วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554

จ่ายไหวไม๊ เรียนโรงเรียนไทย หรือ อินเตอร์ดีหนอ (3)

ในเรื่องการบริหารการเงินของพ่อแม่ ที่นอกจากจะต้องประหยัดเงินให้ได้เดิอนละ ๗๒๐๐๐ บาท ค่อลูกหนึ่งคน อาจจะไม่ต้องหนักขนาดนั้น หากวางแผนชีวิตให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง ในแบบที่ดิฉันแนะนำมาข้างต้น แต่หากพ่อแม่ยังต้องการประคับประคองลูกต่อไป เพราะไม่มั่นใจว่าลูกจะเก่งพอที่จะทำได้ดังที่แนะนำหรือไม่ ก็คงต้องหาทางค่ะ

มีหลายทางที่อาจจะทำได้อีก เช่น

การซื้อประกันชีวิต + การออม จะมีผลิตภัณฑ์ของประกันที่ออมเพื่อการศึกษา จ่ายเงินปีละเท่าไหร่ เมื่อครบกำหนด ก็จะมีเงินคืน ตามจำนวนที่ระบุไว้ หรือหากเราเสียชีวิตก่อน ประกันก็จะจ่ายต่อจนครบกำหนด แล้วให้ลูกตามเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา ซึ่งลูกใช้เป็นค่าเล่าเรียนได้ ในระดับปริญญาตรี หรือ โท
นี่ก็เป็นทางหนึ่งค่ะ ที่ลดความเสี่ยง ค่าเบี้ยก็เป็นหลักหมื่นขึ้นไปต่อปี

ซื้อประกันสุขภาพที่ครอบคลุม คนในครอบครัว เวลามีใครป่วย จะได้ไม่กระทบการเงินของครอบครัว

ป้องกันความเสี่ยง ให้กระจายการลงทุน อย่าเป็นหุ้น หรือ ทอง หรือ ฝากแบงก์อย่างเดียว ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ มีคำแนะนำที่น่าสนใจค่ะ ลองศึกษาดู

สอนลูกเรื่องการลงทุนและการออมค่าขนม และการทำงานอดิเรกที่สร้างรายได้ พอลูกอยู่ชั้นมัธยม ก็จะมีเงินก้อนโตพอสมควร ที่เขาจะคิดเอาเงินไปลงทุน เพื่อให้ออกดอกออกผล และช่วยเรื่องการศึกษาในระดับสูงของลูกได้เอง

ลองศึกษาช่องทางการประหยัดภาษี ซึ่งรัฐบาลมักมีการออกกฎใหม่ๆ มาตรการใหม่ๆทุกปี ต้องคอยอัพเดทค่ะ และใช้สิทธิ์ให้มากที่สุด เช่นการซื้อ RMF LTF ก็ต้องเลิอกซื้อค่ะ ต้องคอยศึกษาว่า กองใด ให้ผลตอบแทนดี แต่ละบริษัท มีความสามารถในการบริหารกองทุนไม่เท่ากัน และในช่วงเวลาแต่ละช่วง เศรษฐกิจผันผวน ต้องเลิอกว่าจะลงทุนในสิ่งใด ที่เสี่ยงต่ำ และให้ผลตอบแทนดี นี่ต้องศึกษาตลอดค่ะ ไม่งั้น ทำไม่ได้แน่ ปีละ ๑๐%
เรื่องการทำงานไปเรียนไป ในระดับปริญญาตรี นี่ พ่อแม่ต้องทำใจนะคะ งานที่ได้อาจจะเป็นงานไม่มีตำ่แหน่ง แต่คิดเสียว่าให้เด็กๆได้ฝึกตั้งแต่พื้นฐาน ตอนที่เรียนตปท. ดิฉันทำงานเป็นแม่บ้านค่ะ ทำความสะอาดหอพัก เปลี่ยนผ้าปูที่นอน ซักผ้าม่าน ผ้าปูเตียง ทุกอย่าง วันละ ๓๐ กว่าห้องทุกวัน ทำงานวันละ ๔ ชม. ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่เจ้านายก็สอนค่ะ ว่าต้องทำงานอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ทำงานเร็ว สะอาด ทันเวลา นี่เป็นประสบการณ์ล้ำค่า ที่ใช้บริหารพนักงานมาจนถึงทุกวันนี้เหมือนกัน

ตอนที่ใกล้จบ ดิฉันได้ทำงานในออฟฟิต ทำงานเป็นพนักงานถ่ายเอกสารทางกม. วันหนึ่งเป็นร้อยๆชุด ต้องเรียนเหมือนกันว่า ทำอย่างไร จึงจะเร็วและถูกต้อง เพราะเป็นเอกสารสำคัญ ต่อมาได้เลื่อนเป็นพนักงานรับโทรศัพท์ จัดเอกสาร ก็เรียนรู้เหมือนกัน ว่า ต้องทำอย่างไร จึงจะทำแบบ Professional หาง่าย ถูกต้อง แบบมืออาชีพ

ตอนกลับมาเมืองไทย การงานและเงินเดือนจึงก้าวหน้ากว่า เพื่อนๆในวัยเดียวกันมากค่ะ

ในเรื่องประกันชีวิต หรือ เงินออมด้านการศึกษา เคยมีเพื่อนๆหลายคน มาปรึกษาว่า จะซื้อเท่าไหร่ดี การวางแผนการเงินเรื่องการซื้อประกันนี่ หากซื้อมากเกินไป ก็อาจจะเป็นภาระ หากจ่ายไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง ต้องมาเปลี่ยนประเภทกรมธรรม์ หรือ ทิ้งไปไม่จ่ายต่อนี่ เงินออมจะเสียหายมาก อีกทั้งดอกผลที่ได้จากการฝากประกัน ก็น้อยมาก ไม่คุ้มกับการออมเงิน เพราะจุดประสงค์ของการซื้อประกัน คือ ความคุ้มครอง และป้องกันความเสี่ยง มิได้หวังผลเรื่องดอกผลงอกเงย

ในหนังสือเล่มนี้ คือ "ปั้นเศรษฐีน้อยจากร้อยสู่ล้าน" ก็มีคำแนะนำที่น่าสนใจ คือ ให้ซื้อทีละน้อย สูตรคือ ประมาณ ๑๐% ของรายได้

เช่นตอนที่รายได้ เดือนละ ไม่กี่หมื่น ก็คำนวณว่า ปีหนึ่งมีรายได้รวมเท่าไหร่ และซื้อประกันที่จ่ายเบี้ยประมาณ ๑๐% ของรายได้ ต่อมาเมื่อรายได้เพิ่ม ก็ค่อยซื้อกรมธรรม์เพิ่ม วิธีนี้จะทำให้มีการบังคับออม อย่างน้อยปีละ ๑๐% หากคำนวณดอกเบี้ยอาจจะไม่มาก แต่หวังผลเรื่องการคุ้มครองในกรณีที่เสียชีวิต หรือ เจ็บป่วย หรือได้เงินก้อนมาเป็นค่าเล่าเรียนลูก ตอนที่ลูกโตและเรียนในระดับมหาวิทยาลัย

ในตอนแรกอาจจะมุ่งซื้อประกันที่จ่ายเบี้ยระยะยาว ได้เงินคืนตอนลูกเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อหาเงินให้ลูกเรียนในระดับมหาวิทยาลัย

เมื่อเราทำงานนานขึ้น หน้าที่การงานสูงขึ้น อายุงานสั้นลง ก็ซื้อแบบจ่้ายเบี้ยระยะสั้นลง เพื่อหาเงินให้ลูกเรียนในระดับมัธยม ต่อไป

มีอีกหลายเทคนิคค่ะเรื่องการซื้อประกันเหล่านี้ ลองศึกษาจากหนังสือเล่มนี้ดูนะคะ

หากเป็นรร.นานาชาติอื่นๆที่ยังนับเป็นรร.ที่ดี แต่อาจไม่เก่าแก่เท่าบางรร. มี accreditation ที่ดีจากตปท.และได้การรับรองจากกระทรวงศึกษาของไทย มีคุณครูที่มีคุณภาพ เครือข่ายผปค.ที่ดี ฯลฯ ก็ตกปีละประมาณ ๓-๔ แสนบาทในระดับประถม...และ ๕-๖ แสนในระดับมัธยม (รร.นานาชาติHarrow ก็อยู่ในระดับประมาณนี้) รวมแล้ว ๑๒ ปี ก็ยังไม่ถึง ๑๐ ล้านบาท (แน่นนอนค่ะว่า ยังแพงลิ่วอยู่ดี)

ส่วนตัวแล้ว การที่ให้ลูกเรียนต่อรร.นานาชาติในระดับประถม โดยเริ่มต้นตั้งแต่อนุบาล เรื่องภาษาอังกฤษไม่ใช่ปัจจัยสำคัญประการแรก เนื่องจากในครอบครัวเราใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตปจว.กับลูกอยู่แล้ว และอยุู่ในเมืองไทย ซึ่งภาษาอังกฤษไม่ได้เป็นภาษาราชการ ความรู้ภาษาอังกฤษจริงๆเอาแค่พอประมาณ ฟัง พูด อ่าน เขียนได้ดี มีทักษะการใช้ภาษาที่ดี...ความจริง น่าจะเพียงพอแล้วในการทำงานในบริษัทข้ามชาติ

ส่วนตัวแล้วคิดว่า รร.นานาชาติ ไม่ใช่รร.สอนภาษา แต่เป็นการเรียนรู้ทักษะ วิชาการ และการสร้างทัศนคติต่างๆของเด็กในสังคมที่เป็นนานาชาติ ("อืนเตอร์" ไม่ใช่ "ไฮโซ") รร.มีข้อดีในการช่วยปลูกฝังพื้นฐานให้เด็กเป็น global citizen จากการได้เรียนร่วมกับเพื่อนต่างชาติ ศึกษาเรื่องราวเกี่่ยวกับปท.ต่างๆและวัฒนธรรมของต่างปท.ไปพร้อมๆกัน ได้เรียนวรรณคดีของต่างปท.ในวิชาหลักตั้งแต่ระดับประถม ฯลฯ (ไม่ได้หมายความว่า เด็กในรร.ไทยจะเป็นไม่ได้หากได้รับการหล่อหลอมที่ดี)

แน่นอนว่าเป็นทางเลือกที่ค่อนข้างแพง...แต่เด็กไทยที่ประสบความสำเร็จ จากการเรียนในระบบนี้เท่าที่ทราบ มีไม่น้อยค่ะ เพียงแต่ผปค.ของเด็กเหล่านั้น อาจไม่ได้เข้ามาในเว็บนี้เท่านั้น...ซึ่งก็เป็นแนวทางของแต่ละบ้าน

นี่เป็นข้อมูลความคิดเห็นของเพื่อนๆท่านหนึ่งในเวบบอร์ดค่ะ จากประสบการณ์จริงของครอบครัวของเธอ

และความเห็นข้างล่างนี้ก็เป็นความเห็นของเพื่อนอีกท่านหนึ่งในเวบบอร์ด

ผมเคยลองคิดเล่นๆในมุมของตัวเงินอย่างเดียว ได้ตัวเลขที่น่าสนใจครับ

ผมเริ่มที่สมมุติฐานที่ว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับเรียนโรงเรียนอินเตอร์ฯเป็น Flat Rate ที่ 1 ล้านบาทต่อปี นับตั้งแต่ประถมหนึ่งถึงมหาวิทยาลัย รวมแล้ว 16 ปี แล้วคิดเทียบดูว่าถ้าเราสามารถนำเงินจำนวนเดียวกันไปลงทุนและได้ผลตอบแทน เฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี และผลตอบแทนที่ได้ผมจะลงทุนรวมเข้าไปด้วยกับเงินลงทุนเดิม

ได้ตัวเลขออกมาว่าเมื่อครบ 16 ปี เงินกองนี้จะมีมูลค่า 39,544,702.85 บาท

เมื่อครบ 16 ปี ถ้านำผลตอบแทนจากเงินกองนี้มาใช้ปีละ 7 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 3 เปอร์เซ็นต์ยังให้คงอยู่ในกองทุนนี้สำหรับเผื่อค่าเงินเฟ้อ

จะมีเงินรายเดือนสำหรับใช้จ่าย เดือนละ 230,677.43 บาท

ผมไม่แน่ใจว่าเงินเดือนสำหรับปริญญาตรีในอีก 16 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่พอจะมั่นใจได้ว่าเงินรายเดือนสองแสนเศษนี้น่าจะพออยู่ได้อย่างไม่ขัดสน

ทั้งหมดนี้คือคิดในแง่ตัวเงินเท่านั้นครับ แต่การศึกษามีอะไรมากไปกว่าการเรียนเพื่อจบมาทำงาน มีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในระหว่างการศึกษา ก็คงต้องชั่งน้ำหนักกันดูสำหรับแต่ละครอบครัวครับ

น่าคิดนะคะ หากเงินก้อนนี้ นำไปเพื่อสร้างประชาชนที่แข็งแกร่ง และสร้างคุณค่าให้กับสังคมและประเทศชาติ เงินจำนวนนี้ ถือว่าคุ้มค่าที่ลงทุนในตัวลูก

แต่หากเลี้ยงลูกไม่เป็น ไม่ได้อบรมให้เป็นคนดี มีศีลธรรมจรรยา มีคุณค่าต่อสังคม ก็เหมือนเอาเงินกองนี้ ไปทิ้งโถส้วม เสียดายเหมือนกัน

ไม่มีความคิดเห็น: