วันอาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

โฮมสคูลสำหรับขวบปีแรก ถึง 1.6 ปี

มีเพื่อนๆที่เป็นพ่อแม่ลูกอ่อน มักจะมีคำถามว่า ในช่วงเด็กทารก จนถึงก่อนเข้าเตรียมอนุบาล เราจะสามารถสอนอะไรลูกได้บ้าง เดี๋ยวนี้โรงเรียนอนุบาลหลายๆแห่ง จะรับเด็กเตรียมอนุบาลตั้งแต่ 1.6 ปีขึ้นไป เพราะในวัยนั้น เด็กจะเริ่มเรียนรู้และฝึกฝนอะไรได้หลายๆอย่าง แต่อย่างไรก็ตาม การที่จะให้ลูกเข้าเรียนอนุบาลช้าหน่อย คือ 3 ปี หรือ 4 ปี ก็เป็นเรื่องที่ควรทำ หากทำได้ แต่ในระหว่างที่ลูกยังอยู่ที่บ้าน ต้องมีการเตรียมความพร้อมลูก และปลูกฝังความสนใจใคร่รู้ การรักศึกษาไปด้วย มิฉะนั้นเด็กๆจะทุกข์ทรมารมากเมือ่เข้าโรงเรียน ในบทความนี้จะพูดถึงเด็กทารกถึง 1.5 ปีก่อน เพื่อเป็นการปูพื้นฐาน พ่อแม่ที่มีลูกอ่อน โดยดิฉันจะใช้อ้างอิงจากหนังสือ และประสบการณ์ในการดูแลลูกสองคนเป็นหลัก

(ติดตามข้อมูลในความคิดเห็น)

11 ความคิดเห็น:

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

พ่อแม่ที่มีลูกอ่อน จะพบปัญหาว่า เวลาสอนลูก ลูกจะไม่ค่อยตอบสนอง ไม่สนใจ และไม่เขาใจ เวลาสอนไป หรือ พูดไป ไม่แน่ใจว่า เด็กจะเข้าใจและเกิดการเรียนรู้หรือไม่ ทำให้พ่อแม่หลายๆคนท้อไปเลย และบอกกับตัวเองว่า ยังไม่ถึงเวลา ปล่อยไปก่อน ปล่อยให้เขาอยู่ตามธรรมชาติ เดี๋ยวพอโตหน่อยค่อยมาสอน ซึ่งหลายๆอย่างก็จะสายไป และยากที่จะสอน เช่น เรื่องระเบียบวินัย เรื่องการช่วยเหลือตัวเองเล็กๆน้อย รวมถึงการควบคุมอารมณ์ต่างๆ ดังนั้นในการสอนลูกนั้น เราสามารถทำได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนคลอดออกมาเลยค่ะ หลายๆอย่าง หากสอนตอน 2-3 ขวบ ก็จะยากขึ้น เพราะเด็กติดเป็นนิสัยไปแล้ว เช่น การตื่นสาย การนอนดึก การที่ต้องมีญาติพี่น้องพ่อแม่ให้ความสนใจตลอดเวลา เป็นต้น

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

สิ่งแรกที่เราจะสอนลูกได้ หรือ ให้ลูกได้ในวัยทารก นับตั้งแต่วันแรกที่ลืมตาดูโลกคือ เสียงดนตรี การเปิดเพลงที่เหมาะสมให้ลูกฟังบ่อยๆ เป็นประจำ จะทำให้เด็กมีอารมณ์แจ่มใส มีบทวิจัยที่เชื่อถือได้ เรื่องดนตรีของโมสาร์ท มีท่วงทำนองในคลื่นความถี่ที่เหมาะสมต่อการเชื่อมต่อ และการสร้างของเซลล์สมอง เมื่อหูได้รับฟังดนตรีของโมสาร์ท จะส่งไปที่สมอง ทำให้หลั่งฮอร์โมนเอนโดฟีน ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสุข ทำให้เด็กมีอารมณ์ที่ดี สมองแจ่มใส เบิกบาน และในความเป็นจริงมีดนตรี เพลงหลายๆเพลงที่น่าจะมีประสิทธิผลคล้ายกัน แต่การวิจัยไปไม่ถึง มีการศึกษาพบว่า ดนตรีสามารถทำให้เด็กที่อ่อนแอ ป่วย สามารถฟื้นจากอาการป่วยได้เร็วขึ้น เด็กหงุดหงิดน้อยลง เพราะผลทางคลื่นสมองและการหลั่งของฮอร์โมนแห่งความสุขนี้

ดังนั้นพ่อแม่ลูกอ่อน จนเด็กโต ควรเปิดเพลงดีๆให้เด็กฟังตลอด และเป็นประจำ สำหรับดิฉันเอง ดิฉันพบว่า เวลาน้องแชง หรือ น้องเชียร์หงุดหงิด เวลาไม่ได้ดังใจ หรือ เดินทางนานๆ หากดิฉันร้องเพลง หรือเปิดเพลงให้ฟัง จะสงบได้อย่างรวดเร็ว และลูกสองคนก็เป็นเด็กอารมณ์ดีมากๆค่ะ น้องแชงเองก็ชื่นชอบการดูคอนเสริ์ตดีๆ เช่น ซิมโฟนี หรือ นักร้องเก่งๆ สามารถพาไปดูได้ โดยไม่ร้องกวน หรือ ลุกวิ่งเล่นเหมือนเด็กคนอื่น เขาดูอย่างสนใจและตั้งใจตั้งแต่เริ่มจนจบ แม้จะวัยไม่ถึงสองขวบในตอนนั้น

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

สิ่งที่สองที่เราสอนลูกได้ตั้งแต่แบเบาะคือการรู้จักเวลา เวลานอน เวลากิน ให้ตรงเวลา และให้เหมาะสม พ่อแม่หลายคน ปล่อยปละละเลย ให้ลูกนอนตอนที่อยากนอน นอนกลางวันนานๆ ไม่ปลุก และกลางคืนก็นอนดึก 4-5 ทุ่ม สอนให้กินขนมจุบจิบ เห็นอะไรก็ซื้อ ทำให้เด็กติดนิสัยเรื่องการกินขนมจุบจิบ กินอาหารไม่มีประโยชน์ และกินไม่เป็นเวลา ถึงมื้ออาหารก็ไม่ยอมทาน หากนิสัยพื้นฐานเหล่านี้ ไม่เข้มงวดและฝึกลูกตั้งแต่แบเบาะ เมื่อโตแล้ว ขวบกว่าสองขวบก็ฝึกยาก เด็กไม่ยอมแล้ว เพราะเขาติดแพทเทิร์นชีวิตแบบเดิมๆไปแล้ว

การที่จะสอนลูกให้นอนตรงเวลา เราทำได้ตั้งแต่แบเบาะ เช่นของครอบครัวเรา ดิฉันจะให้ลูกเข้านอนตอนสองทุ่มถึงสองทุ่มครึ่ง ดังนั้นหลังทานข้าว ดิฉันทำงานบ้านอาบนำ้แล้ว จะเริ่มทำกิจกรรมก่อนนอนกับลูก ตอนเขาเล็กๆประมาณ เดือนเศษ ดิฉันจะให้นมแล้วพาเข้าที่นอน ปิดไฟ ห่มผ้า เปิดเพลงเดียวกันทุกๆวัน และจะนอนเป็นเพื่อนจนเขาหลับ ดิฉันจะไม่พูด ไม่ชวนเล่น ทำบรรยากาศแบบนี้ทุกวัน

เมื่อลูกอายุเลยขวบ เขาก็อาจจะเริ่มมีความสนใจมากขึ้น ดิฉันก็จะเปลี่ยนจากการเปิดเพลง เป็นการนอนอ่านนิทานให้ลูกฟัง สัก1-2 เล่ม แล้วปิดไฟให้นอน

ตอนนี้น้องแชงอายุ 2.5 ปี ดิฉันก็เปลี่ยนจากการอ่านนิทาน มาเพิ่มเติมเรื่องกิจกรรม เช่นระบายสี ท่อง ABC ท่อง 123 เป็นต้น แล้วจบด้วยการอ่านนิทาน แล้วนอน

จะเห็นว่า เฉพาะการนอนนี่ เราสามารถสอนได้ตั้งแต่แบเบาะ และกิจกรรมก่อนนอน ก็ปรับตามพัฒนาการและวัยของเด็ก ที่สำคัญคือพ่อแม่ต้องมีวินัยมากๆ เพราะเด็กๆจะฝึกฝนได้จากการทำซำ้ๆ ทำทุกวันแบบเดิมๆ หากพ่อแม่เป็นแบบลักปิดลักเปิด เดี๋ยวนอนเช้า เดี๋ยวไม่นอน ลูกก็จะตามพ่อแม่ นอนไม่เป็นเวลา และเมื่อนอนไม่เป็นเวลา เล่นเปะปะ ไม่ตามใจตัวเองแล้ว เมื่ออายุขวบสองขวบไป เด็กก็จะนอนดึกตื่นสายเป็นนิสัย เมื่อเข้าโรงเรียนก็จะตื่นไม่ไหว สมองไม่แจ่มใส งอแงเพราะยังนอนไม่อิ่ม ไม่มีอารมณ์เรียนค่ะ

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

การจัดกิจกรรมให้เด็กเล็กๆ โดยเฉพาะในขวบปีแรก ต้องคำนึงถึงพัฒนาการของร่างกายในแต่ละช่วงเวลาเป็นสำคัญ
พ่อแม่หลายๆคน จัดกิจกรรมลูกเล็กๆเหมือนเด็ก 2-3 ขวบที่รู้เรื่องแล้ว เช่นพาไปเที่ยวข้างนอกบ้านบ่อยๆ ไปดูสัตว์ ไปเที่ยวเดินห้า่ง แต่ละเลยการจัดสถานที่และการให้โอกาสลูกในการฝึกฝนทักษะทางร่างกาย เช่น เมื่อถึงวัยต้องควำ่ ต้องหัดนั่ง หัดคลาน ก็ไม่ปล่อยให้อยู่บนพื้น กลัวสกปรก กลัวลูกตก ต้องคอยอุ้มไว้ตลอด หรือจัดให้นั่งบนเก้าอี้ เด็กๆ จึงไม่มีโอกาสในการฝึกฝน การหัดทรงตัว การนั่งการคลาน ตามศักยภาพและวัยของตน

ในหนังสือ "คุณคือครูคนแรกของลูก" กล่าวไว้ในบทที่สาม ว่า "ความพยายามในการควบคุมร่างกายจนสามารถลุกขึ้นเดิน เป็นการงานพื้นฐานของทารกในขวบปีแรก การพูดเป็นหัวใจของเด็กสองขวบ และความคิดและการจดจำคือพัฒนาการสำคัญยิ่งของเด็กวัยสามขวบ"

จะเห็นว่าในช่วงขวบปีแรก สิ่งที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมลูกในเรื่องการเรียนรู้ คือ การเปิดโอกาสให้ลูกในฝึกฝนการทรงตัวและควบคุมร่างกายจนเดินได้ พ่อแม่ไม่ควรโอ๋หรืออุ้มตลอด กลัวสกปรก กลัวตก แต่พ่อแม่ควรจัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย และเอื้อต่อการฝึกของลูกค่ะ

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

หลักๆในหนังสือเล่มนี้มีบทหนึ่งกล่าวถึงการพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงของขวบปีแรก กล่าวคือ

ในวัยทารกแรกเกิด ถึงสองสามเดือนแรก เด็กต้องฝึกสายตา เพราะเขาออกมายังมองไม่เห็นชัด ดังนั้น พ่อแม่ควรฝึกและเปิดโอกาสให้ลูกฝึกทางด้านการมอง มองสิ่งที่เคลื่อนไหว เป็นการฝึกกล้ามเนื้อคอด้วย ให้รู้จักควบคุมการหัน การก้มเงย

ในช่วงสองสามเดือนแรกเป็นต้นไป เด็กก็จะเริ่มมีกล้ามเนื้อแขนขาที่แข็งแรงขึ้น ก็อาจจะเริ่มควำ่ ชันคอ ฝึกไขว่คว้า หยิบจับ และการใช้มือหยิบจับจะพัฒนาเต็มที่สมบูรณ์จนอายุ 6 เดือน การเอื้อมหยิบจับของเด็ก เป็นพื้นฐานการเรียนรู้ที่สำคัญ ช่วยในเรื่องเชาว์ปัญญา และการเรียนรู้สำรวจโรค โดยการสัมผัส จับต้องและหยิบไปชิม

ในช่วงเวลาประมาณ 8 เดือน เด็กก็จะเริ่มฝึกคลาน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของเด็ก การที่เด็กได้คลานเท้าเปล่าบนพื้น จะเป็นการฝึกกล้ามเนื้อหดตัวซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญที่ทำให้กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวดีขึ้น
การคลานแบบสลับนอกจากจะสำคัญต่อการพัฒนาการทำงานประสานงานอย่างกลมกลืนของร่างกายแล้ว ยังมีผลต่อพัฒนาการทางสมองและการเรียนรู้ของเด็กด้วย เด็กที่ขาดโอกาสในการคลาน หรือ มีการคลานในช่วงเวลาสั้น จะทำให้ขาดความสามารถในการเรียนรู้และการควบคุมอารมณ์ มีพ่อแม่จำนวนมากกลัวพื้นสกปรก กลัวลูกเข่าไม่สวย กลัวเจ็บ ก็ซื้อเครื่องหัดเดิน หรือ คอยอุ้มไว้ ทำให้เด็กสูญเสียโอกาสในการฝึกคลาน น่าเสียดายนัก

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

ในหนังสือยังกล่าวถึงการฝึกเดินของเด็ก ในเวลาที่เด็กพร้อม โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องเร่งรัด คือ การเดินได้ เป็นก้าวจังหวะที่สำคัญของชีวิตเด็ก เพราะเป็นวันที่ร่างกายได้ยืดตรง เหมือนมนุษย์ มือและขาเป็นอิสระที่จะตอบสนองต่อความต้องการของใจตัวเอง เป็นสิ่งที่ทำให้เขาบรรลุถึงจุดสมดุล

สรุปแล้วในช่วงขวบปีแรก งานหลักของพ่อแม่ที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ใ้ห้ลูก ก็คือ ความรัก กำลังใจ และโอกาสให้เด็กได้ฝึกฝน และพัฒนาทักษะทางร่างกายให้พร้อมมากกว่า การสอนอื่นใด

แต่อย่างไรก็ตามในช่วงขวบปีแรก พ่อแม่สามารถฝึกฝนตัวเองให้เป็นครูของลูกได้ ปูพื้นในการสื่อสารกับลูกได้ ด้วยการสอน Baby Sign การเล่น การร้องเพลง ตบมือ ต่างๆ ซึ่งสอนเด็กให้สามารถเล่นและมีความสุขกับพ่อแม่ได้

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

อีกสิ่งหนึ่งที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมสอนลูกได้ในช่วงขวบปีแรก คือ เรื่องของการกิน การกินอาหารที่หลากหลาย และการกินด้วยตนเอง ฝึกหยิบจับอาหารเข้าปาก การหัดตักกินเอง ในปัจจุบัน คุณหมอมักสนับสนุนให้เริ่มอาหารเสริมให้ลูกหลัง 6 เดือน เพราะเป็นช่วงที่ระบบย่อยของลูก เริ่มแข็งแรง ทำงานได้ดีขึ้น การเริ่มอาหารเสริมของเด็ก ควรเป็นไปตามขั้นตอน และต้องให้อาหารหลากหลายขึ้น เช่น อาหารประเภทผัก ผลไม้ ควรสลับสับเปลี่ยน ให้มีสีเขียว สีแดง สีเหลือง ให้เด็กได้รู้จักผักต่างๆ ผลไม้ต่างๆ สัมผัสจากของจริง ดู ดม จับ และกิน ไม่ต้องปรุงแต่งรส เพื่อให้ได้รสธรรมชาติ เป็นการเรียนรู้ของชีวิต ในการกินใหม่ๆ เด็กหลายๆคนอาจจะทานได้ไม่มาก ช้อนสองช้อน บางคนก็ปฏิเสธการกิน พ่นออก หากเป็นเด็กโต ก็เขี่ยออก แต่เราเป็นพ่อแม่ ไม่ควรท้อถอย แม้ลูกจะไม่ทาน ไม่ชอบ แต่ก็ต้องคอยนำมาแนะนำให้เด็กทานทีละน้อย เด็กส่วนมากจะปฏิเสธแต่แรก เพราะรสชาติไม่คุ้น เมื่อไม่ชิน ก็กลัว หรือ ไม่อยากทาน แต่เมื่อเห็นบ่อย กินทีละน้อย ก็จะชิน และทานได้

จำได้ว่ามีรายการทีวีฝรั่ง ที่แก้ไขพฤติกรรมเด็ก ได้ไปแก้ไขพฤติกรรมเด็ก 4 ขวบที่เป็นฝาแฝด เด็กสองคนนี้ไม่ยอมทานผัก ผลไม้ และเลือกทานเป็นที่สุด เมื่อแก้ไข 2 อาทิตย์ ปรากฎว่าเด็กทานได้หลากหลายมาก และทานเก่ง เมื่อดูประวัติ คุณแม่เด็ก เป็นคนที่กลัวสกปรก กลัวลูกเลอะ ทำบ้านรก จึงมักทำอาหารและป้อนลูก ลูกไม่เคยได้สัมผัสผัก ผลไม้สดๆ ไม่เคยได้เล่นกับอาหาร มีแต่ถูกแม่ป้อนยัดเยียด ว่ามีประโยชน์ เด็กจึงต่อต้านการกิน

ในรายการให้แม่พาเด็กไปที่สวนสตอเบอรี่ เก็บสตอเบอรี่สดๆ หยิบชิม หยิบกิน แล้วเก็บมาบ้าน เด็กได้เรียนทำสตอเบอรี่ ราดครีมด้วยตนเอง จึงทานอย่างเอร็ดอร่อย วันต่อมา ก็พาไปสวนผัก ดูการปลูกผัก และเก็บผัก ชิมผักสารพัด ผลปรากฏว่า พฤติกรรมเปลี่ยนได้ในสองสัปดาห์ แต่ที่สำคัญ แม่ต้องแก้ไขพฤติกรรมของตัวเอง ต้องพาลูกไปศึกษาแบบนี้ ยอมให้ลูกเลอะ และลองลงมือทำเอง

เรื่องการให้เด็กหัดหยิบอาหารเข้ามาก หัดตักอาหารก็เช่นกัน พ่อแม่บางคนกลัวลูกเลอะเทอะ พี่เลี้ยงบางคนขี้เกียจเก็บ หรือขี้เกียจรอเด็กกินเอง เพราะชักช้า เสียเวลา จึงคอยป้อนแม้เด็กจะอยู่ในวัยที่ฝึกได้ คือเมื่อเลย 6 เดือน นั่งได้ หยิบจับคล่อง ผลก็คือ เมื่อเด็กโตแล้วก็ขี้เกียจตักเอง กลัวเลอะ เพราะพี่เลี้ยงหรือพ่อแม่กลัวมาฝังหัวลูก ทำให้เข้าโรงเรียนก็ทานเองไม่เป็น ไม่ยอมตักอาหารทานเอง

การที่พ่อแม่หรือพี่เลี้ยงกลัวเลอะเทอะ เรื่องนี้ต้องทำใจและปล่อยวาง เพราะเด็กวัยไหนก็แล้วแต่ ตอนหัดใหม่ๆก็เลอะกันทั้งนั้นแหละค่ะ เหมือนหัดเดินใหม่ๆ หัดวิ่งใหม่ หกล้มเป็นเรื่องธรรมดา เพราะยังไม่ถนัด ช้าเร็วก็ต้องโดน เป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ต้องกลัว

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

ในบทที่ห้าของหนังสือ "คุณคือครูคนแรกของลูก" กล่าวว่า "งานหลักของแม่ในฐานะครูคนแรกของลูกวัย 12-24 เดือนคือการช่วยลูกมีพัฒนาการที่สมดุล พัฒนาการทางกายเกี่ยวกับการฝึกทักษะการควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกาย ส่วนพัฒนาการทางอารมณ์นั้นมีศูนย์กลางที่ความสัมพันธ์กับแม่ พ่อ หรือผู้ดูแลหลัก และพัฒนาการทางความคิดส่วนมากได้มาจากการสำรวจโลกรอบตัว"

ในบทนี้หมายความว่า เราจะสามารถเริ่มฝึก EQ ให้ลูกได้แล้ว ให้ลูกรู้จักเข้าใจอารมณ์ของตนเอง เด็กวัยนี้เริ่มเป็นตัวของตัวเอง เพราะมีอิสระมากขึ้น เดินได้ รู้จักตัวตน อยากได้ อยากมี และเรียกร้อง หรือต่อต้าน ดังนั้นก็จะเริ่มมีอารมณ์ดีใจ เสียใจ ไม่พอใจ ซึ่งเราเป็นพ่อแม่ ควรที่เริ่มสอนลูกให้เข้าใจอารมณ์และรู้จักอารมณ์

อีกทั้งลูกวัยนี้ เริ่มหัดพูด จึงต้องเรียนรู้และเข้าใจความหมายของคำต่างๆ การสอนเด็กในช่วงนี้ สามารถสอนให้รู้จักของรอบๆตัวที่พบเห็นได้ เช่น อาหารการกิน ก็สอนให้รู้จักได้ อารมณ์ที่เกิดขึ้น สี รูปทรง ข้าวของ สัตว์ ต้นไม้ใบหญ้า และหากสอน Baby sign ด้วย เด็กก็จะสามาถสื่อสารความต้องการออกมาได้บ้าง แม้ยังพูดไม่เป็น

การเรียนรู้เหล่านี้ เราอาจจะใช้ของจริง พาไปดู ไปชมโลกกว้าง หรือจากสื่อหนังสือ รูปภาพ หรือแม้แต่ดีวีดี ก็ได้ แต่หากเป็นการเรียนหลายๆแนว ก็ไม่สนับสนุนให้ดูทีวี เพราะมีผลเสียมาด้วย เช่นการติดทีวี หากไม่ควบคุมให้ดี จะส่งปัญหาเรื่องสมาธิสั้น หรือ ปัญหาพฤติกรรมหลายอย่าง

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

ในวัยขวบที่สอง เป็นวัยที่เราสามารถพาออกไปเที่ยวชมธรรมชาติ และสิ่งรอบตัวได้มากขึ้น ซึ่งจะปลูกฝังให้ไม่จับจรด จับเจ่าแต่ในห้องแอร์และห้างสรรพสินค้า หน้าทีวี หากในวัยนี้ พ่อแม่ไม่พามาเล่นดินเล่นทราย เล่นกลางแจ้ง เท่าที่เห็น เด็กเมื่อโตขึ้นจะไม่ชอบอยู่กลางแจ้ง ที่เป็นลมธรรมชาติ กลัวร้อน กลัวตัวเหนียว กลัวสกปรก ซึ่งเป็นการตัดโอกาสการเรียนรู้อื่นๆไปมากมาย เช่นพาไปเที่ยวภูเขา ดำนำ้ ก็ไม่อยากไป

ดังนั้นหากพ่อแม่หาของเล่นให้เด็กในวัยนี้ ควรหลีกเลี่ยงของสำเร็จรูป แต่ควรเป็นของที่เขาจะฝึกจินตนาการ และการเรียนรู้ได้ เช่น บล็อกไม้รูปทรงต่างๆ สีต่างๆ เพื่อมาฝึกสี ฝึกต่อ เลโก้ชิ้นใหญ่ ที่ต่อง่ายๆ สีเทียนสีไม้ กระดาษ ตุ๊กตา กระบะทราย ที่ตักทราย ภาชนะ ช้อน ตะเกียบ แป้งโดว์

ของเล่นเหล่านี้ทำให้เด็กได้ศึกษาด้วยตนเอง ว่าจะเล่นสนุกอย่างไร ใช้จินตนาการของตัวเอง ซึ่งในช่วงแรกๆ พ่อแม่ต้องอยู่เล่นเป็นเพื่อนชี้ชวน แต่ต่อไปก็ปล่อยให้เขาอยู่ลำพังบ้างกับของเล่น เหล่านี้ และหากเห็นว่าเขาเพลิดเพลินอยู่ ก็ไม่ไปรบกวนหรือขัดจังหวะ คอยดูให้ปลอดภัยก็พอ

การฝึกคีบ ฝึกตัก ฝึกระบายสี เล่นแป้งโดว์ เป็นการฝึกการใช้มือ และนิ้ว เป็นการออกกำลังกล้ามเนื้อมัดเล็ก ซึ่งจำเป็นมากต่อการเขียนของเด็กในอนาคต

ลูกบอลก็เป็นสิ่งที่เด็กๆควรมี การฝึกกลิ้งบอลรับบอล หรือ เตะบอล เป็นการปลูกฝังให้รักกีฬา และเข้ากับสังคมได้ดี เพราะต้องเล่นกับหลายๆคน ต้องแบ่งและผลัดกันเล่น จึงจะสนุก เด็กได้รู้ว่ากอดลูกบอลไว้อย่างเดียวไม่สนุก ต้องกลิ้งให้คนอื่นบ้าง รับบ้างสนุกดี

การที่ให้เด็กเล่นของเล่นที่ประดิษฐ์เอง คิดเอง เป็นการฝึกธรรมะอย่างหนึ่ง คือ ความอดทน และรอคอย สามารถอดทน และพยายามทำให้เสร็จ รอคอยที่จะสนุกกับของเล่น เมื่อต่อเสร็จแล้ว หากเด็กที่เล่นของเล่นสำเร็จรูปมากๆ มักจะเบื่อเร็ว และต้องหาของใหม่ตลอดเวลา สมาธิไม่ต่อเนื่อง และเพาะนิสัยจับจรด ไม่อดทนด้วย

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่เราสามารถสอนลูกและควรสอนลูกในวัย 1 ขวบไป ก็คือระเบียบวินัยบางอย่าง ในช่วง 0-1 ปี เราฝึกลูกให้กิน นอน เป็นเวลาได้ แต่ช่วงวัยนี้ เราสามารถเพิ่มการสอนให้มากขึ้น คือ เรื่องการขับถ่าย สิ่งที่ห้ามทำ เป็นอันตราย มรรยาทที่ไม่ถูกต้อง เราต้องเริ่มสอนสิ่งเหล่านี้ให้ลูก

เด็กๆในวัยนี้มักอยากรู้อยากเห็นอยากลอง ดังนั้นการแยกแยะให้ฟัง การห้ามในเรื่องสำคัญต้องรีบทำ ก่อนที่จะเกิดเรื่องร้ายแรง เช่น การเล่นปลั๊กไป การเล่นเตารีด การเล่นยา การเล่นของมีคม เป็นต้น หรือ พวกมรรยาท สวัสดีทักทาย การลา การขอบคุณ การล้างมือเป็นประจำก่อนอาหาร หลังอาหาร ต่างๆต้องเริ่มฝึกตอนช่วงนี้ มิฉะนั้นเด็กจะติดเป็นนิสัย ไม่ยอมทำ

สิ่งที่สำคัญคือเด็กวัยนี้จะเริ่มต่อต้าน ดื้อ งอแง ซึ่งเป็นธรรมดา พ่อกับแม่อย่าอารมณ์เสียไปกับลูก แต่ควรสงบสติอารมณ์ และใช้โอกาสนี้สอนลูกให้เข้าใจอารมณ์ของเขา และสอนให้เขาสงบสติอารมณ์

สำหรับน้องแชง เนื่องจากดิฉันปูพื้นไว้คือเสียงเพลง หากลูกงอแง หรือ ดื็้อโวยวาย ดิฉันจะพาไปที่สงบ เปิดเพลง หรือ ร้องเพลงให้ฟัง จนเขาสงบแล้ว จึงอธิบายให้ฟัง ให้เขาเข้าใจอารมณ์ของเขาที่เกิดขึ้น และสอนเขาให้สงบ และอธิบายว่าสิ่งที่เขาต้องการนั้น ไม่ถูก ไม่เหมาะอย่างไร ในช่วงแรกๆ ต้องทำซำ้ๆไปตลอด แต่สังเกตว่า พอไม่นาน เขาจะสงบตัวเองเร็วมาก และปลาอยวางได้ด้วยตัวเอง ทั้งๆที่อายุึเพียง 2.5 ปี

แต่หากพ่อแม่ไม่ควบคุมอารมณ์ตัวเอง และหงุดหงิดโวยวายใส่ลูก ก็จะไม่สามารถสอน EQ ลูกได้เลย เพราะตัวเองก็ทำไม่ได้ ยากที่จะสอนลูก ยากที่จะเป็นแบบอย่างให้ลูกได้

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

มีเพื่อนในเวบที่เป็นแม่ลูกสอง มาขอคำแนะนำเพิ่มเติม เกี่ยวกับตารางของลูกเล็กวัย 9 เดือน ซึ่งใกล้เคียงกับน้องเชียร์ ดิฉันเห็นน่าสนใจดี ขออนุญาตโพสต์คำตอบมา ณที่นี้ด้วย

ตอนนี้ตารางน้องเชียร์ จะไม่มีอะไรมาก พอเขาตื่น ดิฉันก็จะจัดเวลาให้น้องแชงไปชวนน้องเชียร์ให้คลานแข่งกัน เป็นการฝึกคลาน พอสอนน้องแชง โดยอ่านนิทาน ท่องตัวเลข หรือ เล่นแป้งโดว์อะไรก็แล้วแต่ หากเชียร์อยู่ ก็ให้นั่งดูใกล้ๆ เขาได้เรียนรู้ไปด้วย เวลาสอนการ์ดคำ หรือรูปทรงก็ให้เขาดูด้วย ฟังด้วยค่ะ

เขาขี้เกียจก็ไปเล่นของเล่นอื่น หรือ นอน

หากอยู่กันสองคน ดิฉันก็จะชวนเล่นบอลบ้าง เล่นอ่านนิทาน หรือ เล่นเคาะจังหวะ ร้องเพลง เล่นเบบี้ sign หรือ พาไปเดินเล่น ดูดอกไม้ต้นไม้ ชี้สี ชี้ดอก ชี้นก ชี้รถ ไปเรื่อยเปื่อย หากไม่มีอันตรายก็ให้จับต้อง หากเป็นของกินก็ให้จับให้ดม ให้ทานเองบ้างค่ะ แล้วแต่โอกาสจะอำนวย

ดิฉันไม่ Fix กิจกรรมสำหรับน้องเชียร์ แต่ Fix เวลา เพราะเด็กวัยนี้ต้องดูอารมณ์ของเขาด้วย หากยัดเยียด น่าเบื่อ จะทำให้กลัวการเรียนไปก่อน ต้องรอให้เขาพร้อมกว่านี้ อีกอย่างสมาธิเด็กเล็กก็สี้นมาก ประมาณ 5-10 นาทีก็เก่งแล้ว เวลาเล่านิทาน ให้หาแบบสั้นๆ ไม่ต้องอธิบายมาก อ่านอย่างเดียว ทำเสียงใหญ่เล็ก ให้สนุก จบเร็วๆก็พอ อย่าอ่านไปสอนไป เพราะเด็กจะเบื่อ เราก็เซ็ง อ่านกี่รอบก็ไม่จบนะคะ

เรื่องลูกคนโต ก็เอามาสอนพร้อมกัน และให้คนเล็กดูก็ได้ค่ะ แบบดิฉันจะ Focus น้องแชงเป็นหลัก เพราะเป็นวัยของเขา หากไม่สอน เขาจะเบื่อและงอแง เลยสอนเขา และให้เชียร์เรียนและฟังทางอ้อม เดี๋ยวก็ซึมซับเอง