วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การซ่อมแซม "บ้าน" หลังน้ำท่วม

ขอบคุณข้อมูลจาก ร้อยพันปัญหาในงานก่อสร้าง"

 รอบบ้านมีน้ำท่วมจะทำอย่างไร

ในกรณีที่บริเวณรอบบ้านต่ำกว่าถนนสาธารณะ ซึ่งเพิ่มความสูงมาทีหลัง ทำให้บ้านต่ำ มาก มีวิธีแก้ปัญหาดังนี้
การแก้ปัญหาก็คือ ทางเข้าหน้าบ้านทำความลาดเป็นลักษณะหลังเต่า เพื่อป้องกันน้ำจากถนนไม่ให้เข้าบริเวณบ้าน และต้องทำขอบคันดินรอบบ้านหรือทำรั้วด้านล่างให้ทึบ เพื่อป้องกันน้ำ พร้อมทั้งทำท่อระบายน้ำรอบบ้าน โดยมีบ่อพักรวม เพื่อปั๊มน้ำออกนอกบ้านเมื่อเวลาจำเป็น อีกวิธีถ้ามีเงินพอ ก็ควรถมที่ให้สูงกว่าระดับถนนสาธารณะเลย ก็จะแก้ปัญหาได้ถาวร

การยกบ้านเพื่อหนีปัญหาน้ำท่วม

ถ้าน้ำท่วมมากๆ จะยกบ้านให้หนีปัญหาน้ำท่วมนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ มีสิ่งต่างๆ ที่ต้องระวัง อย่างมาก ถ้าเป็นบ้านที่มีโครงสร้างทั้งหมดเป็นไม้ ก็พอที่จะเป็นไปได้ เพราะมีน้ำหนักเบา แล้วการยึดส่วนต่างๆ ก็ยังยืดหยุ่นได้มากกว่า ถ้าเป็นบ้านที่มีโครงสร้างเป็นปูน ส่วนต่างๆ จะยึดติดกันเป็นเนื้อเดียว ซึ่งเมื่อบิดเพียงเล็กน้อย ก็จะเกิดการแตกร้าวได้ ทั้งยังมีน้ำหนักมากด้วย และบ้านปูนยังมีเสาเข็มที่หล่อติดกับตัวฐานราก จะต้องตัดออกแล้วเสริมฐานรากใหม่ ซึ่งทำได้ยากมาก นอกจากโครงสร้างแล้ว ยังมีงานระบบต่างๆ ที่ติดกับพื้นดิน เช่น ท่อประปา ท่อไฟฟ้า ส่วนต่างๆ เหล่านี้ต้องตัดออก แล้วเชื่อมใหม่ทั้งสิ้น ค่อนข้างยุ่งยาก ถ้าผู้รับเหมาไม่มีความชำนาญพอ ก็จะเสี่ยงมาก อาจจะเสียบ้านไปทั้งหลัง ค่าใช้จ่ายเหมือนสร้างใหม่เลย

สาเหตุที่น้ำซึมขึ้นมาบนพื้นเวลาน้ำท่วม
ถ้าเวลาน้ำท่วมบ้าน เกิดน้ำซึมขึ้นมาบนพื้นห้อง อาจจะเกิดจากสาเหตุต่างๆ ดังนี้
1.โครงสร้างพื้นแตกร้าวอยู่เดิมแล้ว หรืออาจจะเกิดจากแรงดันน้ำก็ได้ แก้ไขโดยสกัดออกให้ร่อง แล้วใช้กาวคอนกรีตอุดให้เรียบร้อย แล้วจึงปิดด้วยวัสดุปูพื้นให้เหมือนเดิม
2. เนื่องจากพื้นเป็นพื้นสำเร็จรูป หรือระบบพื้นที่วางอยู่บนดิน ไม่ได้ต่อยึดกับคาน ถ้ามีรอยซึมสามารถใช้ซิลิโคนอุดรอยรั่วได้
3. เกิดจากรูที่บริษัทกำจัดปลวกเจาะทิ้งไว้ วิธีแก้ไข เมื่อเจอรูแล้วก็อุดเสียให้เรียบร้อยด้วยไม้ และอุดทับด้วยซิลิโคน

การซ่อมแซมพื้นบ้านหลังน้ำท่วม

หลังน้ำท่วมถ้าพื้นไม่เสียหาย ก็ทำความสะอาดให้เรียบร้อย ก็สามารถใช้ได้ แต่ถ้าเสียหาย มีวิธีแก้ไข คือ
-พื้นไม้ปาร์เก้ จะหลุดล่อนง่ายเมื่อโดนน้ำท่วม เพราะติดกับพื้นคอนกรีตด้วยกาว วิธีแก้ก็คือ ถ้าแผ่นปาร์เก้ไม่เสียหายมากก็ผึ่งลมให้แห้งก่อน รวมถึงพื้นคอนกรีตด้วย แล้วจึงทาด้วยกาวลาเท็กซ์ หนา 1-2 มิลลิเมตร ค่อยๆ กดลงไปที่เดิมให้แน่น ทิ้งไว้อย่างน้อย 15 วันจึงใช้งานได้ ถ้าเสียหายมากจะเปลี่ยนใหม่ต้องใช้ไม้ชนิดเดียวกับของเดิม
-พื้นพรมต้องลอกออก แล้วนำไปซักและตากแดดให้แห้งสนิท แล้วจึงนำกลับมาปูใหม่ โดยพื้นคอนกรีตต้องแห้งก่อนเช่นเดียวกัน

การซ่อมแซมผนังบ้านหลังน้ำท่วม


วัสดุต่างๆ ที่ใช้ทำผนังบ้าน เมื่อเวลาถูกน้ำท่วมนานๆ ก็จะเกิดความเสียหายแน่นอน มี วิธีแก้ไข คือ
1. ถ้าเป็นผนังไม้ เช็ดทำความสะอาด เพื่อให้ผิวสามารถระเหยความชื้นได้ง่าย เมื่อแห้ง ดีแล้วใช้น้ำยารักษาเนื้อไม้ชะโลมที่ผิว หรือทาสีต่อไป วิธีที่ดีควรทาสีด้านในบ้านก่อน ทิ้งไว้ 5-6 เดือน จึงทาสีด้านนอก
2. ถ้าเป็นผนังก่ออิฐฉาบปูน ก็ใช้วิธีเดียวกับผนังไม้ แต่ต้องทิ้งให้ระเหยความชื้นนานกว่า ผนังไม้ เพราะมีความหนามากกว่า
3. ถ้าเป็นผนังยิบซั่มบอร์ด ก็เลาะเอาแผ่นที่เสียออก ถ้าโครงเคร่าเป็นโลหะก็สามารถติดแผ่นใหม่ได้เลย แต่ถ้าโครงเคร่าเป็นไม้ ต้องทิ้งไว้ให้ความชื้นในไม้ระเหยหมดก่อน จึงจะติดแผ่น ใหม่ได้

การซ่อมวอลล์เปเปอร์หลังน้ำท่วม


เมื่อน้ำท่วมบ้านที่มีผนังบุด้วย วอลล์เปเปอร์ มีวิธีแก้ไขและซ่อมแซม ดังนี้ วอลล์เปเปอร์จะมีลักษณะคล้ายสี ถ้าโดนความชื้นมากๆ จะลอกหรือร่อน การแก้ไขก็โดยการลอกออกให้หมด เพื่อให้ผนังที่ชื้นสามารถระเหยออกมาได้ โดยรอให้ผนังแห้งจริงๆ ทิ้ง
ไว้ประมาณ 1 อาทิตย์ แล้วจึงปิด วอลล์เปเปอร์ทับลงไป อาจจะปิดเองถ้าทำได้ หรือตามช่างมา ก็ได้ ถ้าส่วนไหนขึ้นราหรือเป็นคราบเช็ดไม่ออก ก็สามารถเปลี่ยนแผ่นใหม่ โดยเลือกให้มีลวดลายเหมือนเดิม ก็จะได้ผนังสวยงามเหมือนก่อนน้ำท่วม

การซ่อมแซมฝ้าเพดานบ้านหลังน้ำท่วม


การซ่อมแซมฝ้าเพดาน จะมีลักษณะคล้ายๆ การซ่อมผนังและพื้นปนกัน มีวิธีการแก้ไขคือ ถ้าเป็นฝ้าเพดานยิปซั่มบอร์ด หรือกระดาษอัด ถ้าเปื่อยยุ่ยมากเพราะอมน้ำ ก็ควรเลาะ ออกแล้วจึงเปลี่ยนแผ่นใหม่เลย ทิ้งไว้ให้ทั้งหมดแห้งสนิทจริงๆ แล้วจึงทาสีทับ
-ถ้าเป็นฝ้าโลหะ ให้เช็ดทำความสะอาดให้แห้ง ถ้าเป็นสนิม ก็ใช้กระดาษทรายขัดออกให้เรียบร้อย แล้วจึงทาสีทับเข้าไปใหม่
- ระบบสายไฟส่วนใหญ่ จะเดินในฝ้าเวลาเปิดฝ้าเข้าไปต้องตรวจดูว่าความเรียบร้อยว่า มีส่วนใดชำรุดหรือเปล่าด้วย
- ถ้าโครงฝ้าเพดานที่เป็นไม้ เกิดการแอ่นหรือทรุดตัว ต้องแก้ไขให้ได้ระดับก่อนการติดตั้งแผ่นฝ้าใหม่

การซ่อมแซมประตู หลังน้ำท่วม

ประตูต่างๆ เมื่อถูกน้ำแช่อยู่นานๆ ก็จะบวมขึ้น หรือไม่ก็จะเกิดเป็นสนิม มีวิธีแก้ไขคือ
1. ประตูไม้ เมื่อโดนแช่น้ำก็จะบวมและผุพัง มีวิธีแก้ก็โดยทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วซ่อมแซมส่วนที่ผุให้เรียบร้อยแล้วจึงทาสีใหม่ แต่ถ้าผุมาก ก็ควรจะเปลี่ยนเลย
2.ประตูเหล็กที่ขึ้นสนิม ก็ใช้กระดาษทรายขัดสนิมออกให้หมด เช็ดให้สะอาดแล้วจึงทาสีใหม่ โดยอย่าลืมทาสีกันสนิมก่อน แต่อย่าลืมดูรอยต่อต่างๆ โดยเฉพาะที่เป็นท่อโครงเหล็กว่า มีน้ำหลงเหลืออยู่เหลือเปล่า ต้องให้แห้งจริงๆ ก่อนจึงจะทาสีได้

การซ่อมแซม บานพับ ลูกบิด และรูกุญแจหลังน้ำท่วม


อุปกรณ์ต่างๆ เช่น บานพับ ลูกบิด และรูกุญแจ ทำด้วยโลหะ เมื่อโดนน้ำท่วมย่อมมี ปัญหาตามมา มีวิธีแก้ไข คือ
- เช็ดให้แห้งสนิท ขัดส่วนที่เป็นสนิมออกให้หมด ใช้พวกน้ำยาหล่อลื่นชโลมตามจุดรอยต่อและรูต่างๆ ให้ทั่ว
- อย่าใช้จาระบี หรือพวกขี้ผึ้งทา เพราะจะทำให้ความชื้นระเหยออกไม่ได้ จะทำให้ฝังอยู่ข้างใน และจะเป็นปัญหาในภายหลัง
- ถ้ายังใช้การไม่ได้ ก็ลองทำตามวิธีที่ว่านี้หลายๆ ครั้ง ถ้ายังมีปัญหา ก็ควรจะต้องถอดออก แล้วซื้อมาเปลี่ยนใหม่

การทาสีบ้านหลังน้ำท่วม

การทาสีบ้านหลังน้ำท่วม ควรจะทำเป็นสิ่งสุดท้าย ควรที่จะซ่อมแซมส่วนอื่นๆ เสียก่อน ปล่อยให้แห้งสนิทก่อน แล้วจึงทำการแก้ไข เพราะสีทุกชนิดที่ใช้ทาบ้าน เมื่อโดนน้ำท่วมนานๆ ก็จะเกิดการลอกและล่อนออกมาได้ เนื่องจากความชื้นของน้ำ วิธีแก้ไขคือ ต้องขูดสีเดิมที่ลอกและล่อนออก ทำความสะอาดผนังให้เรียบร้อย ทิ้งไว้ให้แห้งสนิท ถ้าทำได้ควรจะเป็น 3-6 เดือนเลยยิ่งดี เมื่อแห้งแล้วจึงทาสีรองพื้นชนิดกันเชื้อรา แล้วจึงทาทับด้วยสีจริงอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง

การตรวจสอบระบบประปาหลังน้ำท่วม
หลังน้ำท่วมระบบที่สำคัญและไม่ควรมองข้ามไปก็คือ ระบบประปาภายในบ้าน มีสิ่ง ที่ควรตรวจสอบ ดังนี้
- ถังเก็บน้ำใต้ดิน ต้องตรวจดูว่าน้ำท่วมถึงหรือเปล่า ถ้าท่วมควรล้างภายในถังทั้ง หมด เพราะน้ำที่ท่วมไม่สะอาดเท่าน้ำประปา
- ถ้ามีปั๊มน้ำต้องตรวจดูว่าเครื่องทำงานผิดปกติหรือเปล่า แรงดันน้ำลดหรือไม่ ถัง อัดลมเก็บแรงอัดไว้ได้นานหรือเปล่า แต่ถ้าน้ำท่วมปั๊ม ต้องรอให้แห้งเสียก่อน อย่าใช้งานทันที ถ้ามีปัญหาควรตามช่างมาแก้ไขจะดีกว่า เพราะอาจจะทำให้ไฟไหม้ได้

ปัญหาต่างๆ ของส้วมหลังน้ำท่วม

ปัญหาต่างๆ ของบ้านหลังน้ำท่วมจะมีอยู่มากมาย โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับส้วมมีในระหว่างน้ำท่วม เราคงปิดระบบไฟฟ้าทั้งหมด แต่เมื่อน้ำลดแล้ว เราต้องตรวจสอบดังนี้
1. เปิดคัตเอ๊าต์ให้ไฟเข้าระบบ ถ้าส่วนใดยังชื้นอยู่คัตเอ๊าต์จะตัดและฟิวส์จะขาดทิ้งไว้ประมาณ 1 >วัน เปลี่ยนฟิวส์ แล้วลองเปิดใหม่ ถ้ายังตัดอีก คงต้องตามช่างไฟฟ้ามาตรวจดู
2. เมื่อไฟไม่ตัดแล้วลองเปิดไฟดูทุกดวง แล้วใช้ไขควงชนิดตรวจกระแสไฟโดยเฉพาะ
3. ดับไฟทุกจุดและถอดเครื่องใช้ไฟฟ้าตามปลั๊กออกทั้งหมด แล้วตรวจดูที่มิเตอร์ไฟฟ้าว่าตัวเลขยังเดินอยู่หรือเปล่า ถ้าเดินแสดงว่าระบบไฟฟ้าในบ้านรั่ว ควรตามช่างไฟฟ้ามาเช็คดู

วิธีเตรียมระบบไฟฟ้าสำหรับบ้านที่น้ำท่วม

ระบบไฟฟ้าเป็นสิ่งที่มีอันตรายมาก สำหรับบ้านที่น้ำท่วมเป็นประจำ ควรเตรียมระบบไฟฟ้าใหม่ ดังนี้
- ตัดระบบไฟฟ้าของปลั๊กเดิมทิ้ง ย้ายให้สูงขึ้นมาจากระดับพื้นประมาณ 1 เมตร เพื่อให้พ้นระดับน้ำ ส่วนชั้นบนของบ้านสองชั้นไม่จำเป็นต้องย้าย เพราะระดับน้ำท่วมไม่ถึง
- แยกระบบไฟฟ้าในส่วนที่น้ำท่วมบ่อยๆ ออกเป็นอีกวงจรหนึ่ง เพื่อสะดวกในการปิด- เปิดโดยเฉพาะ ส่วนปลั๊กที่อยู่ชั้นล่าง
ถ้าท่านรู้ตัวว่าบ้านของท่านอยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมบ่อย เวลาออกแบบ้านก็ควรให้วิศวกรแยกระบบไฟฟ้าตั้งแต่แรก ก็จะประหยัดงบประมาณได้มาก และจะสวยงามกว่าที่จะมารื้อและแก้ ไขในภายหลัง

วิธีจะใช้เครื่องไฟฟ้าหลังโดนน้ำท่วม
เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ จะมีมอเตอร์และเครื่องจักรกลต่างๆ เมื่อโดนน้ำเข้าไปแล้วจะมี ความชื้นอยู่ ซึ่งเป็นอันตรายมาก มีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้
- ก่อนอื่นต้องทิ้งเอาไว้ให้แห้งสนิทจริงๆ บางส่วนถึงถอดออกได้ ก็ควรเปิดออกมาตากลมให้แห้งก่อน
- เมื่อแน่ใจว่าแห้งแล้ว ก็ลองเปิดเครื่องดู ถ้ามีความผิดปกติก็ควรดับเครื่องทันที
- และสำหรับที่คัตเอ๊าต์ไฟฟ้า ควรมีฟิวส์ไว้เมื่อเกิดการลัดวงจรไฟฟ้าจะได้ถูกตัดออก
- ถ้ามีปัญหาจริงๆ ก็ควรนำไปให้ช่างแก้ไขดีกว่าจะทำเอง

การซ่อมแซมเฟอร์นิเจอร์หลังน้ำท่วม

การซ่อมแซมเฟอร์นิเจอร์ก็คล้ายๆ กับการซ่อมแซมพวกประตู หน้าต่าง พื้น หรือฝ้า เพดาน มีวิธีดังนี้
- พยายามเอาความชื้นออกจากเฟอร์นิเจอร์ให้มากที่สุด
- พวกประเภทที่บุด้วยนุ่นหรือฟองน้ำ ถ้าเป็นไปได้ควรเปลี่ยนเลย เพราะน้ำจะพาเอาเชื้อโรคมาติดอยู่ ถึงจะตากแดดให้แห้ง เชื้อโรคก็ยังมีอยู่
- เฟอร์นิเจอร์ที่ติดกับที่ที่เรียกว่า Built in ต้องตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้าง และสายไฟที่ฝังอยู่ในตู้ รวมถึงทำความสะอาดรูกุญแจและลูกบิด
- ส่วนเฟอร์นิเจอร์ไม้ ไม่ควรนำไปตากแดด เพราะจะทำให้บิดงอได้ และถ้าจะทาสีใหม่ ควรรอให้แห้งสนิทก่อน มิฉะนั้นจะลอกได้

วิธีช่วยต้นไม้ทีโดนน้ำท่วม
ถ้าบ้านของท่าน น้ำท่วมนานๆ ต้นไม้กำลังจะตาย มีวิธีช่วยให้อยู่รอดได้ ดังนี้
1. อย่าให้ปุ๋ย เพราะน้ำท่วมทำให้รากอ่อนแอ ต้องการเวลาพักฟื้น
2. ขุดหลุมกว้างประมาณ 50 ซม.-1 เมตรไว้ข้างๆ ต้นไม้ เพื่อให้น้ำที่ขังอยู่บริเวณรากไหลมารวมกัน แล้วเอาเครื่องดูดน้ำออกไป หรือจะใช้วิธีตักออกก็ได้
3.ถ้ารากต้นไม้ไม่แข็งแรง อย่าอัดดินลงไป จะทำให้ต้นไม้ตาย ควรใช้ไม้ค้ำยันลำต้นไว้ เมื่อรากแข็งแรงแล้ว จึงเอาไม้ค้ำออก

การซ่อมแซมรั้วบ้านหลังน้ำท่วม

เมื่อน้ำท่วมอยู่นานๆ รั้วบ้านก็จะมีปัญหาเช่นกัน มีวิธีซ่อม คือ
- ลองเล็งด้วยสายตา ถ้าเอียงเล็กน้อยก็นำไม้มาค้ำยันไว้ก่อน ถ้าเอียงมากก็ควร ตามช่างมาซ่อม
- ส่วนใหญ่ข้างล่างของรั้วจะมีคานคอดินอยู่ บางครั้งน้ำจะพัดเอาดินใต้คานนี้หายไปเป็นโพรง ต้องรีบนำดินมาถมให้แข็งแรง มิฉะนั้นดินในบ้านจะไหลออกไปข้างนอกหมด ถ้าไหลออกไปมากๆ อาจทำให้บ้านเอียงได้
- ควรตรวจประตูรั้วด้วย สำหรับที่เป็นเหล็กก็ขูดสนิมออกให้หมด แล้วทาสีใหม่ ส่วนบานพับก็หาน้ำมันหล่อลื่นมาหยอดเพื่อที่จะได้เปิด-ปิดได้สะดวก ถ้าเสียหายมากก็ควรเรียกช่างมาเปลี่ยนใหม่

วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สังคมผ่านพ้นภัย..หากสอนเด็กยุคใหม่ให้มีจิตสาธารณะ/ดร.แพง ชินพงศ์

         ในสถานการณ์ที่บ้านเมืองกำลังประสบ ภัยพิบัติมากมายโดยเฉพาะปัญหาอุทกภัยเวลานี้ หลายคนต่างต้องทำทุกวิถีทางเพื่อจะหาทางออกจากปัญหาให้ได้ไม่ว่าจะยากเย็น เพียงใดก็ตาม แต่บางสถานการณ์ก็เลวร้ายและรุนแรงเกินกว่าจะช่วยเหลือให้ตนเองพ้นจากภาวะ เช่นนั้นได้
      
       ดังนั้นการได้รับความช่วยเหลือจากทางอื่น จึงเป็นเหมือนความหวังและกำลังใจอย่างดี ในยามยากเช่นนี้การที่เราได้เห็นมิตรภาพหรือน้ำจิตน้ำใจของคนไทยด้วยกันเอง ที่คอยให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติที่ตกทุกข์ได้ยาก จึงเป็นเหมือนพลังที่จะทำให้สามารถผ่านพ้นสถานการณ์เลวร้ายต่างๆได้อย่างดี ที่สุด ซึ่งการมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมเช่นนี้เราเรียกว่าการมี "จิตสาธารณะ" นั่นเอง
      
       จิตสาธารณะ (Public mind) หรือการมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม เกิดจากความรู้สึกนึกคิดในจิตใจรวมถึงการมีคุณธรรมจริยธรรมที่ดีที่มีอยู่ใน พื้นฐานของจิตใจของแต่ละบุคคล ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะแสดงออกมาภายนอกปรากฏเป็นรูปธรรมที่เด่นชัดผ่านการกระทำ ของบุคคล ซึ่งการแสดงออกของบุคคลที่มีจิตสาธารณะจะมีลักษณะสำคัญอยู่ 2 ประการคือ
      
       1. เป็นบุคคลที่รู้จักหน้าที่ของตนเอง ทั้งมีความรับผิดชอบในส่วนของตน ไม่สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้กับผู้อื่น เช่น การไม่เอาเปรียบผู้อื่น การไม่ประพฤติคดโกง
      
       2. มีการแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคม โดย การสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้เกิดในสังคมและการไม่ทำลายสังคมไม่ว่าทางใดก็แล้ว แต่ เช่น รักษากฎระเบียบที่ดีงาม อยู่ภายใต้บังคับกฎหมาย ช่วยเหลือผู้อื่นตามกำลังและความสามารถของตนเอง
      
       การสร้างจิตสาธารณะนั้นควรเริ่มสร้างกันตั้งแต่วัยเด็กให้มันอยู่ใน สายเลือดของเด็กไทยเลยได้ยิ่งดี เพราะหลายประเทศที่มีความมั่นคงก้าวหน้าในทุกวันนี้ ก็เกิดจากการที่เขาสร้างให้เด็ก ๆ มีจิตสำนึกในการรู้จักหน้าที่และรักในสังคมของตนนั่นเอง จึงถึงเวลาแล้วที่ผู้ใหญ่ทั้งหลายต้องช่วยกันสอนให้ลูก ๆ และเด็ก ๆ ของเรามีจิตสาธารณะกันให้มากเพื่อความสุขจะเกิดขึ้นในสังคมได้


       คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนให้ลูกมีจิตสาธารณะด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้
      
       1. ฝึกให้ลูกมีความรับผิดชอบต่อตนเอง
      
       เริ่มตั้งแต่เรื่องส่วนตัว เช่น ฝึกให้ลูกรับประทานอาหารให้หมดจาน ฝึกให้เก็บของให้เป็นที่เป็นทาง เรื่อยมาจนถึงความรับผิดชอบต่อหน้าที่ๆได้รับมอบหมาย เช่น ให้ทำการบ้านให้เสร็จ รดน้ำต้นไม้ หรือนำอาหารให้สัตว์เลี้ยง การฝึกให้ลูกมีความรับผิดชอบต่อตนเองเป็นการสร้างจิตสาธารณะในส่วนของการไม่ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นได้ด้วยเช่นกัน
      
       2. ฝึกให้ลูกมีความรับผิดชอบต่อผู้อื่น
      
       - ต่อครอบครัว คือ ฝึกให้ลูกเคารพและเชื่อฟังในคำสั่งสอน ทั้งฝึกให้เขารู้จักการดูแลพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ เช่น เมื่อคุณพ่อคุณแม่กลับมาบ้านก็ต้องไหว้สวัสดี และหาน้ำมาให้ดื่ม หรือเมื่อท่านไม่สบายก็คอยเช็ดตัวให้
      
       - ต่อคุณครู และสถานศึกษา คือ ฝึกให้เขาเห็นถึงความสำคัญของผู้ให้ความรู้โดยการตั้งใจเรียนหนังสือ มีกิริยามารยาทที่ดีกับคุณครู รักในสถานศึกษาของตนโดยประพฤติอยู่ในกฎระเบียบของโรงเรียน
      
       - ต่อเพื่อนฝูง คือ ฝึกให้เขารักในพวกพ้องของตน โดยการให้มิตรภาพที่ดีและแสดงความจริงใจต่อเพื่อนทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ผู้หญิงหรือเพื่อนผู้ชาย จะเรียนเก่งหรือไม่เก่ง เมื่อเขาเป็นเพื่อนเรา ๆ ก็จะต้องรักและดูแลช่วยเหลือเขาอย่างเต็มที่ เช่น เมื่อเพื่อนไม่เข้าใจบทเรียนก็ช่วยสอน เมื่อเพื่อนขาดเหลือสิ่งใดก็แบ่งปันให้ เมื่อเพื่อนมีปัญหาก็ให้กำลังใจ
      
       3. ฝึกให้ลูกมีความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ
      
       สิ่งแรกที่ต้องฝึกคือการให้ลูกรู้จักสิทธิของผู้อื่นที่อยู่ร่วม สังคมกับเรา และการเคารพสิทธิของผู้อื่นคือสิ่งที่ต้องกระทำ ดังนั้นสิ่งใดที่เป็นสิทธิของส่วนรวมแล้วเราจะต้องร่วมรักษาให้อยู่อย่าง เรียบร้อยปกติเพื่อประโยชน์ของทุกคนในสังคม เช่น การรักษาสภาพแวดล้อมให้สะอาดสวยงาม โดยการไม่ทิ้งขยะเรี่ยราดให้ถนนหนทางสกปรก ไม่ขีดเขียนบนกำแพงหรือตามป้ายรถประจำทางเพราะทำให้เลอะเทอะเปรอะเปื้อน ไม่ถ่มน้ำลายหรือเสมหะตามพื้นเพราะจะทำให้เป็นแหล่งกระจายเชื้อโรค ไม่ทิ้งเศษอาหารลงในท่อระบายน้ำเพราะจะทำให้ท่ออุดตันและมีกลิ่นเน่าเหม็น ไม่ตัดไม้ทำลายป่าเพราะจะทำให้เกิดน้ำท่วมได้
      
       ประการที่สองคือการฝึกให้ลูกอยู่ในกฏระเบียบที่ดีงามของสังคมและ เคารพต่อ กฎหมายบ้านเมือง เช่น ฝึกให้ลูกข้ามถนนโดยใช้สะพานลอย ฝึกให้ลูกต่อคิวเวลาซื้อของ
      
       ประการต่อไปคือฝึกให้ลูกรู้จักการเอื้อเฟื้อและช่วยเหลือผู้อื่น เช่น ฝึกให้ลูกช่วยคนแก่ชราถือของ ฝึกให้ลูกช่วยจูงคนพิการข้ามถนน ฝึกให้ลูกให้ทานแก่คนขัดสน
      
       อย่างในสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกให้ลูกมีจิตสาธารณะได้โดยการให้ลูกช่วยจัดถุงยังชีพ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัย ให้ลูกนำเงินที่เขาเก็บออมไว้บางส่วนไปบริจาคช่วยเหลือ หากลูกโตแล้วก็อาจจะพากันไปช่วยบรรจุถุงกระสอบทราย หรือไปเยี่ยมเยียนเพื่อพูดคุยให้กำลังใจแก่คนที่มีปัญหาเรื่องความเครียด หรือความเจ็บป่วยจากการประสบภัยพิบัติ
      
       การสอนให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตนเองและไม่ทำให้ผู้อื่นเดือด ร้อนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ต้องควบคู่ไปกับการสอนให้ลูกรู้จักการช่วยเหลือและรักผู้อื่นด้วย ไม่เฉพาะแต่การช่วยเหลือกันในยามยากลำบากเท่านั้น แต่เมื่อใดก็ตามที่เราสามารถจะทำอะไรเพื่อใครได้ตามกำลังความสามารถของเรา แล้วก็จงสอนลูกว่าอย่านิ่งนอนใจ เพราะน้ำใจแม้เพียงเล็กน้อยที่เราแสดงให้แก่กันและกันนั้น เป็นสิ่งที่สามารถสร้างความสุขให้กับสังคมและประเทศชาติได้ และไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก็ตาม จิตสาธารณะเหล่านี้จะทำให้เราทั้งหลายผ่านพ้นมันไปได้ด้วยดีอย่างแน่นอน

"ครูเรฟ" เผยกลยุทธ์สอนเด็กฉลาดใช้เงินผ่านบทบาทสมมติ

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 12 ตุลาคม 2554



ครูเรฟ เอสควิน ตัวอย่างของครูที่สอนเป็น เห็นผล คนยกย่องตามโครงการ "ครูสอนดี"
       หากเอ่ยถึงชื่อ "เรฟ เอสควิน" หลาย ๆ ท่านคงไม่รู้จักผู้ชายคนนี้ แต่สำหรับคนในแวดวงครูแล้ว เขาคือครูที่มีสรรพวิธี และสารพัดลูกบ้าในห้อง 56 ของโรงเรียนประถมศึกษาโฮบาร์ตในเขตยากจนของนครลอสแอนเจลีส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาจนได้รับการยกย่องจากหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทม์ให้ เป็น "อัจฉริยะและนักบุญ"
      
       
นอกจากนี้ ยังถือเป็นครูคนเดียวในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาที่ได้รับรางวัล Nation Medal of Arts โดยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากสมเด็จพระบรมราชินาถเอลิซาเบท ที่ 2 รวมทั้งรางวัล American Teacher Award และอื่น ๆ อีกหลายรางวัลที่การันตีถึงจิตวิญญาณในความเป็นครู
      
       มาในวันนี้ เขาบินตรงมาสร้างแรงบันดาลใจให้กับครูไทย พร้อมกับเปิดใจพูดคุยกับ ทีมงาน Life & Family ถึงกลยุทธ์การสอนที่น่าสนใจหลาย ๆ เรื่อง แต่มีอยู่หนึ่งเรื่องที่เรามองว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่คนไทยไม่น้อย นั่นก็คือ "เศรษฐศาสตร์ในห้องเรียน" ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ครูเรฟใช้ฝึกเด็ก ๆ ให้รู้คุณค่าของการประหยัด การใช้เงินภายในระบบ และรู้จักอดเปรี้ยวไว้กินหวานผ่านบทบาทสมมติที่ถูกจัดสถานการณ์ขึ้นในชั้น เรียน เนื่องจากครูเรฟเป็นห่วงว่า หากเด็กเติบโตในยุคที่รายล้อมไปด้วยวัตถุนิยมแต่กลับไม่รู้ค่าของเงิน อาจอาจตกหลุมพรางไปกับโฆษณาชวนเชื่อต่าง ๆ ได้ง่าย
      
       ดังนั้น การใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวัง เป็นบทเรียนที่เด็ก ๆ ควรแก่การเรียนรู้ ทำให้เกิดเป็นบทเรียนผ่านบทบาทสมมติขึ้น โดย ครูเรฟ ถ่ายทอดกลยุทธ์นี้ให้ฟังว่า เขาจะให้เด็ก ๆ ชั้นป.5 ในห้องเรียนหมายเลข 56 ของเขาทุกคน (ประมาณ 32 คน) สมัครเข้าทำงานในห้องในวันแรกของการเรียน โดยมีตำแหน่งต่าง ๆ ให้เลือก 2 อันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นนายธนาคาร พนักงานส่งเอกสาร ภารโรง เสมียน เจ้าหน้าที่ตำรวจ และอื่น ๆ ซึ่งงานแต่ละอย่างจะมีค่าจ้างต่างกันไม่มาก ใครทำงานทุกวันอย่างภารโรงอาจจะได้รับเงินมากหน่อย (เงินจำลองที่ครูเรฟทำขึ้นเอง) แต่ทั้งนี้เด็ก ๆ มักจะได้รับงานใดงานหนึ่งจากงานที่เลือกไว้ด้วย
      
       สำหรับผลตอบแทนที่เด็กได้รับนั้น ครูเรฟบอกว่า พวกเขาจะได้รับเงินเดือนเป็นเช็ค และจะนำไปฝากไว้กับนายธนาคาร เนื่องจากเด็ก ๆ ต้องรู้จักออม เพราะพวกเขาต้องนำไปจ่ายเป็นค่าเช่าที่นั่งเรียน ยิ่งใกล้หน้าชั้นเรียน ค่าเช่าก็จะยิ่งแพง และถ้าสามารถเก็บเงินได้เป็น 3 เท่าของค่าเช่า พวกเขาจะได้รับอนุญาตให้ซื้อที่นั่งของตัวเองและเรียกมันว่าคอนโดมิเนียม ซึ่งเด็กบางคนถึงกับเก็บออมจนมีเงินมากพอที่จะซื้อที่นั่งของเด็กคนอื่นแล้ว เก็บค่าเช่าจากเด็กคนคนนั้นเป็นรายเดือน
      
       เมื่อนักเรียนที่ฉลาดลงทุน เขาก็จะเข้าใจคุณค่าของการมีกรรมสิทธิ์ เพราะการได้เห็นเพื่อน ๆ ดิ้นรนหาเงินมาจ่ายค่าเช่า ทำให้เริ่มเห็นอกเห็นใจพ่อแม่ที่ต้องทำงานหาเงินอย่างยากลำบาก รวมทั้งเห็นประโยชน์ของกรรมสิทธิ์ที่จะทำให้เด็กบางคนที่ต้องเช่าบ้านอยู่ รู้จักอดออมเพื่อสักวันจะได้เก็บเงินซื้อบ้านเป็นของตัวเอง
       ทั้งนี้ ครูเรฟ เล่าต่อไปว่า กลยุทธ์ของเขายังฝึกเด็กให้ขยัน และอดทนด้วย เพราะหากเด็ก ๆ ทำงานพิเศษ หรือเข้าร่วมวงดุริยางค์ของโรงเรียนแล้ว พวกเขาจะได้รับเงินโบนัสเพิ่ม แต่ในทางกลับกัน ถ้าเด็กไม่ทำงานหรือทำงานอืดอาด เจ้าหน้าที่ตำรวจจะปรับ และเด็กต้องจ่ายเป็นเช็ค หรือเงินสดก็ได้ นอกจากนี้พอถึงสิ้นเดือนเด็ก ๆ ทั้งชั้นจะได้เข้าร่วมในการประมูลซึ่งจะมีของต่าง ๆ ที่เด็กอยากได้
      
       ดังนั้น สิ่งที่เด็ก ๆ ได้รับจากเศรษฐศาสตร์ในห้องเรียน ครูเรฟสรุปให้ฟังว่า เด็ก ๆ ของเขาจะรู้จักจัดระบบและการวางแผนการใช้เงิน เพราะเด็ก ๆ จะมีสมุดจดบัญชีที่เขียนหมวดหมู่โดยแยกเป็นวันที่ ธุรกรรมที่ทำ เงินฝาก เงินหักบัญชี และเงินคงเหลือ ส่วนสมุดบัญชีจะมีนายธนาคาร ประจำห้องสัก 4 คนดูแลให้ โดย 1 คนดูแลสมุดของลูกค้า 8 บัญชี ซึ่งนายธนาคารจะได้สมุดบัญชีเพิ่มอีกเล่มหนึ่งเพื่อทำสำเนาการทำธุรกรรมของ ลูกค้าเก็บไว้ เพราะหากยอดเงินคงเหลือไม่ตรงกัน นายธนาคารและลูกค้าสามารถเปรียบเทียบเพื่อหาข้อผิดพลาดร่วมกันได้
      
       นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้ทั้งการใช้จ่ายอย่างประหยัด และการใช้ข้าวของอย่างรู้คุณค่า เพราะเมื่อต้องทำงานหาเงิน ทำให้ใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น ส่วนการฝึกเด็กให้ใช้เงินอย่างฉลาดด้วยการเข้าร่วมการประมูลตอนสิ้นเดือน บ่อยครั้งที่ครูเรฟเห็นว่าเด็ก ๆ สนุกกับการเสนอราคาแข่งขันจนเงินหมดบัญชี ทั้ง ๆ ที่ของบางชิ้นพวกเขาก็ไม่อยากได้ ทำให้เด็กกลับมาถามตัวเองว่าแล้วมันคุ้มกันหรือเปล่ากับเงินที่เสียไปกับการ เอาอารมณ์ตัวเองเป็นใหญ่
      
       ในขณะที่เด็กบางคน ใช้จ่ายอย่างรอบคอบ อดเปรี้ยวไว้กินหวานไม่เข้าประมูลในทุก ๆ รอบ แต่เก็บเงินเพื่อประมูลของในสิ่งที่อยากได้จริง ๆ หรือเด็กสามารถนำบทเรียนแห่งการอดทนรอคอยไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ อย่างเช่น อดทน และตั้งใจเรียนในวันนี้เพื่อโอกาสที่ดีในวันข้างหน้า เป็นต้น
ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ท
       อย่างไรก็ดี ระบบเศรษฐศาสตร์ในลักษณะนี้ ครูเรฟบอกว่า เด็ก ๆ ชอบกันมาก เช่นเดียวกับพ่อแม่และครูคนอื่น ๆ ที่เคยลองเอาไปใช้แล้วด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่เขาอยากฝาก และไม่อยากให้เกิดขึ้นคือ การนำระบบนี้ไปใช้เป็นกลไกการควบคุมเด็ก หรือลูกหลานที่บ้าน ซึ่งเป็นการนำไปใช้โดยผิดเจตนา
      
       *** เศรษฐศาสตร์ในครอบครัวแบบฉบับ "ครูเรฟ"
      
       สำหรับพ่อแม่คนไทยที่สนใจ สามารถนำกลยุทธ์การสอนนี้ไปประยุกต์ใช้กับลูกที่บ้านได้ แต่ตัวอย่างง่าย ๆ ที่ครูเรฟ อยากจะแนะนำจากประสบการณ์ตรงในการสอนลูกทั้ง 4 คนของเขาให้รู้จักใช้เงินก็คือ การสอนลูกให้ประหยัด และรู้จักเก็บหอมรอมริบควบคู่กับการวางแผนการใช้จ่ายตั้งแต่เด็ก
      
       "ผมให้เงินลูก ๆ ไปโรงเรียนทุกวันอยู่แล้ว แต่ถ้าลูกมาบอกว่า วันเสาร์นี้จะไปดูหนังแล้วมาขอเงินผมเพิ่ม ผมไม่ให้ เพราะพวกเขาควรจะรู้ว่าบางอย่างถ้าไม่มีเงินเขาก็ไม่ควรไป" นี่ คือสิ่งที่ครูเรฟ กำลังสะท้อนให้เห็นว่า ถ้าลูก ๆ ของเขาไม่มีความมัธยัสถ์ และวางแผนการใช้จ่ายไว้ล่วงหน้า ก็จะไม่มีเงินเก็บไว้ใช้จ่ายในสิ่งที่อยากได้
      
       หรือถ้าวันไหนที่ลูก ๆ ของเขาต้องไปทัศนศึกษานอกโรงเรียน ครูเรฟจะไม่ให้เงินค่าขนมลูกเพิ่ม เพราะเขาจะสอนให้ลูก ๆ รู้จักใช้จ่ายเงินว่า อะไรควรซื้อ หรือไม่ควรซื้อ เหมือนกับที่เขาสอนเด็ก ๆ ที่ห้อง 56 ให้เก็บออม มีการทำรายรับให้สมดุลกับรายจ่าย และรู้จักวางแผนค่าใช้จ่ายในอนาคต ซึ่งน้อยนักที่ขนมล่อตาล่อใจ หรือของเล่นที่มีการโฆษณาชวนเชื่อต่าง ๆ จะดึงเงินไปจากพวกเขาได้
      
       อย่างไรก็ดี ครูเรฟเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้เงินเป็นตัวล่อเพื่อให้ลูกทำใน สิ่งที่ต้องการ เช่น จ่ายเงินเพื่อให้ลูกทำงานบ้าน เพราะเด็กอาจสร้างเงื่อนไขจนติดเป็นนิสัย แต่ทั้งนี้ควรพยายามทำให้เขาเห็นว่างานบ้านเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวที่เขา ต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะห้องนอนของเขาเอง
      
       "ผมมีงานต้องทำที่บ้าน และผมก็ชอบจัดบ้าน แต่ห้องนอนของลูก ผมจะไม่เข้าไปช่วย เพราะเป็นห้องของลูก ลูกจะต้องจัดการเอาเอง" ครูเรฟเผยถึงความสำคัญในการฝึกลูกให้เป็นคนมีระเบียบ เพราะนั่นถือเป็นทักษะต่อยอดไปสู่เรื่องของการใช้เงินในอนาคตที่จำเป็นต้อง มีระบบระเบียบ
      
       เห็นได้ว่า เศรษฐศาสตร์ในบ้านไม่ใช่เรื่องยาก หากคุณพ่อคุณแม่ และลูก ๆ เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน และทำให้มันเป็นเรื่องสนุกโดยหยิบเอาบทบาทสมมติตามที่ครูเรฟแนะนำมาประยุกต์ ใช้ก็ดูน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว
      
       //////////////////
      
       อ้างอิงและเรียบเรียบข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ "ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ" ถอด ความเป็นภาษาไทยจากหนังสือ Teach like Your Hairs' on Fire: The Methods and Madness inside Room 56 ที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์ของครูเรฟ เอสควิท (Rafe Esquith) ในฐานะครูประจำชั้นประถม 5 ของโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งกลางนครลอสแอนเจลีส ที่ไม่เพียงแต่รวบรวมกลยุทธ์ และเทคนิคที่ใช้ได้ผลดีในการอบรมเด็ก ๆ สำหรับครู และพ่อแม่เท่านั้น แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจและกำลังใจแก่เพื่อนร่วมอาชีพให้มีศรัทธาในสิ่งที่ พวกเขากำลังทำในฐานะครู นั่นคือการสร้างคนดีมีคุณภาพให้แก่สังคม
    



วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ดุลยภาพของนายแบงก์ บัณฑูร ล่ำซำ


โลกของคุณปั้น บัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) มีหลายด้านทั้งโลกการแข่งขันในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ เศรษฐกิจโลก

แต่โลกแห่งเสียงดนตรีที่ปลดปล่อยนายแบงก์ใหญ่ให้ลอยละล่องไปกับท่องทำนองเสียงแซกโซโฟน...หนีจากความจริงไปชั่วขณะ

โลกความสุขใจเล็กๆ ที่เมืองน่าน แรงดลใจที่ทำให้ลงทุนซื้อกิจการโรงแรมเก่าแก่ ปรับปรุงเป็นโรงแรมเล็กๆ น่าพัก "พูคาน่านฟ้า"

ล่าสุด อีกหนึ่งบทบาทใหม่ คือ การออกโรงเป็นแม่งานฝ่ายฆราวาส แถลงข่าวโครงการจัดหาทุนซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งเป็นชาวกาญจนบุรี จะทรงเจริญพระชันษา 100 ปี ในปี 2556

นับเป็นหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจไม่น้อย สำหรับบทบาทในโลกทางธรรมของนายแบงก์ที่ชื่อ บัณฑูร ซึ่งปัจจุบันรั้งตำแหน่งประธานกรรมการ และผู้จัดการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย
นอกจากนี้ ยังมีบทบาทเป็นไวยาวัจกรของวัดบวรนิเวศวิหารและไวยาวัจกรของวัดญาณสังวราราม บทบาทนอกเหนือจากงานธนาคารเหล่านี้ คุณปั้นเล่าว่า มีจุดเริ่มต้นมาจากสัมพันธภาพที่เป็นมงคลแก่ชีวิต

จากความผูกพันกับวัดบวรนิเวศวิหารซึ่งเขาเคยบวชและจำพรรษาอยู่ที่นี่ โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ เป็นพระอุปัชฌาย์

"ปี 2520 ผมเรียนจบมาใหม่ๆ ก็มาบวชที่นี่ เกิดมาไม่เคยมาวัดบวรฯเลย เพราะคุณย่าเข้าวัดเทพศิรินทร์ แต่มีญาติผู้ใหญ่ฝ่ายแม่แนะนำ พามาฝากที่วัดบวรฯ บวชหนึ่งพรรษา โดยมีสมเด็จพระญาณสังวรฯ เป็นพระอุปัชฌาย์  นั่นคือจุดเริ่มต้นของสัมพันธภาพที่เป็นมงคลต่อชีวิต ระหว่างที่บวชเรียน รู้สึกประทับใจในพระจริยวัตรของสมเด็จพระอุปัชฌาย์ที่รับหน้าที่สอนพระใหม่ ด้วยพระองค์เองทุกวัน รวมถึงวัตรปฏิบัติต่างๆ ของสงฆ์ ทั้งการออกบิณฑบาตเองทุกวัน แม้ชันษาตอนนั้นจะ 60 แล้ว" คุณปั้นเล่าย้อนถึงความประทับใจของการบวชเรียนเป็นศิษย์ทางธรรมครั้งแรก เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว

นับจากนั้นเวลามีปัญหาก็จะมาปรึกษาและติดต่อโดยตลอด จนกระทั่งได้รับมอบหมายจากสมเด็จพระสังฆราช ให้เข้ามาช่วยทำหน้าที่จัดการระบบทรัพย์สินที่สะสมมา 5 รัชกาลของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย รวมทั้งดูแลจัดการบริหารทรัพย์สินของวัดบวรฯ

"เป็นงานที่สมเด็จพระสังฆราชมอบหมายให้มาทำ ก่อนที่ท่านจะไม่ค่อยสบาย ท่านคงเห็นปัญหาต่างๆ ที่มี และรู้ว่าเราไม่ได้มาคนเดียว แต่มาช่วยทั้งทีม เพราะงานมูลนิธิฯทำคนเดียวไม่ได้ ต้องทำเป็นคณะ"
ถึงแม้ช่วงแรกจะมีกรณีคำสั่งปลดออกจากตำแหน่ง แต่ในที่สุดปัญหาการเข้าไปจัดการระบบจัดการผลประโยชน์ ปิดช่องโหว่ต่างๆ ให้มีความรัดกุมและเป็นระบบก็สามารถคลี่คลายได้ในที่สุด

"การเข้าไปแก้ไข สำคัญคือต้องมีอำนาจในการจัดการ ไม่ได้ไปฟาดฟันอะไรใคร แต่ต้องจัดการให้ถูกต้องตามที่ควรจะเป็น และไม่ได้ทำคนเดียว แต่เอาผู้ที่เกี่ยวข้องมาทำกันหลายคน...

โครงสร้างกรรมการในมูลนิธิฯ ไม่ได้ถือว่าเปลี่ยน พระยังเป็นกรรมการ อำนาจคือพระ ฆราวาสเป็นแค่ลูกมือ การตัดสินต้องตัดสินโดยพระแต่คนรับไปทำคือฆราวาส อาจจะมีกรรมการใหม่เข้ามาเพิ่มบ้าง แทนคนเก่าที่เสียชีวิต....

ที่ผ่านมา คุณปั้นเข้ามาทำงานนี้ 8-9 ปีแล้ว จัดการระบบทรัพย์สินต่างทั้งเรื่องการทำบัญชี และสัญญาต่างๆ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของมูลนิธิฯ เพื่อนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์หลักเพื่อจัดการศึกษาปริยัติของพระสายธรรมยุติ โดยเข้ามาดูแลการเช่าให้ได้ผลประโยชน์ที่เหมาะสม ยกเว้นในกรณีคนที่อนาถานั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่พวกที่มาอยู่ที่ดินย่านการค้าก็ควรต้องจ่ายใกล้เคียงกับราคาตลาด โดยอิงจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  และอาจจะต่ำกว่านิดหน่อยด้วยซ้ำ ไม่ใช่เช่าไปทำร้านเพชรโดยไม่จ่ายค่าเช่า"

ธรรมะจากพระสังฆราช  

หากจะถามถึงธรรมะที่ได้รับการถ่ายทอดจากสมเด็จพระสังฆราชในช่วงที่เคยบวช เรียน และนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน หนึ่งในนั้นคือการจัดการด้านอารมณ์ความเป็นคนขี้โมโหซึ่งเป็นบุคลิกติดตัวมา แต่ไหนแต่ไร

"เคยถามสมเด็จพระอุปัชฌาย์ว่าตัวเองเป็นคนขี้โมโหจะทำยังไงดี ท่านบอกว่าอาตมาก็ขี้โมโห สมัยหนุ่มๆ ก็เคยจับลูกศิษย์เฆี่ยน ตอนหลังก็ไม่รู้เฆี่ยนไปทำไม"

เป็นธรรมะที่ได้เรียนรู้จากสมเด็จพระสังฆราชว่า การจะทำอะไรให้ได้ผล ไม่จำเป็นต้องโมโห เพราะโมโหไม่ใช่การแก้ปัญหา ยิ่งโมโหมากเกินไปจะยิ่งเสีย ให้พิจารณาดูตามเหตุตามผล แล้วก็แก้ไปตามเหตุตามผล

"ตอนหนุ่มๆ ก็ยังโมโหอยู่ แต่พออายุมากขึ้นก็ใจเย็นลงไปเยอะ ได้เห็นว่าเย็นลงแล้วมันดีกว่าร้อน  ได้เห็นว่าการโมโหไม่ได้แก้ปัญหา เผลอๆ ยิ่งทำให้ปัญหามากขึ้น การแก้ปัญหาต่างๆ ถ้าแก้ด้วยความมีสติ มันดีกว่าโวยวายใช้อารมณ์ แต่บางครั้งก็ต้องมีบ้าง ไม่งั้นมันไม่เดิน (ยิ้ม)"

คุณปั้นบอกว่าตอนนี้เริ่มปล่อยวางได้ขั้นหนึ่ง แต่ยังปล่อยวางได้ไม่หมด เพราะยังมีหน้าที่ มีความรับผิดชอบ

ส่วนเทคนิคในการบริหารจัดการอารมณ์มีเคล็ดลับง่ายๆ คือ ถ้ามีสติเพ่งลงไปโดยไม่จินตนาการปรุงแต่งให้มันเร็วไปกว่าเดิม สักพักมันก็จะหายไป ส่วนใหญ่เวลามีอะไรเข้ามากระทบแล้วไม่พอใจ เรามักจะไปปรุงแต่งต่อ เช่น ไอ้นี่มันมาดูถูกฉันอย่างนั้นอย่างนี้ คือ อีโก้ของคนมันจะยิ่งไปทำให้ระเบิด

เดี๋ยวนี้สติมาเร็วขึ้นกว่าเดิม เพราะแก่ลง เห็นโลกมามากขึ้น ทำให้เกิดปัญญา สติมันจะมาจากปัญญาก่อน ปัญญาว่าเราควรตั้งสติอย่างนี้ ไม่ใช่ทำอะไรพรวดพราดออกไป

ในชีวิตของคุณปั้น เคยห่มผ้าเหลืองมาแล้ว 2 ครั้ง บวชเรียนจนได้นักธรรมตรี ครั้งแรกบวชเรียน 1 พรรษาตอนเรียนจบใหม่ๆ ที่วัดบวรฯ ก่อนบวชครั้งที่สองในวัย 50 ที่วัดญาณสังวราราม

"เคยบวชอีกครั้ง 15 วันที่วัดญาณสังวราราม คิดว่าเอาสักหน่อย เพราะเป็นไวยาวัจกรมา 2 วัดแล้ว  บวชครั้งที่สองทำอีกแบบหนึ่ง กินมื้อเดียว เดินขึ้นเดินลง นอนไม่มีไฟ ทำวัตรปฏิบัติแบบพระป่า ไปอยู่บนเขา"

วัดญาณสังวราราม จ.ชลบุรี เป็นอีกหนึ่งวัดที่คุณปั้นเข้าไปมีบทบาทเป็นไวยาวัจกรของวัด โดยเข้าไปปรับปรุงระบบการจัดต่างๆ ภายใน เนื่องจากเป็นอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเป็น วัดที่เป็นพระนามของสมเด็จพระสังฆราช

"ตอนนี้หลายอย่างปรับปรุงดีขึ้น แต่ยังต้องทำอะไรอีกเยอะ เพราะเป็นวัดใหญ่มีเนื้อที่กว่า 3,000 ไร่"
ที่นั่นยังมีบ้านพักส่วนตัวที่สร้างขึ้นในบริเวณใกล้เคียง เดิมตั้งชื่อว่า "บ้านสามญาณ" หมายถึง ญาณที่พระพุทธเจ้าสำเร็จในวันตรัสรู้ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อใหม่ตามคำแนะนำของอาจารย์ที่นับถือ เป็นชื่อ "บ้านไพรระหง" แปลว่า ต้นไม้ป่าที่สูง

ส่วนหลังจากนี้คุณปั้นมีคำตอบยืนยันชัดเจนว่าไม่มีความคิดจะบวชอีก
"ไม่ได้ๆ เดี๋ยวเป็นชายสามโบสถ์  สามอย่างอื่นได้ แต่อย่าสามโบสถ์ (หัวเราะ)"

หลักแห่งความสมดุล 

การให้ความสำคัญกับการติดอาวุธทาง “ปัญญา” นอกจากองค์ความรู้ทางโลก องค์ความรู้ทางธรรมเป็นเรื่องหนึ่งที่คุณปั้นให้ความสนใจ เหตุผลเพราะมองว่าธรรมะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

“ ไม่ได้สัมผัสธรรมะด้วยการบวชอย่างเดียว แม้กระทั่งในชีวิตประจำวัน การอ่านหนังสือ รับจากสื่อต่างๆ ก็ถือเป็นการสัมผัสธรรมะอย่างหนึ่ง ธรรมะมีอยู่โดยทั่วไป ขึ้นอยู่กับใครจะปฏิบัติตามปกติแบบไหน
คำว่าปฏิบัติธรรม  ถ้าหมายถึงการนั่งสมาธิ ก็ทำขั้นหนึ่งไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่จะสวดมนต์ทุกวัน คำว่าปฏิบัติธรรมไม่ได้หมายความว่าจะต้องเข้าฌานทุกวัน การศึกษาในเชิงธรรมะยังได้จากการดูความเป็นไปของโลกมนุษย์

อย่างที่มีคนบอกว่ามันโกหก มันโกงกันทุกวัน ก็เป็นการศึกษาในเชิงธรรมะว่าโลกมนุษย์มันเป็นอย่างนี้ แล้วเราก็ไม่ใช่ใครที่จะลุกไปแก้มันในวันเดียว หรือความเห็นของเราจะเป็นความเห็นอันเดียวที่ถูกต้อง ก็ต้องมองในเชิงธรรมะด้วยว่าโลกมนุษย์ก็เป็นอย่างนี้ แต่เราทำในส่วนที่เราต้องทำเพื่อหวังว่ามันจะมีส่วนช่วยให้ดีขึ้นทีละนิด”

หลักธรรมหนึ่งที่คุณปั้นนำมาใช้เป็นธรรมะของการจัดการธุรกิจ หลักการยึดหลักความสมดุล และความเหมาะสม

“การใช้ธรรมะในธุรกิจ ไม่ว่าจะธุรกิจธนาคารหรือธุรกิจอะไรก็ตาม หลักการใหญ่ๆ ก็คือความสมดุลของผลประโยชน์ อีกอันหนึ่งคือต้องมีความเพียรในการสร้างธุรกิจ ซึ่งถือเป็นธรรมดาของมนุษย์ที่ทำมาหากินจะต้องใช้ความเพียรพยายามในการคิด สร้างรูปแบบการทำมาหากิน

เมื่อธุรกิจเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาแล้ว และก็มีประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก มี 4 กลุ่มใหญ่ๆ ที่จะต้องสร้างความสมดุล คือ ฝ่ายเจ้าของธุรกิจหรือผู้ถือหุ้น ฝ่ายลูกค้าที่มาใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ ฝ่ายพนักงานที่ทำธุรกิจด้วยกัน และสังคมประเทศชาติโดยรวม ไม่ว่าจะธุรกิจใดก็ตามมีโจทย์ที่ต้องสร้างความพอดีทั้งสี่กลุ่มใหญ่ให้เกิด ขึ้นให้ได้

ถ้าใครได้มากเกินไปน้อยเกินไปมันก็จะเป็นความไม่ปกติเกิดขึ้น นั่นก็คือธรรมะของการจัดการกิจการของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง หรือแม้กระทั่งการกุศล การจัดการเงินของวัดที่ต้องมีความสมดุล อะไรให้ได้ อะไรให้ไม่ได้

หลักความสมดุลใช้ได้กับหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้งบประมาณที่ต้องมีความสมดุล ความสมดุลที่จะอยู่กับกระแสความผันผวนของโลก ความสมดุลทางการเมืองที่จะห้ำหั่นกันหรือจะปรองดองเพื่อไปด้วยกันได้”

สุขภาพดีด้วยการกิน 

หลักการมีสมดุลยังนำมาใช้กับชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเรื่องการละเว้นการกินเนื้อสัตว์ที่ค่อยปรับวิถีชีวิต ค่อยลดมาทีละขั้น เริ่มจากงดสัตว์ใหญ่ก่อน โดยเลิกกินเนื้อวัวมา 20 ปีแล้ว ตามด้วยเลิกกินหมูมา 10 ปี ส่วนเป็ดและไก่เพิ่งเลิกได้เมื่อไม่นานมานี้

“ตอนนี้ยังมีกุ้ง หอย ปู ปลาที่ยังกินอยู่ แต่สัตว์ใหญ่ไม่กินแล้ว เพื่อดูแลสุขภาพ เพราะคนเราเมื่ออายุมากขึ้น ความสามารถในการย่อยเนื้อสัตว์พวกนี้จะน้อยลง การออกกำลังกายก็เป็นส่วนประกอบหนึ่ง แต่สำคัญที่สุดคือเรื่องการกิน มนุษย์มักจะพังเพราะเรื่องการกิน ถ้ากินและดื่มไม่เหมาะสมร่างกายจะพัง”
สิ่งที่มากระตุกให้หันมารับประทานอย่างมีสติ หันมาดูแลสุขภาพ กลัวมะเร็ง กลัวอ้วน กลัวไขมันมากขึ้น เพราะคุณพ่อ (บัญชา ล่ำซำ) ที่ล่วงลับไปแล้วป่วยเป็นมะเร็งลำไส้

“ เขาชอบกินมากเลยไอ้พวกสเต๊กเนี่ย สมัยก่อนก็ไม่เคยเข้าใจพวกนี้ ตอนหลังแม้แต่ฝรั่งก็ศึกษา โดยสถิติคนกินวัวเป็นมะเร็งมากกว่าไม่กินวัว ก็เลยกลัวเพราะว่าลูกก็ยังเล็ก แต่ไม่ได้บังคับเขา ยังเด็กอยู่อยากกินอะไรก็กินไป กว่าผมจะเลิกกินเนื้อวัวได้ตอนอายุ 39  แต่ละคนก็ต้องไปตัดสินว่าความสมดุลของตัวเองอยู่ตรงไหน......

ความเหมาะสม ความสมดุลเป็นหลักที่สำคัญในชีวิต มันทำให้ทุกอย่างไปได้เรื่อยๆ อย่างที่ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่าการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง..อย่างยั่งยืน ชีวิตมนุษย์ก็เหมือนกัน ถ้ารักษาความสมดุลได้ อายุ 59 ก็ยังไปได้ เตะอะไรยังดัง..หมายถึงเตะฟุตบอลนะ” คุณปั้น เล่าหัวเราะร่าอารมณ์ดี 

นอกจากดูแลอาหารการกิน ยังออกกำลังกายโดยการเล่นโยคะเวลากลางคืนสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง

“ เดี๋ยวนี้ ไม่เจ็บไม่ไข้ ร่างกายแข็งแรง รู้สึกสดชื่น จากสมัยหนุ่มเดี๋ยวป่วย เดี๋ยวป่วย  เดี๋ยวนี้ไม่เป็นอะไรเลย ไม่ต้องกินยาอะไรทั้งสิ้น อายุมากขึ้นกลับสุขภาพดีขึ้น คนอื่นรอบๆ ข้างอายุน้อยกว่าเป็นสิบปีเสียอีกที่ชอบมาป่วยใส่ผม”

ความสมดุลยังเป็นหลักที่คุณปั้นนำมาสอนลูกๆ ในการดำเนินชีวิต ซึ่งค่อนข้างเป็นคุณพ่อที่ให้อิสระการใช้ชีวิตกับลูก เปลี่ยนจากสมัยเดิมที่ตัวเองเคยโดนเข้มงวดมาจากรุ่นพ่อ

“ค่อนข้างให้อิสระ จะไม่เข้าไปจู้จี้อะไรกับเขามาก แต่เขาต้องไปหาความสมดุลชีวิตของเขาเอง ทั้งเรื่องการเรียนหนังสือ การพักผ่อน การออกกำลัง ให้ดูความสมดุลเป็นหลัก“

ส่วนเคล็ดลับการคลี่คลายความทุกข์ในใจ คุณปั้นยึดหลักว่า ทำให้ดีที่สุด ตื่นเช้ามาทำให้เต็มที่ ก่อนนอนจะได้สบายใจว่าได้ทำดีที่สุดแล้ว

“ ธรรมะช่วยทำให้มีสติ สติสำคัญมาก การแก้ปัญหาโดยไม่ใช้อารมณ์จนเกินไปก็สำคัญ ปล่อยวาง คือ ปลายทางตอนจบ คือหมายถึงฉันได้ทำเต็มที่แล้ว คืนนี้ก็นอนหลับ ไม่ใช่ปล่อยวาง ว่าฉันไม่สนใจ ไม่เป็นเดือดเป็นร้อน ไม่ต้องรับผิดชอบ อันนั้นต้องไปอยู่ในป่า

แต่ถ้าปล่อยวางแบบฆราวาส คือ ทำเต็มที่ดีที่สุดแล้ว ก็ไม่ไปทุกข์ร้อน จนกระทั่งนอนไม่ได้ เพราะถ้าคืนนี้นอนไม่ได้ พรุ่งนี้ก็ไม่ต้องแก้ปัญหา เพราะร่างกายจะไม่ไหว”

คำถามว่าคิดว่าจะวางมือทางธุรกิจเมื่อไหร่ สำหรับคุณปั้นในวัย 59 คำตอบจึงชัดเจนว่า “ยังไม่ใช่ตอนนี้ เพราะยังมีกำลังวังชา ยังทำประโยชน์ได้หลายอย่าง”

ขณะที่ความสุขในชีวิตของนายแบงก์ใหญ่ในเวลานี้ ไม่มีอะไรจะมีความสุขมากไปกว่าการทำหน้าที่พ่อ ดูแลจัดการให้ลูกทั้ง 3 คนซึ่งในช่วงวัยศึกษาเล่าเรียนที่สหรัฐอเมริกา โดยเรียนระดับมหาวิทยาลัย 2 คน และมัธยมศึกษา 1 คน มีการพัฒนาไปในทิศทางที่มั่นคงและเจริญก้าวหน้าในชีวิต

วันที่ 9 ตุลาคม
กรุงเืทพธุรกิจออนไลน์

สุวภา เจริญยิ่ง บริหารเงิน มีลูกกี่คนก็รวยได้

วันที่ 7 ตุลาคม 2554
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


การเฝ้าเลี้ยงดู ลูกจนเติบใหญ่ต้องอาศัยหลักการบริหารไม่ต่างจากองค์กร หากสามารถข้ามพ้นอุปสรรคในแต่ละช่วงวัยได้แล้ว ลูกก็จะเป็นดั่งมรดก

มีลูกกี่คนก็รวยได้ ถ้าใช้เงินเป็น  หนังสือที่เขียนโดย สุวภา เจริญยิ่ง กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต จำกัด(มหาชน) เล่าถึงแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเล่มนี้ว่า

เกิดจากคำพูดท้าทายของใครคนหนึ่งที่บอกว่า "มีลูกหนึ่งคนจนไป 7 ปี" ค้านกับความคิดของเธอที่เชื่อว่า การมีลูกนั้นไม่ได้ทำให้ใครรวยขึ้นหรือจนลง แม้จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แต่การเลี้ยงดูอย่างไร้การวางแผนและไม่เท่าทันต่อยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลง ทางสังคมต่างหาก ที่จะทำให้พ่อแม่จนลง โดยเฉพาะดีแต่ตามใจลูก

อีกสิ่งที่น่าคิดคือ คนที่ "คว้าฝันได้" กลับไม่ใช่ผู้ที่เริ่มต้นด้วยความพร้อม ตรงข้ามกลับเป็นผู้ที่มีชีวิตติดลบ ผ่านความลำบากมาทั้งสิ้น เช่น "เสี่ยตา" ปัญญา นิรันดร์กุล ผู้ก่อตั้งเวิร์คพอยท์ ต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยแม่ทำงานหลังการจากไปของพ่อหรือแม้กระทั่ง ตี๋แม็ทชิ่ง ที่ยากจนถึงขั้นไม่มีเงินกินข้าวในโรงเรียน ต้องไปปักหลักที่โรงอาหาร

รอให้คนกินอิ่มหมดแล้ว เพื่อจะกินของเหลือ

ขณะที่เด็กที่มีความพร้อมทุกด้าน ได้รับความรักและความอบอุ่นจากพ่อแม่ ครอบครัวดีมีการศึกษา แทนที่จะไปได้ไกล(กว่า) แต่กลับเดินไม่ถึงฝัน ทำอะไรขาดการหยั่งคิด สะท้อนว่าสาเหตุใหญ่พ่อแม่ยังเลี้ยงลูกไม่เป็น  เลี้ยงยังกับไข่ในหิน

สุวภา บอกไว้ในหนังสือของเธอถึง "บันได 3 ขั้น" ในการสร้างหนึ่งชีวิตเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี รู้จักใช้ชีวิต เข้าใจความหมายของชีวิตจนได้บทสรุปว่า "ลูกต้องรวยกว่า" ว่า บันไดขั้นแรก "ก่อนมีชีวิตคู่" ที่จะต้องหาคู่ชีวิตที่มีแนวทางและความคิดร่วมกัน ความรักไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต แต่ควร "รักด้วยสมอง" เพราะการใช้ชีวิตคู่ไม่ใช่นิยายที่แต่งงานแล้วจบ Happy Ending แต่ยังมีบทเรียนชีวิตที่ต้องข้ามผ่านไปด้วยกันอีกมากมาย

เมื่อลูกคู่ที่เหมาะสม ก็ต้องสามารถดูแลชีวิตคู่ได้ สำคัญคือ "เริ่มเก็บเงิน" ถือเป็นการทำอะไรเพื่อตนเองที่สำคัญมาก

"เหมือน กับเวลาขึ้นเครื่องบินแล้วเจอเหตุฉุกเฉิน หากต้องใส่หน้ากากก็จะต้องใส่ให้ตัวเองก่อน" เมื่อถึงจุดของการวางแผนมีทายาท ก็ต้องวางแผนเก็บเงินเพื่อลูก

บันไดชีวิตขั้นต่อมา "เมื่อมีลูกแล้ว" ก็ต้องเลี้ยงดูลูกให้รู้จักคุณค่าของชีวิต เหมือนการส่งต่อความคิดจากรุ่นไปสู่รุ่น โดยจะต้องใช้วิธีทั้งขู่ทั้งปลอบ หากมีฝ่ายหนึ่งดุว่า ก็ต้องมีอีกฝ่ายคอยปลอบสอนชี้แจงเหตุผล ส่วนการเริ่มต้นสอนลูกให้รู้จักคุณค่าของเงินนั้น ไม่ใช่บทสรุปที่จะชี้นำให้ลูก "เห็นเงินเป็นพระเจ้า" แต่ต้องปูพื้นฐานชีวิตให้ลูกมีมีระเบียบวินัย รู้จักคุณค่าของเงิน มากกว่า

แรกสุดที่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันคือนิสัยประหยัด ใช้เงินเป็น บ่มเพาะให้รู้จักการออม ฝากธนาคาร ตามมาด้วยการปลูกฝังในเรื่องความมีวินัย สอนลูกให้กินข้าวให้หมด ประหยัดไม่ฟุ่มเฟือย เก็บของให้เป็น วางหนังสือที่อ่านเสร็จก็ควรเก็บเข้าที่ โดยมีพ่อแม่ทำตัวเป็นแบบอย่าง

เมื่อถึงเวลาที่ลูกต้องเข้าโรงเรียน ก็ควรวางแผนไว้แต่เนิ่นๆ เก็บเงินและเลือกโรงเรียนที่เหมาะสมให้ลูก หากเป็นไปได้ต้องวางแผนตั้งแต่อนุบาล จนถึงระดับมัธยม แต่ไม่ควรยัดเยียดให้ลูกกดดันมากเกินไป
"ชีวิตการศึกษาก็เหมือนกับการสร้างตึกที่ต้องวางแผนออกแบบ เพื่อที่จะคำนวณงบและวัสดุก่อสร้างได้ถูกต้อง"

ตามมาด้วยการสอนให้ลูกรักการอ่าน เป็นพื้นฐานอีกด้านของการสร้างสมาธิที่ดีที่สุด  ประการสำคัญต่อการเลือกทางเดินชีวิต คือ ปลูกฝังให้หาตัวเองให้เจอ ด้วยการให้ลูกทำในสิ่งที่ชอบและไม่ชอบ เพื่อให้เขาได้เลือก หากชอบเลขก็เปลี่ยนให้ฝึกฝนด้านภาษาบ้าง เพื่อเป็นการบาลานซ์สมอง หลายคนที่จบมาแล้วไม่ได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองชอบ เพราะหาตัวเองไม่เจอ

ใครที่มีลูกสาว จะต้องทำให้ลูกมีความพิเศษมากขึ้นไปอีกด้วยการสอดแทรกเรื่องการรักตัวเองให้ มาก เพราะพ่อแม่ไปไม่ได้ทุกที่ หากลูกสาวก้าวพลาดจะกลายเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญของชีวิต ถึงขั้นหมดอนาคต บันไดการเลี้ยงลูกขั้นสุดท้ายของการสอนในหนังสือเน้นไปที่

"การสอนเรื่องการใช้เงิน" และให้ "รู้จักต้นทุนชีวิต" ปูพื้นฐานแต่เด็ก ตั้งแต่ให้ค่าขนมลูกไปโรงเรียน
"ควรทำให้เด็กได้ตื่นเต้นกับการเงินเก็บบ้าง เหมือนการปั้นก้อนดินที่เริ่มต้นจากก้อนเล็กๆ จะติดตัวลูกไปจนโต ตั้งแต่เก็บเงินเป็นร้อยเป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน จนถึงเป็นล้าน"

ส่วนเหตุผลของการมีชีวิตในแต่ละวัน ควรสอนให้รับรู้ว่าชีวิตที่ได้มานั้นทุกอย่างล้วนมีต้นทุน เพื่อเป็นการปลูกฝั่งต้นทุน-กำไร ก่อนตัดสินใจดำเนินชีวิต

“ทั้งชีวิตล้วนมีต้นทุน ที่เกิดจากเวลา หากเวลาทำงาน ไม่ทำงาน เวลาอ่านหนังสือ ไม่อ่าน อยู่ไปวันๆ วันหนึ่งมี 24 ชั่วโมงหรือ 86,400 วินาที คือต้นทุนชีวิตของเราแต่หากเราปล่อยให้เสียไปก็เท่ากับว่าเราขาดทุนหรือติด ลบต้องไปใช้เวลาของวันถัดไป”

เพราะชีวิตที่เกิดมาไม่ได้หนุ่มสาวขึ้นมีแต่จะโรยราลง เราทำงานหนักก็เพื่อความสบายในวันข้างหน้า หากไม่ทำอะไรก็ต้องมานั่งเสียดายเวลาที่หมดไป อีกด้านหนึ่งของการเลี้ยงลูก การเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีอ่อนน้อมถ่อมตน อีกด้านหนึ่งอาจจะไม่เข้ากับยุคนี้เท่าไหร่ เพราะอาจจะกลายเป็นไม่รู้เท่าทันคนอื่น จึงต้องสอนให้เด็กรู้จักอยากเอาชนะบ้าง (Aggressive) เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายในชีวิต

โมเดลตัวอย่างของการหล่อหลอมแนวคิดเด็กจนสร้างชาติได้ มีให้เห็นในหลายประเทศ ทั้งเกาหลี ซึ่งเป็นประเทศที่ขมขื่นจากสงครามเขาก็สอนให้จริงจังและฝึกฝนอย่างหนักกับ การทำงาน เช่น ศิลปิน ต้องผ่านการฝึกซ้อมอย่างหนักมากเกิน 100% จึงจะประสบความสำเร็จ หรือแม้แต่ซัมซุงก็เกิดขึ้นจากการที่อยากเอาชนะโซนี่

สิ่งที่จุดประกายชีวิตให้เธอหันมาปูพื้นฐานคุณค่าชีวิต เพื่อสร้างให้อีกหนึ่งเจเนอเรชั่น มีคุณภาพชีวิตที่ดีผ่านตัวหนังสือ คือแรงบันดาลใจจากบทความของอาจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ ที่กล่าวไว้ว่า ใน "จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน" ว่า...

เมื่อผมอยู่ในครรภ์ของแม่ ผมต้องการให้แม่ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์ และได้รับความเอาใจใส่ และบริการอันดีในเรื่องสวัสดิภาพของแม่และเด็ก ผมไม่ต้องการมีพี่น้องมากอย่างที่พ่อแม่ผมมีอยู่ และแม่จะต้องไม่มีลูกถี่นัก พ่อกับแม่จะแต่งงานกันถูกกฎหมาย หรือธรรมเนียมประเพณีหรือไม่ ไม่สำคัญ แต่สำคัญที่ พ่อกับแม่ต้องอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข ทำความอบอุ่นให้ผมและพี่น้อง ให้ผมได้เรียนหนังสือตามอัตภาพ ตายก็อย่ามาเผาผมเสียดายที่ ทิ้งเงินไว้ให้ภรรยาได้ใช้ เลี้ยงดูตัวเองและลูก แต่ถ้าลูกโตก็ทำงานเลี้ยงดูตัวเอง

นัย สะท้อนถึงการเกิดมาต้องเป็นประโยชน์ทุกอย่าง เราปรับปรุงชีวิตเราได้ ไม่ต้องสะสมเงินทองมหาศาล เลี้ยงลูกให้เติบโต ถึงเวลาเราเก็บเงินเราไว้ใช้เอง
 

สอนลูกให้ออมเงินล้าน


การวางแผนการเงินเป็นทักษะชีวิตที่จำเป็นสำหรับทุกคน แม้กระทั่งเด็กตัวเล็กๆ

     การวางแผนการเงินเป็นทักษะชีวิตที่จำเป็นสำหรับทุกคน แม้กระทั่งเด็กตัวเล็กๆ หลายคนอาจคิดว่าเด็กอายุเพียงไม่กี่ขวบคงไม่สามารถรับรู้เรื่องราวอะไรนัก แต่หารู้ไม่ว่าเขาสามารถเรียนรู้ได้จากการปลูกฝังนิสัยรักการออมในชีวิต ประจำวันได้จากพฤติกรรมของพ่อแม่ได้มากกว่าการสั่งสอนเสียอีก เหมือนอย่าง วอร์เรน บัฟเฟต์ มหาเศรษฐีติดอันดับโลกที่มีนิสัยรักการออมเงินมาตั้งแต่อายุเพียงแค่ 6 ขวบ
      สุวภา  เจริญยิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนชาต จำกัด (มหาชน)  เจ้าของผลงานเขียน “มีลูกกี่คนก็รวยได้ ถ้าใช้ เงินเป็น” ในฐานะผู้รู้ ให้คำแนะนำว่า พ่อแม่ควรเริ่มฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินหรือสอนให้ลูกรู้จักใช้ เงินตั้งแต่ยังอายุยังน้อยเพื่อสร้างนิสัยการใช้เงินอย่างชาญฉลาดแก่ลูกอาจ แบ่งเป็น 2 ช่วง  ช่วงแรก-12 ขวบ  ช่วงที่สอง 13-17 ปี
ปลูกฝังนิสัยการออม
      ในขวบปีแรก ถือเป็นวัยที่เริ่มทำความรู้จักกับเงิน ได้แล้ว อาจเริ่มจากสอนให้หยอดกระปุกออมสินต่อจากนั้นฝึกให้ลูกรู้จักเหรียญและ ธนบัตรฉบับละ 20 บาท 50  บาท 100 บาท 500 บาท และ 1000 บาทการสอนเรื่องเหล่านี้ เพื่อให้เขาจดจำและทำความเข้าใจค่าเงิน และ ควรเสริมความรู้เรื่องที่มาของเงิน ด้วยว่ากว่าที่พ่อแม่จะได้เงินมานั้นต้องออกไปทำงาน
      “พ่อแม่ต้องปลูกฝังนิสัยให้เด็กรู้และเข้าใจที่มาของเงิน เพราะทุกวันนี้เด็กบางคนยังไม่เข้าใจหรือไม่พยายามที่จะเรียนรู้ว่า คนเราต้องทำงานจึงจะได้เงินมาไม่ใช่นั่งรอให้มีคนช่วยเหลือ”
      ขณะเดียวกัน พ่อแม่คือต้นฉบับที่ลูกมักจะจดจำทั้งด้านดีและไม่ดี ไม่ว่าลอกเลียนแบบการกระทำ พฤติกรรม และนิสัยบางอย่างมาไม่เว้นแม้แต่เรื่องการใช้เงินของพ่อแม่ เพราะลูกน้อยเฝ้ามองสิ่งที่คุณทำตลอดเวลา ฉะนั้นพ่อแม่จะต้องทำตัวเป็นต้นแบบที่ดีในการใช้เงินอย่างคุ้มค่า
      เมื่อถึงวัยที่เริ่มไปโรงเรียนครูสอนให้รู้จักนับเลข ถือเป็นโอกาสดีที่พ่อแม่จะสอนให้ลูกรู้จักวางแผนการเงินด้วยตนเอง   เริ่มต้นจากให้เงินลูกไปโรงเรียนในจำนวนที่เหมาะสมแล้วคอยตรวจดูว่าหลังกลับ มาจากโรงเรียน เขาเหลือเงินเท่าไร แล้วสอนให้ลูกรู้จักการออมด้วยการหยอดกระปุก หากอยากให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ควรสอบถามลูกว่าเอาเงินไปทำอะไรบ้าง
       จากนั้นฝึกให้เขาตัดสินใจ และบริหารจัดการเงินเอง โดยให้เงินเป็นรายสัปดาห์เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ว่าในแต่ละวันควรใช้เงิน เท่าไร จึงเพียงพอที่ใช้ไปถึงปลายสัปดาห์ และเหลือเก็บ
       “ช่วงเวลา นี้เองสอนให้ลูกเห็นข้อดีและข้อเสียของการซื้อของว่า ของอะไรควรซื้ออะไรไม่ควรซื้อ เพราะบางครั้งของราคาถูก ไม่ได้หมายความว่าควรซื้อหากของชิ้นนั้นไม่จำเป็นต้องใช้ ตรงกันข้ามบางครั้งของชิ้นนั้นอาจมีราคาสูง แต่ถ้าจำเป็นก็ควรซื้อมาใช้”
เลี้ยงลูกแบบคนจน
        ครั้นเมื่อลูกย่างเข้าวัยรุ่น (13-17 ปี)  พ่อแม่เริ่มให้เงินเป็นรายเดือน แต่ที่ต้องระวังคือ เด็กวัยนี้มักนิยมซื้อของที่มีมูลค่าสูงขึ้นหรือซื้อของตามเพื่อน จึงควรหัดให้เขารู้จักเก็บเงินและเลือกซื้อของด้วยตนเอง ขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ไม่ควรซื้อของแพงๆ ให้ เช่น ไอโฟน ราคาเป็นหมื่น หากพ่อแม่ตามใจจะทำให้ลูกไม่รู้คุณค่าของสิ่งที่ได้มา และยังไม่รู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง
      พ่อแม่ส่วนหนึ่งคิดว่า การที่ลูก “ไม่มี” ของเหมือนกับเพื่อนแล้วจะทำให้รู้สึกตนเอง “ด้อย” กว่าเพื่อน นั้นเป็นความคิดที่ผิด
      ผู้ ปกครองหลายราย พอเริ่มร่ำรวยมีฐานะดีขึ้น พวกเขามักจะไม่พร่ำสอนลูกหรือห้ามปรามให้รู้จักกินรู้จักใช้ แต่กลับให้ลูกใช้ชีวิตอย่างสบาย ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย โดยคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือการแสดงความรักกับลูกไม่อยากให้ลูกลำบาก หรือน้อยหน้าคนอื่น
      หากพ่อแม่ไม่สอนลูก จะทำให้เขากลายเป็นคนที่ไม่รู้จักคุณค่าของเงิน ไม่มีนิสัยรักการออม สุดท้ายทรัพย์สินที่พ่อแม่หามาจะถูกใช้ไปหมดในชั่วพริบตา เพราะลูกขาดการวางแผนในการใช้เงินอย่างถูกวิธี 
       ฉะนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินสำหรับลูกให้เขารู้ว่า การ “ไม่มี ”เงินเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่สำคัญมาก   
  ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน แนะนำว่า  การเลี้ยงลูกด้วยการให้สิ่งของ “ไม่ยาก” เท่ากับการเลี้ยงลูกด้วยการ “ไม่ให้” สิ่งของ  ซึ่งเป็นเรื่องที่ครอบครัวที่ไม่มีจะให้ลูกกลับโชคดีกว่า ครอบครัวที่มีจะให้เพราะทำให้เด็กที่มีฐานะครอบครัวไม่เข้มแข็งโชคดี ที่เรียนรู้คำว่า  “ไม่มี” ได้ง่ายกว่าเด็กที่มีฐานะดี 
         แต่ก็มีเหมือนกันที่ พ่อแม่ในครอบครัวที่ฐานะยังไม่เข้มแข็ง ไม่กล้าที่จะปฏิเสธลูก ว่า “ไม่มี”  ต้องดิ้นรนไปหาข้าวของ เงินทองมาให้ลูก ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะทำให้ลูกยึดติดอยู่กับความสุขเกินจริง ขาดความอดทนและใช้จ่ายเกินตัว
        เคล็ดลับง่ายๆ ในการเลี้ยงลูกคือต้องกล้าที่จะเลี้ยงลูกแบบคนจน เพื่อให้ในอนาคตลูกจะกลายเป็นคนรวยเหมือนอย่าง มหาเศรษฐีหลายคน  กระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน ตั้งแต่อายุยังน้อยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ ต้องดูแลและเข้าใจลูกในแต่ละวัยด้วย
        ดังคำกล่าวที่ว่า  “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” ดังนั้นหากใครอยากให้ลูกมีนิสัยรักการออม รู้จักเก็บ รู้จักใช้ และรู้จักคุณค่าของเงิน ควรเริ่มต้นปลูกฝังตั้งแต่เด็ก
        โอกาสที่ลูกคุณจะกลายเป็นมหาเศรษฐีอย่างวอร์เรน บัฟเฟต์ ก็อาจเป็นไปได้ใครจะไปรู้

วันที่ 7 ตุลาคม 255
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เขาคืออัจฉริยะที่เปลี่ยนโลก ...อย่างบ้าระห่ำ


ผมเรียกเขาว่า “มนุษย์พันธุ์พิเศษ” เพราะ Steve Jobs เปลี่ยนโลกใบนี้ด้วยเป้าหมายอย่างเดียว

  คือใช้นวัตกรรมให้ชีวิตประจำวันของผู้คนมีความสุข กับไอทีโดยไม่ต้องรับรู้ความสลับซับซ้อนของเทคโนโลยี
 56 ปีบนโลกใบนี้จึงสั้นอย่างโหดร้ายเกินไปสำหรับคนที่เกิดมาเพื่อสร้าง ประดิษฐกรรมที่คาดการณ์ล่วงหน้าว่ามนุษย์ทั่วไปต้องการอะไรก่อนที่ผู้คนเอง จะรู้ตัวด้วยซ้ำไปว่านั่นคือสิ่งที่พวกเขาต้องการ
 สตีฟ จ็อบส์ บอกนักศึกษารับปริญญาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เมื่อปี ค.ศ.2005 ตอนหนึ่งว่า “เวลาของคุณมีจำกัด ดังนั้น อย่าได้ดำเนินชีวิตของคนอื่นเลย”
 เขาสอนเราว่าการดำรงชีวิตที่มีความหมายนั้นไม่จำเป็นต้อง “สำเร็จ” เสมอไป เพราะบ่อยครั้ง “ความล้มเหลว” ก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องเรียนรู้ที่จะรับได้ก่อน
 สำหรับเขา ความล้มเหลวมาพร้อมกับการเปิดตาดูโลกวันแรก เพราะพ่อแม่ส่งไปให้คนอื่นเลี้ยงจนโต และเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย เขาก็เรียนไม่จบ ตั้ง Apple แล้ว เขาก็เผชิญกับอุปสรรคนานัปการ จนถูกขับออกจากตำแหน่ง ต้องหวนกลับมาอีกรอบจึงจะสามารถสร้างผลงานที่ตราตรึงไว้กับโลก
 และเมื่อเขาจากไปหลังการต่อสู้กับโรคมะเร็งในตับอ่อนมาหลายปีเมื่อสอง วันก่อน ทั้งโลกก็คารวะในความเป็นอัจฉริยะของเขาอย่างปราศจากความสงสัย
 ผมชอบ “บัญญัติ 10 ประการ” ที่ Leander Kahney เขียนเอาไว้จากการสัมภาษณ์สตีฟ จ็อบส์ อย่างโชกโชน และนั่นคือสูตรสำหรับคนทุกคนที่ต้องการแสวงหาความหมายในการทำงานเช่นเดียว กับเขา
 สตีฟ จ็อบส์ ยืนยันว่าจะทำอะไรต้องมุ่งสู่ความเป็นเลิศเท่านั้น อย่าได้ทำอะไรชุ่ยๆ หรือสักแต่ว่าทำให้เสร็จเท่านั้น แต่จะต้องแสวงหาว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่คุณจะพึงหวังได้
 อีกข้อหนึ่งคือ “อย่าหยุดเรียนรู้เป็นอันขาด” ตามมาด้วยการทำอะไรให้ง่ายเอาไว้ อย่าหลงเชื่อว่าการทำอะไรที่มันดูยุ่งยากสลับซับซ้อนนั้นคือความสำเร็จ
 ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งที่เขาเน้นเสมอว่าการทำงานอะไรจะให้ถึงเป้านั้นพยายามให้ทีมงานของคุณเล็กเอาไว้ ทำนอง "จิ๋วแต่แจ๋ว" เพราะการคิดว่าต้องใช้คนเยอะหรือเอาจำนวนเข้าว่าคือทางสู่ความสำเร็จนั้นคือวิธีคิดที่ผิดพลาดมานักต่อนักแล้ว
 สตีฟสอนให้คนทำงานเด็ดเดี่ยว กล้าตัดสินใจ อย่ายึดมั่นถือมั่น ไม่ยอมทิ้งทั้งๆ ที่เห็นแล้วว่าเดินหน้าไม่ไหว เอาอัตตามากำหนดชีวิต ก็มีแต่จะผลักดันตัวเองให้เข้าทางตันเท่านั้น
 เขาสอนให้วิ่งเข้าหาคนที่รู้จริง อย่าลังเลที่จะขอความเห็นและคำแนะนำจากคนที่รู้จริง เพราะนั่นคือหนทางแห่งการบรรลุถึงสัจธรรม
 สตีฟ ไม่เชื่อการใช้ focus groups อย่างที่นักบริหารบางคนถือเป็นหลักปฏิบัติในการวิจัยการตลาด
 เพราะเขาเชื่อว่าผู้บริโภคจะไม่รู้ว่าตนเองต้องการอะไร จนกว่าคุณในฐานะผู้ผลิตสินค้าเสนอให้เห็น
 “People don’t know what they want until you show it to them.”
 แปลว่าคุณต้องคิดแทนผู้บริโภคตลอดเวลา คุณจึงจะมีอะไรใหม่ที่นำเสนอต่อสังคม
 เขาบอกด้วยว่าการรักษาความลับระหว่างการทำงานเพื่อมุ่งไปหาสิ่งที่คุณ ตั้งเป้าไว้นั้นเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ดังนั้น คนทำงานที่ Apple จึงจะไม่ปริปากกระซิบบอกคุณว่าพวกเขากำลังทำอะไรจนกว่าจะได้จังหวะเวลาที่ เหมาะควรที่จะเป็นที่รับรู้ของคนหมู่มาก
 เขาสอนให้คนทำงานทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำ prototype ขึ้นมาอย่างละเอียดลออ และไม่ต้องกลัวที่จะลองมันเป็นร้อยครั้งพันครั้งจนกว่าคุณจะเรียนรู้อะไร ใหม่จากมัน และแม้สตีฟ จะได้ชื่อว่าเป็นผู้บริหารที่โหดในวินัยการทำงาน แต่เขาก็ยืนยันว่าการให้กำลังใจสำคัญกว่าการลงโทษ
 นั่นคือเหตุผลที่ทีมงาน Mac รุ่นแรกๆ ยอมทำให้สัปดาห์ละ 90 ชั่วโมงเป็นเวลาสามปีเต็มๆ เพื่อผลิตคอมพิวเตอร์ที่ “ดีอย่างบ้าระห่ำ” (insanely great) สำหรับสาวกแอ๊ปเปิ้ลทั้งโลก
 สำหรับผม เขาคืออัจฉริยะที่เปลี่ยนโลกด้วยความเก่งอย่างบ้าระห่ำ

วันที่ 7 ตุลาคม 2554   กาแฟดำ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

สตีฟ จ็อบส์ เซน และความตาย


เป็นเรื่องแปลกไม่น้อยที่เหตุใดเจ้าของธุรกิจไอทีอย่าง สตีฟ จ็อบส์ จึงกลายเป็น "ขวัญใจ" คนทั้งโลกได้อย่างน่าอัศจรรย์

  โดยเฉพาะสังเกตจากปฏิกิริยาของคนทุกสาขาวิชาชีพ เมื่อมีคำประกาศว่าเขาเสียชีวิตแล้วด้วยวัยเพียง 56 ปี
 ยิ่งกว่านั้น เขาคงเป็นคนทำงานในแวดวงไอทีเพียงคนเดียวกระมังที่เมื่ออำลาโลกไปแล้วก็ยัง ทิ้ง "คำคม" เอาไว้ให้คนได้ขบคิด ถามหา และนำไปเป็นสิ่งบันดาลใจให้สู้กับชีวิตและแสวงหาเป้าหมายแห่งตน
 สตีฟ จ็อบส์ เป็นนักปรัชญาของชีวิตพอๆ กับเป็นอัจฉริยะทางนวัตกรรมของไอที
 เพราะลำพังหากเขาเป็นเพียงคนเก่งด้านไอทีอย่างเดียว ไม่ว่าจะสามารถแค่ไหน ก็คงไม่ได้สถานภาพเหมือนเป็น "วีรบุรุษ" ของชาวโลก
 เพราะ Mac  iPhone  iPad เปลี่ยนวิถีชีวิตของการทำงานและบันเทิงของมนุษย์ทำงานทั่วไปอย่างมีคุณค่าที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
 อาจจะเพราะเขาพูดจาเป็นปรัชญาบ่อย และเป็นคนครุ่นคิดถึงความหมายของชีวิตไม่น้อย สิ่งที่ผู้คนจำเขาได้จึงไม่ใช่เพียงแค่ว่าเขาเก่งทางด้านไอที ออกแบบและผลิตสินค้าที่ผู้คนชื่นชอบเท่านั้น แต่เขายังเป็น "มนุษย์ที่มีความคิด" ที่กระตุ้นให้คนอื่นอยากเอาอย่างด้วยอีกต่างหาก
 เพราะเขาป่วยด้วยมะเร็งตับอ่อน และคนทั้งโลกก็รับรู้ว่าเขากำลังต่อสู้กับความตายอย่างเด็ดเดี่ยว ยืนยันที่จะทำงานจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต สตีฟ จึงกลายเป็นนักคิดนักประดิษฐ์พร้อมๆ กันไป
 น้อยคนจะรู้ว่าเขามีความเป็น "เซน" ไม่น้อยไปกว่าความเป็นนักธุรกิจ
 หนังสือ ชื่อ "Icon" ที่เขียนโดย Jeffrey Young และ William Simon ย้อนเล่าถึงตอนหนุ่มเมื่อเขาไปเรียนการทำสมาธิกับอาจารย์เซนที่ชื่อ Kobin Chino ที่ Los Altos Zen Center ในแคลิฟอร์เนียขณะที่เขาทำงานอยู่กับบริษัท Atari
 เหตุเพราะสตีฟ ไม่ได้ร่ำเรียนหนังสืออย่างเป็นทางการมากมายนัก การที่เขาเข้าหา "เซน" เพื่อฝึกฝนความคิดที่ลุ่มลึกจึงเป็นวิธีการสร้างบุคลิกของเขาอย่างชนิดที่ตัวเองก็ยังคาดไม่ถึง
 สตีฟ เคยไปอินเดีย และพบกับอาจารย์เซน อีกท่านหนึ่ง พอกลับบ้าน เขาประกาศตนเป็นสาวกเซนอย่างจริงจัง
 จากนั้นเขาก็หยุดกินเนื้อสัตว์ บำเพ็ญตนเป็นผู้บริโภคผักและปลา เพื่อดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายและใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น
 และในยามป่วย สตีฟ ก็หันมาใช้ "แพทย์ทางเลือก" พร้อมๆ กับการรักษากับหมอแพทย์แผนปัจจุบัน
 อ่านความคิดของเขาเกี่ยวกับชีวิตโดยเฉพาะความตาย (เมื่อเขารู้ตัวว่าเป็นมะเร็งที่กำลังจะคร่าชีวิตของเขา) แล้วก็จะสัมผัสได้กับความเป็นเซน ของเขาที่ CEO ธุรกิจหมื่นล้านของสหรัฐคนอื่นไม่มีอย่างแน่นอน
 สตีฟพูดถึงความตายในหลายโอกาส
 "การที่รู้ว่าจะต้องตายในไม่ช้า เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดสำหรับผม เพราะเมื่อรู้ว่าความตายกำลังคืบคลานมา ผมก็สามารถเลือกอะไรในชีวิตได้ชัดเจนและง่ายขึ้น สิ่งต่างๆ ที่เป็นของภายนอกเช่นความคาดหวัง ความยโส ความกลัว ความล้มเหลว ก็อันตรธานหายไปสิ้น...เหลือแต่สิ่งที่สำคัญจริงๆ..."
 สตีฟบอกต่อว่า
 "การที่รู้ว่าตัวเองกำลังจะจากโลกนี้ ไปเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะหลีกลี้ กับดักของการคิดว่าเรามีอะไรจะสูญเสีย เพราะคุณเปลือยเปล่าแล้ว ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ทำตามที่หัวใจต้องการอีกต่อไป..."
 นี่ย่อมมิใช่วิธีคิดของนักบริหารธุรกิจตะวันตกธรรมดาทั่วไปที่มีค่านิยมในชีวิตที่ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อการอยู่ให้ยาวนานที่สุด
 ความเป็น "เซน" สอนให้เขา "ปล่อยวาง" ได้ในระดับที่ทำให้เขาสามารถบอกตัวเองว่าที่เหลือของชีวิตไม่มีอะไรมากไป กว่าการทำสิ่งที่ตนอยากทำเพื่อคนอื่นจะได้ประโยชน์ หลังจากที่ตัวเองล้มหายตายจากไปเท่านั้น
 อีกประโยคหนึ่งที่เขาเคยบอกกับคนข่าว เมื่อถูกถามว่ามีความรู้สึกอย่างไรที่เป็นอภิมหาเศรษฐี เพราะหุ้นบริษัท Apple ของเขาพุ่งพรวดพราดอย่างรวดเร็วฉับพลัน
 สตีฟ บอกว่า "การเป็นคนรวยที่สุดในสุสาน (หมายถึงนอนตายพร้อมกับคนอื่นๆ) ไม่มีความหมายอะไรสำหรับผม แต่การเข้านอนทุกคืน และบอกตัวเองได้ว่าผมได้ทำอะไรที่มันวิเศษสุด นั่นแหละคือสิ่งที่ผมแสวงหา..."
 และท้ายสุด สตีฟ ก็บอกกับเพื่อนร่วมโลกที่รู้จักเขาดีจากการทุ่มเทสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อพลิกวิถีชีวิตทำงานและบันเทิงว่า
 "ความตายคือจุดหมายปลายทางที่มนุษย์ทุกคนมีร่วมกันนั่นแหละ" และเขายืนยันว่า
 "ความตายคือประดิษฐกรรมสุดยอดของการมีชีวิต" นี่ครับ สตีฟ จ็อบส์ เซน และความตาย

วันที่ 8 ตุลาคม 2554    กาแฟดำ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์