วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เด็กจบ ม.6 จากปัญโญทัย แล้วไปไหนต่อ

มีเพื่อนๆพ่อแม่หลายๆท่าน ที่กำลังสนใจโรงเรียนแนวทางเลือก เช่น แนววอลดอร์ฟ  มักมีคำถามว่า เด็กๆที่เรียนในแนวทางนี้ จะไปเรียนต่อที่ไหน  สามารถเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้หรือไม่  ดิฉันได้อ่านพบคำตอบจากเวบหนึ่งค่ะ  เอามาฝาก และหากเพื่อนๆท่านใด สนใจข้อมูลเพิ่มเติม ก็มาอ่านได้ในลิงค์นะคะ  เพราะมีอีกหลายประเด็น ที่น่าสนใจ

ตอนนี้เป็น ตอนที่ 7 สำหรับการตอบคำถามของผู้ปกครอง โดยหมอพร เนื่องในกิจกรรม Parent Education จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม 2553 กิจกรรมนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้ตั้งคำถามและขอคำแนะนำในเรื่อง ต่างๆที่เกี่ยวกับการดูแลลูก ทั้งของโรงเรียนและของครอบครัว ผมได้นำมาลงเป็นประเด็นๆไปที่ละตอน

คำถาม: เด็กจบ ม.6 แล้วไปไหนต่อ เข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้หรือไม่

คำตอบ: เด็กม.6 ปัญโญทัยรุ่นแรก ที่เรียนจบไปเมื่อต้นปีที่แล้ว  แต่ละคนมีเส้นทางที่แตกต่างกันไป อาทิเช่น

รายที่1 ไปฝึกงาน กับ หนังสือพิมพ์เครือ เนชั่น แล้วเปลี่ยนมาฝึกงานกับกองถ่ายภาพยนตร์ จนพบว่าการทำงานภาพยนตร์ทำให้ได้มีโอกาสศึกษาความคิดของมนุษย์ผ่านตัวละคร ในภาพยนตร์ ซึ่งตรงกับความต้องการของนักเรียนคนนี้  จนในที่สุดจึงตัดสินใจที่จะเรียนต่อด้านภาพยนตร์ในมหาวิทยาลัยใน สหรัฐอเมริกา  ขณะนี้กำลังจัดเตรียม ข้อมูลและจัดสร้างหนังสั้น พร้อมทั้งเข้าสอบภาษาอังกฤษ ซึ่งก็ได้คะแนนสอบที่ผ่านเกณฑ์ ในครั้งเดียว เพื่อจัดส่งไปและรอผลคำตอบกลับมา


รายที่2 หลังจากเรียนจบม.6 จากปัญโญทัย ก็ได้ไปเป็นอาสาสมัคร ที่ Camphill (คลิกดูเพิ่มเติม ) ซึ่งเป็นชุมชนเด็กพิเศษ ในสหรัฐอเมริกา  โดยได้รับมอบหมายให้ดูแลเด็กพิเศษกลุ่มหนึ่งในเรื่องส่วนตัวต่างๆและพาเด็ก ไปส่งโรงเรียน  ขณะนี้นักเรียนคนนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะศึกษาต่อด้านใด อาจจะศึกษาต่อด้านการศึกษาบำบัดที่โน่นเลย หรืออาจกลับมาเรียนสาขาอื่นที่ประเทศไทย

รายที่3 ได้จัดตั้งวงดนตรีเครื่องสาย(ไวโอลิน เชลโล วิโอล่า )  โดยรวบรวมนักเรียนรุ่นน้องในปัญโญทัย  ไปแสดงในโบสถ์เมื่อช่วงคริสต์มาส และยังได้มาเป็นครูช่วยสอนไวโอลินให้แก่นักเรียนในโรงเรียน และขณะนี้ได้เตรียมการที่จะไปเรียนต่อสาขาดนตรีในต่างประเทศ
รายที่ 4 หลังจากเรียนจบ ได้ไปฝึกงานที่สวนสัตว์ดุสิต เป็นผู้ช่วยสัตวแพทย์ (ดูวิดีโอประกอบ) จนมั่นใจว่าอยากเป็นสัตวแพทย์  จึงได้เตรียมตัวและเข้าสอบในระบบรับตรงของมหาวิทยาลัย

อีกรายหนึ่ง  หลังจากเรียนจบได้ไปศึกษาโยคะ ทำได้ดีจนกระทั่งได้ไปเป็นครูสอน  พร้อมกับลงทะเบียนเรียนที่รามคำแหงไปด้วย
จะเห็นว่าเด็กๆมีความหลากหลายในแนวทางที่จะเลือกเดินต่อไป  ส่วนคำถามที่ว่า แล้วนักเรียนจากปัญโญทัยจะสามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐ ในระบบการคัดเลือกที่เป็นอยู่ได้หรือไม่

หมอพร เห็นว่า ระบบการคัดเลือกด้วยวิธีการสอบในแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสอบตรงหรือ Admissionกลาง ก็ตาม ทำให้เด็กในโรงเรียนทั่วไปส่วนใหญ่ขาดความสนใจในชั้นเรียน แต่มุ่งไปที่การเรียนพิเศษเพื่อเตรียมสอบ  ซึ่งสำหรับเด็กปัญโญทัย ที่ให้การศึกษาเด็กในแนวทางที่ต้องการให้เด้กเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจตนเอง ค้นพบตนเอง และมีวุฒิภาวะอย่างที่ควรจะเป็น จึงไม่ได้มุ่งเน้นในการให้การศึกษาไปเพื่อหวังผลในการสอบ  ดังนั้นหากให้นักเรียนม.6 ปัญโญทัยไปเข้าสอบมหาวิทยาลัยอย่างที่เป็นอยู่ในทันที จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะทำคะแนนได้ดี ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาสักระยะในการเตรียมตัวให้เพียงพอในการฝึกฝนการทำข้อ สอบ

ขณะเดียวกันในขณะนี้ โรงเรียนปัญโญทัยโดยหมอพร ก็ได้ติดต่อเข้าพูดคุยกับคณบดีในคณะวิชาต่างๆหลายแห่ง เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนให้เข้าใจแนวคิดการจัดการศึกษาวอลดอร์ฟของโรงเรียน และให้เห็นปัญหาของการรับเข้ามหาวิทยาลัยในปัจจุบัน   ที่ได้นักเรียนที่สอบเก่งแต่อาจไม่มีคุณสมบัติตรงตามสาขาที่เด็กเลือกเข้า เรียน  คณบดีหลายๆท่านมีความรู้สึกและเห็นด้วยกับปัญหานี้อยู่ก่อนแล้ว  รวมทั้งเห็นด้วยกับการจัดการศึกษาที่โรงเรียนดำเนินการอยู่ ทางปัญโญทัยจึงได้เสนอให้คณะวิชาต่างๆปรับมาทดลองใช้ระบบรับตรงโดยวิธีอื่นๆ เช่นการประเมินจากงาน(Portfolio) ที่เคยทำมาในสมัยเรียนมัธยม หรือการให้เด็กได้มีโอกาสร่วมในกิจกรรมของคณะวิชานั้น เพื่อให้คณะสามารถประเมินความถนัดและความพร้อมได้  ซึ่งแนวทางที่เสนอไปนี้ ก็ได้รับการตอบรับที่ดี จากหลายแห่ง ขณะนี้อยู่ในช่วงประสานงาน เพื่อให้เกิดผลในทางปฎิบัติต่อไป
หมายเหตุ: การสรุปเนื้อหาข้างต้นของผู้เขียนเป็นการจับประเด็นหลักๆที่หมอพร ตอบในที่ประชุม และได้เสริมเพิ่มเติมเนื้อหาเองบางส่วนที่ผู้เขียนได้รับรู้มาก่อนหน้านั้น เพื่อเพิ่มความเข้าใจให้มากขึ้น ซึ่งก็อาจมีข้อผิดพลาดตกหล่นไปบ้าง จึงถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน

ปัญโญทัย