วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

1 วันของเด็กในดรณสิกขาลัย


http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=34692

บ้าน 'น้องดา' เด็กหญิงศุภธิดา เจียมสวัสดิ์ นักเรียนชั้นบ้านล่างของโรงเรียนดรุณสิกขาลัยอยู่ย่านบางแค เธอเดินทางถึงโรงเรียน ซึ่งเป็นอาคารเรียนอยู่ในบริเวณเดียวกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ถนนประชาอุทิศ ในเวลา 7.00 น.

8.00 น. เข้าแถวเคารพธงชาติ และนั่งสมาธิก่อนเข้าห้องเรียนประมาณ 15 นาที เพื่อตั้งสติและรวบรวมสมาธิ

8.30 น. น้องดากับเพื่อนในกลุ่มอีก 3 คนคือ ป๊อปโป้อายุ 10 ขวบ น้องเฟิร์นอายุ 9 ขวบ และน้องอายอายุ 9 ขวบ ต้องเริ่มโปรเจ็กต์ในเรื่องพยาธิ โดยมีครูแวะและครูแจ็คเป็นครูที่ปรึกษา เป็นการเรียนโครงงานวันที่ 4 ของเทอมการศึกษาแรก ปี 2548

น้องดาเรียนที่นี่เป็นปีที่ 2 เธอจบชั้นอนุบาล 3 จากโรงเรียนตรีมิตร ในขณะที่เพื่อนในกลุ่มของเธอมาเรียนที่นี่เป็นปีแรก ป๊อปโป้มาจากชั้น ป.4 โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา น้องอายมาจากชั้น ป.3 โรงเรียนสารสาสน์วิทยาศึกษา ส่วนน้องเฟิร์นมาจากชั้น ป.3 โรงเรียนสารสาสน์วิทยาศึกษา เช่นเดียวกัน

"ก่อนปิดเทอมครูแวะให้การบ้านว่า โปรเจ็กต์หน้าที่เราจะเรียนเรื่องพยาธินั้น ให้ไปแพลนมาว่าวันไหนเราจะเรียนเรื่องอะไรกันบ้าง แล้วหนูก็ต้องไปเตรียมหาข้อมูลมา พอเริ่มเปิดโปรเจ็กต์หนูต้องเรียนเรื่องพยาธิว่ามีกี่ชนิด ส่วนวันนี้เราแพลนไว้ว่าจะเรียนรู้เรื่อง microscope"

น้องดาหันมาตอบคำถาม หลังจากขะมักเขม้นส่องกล้องจุลทรรศน์ดูพยาธิแบบต่างๆ ดูแล้วก็ต้องวาดภาพ จดบันทึกลักษณะที่เห็นในกระดาษ การพูดภาษาไทยปนภาษาอังกฤษ เป็นเรื่องปกติสำหรับเด็กทุกคนที่นี่

วันนี้เด็กๆ ทั้ง 4 คน เรียนรู้วิธีการใช้กล้องจุลทรรศน์ รู้จักในเรื่องของการใช้กำลังขยาย โดยมีครู 2 คนช่วยชี้แนะ เพราะสัปดาห์ต่อไปต้องไปเรียนรู้นอกสถานที่ที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งที่นั่นมีการเตรียมแล็บไว้ให้ หากใช้เครื่องมือเป็นแล้ว การใช้ห้องแล็บจะได้ประโยชน์เต็มที่ขึ้น

การไปเรียนรู้เพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์จริง คือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งของระบบนี้

10.45 น. น้องดาวิ่งลงมาข้างล่าง เธอบอกเสียงใสว่าชั่วโมงต่อไปเป็นช่วงสรุปความรู้จากที่ได้เรียนมาทั้ง สัปดาห์ เป็น mind map เด็กๆ ทั้ง 4 คนวิ่งเข้าหาคอมพิวเตอร์ เพื่อบันทึกความรู้ที่ได้เป็น mind map ลงในคอมพิวเตอร์

ทั้ง 4 คนใช้โปรแกรมต่างๆ ในคอมพิวเตอร์ได้คล่องแคล่วพอสมควร รวมทั้งสามารถพิมพ์งานได้ดี แม้ไม่เร็วนัก

11.30 น. ได้เวลารับประทานอาหารกลางวันแล้ว แต่น้องดากับเพื่อนบางคน ยังทำ mind map ไม่เสร็จ ครูแวะย้ำว่า น้องดาต้องหาเวลาว่างมาสรุปให้เสร็จ เพื่อจะได้มีงานไป show & share ในวันรุ่งขึ้น

"เด็กๆ ต้องรู้จักบริหารเวลาให้เป็น ไม่เช่นนั้นแล้วงานเขาเสร็จแค่ไหนก็แค่นั้น การนำงานไปเสนอวันรุ่งขึ้นก็อาจจะถูกวิจารณ์ว่าไม่ดีนัก" ครูแวะอธิบาย

12.30 น. ในห้องเรียนคณิตศาสตร์น้องดาแยกจากกลุ่มเดิมที่เรียนโครงงานเมื่อเช้า ไปเข้าเรียนกับเพื่อนกลุ่มใหม่ประมาณ 6 คน ในชั่วโมงนี้มีครู 2 คน นักเรียนทำแบบฝึกหัดด้วยกัน แต่หนังสือเรียนของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความสามารถของเด็กแต่ละคนว่าควรจะเรียนเล่มที่มีเนื้อหายากง่าย แค่ไหน

13.30 น. ชั่วโมงนี้น้องดาไม่มีเรียน มานั่งเขียนหนังสืออยู่คนเดียวที่มุมหนึ่งของห้องที่เรียนโครงงาน เธอบอกว่า

"ชั่วโมงนี้หนูว่างแต่ต้องมาเขียน joural เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่หนูได้เรียนมา แล้วหนูจะเขียนว่าวันนี้ได้แกล้งครูแวะด้วย" เธอเล่าแล้วหันไปหัวเราะอย่างร่าเริงกับครูแวะ ที่นั่งอยู่ข้างๆ การเขียนบันทึกเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยให้ใช้ภาษาไทยได้ดีขึ้น ที่สำคัญครูประจำโครงงานทุกคนจะเป็นคนที่ช่วยดูการเขียนบันทึกของเด็กๆ และสอนภาษาไทยด้วย

14.00 น. น้องดาได้เบรกครึ่งชั่วโมง ก่อนที่จะเปลี่ยนชุดไปเรียนแบดมินตัน ซึ่งเป็นวิชาสุดท้ายของวันนี้

2 ความคิดเห็น:

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=34691

อันนี้เป็นอีกเรื่องที่เขียนรายละเอียดเรื่องประวัติและแนวการสอนของดรุณสิกขาลัยได้ดี

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

เงินสนับสนุนการศึกษา ปี 2553
ระดับอนุบาล 3
126,500 บาท / ปี

ระดับประถมศึกษา 306,100 บาท / ปี
ระดับมัธยมศึกษา 336,700 บาท/ปี