วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เรียนสนุกในโลกกว้าง สนุกกับวรรณคดีไทยที่อุทยาน ร.๒ (๑)

อุทยาน ร.๒ เป็นสถานที่ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่ พระบามสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย คณะกรรมการ มูลนิธิร. ๒ ได้มีโครงสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรมไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นศูนย์กลางจำหน่ายเผยแพร่พืชผลทางเกษตรกรรม และผลผลิตพื้นเมือง อุทยาน ร. ๒ มีเนื้อที่ทั้งหมด ๑๑ ไร่ อยู่ทางทิศตะวันตกของพระอารามวัดอัมพวัน เจติยาราม พระราชสมุทรเมธี อดีตเจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยาราม ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีเปิดป้ายอุทยาน เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๓๓ ทรงวางศิลาฤกษ์อาคารพิพิธภณัฑ์ เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๒๕ และเปิดบริการให้ประชาชนเข้าชม ได้ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นต้นมา


เรือนไทย ที่จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอัมพวา และของเก่าหายากในยุคต้นรัตนโกสินทร์




ในอุทยาน ร. ๒ นี้ มีเรื่องราวมากมายที่ให้เด็กๆได้มีโอกาส เห็น และเรียนรู้สิ่งที่ได้เรียนในวิชาภาษาไทย ดนตรีไทย วรรณคดีไทย ดิฉันเองจำได้ว่า ในวัยเด็กที่เรียนวิชาเหล่านี้ หลายๆสิ่ง ไม่มีโอกาสได้เห็น ได้สัมผัส เพราะเป็นของหายาก หรือ ไม่ก็สูญหายเหลือแต่ตำนาน  แต่เด็กสมัยนี้โชคดี ที่เรามีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี  ที่ทรงสนพระทัยเรื่องราวของมรดกชาติในอดีต พระองค์ได้ทรงมีพระดำริ และพระราชทานพระราชทรัพย์ ในการเก็บรวบรวมมรดกทางวัฒนธรรมที่สูญหาย ให้เราได้มีโอกาสได้เห็น  เช่น  ต้นมะม่วงหาว มะนาวโห่  เราก็ได้เห็นที่นี่ค่ะ

นี่เป็นชื่ออีกชื่อหนึ่งของมะนาวโห่

ผลมะนาวโห่คะ่ เหมือนมะนาวผ่าซีก


การเรียนของลูกเมื่อปีก่อน ที่เวียดนาม ลูกเีรียนเรื่อง "บ้าน"  สำหรับเด็กอนุบาล ๓ คุณครูเน้น เรื่อง โครงสร้างของบ้าน  เช่น ประตู หน้าต่าง หลังคา บันได และเรียนเรื่องห้องต่างๆ เช่น ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว เป็นต้น    และเรียนว่า บ้าน และส่วนต่างๆทำจากอะไร    โรงเรียนพาเด็กไปเรียนรู้ที่ Ethnic Museum ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บเรื่องราว ศิลปะ ชีวิตของชนเผ่า ๕๒ ชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคต่างๆในเวียดนาม  ได้รู้ว่า เผ่าต่างๆ มีบ้านแบบไหน ต่างกันอย่างไร  และมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร เป็นต้น

มาคราวนี้ที่อัมพวา ดิฉันเองก็ได้มาต่อยอดความรู้เรื่องบ้านไทย ให้ลูกได้เรียนรู้ ต่อยอดเรื่องบ้าน ที่ลูกได้เรียนจากฮานอย เมื่อปีก่อน  เรือนไทยภาคกลาง ใต้ถุนสูง พื้นสะอาด  ไม่เหมือนกับที่เวียดนาม ศิลปะการสร้าง และโครงสร้างบ้าน งดงาม มั่นคงแข็งแรง จากไม้แกะสลัก เกลาเรียบร้อย  ทำให้เข้าใจความอ่อนหวาน ละเอียดอ่อน และสงบร่มเย็น ในจิตใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานทางวัฒนธรรมของไทยเรา ที่ไม่มีใครเหมือน

ระเบียงที่เชื่อมระหว่างเรือนหมู่

ตามชานเรือนปลูกไม้กระถาง เพื่อความสวยงามและร่มรื่น
เรือนไทยมีชานเรือนกว้าง เพื่อรับแขก และทำกิจกรรมร่วมกัน


 แต่ในวัยเด็กเล็กแบบนี้ ก็ไม่ได้สอนรายละเอียดมากหรอกค่ะ นอกจากจะบอกลูกว่า นี่เรียกว่าอะไร นั่นทำจากอะไร ไว้ใช้ทำอะไร  แต่หากลูกๆโตขึ้นก็็คงสอนรายละเอียดได้มากขึ้น เช่น หากลูกเรียนวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ก็จะมีหลายตอนที่บรรยายเรื่องเรือนไทย และส่วนประกอบของเรือนไทย ก็อาจจะได้ศึกษาในเชิงศิลปกรรมไทยได้ค่ะ     หรือลูกหลานใคร สนใจจะเรียนคณะสถาปัตยกรรม  ก็อาจจะพามาชม เพื่อเป็นการจุดประกายในการสร้างผลงานได้

เรือนไทยใต้ถุนสูง เพราะประเทศไทยฝนตกชุก และมักมีน้ำท่วม จึงตั้งเรือนไว้บนเสาสูงเพื่อป้องกันน้ำหลาก


สรุปแล้ว ที่อุทยานร. ๒ นี่ พาลูกมาได้บ่อยๆ และทุกช่วงชีวิต เพราะเด็กจะเรียนรู้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป ตามวัยของเขาค่ะ  ค่าเข้าชมสถานที่ ก็ไม่แพง แค่คนละ ๒๐ บาทเท่านั้น จอดรถฟรี  ความรู้ที่ได้ไป เกินคุ้มค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น: