วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2555

ตกผลึก...จากสัมมนา เคล็ด (ไม่)ลับลงทุนอย่างไรให้ได้ 100 ล้าน (4)


เท่าที่ได้สังเกตพบเห็นจากชีวิตของคนในสังคมในตอนนี้ รวมกับชีวิตที่ผ่านมาในอดีตสิบกว่าปีก่อนของตัวเอง คนสมัยนี้มีปัญหาในการมีเงินเหลิอเก็บค่อนข้างมาก    ไม่ว่าทำงานได้ตำแหน่งหน้าที่การงานสูงขึ้น เงินเดือนมากขึ้น แต่ทำอย่างไร เงินเดือนก็ไม่พอใช้   มองไปรอบๆตัวมีแต่สิ่งเร้าใจ   ทั้งไอโฟนรุ่นใหม่  ไอแพ็ด สมาร์ทโฟนสารพัดรุ่น รถหน้าตาน่ารัก  สารพัดโปรโมชั่นของรัฐบาล  บ้านหลังแรก  รถคันแรก ยังโชคดีที่ไม่มีโปรโมชั่น เมีนคนแรกด้วย  จากการรายงานยอดผู้ใช้บริการมือถือโดยนับเฉพาะผู้ให้บริการหลักทั้ง 3 รายใหญ่ของประเทศไทยได้แก่ AIS, dtac และ TrueMove พบว่าในไตรมาสสุดท้ายของปี 2011 นั้นยอดผู้ใช้งานรวมทั้งสิ้น 75.35 ล้านราย ในเมืองไทย มีประชากร จำนวน 60 กว่าล้านคน  แต่ยอดผู้ใช้มือถือ 75 ล้านราย  เฉลี่ยคนนึงมีโทรศัพท์มือถือหลายเครื่องทีเดียว  มานั่งคำนวณค่าใช้จ่ายหลักที่เราต้องใช้จ่ายแค่เรื่องการสื่อสารนี่ เดือนนึงหลายพันบาท

ดิฉันเคยไปเป็นวิทยากรพิเศษในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาหลายแห่ง พบกว่า ทุกปี นักศึกษามีรถยนต์ส่วนตัวใช้มากขึ้นเรื่อยๆ  พ่อแม่จำนวนมากก็ซื้อรถยนต์ให้ลูกใช้ เพือความสะดวกในการเดินทาง  เด็กๆที่เรียนจบออกมาทำงาน สิ่งแรกที่คนทำงานอยากได้ คือ รถยนต์ เพื่อให้สะดวกสบายในการเดินทาง  ดิฉันเคยคำนวณตัวเลขคร่าว กับคุณพ่อ สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เราเคยคุยกันว่า การมีรถยนต์คันนึงนั้น มีค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็นสูงมาก  ทั้งค่าเสื่อมราคาของรถยนต์  ค่าประกันภัย ค่าซ่อม ต่าน้ำมัน  ค่าของความสะดวกสบายในชีวิต ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นปีนึงๆ เป็นแสนบาท  ยิ่งรถยี่ห้อหรู โดนหักค่าเสื่อมปีหนึ่งๆ หลายแสนบาททีเดียว   สำหรับคนทำงาน ดิฉันเองก็เข้าใจ เพราะอาชีพหรือตำแหน่งหน้าที่การงานบางอย่างนั้น อาจจะต้องใช้รถในการทำงาน  ซึ่งสามารถเบิกค่าน้ำมัน ค่าเดินทางได้  และเป็นการช่วยให้การทำงาน ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ  แต่สำหรับการให้ลูกมีรถยนต์ มีมือถือใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกนั้น  เป็นเรื่องที่น่าจะทบทวนให้ดีๆ   เงินจำนวนนี้ รวมเป็นเงิน เฉลี่ยเดือนๆก็เป็นหมื่นกว่าบาทเหมือนกัน    หากมาลงทุนกันในสูตรที่ว่ากันไว้  คือ นำเงินเหล่านี้ไปลงทุนทุกๆเดือน เดือนละ 10,000 บาท เป็นเวลา  5 ปี  เงินจำนวนวนนี้ก็เป็นมีมูลค่าเกือบล้านบาท   ใน 30 ปี ก็จะกลายเป็นเงิน 80 กว่าล้านเช่นกัน  

จะเห็นว่า มีหลายๆวิธีที่เราจะสามารถเริ่มต้นมีเงินออมได้  โดยที่เราไม่ต้องทำงานเพิ่ม เพียงแต่ใช่สติปัญญาในการพิจารณารายจ่ายที่ไม่จำเป็น  ปรับเปลี่ยนมุมมอง วิธีคิด และการใช้ชีวิตเท่านั้น   เช่น แทนที่จะซื้อรถให้ลูกไปซิ่ง ก็อาจจะพิจารณาซื้อคอนโดใกล้มหาวิทยาลัย หรือในที่ๆเดินทางสะดวก    อาจจะต้องใช้เงินจำนวนใกล้เคียงกัน  แต่ การซื้ออสังหาริมทรัพย์ เป็นการลงทุน  ราคาสินทรัพย์ มีแต่เพิ่มขึ้น  แต่การซื้อรถยนต์ มีแต่ราคาตก  ซื้อรถวันนี้ ขายพรุ่งนี้ ก็ไม่สามารถขายได้ในราคาที่ซื้อมาได้ เพราะถือว่าเป็นของมือสอง ราคาตกไปเรียบร้อยแล้ว    และการฝึกลูกให้มีความอดทน  ตอนที่ไปเรียนในระดับมัธยม ก็มีความสามารถในการเดินทางด้วยรถเมล์  รถประจำทาง  พอเข้ามหาวิทยาลัยก็ควรที่จะมีความสามารถในการดูแลตัวเองได้ดีขึ้น   เพราะพอออกไปทำงาน ก็ต้องเจอหนักขึ้นเรื่อยๆ   ต้องฝึกรับผิดชอบกับหน้าที่การงานที่สูงขึ้น  ดังนั้น การฝึกให้ลูกรู้จักสู้ชีวิต  เป็นเรื่องจำเป็นค่ะ

การที่เราจะสามารถพิจารณาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายเพื่อหาทางเงินทองที่เราทำตกหล่นไว้   ควรเริ่มต้นที่การจดบันทึกค่าใช้จ่ายที่เรามีในแต่ละวัน แต่ละเดือน  มีหลักๆที่เราต้องจดคือ

1) รายรับ : ทั้งหมดที่เป็นรายรับ ทั้งเงินเดือน ค่าล่วงเวลา รายได้จากค่าเช่า รายได้จากการขายทรัพย์สิน  รายได้อื่นๆ เช่น การคืนภาษี รางวัล มรดก และอื่นๆที่เป็นรายรับ

2) รายจ่ายคงที่ เช่น ค่าเบี้ยประกัน ค่าผ่อนบ้าน ค่าเช่าบ้าน ต่าเล่าเรียนลูก และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เราต้องจ่ายทุกปี ทุกเดือน 

3) รายจ่ายผันแปร  เช่น  ค่าไอโฟน5  ค่าหมอ ค่ายา ค่าโรงพยาบาลของเรา หรือ พ่อแม่ที่เราดูแล ค่าโน๊ตบุ๊ตตัวใหม่  ต่าแหวนเพชร ค่าทำผม  ค่าโรงแรม ค่าตั๋วเครือ่งบิน   หรือ รายจ่ายใดๆ ที่เกิดขึ้นโดยอาจจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว   

4)  รายจ่ายเพื่อการออม เช่น การซื้อกองทุนประหยัดภาษี   เบี้ยประกันสุขภาพ เบี้ยประกันชีวิต และ  ประกันสังคม  กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ และอื่นๆ

การจดบันทึกลงมาเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างละเอียด และตรงไปตรงมา จะเป็นกระจกเงา ให้เราเห็นจุดอ่อนในการใช้จ่ายของเรา   จะเห็นว่า รายจ่ายบางอย่างเป็นรายจ่ายที่ไม่คาดฝัน แต่หลีกเลี่ยงได้ยาก  แต่รายจ่ายบางอย่างเราสามารถเลื่อน หรือ ตัดทอน หรือ บริหารจัดการอย่างอื่นให้มีประสิทธิภาพได้

ไม่มีความคิดเห็น: