วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

กว่าจะเป็นหนึ่งในตำนานของสตีฟ จ็อบส์ (2)


ชีวิตในวัยเด็กของสตีฟ จ็อบส์ เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ ในหลายๆแง่มุม  ดิฉันไม่ติดใจเท่าไหร่นักในความฉลาดปราดเปรื่อง เป็นนอกกรอบของเขา เพราะเป็นเรื่องที่เคยอ่าน เคยเขียนถึงไปแล้ว  แต่ดิฉันสนใจการดูแลของคุณพ่อคุณแม่บุญธรรมของเขา ที่รู้จักผ่อนสั้น ผ่อนยาว อดทนกับความ "เฮี๊ยว" และ "เซี๊ยว" ของเขา  รวมทั้งความ "โชคดี" ของเขา ที่เขาเผอิญ ได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้เขา มีโอกาส สร้างทักษะ ความรู้ ความสามารถ ด้านไอที ของเขา ตั้งแต่เล็กๆ  และเขาเองก็ฉลาดพอ ทีจะทุ่มเทเวลา ในการฝึกฝน เรียนรู้ในสิ่งที่เขาชื่นชอบ

คนที่มีปัญหาแบบสตีฟ จ็อบส์นี่ ในโลกนี้ก็มีมากมาย  การนำพาชีวิตไปสู่แวดวงยาเสพติดก็มีมากจนเป็นปัญหาระดับโลกก็ว่าได้  แต่จะมีสักกี่คน ที่มีโอกาส กลับมายืนได้ และมีความสามารถในการสร้างผลงานที่แตกต่าง สร้างตำนานให้กับโลกเหมือนสตีฟ จ็อบส์ ซึ่งสิ่งที่ทำให้เขา มีโอกาสกลับมาเป็นผู้เป็นคน ประสบความสำเร็จในชีวิต  ก็คือทักษะ ความรู้ ความสามารถด้านไอที ที่เขาสร้างสม บ่มเพาะมาตั้งแต่เยาว์วัยนั่นเอง

พอล จ็อบส์ พ่อบุญธรรมของสตีฟ จ็อบส์ เป็นคนที่ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย  เขาเติบโตในครอบครัวที่ยากจน และเติบโตมาในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง เรียนจบเพียงชั้นมัธยม และออกมาทำงานด้านการซ่อมเครื่องยนต์  เมื่อเขาแต่งงานกับภรรยาได้ ๙ ปี ทั้งคู่ไม่มีบุตร แต่มีความพร้อมที่จะสร้างครอบครัวที่อบอุ่นของตนเอง เขาจึงรับสตีฟ จ็อบส์มาเลี้ยง ด้วยความรัก

ตอนอายุได้ประมาณ  6 ปี พ่อของสตีฟ จ็อบส์ ได้ย้ายงาน และย้ายที่อยู่นอกเมือง  และเขาได้ปลูกฝังความรู้เรื่องเครื่องยนต์ให้กับลูกของเขา  พ่อของเขาได้แบ่งที่ทำงานบนโต๊ะทำงานของเขาในโรงรถ ให้กับสตีฟ จ็อบส์  เขาบอกลูกว่า

"สตีฟ ตรงนี้ เ็ป็นโต๊ะทำงานของลูกนะ"

"จ็อบส์จำได้ดีว่า เขาทึ่่งมากที่พ่อสนอกสนใจเรื่องานฝีมือ เขาเล่าว่า "พ่อมีความรู้เรื่องการออกแบบดีมากเลย  พ่อรู้วิธีทำอะไรหลายอย่าง ถ้าเราอยากได้ตู้สักใบ พ่อก็จะทำให้ ตอนพ่อสร้างรั้วบ้าน พ่อส่งค้อนให้ผมช่วยทำงานด้วย"

การที่พ่อของสตีฟ จ็อบส์ ให้โอกาสได้ใกล้ชิดกับเขา ด้วยการมีโต๊ะทำงาน ที่ลูกชายจะสามารถสังเกตการทำงานของเขา ได้เรียนรู้ทักษะต่างๆทีละเล็กละน้อย  และการเปิดโอกาสให้ลูกได้ช่วยงาน ได้ลองทำด้วยตนเอง  นอกจากจะเป็นการลงมือทำงานแล้ว  ยังสร้างความเชื่อมั่นในตนเองให้กับลูกชายด้วย  เรียกว่า ไม่ได้มี แค่ " Idea " เหมือนเด็กสมัยนี้  แต่มี "I do" ด้วย

ผู้เขียน คือ วอลเตอร์ ไอแซคสัน ได้กล่าวในหนังสือตอนหนึ่งว่า

"เพราะ เรื่องรถยนต์ จ็อบส์ จึงได้เรียนรู้เรื่องอิเล็กทรอนิคส์จากพ่อ  "พ่อไม่ได้รู้เรื่องอิเล็กทรอนิคส์ อย่างลึกซึ้งนักหรอก แต่ต้องเจอกับเรื่องพวกนี้เยอะเวลาซ่อมรถ หรือซ่อมอะไรอย่างอื่น พ่อเป็นคนสอนให้ผมรู้พื้นฐานเกี่ยวกับอิเลคทรอนิคส์ ซึ่งผมสนใจมาก"   ที่น่าสนุกยิ่งกว่านั้น คือ การได้ออกไปตะลุยหาซื้ออะไหล่กับพ่อ...  พ่อเป็นคนต่อราคาเก่ง พ่อมีความรู้ดีกว่าคนขาย รู้ว่าอะไรควรมีราคาเท่าไหร่"

จากข้อความนี้ จะเห็นได้ว่าการเติบโตอย่างใกล้ชิดคุณพ่อ (ผู้เป็นแบบอย่างที่ดี)  ทำให้สตีฟ จ็อบส์ ได้ซึมซับเรียนรู้วิธีการทำงาน  ตลอดจนการคิดคำนวณราคา ต้นทุนไว้อย่างเชี่ยวชาญ   ตอนที่สตีฟ จ็อบส์ เติบโตเป็นวัยรุ่น  เขาได้ใช้ทักษะ การคำนวณต้นทุน การตั้งราคา ในการทำธุรกิจสมัครเล่นครั้งแรกของเขา  ในครั้งนั้น เขาและวอซ ประดิษฐ์เครื่อง Bluebox  สิ่งประดิษฐ์อุปกรณ์ปลอมสัญญาณโทรศัพท์แบบดิจิทัล ออกมาเล่นสนุกๆ  ตอนนั้นทั้งสองคนมีอายุ สิบกว่าปีเท่านั้น ในตอนนั้น จอบส์ กำลังเรียนในชั้นมัธยมปลาย  เขาเริ่มมีความคิดว่ามันไม่ควรจะเป็นแค่งานอดิเรกไว้เล่นสนุกๆ น่าจะทำขายได้ เขาจึงได้คำนวณต้นทุน และตั้งราคาขาย

วอลเตอร์ ไอแซคสันกล่าวในหนังสือว่า "บทบาทนี้คือสิ่งที่เขาทำเมื่อตั้งบริษัท Apple ผลงานที่สำเร็จออกมามีขนาดเท่าไพ่สองสำรับ ต้นทุนอุปกรณ์และชิ้นส่วนทั้งหมดประมาณ 40 เหรียญ จ็อบตั้งราคาขายที่ 150 เหรียญ"

สรุปในประเด็นนี้ ดิฉันมีความเชื่อว่า พื้นฐานความรัก และการปลูกฝังที่คุณพ่อบุญธรรมของสตีฟ จ็อบส์ ได้ให้เขาในวัยเด็ก  ได้สร้างพื้นฐานความชื่นชอบด้านเครื่องยนต์กลไก และอิเลคทรอนิคส์ให้กับเขา และเปิดโอกาสให้เขา ไ้ด้มีโอกาสใกล้ชิดผู้ที่มีความรู้ และแหล่งความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ และอิเลคทรอนิคส์ในภายหลัง และพ่อของเขาไ้ด้ทักษะด้านการคำนวณต้นทุน การตั้งราคาสินค้า ให้กับเขาทางอ้อม ด้วยการพาไปดู และให้ลูกได้มีโอกาสติดตาม ดูการทำงานของพ่ออย่างใกล้ชิด  ที่สำคัญคือ พ่อของเขาไม่ได้สอนลูกด้วยหนังสือ หรือการพูด Lecture แต่ประการเดียว  แต่เปิดโอกาสให้ลูกได้ลงมือปฎิบัติในสิ่งที่คิด  ไม่ใช่สักแต่คิดอย่างเดียว ปฎิบัติไม่ได้  

นี่เป็นประเด็นแรกที่ดิฉันตั้งข้อสังเกต กว่าจะมาเป็นหนึ่งในตำนานของสตีฟ จ็อบส์ นี่ การกระทำของพ่อเป็นจุดสำคัญจุดแรกเลยทีเดียว   สังเกตว่า สตีฟ จ็อบส์ รักคุณพ่อคุณแม่บุญธรรมของเขามาก  ในระหว่างที่เขาเดินหลงทางชีวิตในช่วงวัยรุ่น  หลายๆครั้ง การระลึกถึงความรัก ความห่วงใย และความทุ่มเท ที่พ่อแม่บุญธรรม ทำให้เขามาชั่วชีวิต  เป็นตัวเหนี่ยวรั้งสติของเขา ให้หันกลับมาจากความหลงผิดเหมือนกัน


มานั่งคิดถึงพ่อแม่สมัยนี้ ที่ไม่มีเวลาให้ลูก  ลูกๆไม่มีโอกาสได้ดูพ่อแม่ทำงาน ไม่มีโอกาสได้ลองทำงาน แม้กระทั่งช่วยเหลือตนเอง เด็กๆมีหน้าที่แค่เรียนหนังสือ ไปเรียนพิเศษ กวดวิชา ท่องจำเพื่อการสอบแข่งขัน เช้าจรดเย็นใช้ชีวิตในห้องเรียน สุดสัปดาห์ใช้ชีวิตในห้างสรรพสินค้า   ไม่เคยฝึกงานบ้าน ไม่เคยเก็บกวาดบ้าน อย่าว่าแต่ได้คิดประดิษฐ์อะไร  แม้แต่การเรียนกวดวิชาสมัยนี้ จะเจอครูเป็นๆยังน้อย วันๆได้แต่ฟังการสอน ทางวีดีโอ  อัจฉริยะไม่ได้ถูกพัฒนา แต่ถดถอย เพราะพ่อแม่ใช้เทคโนโลยีในการเลี้ยงลูก น่าเศร้าค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น: