วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สอนลูกเรื่องเงิน

สอนลูกเรื่องเงิน 

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 สิงหาคม 2553 22:52 น. 



คำถามหนึ่งที่ผมมักจะถูกถามอยู่เสมอจากบรรดาคนรุ่นใหม่ที่มีครอบครัว และมี”เทวดาตัวน้อย” มาสิงสถิตย์อยู่ในบ้านคือ ทำอย่างไรที่จะสอนลูกๆให้รู้เรื่องเงินๆทองๆคงต้องยอมรับว่า ในยุคระแสบริโภคนิยมแบบทุกวันนี้ สื่อโฆษณาและการตลาดได้มีส่วนอย่างมาก ในการกระตุ้น และทำให้ลูกๆของเรามีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมเรียกร้องในสิ่งที่พวกเขาต้องการตลอดเวลา ซึ่งหากเราไม่รู้จักสร้างภูมิต้านทานทางการเงินให้กับลูกๆตั้งแต่อายุยังน้อย แต่กลับตามใจประเคนในสิ่งต่างๆให้กับพวกเขา เพียงเพื่อชดเชยสิ่งที่ตัวเองไม่เคยได้รับในอดีต โอกาสที่ลูกๆของเราจะต้องเผชิญวิบากกรรมในชีวิต เมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็มีค่อนข้างสูงทีเดียว

ผมมีประสบการณ์จริงในการสอนลูกให้รู้จักเรื่องเงินๆทองๆของ วรวรรณ ธาราภูมิ หรือ "พี่ตู่” กรรมการผู้จัดการ บลจ.บัวหลวง หญิงเหล็กคนหนึ่งในวงการกองทุนรวมที่บรรดาคุณพ่อคุณแม่สามารถที่จะนำไปปรับใช้สำหรับคุณลูก หรือแม้แต่ตัวคุณเองได้อย่างน่าสนใจถึงแม้จะมีลูกค่อนข้างช้ากว่าคนอื่น แต่ก็เป็นเวลาเดียวกันกับที่เธอเพิ่งจะเริ่มศึกษาเรื่องเงินๆทองๆและการบริหารเงินของตัวเองและครอบครัว ทำให้เธอเห็นความสำคัญ และพยายามบ่มเพาะ "น้องแสนแสบ" ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน ซึ่งขณะนี้มีอายุ 15 ปี ให้รู้จักคุณค่าของเงิน และใช้เงินให้เป็นมาตั้งแต่เล็กๆ

เชื่อหรือไม่ ทุกวันนี้ลูกชายของเธอ ประสบความสำเร็จในการรู้จักออมและลงทุนในกองทุนรวม จนสามารถต่อยอดเงินออมให้”เพิ่มพูน” โดยมีเป้าหมายเพื่อเก็บเงินไว้ใช้เป็นทุนการศึกษาในระดับปริญญาโทได้แล้ว

"เพราะอยู่ในวงการกองทุนมานาน และปลูกฝังนิสัยการออมลงทุน ให้กับผู้คนมามาก จึงคิดขึ้นมาว่า เราควรปลูกฝังนิสัยรักการออมให้ลูกตั้งแต่เด็กๆ ไม่ต้องรอให้โต แต่หัดกันแต่เล็กๆ จะทำให้เด็กมีวินัยรับผิดชอบต่อการเงินของตัวเอง ภูมิใจและรู้จักจัดการเงินทองได้ ที่สำคัญ เขาจะมี "แต้มต่อ" ระยะเวลาเก็บเงิน มากกว่า พ่อแม่ที่เพิ่งจะสะสมได้เมื่ออายุย่าง 40 แล้ว"

เคล็ดลับของเธอคือ การฝึกให้ลูกรู้จักคุณค่าของเงิน และวิธีใช้เงินไว้ว่า ควรหัดใหลู้กรู้จักค่าของเงินตั้งแต่อายุ 4 ขวบไปจนถึง 9 ขวบ เพราะเด็กๆ จะเรียนรู้ได้ง่ายและเร็ว แต่ต้องให้เขาสามารถ "จับต้องได้" ด้วย

ตอนลูกยังเด็กๆ เธอจะสอนให้ลูกหยอดเงินใส่กระปุกออมสินด้วยตัวลูกเอง และให้เขาจดใส่สมุดบัญชีไว้ทุกเดือน พอครบปีก็ให้เขาเปิดกระปุกออกมานับของจริง เพื่อเทียบกับยอดบัญชี ซึ่งนอกเหนือจากการสอนให้รู้จักออมแล้ว ยังสอนให้ลูกรู้จัก "เทียบเคียง" เงินที่มีจริงๆ และจับต้องได้ กับ ตัวเลขในบัญชีเมื่อลูกเริ่มโตขึ้นมาหน่อยจนมีอายุตั้งแต่ 10 ขวบขึ้นไป เธอจะให้เงินลูกเป็นรายวันไปโรงเรียน วันละ 100 บาท และเธอจะสอนให้ลูกทำ "บัญชีรายรับ-รายจ่าย" ของเขาเอง

การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย นอกจากจะช่วยให้เขาเรียนรู้ ที่จะ "ควบคุม" ค่าใช้จ่าย เทียบเคียงกับรายได้ของเขาแล้ว ยังช่วยให้เขาสามารถกำหนดเป้าหมาย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เขารู้ว่า "ออมเงิน" เพื่ออะไร และเป็นการลงมือปฏิบัติด้วยความสมัครใจ "ไม่ใช่" บังคับ

"อยากสอนเขาว่าถ้าลูกใช้เงินน้อยลงในวันนี้ สะสมทีละเล็กทีละน้อย บางครั้งอาจต้องรอคอย แต่วันข้างหน้าหนูจะมีเงินเท่าไร ถ้าหนูรู้จักคุณค่าของเงิน หนูจะไม่ดูถูกเงิน แม้มูลค่าของมันวันนี้จะน้อยก็ตาม”

ถึงจุดหนึ่ง เธอก็เริ่มใช้ "รางวัล" เพื่อสร้าง "แรงจูงใจ" ในการออมให้แก่ลูกชาย ด้วยการ "สมทบ"เงินเพิ่มให้เท่าจำนวนที่ น้องแสนแสบออมได้ในแต่ละเดือน ปรากฏว่าในแต่ละเดือน ลูกของเธอสามารถออมได้เฉลี่ยเดือนละ 2,500 บาท เมื่อเธอจ่ายสมทบอีก 2,500 บาท กลายเป็น 5,000 บาทแทนที่จะปล่อยเงินทิ้งไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เธอเสนอให้น้องแสนแสบมองหาทางเลือกอื่นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้น ซึ่งแน่นอนเธอแนะนำให้ลูกของเธอลองนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวม

“อย่ามาหวังมรดกจากแม่นะ วันนี้แม่อายุ 51 ปีแล้ว อยู่เลี้ยงหนูตลอดชีวิตไม่ได้ โตขึ้นหนูต้องหาเลี้ยงตัวเอง แม่ให้หนูได้แต่การศึกษาในระดับปริญญาตรีในประเทศเท่านั้น ถ้าหนูจะเรียนต่อที่สูงกว่านั้นก็ต้องส่งเสียตัวเองและต้องเริ่มเก็บเงินเสียตั้งแต่วันนนี้"

วรวรรณ กระตุ้นให้น้องแสนแสบเริ่มลงมือลงทุน เพื่อเป้าหมายสำคัญคือ การหาเงินไว้เพื่อเรียนต่อในระดับปริญญาโทด้วยตัวเองเชื่อหรือไม่เพียงหนึ่งปี น้องแสนแสบ นำเงินไปลงทุนในกองทุนรวม 3 กองทุน ทั้งกองทุนหุ้น กองทุน "ทองคำ" ในต่างประเทศ และกองทุนหุ้นในต่างประเทศ

"ไม่ควรลงทุนในตราสารหนี้ เพราะลูกยังอายุน้อย สามารถรับความเสี่ยงจากความผันผวนได้มากเพื่อหวังผลตอบแทนที่ดีกว่าในอนาคตอันยาวไกล และเก็บเงินลงทุนนี้มีเป้าหมายเพื่อศึกษาระดับปริญญาโท"

วรวรรณคาดว่า ถ้าลูกจบปริญญาตรีเมื่ออายุ 22 ปี เท่ากับ มีระยะเวลายาวนานในการสะสมเงินก้อนนี้ทุกเดือน เฉลี่ยเดือนละ 5,000 บาท รวมเป็นระยะเวลาการลงทุน 12 ปี ซึ่งหากมีสมมติฐานผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยต่อปี 10% เม็ดเงินที่ลงทุนจะเพิ่มค่ากลายเป็น 1,382,189.38 บาท ทำให้น้องแสนแสบกลายเป็นเศรษฐีเงินล้านทันทีที่จบปริญญาตรี

"เราต้องคำนวณให้ลูกดูด้วยว่า หากเราฝากเงินกับธนาคาร ได้ผลตอบแทนเหลือ 4% ผ่านไป 12ปี เงินที่ลงทุนทุกเดือนจะกลายเป็น 922,177.38 บาท หรือ กรณีผลตอบแทนเพิ่มสูงเป็น 15% เฉลี่ยต่อปีจะเพิ่มเป็น 1,993,010.38 บาท แต่ถ้าอยากได้ผลตอบแทนสูง 15% เพื่อได้เงินก้อนโตเกือบ 2 ล้านบาทลูกก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นนะ เพราะเป็นการลงทุนในตลาดหุ้น"

เคล็ดลับสำคัญอีกอย่างคือ พี่ตู่จะเลี้ยงลูกแบบไม่ได้กดดันให้ต้องเป็น "คนเก่ง" แต่จะเน้นสอนให้รู้จักการใช้เงินให้เป็นมากกว่า เพราะเธอเชื่อว่า หากลูกโตขึ้น ต่อให้เรียนเก่ง ทำงานหาเงินเก่งอย่างไร ถ้าจัดการบริหารเงินไม่เป็น ความเก่งก็ไร้ค่า การให้ลูกเรียนรู้ที่จะสร้างความมั่งคงได้ด้วยตนเองดีที่สุด เพราะลูกจะเติบโตอย่างมีคุณภาพและมีความมั่นคงในชีวิตเทคนิคการสอนลูกให้รู้เรื่องเงินของพี่ตู่ วรรวรณ ธาราภูมิ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งหากบรรดาผู้ปกครองยุคใหม่จะนำไปปฏิบัติ

นอกจากจะสามารถเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องเงินๆทองๆของลูกๆของคุณ ไม่ให้ต้องตกเป็นทาสของยุคบริโภคนิยม ที่สำคัญมันยังทำให้พวกเขาเติบโตขึ้นมาด้วยความภาคภูมิใจ ในฐานะที่เขาได้มีส่วนในการสร้างความสำเร็จเป็น “เศรษฐีเงินล้าน” ได้ด้วยตัวเขาเอง บรรดาคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ ยังไม่สายเกินไปหรอกครับ หากเริ่มต้นเสียตั้งแต่นาทีนี้......

---------------------------------------------------------------------------------------------------
ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของเคล็ดลับในการพลิกชีวิตเรื่องเงินๆทองๆของคุณ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในรายการวิทยุ 101 ปฏิบัติการพลิกชีวิต Money Makeover สนับสนุนโดย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และ บลจ.บัวหลวง ทาง FM 101 MHz วันจันทร์-ศุกร์ 11.05-11.35 น. หรือ www.moneymartthai.com และติดตามคอลัมน์นี้ได้ทุกวัน ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น: