วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551

**การเล่นนิ้วมือ (Finger Play) ของ ผศ.ละออ ชุติกร***

คุณ phuangtong เพื่อนที่น่ารักอีกท่านหนึ่งในเวบ ได้ไปค้นเจอเรื่องที่น่าสนใจนี้มาฝากค่ะ ดิฉันก็เลยเอามาแปะไว้ในนี้ด้วย เผื่อเพื่อนๆหรือตัวดิฉันจะใช้ จะได้หาง่าย

ขอบคุณจขกท.ไว้ณ ที่นี้ด้วยนะคะ

3 ความคิดเห็น:

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

พอดีเข้าไปดู เวปสำหรับเด็กอนุบาลโครงการในพระราชูปถัมภ์ของพระเทพฯ อ่านแล้วมีคอลัมภ์นึงน่าสนใจสำหรับเด็กอนุบาล สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่สนใจอยากจะนำไปเล่นกับลูก ๆ ที่บ้าน

**การเล่นนิ้วมือ (Finger Play) ของ ผศ.ละออ ชุติกร***

การเล่นนิ้วมือเป็นการเล่นโดยใช้คำพูด คำคล้องจอง และใช้นิ้วมือแสดงประกอบ เด็กจะสนุกเพลิดเพลินในการพูดคำคล้องจอง ซึ่งเป็นเรื่องราวสั้น ๆ ที่เกจะเข้าใจง่าย สามารถใช้ประกอบการเล่นสมมติ โดยให้เด็กสร้างจินตนาการการให้นิ้วมือเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งต่าง ๆ การเล่นนิ้วมือยังเป็นการช่วยให้เด็กได้บริหารกล้ามเนื้อมือ ทำให้สามารถใช้มือได้อย่างคล่องแคล่ว อันจะเป็นการนำไปสู่การเขียนได้ง่ายขึ้น และยังเป็นการกระตุ้นความสนใจของเด็กช่วยให้เด็กเงียบและมีสมาธิในการฟัง

http://www.preschool.or.th/journal_finger_play.html

ถ้าสนใจก็ลองดูน่ะค่ะ และก็มีข้อความอื่น ๆ อีกเยอะเห็นว่าจะจะพอเป็นประโยชน์สำหรับคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

การศึกษาเด็กอนุบาล
การเล่นนิ้วมือ (Finger Play)

โดย... ผศ.ละออ ชุติกร

การเล่นนิ้วมือเป็นการเล่นโดยใช้คำพูด คำคล้องจอง และใช้นิ้วมือแสดงประกอบ เด็กจะสนุก เพลิดเพลินในการพูดคำคล้องจอง ซึ่งเป็นเรื่องราวสั้นๆ ที่เด็กจะเข้าใจง่าย สามารถใช้ประกอบการเล่นสมมติ โดยให้เด็กสร้างจินตนาการให้นิ้วมือเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งต่างๆ การเล่นนิ้วมือยังเป็นการช่วยให้เด็กได้บริหารกล้ามเนื้อมือ ทำให้สามารถ ใช้มือได้อย่างคล่องแคล่ว อันจะเป็นการนำไปสู่การเขียนได้ง่ายขึ้น ครูสามารถ นำการเล่นนิ้วมือมาใช้ เพื่อกระตุ้นความสนใจของเด็ก ช่วยให้เด็กเงียบ และมีสมาธิในการฟัง นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาใช้ เป็นสื่อประกอบการร้องเพลง เล่นนิทาน และประกอบการสอนให้เกี่ยวพันกับวิชาต่างๆ เช่น ธรรมชาติ สังคม คณิตศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้พัฒนาภาษา และความรู้ต่างๆได้ดียิ่งขึ้น

ตัวอย่างการเล่นนิ้วมือ

การเล่นนิ้วมือประกอบคำคล้องจองเกี่ยวกับคณิตศาสตร์

พื้นฐานการบวก
- นก 1 ตัวเกาะอยู่บนหลังคาอีก 1 ตัวบินมารวมเป็นนก 2 ตัว
- นก 2 ตัวเกาะอยู่บนหลังคาอีก 1 ตัวบินมารวมเป็นนก 3 ตัว
- นก 3 ตัว...
- นก 4 ตัว...

วิธีเล่น
- ตั้งข้อศอกข้างซ้ายบนโต๊ะ แล้วทำมือซ้ายโค้งเป็นรูปหลังคา ส่วนมือขวา กางนิ้วทำเป็นรูปนกบิน โดยกางนิ้วหัวแม่มือให้ห่างจากนิ้วอื่นๆ ทั้ง 4 นิ้วเพื่อสมมติเป็นหัวนก และปีกนก แล้วทำท่าบินร่อนมาเกาะที่มือ ที่ทำเป็นหลังคาทีละตัว จนครบ 5 ตัว


พื้นฐานการลบ
- นก 5 ตัว เกาะอยู่บนกิ่งไม้ 1 ตัวบินไป เหลือนก 4 ตัว
- นก 4 ตัวเกาะอยู่บนกิ่งไม้ 1 ตัวบินไป เหลือนก 3 ตัว
- นก 3 ตัว...
- นก 2 ตัว...
- นก 1 ตัวเกาะอยู่บนกิ่งไม้ 1 ตัวบินไป ไม่เหลือนกสักตัว

วิธีเล่น
- ตั้งข้อศอกข้างซ้ายลงบนโต๊ะแล้วกางนิ้วทั้ง 5 ออกให้ห่างกัน เพื่อสมมติให้เป็น กิ่งไม้ ส่วนมือขวาทำท่าเป็นนกบินมาเกาะบนกิ่งไม้ทั้ง 5 ตัว แล้วทำท่าบิน ไปทีละตัว จนไม่เหลือนกเลย
การเล่นนิ้วมือประกอบเพลงที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติของผีเสื้อ
หนอนตัวน้อย
- หนอนตัวน้อยๆ ค่อยๆ คืบคลาน ค่อยๆ คืบคลานหาอาหารกิน
- หนอนกินใบไม้ มันกิน มันกินกินไม่หยุดยั้งทั้งวัน ทั้งคืน
- หนึ่งสัปดาห์กว่ามันเติบโตเปลี่ยนแปลงมากโข สร้างเปลือกหุ้มหัวไว้
- สองสัปดาห์ดักแด้เปลี่ยนไปสู่ชีวิตใหม่เป็นผีเสื้อแสนงาม

วิธีเล่น
- วางนิ้วมือข้างขวาทั้ง 5 นิ้วลงบนปลายแขนข้างซ้าย แล้วค่อยๆ ขยับขึ้นไปทาง โคนแขน
- ขยับนิ้วหัวแม่มือและนิ้วทั้งสี่เข้าหากันเร็วๆ เพื่อทำท่าหนอนกินใบไม้
- งอนิ้วมือทุกนิ้วเข้าหากัน กำเป็นรูปกลม
- ค่อยๆ คลายนิ้วทั้งห้าออก แล้วเคลื่อนนิ้วทั้ง 5 ทางซ้ายมือ และขวามือมาชนกัน โดยให้นิ้วหัวแม่ มือทั้งสอง ชนกันสมมติเป็นตัวผีเสื้อ แล้วขยับนิ้วทั้งสี่ทั้งสองข้าง ทำท่าโบกไปมา สมมติเป็นปีกผีเสื้อ
การใช้นิ้วมือประกอบการเล่นสมมติ
ลูกบอล
- ลูกบอลเล็กๆ
- ลูกบอลใหญ่ๆ
- เธอมีบ้างไหม
- เอ้า ฉันแบ่งให้เธอ

วิธีเล่น
- ประกบมือทั้งสองข้างเข้าหากันหลวมๆ ให้มีลักษณะกลมเพื่อสมมติเป็นลูกบอลเล็กๆ
- กางมือทั้งสองข้างออกจากกันในลักษณะของวงกลมใหญ่
- ถามและทำท่าพยักหน้า
- ทำท่าโยนลูกบอลในมือส่งให้เด็กคนใดคนหนึ่ง


รถไฟ
- ฉึกฉัก ฉึกฉัก รถไฟ รถไฟ แล่นไปตามทาง
- พอสุดระยะทาง ส่งเสียง ปุ๊นปุ๊น
- สั่นกระดิ่ง กริ๊ง กริ๊ง

วิธีเล่น
- วางนิ้วมือทั้งห้าข้างขวาลงบนปลายแขนข้างซ้าย แล้วค่อยๆเคลื่อนขยับขึ้นไปทางโคนแขนทีละน้อย
- เคลื่อนนิ้วทั้งห้าไปจนถึงต้นแขน และส่งเสียงร้อง ปู๊น ปู๊น
- ใช้นิ้วชี้ทางขวา แตะที่ติ่งหู 2-3 ครั้ง


ทหาร
- ปิ๊ด ปี๊ ปิ๊ด ทหารเดินหน้า ก้าวขาทีละนิด
- ปิ๊ด ปี๊ ปิ๊ด ทหารเดินตรง ถอยลงทีละนิด

วิธีเล่น
- ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางวางตั้งบนพื้น พร้อมทั้งขยับนิ้วสบับกันไปข้างหน้า ให้เข้ากับจังหวะการพูด
- ขยับนิ้วทั้งสองสลับกันไปข้างหลัง ให้เข้ากับจังหวะการพูด
การใช้นิ้วมือประกอบการเล่านิทาน
เรื่อง กระรอก 5 ตัว
- ในป่าแห่งหนึ่ง มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่
- มีกระรอก 5 ตัว วิ่งเล่นไต่ขึ้นลงอยู่บนกิ่งไม้
- กระรอกตัวที่ 1 โผล่หน้าขึ้นมา ชะโงกมองไปทางซ้าย และขวา แล้วพูดว่า แน่ะ! ใครเดินมา
- กระรอกตัวที่ 2 ก็โผล่หน้าขึ้นมา ชะโงกมองไปทางซ้าย และขวา พร้อมกับบอกว่า มีคนผู้ชาย ถือปืนเดินมาทางนี้
- กระรอกตัวที่ 3 รีบบอกเพื่อนๆว่า เร็ว เร็ว หนีเร็วเถอะ
- กระรอกตัวที่ 4 กลัวมาก ร้องไห้ ฮือๆ และพูดว่า ฉันกลัวๆ
- กระรอกตัวที่ 5 พูดว่า กลัวทำไมกัน ฉันไม่เห็นกลัวเลย
- ทันใดนั้น มีเสียงปืนดังขึ้น ปัง ปัง ปัง
- กระรอกทุกตัวรีบวิ่งเข้าไปแอบซ่อนตัวเงียบอยู่ที่ใต้ใบไม้
- พอสักครู่ใหญ่ นายพรานก็ถือปืนเดินผ่านต้นไม้ แต่ไม่เห็นเจ้ากระรอกทั้ง 5 ตัว จึงเดินเลยผ่านไปไกล กระรอกทั้ง 5 ตัว จึงค่อยๆโผล่ขึ้นมาแล้ววิ่งขึ้นลงต้นไม้ต่อไปอย่างร่าเริง

วิธีเล่น
- ตั้งข้อศอกข้างซ้ายลงบนโต๊ะแล้วกางนิ้วทั้ง 5 ออกกว้างๆ เพื่อสมมติเป็นกิ่งไม้
- ใช้นิ้วทั้งห้าทางขวา สมมติเป็นกระรอก 5 ตัว ไต่ขึ้นลงที่แขนข้างซ้าย
- ชูนิ้วหัวแม่มือขึ้น ทำท่าเป็นกระรอกตัวที่ 1
- ชูนิ้วชี้ขึ้นมา
- ชูนิ้วกลางขึ้นมา
- ชูนิ้วนางขึ้นมา
- ใช้มือตบโต๊ะให้มีเสียง ปัง ปัง ปัง
- รีบเคลื่อนนิ้วทั้งห้าเข้าไปอยู่ใต้มือข้างซ้าย ที่สมมติเป็นกิ่งใบไม้
- ค่อยๆ ชูนิ้วโผล่ขึ้นมาทีละนิ้วจนครบ 5 นิ้ว แล้วทำท่าไต่ขึ้นลงตามต้นไม้ต่อไป

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

พอดีเอาไปเล่นกับลูกสนุกดีค่ะ ก็เลยอยากแนะนำเผื่อมีคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนสนใจค่ะ


คำคล้องจองประกอบการเล่นและทำท่าประกอบ

โดย... ผศ.ละออ ชุติกร

คนไทยตั้งแต่สมัยโบราณมา มักจะมีนิสัยเจ้าบทเจ้ากลอนชอบแต่งบทกลอนง่ายๆให้ลูกหลานร้องเล่นกัน และใส่ท่าทางประกอบเพื่อให้จำได้ง่ายขึ้นและเกิดความสนุกสนาน บทกลอนเหล่านี้นอกจากเด็กจะสนุกแล้ว ยังเป็นการฝึกให้เด็กรู้จักพูด รู้จักจำถ้อยคำ และฝึกการสอนด้วยกันเป็นกลุ่ม เด็กจะเรียนรู้การใช้ถ้อยคำที่สัมผัสกัน และมีความไพเราะเหมาะสม ซึ่งจะเป็นการช่วยพัฒนาเด็กทุกด้าน โดยเฉพาะในด้านภาษาอีกด้วย ตัวอย่างคำคล้องจองประกอบการเล่น

1. กาดำ

กา กา กา ได้ลูกเอามาใส่พก
ได้ลูกนก เอามาโยนเล่น
พ่อก็เต้น แม่ก็รำ
กาหน้าดำ ฉันจำหน้าได้

วิธีเล่น

เมื่อพูดถึงประโยคใดก็ให้เด็กทำท่าไปด้วย
เช่น กา กา กา ก็ใช้มือทั้งสองข้างป้องปาก พร้อมกับร้อง
ได้ลูกเอามาใส่พก ทำท่าหยิบลูกกามาใส่ลงในพก (พก คือ ขมวดชายผ้านุ่งที่อยู่ตรงท้อง)
ได้ลูกนก เอามาโยนเล่น ทำท่าหยิบลูกนกโยนไปมา
พ่อก็เต้น แม่ก็รำ ให้เด็กเต้นและรำตามใจชอบ
กาหน้าดำ ฉันจำหน้าได้ ชี้ที่หน้าของเพื่อน (ชี้ห่างๆไม่ต้องให้ชิดหน้า)

2. แขนอ่อน

แขนอ่อน เวลาฟ้อนรำ ใครสอนให้ทำหรือว่ามันอ่อนเอง (เด็กช่วยกันตอบ อ่อนเอง อ่อนเอง อ่อน เอง) ขณะที่พูดให้เด็กทำท่าไปด้วย คือ กางแขนทั้งสองข้างและขยับแขนขึ้นลงพร้อมกับพูดว่า อ่อนเอง อ่อนเอง อ่อนเอง
คิ้วก่งดังวงพระจันทร์ ใครสอนให้กัน หรือว่ามันก่งเอง (เด็กช่วยกันตอบ ก่งเอง ก่งเอง ก่งเอง) ขณะที่พูดก็ใช้นิ้วชี้ที่คิ้วไปด้วย
หวาน หวาน เสียง หวาน หวาน เธอใส่น้ำตาล หรือว่ามันหวานเอง (เด็กช่วยกันตอบ หวานเอง หวานเอง หวานเอง) ขณะที่พูดก็ใช้นิ้วชี้ที่ปากด้วย

3. นกจ๋า


นกจ๋า มากันกี่ร้อย (เด็กตอบตามใจชอบ เช่น สองร้อย สามร้อย)
มีอ้อยกี่สิบ (เด็กตอบ...สิบ ยี่สิบ สามสิบ)
มีหมากดิบกี่ต้น (เด็กตอบ...ต้น)
ต้นละกี่ทะลาย (เด็กตอบ...ทะลาย)
มีผ้าลายกี่ผืน (เด็กตอบ...ผืน)
มีปืนกี่กระบอก (เด็กตอบ...กระบอก)
จะเอามะกอกหรือมะดัน (เด็กตอบ มะกอก ให้กำมือแล้วทำท่าตอก และพูดว่า ตอกลงไปโป๊ก)
(ถ้าตอบ มะดัน ให้ใช้สันมือทำท่าฟัน พร้อมกับพูดว่า ฟันลงไปฉับ)

ขอให้สนุกกับการเล่นกับลูก ๆ ที่บ้านน่ะค่ะ