วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2555

การปรับพฤติกรรมเด็กบนพื้นฐานการมีสติ


วันนี้ดิฉันได้มีโอกาสไปฟังการบรรยายพิเศษ เรื่อง "การปรับพฤติกรรมเด็กบนพื้นฐานการมีสติ"  โดย อจ.ดร.วไลลักษณ์ พุ่มพวง ซึ่งท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญ เรื่องการปรับพฤติกรรมของเด็กๆ ที่มีปัญหาหลากหลาย เช่น ซน สมาธิสั้น หรือ เด็กในกลุ่มอาการต่างๆ   กิจกรรมการบรรยายพิเศษนี้ ทางโรงเรียนกท.คริสเตียน ได้จัดร่วมกับกลุ่มผปค.เครือข่ายของโรงเรียนในระดับชั้นประถม  เพื่อให้ความรู้ข้อมูลเรื่องการอบรมดูแลลูก เพื่อให้ลูกประสบความสำเร็จและมีความสุข เป็นคนดีมีคุณภาพต่อโลกและสังคมต่อไป  เมื่อได้ฟังข้อมูลหลายๆเรื่อง ที่อจ. วไลลักษณ์ ได้แบ่งปันในวันนี้ ก็มีประเด็นต่างๆ ที่เชื่อว่าจะมีประโยชน์ต่อเพื่อนๆผปค.มากมาย ที่ควรนำมาแบ่งปัน

พ่อแม่ทุกๆคน คงเคยประสบปัญหาหรือ อาจจะกำลังประสบปัญหาด้านพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของลูกๆ  อยากไห้ลูกขยัน รับผิดชอบทำการบ้าน ทบทวนหนังสือ  อยากให้ลูกพูดเพราะ อยากให้ลูกเป็นเช่นนั้นเช่นนี้  หรือ อาจจะไม่อยากให้ลูกก้าวร้าว  ไม่อยากให้ลูกขีเกียจ และอื่นๆ  แต่การแก้ปัญหาด้านพฤติกรรมลูกๆนั้น มิใช่เรื่องง่ายๆ หากเราไม่เข้าใจที่มาที่ไปของปัญหา และไม่มีวิธีการที่ถูกต้อง ก็อาจจะยิ่งซ้ำร้าย ปัญหายิ่งบานปลาย หรือก่อปัญหาอื่นๆตามมาอีกมากมาย  เช่น เราบ่นว่า ตำหนิลูกตลอดเวลา ก็อาจจะทำให้ปัญหาความสัมพันธ์ร้าวฉาน  พูดกันไม่รู้เรื่อง หรือลูกอาจจะน้อยใจ เข้าใจผิด ยิ่งมีปัญหาต่อเนื่อง   ดังนั้น จะแก้ปัญหาพฤติกรรมของลูกได้ ต้องมีเทคนิคค่ะ

ก่อนอื่น พ่อแม่ต้องเข้าใจว่า คำว่า "พฤติกรรมนั้น" หมายถึง การกระทำที่เห็นชัด สามารถเห็นหรือได้ยินได้ เช่น การตีน้อง การพูดคำหยาบ   แต่หากเป็นความคิด ความรู้สึก เท่านั้น มันไม่ใช่พฤติกรรม เช่น การไม่ชอบอ่านหนังสือ  การไม่ชอบเรียน ดื้อ โมโหร้าย ก้าวร้าว สิ่งเหล่านี้ ก็ไม่ชัด เพราะเป็นการเหมารวมหลายๆครั้ง ไม่ชัดเจน  จึงจะนำมาปรับพฤติกรรมได้ยาก  ดังนั้น  การจะแก้ไขพฤติกรรม ต้องแยกแยะ ปัญหาพฤติกรรมให้ย่อยลง แล้วค่อยๆแก้ทีละจุด  หลักในการปรับพฤติกรรมเด็กนั้น จะมีหลักดังนี้

 1)  มองดู สังเกตพฤติกรรมของเด็ก ทั้งๆจากที่บ้านและที่โรงเรียน แล้วมาแยกว่า มีปัญหากี่พฤติกรรมอะไรบ้าง  
2) ปรับทีละพฤติกรรม
3) ปรับพฤติกรรมที่มีความถี่มาก หรือเห็นชัดก่อน หรือ มีผลกระทบมากก่อน
4) สังเกตว่า เวลาเกิดพฤติกรรมนั้น  มีปัจจัยอะไรบ้าง  น้องมักจะเป็นแบบนั้น ในสถานการณ์ใด เหตุการณ์ใด  อะไรเป็นสิ่งเร้าให้เกิดพฤติกรรมนั้น
5) ตั้งเป้าหมายในการปรับพฤติกรรมไม่เกินความสามารถของเด็ก  ค่อยๆฝึกไปทีละขั้น จากง่ายไปยาก  
6) เลือกเทคนิคต่างๆในการปรับพฤติกรรม ให้เหมาะกับพฤติกรรมและความต้องการของเด็ก

ปัญหาของพฤติกรรมของเด็กนั้น หลักๆ จะมีสาเหตุจาก

- การต่อต้านพ่อแม่  
- เรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่
-  เบื่อหน่าย อยู่ในสถานการณ์ที่เค้าไม่ชอบ

ซึ่งเราต้องมองดูสาเหตุของพฤติกรรมที่ไ่ม่ดี หรือมีปัญหาของลูกว่า เกิดจากสาเหตุใด จึงจะแก้ได้ถูกจุด เด็กหลายๆคน แม้มีปัญหาพฤติกรรมที่เหมือนๆกัน หรือคล้ายๆกัน  แต่ส่วนมาสาเหตุ สิ่งเร้าก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ก็ต้องใช้วิธีการที่ไม่เหมือนกัน


โดยปกติ การปรับพฤติกรรมเด็กนั้น จะมีอยู่สองวิธี คือ การสร้างแรงจูงใจให้ทำ เช่นการให้รางวัล  คำชื่นชม   และการลงโทษ  แต่การใช้วิธีใด ก็ต้องเลือกให้เหมาะสม  เช่น

หากเราต้องการให้ลูกเลิก หรือหยุดพฤติกรรมที่ไม่ดี  เช่น  ก้าวร้าว โวยวาย ลักขโมย ทำร้ายคนอื่น ก็ต้องใช้วิธีการลงโทษ  หากลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีนั้นออกมา  การลงโทษนั้น ก็มีหลายวิธีและหลายระดับ แต่ต้องทำในทันที ที่น้องทำพฤติกรรมไ่ม่ดี เช่น หากโวยวาย อาละวาด จะต้องไป Time Out    ก็ต้องทำค่ะ

แต่หากเราต้องการให้ลูกทำ พฤติกรรมที่ดีๆ  เช่น ทำการบ้าน อ่านหนังสือ หรือ ขยัน รับผิดชอบ เราก็ต้องใช้วิธีสร้างแรงจูงใจ ให้รางวัล เพื่อ จูงใจให้เค้าทำในสิ่งที่ควรทำ  การให้รางวัล อาจจะเป็นการกอด การชื่นชม หรือ การให้สิ่งของรางวัลเล็กๆน้อยๆ ที่เป็นรางวัลในการทำดีของเด็ก

หากเราใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้อง เช่น จะหยุดพฤติกรรมก้าวร้าวของลูก แต่ใช้วิธีการให้รางวัล  (หากไม่โวยวาย จะให้รางวัล)  เด็กก็จะโวยวายทุกครั้ง  จะหยุดเมื่อะอยากได้รางวัล  ซึ่งกลายเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ทำไม่ดียิ่งขึ้น   หรือ พ่อแม่บางท่าน ใช้วิธีตำหนิ ต่อว่าเมื่อลูกไม่ทำตามที่เราต้องการ  เมื่อทำดี ไม่มีชม ไม่มีรางวัล ลูกเล่าอะไร ก็หาเรื่องตำนิ หาข้อติได้ทุกเรื่อง ก็จะสร้างความร้าวฉานในความสัมพันธ์ และทำให้ลูกไม่อยากพูดคุย หารือกับพ่อแม่ได้

ดังนั้น วิธีการปรับพฤติกรรมลูกให้ได้ผล ต้องควบคู่กับ การสื่อสารที่ชัดเจน  ไม่เพ่งโทษ และมีการตวบคุมอารมณ์ได้เหมาะสม   โดยปกติ เมื่อลูกมีปัญหาด้านพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม  พ่อแม่ย่อมผิดหวัง หรือ โกรธ แต่ต้องรู้จักควบคุมอารณ์โกรธนั้น มิให้เกินเลย ถึงขั้นทำร้าย ด่าทอ บ่นไม่หยุด หรือ ตำหนิรุนแรงเกินไป   พ่อแม่ต้องรู้จักควบคุมความโกรธ ปล่อยวางให้อภัยในควาามไม่สมบูรณ์แบบของลูกและของเรา  และเข้าใจเรื่องความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา  และต้องเปิดใจฟังลูก อย่างตั้งใจ และเอาใจใส่  

หากวิเคราะห์ดูแล้ว  เราโกรธลูกเมื่อ

- เมื่อไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวัง 
- เมื่อเราคอยจ้องจับผิดพฤติกรรมลูก (มองข้ามสิ่งดีๆที่ลูกทำ)
- เมื่อมีความกลัวว่าลูกอาจจะเป็นเด็กที่ไม่ดี แย่กว่าลูกเพื่อน ลูกข้างบ้าน ลูกญาติ  (เมื่อเรายึดติดกับการให้คุณค่าจากภายนอก)
- เมื่อกลัวว่า เราจะมีปัญหาแบบเดิมๆอีก
- เมื่อเรายึดติดกับอะไรหลายอย่างที่ไม่เป็นจริง เป็นอดีต หรือไม่เป็นไปตามความคาดหวัง เช่น ลูกต้องเก่งกว่าเรา หรือ เก่งเหมือนกเรา
- เมื่อเราขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ถึงสาเหตุของปัญหาของลูก

การมีสติเท่านั้น จะทำให้เรารู้เท่าทันอารมณ์ และความคิดของเราเอง และจะทำให้เราสามารถปล่อยวาง ให้อภัยลูก ให้อภัยคนอื่นและตัวเราได้

เมื่อเราระงับอารมณ์ได้แล้ว สิ่งสำคัญอืกสิ่งหนึ่งในการใช่ในการแก้ปัญหาพฤติกรรมลูก คือวิธีการสื่อสาร  ซึ่งควรใช้ I Message คือ การสื่อว่าเรารู้สึกอย่างไร  ในการกระทำของลูก  เช่น  

แม่รู้สึกเสียใจ ที่ได้ยินลูกพูดแบบนี้

แม่ภูมิใจมาก ที่ลูกสามารถทำการบ้านได้เสร็จทันเวลา

แม่ชื่นใจที่ลูกช่วยล้างจาน


แต่ไม่ควรพูดในเชิงเปรียบเทียบเช่น ใครๆก็ทำเป็น ทำไมลูกทำไม่ได้   คนอื่นเค้าเป็นแบบนี้ ทำไมลูกไม่เป็น  หรือ ทำไมลูกไม่เข้าใจ  ทำไมลูกเป้นคนพูดไม่รู้เรื่อง เป็นต้น   

เมื่อลูกมีการทำความดี หรือ ทำให้สิ่งที่ดี หรือปรับพฤติกรรม ลูกควรได้รับรางวัลหรือคำชื่นชม  อย่าสนใจลูกเฉพะาเวลาที่ลูกมีปัญหา หรือ สร้างปัญหา  แต่ควรสนใจ แสดงความใส่ใจ เวลาที่ลูกทำดีๆ   การโอบกอด คำพูดที่ชื่นชมให้กำลังใจ  เป็นพลังที่สำคัญในการปรับพฤติกรรมลูกในด้านบวกค่ะ

สุดท้ายที่คุณหมอเน้น คือ เด็กๆไม่ว่าจะเป็นเด็กที่เป็นเด็กซน สมาธิสั้น ก้าวร้าว หรือ เด็กออทิสติก ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จด้านการเรียน และอาชีพการงานได้ ขึ้นอยู่กับการปรับพฤติกรรมของเด็กให้เป็นที่ยอมรับ และแก้ปัญหาพฤติกรรมด้านลบได้มากน้อยเพียงใด   ปัญหาด้านพฤติกรรมของมนุษย์นั้น เกิดจากาการเรียนรู้ อันเนื่องมาจากสิ่งเร้า เช่น ความกลัว ความวิตกกังวล  หรือ มาจากเงื่อนไขของผลกรรมที่ทำ (เช่น ทำแบบนี้แล้วได้รับความสนใจ)  หรือ เรียนรู้ผ่านตัวแบบ เช่นเลียนแบบพ่อแม่ เลียนแบบเพื่อน เป็นต้น  ดังนั้น การที่เราพ่อแม่จะปรับพฤติกรรมของลูกได้ ต้องมีสติและควบคุมตัวเอง  เป็นต้นแบบที่ดีงาม และ สามารถที่มาที่ไป ต้นเหตุของปัญหาพฤติกรรมนั้น แก้ปัญหาได้ทุกจุด ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ก็จะช่วยลูกได้ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น: