วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

เรื่องเล่าจากคุณแม่ปากเปราะ ถึงคุณแม่จอมเฮี๊ยบ (ุึจบ)

แม่เสือสอนลูก - Battle Hymn of  the Tiger Mother


ดิฉันเป็นเหมือน ลูลู ลูกสาวคนเล็กของเอมี่ค่ะ พี่น้องบางคนก็เป็นเหมือนลูกสาวคนโต โซเฟีย ประสบความสำเร็จ สุขสบายแต่เค้าก็ไม่มีความสุขหรอกค่ะ มีเพื่อนหลายคนก็เป็นเหมือนโซเฟีย ประสบความสำเร็จมหาศาล แต่ไม่มีความสุข เพราะเค้าบอกว่า เค้าไม่เคยรู้สึกว่า เค้าได้เลือกเอง ไม่รู้ว่า อะไรที่ทำให้เค้าสนุกที่จะทำ นอกจากทำตามหน้าที่ และกลัวว่า หากพ่อแม่ตาย ไม่อยู่ที่จะสั่งให้เค้าทำโน่นนี่ เค้าจะรู้ไม๊ ว่าเค้าควรทำ หรือไม่ควรทำอะไร 


คนที่เป็นแบบโซเฟีย คือ พี่น้องบางคนของดิฉัน หรือเพื่อนที่เป็นแบบนี้ เค้าอิจฉาดิฉันเหมือนกัน แม้ในแง่การเงิน เค้าจะดีกว่าดิฉันมาก แต่เค้าบอกว่า ดิฉันแข็งแกร่ง และพร้อมที่จะรับมือทุกสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ฆ่าไม่ตาย ในขณะที่พวกเค้ากลัว การเปลี่ยนแปลง กลัวความไม่แน่นอนในอนาคตว่าจะอยู่รอดได้ไม๊ ในวันที่ไม่มีพ่อแม่


แต่มีพี่น้องที่เป็นเหมือนลูลู ไม่ได้รับการเยียวยาแบบดิฉัน ก็อยู่อย่างเหน็ดเหนือย และเคียดแค้นพ่อแม่ เหนื่อยเพราะต้องทำให้ดียิ่งๆขึ้นไป หยุดไม่ได้ กลัวพ่อแม่หัวเราะเยาะเย้ย ดูถูก (แบบคนจีนค่ะ การดูถูก ท้าทาย เชื่อว่าทำให้ลูกฮึดสู้) มันเหนื่อยและเจ็บปวด สำหรับดิฉัน สิบปีมานี่ มีความสุขมากเลยค่ะ มันผ่านไปแล้ว และทิ้งมันไว้ข้างหลัง เข้าใจตัวเอง เข้าใจพ่อแม่ ไม่แบกอดีตมาด้วยอีกแล้ว มันวางได้ค่ะ


อีกเรื่่องนึงที่อยากจะเล่า คือ เรื่องการเรียนดนตรี หรือกีฬา ที่มีจุดประสงค์ เพื่อเจียระไนให้เป็นนักดนตรี หรือ กีฬามืออาชีพ  เท่าที่ได้พูดคุยกับหลายๆท่าน คิดว่า การมีวินัยในการซ้อม การซ้อมอย่างหนัก เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้   ต่อให้เด็กที่เรียนด้านวิชาการ แต่ต้องไปสอบแข่งขัน วัดระดับ สนามสอบต่างๆ ก็คงทำกันแบบนี้   วันๆเด็กต้องซ้อมดนตรี หรือกีฬา หรือฝึกหัดทำโจทย์ต่างๆ วันละ หลายๆชม.  เพื่อสามารถที่จะพัฒนาฝีมือให้เป็นเลิศ หรือ รักษาคุณภาพของการเล่นให้ได้ในระดับสูง

ในหนังสือเล่มนี้  Amy เคี่ยวเข็ญฝึกซ้อมดนตรี ไม่ต่ำกว่าวันละ ๖ ชม. ไม่เว้นแม้แต่วันที่เด็กป่วย หรือ วันหยุด วันเดินทางไปต่างประเทศใดๆ   และหากเธอไม่ว่าง หรือ ในเวลาที่เธอต้องทำงาน เด็กทั้งสองก็จะถูกส่งไปฝึกซ้อมกับครูที่ดีที่สุด เท่าที่หาได้ในเมืองนั้น     ตามธรรมชาติของเด็กเล็กๆนั้น ย่อมต้องการอิสระ ที่จะวิ่งเล่น มีกิจกรรมกับเพื่อนๆในวัยเดียวกัน  และได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆในโรงเรียน   แต่เด็กทั้งสอง ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้เล่นกับเพื่อน แม้แต่ในเวลาพัก หรือ หลังเลิกเรียน  เพราะตารางกิจกรรม การซ้อม ที่แม่จัดไว้จนยาวเหยียด   การฝึกแบบนี้ ทำให้เด็กมีวินัยสูง และมีความรับผิดชอบสูง  ในแง่ที่ว่า แม้ว่าจะไม่อยากทำ ไม่อยากซ้อม แต่ก็ถูกบีบบังคับ จนสามารถเอาชนะ ความอยากไม่อยากไปได้ ทำๆไปตามหน้าที่ เพื่อเป้าหมาย  คือ การหยุดซ้อมได้พักสักที เมื่อฝีมือได้ระดับที่แม่พอใจ


ในตอนท้ายของเรื่อง ลูลู  บุตรสาวคนเล็ก ตัดสินใจที่จะเลิกเอาดีทางด้านไวโอลิน  แม้ว่าจะชื่นชอบและใช้เป็นงานอดิเรกยามว่าง แล้วหันไปเล่นเทนนิส   แต่ เมื่อเธอไปเล่นเทนนิส  เธอก็ได้ใช้วินัยในการฝึกฝน ความมานะ อุตสาหะ ความอึด  ทำให้ ฝีมือการเล่นเทนนิส ก้าวหน้าและสามารถได้รับชัยชนะในหลายทัวนาเม้นต์  สิ่งที่อยากบอกในเรื่องนี้คือ   ในฐานะพ่อแม่นั้น เราไม่จำเป็นจะต้องบีบบังคับลูกด้วยความรุนแรง ในการจะเค้นสิ่งที่ดี หรือ อัจฉริยะภาพของลูกออกมา    สิ่งที่เราควรทำ คือเป็นจุดยืนให้ลูกได้ค้นหาสิ่งที่ตัวเองอยากทำ สนใจใคร่ลองเรียนรู้   และเมื่อใช่สิ่งที่เค้าค้นหา เค้าจะหลงใหลใผ่ฝันกับมัน  Passion หรือจะเรียกว่า ความหลงใหล จะทำให้เขาดื่มด่ำ อยากเรียนรู้ อยากค้นคว้า ให้รู้แจ้ง  มีความทะเยอทะยานไม่รู้จบ ในสิ่งที่เขาอยากทำ  และเวลานั้น พลังแห่งความอึด ความมานะ อดทน ก็จะมาเอง

มีครูหลายคน ชอบบอกพ่อแม่ว่า "เสียดาย หากเด็กฝึกอันนี้แต่เด็ก มันจะดีมาก สมองเด็กจะพร้อมกว่าเรา มือเด็กจะอ่อนกว่าเรา ดัดง่าย"   ทำให้พ่อแม่หลายๆคน พยายามยัดเยียด พาเด็กไปฝึกไปหัด เื่พื่อให้หัดง่าย เป็นเร็ว และได้เปรียบคนอื่น   แต่ในความเป็นจริงแล้ว   การยัดเยียด บังคับ โดยที่เด็กไม่ได้เต็มใจ หรือไม่สนุกไปกับมัน ทำให้เด็กรู้สึกเหมือนสิ่งนั้น เป็นเครื่องพันธนาการ ทำให้ขาดอิสระภาพ ทำลายความสุข   แม้ว่าเขาจะชอบมัน เป็นเลิศกับมัน แต่สุดท้าย เขาก็อาจจะไปเรียนหรือพัฒนาในต่อเนื่อง และเลิกล้มทันที ที่สามารถเลือกได้

อีกเรื่องนึงที่อยากจะเล่า คือ โศกนาฎกรรมของเด็กที่ประสบความสำเร็จในชีวิตตั้งแต่ อายุน้อย  หลายๆคน หรือแม้แต่คนที่โต แล้วนั้น  มีหลายคน ตื่นเต้น ตกใจ ยึดติด ไปกับลาภ ยศ สรรเสริญ  ชื่อเสียง คำชื่นชม หรือรางวัล    หากไม่ได้มีการสอนให้เข้าใจธรรมะ หรือ ความไม่เที่ยงของสิ่งเหล่านี้  ก็จะกลายเป็นทุกขลาภ มากกว่า เป็นรางวัลของความมานะ ความเพียร  ในโลกแห่งการแข่งขันนั้น ตำแหน่งชัยชนะ ไม่ได้มีไว้สำหรับคนทุกคน  จึงมีคนที่พ่ายแพ้ เพลี่ยงพล้ำ มากกว่าคนที่ได้รางวัล

การแข่งขันของทุกอาชีพ ย่อมมีคลื่นลูกใหม่ ที่มาแทนที่คลื่นลูกเก่าเสมอ  คนเรานั้น มีวันที่อ่อนแรง มีวันที่อ่อนแอ  มีวันที่แก่  เราไม่สามารถที่จะมีแรงพลังอึด ตลอดเวลา ที่จะนำพาตัวเอง ฝึกปรือฝีมือให้ไม่มีวันตก  การที่จะรักษาระัดับความเป็นเลิศตลอดชั่วชีวิต เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ไ้ด้   มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสอนเด็ก ให้ลึกซึ้งถึงสัจจธรรมข้อนี้   ต้องสามารถปล่อยวางความกระหายชื่อเสียง ความกระหายชัยชนะได้ เมื่อถึงเวลา    เด็กๆหลายคน และผู้ใหญ่หลายคน  เมื่อได้รับชัยชนะในจุดสูงสุด ก็มักไม่ทันได้คิดถึง ความเสื่อม  เมือ่ถึงเวลานั้น ไม่ทันเตรียมตัว เตรียมใจ  ตกเป็นทาสความเครียด ใช้ยานอนหลับ  ยาเสพติด หรือ จบชีวิตตนเอง เพราะยอมรับความเสื่อมของสังขาร และชื่อเสียงไม่ได้

ในหนังสือเล่มนี้ Amy Chua ไม่เคยได้ตระหนักถึงสัจจธรรมเรื่องนี้ ชีวิตที่ประสบแต่ชัยชนะ  ลงทุนลงแรงไปเท่าไหร่ ก็ได้ผลตอบแทนกลับมาเท่าที่ทำ  ไม่เคยพ่ายแพ้ เพลี่ยงพล้ำ นับว่าเป็นคนโชคดีมาก และเมื่อฝึกลูกด้วยวิธีนี้ ลูกก็เป็นเด็กมีความสามารถพอที่จะทำได้สำเร็จ ดังที่แม่หวัง   ตราบเมื่อวันที่เห็นลูกสาวคนเล็ก พลาดหวังจากการได้รับการคัดตัว เข้าศึกษาในสถาบันดนตรีชื่อดัง  ทั้งๆที่ผ่านการเคี่ยวกรำ ทุ่มเททั้งแม่และลูก  ทำให้ลูกสาวเจ็บปวดอย่างรุนแรง เหมือนถูกหลอกให้ซ้อมหนัก ทุ่มเททั้งชีวิต เพื่อมาพบความพ่ายแพ้  มันเป็นบทเรียนที่สำคัญที่ทำให้แม่ลูกได้เรียนรู้จักความพ่ายแพ้   รู้ว่าการลงทุนลงแรงอย่างเต็มที่ ก็ไม่ไ้ด้แปลว่าจะได้ผลตามที่หวัง

Amy Chau คุณแม่ที่มีอัตตาสูง ยึดมั่นถือมั่น ทั้งวิธีคิด การดำรงชีวิต   มีปมด้อยจากการเรื่องเชื้อชาติในอดีตและทะเยอทะยาน กระหายความสำเร็จ ไ้ด้เรียนรู้ที่จะฝึกปล่อยวางความคาดหวังจากคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือลูกๆ  และพยายามรักษาเยียวยาความสัมพันธ์กับครอบครัว ที่เกิดจากการเลี้ยงดูลูกที่สุดโต่งของเธอ  ดิฉันเองก็ไม่คิดว่า เธอจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ทั้งหมด  แต่อย่างน้อย เท่าที่อ่านดู ดิฉันคิดว่า เธอค้นพบที่มาที่ไป ของ Winning Formula (สูตรแกร่ง) ของเธอ และค้นพบนิสัยแย่ๆของเธอด้วย   เธอสามารถรับรู้ถึงความเจ็บปวดของลูกๆ และสามี คนที่เธอรัก ความได้รับความเจ็บปวดกับนิสัยแย่ๆของเธอ   และเชื่อว่า เธอเองสามารถควบคุมมันได้ดี  และคนในครอบครัวของเธอ ก็คงจะมีความสุขมากขึ้น และเด็กๆก็สามารถเติบโต อย่างเด็กที่ไม่มีบาดแผลรุนแรงมากนักในความทรงจำ จากการกระทำของแม่

2 ความคิดเห็น:

sajin กล่าวว่า...

เพิ่งเห็นหนังสือเล่มนี้เมื่อวานที่ศูนย์หนังสือจุฬา แต่ไม่ทันมีเวลาได้อ่านรายละเอียดมากนัก เจอช่วงที่คุณแม่กำลังคุยกับลูกสาวพอดูว่า ลูกสาวมีเพื่อนเป็นไวโอลินไง ขณะที่ลูกสาวกำลังพยายามบอกว่าเพื่อนคนอื่นๆเขาเล่นตุ๊กตากันแล้วตัวเองอยากเล่นบ้าง อ่านแล้วก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าหนังสือเล่มนี้่จะพาเราไปสิ้นสุดตรงไหน พอดีได้เจอที่คุณรัตนามาเล่า ก็เล่นได้ปะติดปะต่อเรื่อง ขอบคุณนะคะ เห็นด้วยอย่างยิ่งที่เขียนมาคะ

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

ขอบคุณค่ะ ดีใจที่ชอบนะคะ ดิฉันตำหนิเรื่องนึง คือ สนพ. เขียน Introduction เรื่องนี้ได้แย่มาก อ่านแล้วเหมือน หนังสือ How to และทำให้คนอ่าน อ่านแบบมุ่งเน้น ไปด้านเดียว ไม่ได้จับรายละเอียดปลีกยอ่ย หากไม่แยกแยะ เอาวิธีการไปใช้เพียวๆ นี่ ครอบครัวแย่ค่ะ