วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2555

ลงโทษลูกอย่างไร ให้ไม่มีปัญหา


ดิฉันอยากเล่ารายละเอียดปลีกย่อย จากการบรรยายพิเศษเรื่อง "ปรับพฤติกรรมเด็กบนพื้นฐานการมีสติ"  มีคำถามเพื่อนๆผปค.บางท่าน เกี่ยวกับ การใช้วิธีการลงโทษลูกแล้ว ไม่ได้ผลหลายท่าน  และบางท่านอาจจะประสบปัญหาคือ นอกจากจะปรับพฤติกรรมไม่ได้ผล แล้ว ลูกอาจจะมีปัญหามากกว่าเดิม  หรือ มีปัญหาพฤติกรรมอื่นๆตามมา  อันมาจากการต่อต้าน หรือ เรียกร้องความสนใจของเด็ก  เช่น

"เรื่องtime out เช่นเวลาที่แกโวยวายหรือเอาแต่ร้องไห้ บางทีก็จะใหไปอยู่อีกห้องหนึ่ง แกจะกลัวคะ เพราะเคยเอาให้ไปอยู่บางครั้งก็แกล้งปิดประตูที่นี้ร้องลั่นเลย นึกว่าเอาไปขัง. พอครั้งหลังเวลาที่ทำผิดสล้วบอกว่าต้องไปห้องนี้จะกลัวไม่กล้า หลังๆไม่ใช้วิธีนี้ อย่างนี้มีผลอะไรกับเขาไหม๊คะพี่หุย ขอคำแนะนำด้วยคะ"

หรือ

" ลูกถูกลงโทษ ด้วยการให้ออกจากห้องเรียน เมื่อ "ป่วน" ในห้อง ผลก็คือลูกชอบมาก เพราะไม่ต้องเรียนวิชาที่ไม่ชอบ จึงป่วนทุกครั้งที่ไม่อยากอยู่ในห้อง"

สิ่งที่เกิดขึ้นจากตัวอย่างในสองกรณีนี้   คือ การใช้การลงโทษ ที่ไม่ชัดเจน หรือ ผิดวิธีค่ะ  ทำให้การลงโทษนั้นไม่ได้ผล  และเมื่อการลงโทษนั้น ไม่ได้ผล ไม่สามารถหยุดปัญหาพฤติกรรมเด็กได้  ก็ต้องหาวิธีการอื่นในการปรับพฤติกรรมเด็ก   

วิธีการลงโทษเด็กที่มีพฤติกรรม ที่ไม่พึงประสงค์  ผปค. ต้องการ "หยุด" พฤติกรรมดังกล่าว  ผปค. ควรใช้วิธีการเป็นขั้น เป็นตอนดังต่อไปนี้

1)  พูดคุย อธิบายให้ชัดเจน  ไม่ใช้อารมณ์ว่า  พฤติกรรมที่ลูกทำนี้(ต้องกำหนดพฤติกรรมให้ชัดๆ ว่า อาละวาด ลงไปดิ้นที่พื้น  หรือ ตีคนอื่น เป็นต้น)  ไม่ดีอย่างไร มีผลเสียอย่างไร  และลูกต้องหยุดพฤติกรรมนี้

2) ทำข้อตกลงกับลูก และ กำหนดบทลงโทษไว้ชัดเจน และทำตามนั้น เช่น   หากเห็นอีก จะเตือน กี่ครั้ง   หากเตือนแล้วลูกไม่หยุด จะมีการตี หรือ จะลงโทษด้วยการตัดเงิน หรือ งดกิจกรรมที่ชอบ หรืออะไร ก็ต้องกำหนดชัดเจน


ในขั้นตอนเหล่านี้ ต้องเรียกมาคุย ด้วยความเมตตา ไม่คุยในขณะที่มีอารมณ์โกรธ และต้องรอความพร้อมของเด็กในการฟัง อย่าพูดในขณะที่เด็กกำลังโกรธ หรือไม่สนใจ  เพราะต้องอาศัยความร่วมมือและยินยอมจากลูกด้วย


เมื่อลูกมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ที่พูดคุยไว้  เราก็เตือนลูกตามขั้นตอนที่ตกลงกัน ทันที ไม่มีข้อยกเว้น  และต้องลงโทษ เมื่อลูกไม่ทำตามที่ตกลงกัน จะตีกี่ที ก็ต้องตามนั้น ไม่ตีเบา ไม่ตีแรงเกินไป หรือไม่ตีเกินจำนวนครั้งที่กำหนด  ข้อสำคัญ คือ เราต้องควบคุมอารมณ์ของเราให้ได้  การดุ ตำหนิ หรือ ลงโทษลูก ต้องทำด้วยความรัก และกำจัดอารมณ์ โกรธ ผิดหวัง เสียใจออกไป  และการลงโทษ ควรทำในที่ๆเป็นส่วนตัว  ไม่ทำให้เด็กเสียหน้าค่ะ


ในกรณี Time  out ของฝรั่งนั้น จุดประสงค์ ก็เพื่อให้เด็กได้รู้จักวิธีสงบสติอารมณ์ของตัวเอง  ฝรั่งจึงใช้วิธี Time Out เพื่อพาเด็กออกจากสถานการณ์ หรือสิ่งเร้า ที่ทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์นั้นออกมา   เมื่อเอาเด็กออกมา Time Out แล้ว มิใช่ทิ้งให้เด็กอยู่กับอารมณ์ อาละวาดนั้น ตามลำพัง  ในกรณีเด็กเล็กๆ เราควรโอบกอด และเราต้องไม่โมโห ตำหนิลูก ดูด่าลูกในระหว่างนั้น อ้อมกอดของเรา ทำให้เด็กอารมณ์เย็นลง  สงบได้เร็วขึ้น  ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น  เมื่อเด็กสงบแล้ว จึงพูดคุยด้วยความเมตตาถึงปัญหานั้น  ว่าลูกไม่ควรแสดงกิริยา อารมณ์ออกมาเช่นนั้น  หากทำเช่นนั้นอีก พ่อแม่ก็ต้องให้ลูกออกมาสงบสติอารมณ์แบบนี้ 


ในกรณีเด็กโต  หากเด็กถูกฝึกมาแบบนี้ ก็จะต้องคุยกับเด็กก่อน ว่า เด็กทำไม่ดี หรือแสดงพฤติกรรมเช่นนี้ไม่เหมาะสม ให้ออกไปสงบอารมณ์  (10 นาที หากอายุ 10 ปี)  แล้วลองพิจารณาดูว่าปัญหาคืออะไร เราควรทำอย่างไร     หากฝึกเช่นนี้เป็นนิสัย เด็กจะรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง  เมื่อรู้สึกเครียด วุ่นวายใจ ก่อนที่จะหุนหันพลันแล่น แสดงอารมณ์ที่ไม่เหมาะสม หรือ มีพฤติกรรมที่ไม่ดี เค้าก็จะรู้จักวิธี ดึงตัวเองออกจากสถานการณ์ที่เป็นปัญหาชั่วคราว แล้ว เพื่อสงบสติอารมณ์ ก่อนที่จะกลับมาเผชิญหน้ากับปัญหาอีกครั้ง และหากพฤติกรรมของลูกนั้น ก่อความเสียหายถึงผู้อื่น ลูกต้องกลับมาเผชิญสถานการณ์และรับผืดชอบต่อการกระทำนั้น พ่อแม่ ก็ไม่ควรทิ้งให้ลูกต้องมารับผิดชอบ แก้ปัญหาตามลำพัง  ควรให้กำลังใจลูก และอยู่เป็นเพื่อนลูก ร่วมกันฝ่าฟัน แก้ปัญหารับผิดชอบการกระทำที่ผิดพลาดนั้นค่ะ  ลูกจะไม่หวาดกลัว และเติบโตเป็นคนที่รู้ผิดชอบชั่วดี มีความรับผิดชอบด้วยค่ะ อันนี้สำคัญมากๆนะคะ


ขอย้ำอีกครั้ง ว่า พฤติกรรมของเด็กนั้น เกิดขึ้นจากการเรียนรู้จากคนรอบข้าง สิ่งรอบตัว   เรียนรู้จากการตีความการกระทำของคนอื่น  เด็กเล็กๆ ถึงวัยประถม  ยังให้ความสำคัญกับพ่อแม่มากที่สุด  พฤติกรรมที่ไม่ดีของเด็ก อาจจะมาจาก การที่เด็กต้องการเรียกร้องความสนใจของคนรอบข้าง  หรือ อาจจะมาจากการที่เด็กได้รับการส่งสัญญาณในทางที่ผิด


ดังนั้นในฐานะพ่อแม่ เมื่อเราต้องการให้ลูกมีพฤติกรรมดี ประสบความสำเร็จ เราต้องเป็นแบบอย่างที่ดี รวมทั้ง ปลูกฝังลูกให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีงาม ไม่มีปัญหาพฤติกรรมให้เด็กได้เลียนแบบ รวมทั้งควบคุมสื่อต่างๆ ที่เป็นแบบอย่างในทางไม่ดีของเด็กด้วย  มีหลายๆครอบครัว พ่อแม่ ติดเกม ติดเนต หรือสิ่งไม่ดีอื่นๆ จะคาดหวังให้ลูกฟังและเป็นตามที่เราพร่ำสอน คงเป็นไปไม่ได้ เพราะลูกจะเป็นแบบที่เค้าเห็นพ่อแม่เป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในทางที่ไม่ดีค่ะ


อีกประการหนึ่ง คือเด็กๆต้องการได้รับความสนใจจากพ่อแม่  การชื่นชม ให้กำลังใจ ให้ความสนใจลูกในยามที่ลูกทำดี เช่น อ่านหนังสือ ทำการบ้าน หรือ รับผิดชอบงานต่างๆ  จะยิ่งส่งเสริมพฤติกรรมในด้านดีให้เด็กๆ   แต่หากพ่อแม่ไม่สนใจพูดคุยกับลูก หรือสนใจคุยกับลูก ก็ต่อเมื่อลูกทำไม่ดี ถูกตำหนิ ทำผิดพลาด  ลูกๆก็จะมีพฤติกรรมที่มีปัญหา เพื่อเรียกร้องความสนใจของพ่อแม่ เหมือนพฤติกรรมของเด็กแว๊นต์ที่ก่อความรำคาญบนท้องถนนก็เช่นกัน  เด็กเหล่านี้ ขาดแรงชื่นชม ไม่มีความสามารถอื่นใดให้คนชื่นชม  เค้ารู้สึกไม่มีตัวตน ไม่มีคนสนใจ จึงหันมาสร้างความเดือดร้อนรำคาญ  ได้รับเสียงก่นด่าสาบแช่ง ก็ยังดีกว่า ไม่มีตัวตน  นี่คือปัญหาของเด็กเหล่านี้  ที่พ่อแม่และคนรอบข้างไม่ใส่ใจ


เรื่องสุดท้ายที่อยากคุยในประเด็นนี้ คือ การส่งสัญญาณในทางที่ผิด  เช่น มีผปค.หลายๆท่าน ติดสินบนเด็ก เช่น หากลูกเลิกอาละวาด แม่จะซื้อขนมให้   หากลูกเลิกซน แม่จะให้เล่นเกม    การติดสินบน ให้รางวัล หากเด็กหยุดพฤติกรรมไม่ดี นั้น ทำให้เด็กคิดว่า ทุกครั้งที่เค้าต้องการเรียกร้องสิ่งใด เค้าต้องทำพฤติกรรมไม่ดีนั้น เป็นการต่อรอง   จึงยิ่งทำให้เค้าทำพฤติกรรมไม่ดีนั้นไม่ยอมหยุดค่ะ

ให้กำลังใจทุกท่านนะคะ ลองพิจารณากันดู

ไม่มีความคิดเห็น: