วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แนวโน้มทั่วโลกไปทิศโรงเรียน 2 และ 3 ภาษา



ภาพจากอินเตอร์เนต


ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
---------

แนวโน้มทั่วโลกไปทิศโรงเรียน 2 และ 3 ภาษา

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา การศึกษาไทยมุ่งมั่นพัฒนาภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาอังกฤษให้เด็กไทย เพื่อเป็นทักษะสำคัญในการก้าวความเป็นสากล แต่ดูเหมือนว่าไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ดังจะเห็นได้ว่า เด็กไทยเรียนภาษาอังกฤษนับสิบปี กลับไม่สามารถพูด อ่าน เขียนภาษาอังกฤษได้ดีเท่าที่ควร ยิ่งปัจจุบันประเทศไทยต้องติดต่อสื่อสารกับหลายประเทศ ซึ่งการใช้ภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ เด็กไทยจำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาต่างประเทศอีกหลายภาษา อาทิ ภาษาจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน รัสเซีย ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการติดต่อด้านธุรกิจ การท่องเที่ยว การศึกษา และการสร้างความสัมพันธ์อันดีด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ

กรุงเทพฯ เป็นเหมือนประตูบานแรกของประเทศไทย ที่เปิดต้อนรับชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจ เข้ามาท่องเที่ยว และเข้ามาเพื่อศึกษาหาความรู้ ดังนั้น การเตรียมคนกรุงเทพฯ ให้มีความรู้ภาษาต่างประเทศจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น ซึ่งต้องเริ่มที่นักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพฯ โดยพัฒนาเป็นโรงเรียน 2 ภาษา หรือ 3 ภาษา ยกระดับคุณภาพเด็กกรุงเทพฯ ให้มีทักษะการพูด อ่าน และเขียนภาษาต่างประเทศ ไม่เฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น เพื่อเป็นสื่อกลางการติดต่อสื่อสาร การเรียนรู้ และการประกอบอาชีพ

หลายประเทศได้เล็งเห็นความสำคัญและมีโครงการพัฒนาโรงเรียน 2 ภาษา และ 3 ภาษามานานแล้ว ซึ่งเป็นการดีที่กรุงเทพฯ จะเรียนรู้และนำมาปรับใช้ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพฯ จึงขอยกตัวอย่างประเทศในแถบยุโรป ที่หลายประเทศประสบความสำเร็จในการพัฒนาโรงเรียนให้เป็นโรงเรียน 2 และ 3 ภาษา

ประเทศเยอรมัน: 2 ภาษา ภาษาเยอรมันและอังกฤษ


เยอรมัน ปกครองระบบสหพันธรัฐ ประกอบไปด้วย 16 รัฐ แต่ละมลรัฐมีระบบการศึกษาเป็นของตัวเอง โดยปกติ การวางพื้นฐานภาษาต่างประเทศในเยอรมันเริ่มต้นที่เกรด 5 และ 6 (อายุ 10 และ 11 ปี) ผู้เรียนเกรด 5 ต้องเรียนภาษาอังกฤษ 5 บทหลัก ๆ และเพิ่มเติมพิเศษอีก 1 บทเรียน แต่ในเกรด 6 จะลดลงเหลือเพียง 4 บทเรียน โดยการเรียน 2 ภาษาเต็มรูปแบบ (Mainstream Bilingual Education: MBE) จะเริ่มต้นที่เกรด 7 หรือระดับมัธยมศึกษา โดยวิชาที่โรงเรียนต่าง ๆ นำมาสอน 2 ภาษา ได้แก่ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เทคโนโลยี การเมือง ชีววิทยา ศิลปะ หรือกีฬา โดยครูที่สอน MBE ต้องมีความรู้ความสามารถทั้ง 2 ภาษา พร้อมกับมีความเชี่ยวชาญในวิชาที่สอน

ตัวอย่างโรงเรียน 2 ภาษาในเยอรมัน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีคือ โรงเรียนมัธยม Karolina-Burger-Realschule เมืองลุดวิกส์ฮาเฟ่น (Ludwigshafen)


การเรียน 2 ภาษาในโรงเรียนแห่งนี้ เริ่มต้นตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น ในวิชาภูมิศาสตร์และสังคมศึกษา โดยสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด สาเหตุที่เลือกวิชาภูมิศาสตร์ เพราะเนื้อหาและคำศัพท์ มีความเหมาะสมและเป็นรูปธรรมเพียงพอสำหรับการเรียนรู้ และเหตุที่เลือกวิชาสังคมศึกษา เพราะเนื้อหาและคำศัพท์ก่อให้เกิดความชำนาญในการใช้ภาษาและทักษะการสื่อสาร ซึ่งผู้เรียนที่ได้รับเลือกให้เข้าเรียน 2 ภาษาได้นั้น ต้องมีทักษะการสนทนาภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐานในระดับดี มีผลการเรียนวิชาภาษาอังกฤษในระดับที่ดี และผลการเรียนวิชาภูมิศาสตร์และสังคมศึกษาต้องไม่น้อยกว่า 3

ในเกรด 7 เรียนวิชาภูมิศาสตร์ 2 บทเรียนต่อสัปดาห์ โดยจะสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ในครึ่งปีแรกของเกรด 8 ตารางการเรียนยังเป็นเหมือนเกรด 7 และจะแทนที่ด้วยวิชาสังคมศึกษาในครึ่งปีหลัง ซึ่งสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดเช่นกัน โดยสอน 2 บทเรียนต่อสัปดาห์ ในเกรด 9 ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนวิชาใดวิชาหนึ่งระหว่างวิชาภูมิศาสตร์และสังคม ศึกษา หรือเลือกเรียนทั้ง 2 วิชาก็ได้ โดยเรียน 4 บทเรียนต่อสัปดาห์ ผู้เรียนที่ใกล้จบระดับชั้นมัธยมศึกษา หรือเข้าสู่มัธยมปลาย ผู้เรียนจะเรียนเพียง 1 บทเรียนต่อสัปดาห์ เช่น การสอน 2 ภาษาในครึ่งปีแรกของเกรด 10 เรียนวิชาภูมิศาสตร์ 1 บทเรียน และวิชาสังคมศึกษา 2 บทเรียนต่อสัปดาห์ และในครึ่งปีหลังจะเรียนวิชาโคลง ฉัน กาพย์ กลอน เป็นต้น

ประเทศลักเซมเบิร์ก: 3 ภาษา ภาษาลักเซมเบิร์ก ฝรั่งเศส และเยอรมัน

ลัก เซมเบิร์ก (Luxembourg) มีพรมแดนติดประเทศฝรั่งเศสและเยอรมัน ภาษาราชการมี 3 ภาษาคือ ภาษาลักเซมเบิร์ก ฝรั่งเศส และเยอรมัน ซึ่งออกกฎหมายตั้งแต่ ค.ศ.1984 สาเหตุที่นโยบายการสอน 3 ภาษาในลักเซมเบิร์กประสบความสำเร็จได้ เนื่องจากผู้เรียนอยู่ในบริบทการพูด 3 ภาษา ทั้งที่โรงเรียนและบ้าน

การเรียนการสอน 3 ภาษา ในระดับอนุบาลจะสอนเป็นภาษาลักเซมเบิร์กเท่านั้น แต่เมื่อเข้าสู่ระดับประถมศึกษา ผู้เรียนเกรด 1 จะเริ่มเรียนเป็นภาษาเยอรมันพร้อมกับภาษาลักเซมเบิร์ก ส่วนภาษาฝรั่งเศสจะเริ่มเรียนในเกรด 3 ไปจนถึงเกรด 6 ในระดับมัธยมศึกษา ทั้งประเภทสามัญและอาชีวศึกษา ใน 3 ปีแรก (อายุ 12-15 ปี) หรือมัธยมต้นจะเรียนเป็นภาษาเยอรมันทั้งหมด และเรียนเป็นภาษาฝรั่งเศสเมื่อเข้าสู่ปีที่ 4 เป็นต้นไป (อายุ 15-19 ปี) หรือมัธยมปลาย แต่บางโรงเรียนยังสอนเป็นภาษาเยอรมัน สำหรับผู้เรียนต่างชาติที่ย้ายถิ่นเข้ามาเรียนในลักเซมเบิร์ก กระทรวงศึกษาธิการของลักเซมเบิร์ก ให้โรงเรียนจัดห้องเรียนพิเศษขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อสอนภาษาเยอรมันและฝรั่งเศส หลังจากนั้น 1 ปี จึงเรียนในหลักสูตรปกติ

เยอรมันเป็นตัวอย่างการสอน 2 ภาษา ที่เลือกบางวิชามาสอนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งประเมินแล้วว่าวิชาภูมิศาสตร์และสังคมศึกษาสามารถพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น ยังเข้มงวดกับการคัดเลือกผู้เรียนที่สามารถเรียนหลักสูตร 2 ภาษาได้จริง ๆ ส่วนลักเซมเบิร์ก เป็นตัวอย่างการสอน 3 ภาษาที่ประสบความสำเร็จได้ โดยที่ผู้เรียนอยู่ภายใต้บริบทการพูดภาษาฝรั่งเศสและเยอรมันจริง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม การสอน 2 ภาษา หรือ 3 ภาษาอาจประสบปัญหาการขาดแคลนครูผู้สอน อย่างในเยอรมัน ครูสอน 2 ภาษาขาดแคลน เนื่องจากรัฐต่าง ๆ ยังขาดหลักสูตรฝึกอบรมครูสอน 2 ภาษา

การสอน 2 ภาษา และ 3 ภาษาในประเทศไทย

ประเด็น แนวคิดเรื่องโรงเรียน 2 และ 3 ภาษา ผมได้นำเสนอในเวทีวิชาการมาตั้งแต่ช่วง พ.ศ.2539 ก่อนการปฏิรูปการศึกษาว่า ควรให้โรงเรียนในไทยเป็นโรงเรียน 2 ภาษา และค่อย ๆ ปรับให้เป็นโรงเรียนสองภาษาจนครบทุกแห่ง แต่เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อโลกเชื่อมโยงกันด้วยเทคโนโลยีที่สะดวก รวดเร็วและต้นทุนการเชื่อมต่อกันไม่สูงนัก จำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีโรงเรียนสามภาษา เน้นภาษาหลักเพิ่มอีก 1 ภาษาโดยเฉพาะภาษาจีน อันเป็นการเพิ่มศักยภาพความสามารถของบุคคลและการแข่งขันในระดับประเทศ

ต่อ มาช่วงปฏิรูปการศึกษาในปี พ.ศ.2540 กระทรวงศึกษาธิการเริ่มเล็งเห็นความจำเป็นในการจัดตั้งโรงเรียนสองภาษา ดังที่ผมเคยเสนอไว้แล้ว โดยเริ่มมีนโยบายส่งเสริมการเรียนหลักสูตร 2 ภาษา คือ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ยกเว้นภาษาไทยและสังคมศึกษาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไทย กฎหมาย ประเพณีและวัฒนธรรมไทย

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการเรียน 2 ภาษาในประเทศไทย ยังประสบปัญหา โดยเฉพาะปัญหาขาดแคลนครูที่เชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศและวิชาที่สอน อาทิ ครูต่างชาติบางคนไม่มีวุฒิทางการศึกษา หรือแม้มีวุฒิหรือความรู้วิชาการด้านที่ต้องการ แต่ไม่จบด้านการสอน ทำให้ไม่มีคุณภาพในการถ่ายทอดความรู้และทักษะในการสื่อความหมาย ครูต่างชาติจึงสอนเนื้อหาง่าย ๆ ให้เกรดเด็กในระดับดี และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนไม่เป็นไปตามความคาดหวังของผู้ปกครอง ทั้งยังมีปัญหาการขาดความต่อเนื่องในการสอน เนื่องจากครูต่างชาติมักเป็นนักท่องเที่ยวหรือนักศึกษาเพิ่งจบ ต้องการหาประสบการณ์ชีวิต นอกจากนี้ การสอน 2 ภาษายังมีปัญหาการคัดเลือกผู้เรียน ที่ไม่คำนึงถึงพื้นฐานและความพร้อม แม้โรงเรียนสองภาษาจะกำหนดเกณฑ์การคัดเลือก แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้เข้มงวดมากนัก

ดังนั้น ปัจจัยที่จะทำให้การพัฒนาโรงเรียน 2 และ 3 ภาษา ประสบความสำเร็จได้นั้น คือ ปัจจัยด้านครูที่มีคุณภาพ โดยจำเป็นต้องจัดหาครูที่เชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศ ปัจจัยเตรียมความพร้อมผู้เรียน โดยมีระบบวางพื้นฐานภาษาต่างประเทศให้เด็ก เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเรียนหลักสูตร 2 ภาษา หรือ 3 ภาษา และปัจจัยด้านการคัดเลือกผู้เรียนที่สามารถเรียนหลักสูตร 2 ภาษาได้จริง ๆ เพื่อป้องกันปัญหาออกกลางคัน

การพัฒนาโรงเรียน 2 และ 3 ภาษานั้น ผมว่า โรงเรียนในกรุงเทพฯ ค่อนข้างมีศักยภาพความพร้อมกว่าโรงเรียนในพื้นที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาหลักสูตร การหาครูต่างชาติที่มีคุณภาพ การเตรียมและพัฒนาความพร้อมของผู้เรียน ฯลฯ ผมเสนอให้โรงเรียน กทม. พัฒนาเป็นโรงเรียน 2 ภาษาทุกโรง เพื่อเป็นตัวแบบสู่โรงเรียนอื่นทั่วประเทศ และค่อยพัฒนาสู่ขยายเป็นโรงเรียน 3 ภาษา เพื่อเตรียมพร้อมรับกับสภาพโลกาภิวัตน์ และเตรียมพร้อมการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะอย่างไรไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงโลกาภิวัตน์ได้ ต้องติดต่อสื่อสารและทำงานกับคนทั่วโลกที่ใช้ภาษาสากล ประเด็นโรงเรียนสองภาษานี้ ผมนำเสนอไว้ 12 ปีที่แล้ว และเมื่อ พ.ศ.2548 ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้นำนโยบายนี้ไปใช้พัฒนาโรงเรียนสังกัดกรุงเทพฯ นำร่องสอน 2 ภาษา ในหลักสูตรภาษาอังกฤษ และหลักสูตรภาษาจีนในบางโรงเรียนบางแห่ง แต่ไม่เพียงพอ ผมเสนอว่าต้องให้โรงเรียน กทม. ทุกแห่งเป็นโรงเรียนสองภาษาที่มีคุณภาพ ซึ่งต้องเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้ในการพัฒนาเป็นโรงเรียนสองภาษาที่ได้มาตรฐาน

ไม่มีความคิดเห็น: