วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554

"ครูเรฟ" เผยกลยุทธ์สอนเด็กฉลาดใช้เงินผ่านบทบาทสมมติ

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 12 ตุลาคม 2554



ครูเรฟ เอสควิน ตัวอย่างของครูที่สอนเป็น เห็นผล คนยกย่องตามโครงการ "ครูสอนดี"
       หากเอ่ยถึงชื่อ "เรฟ เอสควิน" หลาย ๆ ท่านคงไม่รู้จักผู้ชายคนนี้ แต่สำหรับคนในแวดวงครูแล้ว เขาคือครูที่มีสรรพวิธี และสารพัดลูกบ้าในห้อง 56 ของโรงเรียนประถมศึกษาโฮบาร์ตในเขตยากจนของนครลอสแอนเจลีส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาจนได้รับการยกย่องจากหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทม์ให้ เป็น "อัจฉริยะและนักบุญ"
      
       
นอกจากนี้ ยังถือเป็นครูคนเดียวในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาที่ได้รับรางวัล Nation Medal of Arts โดยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากสมเด็จพระบรมราชินาถเอลิซาเบท ที่ 2 รวมทั้งรางวัล American Teacher Award และอื่น ๆ อีกหลายรางวัลที่การันตีถึงจิตวิญญาณในความเป็นครู
      
       มาในวันนี้ เขาบินตรงมาสร้างแรงบันดาลใจให้กับครูไทย พร้อมกับเปิดใจพูดคุยกับ ทีมงาน Life & Family ถึงกลยุทธ์การสอนที่น่าสนใจหลาย ๆ เรื่อง แต่มีอยู่หนึ่งเรื่องที่เรามองว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่คนไทยไม่น้อย นั่นก็คือ "เศรษฐศาสตร์ในห้องเรียน" ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ครูเรฟใช้ฝึกเด็ก ๆ ให้รู้คุณค่าของการประหยัด การใช้เงินภายในระบบ และรู้จักอดเปรี้ยวไว้กินหวานผ่านบทบาทสมมติที่ถูกจัดสถานการณ์ขึ้นในชั้น เรียน เนื่องจากครูเรฟเป็นห่วงว่า หากเด็กเติบโตในยุคที่รายล้อมไปด้วยวัตถุนิยมแต่กลับไม่รู้ค่าของเงิน อาจอาจตกหลุมพรางไปกับโฆษณาชวนเชื่อต่าง ๆ ได้ง่าย
      
       ดังนั้น การใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวัง เป็นบทเรียนที่เด็ก ๆ ควรแก่การเรียนรู้ ทำให้เกิดเป็นบทเรียนผ่านบทบาทสมมติขึ้น โดย ครูเรฟ ถ่ายทอดกลยุทธ์นี้ให้ฟังว่า เขาจะให้เด็ก ๆ ชั้นป.5 ในห้องเรียนหมายเลข 56 ของเขาทุกคน (ประมาณ 32 คน) สมัครเข้าทำงานในห้องในวันแรกของการเรียน โดยมีตำแหน่งต่าง ๆ ให้เลือก 2 อันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นนายธนาคาร พนักงานส่งเอกสาร ภารโรง เสมียน เจ้าหน้าที่ตำรวจ และอื่น ๆ ซึ่งงานแต่ละอย่างจะมีค่าจ้างต่างกันไม่มาก ใครทำงานทุกวันอย่างภารโรงอาจจะได้รับเงินมากหน่อย (เงินจำลองที่ครูเรฟทำขึ้นเอง) แต่ทั้งนี้เด็ก ๆ มักจะได้รับงานใดงานหนึ่งจากงานที่เลือกไว้ด้วย
      
       สำหรับผลตอบแทนที่เด็กได้รับนั้น ครูเรฟบอกว่า พวกเขาจะได้รับเงินเดือนเป็นเช็ค และจะนำไปฝากไว้กับนายธนาคาร เนื่องจากเด็ก ๆ ต้องรู้จักออม เพราะพวกเขาต้องนำไปจ่ายเป็นค่าเช่าที่นั่งเรียน ยิ่งใกล้หน้าชั้นเรียน ค่าเช่าก็จะยิ่งแพง และถ้าสามารถเก็บเงินได้เป็น 3 เท่าของค่าเช่า พวกเขาจะได้รับอนุญาตให้ซื้อที่นั่งของตัวเองและเรียกมันว่าคอนโดมิเนียม ซึ่งเด็กบางคนถึงกับเก็บออมจนมีเงินมากพอที่จะซื้อที่นั่งของเด็กคนอื่นแล้ว เก็บค่าเช่าจากเด็กคนคนนั้นเป็นรายเดือน
      
       เมื่อนักเรียนที่ฉลาดลงทุน เขาก็จะเข้าใจคุณค่าของการมีกรรมสิทธิ์ เพราะการได้เห็นเพื่อน ๆ ดิ้นรนหาเงินมาจ่ายค่าเช่า ทำให้เริ่มเห็นอกเห็นใจพ่อแม่ที่ต้องทำงานหาเงินอย่างยากลำบาก รวมทั้งเห็นประโยชน์ของกรรมสิทธิ์ที่จะทำให้เด็กบางคนที่ต้องเช่าบ้านอยู่ รู้จักอดออมเพื่อสักวันจะได้เก็บเงินซื้อบ้านเป็นของตัวเอง
       ทั้งนี้ ครูเรฟ เล่าต่อไปว่า กลยุทธ์ของเขายังฝึกเด็กให้ขยัน และอดทนด้วย เพราะหากเด็ก ๆ ทำงานพิเศษ หรือเข้าร่วมวงดุริยางค์ของโรงเรียนแล้ว พวกเขาจะได้รับเงินโบนัสเพิ่ม แต่ในทางกลับกัน ถ้าเด็กไม่ทำงานหรือทำงานอืดอาด เจ้าหน้าที่ตำรวจจะปรับ และเด็กต้องจ่ายเป็นเช็ค หรือเงินสดก็ได้ นอกจากนี้พอถึงสิ้นเดือนเด็ก ๆ ทั้งชั้นจะได้เข้าร่วมในการประมูลซึ่งจะมีของต่าง ๆ ที่เด็กอยากได้
      
       ดังนั้น สิ่งที่เด็ก ๆ ได้รับจากเศรษฐศาสตร์ในห้องเรียน ครูเรฟสรุปให้ฟังว่า เด็ก ๆ ของเขาจะรู้จักจัดระบบและการวางแผนการใช้เงิน เพราะเด็ก ๆ จะมีสมุดจดบัญชีที่เขียนหมวดหมู่โดยแยกเป็นวันที่ ธุรกรรมที่ทำ เงินฝาก เงินหักบัญชี และเงินคงเหลือ ส่วนสมุดบัญชีจะมีนายธนาคาร ประจำห้องสัก 4 คนดูแลให้ โดย 1 คนดูแลสมุดของลูกค้า 8 บัญชี ซึ่งนายธนาคารจะได้สมุดบัญชีเพิ่มอีกเล่มหนึ่งเพื่อทำสำเนาการทำธุรกรรมของ ลูกค้าเก็บไว้ เพราะหากยอดเงินคงเหลือไม่ตรงกัน นายธนาคารและลูกค้าสามารถเปรียบเทียบเพื่อหาข้อผิดพลาดร่วมกันได้
      
       นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้ทั้งการใช้จ่ายอย่างประหยัด และการใช้ข้าวของอย่างรู้คุณค่า เพราะเมื่อต้องทำงานหาเงิน ทำให้ใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น ส่วนการฝึกเด็กให้ใช้เงินอย่างฉลาดด้วยการเข้าร่วมการประมูลตอนสิ้นเดือน บ่อยครั้งที่ครูเรฟเห็นว่าเด็ก ๆ สนุกกับการเสนอราคาแข่งขันจนเงินหมดบัญชี ทั้ง ๆ ที่ของบางชิ้นพวกเขาก็ไม่อยากได้ ทำให้เด็กกลับมาถามตัวเองว่าแล้วมันคุ้มกันหรือเปล่ากับเงินที่เสียไปกับการ เอาอารมณ์ตัวเองเป็นใหญ่
      
       ในขณะที่เด็กบางคน ใช้จ่ายอย่างรอบคอบ อดเปรี้ยวไว้กินหวานไม่เข้าประมูลในทุก ๆ รอบ แต่เก็บเงินเพื่อประมูลของในสิ่งที่อยากได้จริง ๆ หรือเด็กสามารถนำบทเรียนแห่งการอดทนรอคอยไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ อย่างเช่น อดทน และตั้งใจเรียนในวันนี้เพื่อโอกาสที่ดีในวันข้างหน้า เป็นต้น
ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ท
       อย่างไรก็ดี ระบบเศรษฐศาสตร์ในลักษณะนี้ ครูเรฟบอกว่า เด็ก ๆ ชอบกันมาก เช่นเดียวกับพ่อแม่และครูคนอื่น ๆ ที่เคยลองเอาไปใช้แล้วด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่เขาอยากฝาก และไม่อยากให้เกิดขึ้นคือ การนำระบบนี้ไปใช้เป็นกลไกการควบคุมเด็ก หรือลูกหลานที่บ้าน ซึ่งเป็นการนำไปใช้โดยผิดเจตนา
      
       *** เศรษฐศาสตร์ในครอบครัวแบบฉบับ "ครูเรฟ"
      
       สำหรับพ่อแม่คนไทยที่สนใจ สามารถนำกลยุทธ์การสอนนี้ไปประยุกต์ใช้กับลูกที่บ้านได้ แต่ตัวอย่างง่าย ๆ ที่ครูเรฟ อยากจะแนะนำจากประสบการณ์ตรงในการสอนลูกทั้ง 4 คนของเขาให้รู้จักใช้เงินก็คือ การสอนลูกให้ประหยัด และรู้จักเก็บหอมรอมริบควบคู่กับการวางแผนการใช้จ่ายตั้งแต่เด็ก
      
       "ผมให้เงินลูก ๆ ไปโรงเรียนทุกวันอยู่แล้ว แต่ถ้าลูกมาบอกว่า วันเสาร์นี้จะไปดูหนังแล้วมาขอเงินผมเพิ่ม ผมไม่ให้ เพราะพวกเขาควรจะรู้ว่าบางอย่างถ้าไม่มีเงินเขาก็ไม่ควรไป" นี่ คือสิ่งที่ครูเรฟ กำลังสะท้อนให้เห็นว่า ถ้าลูก ๆ ของเขาไม่มีความมัธยัสถ์ และวางแผนการใช้จ่ายไว้ล่วงหน้า ก็จะไม่มีเงินเก็บไว้ใช้จ่ายในสิ่งที่อยากได้
      
       หรือถ้าวันไหนที่ลูก ๆ ของเขาต้องไปทัศนศึกษานอกโรงเรียน ครูเรฟจะไม่ให้เงินค่าขนมลูกเพิ่ม เพราะเขาจะสอนให้ลูก ๆ รู้จักใช้จ่ายเงินว่า อะไรควรซื้อ หรือไม่ควรซื้อ เหมือนกับที่เขาสอนเด็ก ๆ ที่ห้อง 56 ให้เก็บออม มีการทำรายรับให้สมดุลกับรายจ่าย และรู้จักวางแผนค่าใช้จ่ายในอนาคต ซึ่งน้อยนักที่ขนมล่อตาล่อใจ หรือของเล่นที่มีการโฆษณาชวนเชื่อต่าง ๆ จะดึงเงินไปจากพวกเขาได้
      
       อย่างไรก็ดี ครูเรฟเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้เงินเป็นตัวล่อเพื่อให้ลูกทำใน สิ่งที่ต้องการ เช่น จ่ายเงินเพื่อให้ลูกทำงานบ้าน เพราะเด็กอาจสร้างเงื่อนไขจนติดเป็นนิสัย แต่ทั้งนี้ควรพยายามทำให้เขาเห็นว่างานบ้านเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวที่เขา ต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะห้องนอนของเขาเอง
      
       "ผมมีงานต้องทำที่บ้าน และผมก็ชอบจัดบ้าน แต่ห้องนอนของลูก ผมจะไม่เข้าไปช่วย เพราะเป็นห้องของลูก ลูกจะต้องจัดการเอาเอง" ครูเรฟเผยถึงความสำคัญในการฝึกลูกให้เป็นคนมีระเบียบ เพราะนั่นถือเป็นทักษะต่อยอดไปสู่เรื่องของการใช้เงินในอนาคตที่จำเป็นต้อง มีระบบระเบียบ
      
       เห็นได้ว่า เศรษฐศาสตร์ในบ้านไม่ใช่เรื่องยาก หากคุณพ่อคุณแม่ และลูก ๆ เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน และทำให้มันเป็นเรื่องสนุกโดยหยิบเอาบทบาทสมมติตามที่ครูเรฟแนะนำมาประยุกต์ ใช้ก็ดูน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว
      
       //////////////////
      
       อ้างอิงและเรียบเรียบข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ "ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ" ถอด ความเป็นภาษาไทยจากหนังสือ Teach like Your Hairs' on Fire: The Methods and Madness inside Room 56 ที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์ของครูเรฟ เอสควิท (Rafe Esquith) ในฐานะครูประจำชั้นประถม 5 ของโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งกลางนครลอสแอนเจลีส ที่ไม่เพียงแต่รวบรวมกลยุทธ์ และเทคนิคที่ใช้ได้ผลดีในการอบรมเด็ก ๆ สำหรับครู และพ่อแม่เท่านั้น แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจและกำลังใจแก่เพื่อนร่วมอาชีพให้มีศรัทธาในสิ่งที่ พวกเขากำลังทำในฐานะครู นั่นคือการสร้างคนดีมีคุณภาพให้แก่สังคม
    



ไม่มีความคิดเห็น: