วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551

เรื่องของเทคนิคการเรียนเก่ง (2)








เรามาต่อเรื่อง เรียนเก่ง เรื่องกล้วยๆต่อ นะคะ ไม่อยากให้แต่ละบทมันยาวไป

16 ความคิดเห็น:

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

สรุปแล้ว คือ “ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตาม ฉันต้องเปลี่ยนตัวเองก่อน” คือ การเปลี่ยนความเชื่อและทัศนคติที่เรามีต่อตัวเราเอง จะส่งผลให้พฤติกรรมของเราเปลียน และมันจะปรากฏออกมาให้คนรอบข้างเห็นด้วย และเขาก็จะมองเราเปลี่ยนไป พฤติกรรมของคนอื่นที่มีต่อเรา ก็จะเปลี่ยนไปด้วย

เราคือต้นกำเนิดของความสำเร็จและความล้มเหลวทั้งปวงของชีวิตของเราเอง ไม่ใช่ความโชคร้าย โชคชะตาใดๆ หรือ ใครๆทั้งสิ้น การ กระทำของเราเองนั้น แหละ กำหนดชะตาชีวิตของเรา การกระทำของเรา ก็มาจากความเชื่อและทัศนคติที่เรามีต่อตัวเอง ว่า เราคือใคร เราเป็นอะไร อันนี้ใช่เรา อันนี้ไม่ใช่เรา และมันดึงดูดสถานการณ์ สิ่งแวดล้อม เพื่อนฝูง ทุกๆอย่างเข้าสู่ชีวิตของเราเอง

เดี๋ยวมาต่อประเด็นที่สอง คือ ไม่มีความล้มเหลว มีแต่ผิดเป็นครู

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

อ้างอิงจาก:
เรา คือต้นกำเนิดของความสำเร็จและความล้มเหลวทั้งปวงของชีวิตของเราเอง ไม่ใช่ความโชคร้าย โชคชะตาใดๆ หรือ ใครๆทั้งสิ้น การกระทำของเราเองนั้น แหละ กำหนดชะตาชีวิตของเรา การกระทำของเรา ก็มาจากความเชื่อและทัศนคติที่เรามีต่อตัวเอง ว่า เราคือใคร เราเป็นอะไร อันนี้ใช่เรา อันนี้ไม่ใช่เรา และมันดึงดูดสถานการณ์ สิ่งแวดล้อม เพื่อนฝูง ทุกๆอย่างเข้าสู่ชีวิตของเราเอง


ในประเด็นนี้ เวลาอ่าน บางคนอาจจะทำใจยากสักหน่อย ตอนที่เข้าสัมมนาในหลักสูตรแลนด์มาร์กฟอรั่ม คนจำนวนมากต่างกระฟัด กระเฟียตมากกับประเด็นนี้ ซึ่งรวมถึงดิฉันด้วย อาละวาดฟาดงวงอยู่สองวัน พอเรียนไปเรื่อยๆ ก็ซึมไปถึงลำไส้ได้ เพราะกระบวนการที่เขานำมาใช้ในสัมมนา ทำให้เราเห็นตัวเรา แทบจะควักทุกอย่างออกมาดู แต่ก่อนดิฉันโทษพ่อโทษแม่ โืทษความซวยในชีวิตมาตลอด ที่ทำให้ดิฉันเป็นคนแบบนี้ แต่พอจบหลักสูตร ดิฉันไม่โทษใครอีกเลย ทำตัวเองแท้ๆ

ดังนั้น หากอ่านเรื่องนี้ หรือ กระทู้นี้ อ่านแล้วก็ปล่อยวางไปก่อนนะคะ บทสนทนา หรือ ความคิดต่อต้านที่เกิดขึ้น จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
อ้างอิงจาก:
จริงไม่จริง ใช่หรือ ไม่จริงหรอก...
จะมาเยอะเลย อ่านไปก่อน และปล่อยวางมากๆ เอาแบบว่างเปล่า จะได้อะไรดีๆ

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

เวบแนะนำค่ะ
http://www.akltg.com/skiag.php

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

ความเชื่อของนักเรียนเหรียญทอง ข้อที่ 2 คือ ไม่มีความล้มเหลว มีแต่ผิดเป็นครู เรื่องนี้อดัม ได้บอกว่า เด็กเหรียญทอง เรียนเก่งทุกคนต่างก็เคยล้มเหลว แต่เขาไม่คิดว่าล้มเหลว แต่คิดว่า ผิดเป็นครู ซึ่งเขาจะนำมาทบทวนดู ว่าความผิดพลาดเกิดจากอะไร และแก้ความผิดพลาดนั้น

ดิฉันเองก็เห็นด้วยในประเด็นนี้ คนที่ประสบความสำเร็จทุกๆคน หรือบุคคลที่สำคัญของโลก หรือ แม้แต่พ่อแม่บรรพบุรุษของเรา ล้วนไม่สมบูรณ์แบบ ทุกคนย่อมทำผิดพลาด หรือ ล้มเหลวบ้าง อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต (และอา่จจะมีมากกว่านั้น ที่อายที่จะเล่าให้เราฟัง) แต่คนที่ประสบความสำเร็จ จะไม่ยอมแบกคำว่า "ล้มเหลว" อยู่บนบ่า แต่จะไปมองศึกษาดู ว่าล้มเหลว เพราะอะไร และให้อภัยตนเอง ปล่อยวาง แล้วทำใหม่ แต่คนจำนวนไม่น้อย ที่ยึดติดอยู่กับความล้มเหลวนั้น เช่น บางคนล้มเหลวในชีวิตรัก ก็บอกตัวเองว่า "ฉันไม่ใช่คนโชคดีในความรัก" ชีวิตก็จะเจอแต่ความล้มเหลวในเรื่องนั้นตลอดไป เด็กบางคน ถูกพ่อแม่ หรือ คนรอบข้างประนามไว้ ว่า เป็นคนนิสัยไม่ดี เรียนอ่อน เพียงเพราะเขาสอบตกครั้งหนึ่ง เขาก็จะจำไว้ และเชื่อเช่นนั้น เมื่อยึดติดแบบนี้ ก็จะไม่ไปคิดทบทวน ว่าตัวเองทำผิดพลาดอย่างไร อ่านหนังสือ หรือ การเรียนถูกต้องหรือไม่ เมื่อไม่ไปศึกษาความผิดพลาดของตัวเอง ก็จะไม่มีโอกาสที่จะปรับปรุงตัวเอง เพราะไม่รู้ว่าพลาดอย่างไร โทษความซวยของโชคชะตาประการเดียวเท่านั้น

หากเราย้อนดูประวัติของบุคคลสำคัญที่สร้างคุณูปการให้มนุษยชาติ หรือแม้แต่ของประเทศเรา ทุกท่านล้วนแต่ผ่านความล้มเหลวมาไม่น้อย หลายๆคนถูกประณาม ถูกหัวเราะเยาะ จากคนในสังคม เพียงเพราะเขาคิดต่าง เห็นต่าง แต่ท่านเหล่านั้น ล้วนยืนหยัดอยู่กับความเชื่อ พลังศรัทธา ที่เขามีต่องานที่เขาทำ ต่อเป้าหมายที่ตั้งไว้ จนสร้างสิ่งที่เป็นคุณูปการแก่ส่วนรวม เช่น กาลิเลโอ มหาตมะคานธี แม่ชีเทเรซา อัลเบร์ต ไอน์สไตน์ และอีกมากมาย ทุกครั้งที่ท่านทำงานล้มเหลว การทดลองผิดพลาด ก็ไม่ได้ท้อถอย หรือใส่ใจกับความล้มเหลว แต่กลับเจาะลึกศึกษาดูว่า ผิดพลาดที่ใด และแก้ไข ปรับปรุง ใช้ความผิดเป็นครู

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

ในฐานะที่เราเป็นพ่อแม่ และหลายๆท่าน อาจจะมีปัญหา ความกังวลใจเรื่องพฤติกรรม หรือ การเรียนของลูกที่ไม่ได้ดังใจ ลองเปลี่ยนมุมมองดูสิคะ แทนที่จะโทษลูก ลองรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกดู ลองไตร่ตรองพิจารณาดู ว่า เราปฎิบัติต่อลูกเช่นใด เราพูดและสื่อสารกับลูกอย่างไร เรามีความเชื่ออย่างไร เกี่ยวกับลูก เช่น

“ลูกเราอาจจะสอบเข้าไม่ได้ เพราะการแข่งขันสูงมาก”
“ลูกเรา เรียนอ่อนแบบนี้ จะสู้คนอื่นไหวหรือ”
“ครูสอนไม่ดี สอนไม่รู้เรื่อง ลูกเราคงสู้คนอื่นไม่ได้”

อะไรที่คุณเชื่อ ลูกก็จะเชื่อเช่นนั้น เป็นเหมือนกฎแห่งกระจกเงา มีหนังสือชื่อนี้นะคะ ไปหาอ่านได้ เป็นหนังสือแปลของญี่ปุ่น

เมื่อคุณเชื่อว่าลูกคุณจะสู้ไมได้ ลูกคุณก็จะไม่เชื่อมั่นว่าเขาจะทำได้ เขาก็เชื่อว่า เขาอาจจะสอบเข้าไมได้ หากไม่มีตัวช่วย สุดท้าย พ่อแม่ลูก ก็จูงมือกันไปโรงเรียนกวดวิชา เพื่อสร้างความเชื่อมั่น

อันนี้ ไม่ได้ต่อว่าใครนะคะ เห็นใจและเข้าใจ แยกแยะให้ฟัง อย่าโกรธกัน อ่านแล้วไม่ชอบ ก็ปล่อยวางไป ขออภัยไว้ก่อน

หากพวกเราลองไตร่ตรอง และดูว่า พฤติกรรม หรือความคิดใดของเรา ที่มีผล หรือส่งผลทางลบ ในการทำลายความเชื่อมั่น หรือ ประณามลูกไว้ กรุณารีบไปถอนคำสาปแช่งลูกอย่างด่วน เพราะวาจาของพ่อแม่ ไม่ว่าจะแค่คิด หรือเปล่งออกมาแบบเอ็นดูอ่อนโยน แบบแซวเล่น เช่น เบบี๋ของแม่ (แม้ลูกจะอายุ 16 ) ก็ตาม ล้วนเป็นวาจาศักดิ์สิทธิ์ ที่มีผลต่อทัศนคติ พฤติกรรม และความสำเร็จหรือล้มเหลวในอนาคตของลูกทั้งสิ้น ทุกเรื่อง และทุกๆๆๆด้านค่ะ

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

ความเชื่อที่สาม ของเด็กเหรียญทอง คือ เชื่อว่า ถ้าคนอื่นทำได้ คุณก็ทำได้ และหากจะเชื่อว่า ถ้าคนอื่นทำไม่ได้ คุณก็ทำได้เช่นกัน ดิฉันอยากจะต่อแบบนี้ เอาไว้ดิฉันจะมาเล่า เรื่องกำลังความคิด หรือ พวก เกี่ยวกับพลังสมอง อะไรนี่ หากเราได้ศึกษา คุณจะเห็นพลังอันยิ่งใหญ่ของสมองมนุษย์ ที่คนเรามีไม่ต่างกันเลย ค่าไอคิวอะไรต่างๆที่เป็นเครื่องวัด อาจจะวัดศักยภาพบางส่วนได้ของสมอง แต่วัดอีกหลายอย่างไม่ได้ เด็กที่ได้รับการตรวจหรือทดสอบว่าปัญญาทึบ ก็มีศักยภาพด้านอื่นได้ ดิฉันจึงไม่ค่อยจะชื่นชมมาตรวัดพวกนี้เท่าไรนัก เพราะมีผลเสียมากกว่าดี มันทำลายความเชื่อมั่น และแปะหัวจั่วหน้าคนที่ถูกวัด ว่า ไม่ดีพอ ไม่เข้าพวก ซึ่งมันเป็นเพียงสิ่งสมมุติที่คนคิดขึ้นเท่านั้น มันไม่ใช่ความจริง

และหากใครได้ลองศึกษาถึงเรื่องพลังจิตใต้สำนึก ที่แฝงเร้นในตัวของเราทุกๆคน คุณจะยิ่งทึ่ง ลองทายเล่นๆสิคะ ว่า ในชีวิตของมนุษย์เรา ที่เราใช้ชีวิตอยู่ทุกๆวันนี้ เราใช้ความสามารถ เราใช้ศักยภาพของสมองและพลังของเราจริงๆไปสักกี่ %

บางคนอาจจะตอบว่า 50% บางคนอาจจะตอบว่า 80% หรือ 20%

ซึ่งไม่ใช่ค่ะ ทุกวันนี้ คนเราใช้ความสามารถ พลังสมอง ศักยภาพที่เรามี ไม่เกิน คนละ 5% เท่านั้น อีก 95% ไม่ได้ใช้ และไม่สามารถดึงมันออกมาใช้ได้ นอกจากเวลาฉุกเฉิน ร่างกายและสมอง จะทำงานอัตโนมัติ มันจะมาเอง โดยที่เราควบคุมไม่ได้ หากเราไม่มีวิธีควบคุมมัน

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

มีตัวอย่างที่คลาสสิคที่เราทุกคนอาจจะเคยรู้เคยเห็น คือ

โดยปกตื คนเราอาจจะไม่มีแรงแบกตู้เซฟ หรือ โอ่งนำ้ใบใหญ่ๆ ปกติผอมแห้งแรงน้อย เดินไม่กี่ก้่าวก็ไม่ไหวแล้ว อย่าว่าแต่วิ่งลงบันได พอเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ จะเห็นคนแก่ หนุ่มๆสาวๆ ลูกเล็กเด็กแดง วิ่งหนี อุ้มตู้เซฟ อุ้มโอ่งไห หนีไฟ นี่เป็นเรื่องจริง

เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ตื่นตระหนก หวาดกลัวภ้ย สัญชาตญาณสัตว์ จะส่งไปยังประสาทส่วนกลาง สั่งการให้ต่อมใต้สมองหลั่งสาร อะดรีนาลีน ซึ่งทำให้เซลล์ทุกเซลล์ เผาผลาญพลังงานอย่างเร่งด่วน เกิดกำลังมหาศาล การตื่นตัว ตื่นเต้น และมีเรี่ยวแรงมหาศาล ในการทำหรือยกสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

นี่คือหนึ่งตัวอย่างของศักยภาพอันยิ่งใหญ่ที่มีอยู่ในตัวเรา ที่เราอาจจะไม่รู้ว่า เรามี มีทุกคน และดึงมันมาใช้ไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่า มันมีอยู่

Something you don t know that you don t know!

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

ในเรื่องพลังอันมหาศาลของมนุษย์ ก็เช่นกัน คนที่จะเห็นพลังที่มีศักยภาพมหาศาล และยกตัวอย่างได้ คือ พระพุทธองค์ของเรา

ดิฉันไม่อาจจะเล่ารายละเอียดเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องซับซ้อน แต่เพื่อนๆที่ปฏิบัติธรรม และเข้าได้ถึงฌาน คงเข้าใจได้ว่้าดิฉันหมายถึงอะไร สำหรับในหลักสูตร ที่ดิฉันเรียน คือ Landmark Forum เราเรียกว่า Break Through เมื่อเราเข้าถึงแก่นของธรรมบางประเด็นชนิด เข้าไปอยู่ในไส้ มันจะเหมือนกับโดมิโนล้มต่อๆๆๆกัน เราหลุดออกมาจากกรอบความคิด หรือ กรอบอะไรบางอย่างที่ครอบอยู่ และเรารู้สึกได้ว่า พลังความคิดที่ขับเคลื่อนเราอยู่ มันมีพลานุภาพเพียงใด

พลานุภาพที่เกิดขึ้น จากการแตกฉานของความคิดนี้ มันทำให้เราไม่ท้อถอย ไม่เหนื่อยล้า ไม่ว่าจะเผชิญกับอุปสรรคใดๆก็ตาม ไม่ว่ากระแสสังคม คำพูด หรือ คำเหยียดหยามประนามของใครๆ มิได้มีความหมายกับเรา ไม่ได้ทำให้เรามองเห็นตัวเอง ด้อยลง มีแต่เป้าหมาย และจุดมุ่งหมายเท่านั้น และหนทางที่จะทำให้ได้ถึงเป้าหมายจะปรากฏสว่างขึ้นมาเอง ที่สำคัญ คือจุดมุ่งหมายที่ว่า นอกจากจะเพื่อตนเองแ้ล้ว จะเพื่อส่วนรวมด้วย

นี่คือพลังของความคิด

สรุปแล้ว นอกจะเชื่อว่้า คนอื่นทำได้ คุณก็ทำได้ ต้องเชื่อด้วยว่า อะไรก็เป็นไปได้ ใต้ฟ้านี้

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

ความเชื่อของนักเรียนเหรียญทองประการที่ 4 คือ เรียนเป็นเล่น เล่นเป็นเรียน กล่าวคือ สนุกกับการเรียน ไม่คิดว่าการเรียนเป็นเรื่องที่น่าเบื่อและจำเจ เหมือนกับคนทำงาน หากเราคิดว่า การมาออฟฟิต การไปทำงาน เหมือนกับการพักผ่อน ได้มาเล่นเกมส์ชีวิตที่ท้าทาย มีเรื่องใหม่ๆมาท้าทายความสามารถให้เข้ามาแก้ไข ได้เจอเพื่อนฝูง เราก็จะรู้สึกว่า งานเป็นเรื่องสนุก เหมือนมาเล่นกับเพื่อน ดิฉันเห็นครอบครัวของสามี รวมทั้งตัวสามีของดิฉันเอง มีความสุขกับงานมาก แม้งานจะหนัก และยาก แต่พวกเขามีความสุขกับสิ่งที่ทำ พี่สามีที่เป็นหมอใหญ่ ไปโรงพยาบาล ดูแลคนไข้ทุกวัน ไม่เว้นเสาร์อาทิตย์ หน้าตายิ้มแย้ม อ่อนโยน ชวนไปไหนก็ไม่ไป เพราะไม่สนุก ชอบทำงาน สามีก็เหมือนกัน อยู่บ้าน เล่นกับลูกไปทำงานไป บางทีดิฉันนึกว่า แกเล่นเกมส์อยู่

พ่อแม่ที่มีปัญหา ลูกไม่ชอบโรงเรียน ร้องไห้ ไม่ยอมไปโีรงเรียน อาจจะลองพิจารณาดู ว่า ตัวคุณเอง มองลูกอย่างไร

"ห่วงลูกจังเลย ลูกจะยอมไม๊น๊า ไม่เคยจากบ้าน"
"ครูจะดูแลลูกดีไม๊ ลูกจะถูกรังแกหรือไม่"

พวกความรู้สึก หรือ ความคิดแบบนี้ ทำให้หน้าตา คำพูดของคุณก็หม่นหมอง อึดอัด กังวล ลูกก็สัมผัสได้ เด็กๆก็จะรู้สึกไม่อยากไปโรงเรียน กลัวโรงเรียน

ลองปรับทัศนคตืใหม่ ลองคิดเสียว่า การที่ลูกไปโรงเรียน เป็นเรื่องโชคดีมีเกียรติ น่าชื่นชมยินดี มีความสุข นำ้เสียงสำหน้า ของคุณพ่อแม่ ก็จะมีแต่ความตื่นเต้นยินดี เหมือนพาลูกไปเที่ยว พลอยสร้างความสดชื่นกระตือรือร้น ให้ลูกอยากไปโรงเรียนด้วย

หากลูกโตพอ ก็ลองชี้มุมมองใหม่ๆ ให้ลูกเห็นการเรียนเป็นเรื่องท้าทาย เหมือนเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ มีแพ้ มีชนะได้ ต้องปรับกลยุทธ์ หาทางกำจัดจุดอ่อน อย่ายอมแพ้ อย่าไปคิดซีเรียส จริงจัง กดดันลูกเรื่องเรียน ด้วยการผลักดัน ดุด่า เปรียบเทียบ หรือวิตกกังวล เพราะทำให้เด็กยิ่งมองเห็นการเรียน คือภาระและปัญหา แทนที่จะเป็นการเล่น

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

เรื่องความเชื่อสุดท้ายของเด็กเหรียญทองเรียนเก่ง คือ มีความยืดหยุ่น เชื่อว่า ความยืดหยุ่นจะช่วยให้คุณคุมสถานการณ์ได้ สามารถปรับเปลี่ยนนิสัย พฤติกรรม ที่ไม่ดี ตลอดจนกลยุทธ์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เรื่องนี้คงไม่ต้องขยายความมากมาย เพราะขยายมาเยอะแล้ว

ตอนนี้มาถึงประเด็นเทคนิคการเรียน ที่อดัม คูได้แนะนำไว้ในหนังสือของเขา

เทคนิคแรก คือ Mind Mapping อย่างที่ดิฉันได้กล่าวไว้เบื้องต้นว่า เทคนิคนี้ มีหลายๆโรงเรียนนำมาใช้สอนเด็กแล้ว โดยเฉพาะโรงเรียนเด็กเล็ก เช่น อนุบาลมณีรัตน์ อนุบาลกุ๊กไก่ เป็นต้น

พ่อแม่ที่เห็นลูกเรียนแทคนิคนี้ อย่ามองข้ามความสำคัญ อย่าแค่ชื่นชมลูกว่า วาดสวยจัง โอ้โห...อะไรนี่ แต่ลองให้ลูกอธิบายให้ฟัง ว่า แต่ละก้าน แต่ละสาขา ของสิ่งที่ลูกเขียน มีอะไรบ้าง คืออะไร มีรายละเอียดอย่างไร เพราะนี่คือแก่นและจุดประสงค์ที่แท้จริงของการทำ Mind Mapping

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

การทำ Mind Mapping เป็นวิธีการจดบันทึก หรือ ที่เรามักพูดติดปากว่า จดเลคเชอร์ แบบใหม่ แทนที่จะจดบันทึกแบบสมัยก่อน ที่เขียนเป็นประโยคยาวๆ หรือ แม้แต่เขียนเป็นหัวข้อ เป็นประเด็นสำคัญก็ตาม ก็มีข้อเสีย มีปัญหาที่เป็นอุปสรรค์ต่อการเรียน คือ

- บันทึกแบบเก่านั้นใช้แต่สมองซีกซ้าย เพราะเป็นการเขียน เป็นเหตุเป็นผล ซึ่งหากเด็กฝึกแบบนี้ไปเรื่อยๆ สมองที่ได้รับการพัฒนาใช้บ่อย คือสมองซึกซ้าย ที่เกี่ยวข้องกับเหตุผล ตรรกะเท่านั้น แต่ซึกขวา ที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ สุนทรียภาพ จะไม่ได้รับการพัฒนาให้สมดุลกัน แต่หากใช้แบบ Mind Mapping เด็กจะได้วาดภาพ ได้ ใช้สีสรร เชื่อมโยง ทำให้ได้ใช้สมองทั้งสองด้่าน

- การบันทึกแบบเก่า จะต้องใช้คำ ฟุ่มเฟือย เสียเวลาเขียน เสียเวลาอ่านทบทวน

- น่าเบื่อ ไม่น่าสนใจ (เหมือนกระทู้ที่ดิฉันเขียนอยู่นี้ หากใครไม่รักจริง คงไม่ตามอ่าน ถอดใจไปแล้ว เพราะมันยาว )

- ไม่เห็นภาพรวม จะมองไม่เห็นการเชื่อมโยงของข้อมูล อ่านไปเรื่อยๆ เบลอไปหมด มองไม่เห็นเรื่องใด ประเด็นใด เชื่อมกับอะไรที่ชัดเจน ใครลองไปซื้อหนังสือมา แล้วเปิดดู Mind Mapping ที่เขาทำสิคะ จะเห็นว่า สิ่งที่ดิฉันเขียนยาวเยื้อ ไม่จบอยู่นี้ สรุปแค่หน้าเดียวอย่างไร และเชื่อมโยงประเด็นใดบ้าง

- ประเด็นสำคััญดูไม่เด่น แม้จะมีตัวหนา ตัวเอียง หรือ ไฮไลท์ ก็ไม่ช่วยมาก

การจด บันทึก หรือ เลคเชอร์แบบ Mind Mapping นี้ จะแก้ปัญหานี้ทั้งหมด

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

ในหนังสือ มีสอนการทำ Mind Mapping ไว้ค่ะ ดิฉันคงไม่ลงรายละเอียด เพราะจะต้องมีรูปประกอบ จึงจะดี หากใครสนใจเรื่องนี้ ลองลิงค์ไปตามขุมทรัพย์ที่เพื่อนๆ ช่วยกันเติมเต็ม ในกระทู้นี้นะคะ ดีกว่าดิฉันอธิบายเองแน่นอน

มีประเด็นหนึ่งที่อดัม คู เขียนไว้ในตอนท้ายๆ แต่ดิฉันอยากนำมาเขียนไว้ในตอนนี้ คือ เรื่องของการทบทวน การทบทวนครั้งแรก หลังการเรียนรู้ ควรจะเริ่มหลังจากการศึกษาครั้งแรกไปแล้ว 10 นาที นี่คือ ช่วงเวลาที่ควรทำ Mind Mapping แทนการเลคเชอร์ หรือ หากตอนเรียนไป วาด Mind Mapping ไปด้วย ก็มองทบทวนดู เป็นการทบทวนการเรียนรู้ครั้งแรก เป็นการตอกหัวหมุดแห่งความจำ

การทบทวนครั้งที่สอง ควรทำภายใน 24 ชม. คือการมาทำความเข้าใจกับบทเรียน และ Mind Mapping ที่ทำไว้ หากมีการอ่านหนังสือ ตำรา เพิ่มจากชั้นเรียน ก็ทำไป

การทบทวนครั้งที่สาม ควรทำภายใน 1 สัปดาห์
การทบทวนครั้งที่สี่ ต้องทำใน 1 เดือน
การทบทวนครั้งที่ห้า ต้องหลังจาก 6 เดือน

จะเห็นว่า การจะเรียนเก่ง เรียนดี ต้องอ่านทบทวนหลายรอบมาก หากไม่ใช้วิธีการบันทึก ฝึกปรือให้ชำนาญ การทบทวนแบบนี้ เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปได้ยาก

ทราบหรือไม่คะว่า การทบทวนแต่ละบทเรียนด้วยวิธี Mind Mapping นี้ อดัม คู บอกว่า ใช้เวลาดังนี้

ครั้งที่ 1 : ใช้เวลา 10 นาที
ครั้งที่สอง ใช้เวลา 15 นาที
ครั้งที่สาม ใช้เวลาน้อยกว่า 15 นาที
การทบทวน ครั้งสุดท้ายก่อนสอบหนึ่งวัน ใช้เวลา ไม่เกิน 10 นาที

แล้วบทเรียนทั้งหมด ก็จะเข้าไปอยู่ในหัว เป็นรูปภาพ หนึ่งหน้า แทนที่จะเป็นหนังสือแต่ละบท

หากใช้วิธีแบบดั้งเดิม จะใช้เวลาในการทบทวน บทเรียนแต่ละบทเรียน แต่ละบทไม่ต่ำกว่า 40 นาที

นี่คือพลังของเทคนิค Mind Mapping

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

การทำ Mind Mapping เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการจดบันทึก หรือ เลคเชอร์ ต่อมาก็ต้องมีเทคนิคในการจำ ซึ่ง อดัม คู ก็ให้เทคนิคไว้ ดิฉันอ่านดู ก็เป็นเทคนิคเก่า ที่เราอาจจะลืมไปแล้ว มาปัดฝุ่นกันหน่อย

หลักในการจำ

- เห็นเป็นรูปภาพ ตัวอย่างที่เห็นชัด อาจจะเป็นการเรียนภูมิศาสตร์ แผนที่ หรือ ชีววิทยาเรื่องอวัยวะ หากเราจำภาพได้ติดตา ว่าอะไรอยู่ที่ใด เป็นอย่างไร ก็จะจำรายละเอียดในบทเรียนนั้นๆได้ดีขึ้น

- การเชื่อมโยง การเรียนพวกขั้นตอนต่างๆ หรือ วิชาที่เป็นเหตุ เป็นผลต่อเนื่องกัน ก็อาจจะใช้วิธีจำแบบ diagram หรือพวกรูปโยงต่างๆ จะง่ายกว่า ท่องจำเป็นประโยค

- ล่อให้แปลก แทรกอารมณ์ขัน อันนี้ขอยืมจากเวบบล็อคของพ่อธีร์มาฝากก็แล้วกัน เคยอ่านเจอเมื่อเดือนก่อน

อ้างอิงจาก:
อักษรกลาง

9 ตัว

ไก่จิกเด็กตาย เด็กตายบนปากโอ่ง

อักษรสูง

11 ตัว

ไข่ขวดฉิ่งถุงฐาน ผึ้งฝาศาล ฤาษี เสือหีบ

ต่ำ เดี่ยว 10 ตัว

งูใหญ่นอนอยู่ ณ ริมวัดโมฬีโลก

ต่ำคู่ 14 ตัว

ฮูกใช้พิเภกเฒ่าซักธง มณโฑ ทิ้ง ฅนฟังระฆัง ค้าเฌอ

(อันนี้คิดเองเมื่อคืน 555)

จำได้หมดแล้ว เออนะ

มาจำได้ก็ ตอนมีลูกนี่แหละ 55555


- พันความรู้สึก ใช้เหตุการณ์ ที่กระตุ้นความรู้สึกกลัว โกรธ รัก เจ็บปวด หรือเกลียด มาเป็นเครื่องช่วยจำ เช่น ดิฉันประทับใจที่เคยไปท่องเที่ยวในหลายๆประเทศ ความประทับใจอันนั้น ทำให้ดิฉันสนใจและจำเรื่องภูมิประเทศ ภูมิอากาศของแต่ละภูมิภาคของโลกชนิดแม่นยำ ทั้งๆที่เรียนอ่อน วิชาอื่นๆทั้งหมด

- นึกประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส จะช่วยกระตุ้นความจำได้ดีมาก ดิฉันคิดว่า เช่นวิชาวิทยาศาสตร์ ที่ต้องลงมือปฏิบัติทดลอง หรือ แม้แต่การเรียนคณิต ที่ใช้วิธีเล่น เห็นของ เห็นภาพ หรือ ภาษาอังกฤษ หรือ ภาษาต่างๆ ที่เด็กๆได้สัมผัส จับต้องตัวอักษร บนผิวสัมผัส เป็นตัวอย่างที่ดีของเรื่องนี้ วิธีการเรียนของ วอล์ดอร์ฟ หรือ มอนเตสเซอรี่ และโรงเรียนแนวทางเลือกอื่นๆ จะมีจุดเด่นมากในเรื่องนี้ค่ะ

- คิดเป็นสี จดอย่างมีสีสรร วาดรูปสวยงาน ทำให้จำแม่นขึ้นได้

- มีความหมาย ในเรื่องนี้ คือ ต้องเข้าใจเนื้อหาของสิ่งที่จำ เพราะหากเราไม่เข้าใจสิ่งที่ท่องอยู่ มันก็ยากที่จะจำ

- ขยายสัมผัส หาคำสัมผัสที่คล้องจอง ทำให้จำง่าย เช่น 20ม้วน บทอาขยานต่างๆ ที่ดิฉันเคยเขียนไว้

- หัดเคลื่อนไหว คือให้จินตนาการเห็นภาพเคลื่อนไหว ก็จะจำแม่นขึ้น พวกโรงเรียนแนวทางเลือก จะเน้นแบบนี้ กล่าวคือ ไปดูสัตว์จริงๆ เป็นๆ เวลาเรียน เรื่องสัตว์นั้น ไปดูชีวิตของมัน แทนที่จะดูแต่จากรูปในหนังสือ

- ให้ตอกยำ้ ซำ้บ่อยๆ ดิฉันได้พูดไปแล้วเรื่องการทบทวนค่ะ

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

นหนังสือ มีคำอธิบาย และมีตัวอย่างที่แตกต่างไปจากดิฉัน น่าสนใจเหมือนกัน แต่ไม่อยากเขียนซำ้ หากใครสนใจ ก็ลองไปซื้อมาอ่านนะค และ ยังมีเทคนิคการจำ ที่เขาเขียนไว้ คือ จำขึ้นใจในตัวเลข ซึ่่งเป็นเทคนิคที่ คุณธัญญา ผลอนันต์ ได้เขียนไว้ แต่ดิฉันไม่สามารถสรุปเรื่องนี้ได้ ต้องสารภาพตามตรง เพราะไม่เข้าใจ

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

ยังมีเทคนิคการเรียนดีอีกอย่างหนึ่ง ที่อดัม คู ไม่ได้พูดถึงในหนังสือของเขา แต่ดิฉันขอยืมมาจากเวบของพ่อธีร์ คือเรื่องทักษะการอ่าน อ่านให้เร็ว Speed Reading พ่อธีร์เคยกล่าวไว้ในเวบบล็อคของท่านค่ะ ว่า ต่อไปหนังสือตำราที่เด็กๆต้องเรียนรู้จะมีมากมาย อ่านไม่ทัน ข้อสอบก็เยอะ ดังนั้น การฝึกเด็กให้อ่านเข้าใจ และอ่านเร็ว จึงเป็นทักษะที่สำคัญของการเรียน

หากใครสนใจเรื่อง Speed Reading ก็ลองไปค้นดูจากเวบบล็อคของท่านนะคะ มีข้อมูลดีมากค่ะ ดิฉันไม่ขอเล่าซำ้

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

พอดีเห็นบทความนี้ เข้ากะกระทู้ตอนนี้พอดี เรื่อง Mind Map เลยเอามาเก็บไว้ด้วยกันเป็น ข้อมูลอ้างอิงค่ะ

“Mind Map” เครื่องช่วยเด็กไทยโชว์ไอเดีย
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 19 พฤศจิกายน 2551 15:14 น.

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลายปีที่ผ่านมานี้ เวทีการแข่งขันที่เปิดโอกาสให้นักเรียนรุ่นเยาว์ได้แสดงความสามารถทางความ คิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และฝึกความกล้าแสดงออกเกิดขึ้นมากมาย แถมเวทีเหล่านี้ยังดึงดูดให้เด็กไทย จำนวนหนึ่งที่เข้าร่วมแข่งขันเกิดความรู้สึกเพลิดเพลิน ไม่มีภาวะเครียดหรือกดดันถึงชัยชนะหรือความพ่ายแพ้เบื้อง หน้าด้วย

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กไทยสลัดความขี้อายเหมือนเช่นที่เคยเป็นมาใน อดีต และหันมาร่วมแข่งขันอย่าง สนุกสนานได้นี้ อาจมาจากกิจกรรมที่ใช้ในการประกวด ซึ่งไม่เน้นความถูกผิด หากแต่ให้เด็ก ๆ ได้แสดงออกถึงแนวคิดของตนเองอย่างเหมาะสมต่อหัวข้อที่กำหนดไว้ผ่านเครื่อง มือต่าง ๆ

หนึ่งในเครื่องมือที่ทำให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้ใช้แสดงความคิดหรือจินตนาการหนีไม่พ้นเครื่องมือยอดฮิต ที่ชื่อว่า "แผนที่ความคิด” หรือ Mind Map เครื่องมือช่วยในการจัดบันทึกข้อมูลที่ถูกออกแบบขึ้นโดย โทนี บูซาน เมื่อปี พ.ศ. 2517 นั่นเอง ซึ่งความนิยมของเครื่องมือ Mind Map ในด้านการเรียนการสอนยังนำไปสู่การจัดการประกวด Mind Map ในหลากหลายเวที และหลากหลายหัวข้อ

อาจารย์ธัญญา ผลอนันต์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Mind Map เปิดเผยว่า “ประโยชน์ ของ Mind Map ที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ จะทำให้เด็กเรียนหนังสือได้ง่ายขึ้น สนุกกับการเรียนรู้ จำสิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย และสามารถคิดนอกกรอบได้ ทั้งนี้ การใช้ Mind Map ในการจดบันทึกความรู้ จะทำให้เด็กได้ใช้ศักยภาพของสมองทั้งสองซีกไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งการสอน Mind Map ที่ถูกวิธี ผู้ใหญ่ หรือครูควรอธิบายให้เด็กได้ทราบว่าสิ่งที่เขาทำมีประโยชน์กับเขาอย่างไร และไม่ควรไปปิดกั้นความคิดของเด็ก หรือบังคับให้เด็กเขียน เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกเบื่อได้”

สำหรับ การฝึกทักษะการใช้ Mind Map นี้ อ.ธัญญาระบุว่า เด็กกับผู้ใหญ่จะใช้เวลาในการเรียนไม่แตกต่างกันมากนัก คือประมาณ 1 วัน และสามารถใช้ได้อย่างคล่องแคล่วเมื่อฝึกใช้อย่างต่อเนื่อง

“ในห้องเรียน หากมีความรู้ต่าง ๆ นั่นก็มาจากอาจารย์ แต่ทันทีที่เด็กเขียน Map นั่นคือความรู้ของเด็กคนนั้นทันที และ Mind Map ของเด็กแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เพราะเขาสรุปความรู้ออกมาจากสิ่งที่เขาเข้าใจ แต่ละคนเก็บเกี่ยวความรู้มาไม่เหมือนกัน เด็กจะมีความสุขที่ได้สร้างสรรค์งานของตนเองซึ่งไม่ซ้ำแบบใคร และได้พัฒนาความคิดมากขึ้น”

ด้าน ด.ช.ธีรเมธ เปรื่องเมธางกูร (ธีม) มัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเพลินพัฒนา เจ้าของรางวัลชนะเลิศจากการ แข่งขันเขียน Mind Map ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยในหัวข้อ "เราจะหยุดโลกร้อนได้อย่างไร" เปิดเผยว่า การเขียน Mind Map ของตนเองนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเริ่มเรียนมาตั้งแต่ชั้น ป.5 และตอนนี้สามารถใช้ได้คล่องแล้ว

"ผลงาน Mind Map ที่ส่งประกวดในหัวข้อภาวะโลกร้อน ได้เขียนโดยศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากการดูงานนิทรรศการต่าง ๆ นอกสถานที่ และทางโรงเรียนได้สนับสนุนให้มีการแบ่งกลุ่มรณรงค์ลดภาวะโลกร้อนในโรงเรียน ด้วย สำหรับงาน Mind Mapของผม ได้มีการรวบรวมความรู้จากทุกสื่อ ทั้งจากการดูงาน กิจกรรมของโรงเรียน และศึกษาเพิ่มเติมจากหนังสือ หรือบางอย่างก็เป็นสิ่งที่รับรู้มาจากคนรอบข้าง ครอบครัว ผู้ปกครอง แล้วจึงเขียนออกมาครับ"

" หลัก ของ Mind Map ที่ผมเรียนรู้มาคือ เราจะนำมาแค่หัวข้อหรือใจความ สำคัญของเรื่องนั้น ๆ มาใส่เอาไว้ พอเราเห็นหัวข้อเราก็จะนึกถึงเนื้อหาที่อยู่ข้างในได้ สำหรับผม Mind Map เหมือนกับการฝึกกระบวนการคิด และการจัดเก็บข้อมูล ถ้าอ่านหนังสือหรือบทความแล้วได้ทำ Mind Map ก็เหมือนกับได้ ทบทวนความรู้ไปในตัว คิดว่าเป็นเครื่องมือที่ดีมากที่เราสามารถสรุปข้อมูลหนังสือทั้งเล่มให้อยู่ ในกระดาษเอสี่ เพียงหน้าเดียว"

ด้าน ด.ญ.ฐิติรัตน์ สิริภัทรวณิช (ฟ้า) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเพลินพัฒนา เจ้าของรางวัลชมเชยจาก เวทีเดียวกัน บอกเล่าถึงการใช้ Mind Map ของตนเองว่า "ปกติใช้ Mind Map กับวิชาที่ต้องสรุปความรู้ เช่นวิชา สังคม และธรรมชาติ การทำ Mind Map ทำให้เห็นข้อมูลความรู้ได้ชัดเจน เข้าใจได้ง่ายขึ้น ถ้าคนที่ไม่ได้ใช้ก็อาจทำให้ สรุปประเด็นในเรื่องนั้น ๆ ได้ช้ากว่า อีกทั้งการทำ Mind Mapยังสนุกกว่าการมานั่งจดทั้งประโยคค่ะ"

นอกจากนั้น การวาด Mind Map ยังทำให้เด็ก ๆ ได้ใช้จินตนาการในการออกแบบแผนภาพของตนเองให้มี ความสวยงาม ด้วยการใช้สีสันต่าง ๆ และยังทำให้เด็กสามารถจดจำข้อมูลเหล่านี้ได้ง่ายกว่าการท่องตำราในรูปแบบ เดิม ๆ ด้วย

อย่างไรก็ดี อาจารย์ธัญญาได้เปิดเผยถึงปัญหาที่ได้พบจากการใช้ Mind Map ว่า เป็นปัญหาจากการเข้าใจผิดของคุณครู จึงทำให้สอนการใช้ Mind Map แบบผิด ๆ เช่น วาดวงกลมเอาไว้ให้ แล้วให้เด็กเติมคำลงในช่องว่าง ซึ่งถือว่าเป็นการล้อมกรอบความคิดของเด็ก ทำให้เด็กเบื่อ

“มีผลงานจากเด็กบางโรงเรียนที่เขียน Mind Map เหมือนกันหมดทุกคนส่งเข้าร่วมการประกวดด้วย ซึ่งหากเข้าใจการใช้ Mind Map อย่างแท้จริงแล้วจะทราบว่า การวาด Mind Map ของเด็กแต่ละคนนั้น จะไม่มีทางเหมือนกันเด็ดขาด” อ.ธัญญากล่าวในที่สุด