วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

หลักการทำโทษเด็ก #

หลักการทำโทษเด็ก จากหนังสือ รักลูกให้ถูกทาง ของพระพรหมมังคลาจารย์ (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ) ในบท วิธิแก้นิสัยเกเร ผู้อ่านสามารถ download หนังสือเล่มนี้ทั้งเล่มได้เลยครับ # หมอมินรักษ์โลก

หลักการทำโทษเด็ก 14 ข้อ


1. อย่าลงโทษเด็กในเมื่อความผิดนั้นไม่ได้ปรากฏต่อหน้า หรือไม่มีพยานหลักฐานว่าเป็นความผิดของเขา

2. อย่าทำโทษเด็กเพื่อประชดประชันอีกคนหนึ่ง เช่น โกรธพ่อทุบลูกเสียบอบช้ำไป อย่างนี้นับว่าไม่เป็นธรรมแก่เด็ก

3. อย่าผลัดเพี้ยนการทำโทษในเมื่อความผิดนั้นได้ปรากฏต่อหน้า หรือมีพยานหลักฐานแล้ว เช่น ผลัดว่า "รอให้พ่อกลับมาก่อนเถอะ จะให้พ่อเฆี่ยน"

4. อย่าเอาสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับโทษของเด็กมาเป็นการลงโทษเด็ก เช่น สัญญาว่าคืนนี้จะพาเด็กไปดูละคร พอเด็กกระทำผิดก็เลยงดการดูละครเสีย การงดไปดูละครเป็นการลงโทษเด็ก ซึ่งไม่เกี่ยวกันและไม่สมควรทำเช่นนั้น

5. อย่าเอาชนะเด็กภายหลังที่ทำโทษเด็กแล้ว จะทำให้เด็กคิดเห็นไปว่าการทำโทษเป็นการบรรเทาโทสะของตน หรือทำให้เด็กมองเห็นว่าท่านเป็นคนอ่อนแอ เด็กจะไม่เกรงกลัวในกาลต่อไป

6. อย่าลงโทษเด็กที่ได้รับโทษตามความผิดของเขาแล้ว เช่น เด็กซนไปล้มลงท่านก็โกรธไปตีซ้ำ พร้อมกับพูดหยาบสำทับเขา ย่อมเป็นการไม่เหมะสม เพราะการหกล้มสอนเขาให้รู้ว่าเจ็บปวดขนาดไหนอยู่แล้ว อย่าเพิ่มความปวดร้าวทางจิตใจเขาอีกเลย และหากว่าเด็กยังไม่เดียงสา ท่านก็ควรให้ความระมัดระวังแก่เขา

7. อย่าทำโทษเด็กด้วยลิ้นของตน การด่าว่าบ่นจู้จี้เด็กเป็นสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นการถ่ายทอดนิสัยให้เด็กเปล่าๆ คนปากจัดจึงควรระวังสักหน่อย

8. สิ่งใดที่ท่านบอกว่าผิด ก็ให้ถือว่าเป็นความผิดตลอดไป เช่น เด็กของท่านตบหน้าท่าน ท่านก็ตีเขาในฐานะที่ความประพฤติไม่ดี แต่ต่อมาเขาตบหน้าท่านอีก บังเอิญอารมณ์ของท่านดี ท่านหัวเราะเห็นเป็นของขันไป การกระทำของท่านทำให้เด็กงงงวย ไม่สามารถเข้าใจว่าเมื่อไรการกระทำเช่นนั้นถูกผิดอย่างไร

9. อย่าทำโทษให้ผิดกันระหว่างผู้มีสิทธิทำโทษเด็ก พ่อทำโทษเด็กอย่างใดในความผิดอย่างหนึ่ง แม่ก็ควรทำโทษแบบเดียวกัน

10. อย่าทำโทษโดยความลำเอียง เช่น พี่น้องทะเลาะกัน พี่ถูกทำโทษหนัก น้องถูกทำโทษสถานเบาเพราะเห็นว่าเล็กกว่า ทำให้พี่เกิดน้อยใจและริษยาน้อง เกิดความเคียดแค้น อาจที่จะทำร้ายน้องได้ในภายหลัง และขาดจากความเคารพในตัวท่านด้วย

11. อย่าทำโทษเด็กโดยอาการเปาะแปะและพร่ำเพรื่อ จงทำให้เป็นกิจจะลักษณะ

12. จงอย่าลงโทษเด็กโดยอาการไม่สมควร เช่น โกรธไม่พูดด้วยสามวัน

13. อย่าโต้แย้งในเรื่องการลงโทษเด็กต่อหน้าเด็ก ถ้าจะโต้แย้งกันต้องอย่าให้เด็กเห็น

14. อย่าแสดงอาการเหลาะแหละ ไม่กล้าเอาจริงเอาจัง ด้วยการแสดงเอะอะให้คนอื่นทำโทษเด็กให้ การทำโทษนั้นจะไม่ศักดิ์สิทธิ์ และไม่ทำให้เด็กเชื่อถือยำเกรง

Credit picture: www.dek-d.com

ขอบคุณข้อมูลจากหมอมิน  ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทยค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น: