วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ภาษาอังกฤษ เริ่มเรียนไว มีชัียไปกว่าครึ่ง

 ภาพจากอินเตอร์เนต

อยากให้ลูกพูดภาษาอังกฤษเก่งๆ แต่ไม่รู้จะเริ่มให้เรียนอายุเท่าใดดี?”
“ตอนนี้ลูกเรียนอนุบาล เขาชอบพูดภาษาอังกฤษมาก จะส่งให้เรียนโรงเรียนนานาชาติเลยดีไหม?”
หรือกระทั่ง
“ครูอนุบาลพูดภาษาอังกฤษเพี้ยน ไม่อยากให้เขาติดสำเนียง จะให้เริ่มเรียนตอนอยู่ชั้นประถมจะทันไหม?”


  ปัญหา เหล่านี้ไม่เพียงรบกวนจิตใจพ่อแม่ผู้ปรารถนาจะเห็นเจ้าตัวน้อยสื่อสารภาษา อังกฤษคล่องดั่งเจ้าของภาษาเท่านั้น หากทว่ายังมีนัยสำคัญเชิงนโยบายในการวางหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษใน ฐานะภาษาที่สองของนานาประเทศ รวมถึงเมืองไทยที่นับวันภาษาอังกฤษจะทวีความสำคัญมากขึ้นในชีวิตประจำวัน ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กๆ วัยไม่กี่ขวบ

  ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของ ‘‘การเริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง’’ ทางบริติช เคานซิล ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการจึงจัดประชุมเชิงนโยบายเพื่อร่างยุทธศาสตร์การ ศึกษาภาษาอังกฤษของไทยให้ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงทิศทางการเรียนการสอนภาษา อังกฤษในนานาประเทศ โดยรศ.ศรีภูมิ อัครมาศ ผู้เชี่ยวชาญการผลิตสื่อและฝึกอบรมบุคลากรด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ได้ไขข้อข้องใจของผู้ปกครองและคุณครูจำนวนไม่น้อยว่า ช่วงวัยเหมาะสมจะเริ่มเรียนภาษาอังกฤษควรอยู่ระหว่าง 2-11 ขวบ เนื่องจากการวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับพัฒนาการทางสมองพบว่าสมองของเด็กๆ วัยนี้จะรับข้อมูลที่ใส่เข้าไปได้ไวมากที่สุด

  ก่อน วัยเข้าเรียนอนุบาล ทักษะความสามารถทางภาษาแม่ในเด็กแต่ละคนจะต่างกัน อันเนื่องมาจากสมองของพวกเขาจะได้รับการกระตุ้นจากการรับข้อมูลและปฏิ สัมพันธ์ภายในครอบครัว เช่น การพูดคุยหรือเล่านิทานของพ่อแม่ ครั้นถึงวัยเข้าโรงเรียน พัฒนาการทางการเรียนภาษาแม่ของเด็กๆ เหล่านี้จะแตกต่างกันตามไปด้วย

  “ทักษะการสื่อสารในภาษาแม่จะเป็นปัจจัยอันสำคัญยิ่งในการสนับสนุนกระบวนการ เรียนรู้ภาษาอื่นๆ ตามมา จากเดิมที่เราเชื่อกันมานานว่าการเรียนสองภาษาในเวลาเดียวกันจะทำลาย พัฒนาการของเด็ก แต่การวิจัยล่าสุดกลับแสดงให้เห็นว่าการเรียนสองภาษาพร้อมกันเป็นประโยชน์ อย่างยิ่งต่อพวกเขา” รศ.ศรีภูมิ เผย พลางอธิบายว่าเด็กที่เรียนสองภาษาจะมีทักษะความสามารถในการสร้างแนวคิด การให้เหตุผลเชิงเปรียบเทียบ การจินตนาการออกมาเป็นภาพ และความคิดสร้างสรรค์

  “การ เรียนภาษาของเด็กจึงต้องให้ความสำคัญกับภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาแม่ควบคู่กับ ภาษาอังกฤษ ยิ่งเรียนในช่วงวัยน้อยๆ ยิ่งได้ผลดีกว่า อย่างไรก็ตาม ช่วงอายุเริ่มเรียนภาษาอังกฤษไม่สำคัญเท่ากับการได้เริ่มต้นเรียนภาษาอังกฤษ อย่างถูกต้องเหมาะสม เพราะแม้ว่าจะเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่วัยอนุบาลไม่กี่ขวบ หากครูไร้ความรู้ สอนไม่สนุก ทำให้เด็กเบื่อ ก็ได้ผลน้อยกว่าเด็กที่เรียนภาษาอังกฤษตอนโต แล้วแต่ได้ครูมีความสามารถ สอนสนุก เด็กมีแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ ก็จะเก่งได้ในที่สุด”

  กระนั้น มาตรฐานครูภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็น Native หรือ Non Native Speaker ในรั้วโรงเรียนยังเป็นคำถามค้างคาใจผู้ปกครองจำนวนมาก ยิ่งผนวกรวมความอ่อนด้อยของการปฏิรูปการศึกษาแบบเด็กเป็นศูนย์กลาง ยิ่งฉายชัดศักยภาพการเรียนภาษาอังกฤษของเด็กๆ ว่าต้องได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วน ดังที่ รศ.ศรีภูมิเน้นว่า แม้ปัจจุบันแนวทางการเรียนการสอนภาษาอังกฤษจะมุ่งทักษะการสื่อสารเป็นสำคัญ หากทว่าจำนวนเด็กที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารได้ในชีวิตประจำวัน จริงๆ กลับยังน้อยมาก

  อันเนื่องด้วยอุปสรรคด้านศักยภาพและแนวทางการจัดการเรียนการสอนของครูภาษา อังกฤษที่ยังอ่อนด้อยและไม่ถูกต้อง ครูหลายคนกางหนังสือสอน ซ้ำร้ายยังสอนเฉพาะในส่วนที่ตัวเองรู้เรื่อง ขณะที่ส่วนที่ไม่รู้เรื่องก็ไม่ยอมสอน ทั้งๆ ที่เด็กจำเป็นต้องเรียนรู้ สอดคล้องกับสถิติที่พบว่ากว่าร้อยละ 80 ของครูภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษาไม่ได้จบเอกภาษาอังกฤษ และร้อยละ 51.91 ยอมรับว่าตัวเองมีความรู้ภาษาอังกฤษแค่ระดับเริ่มต้นเท่านั้น ยิ่งกว่านั้นเทคนิคการสอนที่พวกเขาใช้มักจะไม่จุดประกายให้เด็กๆ หันมาสนใจเรียนภาษาอังกฤษ

  “วิธีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษสำหรับเด็กในฐานะภาษาที่สองไม่ควรต่างจากภาษา ไทยมากนัก และต้องไม่เหมือนผู้ใหญ่ ต้องสนุก เน้นกิจกรรม สร้างแรงจูงใจให้เขารักที่จะเรียนรู้ เพราะถ้าเขามีทักษะด้านภาษาอังกฤษที่ดีตั้งแต่เด็ก ผล GPA หรือ GAT ในอนาคตก็จะสูงต่างจากเด็กทั่วไปในปัจจุบัน”

  ด้วย ปีการศึกษา 2547 พบว่าคะแนนเฉลี่ยวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนทุกระดับชั้นเมื่อเทียบกับวิชา อื่นๆ ‘‘ต่ำที่สุด’’ โดยนักเรียนชั้นประถมศึกษา 6 ได้ร้อยละ 37.34 ขณะที่นักเรียนมัธยมศึกษา 3 และ 6 ได้คะแนนร้อยละ 32.38 และ 32.45 ตามลำดับ รวมทั้งการประเมินล่าสุดยังพบว่านักเรียนเพียง 10.43% เท่านั้นที่มีทักษะการคิดวิเคราะห์ ครู 32.54% ใช้แนวทางการเรียนการสอนแบบเด็กเป็นศูนย์กลาง เฉกเช่นเดียวกับผู้บริหารแค่ 37.72% เท่านั้นที่ใช้แนวทางเดียวกันนี้บริหารโรงเรียน

  อย่างไรก็ตาม การเปิดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษสำหรับเด็กที่ขยายตัวมากขึ้นในโรงเรียนทั่ว ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น EP ที่จะสอนภาษาอังกฤษไม่น้อยกว่า 15 ชั่วโมง/สัปดาห์ หรือ Mini EP ที่สอนภาษาอังกฤษระหว่าง 8-14ชั่วโมง/สัปดาห์ อาจคลี่คลายความกังวลใจของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ไม่อยากส่งลูกหลานไปเรียนภาษา อังกฤษตามสถาบันภาษาต่างๆ ที่ผุดราวกับดอกเห็ดหน้าฝนในขณะนี้ เพราะยิ่งหากเขาเด็กมากด้วยแล้ว ยิ่งน่าเป็นห่วงว่านอกจากเขาจะเรียนรู้ภาษาอังกฤษผิดเพี้ยนจากครูในสถาบัน ภาษาที่ไม่ได้คุณภาพแล้ว ยังอาจจะซึมซับวัฒนธรรมไม่ดี จนเพิกเฉยคุณค่าความเป็นไทยที่งดงามลงไปในท้ายที่สุด

  "การเรียนการสอนภาษาอังกฤษจึงต้องสอดแทรกความเป็นไทยลงไปในลักษณะการ บูรณาการเนื้อหาเข้ากับภาษา เด็กจะสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันได้จริงโดยไม่หลงลืมขนบ ธรรมเนียมวัฒนธรรมดีงามของไทย” รศ.ศรีภูมิย้ำ พลางมองทิ้งท้ายว่าความคาดหวังที่จะเห็นเด็กนักเรียนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียม กันในการเรียนภาษาอังกฤษ และไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 มีทักษะความสามารถในการใช้ภาษานี้ อย่างน้อยรัฐบาลต้องเพิ่มจำนวนโรงเรียนต้นแบบและโรงเรียนสองภาษา จัดหาตำราเรียนและระบบ E-Learning พร้อมกับมอบทุนการศึกษาภาษาอังกฤษแก่นักเรียนอย่างต่อเนื่อง

  ‘‘เริ่มต้นเรียนภาษาอังกฤษไว ประสบความสำเร็จไปกว่าครึ่ง’’ จึงเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินเลย ด้วยก้าวที่มั่นคงบนถนนสายภาษาอังกฤษ ยามผสานความเป็นไทยในหัวใจที่เอื้ออาทรต่อผู้อื่น ท้ายสุดย่อมนำชัยชนะทางการเรียน และการเจรจาต่อรองทางธุรกิจที่สัมฤทธิผลมาให้ไม่ยาก

myfirstbrain.com

ไม่มีความคิดเห็น: