วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2555

ตกผลึก...จากสัมมนา เคล็ด (ไม่)ลับลงทุนอย่างไรให้ได้ 100 ล้าน (8)


หากเราตั้งเป้าหมายในชีวิตแล้ว  เราจะเห็นว่า ในแต่ละเดือน แต่ละปี เราต้องออมเงินเป็นจำนวนมาก เพื่อใช้ในอนาคต ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว   มีคำถามว่า  เราจะออมแบบทีละนิดทีละหน่อย ออมสม่ำเสมอทุกๆเดือนทีละน้อย หรือ ออมแบบเป็นก้อนๆดี   ในอดีต ดิฉันมักจะเข้าลงทุนเป็นรอบๆ โดยดูจังหวะ ราคาหุ้นตกๆ   ราคาทองคำ หรือ น้ำมันร่วงต่ำๆ  พอราคาสูงได้กำไรตามเป้า ก็ขายทำกำไร  "หาค่ากับข้าว" ไปวันๆ ตอนไปฟังสัมมนาเรื่อง เคล็ด(ไม่)ลับ ลงทุนอย่างไรให้ได้ 100 ล้าน วิทยากรกล่าวว่า เวลาลงทุน ต้องมีวิสัยทัศน์ และยึดมั่นในเป้าหมาย อย่าใจเสาะ อย่ามองสั้น หวั่นไหวไปตามสถานการณ์ ต้องมีวินัย หากเราตั้งเป็า ว่าเราจะลงทุนแบบนี้ ไปเรื่อยๆ ให้ได้ 100 ล้าน เจอร้อน เจอหนาวก็ต้องฝ่าไป ไม่หวั่นไหว แต่หากคิดว่า พอกำไร ก็จะขาย หาเงินค่ากับข้าว ก็จะได้แค่มีพอซื้อกับข้าวไปวันๆ ไม่มีวันที่จะทำได้ 100 ล้าน พันล้าน อย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้... ฟังแล้วสะอึกเหมือนกัน ย้อนถามตัวเองว่า ตัวเองคิดหาค่ากับข้าวไปวันๆ ขายทำกำไร Take Profit เป็นนักลงทุน หรือ เป็นนักเล่นหุ้นกันแน่

ประเด็นคือ นักลงทุนที่ลงทุนในระยะยาว เพื่อเก็บสะสมความมั่งคั่ง แม้ว่าเศรษฐกิจจะผันผวนอย่างไร เค้าก็ไม่หวั่นไหว ลงทุนอย่างต่อเนื่อง  ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้  แม้ว่าจะกำไรก็ไม่ขาย เพราะเค้าต้องการมีเป้าหมายในการใช้ในอนาคตอีกหลายปีข้างหน้า   การลงทุนที่จะประสบความสำเร็จ ให้ผลตอบแทนที่ดี  นั้น มีปัจจัยหลักๆคือ    จำนวนเงินที่ลงทุน   ระยะเวลา  และอัตราความเสี่ยงและผลตอบแทน   หากลงทุนในระยะเวลาที่ต่อเนื่อง ไม่สะดุดขายเข้าขายออกกลางคัน เพื่อหาเงินค่ากับข้าว  ผลกำไรที่มันขึ้นหรือลงมันก็จะทบไปเรื่อยๆ 



รูปนี้ จะแสดงอัตราการเติบโตของผลตอบแทน ด้วยการลงทุนด้วยวิธีการต่างๆ แม้ว่าอัตราผลตอบแทนต่อปีจะเท่ากัน และจำนวนเงินที่ได้จะไม่เท่ากัน  

ในภาพแรก เป็นการลงทุนของด้วยการนำเงิน 1 ล้านบาท ใส่ก้อนเดียว ลงทุนไปเรื่อยๆ เริ่มต้นสิ้นปี 1998 ไปจนถึงปี 2013  ระยะเวลาการลงทุน 1 ล้านบาท ให้ผลตอบแทนเป็นเงิน 2 ล้านบาทในปีที่ 15  

ภาพที่สอง  เป็นการลงทุนโดยแบ่งเป็นเดือนๆ เดือนละ 1 หมื่นบาท ตั้งแต่สิ้นปี 1998 ไปสิ้นสุด ปี 2013 เช่นกัน  ลงทุนรวม 1.5  ล้าน ให้ผลตอบแทนประมาณ 2.4 ล้าน  

ภาพที่สาม เป็นการลงทุนแบบ รายเดือนๆละ  1 หมื่นบาท แล้วมีการลงทุนเพิ่มทุกปีๆละ 10 %  จนสิ้นปี 2013  รวมการลงทุนเป็นเงิน  2.9 ล้าน ให้ผลตอบแทน 4 ล้าน

ในภาพนี้ ผู้ลงทุน ลงทุนในกองทุนผสม ที่มีสัดส่วนการลงทุน ตราสารหนี้ หุ้นและทองคำ ในสัดส่วน  70:20:10  ของบลจ.กรุงศรี ที่ให้ผลตอบแทนที่ผ่านมาเฉลี่ย 5.83%   จะเห็นว่า  การลงทุนแบบรายเดือน  จะทำได้ไม่ยาก เพราะออมที่ละน้อยอย่างมีวินัย  และการที่เราเพิ่มการลงทุนปีละ 10% ตามรายได้ของเราที่เรามักจะมีรายได้เพิ่มขึ้นทุกๆปี  ก็ยิ่งทำให้ มีโอกาสในการออมสูงขึ้น ผลตอบแทนก็มากขึ้น ดีกว่าการเอาเงินมาลงทีเดียวแล้วถือยาว

แต่กระนั้นเอง  ดิฉันเองก็มีความเห็นว่า หากนำเงิน 1 ล้านบาท  หรือลงทุนรายเดือน ในกองทุนอื่น ที่มีสัดส่วนการลงทุนต่างกัน เช่น ลงในหุ้นอย่างเดียว หรือ ทองคำอย่างเดียว   ในจังหวะที่ดีๆ ก็น่าจะมีผลตอบแทนที่ต่างไปจากนี้   หรือลงผิดจังหวะ ก็ได้ผลต่างกันเช่นกัน  ดังนั้น การลงทุนอะไรก็แล้วแต่ ต้องศึกษาให้ดีๆ  หากเรามีความรู้ไม่พอ ก็อย่าเพิ่งเสี่ยงในกองที่ให้ผลตอบแทนสูงเกินไป เพราะการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เราต้องคอยระมัดระวัง จังหวะการลงทุนเช่นกัน  แต่หากซื้อกองที่ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนต่ำ มันก็จะไปเรื่อยๆ  ความผันผวนมีน้อยค่ะ


เพื่อนๆหลายๆคน อาจจะเพิ่งมีความสนใจเรื่องการออม การลงทุนในกองทุนต่างๆ  ดิฉันก็อยากแนะนำแบบกว้างๆดังนี้

  • การลงทุนใน LTF เป็นการลงทุนในหุ้นค่ะ   ส่วน  RMF นี่มีหลากหลายให้เลือกทั้งแบบลงทุนในหุ้น ในทอง ในพันธบัตร ในตราสารหนี้ หรือกองที่ลงทุนผสมหลายๆอย่าง ในสัดส่วนต่างๆ   ซึ่งมีความเสี่ยงต่างกัน  ผลตอบแทนต่างกัน
  • หากต้องการผลตอบแทนสูง  ความเสี่ยงก็สูงค่ะ  หากเราไม่อยากเสี่ยง เราก็เลือกกองที่ให้ผลตอบแทนต่ำ แต่สม่ำเสมอ 
  • ในแต่ละธนาคาร จะมี บลจ. จัดการการกองทุนรวมค่ะ มีเกือบทุกธนาคาร โดยเฉพาะเจ้าใหญ่ๆ มีแน่ๆ เช่น ธนาคารกรุงเทพ ก็มีบลจ.บัวหลวง  กสิกร ก็มีบลจ.จัดการกองทุนรวมกสิกรไทย  หรือ กรุงศรี ก็มี  ทหารไทยก็มี   และมีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อื่นๆ ที่เชี่ยวชาญ เช่น Aberdeen  TISCO  บลจ.วรรณ  ติดต่อได้ทุกที่    แต่ละที่ก็มีกลยุทธ์ของตัวเอง กองหุ้นเหมือนๆกัน แต่ลงทุนคนละเวลา และคนละตัว ก็ให้ผลตอบแทนที่ต่างกันค่ะ
  • หากเพื่อนๆจะซื้อกองที่ลงทุนในหุ้น ของที่ใดก็แล้วแต่ ก็อาจจะต้องศึกษาดูว่า เค้าลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมไหน  หรือในบริษัทอะไร   เพราะนี่ก็มีผลกับความเสี่ยงและผลตอบแทน  บางจังหวะ บางอุตสาหกรรมก็อาจจะมีปัญหา  ทำให้ผลตอบแทนไม่ดี หรือติดลบ  แต่บางจังหวะก็ดีค่ะ  เราจะได้เลือกลงทุนในสิ่งที่เรามีความรู้ หรือเชื่อมั่น
  • การซื้อ RMF หรือ LTF นั้นเพื่อลดหย่อนภาษี มีเงื่อนไขในการลงทุนค่ะ ว่า จะลดหย่อนได้ไม่เกินเท่าไหร่  และต้องถือหน่วยลงทุนไว้ยาวนานแค่ไหน   จึงจะมีสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี  ต้องศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนนะคะ
  • หากมีเป้าหมายในชีวิตมาก ทำให้ต้องออมมากกว่าที่ซื้อ LTF  RMF  ก็ให้นำเงินส่วนที่ต้องออมเพิ่มไปลงทุนในกองทุนอื่นๆ ที่เป็นกองทุนไม่ลดหย่อนภาษีค่ะ   ซึ่งมีหลายทางเลือกเช่นกัน  เช่น กองทุนที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มต่างๆ กองทุนที่ลงทุนในน้ำมัน กองทุนที่ลงทุนในทองคำ หรือกองผสม และอื่นๆค่ะ  หรือจะออมด้วยการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ผ่อนคอนโดให้เช่า ก็แล้วแต่เป้าหมายที่วางไว้  แต่ละคนก็ไม่เหมือนกันนะคะ
  • เป้าหมายในการลงทุน จะบรรลุหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า ความสม่ำเสมอ วินัยในการลงทุน  ระยะเวลาที่จะลงทุน และอัตราความเสี่ยงและผลตอบแทนที่เรารับได้   หากเราออมน้อย  หรือ ลงทุนที่ให้ผลตอบแทนต่ำ ความเสี่ยงต่ำ  แม้คนสองคน จะออมเท่าๆกันทุกๆเดือน ในระยะเวลาที่เท่าๆกัน  หากเลือกลงทุนต่างกัน ผลลัพธ์ก็ไม่เหมือนกันค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น: