วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

กว่าจะเป็นหนึ่งในตำนานของสตีฟ จ็อบส์ (5)


เราหันมาดูเรื่องราวของ สตีเฟน วอซเนียก หุ้นส่วนคนสำคัญ และผู้ก่อตั้ง Apple ร่วมกับสตีฟ จ็อบส์กันอีกครั้ง  การสั่งสมด้านประสบการณ์ความรู้ความสามารถของวอซเนียกนั้น ไม่ค่อยต่างจาก สตีฟ จ็อบส์สักเท่าไหร่นัก เขาได้ใกล้ชิดกับบิดานักวิศวกรของเขา ทำให้เขามีความรู้ มีแรงบันดาลใจ และใจรักการสร้างสรรค์เทคโนโลยีตั้งแต่เด็กๆ   เขาอยากเป็นวิศวกรเหมือนพ่อ  มากกว่าจะเป็นผู้นำธุรกิจ  ในหนังสือของ วอลเตอร์ ไอแซคสัน ได้เล่าความสามารถอันน่าทึ่งของ สตีเฟน วอซเนียก ในวัยเกรด ๔  หรือเทียบการเรียนเมืองไทย คือ แค่ ป.๔  เท่านั้น ตอนนั้น อายุไม่น่าจะเกิน 10 ขวบไว้ว่า

"พอเรียนถึงเกรด 4  วอซเนียกก็กลายเป็น "เด็กอิเล็กทรอนิคส์"  ให้เขาจ้องมองทรานซิสเตอร์ยังง่ายกว่าสบตาสาวเีสียอีก ...ตอนอายุเท่าจ็อบส์ ขณะที่จ็อบส์ยังงงอยู่กับไมโครโฟนคาร์บอน วอซเนียกใช้ทรานซิสเตอร์สร้างระบบอินเทอร์คอมที่มีทั้งเครื่องขยายเสียง รีเลย์ แสงและบัชเชอร์ ซึ่งเชื่อมต่อกับห้องนอนเด็กของบ้าน ๖ หลังในย่านเดียวกัน  และตอนที่จ็อบส์ยังเล่นชุดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ Healthkit อยู่ วอซเนียกกำลังประกอบตัวถ่ายทอดและตัวรับสัญญาณวิทยุของ Hallicrafters ซึ่งเป็นวิทยุที่ทันสมัยที่สุดขณะนั้น และได้รับใบอนุญาตวิทยุสมัครเล่นพร้อมกับพ่อเขาเรียบร้อยแล้ว"

"พอเรียนถึงเกรด 8  (หรือประมาณ ม.๒) เขาได้สร้างเครื่องคิดเลขโดยใช้ทฤษฏีเลขไบนารี่  เครื่องคิดเลขของเขาใช้ทรานซิสเตอร์ 100 ตัว  ไดโอด 200 ชิ้น  ตังต้านทาน 200 ชิ้น ทั้งหมดอยูบนแผงวงจร 10 แผง   เครื่องคิดเลขของวอซ ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดซึ่งจัดโดยกองทัพอากาศ เอาชนะเพื่อนคู่แข่งที่เป็นนักเรียนเกรด 12 ได้"

จากเรื่องราวที่วอลเตอร์ ไ้ด้ถ่ายทอดไว้ในหนังสือของเขา จะเห็นว่า สตีเฟน วอซเนียกเอง ก็ใช้เวลาในวัยเด็ก และวัยรุ่นนั้น ทุ่มเท และจดจ่อกับการเรียนรู้ และลองผิดลองถูกในการสร้างงานประดิษฐ์ มากกว่าจะใช้เวลาในการไปเที่ยวเตร่ เสียเวลากับเรื่องไร้สาระ  เวลาทั้งหมด ใช้ไปกับการศึกษาหาความรู้ด้านสิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยีที่เขาสนใจ  และนำมาลองสร้างสรรค์ผลงาน ไม่ได้แค่อ่านผ่านๆ แค่มี ไอเดีย แต่ไม่ลงมือทำ

"ปีสุดท้าย (น่าจะประมาณ ม.๖ หรือ เกรด 12) วอซเนียกได้งานพาร์ทไทม์ทำที่บริษัท Sylvania เป็นครั้งแรกที่เขาได้ทำงานกับคอมพิวเตอร์  เขาเรียนภาษา FORTRAN จากหนังสือ และอ่านคู่มือใช้งานของระบบคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในขณะนั้น  ...เป้าหมายของเขาคือออกแบบคอมพิวเตอร์ดีไซน์เดิมโดยใช้ชิ้นส่วนให้น้อยที่สุด  "ผมปิดประตู  นั่งทำงานคนเดียวในห้อง"  แต่ละคืน เขาจะปรับแบบที่เขียนไว้ในคืนก่อนให้ดียิ่งขึ้น  พอเรียนจบ เขาก็กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ  "ผมออกแบบคอมพิวเตอร์แบบเดียวกับบริษัทของผู้ผลิต  แต่ใช้ชิบน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง  แต่แบบทั้งหมดยังอยู่บนกระดาษ"  เขาไม่ไ้ด้บอกเพื่อน"

ในระหว่างการเรียนปีหนึ่งในมหาวิทยาลัย วอซเนียกก็ยังคงใช้เวลากับการทดลองสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ตามความคิดของตัวเอง  ทำเรื่องแผลงในมหาวิทยาลัย จนสอบตกหลายวิชา และถูกภาคทัณฑ์  และในเวลาปิดเทอมภาคฤดูร้อนในปีนั้น เขาก็ได้รับการแนะนำให้รู้จัก  สตีฟ จ็อบส์ เป็นครั้งแรก  สตีฟ นั้น อายุน้อย เป็นรุ่นน้องของเขา ๕ ปี  แต่ทั้งคู่มีความสนใจหลายอย่างที่ตรงกัน  ทำให้เขาคุยกันได้นาน และเข้าใจงานของกันและกัน  และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพอันยาวนาน และจุดกำเนิดของ บริษัท Apple ในเวลาต่อมา

หลังจากค้นพบคู่หูที่ความสนใจตรงกัน เด็กทั้งคู่ก็ร่วมกันสร้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์สนุกๆ เอาไว้แกล้งคน  ทำเพื่อความสะใจ ความสนุกสนานเท่านั้น ทั้งคู่ช่วยกันค้นคว้า สร้างสรรค์ผลงานด้วยกัน  จนวันหนึ่ง วอซเนียกได้อ่านหนังสือนิตยสาร Esquire ฉบับเดือนกันยายน 1971 บทความชื่อ "Secret of the Little Blue Box"  ซึ่งเป็นเรื่องราวของพวกแฮ็กเกอร์กับพวกแอบใช้โทรศัพท์ค้นพบวิธีโทรศัพท์ทางไกลแบบไม่ต้องเสียเงิน  โดยการเลียนเสียงสัญญาณโทรศัพท์บนโครงข่ายของ AT&T   เขารีบโทรไปเล่าให้ สตีฟ จ็อบส์ ซึ่งกำลังเรียนมัธยมปีสุดท้ายฟัง   ทั้งคู่จึงช่วยกันคิดสร้างประดิษฐ์ Blue Box ขึ้นมาด้วยความคะนอง และต่อมาก็กลายเป็นโครงการแรกที่ทำรายได้ให้กับเด็กหนุ่มทั้งสอง   จ็อบส์คิดว่า Blue Box ไม่ควรเป็นแค่งานอดิเรกไว้เล่นสนุกๆ น่าจะำทำขายได้

"ทั้งสองคนจะเดินไปเคาะประตูห้องพักนักศึกษาในหอพัก  ถามว่ามีใครอยากได้บ้าง สาธิตคุณภาพให้ว่าที่ลูกค้าดู โดยต่อ Blue Box กับเครื่องโทรศัพท์และลำโพง  แล้วโทรไปที่ไหนสักแห่ง เช่น โรงแรมริทซ์ในกรุงลอนดอน  หรือหมุนไปฟังเรื่องตลกทางโทรศัพท์ที่ dial-a-joke ในออสเตรเลีย จ็อบส์จำได้ว่า "เราทำบลูบ็อกซ์ประมาณ 100 กว่าชิ้น ขายได้เกือบหมด"

ประสบการณ์จากการทำ Blue Box ขายในวัยรุ่นนั้น ทั้งจ็อบส์ และ วอซเนียก เห็นตรงกันว่า มันเ็ป็นจุดที่สร้างความมั่นใจให้ทั้งสองคน  ทำให้พวกเขาได้รู้ว่า เขาทำอะไรได้บ้างกับความรู้ด้านวิศวกรรมของวอซเนียก และวิสัยทัศน์ของสตีฟ  ทั้งสองคนได้เรียนรู้วิธีที่จะทำงานร่วมกัน มั่นใจว่าพวกเขาสามารถแก้ไขปัญหาทางเทคนิคและนำไปผลิตได้   และโครงการสนุกๆได้เงินชิ้นแรกนี้ ทำให้ วอซเนียก ซึ่งเป็นอัจฉริยะผู้ขี้อายและสุภาพ. ซึ่งปกติจะ ยินดีที่จะยกสิ่งประดิษฐ์อันล้ำเลิศของตัวเองให้ใครๆก็ได้ฟรีๆ แต่คราวนี้ จ็อบส์จะเป็นคนคอยคิดว่า จะทำอย่างไรให้สิ่งประดิษฐ์์นั้นใช้งานง่าย ถูกใจคนใช้ ทักษะสองอย่างนี้ถูกนำมารวมกัน ผลิตสินค้าออกขายทำเงิน

อ่านมาถึงตอนนี้ มานึกถึงน้องๆ ที่กำลังเรียนอยู่หรือเรียนจบออกมาทำงานแล้ว หลายๆคน ก็ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ  อาจจะเป็นเพราะไม่มีโอกาส  ไม่มีเวลาได้ลองผิดลองถูกในการทำสิ่งที่ตัวเองคิด ตัวเองชื่นชอบ และใฝ่ฝันในวัยเด็ก  การที่เด็กๆ มีเวลาว่างมากพอ ที่จะมาฝึกหัด ทดลองทำอะไรสนุกๆ ที่ตัวเองชื่นชอบ สนใจเป็นพิเศษ  ก็อาจจะช่วยให้เขาค้นหาตัวเองได้เร็วขึ้น ไม่เปะปะ หาตัวเองไม่เจอ เพราะไม่เคยรู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบงานแบบไหน  น่าเสียดายที่เด็กไทยของเรา กลับไม่มีเวลาแม้แต่จะกินข้าว หรือนอนให้เต็มอิ่ม  การเรียนในโรงเรียนชื่อดังที่ไกลบ้าน ต้องเสียเวลาตื่นแต่เช้า ฝ่าการจราจรไปโรงเรียน และกลับค่ำมืด เพราะสภาพจราจร และการติวสารพัดแห่ง เพื่อให้เป็นเลิศด้านการสอบแข่งขัน  ทำให้เด็กๆ ไม่มีเวลาว่างในการค้นหาด้วยซ้ำว่า จริงๆแล้ว ตัวเองอยากทำอะไร อยากฝึกอะไร  อยากเป็นอะไร     เมื่อเรียนในระดับสูง เรียนจนจบ หรือใกล้จบ ก็พบว่า สิ่งที่เรียนมานั้น ไม่ใช่สิ่งที่อยากทำ  หรือ เมื่อทำงานแล้ว ก็ไม่สนุกกับงาน  ไม่มีความสุขกับงานที่ทำ เพราะตัวเองไม่มีความรัก พึงพอใจกับงานนั้นๆ

ไม่มีความคิดเห็น: