะมีพฤติกรรมไปใน 2 แบบดังนี้ค่ะ แบบที่หนึ่งคือ เลียนแบบพฤติกรรมผู้บังคับบัญชาของพ่อแม่ การที่เค้ามีพฤติกรรมแบบนี้ทำให้เค้ามีปัญหาต่อคนรอบข้าง เข้ากับคนอื่นยาก เพราะเค้าจะชอบบังคับคนอื่นให้ทำตามสิ่งที่เค้าต้องการ เค้าจะรู้สึกขัดใจง่ายถ้าอะไรไม่ไปไปตามระเบียบหรือแบบแผนที่วางไว้ ไม่เข้าใจคนอื่นที่ทำอะไรไม่มีแบบแผนในชีวิต เครียดง่าย โมโหง่าย เพราะสิ่งแวดล้อมมีแต่สิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจ แต่ข้อดีคือ เคารพผู้ใหญ่ (ต้องเข้าใจว่าอาจจะเป็นเคารพเพราะเกรงกลัว ไม่ใช่เพราะรักหรือผูกพัน) อีกแบบคือ เป็นคนเก็บกด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกกดดัน รู้สึกกลัวเมื่อต้องเผชิญหน้ากับผู้บังคับบัญชา เมื่อพวกเค้าโตขึ้นก็อาจจะเสี่ยงต่อปัญหาเรื่องซึมเศร้าหรือวิตกกังวล

3. ประเภทประชาธิปไตย (Authoritative parents)
พ่อแม่พวกนี้เชื่อว่าการความสมดุลระหว่างการสร้างกรอบกฏระเบียบวินัยที่ชัดเจนกับเด็ก เอาจริงกับพฤติกรรมที่ไม่สมควร รวมถึงการเปิดโอกาสให้เด็กได้มีโอกาสได้ทำอะไรด้วยตัวเอง ช่วยเหลือตัวเอง คิดเอง ภายใต้บรรยากาศอันอบอุ่นภายในบ้านที่พ่อแม่เข้าใจและตอบสนองต่อความต้องการของเด็กแต่พอดี จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ ซึ่งจากการศึกษาก็ยืนยันตามนั้นค่ะว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงโดยพ่อแม่พวกนี้จะทำให้เค้ามั่นใจในตัวเอง มีพฤติกรรมที่ดี และประสบความสำเร็จในชีวิต

4. ประเภทฉันไม่ยุ่ง (Uninvolved Parents)
พ่อแม่ลักษณะนี้มักไม่ได้กำหนดระเบียบวินัยให้กับเด็ก และมีแนวโน้มที่จะไม่ตอบสนองต่อความต้องการของเด็กทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงสิ่งของ เด็กพวกนี้เมื่อเติบโตขึ้นมักจะมีปัญหาเรื่อง ความเฉยเมย ไม่ใส่ใจหรือสนใจความรู้สึกของผู้อื่น หรือบางรายอาจมีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์ เพราะไม่เคยถูกสอนหรือบอกให้คุมอารมณ์

ประเภทการแบ่งพวกนี้ได้มาจากการศึกษาวิจัยค่ะ เข้าใจว่าในชีวิตจริง การแบ่งแบบนี้ บางอย่างอาจจะสุดโต่งเกิดไปในความรู้สึกของผู้ปกครอง แต่สิ่งที่อยากจะบอกคือ ให้ดูว่าเราเด่นไปทางไหน แล้วลักษณะที่เราเด่นตอนนี้ อาจจะมีผลต่อเด็กในอนาคตได้อย่างไรบ้าง ที่ใช้คำว่า “อาจจะ” ในการเลี้ยงดูเพราะเรื่องบุคลิกหรือปัญหาต่าง ๆ ของเด็กในอนาคต อาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูเพียงอย่างเดียว แต่มันคือการผสมผสานระหว่างพื้นฐานเดิมของเด็ก สิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่เด็กเจอตลอดชีวิตของเค้า ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียน เพื่อน สภาพสังคม สิ่งแวดล้อม หรือสื่อ ต่าง ๆ รวมถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของเค้าที่เค้าเจอในขณะ นั้นๆ ด้วยค่ะ

@หมอมินอินเตอร์@

ไม่มีความคิดเห็น: