วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การเลือกโรงเรียนของลูกตามแบบMNSHANG (๑)






ภาพจากอินเตอร์เนต

ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ปวดหัวอีกครั้ง ที่จะต้องมาทบทวนเรื่องการเรียนของลูกทั้งสองคน เพราะใกล้ครบวาระที่จะกลับบ้าน การโยกย้ายเด็กสองคนที่ใช้ชีวิตค่อนชีวิตของเขาที่ผ่านมาที่ต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่แตกต่าง แม้ว้า เมืองไทยจะเป็นบ้านเมืองของเราเอง แต่วัยของเด็กที่โตขึ้น ทำให้เด็กๆ ก็เริ่มยึดมั่นถือมั่น และเคยชินกับสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา ตอนที่ลูกยังเล็กกว่า สองขวบนั้นง่ายค่ะ ยิ่งเล็กยิ่งง่าย เพราะในช่วงเวลานั้นเด็กยังไม่คุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมในโลกนี้มากนัก สิ่่งที่สำคัญที่สุดในตอนนั้น คือพ่อและแม่เท่านั้น ดิฉันจำได้ว่า ตอนที่ย้ายมาเวียดนามใหม่ๆ น้องแชงอายุเล็กกว่าน้องเชียร์ตอนนี้ คือแค่สองขวบ เขายัง Home Sick กินไม่ได้นอนไม่หลับหลายเดือน จนตอนนี้มีผลกับพฤติกรรมการกินอาหารของน้องแชง คือ ทานน้อย ทานยาก ทั้งๆที่ตอนที่อยู่เมืองไทยตอนนั้น ลูกทานได้ทุกอย่าง และทานเก่งมาก หวังว่าการโยกย้ายเที่ยวนี้ ลูกๆสองคนคงไม่มีปัญหาใดมากนัก

เท่าที่ติดตามเรื่องปัญหาการศึกษาของไทย และติดตามการสนทนาปรับทุกข์ของเพื่อนๆพ่อแม่หลายๆท่านในเมืองไทยทางหน้าเวบบอร์ด ทำให้ดิฉันต้องคิดหนักๆเรื่องการศึกษาของลูกที่เมืองไทย สิ่งที่เป็นข้อจำกัดของดิฉัน คือ เรื่องปัญหาด้านภาษาของลูก และเรื่องการเดินทาง และค่าใช้จ่ายเรื่องการเรียน

หากติดตามดิฉันหลายๆกระทู้ที่ดิฉันแบ่งปันในหน้าเวบบอร์ด ดิฉํนไม่มีความสนใจที่จะให้ลูกเรียนในแนววิชาการของไทย เนื่องจาก เป็นการเรียนที่ใช้เวลามากเกินไป เด็กๆต้องทุ่มเทเวลาเกือบทั้งหมดให้กับการท่องจำ การทำการบ้าน การติวกวดวิชา และความกดดันจากการสอบ O-net และ พวก National Test รวมทั้งการสอบแข่งขันประกวดต่างๆมากมาย ยิ่งลูกๆเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมากๆ ยิ่งต้องเข้าสู่แวดวงการแข่งขันที่ไร้สาระพวกนี้ ตามสิ่งแวดล้อมที่พาไป การสอบพวกนี้ เป็นการสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน เป็นการแข่งขันของแต่ละโรงเรียนที่ต้องสร้างชื่อเสียง อันดับต้นๆ ด้วยผลการการสอบแข่งขันของนักเรียน ผลก็คือ ลูกศิษย์ของโรงเรียนต่างๆ ถูกส่งชื่อและติวเพื่อเข้าแข่งขันเพื่อสร้างชื่อเสียงของโรงเรียนและของชาติ โดยไม่คำนึงว่า เด็กๆมีเวลามากพอที่จะฝึกฝนทักษะได้รอบด้านหรือไม่ ทักษะชีวิต งานอดิเรก และสิ่งที่เป็นความต้องการที่แท้จริงของตน นอกจากความต้องการที่โรงเรียน และระบบการศึกษาของชาติที่ยัดเยียดให้ แต่เด็กโดยไม่รู้ตัว

แต่ดิฉันเองก็เห็นใจเพื่อนๆพ่อแม่หลายๆท่าน ที่คงเจ็บช้ำน้ำใจไม่แพ้ดิฉัน ในเรื่องระบบการเรียนการสอนแนววิชาการของไืทย ที่ถูกควบคุมโดยคนที่ไม่มีวิสัยทัศน์เรื่องการพัฒนามนุษย์ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นมาเฟียในด้านการศึกษา มีผลประโยชน์ทับซ้อนจากระบบการศึกษาที่พิกลพิการของชาติ เนื่องจาก ปัญหาสังคมหลายๆด้านที่เรื้อรังหมักหมม ทำให้พ่อแม่หลายๆคน จำเป็นต้องผลักดันลูกๆเข้าโรงเรียนดังๆ เนื่องจากเกรงเรื่องสังคมของเพื่อนๆของลูก ในโรงเรียนชั้นนำนั้น กลุ่มเด็กๆที่สอบเข้าได้ เข้าไปเรียนได้ มักจะเป็นเด็กรักเรียน หรือสังคมของเด็กที่มีพ่อแม่ดูแล สนับสนุนผลักดันด้านการศึกษาของลูกอย่างใกล้ชิด ดังนั้น เด็กๆในโรงเรียนมักมาจากครอบครัวที่พ่อแม่มีทัศนคติเกี่ยวกับการดูแลลูกไม่ต่างกัน แต่ในโรงเรียนอื่นๆ ที่ไม่มีชื่อเสียง เด็กๆมาจากครอบครัวหลายๆแบบ ซึ่งเด็กๆอาจจะมีปัญหาด้านพฤติกรรมอันมาจากปัญหาครอบครัว เช่น ครอบครัวที่พ่อแม่ทอดทิ้งไม่ใส่ใจลูก กระทำการรุนแรงต่อลูก หรือหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลาสนใจลูก เด็กๆที่น่าสงสารเหล่านั้น ก็มักจะมีปัญหาพฤติกรรม เช่น เรื่องพูดจาไม่สุภาพ กระทำการรุนแรง หรืออาจจะมีปัญหาเรื่องลักเล็กขโมยน้อย ยาเสพติด ซึ่งทำให้เพื่อนๆที่ห่วงใยสวัสดิภาพ และพฤติกรรมของลูกเป็นกังวล

สรุปแล้ว การโรงเรียนด้านวิชาการนั้น แม้ว่าค่าใช้จ่ายจะค่อนข้างถูก แต่ไม่ใช่ทางเลือกที่ดิฉันสนใจ เพราะดิฉันให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เพื่อน ครอบครัวของเพื่อนๆของลูก แต่ดิฉันก็ไม่อยากให้ลูกทุ่มเทกับการเรียนจนไม่มีเวลาพัฒนาทักษะด้านอื่นๆใ้ห้รอบด้าน และดิฉันก็ไม่ต้องการที่จะกดดันลูกเพื่อสอบเข้าโรงเรียนยอดนิยม อย่างโีรงเรียนสาธิต เพราะเท่าที่ดู ปลายทางของเด็กๆเหล่านี้ ก็ก้าวเข้าสู่เส้นทางการสอบแข่งขันเพื่อสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนอยู่ดี มันเป็นการจ่ายหนี้โรงเรียนดีๆ ราคาถูก ด้วยการทำความเสียหายแก่พรสวรรค์ และอัจฉริยภาพของเด็ก ที่ไม่คุ้มค่าเลย

ไม่มีความคิดเห็น: