วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ลูกป.2 แล้ว...พัฒนาต่อไปอย่างไรดี






วันนี้อยากแบ่งปันข้อมูลให้ เพื่อนๆลูกอนุบาล  ถึงประถมต้น เกี่ยวกับการเรียนของเด็กๆสักนิด   มีเพื่อนๆผปค. มาหารือกับดิฉันในช่วงเปิดเทอมหลายคน เกี่ยวกับการเรียนของลูก ที่มีปัญหาในการเรียน หรือ กังวลว่าจะมีปัญหาในการเรียน  ดิฉันจำได้ว่า ดิฉันเคยเขียนและเคยแชร์เรื่องการเตรียมความพร้อมของเด็กอนุบาล ๓ ที่กำลังจะเข้าอนุบาลหนึ่ง   และอีกบทความนึง คือ การเรียนของเด็กป.๑  ซึ่งเป็นแนวทางที่ดิฉันใช้ในการดูแลลูกคนโต อยากบอกว่า มันมีผลต่อการเรียนและการใช้ชีวิตของลูกมากนะคะ  การที่เราเตรียมความพร้อมให้กับลูกในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นทักษะการฟัง  การอ่าน การเขียน และการคิด  ทำให้เด็กเรียนสบาย และสนุกสนานในห้องเรียน  โดยที่เราแทบจะไม่ต้องทบทวนบทเรียนที่บ้านเลย ทำให้ลูกมีเวลามากมายในการฝึกทักษะชีวิตด้านอื่นๆ


เด็กๆที่ไม่มีความพร้อมเพียงพอในการพัฒนาทักษะการเรียนมาตั้งแต่ชั้นอนุบาล ๓   เมื่อมาเรียนในโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแนววิชาการ ก็จะมีปัญหาในการเรียนในชั้นเรียน เพราะฟังไม่ทัน หรือ คิดไม่ทัน  ข้อมูลพื้นฐาน ความรู้รอบตัวไม่เพียงพอ  ทำให้ขาดความมั่นใจ ไม่สนุกกับการเรียน  และกลับบ้านก็มีปัญหาในการทบทวนบทเรียน ทำการบ้าน  ซึ่งทำให้พ่อแม่ยิ่งกังวลใจหนักเข้าไปอีก   การมาแก้ปัญหาในตอนโตนั้น ยิ่งยาก เพราะเด็กติดนิสัย รักสบาย หรือ ติดเกม ติดทีวี ติดเล่นมากเกินไป  ทำให้เค้าไม่อยากสนใจในการเรียนค่ะ  อย่างไรก็ตาม เมื่อไหร่ที่พบปัญหา ต้องรีบแก้ไขค่ะ อย่าปล่อยให้พ้นไปปีต่อปี เพราะจะหนักขึ้นเรื่อยๆ  บทเรียนของลูกก็จะยากขึ้นเรื่อยๆตามชั้นปี  พื้นฐานไม่แน่น ต่อยอดก็จะลำบากขึ้นเรื่อยๆ  เด็กก็ยิ่งท้อใจ


แต่อย่างไรก็ตาม การที่ลูกเรียนดี เพราะเราสร้างพื้นฐานมาดี ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา เพราะการที่ลูกเรียนดี ทำให้เค้ารู้สึกว่า การเรียนเป็นเรื่องง่าย  เค้าไม่ต้องลงแรงมากในการเรียน หรือการทบทวนบทเรียน  เค้าก็อาจจะ "เหลิง" และกลายเป็นเด็กที่ไม่เพียรพยายาม  ทำอะไรก็คิดว่าง่ายไปหมด  ดังนั้นเวลาที่เหลือนี้ ก็เป็นเวลาที่มีค่า ที่เราไม่ควรให้ลูกใช้เวลาเหล่านี้ ไปกับเรื่องที่ทำลายนิสัยของเค้า เช่น การเล่นเกม หรือ การดูทีวีที่ไม่มีสาระ   ดังนั้น การจัดตารางกิจกรรมของลูกให้เหมาะสม จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น  มิฉะนั้น เราจะเสียโอกาส และสิ่งที่เราเพียรสร้างนิสัยให้ลูกมาตั้งแต่อ.๓ จะเสียหายไปด้วย การจัดตารางกิจวัตรประจำวันให้ลูก ในชั้นประถม โดยหลักๆ ดิฉันเองก็ยังยึดหลักความสมดุล  คือ ต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้พัฒนาทักษะรอบด้าน  ทั้ง กีฬา  การท่องเที่ยวเดินทางเรียนสนุกในโลกกว้าง  การพัฒนาสิ่งที่ลูกสนใจเป็นพิเศษ  การฝึกทักษะชีวิตด้านอื่นๆ การช่วยเหลือตนเอง การรับผิดชอบงานบ้าน และด้านการเรียน

มีหลายท่านอาจจะคิดว่า ลูกเรียนเก่งแล้ว ไม่จำเป็นต้องทบทวนบทเรียนอะไรมากมาย  ไม่จำเป็นต้องเรียนเสริมเพิ่มเติมอะไร  แต่ความจริงแล้วไม่ใช่  สมองและศักยภาพของคนเรานั้นมีมากมายมหาศาล  พระเจ้าท่านให้มาเหลือเฟือ  แต่อะไรที่ไม่ได้ใช้  มันจะหายไป  ดังนั้น เมื่อพบว่า ลูกมีศักยภาพในด้านใด ต้องใช้โอกาสและเวลาให้มีค่า และส่งเสริมให้เค้าได้มีโอกาสฝึกและใช้ เต็มความสามารถ ดังนั้น เวลาว่างส่วนนึงของลูก  ดิฉันเองก็ยังใช้ ในการพัฒนาต่อยอดการเรียนของลูกต่อไป ในด้านที่ลูกสนใจและชื่นชอบ คือ ด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์  รวมทั้งการอ่านและเขียนด้วย


ในด้านการอ่าน การเขียน หรือ การฝึกลูกในเรื่องวิทยาศาสตร์นั้น ดิฉันเองก็ยังใช้แนวทางเดิมที่ฝึกลูกมาตั้งแต่เด็กๆ  คือ การอ่านวารสาร  การ์ตูน  และศึกษาทางอินเตอร์เนต  ในการศึกษาเรื่องราวสนุกๆ ที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์   และการพาชมโลกกว้าง สอนด้วยการปฎิบัติการในครัว หรือการทดลอง   ด้านการเขียนก็เน้นให้สื่อสารด้วยการเขียน อธิบาย เขียนโน๊ต  อีกไม่นานคงได้เขียนไดอารี่ หรือ เขียนเรียงความสั้นๆไป ตามระดับความสามารถของเด็กป.2   ปีนี้ ดิฉันจึงหันมาศึกษาเรื่องการต่อยอดด้านวิชาคณิตศาสตร์  เพราะการเรียนคณิตศาสตร์พื้นฐานในโรงเรียนตอนนี้ ไม่ยาก  จึงได้ศึกษาข้อมูลจากข้อสอบ ระดับประถมหนึ่ง ประถมสองของประเทศสิงคโปร์   รวมทั้งตัวอย่างโจทย์ที่ใช้ในการแข่งขันสนามต่างๆ ของเมืองไทย ซึ่งเป็นโจทย์เลขประยุกต์ที่สลับซับซ้อนขึ้น   ทำให้ลูกได้รู้ว่า การเรียนในห้องเรียนที่ว่าเป็นเลิศในห้องเรียนนั้น ยังห่างไกลกับคำว่า "ใช้ได้" ซึ่งผลก็เป็นที่น่าพอใจ  คือ ลูกรู้สึกว่า ท้าทายและยินดีฝึกฝนทบทวนบทเรียนในยามว่างมากขึ้น ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อ  ฝึกฝนวันละ  ครึ่งชม. ค่อยๆฝึกแบบค่อยเป็นค่อยไป

เท่าที่ศึกษาดูจากตัวอย่างโจทย์ในสนามต่างๆ โจทย์คณิตศาสตร์ ของแต่ละในระดับชั้น มีความยากง่ายหลายระดับค่ะ   มีตั้งแต่แบบพื้นฐาน ที่เราเรียนกันตามหลักสูตรแกนกลาง ...  ไปจนถึงระดับชิงเหรียญรางวัลระดับโลก  ความยากง่ายอาจจะ แบ่งๆออกมานี่ อาจจะมีประมาณ 4-5 ระดับ   การที่ลูกทำได้คะแนนดีในโรงเรียนของตัวเอง อาจจะเป็นโจทย์ที่มีระดับความยากเพียง 1-2 เท่านั้น   แต่ยังมีโจทย์ ป.1 ป.2 ที่ยากในระดับ 3,4,5 อีก ซึ่ง ต้องอาศัยทักษะหลายๆอย่าง  ในการทำโจทย์ให้สำเร็จ  เช่น  ทักษะการอ่าน การตีความโจทย์  ต้องเก่ง ว่าเค้าพูดอะไร เค้าให้อะไรมาบ้าง  คำถามคืออะไร   บางโจทย์ อาจจะต้องอาศัยความเร็วในการอ่านด้วย  และต้องตีความเป็นสัญญลักษณ์   และอาจจะต้องคำนวณเร็ว  คำนวณคล่อง และสามารถคำนวณเลขหลายๆหลัก เป็นต้น  

โชคดีอย่างนึง ที่ครอบครัวเรา เราเป็นคนฝึกลูกเองมาตลอด ทำให้เราพอที่จะมองเห็นจุดที่ลูกยังไม่แข็งแรง  การพัฒนาต่อยอด เราจึงสามารถวางแผนได้ไม่ยาก ว่า เราควรที่จะหาโจทย์ประมาณไหน มาค่อยๆฝึกลูกให้ดีขึ้น    หากเราเอาโจทย์ที่ยากเกินไป เค้าก็อาจจะท้อในการทำ  แต่หากเราโจทย์ที่ง่ายเกินไป เค้าก็อาจจะไม่ท้าทาย ไม่สนุกที่จะทำ  โดยส่วนตัวแล้ว ดิฉันเป็นคนที่ไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์เลย  แต่ดิฉันไม่อยากให้ความชอบ หรือไม่ชอบของดิฉัน หรือ ความกลัว ความรังเกียจการแข่งขัน  เป็นการปิดโอกาสของลูกในการค้นหาศักยภาพของลูก และพัฒนาของลูก   ดังนั้น ดิฉันก็จะเปิดโอกาสในการพัฒนาลูกอย่างเต็มที่  และหากลูกมีอัจฉริยภาพในด้านนี้จริงๆ  ก็อาจจะต้องหาครูฝึกที่มีความสามารถกว่าดิฉันในการพัฒนาลูกในด้านนี้   เพราะคนเป็นพ่อแม่ ก็ไม่ได้เก่ง หรือถนัดไปทุกเรื่อง  เราทำเท่าที่เราทำได้ดี และอะไรที่เราทำไม่ได้ เราก็หาครูฝึกที่ดีให้ลูกไป จะดีกว่า  เพราะเท่าที่ดิฉันดู โจทย์ที่มีความยากเกินกว่า ระดับ 4-5 แม้ว่าเป็นโจทย์ของเด็กป.๑ ดิฉันก็แทบจะทำไม่เป็นเหมือนกัน

อยากบอกเพื่อนๆว่า มาตรฐานการศึกษาของประเทศของเราไม่เท่ากันจริงๆ  และมาตรฐานการศึกษาของโลกก็ไม่เท่ากัน   การศึกษาวิชาเดียวกัน ชั้นเดียวกัน โครงสร้่างหลักสูตรเหมือนกัน แต่มีระดับความยากง่ายอยู่ในตัวมันหลายระดับค่ะ  โดยมาตรฐานระดับ  1-2 พ่อแม่ส่วนมากก็สอนลูกเองได้  ทำ Homeschool ก็ไม่ยาก  แต่ความยากระดับ 3 บางครอบครัวอาจจะสอนลูกเองได้  ครูบางคนก็อาจจะสอนไม่ได้ด้วยซ้ำไป   แต่ความยากในระดับสูง หาคนสอนไม่ใช่ง่ายๆหรอกค่ะ  ที่จะสามารถสอน ถ่ายทอดให้เด็กเค้าใจ และคิดเป็น  ดังนั้นจึงไม่ค่อยแปลกใจเท่าไหร่  ที่ประเทศไทยเรามีมาตรฐานการศึกษาที่แตกต่างกันขนาดนี้  และคุณภาพของเด็กก็ต่างกันมาก  คะแนนโอเน็ตที่ออกมาแตกต่างมากๆ ก็อาจจะมาจากสาเหตุนี้  

แต่ถ้าจะถามดิฉันว่า จำเป็นแค่ไหน ที่ลูกจะต้องมีความสามารถ เป็นระดับสูง  ดิฉันว่าไม่จำเป็น  ขึ้นอยู่กับว่า ลูกของเรามีความถนัด มีความชอบ มีศักยภาพ และมีอัจฉริยภาพในด้านใด  หากเด็กที่เค้ามีศักยภาพสูงๆ ทางคณิตศาสตร์  เค้าจะสนุกกับมันค่ะ ที่เจอโจทย์ที่ยากและท้าทาง  สนุกในการครุ่นคิด แก้ปัญหาคณิตศาสตร์  เค้าอาจจะรู้สึกว่าเค้ากำลังเล่นเกม  ดังนั้น หากลูกเป็นแบบนี้ เราก็ส่งเสริมไปให้เต็มที่ เค้าอาจจะเกิดมาเพื่อใช้ความสามารถด้านนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมในอนาคตก็ได้   แต่หากลูกไม่ชอบ  ไม่สนุกกับมัน ก็ไม่จำเป็นต้องเคี่ยวเข็ญ  หาตัวตนของลูก และส่งเสริมลูกให้พัฒนา และทำในสิ่งที่เค้าชอบจะดีกว่าค่ะ  อย่างไรก็ตาม  แม้ลูกจะไม่ชอบอย่างไร   มาตรฐานขั้นต่ำ  1-2 ต้องพอทำได้ และต้องผ่านค่ะ จึงจะถือว่าสมดุล และไม่สร้างปัญหาในระดับชั้นสูงๆต่อไป

เล่าเรื่องนี้ให้เป็นแนวทางกับเพื่อนๆผปค. ที่อยู่ในระบบการศึกษาไทยค่ะ  อยากบอกว่า เราไม่จำเป็นต้องให้ลูกทำเลขยากๆ ได้ตั้งแต่ป.1-2 นะคะ อยากแนะนำว่า ค่อยเป็นค่อยไป ให้พื้นฐานแน่น และปรับระดับให้ยากขึ้นทีละนิด  หากลูกประถมปลาย สัก ป.5-ป. 6  แล้วมีทักษะ ทำเลขในระดับที่ยากขึ้นได้ ก็จะยิ่งดีต่อการสมัครศึกษาต่อระดับมัธยม รวมทั้งการเลือกสายการเรียน ก็จะมีโอกาสในการเลือกสายที่ต้องใช้ทักษะคำนวณมากๆได้   หากยังเป็นระดับอ่อนๆ ก็อาจจะต้องเลือกเรียนในสายวิชาที่ไม่ต้องใช้คณิตศาสตร์มากค่ะ








1 ความคิดเห็น:

Maturot กล่าวว่า...

ตอนนี้ลูกอยู่ อ.2 ค่ะ ได้เข้ามาอ่านโดยบังเอิญแล้วรู้สึกได้เปิดหูเปิดตา ขอบคุณนะคะ จะได้นำไปรับใช้กับลูกด้วย :)