วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2555

ตกผลึก...จากสัมมนา เคล็ด (ไม่)ลับลงทุนอย่างไรให้ได้ 100 ล้าน (1)


เมื่อวานนี้ได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาดีๆ และฟรี รายการหนึ่งคือ เคล็ด (ไม่)ลับลงทุนอย่างไรให้ได้ 100 ล้าน ซึ่งเป็นสัมมนาที่บลจ.กรุงศรี จัดเป็นประจำอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ปกติจะเป็น Workshop การวางแผนด้านการเงินส่วนบุคคล เวลา สองวันเต็ม แต่คราวนี้เป็นฉบับย่อ ครึ่งวัน ซึ่งจัดให้กับผู้ฟังรายการ ปฎิบัติการพลิกชีวิต 101 Money Make Over   ต้องขอบคุณรายการนี้เช่นกัน ที่ขยันจัดกิจกรรมดีๆให้กับเหล่าสมาชิกให้มีทักษะ มีความรู้ด้านการบริหารเงิน ซึ่งเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญ  คนจำนวนมากเรียนสูงมาก จบโท จบเอก เป็นดอกเตอร์จากต่างประเทศ  แต่ด้อยเรื่องการบริหารการเงิน  ทำให้แม้ทำงานตำแหน่งหน้าที่การงานสูง   แต่ไม่สามารถบริหารจัดการรายรับรายจ่ายได้ดี  แม้หามามากมายเพียงใด  ก็อาจจะไม่เหลือเพียงพอในการใช้จ่ายในบั้นปลายของชีวิต  การเรียนรู้เรื่องธรรมชาติของเงิน และการบริหารจัดการการเงินของเราเอง ที่เราหามาด้วยน้ำพัก น้ำแรงของเราเอง จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ แม้เรียนมาสูง เรียนมาน้อย ก็ต้องทำ เพื่ออนาคตของเรา จะได้ไม่เป็นภาระของใครในบั้นปลายชีวิต

คนจำนวนไม่น้อย กลัวการมีเงิน มองว่า การมีเงินเป็นเรื่องที่ผิดบาป ละโมภ เป็นเรื่องของคนไม่รู้จักพอ  เป็นเรื่องของการเอารัดเอาเปรียบคนในสังคม  คนจำนวนมาก จึงรีบใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย เพื่อกำจัดมันออกจากกระเป๋าให้เร็วที่สุด และตะกุยตะกายหาเงินอย่างทุรนทุราย หิวกระหายเงิน เพราะมันขาดมือ  กลายเป็นวงจรอุบาสก์ สร้างความทุกข์ทรมาร เหมือนหนูถีบจักร ไม่สิ้นสุดจนกว่าจะตายจากไป    เมื่อวานนี้ ดิฉันได้มีโอกาสชมภาพยนต์เรื่อง Simple Life  ซึ่งเป็นหนึ่งในภาพยนต์ชีวิตที่กินใจ  แสดงสัจจธรรมของชีวิตของมนุษย์  เป็นเรื่องราวของหญิงชราผู้หนึ่ง ในวัยแข็งแรงสดสวยของเธอ เธอได้ทำงานเป็นพี่เลี้ยงแม่นม ดูแลเด็กให้ครอบครัวผู้มีอันจะกิน   แต่เมื่อแก่ชรา เกษียณ  เธอได้รับการปลดระวาง  ครอบครัวนั้นจะย้ายไปต่างประเทศ ไม่คิดจะเอาเธอ ที่เป็นคนชราไปด้วย  เธอจึงต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวอย่างคนชราที่ไร้ญาติ   โชคดีที่เด็กที่เธอเลี้ยงเติบโตเป็นหนุ่มที่มีจิตใจงดงามและสำนึกในบุญคุณ คอยหมั่นมาเยี่ยมเยียน ดูแลให้เงินใช้   แต่อย่างไรก็ตาม ชีวิตคนชราที่ชินกับการทำงาน  ก็เฝ้าหางานอย่างยากลำบาก ได้งานเฝ้าห้องน้ำ   ได้งานทำความสะอาด ทั้งๆที่ร่างกายและสังขารไม่อำนวย   เรื่องดำเนินไปอย่างเรียบง่าย หดหู่ เห็นความรู้สึกนึกคิดที่เงียบเหงา รู้สึกไร้ค่า ของคนชราที่ไม่มีญาติพี่น้อง และไม่มีเงิน ต้องกินอยู่ด้วยสวัสดิการรัฐ และเงินช่วยเหลือของสังคม จนวันตาย

หันมามองชีวิตของคนชรา ที่มีการวางแผนทางการเงินมาอย่างดี ในวัยที่แข็งแรง  แม้เกิดมายากจนเหมือนกัน แต่มีการวางแผนจัดการทางการเงิน ในการสะสมเงินไว้ใช้ในยามชรา  เวลาป่วยก็ไม่ต้องไปรอคิวรพ.รัฐบาล ไม่ต้องใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลอย่างจำกัด  มีเงินเหลือเพียงพอ ในการช่วยเหลือการกุศลส่วนรวม  ทำให้ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระกับใคร ไม่ไร้ค่า  แม้แก่ชราก็มีพลังเต็มเปี่ยมในการเป็นผู้ให้กับผู้อื่น  ช่วยเหลือลูกหลาน ลูกหลานบริวารห้อมล้อมเพราะอยู่ด้วยแล้วสบายใจ มีแต่ความสุข  ชีวิตของคนชราสองกลุ่มช่างแตกต่างกัน คนชราที่ไม่ได้เตรียมเงินสะสมมาเพียงพอ มิใช่เพราะว่าท่านใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยในอดีต  แต่หลายๆคนก็ทุ่มเทให้ลูกหลานเกินพอดี  รักลูกหลานเกินพอดี ทำให้การเงินที่หาได้ในวัยทำงาน หมดไปกับการส่งเสียลูก แล้วหวังว่า เมื่อลูกหลานเติบโต ทำงานประสบความสำเร็จในอาชีพ ก็คงกลับมาดูแลตนในวัยชรา  ซึ่งสถานการณ์โลกและสังคมในปัจจุบัน มันมิได้เป็นเช่นนั้น

ในโลกปัจจุบันนั้น มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องระบบการเงินและเศรษฐกิจหลายอย่าง ในยุคก่อนปี 2000 นั้น การฝากเงินกับธนาคาร ได้รับอัตราผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยที่สูงมาก คือ 10 กว่า - 20%  ในขณะที่มูลค่าที่ดินต่างๆก็มีราคาต่ำ เพราะคนไม่นิยมซื้อ ส่วนในปัจจุบันนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากนั้น ต่ำมาก คือ เหลือ  2-4% เท่านั้น  ซึ่งเมือ่หักกับอัตราเงินเฟ้อแล้ว คนฝากเงิน ต้องขาดทุนในบางปีด้วยซ้ำไป  เพราะค่าของเงินเล็กลง  



จากตารางนี้ จะแสดงให้เห็นว่า หากเรามีเงิน 10 ล้านในวันนี้ ตั้งไว้เฉยๆ    ในเวลา 5 ปี 10 ปี 20 ปี 30 ปี   ค่าของเงิน 10 ล้าน จะมีมูลค่าลดลงเรื่อยๆ  ยิ่งอัตราเงินเฟ้อสูงเท่าใด   ค่าของเงินก็เล็กลงเท่านั้น  เช่น ในเวลา 5 ปี  หากอัตราเงินเฟ้อ 4%   ค่าของเงิน 1 ล้าน จะมีค่าเหลือเพียง 8.22 ล้าน   ต่อให้เราฝากธนาคาร ได้ดอกเบี้ยมา 3 %  เราก็ไม่สามารถรักษามูลค่าเงินที่ 10 ล้านได้  ดังนั้น การเก็บรักษาเงินไว้ใช้ในระยะยาว  หากไม่มีวิธีการวางแผนการรักษาเงินที่ดีแล้ว   นอกจากเงินจะไม่งอก ไม่โตแล้ว ยังหดค่าทำให้ไม่พอใช้อีกด้วย

เดี๋ยวมาบ่นต่อ เรื่องปัญหาชีวิตอีกมากมายที่รอเราอยู่ และเราจะจัดการกับมันอย่างไรดี  ในตอนต่อไปนะคะ

ไม่มีความคิดเห็น: