วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

คู่มือหาโรงเรียนให้ลูก (ฉบับย่อ) กับ 12 โรงเรียนทางเลือก

อ่่านเจอที่นี่ค่ะhttp://www.wiseknow.com/blog/2009/01/01/1584/ น่าสนใจดี เอามาเก็บไว้

แม้ในตลาดการศึกษาจะมีทางเลือกให้กับผู้ปกครองมากมาย หากถึงเวลาต้องส่งลูกเข้าโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนสาธิต โรงเรียนสองภาษา โรงเรียนนานาชาติ หรือจะส่งไปเรียนต่างประเทศ แต่ละแบบ ก็มีจุดเด่นที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย แต่หากพ่อแม่อยากจะหาโรงเรียนดีๆ ให้ลูกเรียน สักแห่ง คงไม่ใช่แค่ว่าเพราะโรงเรียนนั้นมี ชื่อเสียง มากกว่านั้นโรงเรียนที่เลือกจะต้องสร้างให้เด็กมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่าง มีความสุขทั้งในวันนี้และอนาคต

โรงเรียนทางเลือกจึงกลายเป็นเป้าหมายใหม่สำหรับผู้ปกครองที่ได้รับความ นิยมต่อเนื่องถึงวันนี้ก็ยังต้องไปจองเรียนกันแบบข้ามปี

ด้วยวิธีการเรียนการสอนของโรงเรียนทางเลือกที่ต่างจากโรงเรียนปกติที่ทำ ให้เด็กเข้าใจเรื่องของความเป็นธรรมชาติ และโรงเรียนก็คือสิ่งแวดล้อมหนึ่งที่อยู่ในวิถีการดำเนินชีวิตที่ทำให้เด็ก รู้จักตนเองและรู้หน้าที่ในการค้นหาความจริงเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ โดยเฉพาะการเรียนรู้ที่จะปรับพื้นฐานจิตใจให้อยู่ได้ภายใต้การเปลี่ยนแปลง ของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเป็นวัฏจักร ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนทางเลือก 12 โรงเรียนที่แม้จะมีบุคลิกแตกต่างกันแต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ “ความเป็นธรรมชาติ”ที่ผู้ปกครองสามารถเลือกได้

4 โรงเรียนทางเลือกคนกรุง

สำหรับคนกรุงเทพฯโรงเรียนทางเลือกกระจุกตัวอยู่ในย่านสุขุมวิทมีแนวคิด ต่างกันไป คลองตันเหนือเป็นที่ตั้งของ โรงเรียนทอสี โดยเริ่มแรกผู้ก่อตั้งได้นำนวัตกรรมจากทั้งในและต่างประเทศเข้ามาใช้อย่าง หลากหลาย แต่สุดท้ายก็ค้นพบว่า หลักไตรสิกขาของพระพุทธศาสนาเป็นทางที่การศึกษาไทยต้องเดิน จึงนำการศึกษาวิถีพุทธมาเป็นหลักในการสอนและมีกิจกรรมร่วมกันระหว่าง โรงเรียน นักเรียนและผู้ปกครองอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับโรงเรียนสยามสามไตร ย่านพระโขนงที่ใช้วิถีพุทธมาเป็นหลักในการเรียนการสอน โดยให้เด็กรู้จักใช้ปัญญาอย่างไทยและมีมาตรฐานทางวินัย ฝึกให้อดทนพร้อม ปลูกฝังให้มีคุณธรรม

ไม่ไกลกันนักที่ซอยสุขุมวิท 40 โรงเรียนอนุบาลบ้านรัก ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่อบอุ่น มีบรรยากาศเสมือนบ้านและให้ความอิสระกับ “ความเป็นเด็ก” ที่ไม่รีบเร่งให้โตเกินวัยตามแนวทางการศึกษาแบบมนุษยปรัชญา และสามารถเข้าใจธรรมชาติในตัวเอง เข้าใจความเป็นมนุษย์อันจะนำไปสู่ความสุขของเด็กได้

นอกจากนี้คนฝั่งกรุงเทพฯยังมีอีกทางเลือกที่ โรงเรียนสัมมาสิกขาสันติอโศก โรงเรียนที่ชาวบึงกุ่มรู้จักกันเพราะเกิดขึ้นจากศรัทธาของชุมชนที่ให้ เรียนฟรี กินฟรี อยู่ฟรี และต้องไม่มีห้องเรียนหรือมุ่งเน้นวิชาการแต่ฝึกให้เด็กทำงานเป็น เอาตัวรอด และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกกับผู้ที่มีความเก่งในการทำงานเพื่อให้ค้นพบ ตัวเองว่าชอบและสนใจอะไร

เรียนวิชาการบวกวิชาคนที่ฝั่งธนฯ

ย่านชานเมืองมีโรงเรียนทางเลือกตั้งอยู่รวมๆ กันในแถบตลิ่งชันและพระรามที่ 2 โรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) ตั้งอยู่ย่านตลิ่งชัน ที่ทางโรงเรียนเลือกใช้ศิลปะและดนตรีมาพัฒนาเด็ก เพราะสามารถเปิดใจรับรู้ของเด็กได้เป็นอย่างดี กิจกรรมการเรียนการสอนในโรงเรียนจึงมีลักษณะที่บูรณาการทั้งนวัตกรรม สื่อ ศาสตร์ และเทคนิค โดยยึดมั่นเป้าหมายในความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ในขณะที่ โรงเรียนเพลินพัฒนา ในเขตทวีวัฒนาเน้นเรื่องของการเปลี่ยนสภาวะของชีวิต และการเรียนรู้ที่ฝังลึกลงไปในกายและจิตของเด็กบนวิถีชีวิตจริง โดยใช้ “ดนตรี” ช่วยเรื่องความคิดสร้างสรรค์และสังคมให้เกิดการเรียนรู้แลกเปลี่ยนกันและยอม รับซึ่งกันและกัน

ย่านพระรามที่ 2 โรงเรียนรุ่งอรุณ ใช้ความหลากหลายของนักเรียนเป็นโจทย์สำคัญทางการศึกษา ใช้การเรียนแบบ project based learning ที่ครูต้องมีสายตาที่จะจินตนาการเห็นภาพของการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นที่ตัว ผู้เรียนในทั้งด้านพฤติกรรม จิตใจและปัญญา นอกจากนี้ยังได้ใช้ดนตรี ศิลปะ และศิลปะการป้องกันตัวแบบไทยเป็นเครื่องกล่อมเกลาและขัดเกลาจิตใจ ในละแวกไม่ไกลกันนัก โรงเรียนวรรณสว่างจิต มีวิธีสอนให้เด็กเป็นผู้นำทางความคิดและจิตวิญญาณ โดยการจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างมีความสุขและการเรียนรู้ที่จะดำรงตนให้ สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เช่น ฤดูกาล สภาพท้องถิ่น และวัฒนธรรมประเพณี ขณะที่ โรงเรียนดรุณสิกขาลัย ย่านบางมดเน้นให้ผู้เรียน “สร้างองค์ความรู้” ผ่านการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติโดยการทำโครงงานบูรณาการด้วยเทคโนโลยี วิชาการ ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นไทย ตลอดจน คุณธรรม จริยธรรม เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต เด็กจะมีความสุขในการเรียนทุกๆ วัน เพราะได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองชอบผ่านการลงมือปฏิบัติและการทดลองที่สอด คล้องกับวิธีการเรียนรู้ตามธรรมชาติของเด็ก

ออกนอกเมืองเรียนรู้ธรรมชาติมนุษย์

ที่จังหวัดกาญจนบุรี โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก มีรูปแบบของการศึกษาเพื่อค้นหา เป้าหมายให้ชีวิตโดยมีแนวคิดที่ผสมผสานจากปรัชญาการศึกษาของเอ เอส นีล นักการศึกษาชาวสกอตแลนด์กับปรัชญาทางพุทธศาสนาที่อยู่บนพื้นฐานของสังคมไทย และเพราะเด็กที่มาอยู่โรงเรียนนี้ส่วนใหญ่เป็นเด็กด้อยโอกาสจึงต้องแก้ไข ด้วยความรัก ความไว้ใจ และค่อยๆ ให้เด็กพัฒนาตนเองด้วยกิจกรรมเสริมต่างๆ เพื่อให้เด็กได้ค้นพบความสามารถของตนเอง

ใจกลางเมืองนครปฐม โรงเรียนนานาชาติเมธา มีแนวคิดที่จะพัฒนาเด็กให้เป็นผู้นำแบบภาคพลเมือง (civic leader) โดยพัฒนาตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับอุดมศึกษา ให้อิสรภาพทางการเรียนรู้ โดยการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีความสุขและสนุกจากอุปกรณ์ที่มี อยู่ตามธรรมชาติ บูรณาการความรู้เป็นองค์รวมทั้งโรงเรียน บ้าน ชุมชน และสังคมและเข้าใจวัฒนธรรมมิติตะวันตกและตะวันออก และมีการใช้ภาษาอังกฤษ ไทย จีน เป็นสื่อการเรียนการสอน และโรงเรียนสุดท้าย โรงเรียนสัตยาไส จังหวัดลพบุรี ที่จัดการเรียนการสอนด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้บริหาร ครู และนักเรียน เพื่อยกระดับคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ทุกเช้าเด็กจะถูกขัดเกลาจิตใจโดย ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา และสอนให้เด็กเป็นทั้งคนเก่ง ดี มีสุข สู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

ครั้งหนึ่ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี ผู้บุกเบิกแนวคิดการศึกษาทางเลือกมากว่า 30 ปี เคยบอกว่า “การเรียนรู้โดยเอาตำราเป็นตัวตั้ง โดยไม่เอาสถานการณ์ของชีวิตเป็นตัวตั้ง ไม่มีพลังพอที่จะทำให้มนุษย์เข้าใจสถานการณ์ความเป็นจริงที่ซับซ้อนและ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่สามารถเผชิญกับสถานการณ์ความเป็นจริงได้ นำไปสู่วิกฤตการณ์ทั้งในตัวมนุษย์เอง ในสังคมและในสิ่งแวดล้อม อันเป็นวิกฤตการณ์แห่งยุคสมัย”

นี่อาจเป็นทางเลือกของการเรียนรู้ที่ถือว่าเป็นรูปแบบใหม่ซึ่งเป็นทิศทาง น่าสนใจ ว่าสุดท้ายแล้วจุดสูงสุดของการเรียนรู้ก็คือการเรียนรู้แบบเดิมที่อยู่กับ ธรรมชาติให้มากที่สุดหรือไม่

ข้อมูลจาก – หนังสือหลอมรวมการเรียนรู้เพื่อความเป็นไทเล่ม 1เครือข่ายโรงเรียนไทยไท กลุ่มการศึกษาขั้นพื้นฐานแนวใหม่

7 คำถาม ทำไมต้องโรงเรียนทางเลือก

โรงเรียนทางเลือกเป็นการศึกษาแนวใหม่ที่ได้ลุกขึ้นสลัดความเป็นโรงเรียน ในระบบ (de-schooling) และเรียนรู้ใหม่ (re-learning) อย่างมีชีวิตชีวาและตื่นตัวไม่หยุดนิ่ง เปลี่ยนให้นักเรียนที่คุณครูสามารถสั่งซ้ายหันขวาหันเสมือน “หุ่นยนต์กระป๋อง” มาเป็น “มนุษย์” รู้จักคิดและสนุกไปกับการสร้างสรรค์ พร้อมกับคุณครูเพื่อนๆ และนี่เป็นคำตอบว่า ทำไมถึงต้องเลือกเรียนในโรงเรียนทางเลือก

1.แนวการสอนอย่างไรที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ ?

- ต้องสอนให้ผู้เรียนรู้จักตนเองก่อน เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนรู้จักแสวงหาความรู้ต่างๆ ที่มีความหมายต่อตนเองสู่ภายนอกและเชื่อมโยงความรู้เหล่านั้นมาเป็นประโยชน์ ต่อตนเอง เพราะฉะนั้นหากไม่รู้จักตนเองความรู้ที่เรียนไปมากมายก็ไม่มีประโยชน์

2.ไม่มีระบบโรงเรียน มนุษย์ยังเรียนรู้อยู่หรือไม่ ?

- จริงๆ แล้วการเรียนรู้ของมนุษย์เริ่มต้นจากสิ่งที่ตนเองสนใจ ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 แต่โรงเรียนมีความจำกัดในการเปิดการรับรู้ของเด็ก การเรียนรู้จึงสมควรจะเกิดขึ้นในทุกๆ ที่

3.เมื่อไหร่คือเวลาที่เหมะสมกับการเรียนรู้

- ตอนที่ผู้เรียนมีโอกาสในการตัดสินใจว่าสิ่งที่ใดที่เขาสนใจหรืออะไรที่เขา อยากเรียนรู้มากที่สุด เคยไหมที่เห็นเด็ก 2 คนใช้เวลาในการรับรู้เรื่องราวที่ต่างกัน นั่นเพราะผู้เรียนจะเรียนในสิ่งที่ตนไม่ได้รักหรือสนใจได้ไม่ดี

4.เด็กสามารถเรียนรู้ได้อย่างไร ?

- จริงๆ แล้วเด็กทุกคนมีกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากภายใน และพร้อมจะถ่ายทอดออกมาโดยไม่ใช่แค่ต้องรอการถ่ายทอดจากผู้อื่น การให้ความรู้ทางวิชาการที่ไม่สัมพันธ์กับชีวิตจริง เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เด็กในโรงเรียนสูญเสียความเป็นมนุษย์ไปทุกที

5.อะไรคือ “ความรู้” อะไรที่ “มิใช่ความรู้” ดังนั้นควรเรียนอะไร ?

- ที่ผ่านมาการเรียนรู้เป็นการถ่ายทอดตำราจากประสบการ์ของคนอื่น แต่การเรียนรู้ที่แท้จริงนั้นต้องนำตนเองเข้าไปมีประสบการณ์กับเรื่องต่างๆ และสร้างองค์ความรู้และความหมายใหม่ด้วยตนเอง ซึ่งการเรียนรู้แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับการตีความ

6.เมื่อความรู้ที่มีอยู่ในโลกและวิธีการแก้ปัญหาล้วนเชื่อมโยงถึงกันหมด แต่ทำไมการเรียนการสอนจึงแบ่งแยกออกเป็นวิชาตายตัว ?

- นั่นเพราะการสอนส่วนใหญ่เอาวิชาเป็นตัวตั้งซึ่งขาดความเชื่อมโยงกับชีวิต เพราะเป็นการศึกษาอยู่บนพื้นฐานของความคิดหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ แบ่งคนตามความชำนาญเฉพาะด้าน การเรียนแบบนี้จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาของโลกที่เชื่อมโยงถึงกันหมดได้

7.ใครควรเป็นผู้ประเมินผลการเรียนรู้ ?

- การวัดผลด้วยระบบการสอบนั้น เป็นเพียงการตอบคำถามว่า ผู้เรียนได้เรียนรู้ในสิ่งที่ครูต้องการหรือไม่ แต่ในการดำเนินชีวิตการประเมินผลเกิดขึ้นในทุกขณะและเป็นเรื่องจำเป็นต่อการ เรียนรู้และเติบโต เพราะฉะนั้นผู้ที่จะเติบโตได้ต้องรู้จักประเมินได้ด้วยตนเอง

ไม่มีความคิดเห็น: