วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

กว่าจะเป็นหนึ่งในตำนานของสตีฟ จ็อบส์ (3)



เล่าเรื่องพ่อบุญธรรมของสตีฟ จ็อบส์ ที่เป็นแบบอย่างที่ดี และเป็นคนหล่อหลอม ปลูกฝังนิสัยการชื่นชอบเครื่องยนต์กลไก และชื่นชอบอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ให้กับเขา  ก็ต้องเอาเรื่องอีกหนึ่งหนุ่ม ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท Apple ในยุคบุกเบิก คือ สตีเฟน วอซเนียก  ในการก่อตั้งบริษัท Apple ในยุคแรกนั้น มีผู้ถือหุ้นหลักสามคน คือ สตีฟ จ็อบส์   สตีเฟน วอซเนียก และ รอน เวย์น   ในสัดส่วน  45: 45: 10   แต่ภายหลัง รอน เวย์น ได้ตัดสินใจขายหุ้นให้กับเพื่อนทั้งสองของเขา ด้วยความที่เขาไม่มีนิสัยรักความเสี่ยงทางธุรกิจ

สตีเฟน วอซเนียก เป็นอัจฉริยะทางอิเล็กทรอนิคส์  เขาเป็นเซียนอิเล็กทรอนิคส์ระดับติดดาวของโรงเรียนมัธยม  Homestead High  เป็นเพื่อนรุ่นพี่ของสตีฟ จ็อบส์ 5 ปี สองคนมีความสนิทสนมกัน เนื่องจากมีความชื่นชอบในอิเล็กทรอนิคส์เหมือนกัน และมีรสนิยมหลายๆเรื่องที่คล้ายคลึงกัน วอซเนียก เป็นคนที่ออกแบบแผงวงจรอิเล็กทรอนิคส์ที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ของ Apple ในยุคแรก   จุดกำเนิดแห่งความสนใจด้านอิเล็กทรอนิคส์  จนกระทั่งทำให้เขากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ และสร้างสรรค์ผลงานอันน่าทึ่งซึ่งจุดเริ่มต้นของผลิตภัณฑ์ Apple ก็คือ พ่อของเขาเช่นกัน

พ่อของสตีเฟน วอซเนียก เป็นวิศวกรที่จบจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอเนีย (Cal Tech) เขายกย่องวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ดูถูกนักธุรกิจ นักการตลาด และนักขาย  เขาทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ Lockheed สร้างระบบขีปนาวุธนำวิถี  ซึ่งมุมมองของเขา ต่อการทำธุรกิจ และนักธุรกิจของเขา ก็หล่อหลอมนิสัยของ สตีเฟน วอซเนียก ในยามเติบโตเช่นกัน  เขาเล่าว่า

"ผมจำไ้ด้ พ่อสอนผมเสมอว่า วิศวกรรมเป็นศาสตร์ชั้นสูงที่สำคัญที่สุดเท่าที่เราจะเรียนได้ในโลกใบนี้  เป็นวิชาที่ช่วยพัฒนาโลกเราให้ดีขึ้น"  หนึ่งในความทรงจำแรกๆของวอซเีนียกในวัยเด็ก  คือการได้ไปที่ทำงานของพ่อในวันสุดสัปดาห์ และพ่อหยิบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ให้ดู  "พ่อวางชิ้นส่วนพวกนั้นไว้บนโต๊ะ ให้ผมเล่น" เขานั่งดูพ่อทำงานอย่างฉงนฉงายที่เห็นพ่อพยายามทำให้เส้นรูปคลื่นบนจอวีดีโอให้อยู่เป็นเส้นตรงแนวนอน  เพื่อโชว์ว่าวงจรที่เขาออกแบบทำงานได้ผล "ผมได้เห็นว่าอะไรก็ตามที่พ่อทำ  มันเป็นเรื่องดีและสำคัญทั้งนั้น"  วอซ มักจะถามพ่อเรื่องตัวต้านทาน และทรานซิสเตอร์ที่วางอยู่ในบ้าน พ่อจะเอากระดานดำมาเขียนอธิบายให้ฟังว่ามันทำงานอย่างไร เขาเล่าว่า  "พ่อจะอธิบายให้ฟังว่าตังต้านทานคืออะไร อธิบายย้อนไปถึงเรื่องอะตอม กับอิเล็กตรอน  ตอนผมเรียนอยู่เกรด ๒ ท่านอธิบายให้ฟังว่า ตัวต้านทานทำงานอย่างไร ไม่ใช่ด้วยการเขียนสมการให้ดู แต่ให้ผมนึกภาพเอา"

อ่านเรื่องราวข้างต้นที่  วอลเตอร์ ไอแซคสัน ได้เขียนเรื่องความทรงจำในวัยเด็กของ สตีเฟน วอซเนียก จะเห็นได้ว่า  มีความคล้ายคลึงกันที่พ่อของทั้งคู่ ต่างเปิดโอกาสให้ลูกของตนได้ติดตาม มองเห็นการทำงานของพ่อ พ่อได้เล่าเรื่องราว การทำงาน และทำงานให้ลูกเห็นเป็นแบบอย่าง  ในระหว่างที่ทำงาน ก็อนุญาตให้เด็กๆได้สัมผัส จับต้องลองทำไปด้วย  และเมื่อลูกมีคำถาม ก็ใ้ห้คำชี้แนะ อธิบาย อย่างหมดจรด กระจ่าง  ความอบอุ่นในวัยเด็ก ในยามที่ได้ใกล้ชิดพ่อ ได้เรียนรู้จากพ่อด้วยความรัก  เป็นความทรงจำที่ประทับแน่นในความรู้สึกของ สตีฟ จ็อบส์ และ สตีเฟน วอซเนียก  จนทั้งสองคนได้นำมาบอกเล่าให้ วอลเตอร์ ไอแซคสัน ได้นำมาถ่ายทอดในหนังสือเล่มนี้  และมันเป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจในการทำงานด้านอิเล็กทรอนิคส์  และการสร้างสรรค์นวัตกรรมแห่งยุคในเวลาต่อมา

แม้ว่าสตีฟ จ็อบส์ และสตีเฟน วอซเนียก จะมีอะไรที่คล้ายคลึงกัน แต่ทั้งคู่ก็มีนิสัยบางอย่างที่แตกต่างกันมาก วอซเนียกจะมีบุคลิกภาพขี้อาย เคอะเขินเวลาเข้าสังคม พูดไม่เก่ง  เขาบอกว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้เขามีบุคลิกแบบนี้ ซึ่งตรงข้ามกับสตีฟ จ็อบส์ คือ พ่อของเขาเน้นเรื่อง ห้ามโกหก

  "พ่อเชื่อเรื่องความซื่อสัตย์อย่างที่สุด เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ท่านสอนผม ผมไม่เคยโกหก แม้กระทั่งทุกวันนี้"   นอกจากนั้น เจอรี่ (พ่อของสตีเฟน วอซเนียก) ยังปลูกฝังลูกชายไม่ให้ทะเยอทะยานอยากจนเกินไป  ซึ่งเป็นลักษณะที่ตรงกันข้ามกับสตีฟ จ็อบส์  หลังจากรู้จักกันมา 40 ปี วอซเนียกพูดถึงความแตกต่างข้อนี้ในงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของ Apple ในปี 2010 ว่า "พ่อสอนให้ผมเดินทางสายกลางเสมอ  ผมไม่เคยนึกอยากขึ้นไปอยู่สูงๆ  เหมือนสตีฟ  พ่อผมเป็นวิศวกร  และผมก็อยากเป็นวิศวกรเหมือนกัน ผมขี้อายเกินกว่าจะเป็นผู้นำธุรกิจอย่างสตีฟ"

บุคลิกภาพ และความรู้สึกนึกคิดของสตีเฟน วอซเีนียก ที่ได้มาจากการอบรมบ่มเพาะของพ่อนั้น ทำให้เขาเป็นส่วนผสมที่ลงตัว ในการทำธุรกิจร่วมกับสตีฟ จ็อบส์  เพราะวอซเีนียก สร้างผลงานอันมาจากความคิดชั้นเลิศ  ที่ขายได้ แต่เจ้าตัวไม่คิดจะขาย คิดแต่จะทำเพื่อความสนุกท้าทาย หรือ ทำเพื่อแจกฟรีเป็นวิทยาทาน  แต่จ็อบส์ สามารถช่วยวางกลยุทธ์ในการทำรายได้จากผลงานนั้น  และจ็อบส์ ก็มีความสามารถ และความกล้าในการโฆษณา ขายของอีกด้วย

เรื่องราวของวอซเีนียก ผู้ก่อตั้งอีกคนหนึ่งของบริษัท Apple  เป็นตัวอย่างที่ยืนยันความสำคัญของผู้ที่เป็นพ่อแม่  หากพ่อแม่ได้เปิดโอกาสให้ลูกได้ใกล้ชิด ได้สัมผัสชีวิตการทำงาน ความรับผิดชอบของพ่อแม่บ้าง  เด็กๆจะมีโอกาสได้ลองสัมผัสอาชีพการงานของผู้ใหญ่ ได้เห็นความสำคัญของความรับผิดชอบ ได้เรียนรู้ว่างานแต่ละงานมีความยากลำบาก และต้องมีทักษะอะไรในการจะประสบความสำเร็จในงานนั้นๆได้  ซึ่งอาจจะเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้เขาได้ค้นพบตัวเองว่า ตัวเองนั้นมีเป้าหมายในชีวิตเป็นอย่างไร  ชอบทำอะไร ไม่ชอบทำอะไร  และ สามารถหล่อหลอมสร้างนิสัยที่นำพาไปสู่ความสำเร็จในอาชีพนั้นๆไ้ด้

ไม่มีความคิดเห็น: