วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

เรื่องเล่าจากคุณแม่ปากเปราะ ถึงคุณแม่จอมเฮี๊ยบ (1)

แม่เสือสอนลูก - Battle Hymn of  the Tiger Mother



เมื่อก่อนปีใหม่ ได้มีโอกาสอ่านบทสัมภาษณ์ของ เอมี่ ชัว (Amy Chua)  คุณแม่จอมเฮี๊ยบ ผู้แต่งหนังสือเรื่อง "Battle Hymn of The Tiger Mom" ที่ลงในหนังสือ Reader Digest ฉบับภาษาไทย เดือน กันยายน 2554  อ่านแล้ว ก็ทำให้เกิดความสนใจ ไปหาซื้อหนังสือแปลเรื่องนี้ ซึ่งเป็นภาษาไทย  เรื่อง "แม่เสือสอนลูก"  แปลโดย คุณนรา สุภัคโรจน์   ซึ่งแปลได้สนุกดีทีเดียว

ที่จริงแล้ว มีเพื่อนหลายท่านได้แนะนำ และอยากได้ความเห็นของดิฉันเกี่ยวกับเรือ่งนี้ ตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะวิธีการสอนลูกแบบเฮี๊ยบสุดโต่งนั้น ทำให้พ่อแม่หลายคนมีข้อกังขา แต่ดิฉันก็ไม่ได้สนใจจะอ่านหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่แรก เพราะขี้เกียจวิพากย์วิจารณ์ความเว่อร์ของคุณแม่ท่านนี้  แต่พอมาอ่าน มาเข้าใจภูมิหลัง แบ็กกราวน์ของคุณแม่ท่านนี้ ก็เห็นใจ และเข้าใจว่า ที่มาที่ไป ความกลัวของบรรพบุรุษ ของอดีต ส่งผลต่อแนวคิด ปฎิบัติในการสอนลูก  และต้องยอมรับว่า หนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือที่ดีทีเดียว  ในแง่ให้เราได้เห็นมุมมอง เกี่ยวกับความรู้สึกของคุณแม่ประเภทนี้ และผลกระทบด้านดี  และด้านเสียของการเลี้ยงแบบนี้   ต้องชื่นชมคุณแม่ท่านนี้ ที่กล้าหาญที่จะเขียนเรื่องราวของเธอ ทั้งด้านดี และด้านที่ Look ไม่ Good เข้าข่ายทารุณกรรมเด็ก อย่างตรงไปตรงมา  

ข้อเสียของหนังสือเล่มนี้ ก็คือ หนังสือเล่มนี้ พูดถึงแต่ความสำเร็จของเธอที่ใช้ความเข้มงวด และอารมณ์ดุเดือด และอารมณ์ ในการสอนลูกสองคนให้กลายเป็นเด็ก "เหนือมนุษย์"   ทำให้พ่อแม่หลายท่านคิดว่า แนวทางนี้ เป็นแนวทางที่ถูกต้องควรปฎิบัติ ที่เป็นเรื่องอันตรายมาก บางครอบครัว ถึงกับ แท็กทีม พ่อแม่ มาเคี่ยวลูกทั้งคุณพ่อและคุณแม่ ดูแลกันคนละด้าน คนนึงเคี่ยวดนตรี อีกคนเคี่ยววิชาการ   ที่จริงแล้ว  เธอไม่ได้เล่าถึงคนนึงที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้ครอบครัวสมดุล และลูกๆไม่บ้่าไปซะก่อน นั่นคือ สามีของเธอนั่นเอง

ต้องบอกว่า ลูกของเธอเป็นคนโชคดีที่มีคุณพ่อที่แสนประเสริฐ แข็งแกร่ง และรักษาสมดุลของครอบครัวไว้    หากครอบครัวนี้ ไม่มีคุณพ่อ ที่สอนลูกตรงกันข้าม เปิดโอกาสให้ลูกได้ทำสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่แม่สอนไว้อย่างเหมาะสม  ลูกของเธอ ก็อาจจะไม่จบลงที่อนาคตที่สวยงามเช่นนี้    ในบทสัมภาษณ์ของ Amy Chau ที่ให้กับหนังสือ Reader Digest  นั้น  เธอ ได้กล่าวถึงสามีว่า

"สามีฉันเป็นคนที่มีบุคลิกมั่นคงอย่างเหลือเืชื่อที่เขาไม่อยากเป็นตัวละครสำคัญในหนังสือของฉัน ส่วนหนึ่งก็เพราะเขาเป็นคนมั่นคงมากนั่นเอง สามีฉันปรากฎในฉากหลังเสมอ ยืนยันทัศนะของเขาตลอด  เขาจะบอกว่า "ตกลงลูกๆ  เราจะซ้อมไวโอลินสองชั่วโมง แต่วันหยุดเราจะไปเที่ยวทะเลสาบกัน เราจะไปปีนเขากัน" ฉันคิดว่า สามีเลี้ยงลูกแบบตั้งใจฝึกให้รู้จักเปิดหูเปิดตากับการออกไปเที่ยวสำรวจ  ฉันเองไม่ชอบทำอะไรเสี่ยงๆ แบบดำน้ำลึำก หรือ กระโดดร่ม สามีจะเป็นคนพาลูกๆไปทำอะไรพวกนั้นทุกที  บุคลิกที่มั่นคงมากของเขา ทำให้ครอบครัวเราสมดุล"


"ตอนที่ลูลู (ลูกคนที่สองของเธอ) พยศ พ่อของเธอ เป็นคนก้าวเข้ามาแทรก ตักเตือนว่า บางสิ่งบางอย่างมันเปลี่ยนไปแล้ว เราต้องปรับตัวบ้าง ฉันโชคดีมากเลย ที่เราร่วมมือกัน ป้องกันวิกฤตได้"

ดิฉันจึงอยากลองเล่าเรื่องของคุณแม่จอมเฮี๊ยบท่านนี้ ในมุมมองของดิฉัน  ซึ่งมีรายละเอียดหลายๆจุดที่น่าสนใจ มองให้ลึกๆ ถึง ความรู้สึกของคุณแม่  ความรู้สึกของคุณลูก  โอกาสที่คิดว่าลูกได้ ลูกต้องแลกด้วยอะไร  หรือ สิ่งที่เราคิดว่าลูกเสียโอกาส  ที่แท้ลูกได้อะไร   การกระทำทุกอย่างมีทั้งดีและเสียอยู่เสมอ แต่ละคนต้องแลกด้วยการสูญเสียบางอย่าง เพื่อบางสิ่งเสมอ    การเลี้ยงดูลูก จริงอยู่ ไม่ีมีวิธีใดที่ถูกต้องเหมาะสม และตายตัว  แต่จะเลือกทางใด นั้น เราควรจะรู้ให้ลึกซึ่ง  คือ ต้องมี Knowledge  และมี Know-how ไม่ใช่ แค่  How To เท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น: