วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เล่าเรื่องการศึกษา แนว EP (1)

มีอยู่กระทู้นึง มีคำถามที่น่าสนใจ  และเป็นคำถามที่พ่อแม่ผปค. ตั้งคำถามมากมาย ก่อนเลือกสายการศึกษา เส้นทางการเรียนให้กับลูก  จึงอยากขอยกคำถามว่าตอบใน บล็อกนี้ เพราะเชื่อว่าจะเป็นหนึ่งในคำถามที่ต้องตอบ ซ้ำซากไม่รู้จบ อีกหลายปี



คุณพ่อคุณแม่ และผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายคะ มีความคิดเห็นอย่างไรกับ EP บ้างคะเด็กๆที่เรียน program นี้ เค้าจะได้รับความรู้มากเท่ากับเด็กที่เรียนสายปกติ หรือเด็กที่เรียน inter ไปเลย รึเปล่าคะ

ในแง่ของภาษา เด็ก EP เข้าใจภาษาไทย ได้ลึกซึ้งเหมือนเด็กสายปกติ หรือไม่คะและในทางกลับกัน ภาษาอังกฤษของเด็ก EP สามารถใช้งานได้จริงเหมือนเด็ก inter หรือไม่คะ
และอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ควรต้องพิจารณาสำหรับ EP ในแต่ละสถาบัน EP รร.รัฐ กับ เอกชน จะให้ความแตกต่างกันไม๊คะ
และถ้าชั้นประถมเรียน EP ในชั้นมัธยมจะมีเส้นทาง อย่างไรบ้างคะ ถ้าเรามีจุดหมายให้ลูกเป็นหมอหรือวิศวะ (ณ.ตอนนี้ลูกยังเลือกไม่ได้ค่ะ คิดแค่เอาตามที่พ่อแม่เป็นก่อน ส่วนถ้าอนาคตลูกอยากเป็นไรค่อยแล้วแค่เค้า) หรือว่าต้องกลับมาสู่สายปกติ ถึงจะเข้าเรียนโรงเรียนชั้นนำ อย่างสวนกุหลาบ สาธิตปทุมวัน หรือเตรียมอุดม ได้ และถ้าต้องกลับมาสู่สายปกติ เด็กต้องปรับตัวอย่างไรบ้างคะ เราจะต้องส่งเสริมหรือให้เค้าเรียนเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง
ปล. ถ้าคุณพ่อคุณแม่ที่เลือกสายปกติให้ลูก มีแนวทางอย่างไรในการส่งเสริมภาษาอังกฤษที่ต่อไปจะมีความสำคัญมากๆให้กับลูกๆคะ

อยากบอกว่า เส้นทางการศึกษา ในระดับอนุบาล ไปจนถึงมหาวิทยาลัย ของประเทศไทยนั้น เปิดกว้าง และมีทางเลือกพอสมควร  แม้เราจะบ่นๆกัน ว่าระบบการศึกษาของประเทศไทยนั้น มีปัญหา มันก็มีปัญหาส่วนมาก อยู่ในระบบการศึกษา ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ  ยิ่งใช้หลักสูตรของไทยมากเท่าไหร่ ปัญหาก็มากขึ้นเท่านั้น    หากหลักสูตรของสถาบันการศึกษา ไม่ใช้ของกระทรวง ก็จะปัญหาน้อยค่ะ   ดังนั้น โรงเรียนดีๆ ระบบดีๆ ในเมืองไทย ก็มีค่ะ  แต่ "แพง"  ผปค. ต้องเข้าใจ และยอมจ่าย  เพราะแต่ละเส้นทาง มันมีข้อดีและข้อเสีย ผลลัพธ์ไม่เหมือนกัน


คำถามแรก...คือ  พ่อแมที่ส่งลูกเรียนอินเตอร์  พ่อแม่ที่ส่งลูกเรียน EP  พ่อแม่ที่ส่งลูกแนวทางเลือก หรือ พ่อแม่ที่ส่งลูกเรียนโรงเรียนแนววิชาการ  หรือ แม้แต่พ่อแม่โฮมสคูล  มีความเชื่อ มีทฤษฎีด้านการศึกษาแตกต่างกันค่ะ  และหาแนวทางการศึกษา ที่มาตอบโจทย์ที่ไม่เหมือนกัน  จึงเกิดแนวการศึกษาที่แตกต่างกันมากมาย หลายๆทางแบบทุกวันนี้

ดังนั้น ก่อนที่พ่อแม่จะเลือกว่า ลูกจะเรียนในแนวใดดี นอกจากจะสำรวจเงินในกระเป๋าของตัวเอง  งบประมาณ  ต้องดูอีกหลายอย่าง เช่น เวลาที่เราจะทุ่มเทให้ลูก มีมากน้อยเพียงใด   สิ่งที่คุณคาดหวังในการศึกษาและอนาคต มีมากน้อยเพียงใด    เช่น  อยากให้ลูกแกร่งวิชาการ ก็คงต้องเลือกอย่างนึง  อยากให้ลูกเก่งภาษาอังกฤษ ก็ต้องเลือกอีกอย่าง  อยากให้เก่งภาษาไทย ก็อีกแบบ อยากให้ลูกเรียนตามศักยภาพ ก็อีกแบบ   เพราะไม่มีทางเลือกใดที่สามารถตอบโจทย์ทุกแบบได้ เพราะแต่ละทางเลือก มีวิธีการ ต้องใช้บุคลากรที่แตกต่างกัน

พ่อแม่ที่ให้ลูกเรียนแนว EP หรือ เรียนอินเตอร์นั้น  สิ่งแรกคือ พ่อแม่มีความต้องการให้ลูกคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษ ตั้งแต่เล็กๆ  มีการใช้ภาษาอังกฤษในห้องเรียน ในโรงเรียน  ข้อแตกต่างของการเรียน EP กับ อินเตอร์นั้น  ก็คือ สังคมของเด็ก  โรงเรียน EP ส่วนมาก จะเป็นครอบครัวไทย  ซึ่งเด็กๆก็จะชินในการพูดคุยภาษาไทยกับเพื่อนๆ   ดังนั้น ทักษะการพูด ก็จะช้ากว่า การเรียน ในอินเตอร์ ซึ่งเป็นสังคมต่างประเทศมากกว่า  ยิ่งโรงเรียนที่มีเด็กต่างชาติมากๆ  เด็กๆก็จะพูดภาษาอังกฤษมาก เพราะต้องสื่อสารกับเพื่อน    แต่ในแง่ทักษะ การฟัง เด็ก EP ก็จะพัฒนาได้ดีพอสมควร เพราะต้องฟัง ต้องเรียนเป็นภาษาอังกฤษทุกวัน   ส่วนทักษาการอ่าน และการเขียนนั้น  การเรียนอินเตอร์ ระบบการศึกษาของเค้า จะเน้นเรื่องการอ่าน และการเขียน ตั้งแต่เด็กๆ  มากกว่า การเรียนคณิตศาสตร์ หรือวิชาพวกสังคม ภาษาไทย  หรือพุทธศาสนา  วิชาเหล่านี้จะไม่มีในหลักสูตรอินเตอร์  เค้าจึงเน้นการเรียนไปที่การอ่าน การเขียน และกิจกรรมเรียนรู้ด้วยการปฎิบัติ     ในขณะที่ EP ยังต้องเรียนวิชา "บ้าๆบอ" พวกนี้  ทักษะการอ่าน การเขียน และการลงมึอปฎิบัติ จะสู้โรงเรียนอินเตอร์ไม่ได้ โดยสิ้นเชิง

พ่อแม่ที่ให้ลูกเรียนแนวทางเลือก หรือ โฮมสคูลนั้น  เรื่องความรู้ด้านวิชาการ ก็จะเป็นไปตามศักยภาพเด็ก ดังนั้น ทักษะการอ่าน การเขียน หรือ วิชาการนั้น จะพูดยากค่ะ หลากหลาย บางคนก็เร็วมาก บางคนก็ไม่ไปไหน  เพราะพ่อแม่เน้นต่างกัน   แต่เด็กในโรงเรียนหรือ การศึกษาแนวพวกนี้ จะมีทักษะชีวิตที่ดี ช่วยเหลือตัวเองได้ดี   เรียนรู้ด้วยการปฎิบัติ  มีความรู้รอบตัว  บางบ้าน เน้นเรียนเป็นภาษาอังกฤษ  ก็ได้ภาษาที่ดีมาก


พ่อแม่ที่ให้ลูกเรียนแนว EP นั้น สาเหตุนึงที่เลือกแม้ว่าภาษาจะสู้อินเตอร์ไม่ได้  ก็คือ เรื่องของสังคม มรรยาท และนิสัยของเด็ก การเรียนในโรงเรียนอินเตอร์ ยิ่งมีสังคมต่างชาติสูง เด็กๆจะซึมซับวัฒนธรรมต่างชาติหลายๆอย่าง  และเมื่อเรียนๆไป บุคลิกนิสัย ก็จะต่างกับเด็กไทยค่อนข้างชัดเจน  ซึ่งต่างชาติก็อาจจะมีบางอย่างที่ "ไม่ถือ"  หรือไม่ให้ความสำคัญ  ในขณะที่สังคมของเราให้ความสำคัญมาก   หรือ อาจจะมีบางอย่างที่เค้าถือมาก  แต่ประเทศเราเละๆเทะๆ ก็มี   เด็กที่เรียนแนวอินเตอร์ ส่วนมากก็จะไปเรียนต่างประเทศ ทำงานในสังคมต่างประเทศ เพราะเข้าใจ เข้าขากันมากกว่า  แต่พ่อแม่ที่ให้ลูกเรียนแนว EP หลายๆครอบครัว ก็เห็นความจำเป็นที่ลูกจะต้องเข้าใจคนไทย  เข้าใจวัฒนธรรมไทย  เพราะอาจจะต้องกลับเข้ามาทำงานกับทีมงานไทย  หรือลูกค้าในเมืองไทย ต่อไป จำเป็นต้องเข้าใจ ต้องยอมรับ หรือมีเครือข่าย หรือมีพื้นฐานเครือข่าย เพื่อนฝูงในเมืองไทยบ้าง  ดังนั้น พ่อแม่จึงเลือกเส้นทางนี้ เพราะตอบโจทย์มากกว่า


ดังนั้น จึงสรุปคำถามกลุ่มแรกว่า เด็กที่เรียน EP นั้น ความรู้ภาษาอังกฤษ เท่าเด็กอินเตอร์ไม๊   ก็ไม่เท่าค่ะ   มีความรู้ภาษาไทย เท่ากับเด็กที่เรียนภาคไทยไม๊  ก็ไม่เท่าอีกเหมือนกัน  วิชาการเท่ากันไม๊  ก็ไม่เท่าค่ะ  เพราะเด็กอินเตอร์ ก็เรียนหลักสูตรอินเตอร์  วิธีการเรียนการสอนก็ไม่เหมือนของไทย  ตำราก็ไม่เหมือนกัน เด็กอินเตอร์  จะเน้นให้เด็กคิด และเรียนรู้ด้วยการปฎิบัติ  และถกประเด็นให้แตกฉาน   แต่หลักสูตรไทย เน้นท่องจำ  เรียนในสิ่งที่มีในตำรา     ส่วนของ EP นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า เค้าใช้ตำราแบบไหน หลักสูตรแบบไหนในการเรียน  ซึ่งแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกันดังที่เล่ามาแล้ว  เด็กเหล่านี้ เรียนออกมาเก่งคนละอย่าง มีจุดอ่อนคนละด้าน  เพื่อจุดประสงค์คือ สร้างเด็กออกมา ที่มีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน








ไม่มีความคิดเห็น: