วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สุวภา เจริญยิ่ง บริหารเงิน มีลูกกี่คนก็รวยได้

วันที่ 7 ตุลาคม 2554
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


การเฝ้าเลี้ยงดู ลูกจนเติบใหญ่ต้องอาศัยหลักการบริหารไม่ต่างจากองค์กร หากสามารถข้ามพ้นอุปสรรคในแต่ละช่วงวัยได้แล้ว ลูกก็จะเป็นดั่งมรดก

มีลูกกี่คนก็รวยได้ ถ้าใช้เงินเป็น  หนังสือที่เขียนโดย สุวภา เจริญยิ่ง กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต จำกัด(มหาชน) เล่าถึงแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเล่มนี้ว่า

เกิดจากคำพูดท้าทายของใครคนหนึ่งที่บอกว่า "มีลูกหนึ่งคนจนไป 7 ปี" ค้านกับความคิดของเธอที่เชื่อว่า การมีลูกนั้นไม่ได้ทำให้ใครรวยขึ้นหรือจนลง แม้จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แต่การเลี้ยงดูอย่างไร้การวางแผนและไม่เท่าทันต่อยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลง ทางสังคมต่างหาก ที่จะทำให้พ่อแม่จนลง โดยเฉพาะดีแต่ตามใจลูก

อีกสิ่งที่น่าคิดคือ คนที่ "คว้าฝันได้" กลับไม่ใช่ผู้ที่เริ่มต้นด้วยความพร้อม ตรงข้ามกลับเป็นผู้ที่มีชีวิตติดลบ ผ่านความลำบากมาทั้งสิ้น เช่น "เสี่ยตา" ปัญญา นิรันดร์กุล ผู้ก่อตั้งเวิร์คพอยท์ ต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยแม่ทำงานหลังการจากไปของพ่อหรือแม้กระทั่ง ตี๋แม็ทชิ่ง ที่ยากจนถึงขั้นไม่มีเงินกินข้าวในโรงเรียน ต้องไปปักหลักที่โรงอาหาร

รอให้คนกินอิ่มหมดแล้ว เพื่อจะกินของเหลือ

ขณะที่เด็กที่มีความพร้อมทุกด้าน ได้รับความรักและความอบอุ่นจากพ่อแม่ ครอบครัวดีมีการศึกษา แทนที่จะไปได้ไกล(กว่า) แต่กลับเดินไม่ถึงฝัน ทำอะไรขาดการหยั่งคิด สะท้อนว่าสาเหตุใหญ่พ่อแม่ยังเลี้ยงลูกไม่เป็น  เลี้ยงยังกับไข่ในหิน

สุวภา บอกไว้ในหนังสือของเธอถึง "บันได 3 ขั้น" ในการสร้างหนึ่งชีวิตเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี รู้จักใช้ชีวิต เข้าใจความหมายของชีวิตจนได้บทสรุปว่า "ลูกต้องรวยกว่า" ว่า บันไดขั้นแรก "ก่อนมีชีวิตคู่" ที่จะต้องหาคู่ชีวิตที่มีแนวทางและความคิดร่วมกัน ความรักไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต แต่ควร "รักด้วยสมอง" เพราะการใช้ชีวิตคู่ไม่ใช่นิยายที่แต่งงานแล้วจบ Happy Ending แต่ยังมีบทเรียนชีวิตที่ต้องข้ามผ่านไปด้วยกันอีกมากมาย

เมื่อลูกคู่ที่เหมาะสม ก็ต้องสามารถดูแลชีวิตคู่ได้ สำคัญคือ "เริ่มเก็บเงิน" ถือเป็นการทำอะไรเพื่อตนเองที่สำคัญมาก

"เหมือน กับเวลาขึ้นเครื่องบินแล้วเจอเหตุฉุกเฉิน หากต้องใส่หน้ากากก็จะต้องใส่ให้ตัวเองก่อน" เมื่อถึงจุดของการวางแผนมีทายาท ก็ต้องวางแผนเก็บเงินเพื่อลูก

บันไดชีวิตขั้นต่อมา "เมื่อมีลูกแล้ว" ก็ต้องเลี้ยงดูลูกให้รู้จักคุณค่าของชีวิต เหมือนการส่งต่อความคิดจากรุ่นไปสู่รุ่น โดยจะต้องใช้วิธีทั้งขู่ทั้งปลอบ หากมีฝ่ายหนึ่งดุว่า ก็ต้องมีอีกฝ่ายคอยปลอบสอนชี้แจงเหตุผล ส่วนการเริ่มต้นสอนลูกให้รู้จักคุณค่าของเงินนั้น ไม่ใช่บทสรุปที่จะชี้นำให้ลูก "เห็นเงินเป็นพระเจ้า" แต่ต้องปูพื้นฐานชีวิตให้ลูกมีมีระเบียบวินัย รู้จักคุณค่าของเงิน มากกว่า

แรกสุดที่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันคือนิสัยประหยัด ใช้เงินเป็น บ่มเพาะให้รู้จักการออม ฝากธนาคาร ตามมาด้วยการปลูกฝังในเรื่องความมีวินัย สอนลูกให้กินข้าวให้หมด ประหยัดไม่ฟุ่มเฟือย เก็บของให้เป็น วางหนังสือที่อ่านเสร็จก็ควรเก็บเข้าที่ โดยมีพ่อแม่ทำตัวเป็นแบบอย่าง

เมื่อถึงเวลาที่ลูกต้องเข้าโรงเรียน ก็ควรวางแผนไว้แต่เนิ่นๆ เก็บเงินและเลือกโรงเรียนที่เหมาะสมให้ลูก หากเป็นไปได้ต้องวางแผนตั้งแต่อนุบาล จนถึงระดับมัธยม แต่ไม่ควรยัดเยียดให้ลูกกดดันมากเกินไป
"ชีวิตการศึกษาก็เหมือนกับการสร้างตึกที่ต้องวางแผนออกแบบ เพื่อที่จะคำนวณงบและวัสดุก่อสร้างได้ถูกต้อง"

ตามมาด้วยการสอนให้ลูกรักการอ่าน เป็นพื้นฐานอีกด้านของการสร้างสมาธิที่ดีที่สุด  ประการสำคัญต่อการเลือกทางเดินชีวิต คือ ปลูกฝังให้หาตัวเองให้เจอ ด้วยการให้ลูกทำในสิ่งที่ชอบและไม่ชอบ เพื่อให้เขาได้เลือก หากชอบเลขก็เปลี่ยนให้ฝึกฝนด้านภาษาบ้าง เพื่อเป็นการบาลานซ์สมอง หลายคนที่จบมาแล้วไม่ได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองชอบ เพราะหาตัวเองไม่เจอ

ใครที่มีลูกสาว จะต้องทำให้ลูกมีความพิเศษมากขึ้นไปอีกด้วยการสอดแทรกเรื่องการรักตัวเองให้ มาก เพราะพ่อแม่ไปไม่ได้ทุกที่ หากลูกสาวก้าวพลาดจะกลายเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญของชีวิต ถึงขั้นหมดอนาคต บันไดการเลี้ยงลูกขั้นสุดท้ายของการสอนในหนังสือเน้นไปที่

"การสอนเรื่องการใช้เงิน" และให้ "รู้จักต้นทุนชีวิต" ปูพื้นฐานแต่เด็ก ตั้งแต่ให้ค่าขนมลูกไปโรงเรียน
"ควรทำให้เด็กได้ตื่นเต้นกับการเงินเก็บบ้าง เหมือนการปั้นก้อนดินที่เริ่มต้นจากก้อนเล็กๆ จะติดตัวลูกไปจนโต ตั้งแต่เก็บเงินเป็นร้อยเป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน จนถึงเป็นล้าน"

ส่วนเหตุผลของการมีชีวิตในแต่ละวัน ควรสอนให้รับรู้ว่าชีวิตที่ได้มานั้นทุกอย่างล้วนมีต้นทุน เพื่อเป็นการปลูกฝั่งต้นทุน-กำไร ก่อนตัดสินใจดำเนินชีวิต

“ทั้งชีวิตล้วนมีต้นทุน ที่เกิดจากเวลา หากเวลาทำงาน ไม่ทำงาน เวลาอ่านหนังสือ ไม่อ่าน อยู่ไปวันๆ วันหนึ่งมี 24 ชั่วโมงหรือ 86,400 วินาที คือต้นทุนชีวิตของเราแต่หากเราปล่อยให้เสียไปก็เท่ากับว่าเราขาดทุนหรือติด ลบต้องไปใช้เวลาของวันถัดไป”

เพราะชีวิตที่เกิดมาไม่ได้หนุ่มสาวขึ้นมีแต่จะโรยราลง เราทำงานหนักก็เพื่อความสบายในวันข้างหน้า หากไม่ทำอะไรก็ต้องมานั่งเสียดายเวลาที่หมดไป อีกด้านหนึ่งของการเลี้ยงลูก การเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีอ่อนน้อมถ่อมตน อีกด้านหนึ่งอาจจะไม่เข้ากับยุคนี้เท่าไหร่ เพราะอาจจะกลายเป็นไม่รู้เท่าทันคนอื่น จึงต้องสอนให้เด็กรู้จักอยากเอาชนะบ้าง (Aggressive) เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายในชีวิต

โมเดลตัวอย่างของการหล่อหลอมแนวคิดเด็กจนสร้างชาติได้ มีให้เห็นในหลายประเทศ ทั้งเกาหลี ซึ่งเป็นประเทศที่ขมขื่นจากสงครามเขาก็สอนให้จริงจังและฝึกฝนอย่างหนักกับ การทำงาน เช่น ศิลปิน ต้องผ่านการฝึกซ้อมอย่างหนักมากเกิน 100% จึงจะประสบความสำเร็จ หรือแม้แต่ซัมซุงก็เกิดขึ้นจากการที่อยากเอาชนะโซนี่

สิ่งที่จุดประกายชีวิตให้เธอหันมาปูพื้นฐานคุณค่าชีวิต เพื่อสร้างให้อีกหนึ่งเจเนอเรชั่น มีคุณภาพชีวิตที่ดีผ่านตัวหนังสือ คือแรงบันดาลใจจากบทความของอาจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ ที่กล่าวไว้ว่า ใน "จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน" ว่า...

เมื่อผมอยู่ในครรภ์ของแม่ ผมต้องการให้แม่ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์ และได้รับความเอาใจใส่ และบริการอันดีในเรื่องสวัสดิภาพของแม่และเด็ก ผมไม่ต้องการมีพี่น้องมากอย่างที่พ่อแม่ผมมีอยู่ และแม่จะต้องไม่มีลูกถี่นัก พ่อกับแม่จะแต่งงานกันถูกกฎหมาย หรือธรรมเนียมประเพณีหรือไม่ ไม่สำคัญ แต่สำคัญที่ พ่อกับแม่ต้องอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข ทำความอบอุ่นให้ผมและพี่น้อง ให้ผมได้เรียนหนังสือตามอัตภาพ ตายก็อย่ามาเผาผมเสียดายที่ ทิ้งเงินไว้ให้ภรรยาได้ใช้ เลี้ยงดูตัวเองและลูก แต่ถ้าลูกโตก็ทำงานเลี้ยงดูตัวเอง

นัย สะท้อนถึงการเกิดมาต้องเป็นประโยชน์ทุกอย่าง เราปรับปรุงชีวิตเราได้ ไม่ต้องสะสมเงินทองมหาศาล เลี้ยงลูกให้เติบโต ถึงเวลาเราเก็บเงินเราไว้ใช้เอง
 

ไม่มีความคิดเห็น: