วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

เรื่องเล่าจากคุณแม่ปากเปราะ ถึงคุณแม่จอมเฮี๊ยบ (3)

แม่เสือสอนลูก - Battle Hymn of  the Tiger Mother

ยังมีความเชื่อ อีกสามประการ เกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงลูกของคนจีน ที่ Amy Chau ยึดถือในการปฎิบัติ ซึ่งความเชื่อนั้น สืบทอดมาจาก พ่อแม่ของเธอนั่นเอง คือ


  1. เธอกล่าวว่า "ดิฉันสังเกตเห็นว่า พ่อแม่ฝรั่งจะกังวลมาก กับความมั่นใจของลูกๆ กลัวว่าลูกๆ จะรู้สึกไม่ดีเมื่อล้มเหลวกับอะไรบางอย่าง และพยายามที่จะย้ำให้รู้ว่าพวกเขาทำได้ดีขนาดไหน ทั้งๆที่ ผลสอบหรือการเล่นคอนเสิร์ตออกมาแค่งั้นๆ"     "แต่ถ้าเด็กจีนได้ B (ซึ่งไม่มีวันเกิดขึ้นเด็ดขาด) ละก้อ เสียงกรีดร้องโวยวาย ตีอกชกตัวจะดังขึ้นก่อนทันที  พ่อแม่จีนจัดการกับผลสอบที่ต่ำกว่ามาตรฐานของลูกด้วยวิธี ดุว่า ลงโทษ และทำให้ลูกละอายใจ...เพราะพวกเขาเชื่อว่า ลูกของตนแข็งแกร่งพอที่จะรับคำดุว่าได้ และจะพยายามปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น"
  2. "พ่อแม่จีนเชื่อว่่าลูกเป็นหนี้บุญคุณพ่้อแม่สำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง  ลูกจีนจะต้องตอบแทนพระคุณพ่อแม่ตลอดชีวิต ด้วยการเชื่อฟัง และทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจ"
  3. "พ่อแม่จีนเชื่อว่า พวกเขารู้ว่าอะไรดีทีุ่สุด สำหรับลูก เพราะฉะนั้นความปรารถนาของพ่อแม่ จึงสำคัญกว่าความต้องการของลูกๆ" และในขณะเดียวกัน พ่อแม่จีนก็เสียสละและทำอะไรเพื่อลูกมากมาย ทุ่มเทเวลา เงินทอง เพื่อการศึกษาของลูก คอยติว คอยฝึก ซักไซ้ และ แอบสังเกตพฤติกรรมลูก

ที่จริงแล้ว ความเชื่อเหล่านี้ แม้ว่าจะยังมีหลงเหลืออยู่มากในครอบครัวชาวจีน ในเมืองจีนและหลายประเทศที่มีชาวจีนอาศัยอยู่   แต่ความเชื่อหลายๆเรื่องก็ได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับวิถีชีวิต และวิถีโลกที่เปลี่ยน แปลง  แต่ Amy Chua  ก็ยังยึดมั่น และยึดหลักความเชื่อโบราณนี้ ในการเลี้ยงลูก เพราะเธอเองก็เติบโตมาแบบนี้ 

เธอเล่าว่า  "ในฐานะบุตรสาวคนโตของผู้อพยพชาวจีน  ดิฉันไม่เคยมีเวลาที่จะมานั่งสร้างกฎของตนเอง  ดิฉันมีชื่อแซ่ที่ต้องคอยปกป้องรักษา   มีหน้าที่ต้องทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจ  ดิฉันชอบที่จะมีเป้าหมายที่แน่นอนและวิธีการที่ชัดเจนในการวัดความสำเร็จ"

ดังนั้น เธอจึงกำหนดเป้าหมายในชีวิตให้ลูกสาว และ  เลือกที่จะใช้วิธีการเข้มงวด ในการที่ทำให้ลูกๆเชื่อฟัง

"ดิฉันตั้งใจแน่วแน่ที่จะเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กเชื่อฟัง แม้จะต้องแข็งใจอย่างมากก็ตาม  ในตะวันตก  คำว่าเชือฟัง ใช้กับสุนัข หรือระบบชนชั้น แต่ในวัฒนธรรมจีน ความเชื่อฟัง เป็นหนึ่งในคุณธรรมที่น่าชื่นชม"

โดยส่วนตัว ดิฉันเองก็เกิดมาในสังคมเอเชีย มีคำสอนทางพุทธศาสนาหลายเรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อฟัง  แต่กระนั้น ดิฉันก็เชื่อว่า วิธีการทำให้เด็กเชื่อฟังนั้น  ไม่จำเป็น ต้องใช้วิธีที่รุนแรง   เราสามารถสอนเด็กให้เป็นคนเก่ง คนดีได้ ด้วยใจ  แทนที่จะให้ทำไป เพราะความหวาดกลัว   แต่สำหรับ Amy นั้น เลือกที่จะใช้วิธี ข่มขู่ ลงโทษ  พูดจาเสียดแทง  เพื่อปลุกเร้า ผลักดันให้ลูก ทำตามแผนที่เธอวางไว้อย่างดี ด้วยความรัก

"ตลอดเวลา ดิฉันไม่เคยยั้งคำพูดรุนแรง และยิ่งโหดขึ้น เมื่อเห็นโซเฟียร้องไห้" 

"ดิฉันมีอะไรอัดอั้นตันใจมานาน ซึ่งอยากจะสารภาพเสียเลยในตอนนี้ ความจริงก็คือ บางครั้งโซเฟีย (ลูกคนโต) ก็ไม่สนุกที่มีแม่อย่างดิฉัน จากความทรงจำของโซเฟีย เธอบอกว่า ดิฉันเคยพูดกับเธอระหว่างที่นั่งคุมเธอซ้อมเปียโน ๓ อย่าง คือ 

- ให้ตายสิ ทำใมยิ่งเล่นถึงยิ่งแย่ลง
- เล่นให้มันเป็นเพลงให้ได้นะ ฉันจะนับถึง 31
- ถ้าครั้งหน้า ยังเล่นได้ไม่เพอร์เฟ็คละก็ ฉันจะเอาตุ๊กตาของเธอไปเผาทิ้งให้หมด

และเท่าที่อ่านดูในหนังสือนี้ ความเชื่อที่ว่า "จะต้องทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจ"  ทำให้เธอ พยายามผลักดัน ให้ลูกสาวทั้งสอง หรือแม้แต่สุนัขที่เธอเลี้ยง  เข้าประกวดแข่งขัน สารพัดระดับ"   จุดมุ่งหมาย คือ เพื่อชัยชนะ และความภาคภูมิใจของคนเป็นแม่  รวมทั้งการสร้่างชื่อเสียงให้วงศ์ตระกูล  เธอกล่าวว่า

"สิ่งที่พ่อแม่จีนเข้าใจ ก็คือ  ไม่มีอะไรที่จะสนุกได้จนกระทั่งคุณทำได้ดี  และในการทำอะไรให้ได้ดี คุณจะต้องขยัน  ทำงานอย่างหนัก และไม่มีเด็กคนไหนที่จะขยันได้ด้วยตนเอง  นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำไมพ่อแม่จึงต้องบังคับลูก  ไม่ใช่ปล่อยให้ทำตามใจตนเอง  การทำเช่นนี้ พ่อแม่จะต้องเข้มแข็ง  เพราะเด็กจะต่อต้าน ทุกสิ่งจะยากที่สุดในตอนแรก   เมื่อใดที่เด็กเริ่มทำอะไรได้เยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ เปียโน เบสบอล หรือบัลเลต์ พวกเขาจะได้คำชม ความชื่นชม และความพึงพอใจ สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความมั่นใจ และทำให้กิจกรรมซึ่งเคยน่าเบื่อกลับสนุก  และความสนุกนี้ก็ทำให้ง่ายขึ้นสำหรับพ่อแม่ ที่จะเคี่ยวเข็ญให้ลูกทำงานหนักยิ่งขึ้นไปอีก"

ดิฉันเองก็ค่อนข้างเห็นด้วยกับความเชือนี้   ในการฝึกเด็กๆ ในการทำสิ่งที่ไม่เคยทำ ตอนแรกๆ ลองถูกลองผิด ไม่เข้าใจ จับจังหวะไม่ถูก  ก็จะรู้สึกไม่สนุกที่จะทำ และยากที่จะทำ แต่ทำๆไป เมื่อมีความชำนาญ มีประสบการณ์ทำได้คล่อง ผิดพลาดน้อยลง ก็จะสนุกที่จะทำ โดยไม่ต้องเคี่ยวเข็ญมากนัก  เหมือนเด็กที่ๆหัดขี่จักรยานใหม่ๆ ล้มลงบาดเจ็บ  หากอดทนไป เมื่อขี่ได้แล้วก็จะสนุกกับมัน   หรือเหมือนคนว่ายน้ำ  ที่แรกๆก็อาจจะจมน้ำจนกลัวน้ำ แต่หากอดทนฝึกต่อไป ก็จะว่ายน้ำได้  

แต่ในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย คือวิธีการ  การทีจะโน้มน้าวให้เด็กฝึกฝนอะไร เราไม่จำเป็นต้องใช้ ไม้แข็ง ใช้คำพูดรุนแรง หรือใช้การลงโทษ ข่มขู่ในการสั่งสอน  แต่ เราสามารถใช้ได้หลายวิธี   ทั้งอ่อน ทั้งแข็ง  การโน้มน้าว  การให้กำลังใจ  แม้จะเสียเวลาบ้าง แต่ทำให้เด็กๆ หรือ แม้แต่ บริวาร มีความเต็มอกเต็มใจ และพยายามที่จะทำ   มันจะช่วยสร้างทัศนคติในการศึกษา ในการฝึกระยะยาว   และเป็น Life-time Memory มากกว่า ที่จะต้องข่มขู่ เคี่ยวกันตลอดเวลา     การฝึกให้เขา ควบคุมตนเอง มีวินัยด้วยตนเอง จะยั่งยืนกว่า เหมือนต้นไม้ ที่แข็งแกร่งตามธรรมชาติ ย่อมดีกว่าไม้ที่งาม ในตู้กระจก  และมีคนรดน้ำพรวนดิน ควบคุมอุณหภูมิทุกขณะ  เพราะหากวันใด ที่คนรดน้ำพรวนดินไม่อยู้ ขาดห้องอุณหภูมิ  ก็อาจจะไม่สามารถอยู่รอดได้ในธรรมชาติที่ปกติ
         

ไม่มีความคิดเห็น: