วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555

เล่าสู่กันฟัง...การศึกษาของประชาชนคนเยอรมัน

เรื่องราวต่อไปนี้ คัดลอกมาจาก Web ของคุณ พลอยชมพู ซึ่งคุณแม่ของเธอ คือคุณ Niraya Weigel ได้ถ่ายทอดไว้ค่ะ เห็นว่าเป็นข้อมูลที่ดี จึงมาคัดลอกเก็บไว้ เพื่อสะดวกในการค้นหาต่อไป




ตอน การศึกษาของประชาชนคนเยอรมัน
(ข้อความข้างล่างนี้อ้างอิงมาจากเว็บชาวไทย http://www.schau-thai.de/forum/index.php?topic=5054.0 (ตอนนี้เว็บเดี้ยงไปแล้ว) เขียนแบบสังเขปโดยพี่สาวใจดี พี่แก๋งโฮ๊ะ หรือครูต้อม ที่เป็นทั้งล่าม และครูสอนภาษาอยู่เยอรมนีมากว่า 20 ปี)

การศึกษาภาคบังคับของเยอรมนี เริ่มเมื่อเด็กมีอายุ 6 ปีเป็นต้นไป และสิ้นสุดที่อายุ 16 ปี คือเด็กที่มีอายุระหว่าง 6 ปี ถึง 16 ปี กฎหมายบังคับให้เข้าโรงเรียน หากไม่เข้าเรียน ก็อาจจะมีการเอาโทษกับผู้ปกครองได้ การศึกษาและโรงเรียนในเยอรมนีอาจแตกต่างกันบ้างในแต่ละรัฐ แต่โดยทั่วไปอาจแบ่งได้ดังนี้
1. การศึกษาในวัยก่อนเข้าโรงเรียน
คือ ในโรงเรียนอนุบาล ที่เรียกว่า คินแดร์การ์เท็น (Kindergarten) จะรับเด็กอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปจนถึง 6 ปี การเรียนในระดับนี้ไม่ใช่ภาคบังคับ จะให้เด็กเข้าเรียนก็ได้ ไม่ให้เข้าเรียนก็ไม่เป็นไร ที่นี่เด็กจะได้รับการกระตุ้นพัฒนาการทั้งทางร่างกายและทางสมอง โดยจะเรียนรู้สิ่งต่างๆจากการเล่นกับเด็กในวัยเดียวกัน เป็นการฝึกฝนการใช้ชีวิตในสังคม การใช้สมาธิตามเหตุการณ์และสภาพแวดล้อมของแต่ละวัน เป็นการปรับตัวและเตรียมความพร้อมของเด็กเพื่อการเข้าเรียนในโรงเรียนประถม ต่อไป

2. การศึกษาระดับประถม
เป็นการเริ่มต้นการศึกษาภาค บังคับ เด็กที่อายุครบ 6 ปี จะต้องเข้าเรียนในชั้นประถม ในเยอรมนีเด็กจะต้องเข้าโรงเรียนในเขตที่ตัวเองพำนักอยู่ โรงเรียนประถมเรียกว่า กรุนชูเล (Grundschule) การศึกษาชั้นประถมจะมี 4 ชั้น คือ ชั้นที่ 1 ถึง ชั้นที่ 4 แต่ในบางรัฐอาจจะรวมเอาชั้น ที่ 5 และ 6 อยู่ในระดับประถมด้วยในโรงเรียนประถมจะเน้นการปูพื้นฐานการเรียนเป็นหลัก เด็กจะได้รับการฝึกการเขียนและอ่านภาษาเยอรมัน คณิตศาสตร์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นอาจจะมีวิชาเสริม เช่น ดนตรี หัตถ-ศึกษา ศาสนา กีฬา เป็นต้น

3. การศึกษาระดับมัธยม
โรงเรียนในระดับมัธยมของเยอรมนีจะมีอยู่ 4 รูปแบบด้วยกัน คือ
3.1 เฮาพ์ชูเล (Hauptschule) เป็นโรงเรียนมัธยมที่สอนเน้นความรู้ทั่วไป เช่น ภาษาเยอรมัน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาต่างประเทศ
มี ตั้งแต่ชั้นที่ 5 ถึง 9 เมื่อจบชั้นปีที่ 9 จะได้รับประกาศนียบัตรมัธยมตอนต้น เฮาพ์ชูลอับชลุส (Hauptschulabschluss) สามารถเข้าเรียนต่อด้านอาชีพประเภทช่างหรืออาจจะเรียนต่อชั้นที่ 10 ต่อไปก็ได้ เพราะการเรียนสายอาชีพบางสาขาจะต้องจบชั้นที่ 10
3.2 เรอาลชูเล (Realschule) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นเช่นกัน แต่จะมีตั้งแต่ชั้นที่ 5 ถึงชั้นที่ 10 วิชาที่เรียนจะมากกว่าโรงเรียนมัธยมแบบเฮาพ์-ชูเล เมื่อจบชั้นที่ 10 จะได้ประกาศนียบัตรที่เรียกว่า มิทท์เลเร ไรเฟ(Mittlere Reife) และสามารถเรียนต่อสายอาชีพทุกสาขาได้ทันที
3.3 กึมนาซิอุม (Gymnasium ) เป็นโรงเรียนมัธยม จะมีทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เซคุนดาร์ ชทูเฟ อายส์ (Sekundar Stufe I) และระดับเตรียมอุดมศึกษาที่เรียกว่า เซคุนดาร์ ชทูเฟ ซวาย (Sekundar Stufe II) หรือ
โอแบร์ชทูเฟ(Oberstufe) ระดับมัธยมตอนต้นเรียนตั้งแต่ชั้นที่ 5 ถึง ชั้นที่ 10 ในระดับมัธยมตอนปลายเริ่มจากชั้นที่ 11 ถึง 13 การเรียนจะเน้นทางด้านวิชาการมากกว่า ดังนั้นเด็กที่จะเรียนกึมนาซิอุมควรเป็นเด็กที่เรียนดีพอสมควร เมื่อสำเร็จการ ศึกษา ก็จะได้ประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลายที่เรียกว่า
อบิทัวร์ (Abitur ) และสามารถเข้าเรียนต่อในขั้นอุดมศึกษาได้
3.4 เกซัมท์ชูเล (Gesamtschule) เป็นโรงเรียนมัธยมประสม คือนำเอารูปแบบโรงเรียนมัธยมทั้งสามแบบที่กล่าวไปแล้วมารวมอยู่ด้วยกัน จะเปิดสอนตั้งแต่ชั้นที่ 5 ถึง ชั้นที่ 13 เด็กที่เข้าเรียนที่นี่สามารถที่จะเลือกเรียนชั้นมัธยมรูปแบบหนึ่งในสามแบบ จากที่นี่ เมื่อเรียนไปแล้วเห็นว่าไม่เหมาะกับความสามารถของตน ก็อาจที่จะย้ายไปเรียนอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เหมาะกับตัวได้

5. การเรียนระดับอุดมศึกษา ผู้ที่จบ Abitur สามารถที่จะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยได้โดยไม่มีการสอบคัดเลือก นอกจากบางสาขาวิชาที่มีคนต้อง
การเรียนมาก เช่น แพทย์ศาสตร์ ผู้ที่ต้องการศึกษาต่อสามารถที่จะเลือกสมัครสาขาวิชาที่ต้องการเรียนได้ ปัจจุบัน การศึกษาในบางรัฐต้องจ่ายเล่าเรียนเทอมละ 500 ยูโร


พลอยชมพู ได้เข้าเรียนระดับอนุบาล (Kindergarten) ตอนอายุ 3 ขวบเต็ม เริ่ม 8 โมงเช้า-เที่ยง ไปส่งลูกสายได้ไม่เกิน 9 โมงเช้า ส่วนพ่อแม่ที่ต้องทำงานช่วงบ่ายไม่สามารถดูแลลูกได้ ก็จะให้ลูกทานอาหารกลางวัน และอยู่ที่ ร.ร. จนถึงเวลาประมาณ 4 โมงเย็น เรื่องค่าใช้จ่าย ครอบครัวเราเป็นชนชั้นที่มีรายได้ปานกลาง เราจึงเสียปรกติคือเดือนละ 150 ยูโร หากครอบครัวไหนมีรายได้น้อยจะไม่เสียอะไรเลย (ได้เงิน 150 ยูโรจากรัฐบาลเป็นค่าขนมลูก แต่เอามาจ่ายค่าร.ร.แทน เท่ากับไม่ได้อะไรเลย)
ที่ ร.ร. จะมีเด็กราว 50-60 คน มี 3 ห้องเท่านั้นเอง แต่ละห้องจะจัดเด็ก ๆ ต่างวัยคละรวมกัน เพราะเด็กที่โตกว่าจะได้เรียนรู้การช่วยเหลือเพื่อนที่ตัวเล็กกว่า และเด็กเล็กจะได้มีพัฒนาตามเด็กโต
ที่เมืองเล็ก ๆ ที่ดิฉันอยู่นั้น อยากให้ลองจินตนาการดูว่าพลเมืองราว 2 หมื่น คน จะมี ร.ร. อนุบาลกระจายอยู่แทบทุกถนน แต่ละ ร.ร. ก็จะมีขนาดประมาณเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็น ร.ร. ของโบสถ์คริสต์แทบทั้งหมด
ร.ร. จะอยู่ในหมู่บ้าน จะไม่มีการเรียนข้ามเขต เราสองแม่ลูกเดินเท้าไป ร.ร. ด้วยกันทุกเช้า เราอยากบอกว่าเรามีความสุขกับความทรงจำเล็ก ๆ นี้มาก ระหว่างทางที่เราได้สนทนากัน ได้รู้จักลูกมากขึ้นในทุก ๆ วัน จากการเดินเท้า 1 ก.ม. จนกระทั่งอายุ 5 ขวบ พลอยชมพูก็ขี่จักรยานเองได้ เราจึงไป ร.ร. ด้วยจักรยานทุกวัน ยกเว้นวันที่ฝนตกฟ้าร้อง ดิฉันจะขับรถส่วนตัวไปส่งและรับลูก
ที่นี่ไม่มีการสอนหนังสือเด็กให้อ่านออกเขียนได้เลย ตลอด 3 ปี! อ้าว...แล้วจะส่งลูกไปเรียนหาพระแสงง้าวอะไรฮ่วย! แหมๆๆ...อย่าเพิ่งด่วนสรุปนะคะ ว่าตลอด 3 ปี ส่งลูกไป ร.ร. เพื่ออะไร ดิฉันอยากบอกว่าที่ ร.ร. เน้นการพัฒนาทักษะของเด็ก เรียนรู้แบบธรรมชาติ การปรับตัวของเด็กที่ต้องอยู่ร่วมคนอื่นในสังคม ใน 3 ปี แค่เขียนชื่อนามสกุลของตนเองได้ และอ่าน A-Z ได้ ก็เพียงพอแล้วกับวัยนี้
ดิฉันเองก็อยากรู้ว่าวัน ๆ คุณครูสอนอะไรบ้าง จะว่าไปเวลาแค่ 3 -4 ชั่วโมง มันเป็นเวลาสั้น ๆ เท่านั้นเอง แต่ละวันลูกคงได้อะไรจาก ร.ร.ไม่มากนัก หากครูปล่อยให้เด็กเล่น ก็กินเวลาไปครึ่งหนึ่งแล้ว
เกือบทุกวัน พลอยชมพูจะกลับมาพร้อมกับสิ่งของบางอย่างจาก ร.ร. เอามาอวดพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ วาดรูป, ปั้นดินน้ำมัน, งานประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ บางทีก็ร้องเพลงใหม่ ๆ ให้แม่ฟัง ก็จะเป็นแบบนี้อยู่ตลอด
ที่ ร.ร. จะมีการจัดทัศนะศึกษาปีละครั้ง พาเด็ก ๆ ไปฟาร์ม หรือ ไปเดินป่า ตรงส่วนนี้ชอบนะคะ เพราะเห็นลูกสนุกทุกครั้งที่มีกิจกรรมแบบนี้





ดิฉันเคยบ่นกับสามี ว่าเด็กที่เมืองไทยอายุ 5-6 ขวบ อ่านออกเขียนได้ก่อนขึ้นชั้นประถมฯ กันทั้งนั้น แต่ที่เยอรมนีทำไมไม่ทำแบบนั้นมั่ง 3 ปี เขียนได้แค่ชื่อและนามสกุล ไม่เห็นจะได้เรียนอะไรเลย แต่กลับให้เด็กเล่นซะมากกว่า แต่เมื่อ ณ วันที่ พลอยชมพูโตขึ้นเข้าชั้นประถมศึกษา เรากลับมีความคิดใหม่ กลับชมเชยการศึกษาระดับอนุบาลว่าเป็นการดี ที่ให้เด็กเรียนแบบไม่เครียด ไม่ยัดเยียดเด็กจนเกินไป เอาเวลาไปบริหารทักษะอื่น ๆ ของเด็กให้มีพื้นฐานการเรียนรู้ที่ดี ซึ่งจะมีผลในการเรียนรู้ในขั้นต่อไปในอนาคตของเด็ก
แต่ละเทอมจะมีการประชุมผู้ปกครอง เราเองก็ต้องแปลกใจ เวลาเขาประชุมผู้ปกครองมันไม่เหมือนที่เมืองไทยเลย ที่พ่อแม่ของเด็ก ๆ ต้องไปนั่งรวมกับที่หอประชุม และจะมีอาจารย์มาพูดๆๆๆๆๆๆ แต่ที่ ร.ร. นี้ จะเรียกผู้ปกครองเด็กเข้าไปในห้องทีละครอบครัว จะรายงานผลตัวต่อตัว ว่าลูกของคุณเป็นอย่างไรเมื่อเขาอยู่ที่ ร.ร. ไม่ว่าจะติ หรือ ชม ก็จะพูดกันแบบตรงไม่มีอ้อม เอาแบบซึ่ง ๆ หน้า พร้อมชี้แนวทางว่า เมื่อเด็กเข้าระดับสูงขึ้นไปนั้น ควรจะให้เด็กเรียนไปทางสายไหน ส่วนพลอยชมพูนั้น เธอต้องไปเรียนต่อสายศิลป์ เพราะแววการช่างคิด ช่างทำ ช่างประดิษฐ์มันฉายออกมาแล้ว การประชุมผู้ปกครองนี้ น่าจะเรียกว่า “การประเมินผลการเรียนรู้ของเด็ก” มากกว่า
หลังจากผ่านวัยอนุบาลมาแล้ว ก็ถึงวัยประถมศึกษา คุณสามีเลือกโรงเรียนให้ลูกอยู่ห่างจากบ้านราว ๆ 3 ก.ม. เป็นร.ร.ที่ลูกกับภรรยาเก่าของเขาเรียนมาก่อน เขาจึงมีความเชื่อมั่นที่นี่สูง มีชั้นเรียนทั้งหมด 4 ชั้นเรียน คือ ชั้นประถมฯ 1 -4 โดยแต่ละชั้นมีเพียง 2 ห้อง (ห้องเอ และบี) แต่ละห้องมีนักเรียนไม่เกิน 20 คน ครูประจำชั้น 1 คน และครูผู้ช่วย 1 คน ไม่ใช่ว่านักเรียนน้อยนะคะ แต่เขามีขีดจำกัดเรื่องคุณภาพการเรียนและความคุณภาพชีวิต เด็กต้องได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง และเด็กต้องไม่รู้สึกอึดอัดเบียดเสียดหากจำนวนนักเรียนมากเกินไปในชั้น ใครที่ไปจองโรงเรียนช้า (สำหรับโรงเรียนดี ๆ ต้องจองกันข้ามปี แม้แต่อนุบาลก็ต้องจองเช่นกัน) ต้องไปหาที่อื่น จะไม่มีการอัดเด็กเป็นปลากระป๋อง
ระดับประถม 1 และ 2 มีวิชาว่ายน้ำถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรด้วย ซึ่งดิฉันเองไม่รู้ว่าเป็นแบบนี้ทุกเมืองหรือเปล่า แต่หากใช่ เด็กทุกคนในประเทศเยอรมนี เมื่อจบ ป.2 แล้วต้องว่ายน้ำเป็นทุกคน อันนี้ถูกใจมาก ๆ เขาคิดได้ไงเนี่ย วิชานี้มันช่วยชีวิตเด็กมามากต่อมากแล้ว เรียนไปได้ใช้จนตายเลยนะเนี่ย
เรื่องเนื้อหาตารางเรียนตอนประถม 1 นั้นมีไม่มาก ไม่ซีเรียส พลอยชมพูเริ่มหัดอ่าน หัดเขียนเยอรมันก็ตอนประถม 1 นี่แหละ ไปโรงเรียนด้วยรถบัสโรงเรียน แบบไม่ต้องจ่ายเงิน งานนี้ของหลวง โรงเรียนก็ของหลวงไม่ต้องจ่ายอะไรทั้งสิ้น เขาจะให้ขึ้นรถบัสฟรีเฉพาะเด็กที่อยู่นอกรัศมีโรงเรียนที่ไม่สามารถเดินเท้าหรือขี่จักรยานมาเองได้ หากใครบ้านอยู่ใกล้สามารถไปร.ร.เองได้ แต่อยากนั่งรถบัส ก็ต้องเสียค่ารถเป็นรายเดือนอยู่ราวๆ 30-60 ยูโร จำตัวเลยไม่ค่อยได้ละ และ แม้แต่หนังสือเรียนก็มีให้ยืม แต่ละเทอมเราซื้อหนังสือเรียนให้ลูกแบบที่ต้องใช้ส่วนตัวเพียงไม่กี่ยูโรเท่านั้น คนที่นี่ ไม่ว่าร๊วยรวย หรือจ๊นจน ก็อยู่โรงเรียนเดียวกันมีชีวิตในวัยเรียนเหมือน ๆ กันทั้งหมด ไม่ต้องแยกระดับโรงเรียนไฮโซ หรือโรงเรียนโลโซ เพราะทุกโรงเรียนล้วนเป็นของหลวงมีมาตราฐานเดียวกันหมด


เมื่อขึ้นประถม 5 จะมีการแยกเด็กจากความสามารถและความเฉลียวฉลาด เช่น เด็กเอ หัวดีมาก ก็จะได้ไปโรงเรียนระดับหัวกระทิของจังหวัด มีสิทธิ์เรียนต่อมหาวิทยาลัย เด็กบี ฉลาดปานกลางก็ไปเรียนที่ร.ร.ระดับกลาง ๆ แต่หากเรียนดีขึ้นก็สามารถย้ายไปต่อที่ ร.ร.หัวกระทิได้ ส่วนเด็กสมองทึบก็มี ร.ร. แยกออกไปอีกต่างหาก ที่นี่หากพูดว่าลูกชั้นเรียนอยู่ที่ ร.ร. กึมนาซิอูม (Gymnasium ) คุณยืดยกพูดได้เลย เพราะเด็กจำนวนไม่มากที่สามารถเรียนต่อจนจบจากที่นี่ได้ การเรียนการสอนค่อนข้างเข้มข้น เด็กต้องมีสติปัญญาในระดับดี และมีความตั้งใจเรียนด้วย ไม่งั้น...ไม่จบ ลูกเลี้ยงของดิฉันสองคนก็เรียนที่นี่ แต่จบไปได้และต่อมหาวิทยาลัยเพียงคนเดียวเท่านั้น ส่วนอีกคนต้องลดชั้นไปเรียนที่ เบรุฟเอาส์บลิวดุง(Berufsausbildung) แทน (เรียนวิชาชีพ)
สำหรับร.ร.เอกชน ที่จังหวัดเราไม่มี รวมทั้งสถาบันติวเตอร์ใด ๆ ไม่มีทั้งสิ้น การแข่งขันในการศึกษาไม่สูง เด็กทุกคนเรียนอย่างมีความสุข ไม่เครียด ไม่กดดัน
ช่วงประถมฯ 1 พลอยชมพูเลิกเรียน 11.45 น. ทุกวัน
ช่วงประถมฯ 2 เลิกเรียน 11.30 น. เหมือนเดิม แต่จะมี 1 วันในสัปดาห์ที่เลิก 12.30 น.
ช่วงประถมฯ 3 เลิกเรียน 12.30 น. ทุกวัน แต่จะมี 1 วันในสัปดาห์ที่เลิก 13.20 น.
ช่วงประถมฯ 4 เลิกเรียน 12.30 น. เกือบทุกวัน จะมี 2 วันในสัปดาห์ที่เลิก 13.20 น.
เกิดเป็นเด็กในประเทศเยอรมนี ช่างมีความสุขแท้ ๆ เพราะไม่ถูกยัดเยียดให้เรียนหนัก ๆ ไม่ต้องเรียนพิเศษในตอนเย็น หรือวันหยุด แต่เอ...เรียนน้อย ๆ แบบนี้เด็ก ๆ ที่นี่เขาจะฉลาดเหรอ เขาเอาเวลาช่วงบ่ายไปทำอะไร เล่นทั้งวันเลยเหรอ??
ตรงนี้คืออีกจุดหนึ่งที่ดิฉันชอบม๊ากกกกกก ที่เขาให้เด็ก ๆ กลับบ้านเร็ว รัฐบาลบรรจุวิชาที่จำเป็นที่เด็กต้องเรียนรู้ ที่เรียกวิชาบังคับนะแหละ เช่นวิชา ภาษาเยอรมัน, เลขคณิต, อังกฤษ, สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต, ศาสนา, กีฬา, ศิลปะ (นับในตารางสอนของลูกไม่ถึง 10 วิชาเลยง่ะ) ใช้เวลาประมาณ 4-5 ชั่วโมงต่อวัน พัก 2 ครั้ง เด็กจะห่ออาหารเช้าไปทานที่ ร.ร. กับเพื่อน ๆ ตอนเบรกแรก ซึ่งจริง ๆ แล้ว จะทานจากที่บ้านพอรองท้องไปนิดหน่อย พอเบรกที่สองจะเป็นเบรกใหญ่ให้เด็ก ๆ เล่นตามอัธยาศัย เรื่องเงินทองลูกก็ไม่เคยพกเงินไป ร.ร. เพราะที่ ร.ร. ไม่มีโรงอาหาร หรือ ร้านขายของใดๆ ทั้งสิ้น พลอยชมพูไม่เคยใช้เงิน มีเงินเมื่อไหร่เอาเก็บใส่ธนาคารหมด (แอบงกอีกต่างหาก)
ดิฉันมีความสุขมากที่เห็นลูกกลับบ้านช่วงหลังเที่ยง มาทานข้าวบ้านทุกวัน ช่วงบ่ายนี้แหละเป็นเวลาทองสำหรับเด็ก ๆ ที่เมืองของเราจะมีสถาบันสอนดนตรี, เต้น, ศิลปะ, กีฬาต่าง ๆ เช่นขี่ม้า, ว่ายน้ำ, ศิลปะ, ดนตรี, ยูโด, ไอซ์สเก็ต ฯลฯ กิจกรรมใด ๆ ก็ตามที่ลูกสนใจ เราก็จะพาลูกไปเรียน ซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่มช่วงบ่ายจนถึง 1 ทุ่ม งานนี้ต้องควักกระเป๋าเองทุกอย่าง เรามีความสุขที่ได้ให้ลูกทำกิจกรรมที่เขาสนใจและชอบ เรามองย้อนกลับไปตอนที่เรียนมัธยมต้น เราเกลียดวิชาฟันดาบ, เรียนแตะตะกร้อ, เรียนเขย่าอังกะลุง และอีกหลายวิชาที่ผู้ใหญ่จัดห้ายยย นอกจากบังคับเด็กให้เรียนแล้วแถมโตขึ้นมาก็หาได้มีประโยชน์กับชีวิตเราไม่ (เห่อๆๆ พูดประโยคโบราณยังกะละครนางทาสงั้นแหละ) เราดีใจที่ทุกวันมีค่าสำหรับลูก ได้เรียนอะไรที่ชอบและมีประโยชน์กับตนเองในอนาคต และที่สำคัญ ทั้งเรียนและการทำกิจกรรม ไม่ได้เบียดเวลาสำหรับครอบครัวเลย เพราะวันเสาร์-อาทิตย์ เราสามคน พ่อแม่ลูกอยู่ด้วยกันทั้งวัน ขับรถไปเที่ยวกันบ้าง ไปเยี่ยมญาติ หรือเพื่อนบ้าง มีความสุขจริงๆ
ดิฉันมานั่งทบทวน เมื่อตอนเราอายุ 9 ขวบ เราทำอะไรเป็นบ้าง เปรียบเทียบกับลูกพลอยชมพู มันเทียบกันไม่ได้เลยสักกระผีก การศึกษาของที่นี่ มีส่วนให้พลอยชมพูเก่งกว่าวัยที่ควรจะเป็น เพราะ “เวลา” เป็นตัวช่วยที่ดีที่สุด เมื่อมีเวลาช่วงบ่ายมาก เราก็สามารถจัดการเรียนการสอนให้ลูกเพิ่มเติมได้ ลูกไม่ต้องเรียนหรือทำกิจกรรมบ้า ๆ บอ ๆ ไร้สาระ (สำหรับดิฉัน) ที่ผู้ใหญ่จัดให้โดยไม่เต็มใจ




อีกเรื่องที่ดิฉันชอบใจ คือ “ครูประจำชั้น” ตั้งแต่ ประถมฯ 1 ถึง ประถมฯ 4 ก็เป็นครูคนเดียวกันมาตลอด ครูรู้จักเด็กทุกคนในห้องแบบลึกซึ้งทีเดียว และครูก็เห็นการพัฒนาในทุก ๆ ด้านของเด็กตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรียน จนถึงวันจบประถมฯ 4 การรายงานประเมินการเรียนรู้ของเด็กก็เหมือนเดิม คือส่งจดหมายให้ผู้ปกครอบเลือกเวลามาประชุม เมื่อถึงเวลาก็เข้าไปทีละครอบครัว (พ่อกับแม่ หรือใครคนใดคนหนึ่ง) ครูก็จะเริ่มรายงานความประพฤติ และการเรียนรู้ของเด็กว่าดี หรือแย่ อะไรที่ต้องปรับปรุง ก็จะชี้แจงแบบตัวต่อตัว

พอเรียนใกล้จบประถมฯ 4 ครูก็จะเรียกไปประชุมอีก และเลือกโรงเรียนที่เหมาะกับเด็กให้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ครูแนะนำให้ไปเข้าเรียนที่ไหน พ่อแม่มักจะทำตามแต่โดยดี เป้าหมายของพ่อแม่ในเยอรมนีอยากให้ลูกไปเรียนที่ ร.ร. กึมนาซิอูม (Gymnasium) กันทั้งนั้น เพราะดีกรีดีกว่าที่อื่น ๆ เข้าได้เฉพาะเด็กหัวดีมีความสามารถสูง แต่หากลูกสมองไม่ถึงระดับ ครูให้ไปเรียนที่อื่นก็ต้องยอมรับ เพราะดันทุรังไปก็ไม่มีประโยชน์ หากรั้นไปเข้า ร.ร. ที่เกินความสามารถของเด็ก สุดท้ายก็ต้องซ้ำชั้นและโดนเปลี่ยนโรงเรียนในภายหลัง มันเสียเวลาเปล่า ๆ
ที่เยอรมนีแปลกตาลปัดจากไทยในเรื่องการออกเกรดให้เด็ก เกรด 1 หมายถึง “ดีมาก” ไล่ไปจนถึงเกรด 4 ที่หมายถึง “ไม่ดีนัก” จริงๆ มันก็ถูกของเขานะ เกรด 1 หมายถึง ที่ 1 หมายถึงอะไร ๆ คืออันดับ 1 และคือสุดยอด แล้วมันจะเป็นเกรดที่หมายถึงแย่ หมายถึง "ไม่ดี" ในการออกเกรดให้เด็กของร.ร.ไทย ได้ไงเนี่ย งง ....

จะว่าไปดูเหมือนว่าการศึกษาของประชาชนเยอรมันระดับอนุบาลและประถมยืดหยุ่นดี รัฐบาลจัดการศึกษาให้เด็กครึ่งวัน และพ่อแม่จัดการศึกษาให้ลูกเองอีกครึ่งวัน นี่แหละจุดเด่น ที่ทำให้เด็ก ๆ มีความสามารถสูง ด้านวิชาการก็ได้เต็มที่ ด้านกิจกรรมความสามารถพิเศษก็ได้เต็มทีเช่นกัน ผิดกับการศึกษาแบบไทยๆ ที่จัดให้เด็ก ๆ ทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่างโดยไม่คำนึงถึงว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นความชอบ หรือความถนัด แต่ต้องมาจำใจเรียนในสิ่งเดียวกัน....
อยากเล่าต่ออีกนิดถึงเด็กที่เรียนระดับมัธยมปลาย ซึ่งลูกเลี้ยงของดิฉันทั้งสองได้ผ่านมาแล้ว ซึ่งการเรียนใน ร.ร. กึมนาซิอูม (Gymnasium) จะเน้นวิชาการมาก เพราะสายนี้จะมุ่งตรงเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย เด็กทุกคนได้เรียนฟรี แต่เสียเงินซื้อหนังสือนิดหน่อย เวลาไปเรียนก็คล้าย ๆ ระดับประถม เลิกเรียนช้าสุด 13.20น. กว่าลูกชายจะปั่นจักรยานกลับมาถึงบ้านก็ราวบ่าย 2 โมง ถึงได้ทานอาหารกลางวัน ช่วงบ่ายเป็นช่วงสบาย ๆ ของลูกชายทั้งสอง ส่วนตอนเย็นเขาก็ไปเข้ากลุ่มว่ายน้ำ ว่ายแข่งขันได้ชัยชนะมาพอประมาณทั้งสองคน เราว่าชีวิตวัยเด็กของพวกเขามีความสุขกับการเรียนและเล่นมาก ๆ


ตอนนี้ลูกเลี้ยงคนโตเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยในเมืองใหญ่เมืองหนึ่งในเยอรมนี เขาเรียนเก่งจนได้รับทุนจากมหาวิทยาลัย เราส่งเสียค่ากินและที่พัก เขาจะออกค่าเทอมของเขาเอง อีกราว ๆ 2 ปี จะจบปริญญาโท (ที่เยอรมนีไม่มีปริญญาตรี) เห็นลูกชายเล่าว่าที่ชั้นเรียนของเขา ตอนนี้นักเรียนหายไปครึ่งห้องแล้ว เพราะเรียนไม่ไหว ยากมาก การเรียนระดับมหาวิทยาลัยของเด็กที่นี่ เรียนหนักมาก คือเราเห็นแต่เขาอ่านหนังสือ และช่วยงานในมหาวิทยาลัย ไม่ได้ออกไปเที่ยวเลยมา 3 ปีแล้ว เราบอกเขาว่าหน้าร้อนปีหน้า 2010 ไปเยี่ยมแม่ที่ไทยพร้อมเรามั้ย เขาก็บอกไม่มีเวลา รอเรียนจบทีเดียวเลย (แม่เขาเป็นคนไทย)
จริง ๆ แล้ว การเรียนระดับมหาวิทยาลัย หากผู้ปกครองไม่สามารถส่งเสียได้ ก็สามารถขอยืมเงินรัฐบาลเรียนได้ แต่จะได้เฉพาะพ่อแม่ที่มีรายได้น้อยเท่านั้น สามีเราผ่านจุดนี้มาแล้ว หากเขาไม่ได้ไปเป็นทหาร 1 ปี เขาก็คงไม่เสียเงินเรียน เขาเลยได้เป็นรุ่นแรกของประเทศที่ใช้กฎหมายใหม่ คือ เด็กรุ่นใหม่จะไม่ได้เรียนฟรีอีกแล้ว ต้องเรียนแล้วใช้หนี้รัฐบาลในภายหลังเท่านั้น

ส่วนลูกเลี้ยงคนเล็กเรียนวิชาชีพปีหน้าเรียนจบ หากจบก็คงเทียบเท่า ป.ว.ช. เสียเวลาถึง 3 ปี เรียนย้อนใหม่เพราะไม่ตั้งใจเรียน จริงๆ เรื่องการศึกษาของเยอรมันจะซับซ้อนกว่าของไทย แต่เราคงเล่าให้ฟังได้เพียงเท่านี้ค่ะ

จบแล้วจ้า ยาวมั๊กๆๆๆๆๆ
แม่หน่อยแน่
ของพลอยชมพู


แหล่งที่มา  บ้านพลอยชมพู

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ชอบมากค่ะ ขอบคุนมากค่ะที่มาแบ่งปันความรู้ อยากให้ลูกเติบโตในสิ่งแวดล้อมแบบนั้นบ้างจัง แต่ฝันไป ไม่มีเงินส่งไปค่ะ ฮ่าๆๆ