วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อ่านหนังสือเทอมละ 40 เล่ม ลูกก็ทำได้ (5)

สิ่งที่เราพ่อแม่ สามารถช่วยเหลือลูกได้ มีหลายอย่างค่ะ เช่น

- การให้คำแนะนำ เรื่องการเลือกหนังสือที่อ่าน ไปร้านหนังสือกับลูกนะคะ หรือไปที่ห้องสมุดสาธารณะ เช่น TK Park ซึ่งเราสามารถจะชี้ชวน ให้คำแนะนำเรื่องหนังสือกับลูกได้ ว่า หนังสือเล่มไหน ที่สนุก หรือ เหมาะกับวัย หรือ อ่านง่าย แต่ให้แนะนำกว้างๆ สุดท้าย ใ้ห้ลูกเลือกเองว่าลูกจะเลือกอ่านหนังสือเล่มใด อย่าไปเลือก หรือ ฟันธงว่าต้องอ่านเล่มใด เพราะรสนิยม นิสัยของลูกก็ไม่เหมือนกับเรา

เราไม่จำเป็นต้องซื้อหนังสือทุกเล่มหรอกค่ะ ลูกๆอาจจะไปยืมจากห้องสมุดที่โรงเรียนก็ได้ หรือ อาจจะยืมจาก TK Park หรือ อาจจะทำการแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆในชั้นเรียนก็ได้ค่ะ หากมีหนังสือเล่มใดที่ชอบมากๆ จึงซื้อก็ได้ มีหลายวิธีค่ะ ที่ไม่สิ่นเปลืองเงืนทอง และเนื้อที่ในการเก็บที่บ้าน วิิธีการนี้ เด็กก็จะได้หัดแยกแยะว่า ข้อมูลใดสำคัญ หรือ ไม่ น่าสนใจหรือไม่ หากไม่น่าสนใจ ก็อ่านผ่านๆ

อยากแนะนำให้เพื่อนๆ ลองอ่านหนังสือ 10 นาทีมหัศจรรย์ยามเช้า สร้างลูกรักการอ่าน ให้ละเอียด เพราะดิฉันเองก็คงเล่าไม่หมด ในภาคผนวกของหนังสือเล่มนี้ มีการเขียนเรื่อง "วิธีอ่านหนังสือแยกประเภท สภาพแวดล้อม และอายุ" ซึ่งจะช่วยให้เพื่อนๆ และเด็กๆสามารถเลือกประเภทของหนังสือที่มีความยากง่ายเหมาะกับวัย และความสนใจได้

สิ่งที่เราสามารถช่วยลูกให้ทำแบบฝึกหัดนี้ได้อย่างสนุกสนาน คือ การอ่านด้วยกัน ในการที่ฝึกลูกให้รักการอ่านนั้น คุณพ่อ คุณแม่ และคนในครอบครัว ควรอ่านด้วยค่ะ ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือเล่มเดียวกัน แต่การมีหนังสือเล่มโปรดของแต่ละคน และจัดเวลาในการอ่านหนังสือของตัวเอง เป็นเรื่องที่สนุกสนาน และช่วยให้มีสมาธิมากขึ้น

ในเวลาอ่านหนังสือของครอบครัว แต่ละคนจะไม่ต้องรบกวนกัน ไม่ต้องเปิดทีวี หรือ คุยกัน จนเด็กเสียสมาธิ แต่ให้ต่างคนต่างอ่าน หรือ ทำงานของตัวเองเงียบๆ วิธีการนี้จะเหมาะกับเด็กโตนะคะ แต่หากเด็กเล็กในระดับอนุบาล หรือ ประถมหนึ่งก็อาจจะต้องมีการช่วยเหลือกันนิดหน่อย เพราะเด็กอาจจะยังอ่านไม่เป็น เราอาจจะต้องช่วยอ่านบ้าง หรือสอนลูกอ่านออกเสียงจนคล่อง เมื่อลูกอ่านหนังสือคล่องแล้ว อ่านในใจได้แล้ว ก็ปล่อยให้อ่านเองค่ะ

สิ่งที่เราควรทำประการต่อมา คือ การตั้งคำถามให้ลูกล่วงหน้า การอ่านหนังสือของเด็กเล็ก หรือ เด็กประถมนั้น หนังสือที่เลือก ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือเล่มโตๆนะคะ อาจจะเป็นนืทานเล่มเล็กๆ ไม่กี่หน้า หรือ อาจจะเป็นวารสารสนุกๆเหมาะกับวัย (ซึ่งเดี๋ยวจะเล่าต่อไป) ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ สามารถอ่านจบภายในเวลาไม่ีกี่นาที จากนั้น เพื่อนๆก็ตั้งคำถามไว้ ให้ลูกหาคำตอบจากเรื่องที่อ่าน เช่น


ใคร
ทำอะไร
ที่ไหน
เมื่อไหร่
อย่างไร

ลูกคิดว่า เรือ่งนี้เป็นอย่างไร สนุกหรือไม่ ลูกชอบอะไร หรือ ลูกไม่ชอบอะไรบ้าง หากเป็นลูก ลูกจะทำอย่างไร

เป็นต้น

การตั้งคำถามให้ลูกล่วงหน้า ทำให้เค้าจะมีเป้าหมายในการอ่าน และพยายามจับใจความสำคัญให้ได้ค่ะ


แต่หากเป็นกรณีเด็กโต ที่ฝึกอ่านมาหลายปีแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามก็ได้ค่ะ แต่ให้ถามในเชิงเปิดกว้างเช่น เรื่องนี้ลูกเรียนรู้อะไรบ้าง ชอบหรือไม่ชอบอย่างไร หากเป็นลูก ลูกจะทำอย่างไร เป้นต้น


ที่สำคัญที่สุด คือไม่ว่าลูกๆจะตอบอย่างไร เข้าท่าหรือไม่ในความรู้สึกของเรา เราอย่าไปวิพากย์วิจารณ์ พิพากษาว่า ถูกหรือไม่ถูก ไม่ดี เป็นต้น แต่ให้ใช้วิธีตั้งคำถามใหม่ ที่นำไปสู่การตอบที่ถูกต้อง (ในกรณีที่ตอบไม่ตรงกับเรื่องราวที่เขียน) เพราะบางที คำถามที่เราถาม ก็อาจจะไม่ถูกต้องก็ได้ค่ะ
 
สิ่งที่ควรทำต่อมา เพื่อช่วยเหลือ และฝึกลูกให้รักการอ่าน คือ การตั้งวงสนทนา พูดคุยกันในเรื่องหนังสือที่อ่าน หลังการอ่านทุกครั้ง ซึ่งเทคนิคนี้ เป็นเทคนิคที่มีการกล่าวในหนังสือ และเทคนิครณรงค์เรื่องการอ่านของประเทศสิงคโปร์ การตั้งวงถกกัน เรื่องหนังสือที่อ่าน เป็นการแบ่งปันความคิด หรือ ข้อมูลให้กว้างขวางออกไป เป็นการต่อยอดทางสติปัญญาให้กว้างไกล หลายๆมุมมอง และเป็นการฝึกเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น และอย่าตัดสิน อย่าพิพากษาหรือเอาชนะคะคานกัน ว่าความคิดของใครถูกหรือผิด เป็นแค่การแบ่งปันมุมมองเท่านั้น


การตั้งวงพูดคุยนี้ อาจจะทำได้หลายๆแบบ เช่นการคุยแบบเสรี หรือสุนทรียสนทนา คุยกันไปเรื่อยๆเวลาไม่จำกัด โดยที่เราอาจจะให้ลูกเล่าเรื่องที่ลูกอ่านอยู่ ว่า เรือ่งราวเป็นอย่างไร แล้วมีความเห็นอย่างไร และคุณพ่อคุณแม่ ก็ได้แบ่งปันมุมมองต่างๆกับลูก ในเรื่องนั้นๆ

ในช่วงนี้จะเป็นเวลาที่ดี หากเด็กๆจะได้จดข้อมูลที่ตัวเองคิด มุมมองที่พ่อแม่ หรือ เพื่อนๆคิด แล้วสรุปว่า ในความเห็นของตัวเองนั้น มีความคิดสรุปว่าอย่างไร สิ่งนี้ก็จะเป็นข้อมูลที่เด็กๆสามารถเอาไป ใส่ในสมุดบันทึกการอ่านได้


กรณีที่เป็นเด็กเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประถมต้น คุณพ่อคุณแม่ อาจจะต้องรับฟังความคิดของลูกๆว่าคิดอย่างไร ให้ลูกสรุปเรื่องราวที่อ่าน ความคิด มุมมองต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่น้องอาจจะแต่งประโยคไม่เป็น เราก็ค่อยๆชี้แนะเรื่องแต่งประโยคให้ลูกไปก่อน อย่าเพิ่งไปคาดหวังว่าเด็กๆจะสามารถแต่งประโยคได้ถูกต้องสละสลวย แต่ในขณะเดียวกัน ก็อย่าได้แต่งประโยคหรือเขียนแทนลูก แต่ให้สอนลูกให้แต่งประโยค ที่ลูกต้องการสื่อสารออกมาค่ะ 

ในการอ่านหนังสือของครอบครัว หรือ การตั้งวงสนทนากันนั้น มีวิธีการอีกค่ะ ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถ ช่วยลูกได้ เช่น คุณพ่อ คุณแม่เองก็อาจจะอ่านหนังสือที่เหมาะสม กับวัยของลูกไปด้วย แล้วมาเล่าสู่กันฟังในวงสนทนากัน ว่า หนังสือเล่มนี้ที่คุณพ่ออ่านอยู่ มีเรื่องย่ออย่างไร น่าสนใจน่าติดตามแค่ไหน แต่อย่าเล่าหมด หรือ อย่าตอบคำถามให้ทั้งหมด วิธีนี้ อาจจะช่วยโน้มน้าวให้ลูกอย่างอ่านมากขึ้น และอ่านไ้ด้เร็วขึ้น เพราะทราบเรื่องย่อมาก่อนแล้ว

ถือว่าเป็นวิธีทางลัดอย่างหนึ่ง เพราะอ่านทีนึงได้สามเล่ม เทอมละ 40 เล่มก็ไม่ยากเกินไปค่ะ
 
มาคุยเรื่องการเลือกหนังสือในการอ่านสักนิด

ในหนังสือเรื่อง 10 นาทีมหัศจรรย์ยามเช้า สร้างลูกรักการอ่าน นั้นกล่าวว่า "อย่า ด่วนสรุปว่า ลูกเรารักการอ่าน หากเด็กๆยังอ่านหนังสืออยู่แนวเดียว หรือ อ่านแบบลวกๆ คือรีบๆ อ่านจนจับใจความได้ไม่ถึง 20% ของเนื้อเรื่อง และอย่ายึดติดที่ปริมาณหนังสือที่ลูกอ่านเยอะๆ ก็ใช้ได้แล้ว "

การฝึกลูกให้อ่านเป็น ควรให้อ่านหลากหลาย และการอ่านนั้น ไม่ควรอ่านเร็วเกินไป เช่น เล่มนึงอ่านจบในเวลา 30 นาที ถือว่าเป็นการอ่านแบบลวกๆ ไม่มีประโยชน์ และการอ่าน วันละ 1-2 เล่มนี่ก็ถือว่ามากเกินไป เพราะสมองยังซึมซับข้อมูลไม่หมดค่ะ

ในการอ่านนั้น ที่จริงแล้วควรอ่านประมาณ 3 รอบค่ะ แต่ไม่ต้องอ่านละเอียดทุกรอบ

ในการอ่านหนังสือของดิฉันจากประสบการณ์ส่วนตัว

- รอบแรก คือ การอ่านสารบัญ และพลิกดูเนื้อเรื่องแบบคร่าวๆ ประมาณ 10-20 นาที หาก 10 นาทีแรก ไม่่น่าสนใจ ดิฉันก็จะไม่อ่านค่ะ แต่หากสนใจก็จะทำความเข้าใจกับเนื้อหาคร่าวๆ

- รอบที่สองคือ การอ่านไปเรื่อยๆ อ่านจนจบ เพื่อหาประเด็นที่น่าสนใจ (อาจจะใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน

- รอบที่สาม คืือ การอ่านเพื่อสรุปประเด็นที่สำคัญ หรือสนใจ เพื่อศึกษาประเด็นนั้นให้ลึกซึ้งอีกครั้ง และนำมาเขียน


หนังสือเล่มนี้ ที่มาเขียนและสรุปมาให้เพื่อนๆถึงวันนี้ ใช้เวลาประมาณ 3 วัน 254 หน้่า ค่ะ


การจะฝึกเด็กๆให้อ่านหนังสือหลากหลายนั้น เป็นเรื่องดีค่ะ เพราะเป็นการฝึกสมองทั้งสองซีก หากเด็กอ่านแต่การ์ตูนมากเกินไป หรือ นิยายมากเกินไปก็อาจจะมีจินตนาการสูงเกินไป จนหลุดไปจากโลกของความเป็นจริงได้ หรือ หากสนใจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีมากเกินไป ก็อาจจะขาดอารมณ์สุนทรีย์ โรแมนติก การอ่านนั้น ควรเปิดโอกาสให้เด็กอ่านข้อมูลรอบด้านทั้งเรื่องประวัติบุคคลสำคัญ เรื่องประวัติศาสตร์ของชาติ ประวัติศาสตร์โลก ศาสนา สุขภาพ เรื่องลี้ลับ มหัศจรรย์ เทพนิยาย ดาราศาสตร์ เป็นต้น


การฝึกเด็กแบบนี้ อุบายที่ดีที่สุด คือ หนังสือสารคดีที่เชื่อถือได้ วันก่อนไปดูในท้องตลาด เห็นมีหลายเล่มที่น่าสนใจค่ะ

National Geographic มีทั้งฉบับภาษาไทยและอังกฤษ
Go Genius ของนานมีบุ๊ค
National Geographic Kids
Reader's digest
ต่วยตูน
ศิลปวัฒนธรรม
เป็นต้น

พวกหนังสือนิตยสารนี่ มีข้อมูลที่หลากหลายดีค่ะ และหลายๆเล่มก็สามารถหาของเก่า ของมือสองมาอ่านได้ไม่ยาก ข้อมูลที่เขียนหลายๆเรื่องก็เป็นเรื่องกลางๆ ใช้ได้เสมอ

หากเราต้องให้เด็กอ่านหนังสือเทอมละ 40 เล่ม การให้ลูกเลือกอ่านข้อมูล และสรุปจากวารสาร หรือนิตยสารเหล่านี้ในบางเรื่อง ก็น่าจะใช้ได้ค่ะ ลองปรึุกษาคุณครูดูนะคะ เพราะ บทความในนิตยสารเหล่านี้ก็หลากหลาย น่าสนใจ และ ไม่ยาว ไม่สั้นจนเกินไป หากจุดประสงค์ของการอ่าน คือ ให้เด็กรอบรู้ หลากหลาย และรักการอ่าน ก็ไม่น่าจะผิดกติกาอะไร 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น: