วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อ่านหนังสือเทอมละ 40 เล่ม ลูกก็ทำได้ (3)


ค่า เรียนพิเศษในโรงเรียนกวดวิชาทั้งหลาย ที่ต้องจ่ายแพงมาก ทำให้การศึกษาในโรงเรียนธรรมดาลดความสำคัญลง เด็กๆต้องเสียเงินไปกับการเรียนพิเศษอย่างไม่สิ้นสุด ภายใต้ค่านิยมด้านการศึกษา และทุ่มเทเวลาไปกับการเรียนจนไม่ได้นอนเต็มตา ปัญหาคือ การเรียนดังกล่าวไม่ได้ให้ความสุขสนุกสนานเลยสักนิด ทั้งๆที่ต้องลงทุนทั้งเงินทอง และเวลามหาศาล แลกกับหยาดเหงื่อและน้ำตาของพ่อแม่ แต่เด็กๆกลับมีแต่ความทุกข์


แต่การอ่านไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเป็นการศึกษาที่เคารพลักษณะเฉพาะตนของบุคคล และมีความเป็นตัวของตัวเองสูง อย่างแรกคือ นักเรียนแต่ละคนสามารถเลือกอ่านหนังสือต่างกันได้ หรือแม้จะเป็นหนังสือเล่มเดียวกัน ก็แสดงความคิดเห็นแตกต่างกันได้ จะมีอะไรสนุกไปกว่าการเรียนแบบนี้อีกเล่า
ดร.นัม มิยอง

ปัญหาด้านการศึกษาในประเทศเกาหลี ที่ผู้เขียนได้กล่าวว่า เป็น สาเหตุแห่ความเสื่อมของการศึกษาในโรงเรียนยุคปัจจุบัน (ผลการวิจัย เกี่ยวกับการเรียนกวดวิชาใน 2001 ของ KEDI) คือ โรงเรียนกวดวิชานั่นเอง ซึ่งทำให้เด็กเกาหลี มีปัญหาเรื่องการขาดโอกาส ขาดเวลาในการพัฒนาทักษะการเรียนที่สำคัญหลายๆด้าน ทำให้เด็กไม่มีเวลาอ่านหนังสือ (เพราะเวลาหมดไปกับการเรียนกวดวิชาต่างๆ) ทำให้เด็กไม่มีเวลาเล่น ไม่มีเวลาพูดคุยกับเพื่อนๆ และพ่อแม่ ทำให้มีปัญหาเรื่องทักษะการสื่อสาร สูญเสียความสามารถในการอธิบายเรื่องราวที่มาที่ไป ตามหลักเหตุและผล ไม่ถนัดที่จะอธิบายความคิดของตัวเองออกมาเป็นเรื่องราวได้ (เพราะพ่อแม่ต่างต้องทำงานหัวปั่น เพื่อจ่ายค่าเรียนพิเศษที่แพงลิบ และเพื่อนๆก็ไม่ว่างมาเล่น มาคุยกัน เพราะต้องเรียนพิเศษเหมือนกัน) เด็กไม่ค่อยรู้คำศัพท์ (เพราะอ่านการ์ตูนมากเกินไป ซึ่งมีภาพประกอบ ทำให้เด็กไม่ต้องตีความเองจากการอ่านประโยคในหนังสือมาก) เ ป็นต้น

จากผลการศึกษาของ KEDI กระทรวงศึกษาธิการและทรัพยากรมนุษย์ของเกาหลีจึงมีการประกาศนโยบายการศึกษา ด้วยหนังสือในปี 2001 รัฐบาลมีการทุ่มเงินงบประมาณให้กับการศึกษาด้านการอ่านในโรงเรียน จำนวน 300,000 ล้านวอน ปรับปรุงห้องสมุดในโรงเรียนต่างๆให้ทันสมัย น่าเข้า มีหนังสือดีๆมากมาย และเริ่มรณรงค์ให้มีการอ่านอย่างมีคุณภาพในโรงเรียนทุกเช้าก่อนเริ่มเรียน

ในเรื่องนี้ ดิฉันเองก็เห็นใจ และนึกถึงลูกในปีต่อๆไป ว่าคงเผชิญอะไรที่คล้ายๆกัน ดิฉันเป็นคนชอบทำการบ้านล่วงหน้าค่ะ จะเดินทางก็ต้องดูเส้นทาง อ่านแผนที่ ใช้ GPS นำทางไป จะได้เมื่อถึงเวลาไป ก็ไม่เสียเวลาหลงทาง เพราะบางที อาจจะหาทาง U-Turn ยาก ชีิวิตคนเราก็ไม่ต่างกัน โลกเราเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากไม่พร้อมแต่แรก อาจจะมีปัญหาภายหลังได้

เรื่องการอ่าน 40 เล่ม ต่อเทอม แล้วต้องมาเขียนบันทึกการอ่าน นั้น อาจจะดูเหมือนยาขม สำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจจุดประสงค์ของการฝึกเช่นนี้ ดิฉันอยากลองนำเสนอ จากประสบการณ์ส่วนตัว และจากหนังสือที่มีคำแนะนำที่ดีๆ เผื่อว่าเพื่อนๆจะลองศึกษา และไปปรับใช้ดู

เท่าที่ดิฉันคิด Assignment นี้นั้น จะต้องประกอบด้วย การพัฒนาทักษะการอ่าน (รวมถึงวิธีการเลือกหนังสือ วิธีการอ่าน) การพัฒนาด้านการคิดวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการอ่าน ตลอดจน วิธีการเขียน ทักษะการเขียน และหากมีการให้พูดหน้าชั้นด้วย ก็จะเป็นการพัฒนาทักษะด้านการพูดด้วย ซึ่งถือว่า เป็นการฝึกทักษะของการทำงานอย่างแท้จริง เมื่อเด็กๆเรียนจบออกมาทำงาน ทักษะเหล่านี้ล้วนแต่ต้องใช้ในการทำงาน มากบ้าง น้อยบ้าง แต่ต้องใช้แน่นอน

หากเราแยกทักษะที่ต้องใช้ในการทำ Assignment ชิ้นนี้ เรามาดูลูกของเรา ว่ามีปัญหาด้านใด แล้วแก้ปัญหาให้ถูกจุด ก็จะไม่ยาก เด็กบางคนชอบอ่าน รักการอ่านอยู่แล้ว แต่เกลียดวิชานี้ เพราะอาจจะมีปัญหาเรื่องการเขียน หรือ การวิเคราะห์ข้อมูล ก็เป็นได้ หากเรารู้ปัญหา แล้วแก้เป็นจุดๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไป เด็กบางคนชอบการเขียน ชอบการพูด แต่ไม่ชอบอ่าน ชอบพูด ชอบเขียนในสิ่งที่จินตนการ คิดเองอิสระ ก็ีมีค่ะ หากแก้ปัญหาให้สนุกกับการอ่าน และอ่านได้ดีขึ้น การพัฒนาทักษะที่จำเป็นของเด็กๆก็ยิ่งสมบูรณ์

เดี๋ยวจะลองค่อยๆเขียน ในแต่ละประเด็น รวมทั้งเด็กแต่ละชั้นปี ก็มีวิธีการในการพัฒนาไม่เหมือนกันะทีเดียว เพราะความคาดหวังของครู ที่คาดหวังจากทักษะเด็กแต่ละวัยก็ย่อมไม่เหมือนกัน ทิศทางการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาที่มาเน้นด้านการอ่านนี่ ไม่ใช่เกิดขึ้นกับที่ประเทศไทย ในโรงเรียนของเราเท่านั้นนะคะ แต่เกิดขึ้นในเกาหลีมาตั้งแต่ปี 2001 และได้รับการตอบรับทั้งในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ สเปน หรือญี่ปุ่น รวมทั้งสิงคโปร์ ในเมื่อกระแสของการศึกษามาแบบนี้ เราเอง แม้ว่าจะชอบหรือไม่ เราก็คงต้องทำใจ และปรับตัวของลูกๆ ให้พร้อมกับการเรียนในระบบใหม่ ที่ต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น แทนที่จะพึ่งพาสถาบันกวดวิชา

ให้การบ้านหนักขนาดนี้ เด็กคงไม่สามารถไปเรียนกวดวิชากันได้แบบแต่ก่อน นอกจากพ่อแม่จะทำการบ้านแทนลูก อย่างที่คุณ G&F บอกมา และผลสัมฤทธ์ทางการเรียน ความฉลาด รอบรู้ ก็คงไปอยู่ที่พ่อแม่ แทนที่จะเป็นลูกๆของเรา ซึ่งคงไม่ใช่เป้าหมายในการส่งลูกไปเรียนของเราทุกคน จริงหรือไม่คะ




ก่อนจะต่อไป ประเด็นอื่นๆ ขออนุญาตเอาบทความเรื่องตามไปดูเบื้องหลังสร้างสังคมรักการอ่านใน "สิงคโปร์"โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 9 สิงหาคม 2554

เมื่อพูดถึง "สิงคโปร์" เป็นประเทศเพื่อนบ้าน และหนึ่งในสมาชิกประชาคมอาเซียนที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีสถิติ การอ่านค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับไทย โดยมีสถิติการอ่านหนังสือปีละ 40-50 เล่มต่อคน ขณะที่ครอบครัวไทยยังให้ความสำคัญกับการอ่านน้อยมาก

ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมประเทศเล็ก ๆ อย่างสิงคโปร์ที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติมากนัก กลับมีฐานะทางเศรษฐกิจดี และประเทศพัฒนาอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญยังโดดเด่นเรื่องความมีระเบียบวินัยของคนในประเทศ นั่นเพราะส่วนหนึ่งมาจากนโยบาย" ส่งเสริมการอ่าน" นั่นเอง

ข้อเท็จจริงข้างต้น เกียง-โก๊ะ ไล ลิน ผู้อำนวยการโครงการริเริ่มด้านการอ่าน คณะกรรมการห้องสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ (Singapore National Library Board) หนึ่งในผู้ผลักดันและสนับสนุนนโยบายส่งเสริมการอ่านของสิงคโปร์ และในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการทำงานส่งเสริมการอ่านมายาวนานกว่า 35 ปี เผยให้ฟังว่า รัฐบาลสิงคโปร์ ให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมการอ่าน โดยมีคณะกรรมการหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำนโยบายส่ง เสริมการอ่าน ซึ่งนอกจากห้องสมุด เทคโนโลยีสารสนเทศ และการบริการที่สะดวกแล้ว ต้องไม่ลืมว่าหัวใจหลัก คือ การสอนให้ประชาชนรักการอ่าน รู้จักวิธีการเลือกหนังสือ เพื่อส่งเสริมความรู้และการพัฒนาตัวเอง

สำหรับโครงการส่งเสริมการอ่านของประเทศสิงคโปร์นั้น ผู้อำนวยการโครงการริเริ่มด้านการอ่านท่านนี้บอกว่า มีหลากหลาย เน้นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทุกเพศทุกวัยอย่างกว้างขวาง โดยมีโครงการที่น่าสนใจและเป็นตัวอย่างที่ดี เช่น National Kids Read Program เป็นโครงการที่เปิดรับสมัครอาสาสมัครเพื่ออ่านหนังสือ เล่านิทานให้เด็ก ๆ ในชุมชนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษา โดยเน้นให้เด็กได้มีส่วนร่วม สนุกสนานกับเรื่องเล่า เรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษในเรื่องเล่า และได้ข้อคิดดีๆ จากเรื่องเล่าหรือนิทานที่ฟัง เพราะเมื่อเด็กสนุกก็จะทำให้พวกเขาอยากที่จะเปิดหนังสืออ่าน และมีทัศนคติที่ดีต่อการอ่านหนังสือว่าไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ รวมทั้งเด็กๆ ยังได้รับความรู้ใหม่ ๆ ที่จะนำไปใช้ในด้านการเรียนและใช้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมี โครงการ 10,000 & More Father Reading ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่ได้รับการตอบรับอย่างดีใน สิงคโปร์ เป็นกิจกรรมที่สนับสนุนให้คุณพ่อจากทุกอาชีพอ่านหนังสือให้ลูกฟัง หรืออ่านหนังสือกับลูก ๆ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความผูกพันระหว่างพ่อกับลูกผ่านการอ่านหนังสือ โดยกิจกรรมนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2550 มีผู้เข้าร่วมและได้ประโยชน์กว่า 60,000 คน

อีกทั้งยังมีกิจกรรมต่อเนื่องในชื่อว่า Read a story with my Dad เป็นการแข่งขันวิจารณ์หนังสือ โดยมีโรงเรียนอนุบาล และศูนย์ดูแลเด็กเข้าร่วม โดยห้องสมุดแห่งชาติจะมีการ์ดแจกให้เด็กๆ จากนั้นให้เด็กๆ นำกลับไปที่บ้านให้พ่ออ่านให้ฟัง เมื่ออ่านเสร็จแล้วก็ส่งการ์ดกลับมาที่ห้องสมุดแห่งชาติ เพื่อเลือกการ์ดและให้รางวัล ผู้ที่ได้รับคัดเลือกก็จะมาที่ห้องสมุดเพื่ออ่านหนังสือและทำกิจกรรมร่วมกัน จากนั้นบรรดาคุณพ่อจะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และประสบการณ์การอ่านหนังสือให้ลูกๆ ฟัง และจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ต่อไป

และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ โครงการ Read! Singapore หรือ โครงการมาอ่านหนังสือกันเถอะ เป็นโครงการรณรงค์การอ่านทั่วประเทศ เพื่อมุ่งปลูกฝังการรักการอ่านในชุมชนทั่วประเทศ เสริมความผูกผันของคนในชุมชน และจุดประกายจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ให้กับคนสิงคโปร์ ริเริ่มโดยคณะกรรมหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ โดยทำงานร่วมกับภาครีกว่า 100 แห่ง มีการจัดการอภิปรายและกิจกรรมการอ่านมากกว่า 16,000 ครั้ง กิจกรรมนี้จะมีการจัดขึ้นนาน 12-14 สัปดาห์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมของทุกปี โดยที่ผ่านมามีผู้ร่วมโครงการแล้วกว่า 160,000 คนภายในปี 2553


เมอร์ไลออน หรือ สิงโตทะเล สัญลักษณ์ของคณะกรรมการการท่องเที่ยวของสิงคโปร์
"การอ่านเป็นนิสัยที่ดีที่สุดในการบ่มเพาะสติปัญญา แม้ในโลกปัจจุบันผู้คนนิยมใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น แต่ก็ยังมีกลุ่มคนรักการอ่านหนังสือผุดขึ้นมากมายทั่วโลก อย่างโครงการหนึ่งเล่มหนึ่งเมืองของสหรัฐอเมริกา ขณะที่เรามีโครงการมาอ่านหนังสือกันเถอะ!สิงคโปร์ ซึ่งโครงการนี้ถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะสามารถดึงกลุ่มเป้าหมายจากหลากหลายอาชีพมาจัดตั้งชมรมการอ่านเฉพาะ กลุ่มขึ้น เช่น กลุ่มคนขับรถแท็กซี่ ครู ช่างทำผม เจ้าหน้าที่ดูแลสุขภาพ พนักงานโรงแรมและบริการ กลุ่มผู้สูงอายุ เยาวชน ประชาชนทั่วไป หัวหน้าองค์กรรากหญ้า รวมถึงเจ้าหน้าที่พลเรือน และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ปัจจุบันมีชมรมการอ่านเฉพาะกลุ่มขึ้นมากกว่า 90 แห่ง"

"ดังนั้นเราดีใจที่เห็นคนทุกกลุ่มหันมาสนใจการอ่าน และพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน หลังจากที่พูดคุยกันเสร็จก็มีการไปอ่านหนังสือเล่มเดิมซ้ำอีก เพราะประเด็นที่พูดคุยกันมีหลากหลาย น่าสนใจ ทำให้เราสนใจและกลับไปอ่านหนังสือเล่มนั้นเพิ่มเติม ที่สำคัญคือ เราเห็นว่าคนที่มาทำกิจกรรมร่วมกันมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน นอกจากจะส่งเสริมการอ่านแล้ว ยังเป็นการสร้างความสามัคคีของคนในชาติ ส่งเสริมความสัมพันธ์ของคนแต่ละกลุ่ม แต่ละชุมชนอีกด้วย" เกียง-โก๊ะ ไล ลิน กล่าว

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการโครงการริเริ่มด้านการอ่าน ยังกล่าวย้ำอีกว่า การส่งเสริมให้ประชาชนทุกวัยทุกอาชีพ และทุกครอบครัวหันมาสนใจการอ่านหนังสือ ไม่ใช่แค่การให้อ่านหนังสือแล้วจบไป แต่เมื่ออ่านหนังสือเสร็จแล้ว ยังมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลายจากหนังสือที่อ่านเรื่อง เดียวกัน ทั้งนี้เพื่อมุ่งพัฒนาให้คนสิงคโปร์มีทักษะการคิดแบบวิพากษ์วิจารณ์ มีความคิดสร้างสรรค์ และกล้าแสดงออก ถือเป็นการสร้างวัฒนธรรมการอ่านขึ้นในชุมชนทั่วประเทศ

นี่คือตัวอย่างประสบการณ์การส่งเสริมการอ่านของประเทศเพื่อนบ้านประเทศเล็ก ๆ อย่างสิงคโปร์ ที่แสดงให้เห็นการสร้างคนคุณภาพ และสังคมน่าอยู่ด้วยนโยบายส่งเสริมรักการอ่าน โดยอาศัยความรู้ และความร่วมมือจากหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล เอกชน และคนในประเทศที่จะช่วยกันขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการอ่านให้ประสบความ สำเร็จ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของคน และสังคมให้น่าอยู่ต่อไป

แต่พอย้อนกลับมามองประเทศไทย หลาย ๆ ฝ่ายคงตั้งคำถามกันว่า บ้านเรามีนโยบายส่งเสริมรักการอ่านไม่ต่างไปจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ทำไมตัวเลขการอ่านของเรายังอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศ อื่น ๆ เช่น เวียดนามอ่านหนังสือเฉลี่ย 60 เล่มต่อปี สิงคโปร์อ่านหนังสือเฉลี่ย 40-50 เล่มต่อปี มาเลเซียอ่านหนังสือเฉลี่ย 40 เล่มต่อปี ในขณะที่ประเทศไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย 2-5 เล่มต่อปีเท่านั้น


ไม่มีความคิดเห็น: