วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2555

ตกผลึก...จากสัมมนา เคล็ด (ไม่)ลับลงทุนอย่างไรให้ได้ 100 ล้าน (7)


ยังมีอีกหลายประเด็นที่อยากจะพูดถึง  ซึ่งก็ไม่รู้ว่าบทความเรื่องนี้ จะจบลงที่กี่ตอนนะคะ  ต้องขอโทษเพื่อนๆด้วย ที่ไม่สามารถเขียนจบได้ในตอนเดียว  และที่เขียนนี่ก็เป็นแบบขั้นต้นเท่านั้น  เพื่อนๆหาความรู้จากในงานเขียนนี้แล้ว ก็ยังไม่เพียงพอนะคะ ต้องศึกษาเพิ่มเติมด้วย เพราะที่เขียนนี่ถือว่า เป็นผิวๆ  ไม่ได้เจาะลึกในรายละเอียดหลายๆเรื่อง

เขียนมาถึงจุดนี้ เพื่อนๆหลายๆคนก็คงเห็นแล้วว่า มีกองเงินตกหล่นตามทางชีวิตมากมาย ของเล่นกองมหึมา ที่เพื่อนๆเชื่อว่า จะนำพาชีวิตของลูกรักให้กลายเป็นเด็กอัจฉริยะขั้นเทพ  เด็กเหรียญทองโอลิมปิคในอนาคต หรือ นักดนตรีคีตกวีชื่อก้องอายุน้อยที่สุดในโลก หากเราอดใจนำเงินที่ไปซื้อของเล่นเหล่านั้น ค่าเรียนสารพัดพิเศษ สารพัดติว มาเก็บออมเพื่ออนาคตทางการศึกษาของลูก หรือ ออมให้ลูกเป็นเงินเริ่มต้นอาชีพที่ลูกรัก หรือออมเพื่อสุขภาพและชีวิตในบั้นปลายของเรา เงินเหล่านี้  แค่เดือนละหมื่น เราก็จะสามารถมีความมั่งคั่ง มีอิสระทางการเงินมากพอที่จะเลือกใช้ชีวิตแบบที่เราต้องการได้  แต่หลายๆคนก็ยังอดทำใจไม่ได้  เพราะสันดานซื้อกระจาย หรือเห็นคนอื่นมีอะไรต้องมี  มันยังเกาะลึกในสันดาน  นี่ก็มีวิธีค่ะ

ในสมัยก่อนนั้น เรามักจะได้ยินสูตรการลงทุนว่า  มีเงินเท่าไหร่  ให้ออมไว้ 10%  ที่เหลือก็เอาไปใช่  แต่เดี๋ยวนี้ สูตรนี้ไม่พอเสียแล้ว  เพราะในสมัยก่อนดอกเบี้ยเงินฝาก มีอัตราที่สูงมาก ในขณะที่เงินเฟ้องก็ไม่สูงมากนัก ทำให้ผู้ทีฝากเงินกับธนาคาร แม้ฝากจำนวนไม่มาก แต่ก็ได้รับผลตอบแทนที่ดีเงินเติบโตเร็ว  ไม่ต้องฝากมากก็มีเงินพอใช้    



จากรูปนี้  อันตราดอกเบี้ยธนาคารต่อปี เป็นเส้นสีเขียว   อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้ค่าของเงินเล็กลง เป็นเส้นสีแดง  ในส่วนของพื้นที่สีฟ้า ตืออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง  หรือค่าของเงินที่โตขึ้นในแต่ละปี   จะเห็นว่า ในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา  อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำมาก  ในบางปี อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเสียอีก  แปลว่า เราฝากเงินธนาคาร แทนที่เงินของเราจะเติบโตขึ้น กลับกลายมีอำนาจในการซื้อลดลง  เพราะถูกอัตราเงินเฟ้อกินไป



จากรูปนี้ เราจะเห็นว่า  หากอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเท่าไหร่  มูลค่าเงินของเราก็จะน้อยลงเท่านั้น  หากอัตราเงินเฟ้อ 4% ต่อปี  ค่าของเงิน 4 ล้านบาทในวันนี้ จะลดลงเมีค่าเหลือเพียง 8.22 ล้าน ในอีก  5 ปีข้างหน้า

ดังนั้น สูตรการออม การลงทุนในสมัยนี้ ต้องเปลี่ยนไปจากเดิม  มิฉะนั้น เราจะไม่มีเงินเหลือมากพอที่จะช่วยเหลือตัวเองในยามบั้นปลายของชีวิต   โดยเฉพาะในบั้นปลายชีวิตที่เราไม่มีแรงทำงาน  หากเราไม่หาวิธีให้เงินทำงานให้เรา เราก็จะมีปัญหาได้    การออมในปัจจุบัน จึงต้องเริ่มต้นที่การตั้งเป้าหมายให้แน่ชัด  ว่า  

 - ชีวิตหลังเกษียณ ในยามแก่ชรา เราต้องการเงินใช้เดือนละเท่าไหร่   ซึ่งส่วนมาก เราก็ต้องมองจากค่าใช้จ่ายในปัจจุบันว่า ชีวิตปกติทุกวันนี้ เราใช้เงินเดือนละเท่าไหร่   แม้ตอนที่ไม่มีงานทำ เกษียณอายุ เราก็อยากมีชีวิตที่ใกล้เคียงกับอย่างเดิม  จะไปปรับชีวิตให้ลำบาก กระเบียด กระเสียนในวัยชรา เราก็คงปรับตัวยาก   ประกอบกับต้องเผื่อค่าซ่อมแซมสุขภาพด้วย  เพราะในวัยชรา เงินที่หามาคงต้องใช้ไปกับการรักษาพยาบาล และอื่นๆ เช่นการทำบุญทำกุศล เป็นต้น

- เป้าหมายเพื่อลูก คนที่มีลูก มีครอบครัว ก็จะมีค่าใช้จ่ายหลักในการศึกษา พัฒนาลูก  ดังนั้น เราต้องวางเป้าหมายว่า เรามีเป้าหมายที่จะส่งเสียบุตร ถึงระดับใด ที่ไหน  หากต้องถึงปริญญาตรี  ปริญญาโท  ใน หรือต่างประเทศ ก็ต้องเขียนไป  คำนวณออกมาเป็นตัวเลข  ว่าปัจจุบัน หากไปเรียน ต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เป็นเงินเท่าไหร่  เพราะส่วนนี้ เราก็ต้องแยกการออม การลงทุนออกมา จากเงินเกษียณของเราค่ะ

- เป้าหมายในชีวิตปัจจุบัน เช่น การมีบ้านเป็นของตนเอง  การรักษาพยาบาลที่ดีของคนในครอบครัว การท่องเที่ยว การดูแลพ่อแม่ การมีรถยนต์  ค่าการศึกษาลูกในแต่ละปี ก่อนถึงปริญญาตรี และอื่นๆ 

เป้าหมายแต่ละอย่างที่เราเขียนมานี้  จะเห็นว่า เป้าหมายบางอย่าง เป็นเป้าหมายระยะยาว 10 กว่า 20 ปี  นับจากวันนี้ ถึงวันที่เราเกษียณ ปกติ คือ 55 ปี      แต่เป้าหมายบางอย่างก็เป็นระยะสั้น ไม่กี่ปี หรือไม่กีเดือน   ซึ่งการเก็บเงิน การลงทุนสำหรับเป้าหมายเหล่านี้ ก็ควรแยกกัน และลงทุนแบบที่แตกต่างกัน ไป  บางอย่างเราต้องถือยาวๆ  ก็สามารถลงทุนในแบบที่มีรูปแบบผลตอบแทนสูงได้ แม้มีความเสี่ยงสูง    บางอย่างเราต้องลงทุนแบบสั้น เพราะเราจะต้องนำมาใช้ในระยะเวลาไม่นาน   เรื่องนี้ อยากแนะนำให้เพื่อนๆ ไปปรึกษา  ที่ปรึกษาด้านการลงทุน ที่เดี๋ยวนี้ ในธนาคารต่างๆ จะมี บลจ.ที่ขายกองทุนรวมต่างๆอยู่ข้างใน  เดี๋ยวเค้าจะมีบริการให้คำปรึกษาด้านการลงทุนค่ะ  ซึ่งจะให้คำปรึกษาการลงทุนเฉพาะบุคคล   เราสามารถไปหารือได้ ไม่ว่าเราจะมีเงินมากหรือน้อยก็ตาม  อย่างที่บอกไว้ข้างต้น ที่เขียนในนี้ เป็นแค่สรุปคร่าวๆ  ไม่สามารถลงรายละเอียดที่ลึกได้ เพราะแต่ละครอบครัวมีความจำเป็น ที่แตกต่างกันค่ะ  

แต่โดยสรุปในประเด็นนี้ก็คือ  เมื่อเราสรุปได้แล้วว่า เรามีเป้าหมายในชีวิต ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวอย่างไร   และได้ปรึกษากับที่ปรึกษาแล้ว  เราก็จะรู้ว่า เราต้องใช้เงินในการออมแต่ละเดือน หรือแต่ละปี จำนวนเท่าไหร่   เราก็เอาเงินจำนวนนี้ ลบออกจากรายได้   จึงจะเห็นว่า เรามีเงินที่จะนำมาใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ดำรงชีวิตนี่ เหลือเดือนละเท่าไหร่

เช่น

มีรายได้เดือน ละ 50,000 บาท  แต่มีเป้าหมายที่ต้องออม 30,000 บาท   จะสามารถมีเงินใช้จ่ายได้ในแต่ละเดือน 20,000 บาท  เงิน 30,000 บาทนี้ นำมาออมและลงทุนก่อน เป็นสิ่งแรก  จะเห็นว่า การออมจะไม่ได้เป็นแค่ 10%  เหมือนอดีต แต่ออมถึง 60% ทีเดียว  

ห้ามคิดแบบใช้เท่าไหร่  เหลือเท่าไหร่ก็ค่อยมาเก็บ  แบบนี้จะอันตรายมาก  เป้าหมายที่คุณวางไว้ ใฝ่ฝันไว้จะยากมากที่จะเป็นจริง ยกเว้นคุณถูกหวยรางวัลที่หนึ่งติดๆกันหลายๆงวด    แล้วคุณจะโทษโชคชะตาฟ้าลิขิตไม่ได้ ที่ทำให้คุณไม่มีโอกาสมีความมั่งคั่ง เพราะเราไม่สามารถมีวินัยในการทำตามแผนการชีวิตที่เราวางไว้ได้ 

ไม่มีความคิดเห็น: