ต้องเข้าใจก่อนว่า อเมริกาช่วง 1946-1964 เป็นยุคของ เบบี้บูม ก่อนการมาถึง ของฮิบปี้ อันว่า เบบี้บูม นี้ คือยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่ง อเมริกา ถือว่าตัวเองเป็นผู้ชนะสงคราม เ้ป็นผู้นำโลกเสรี
ผู้คนในประเทศอยู่ในบรรยากาศเฉลิมฉลอง มีความสุข การแต่งงาน มีลูก มีงาน มีรถ มีบ้าน กับ ลูกหมา อีก 1 ตัว ในลักษณะสูตรสำเร็จที่เรียกกันว่า American dream จึงแพร่กระจายไปทั่ว ฉะนั้น ฮิบปี้ ก็คือลูกๆ หรือผลผลิตของ เบบี้บูม นั้นเอง เมื่อเศรษฐกิจ ตกต่ำ สถาบันของรัฐสั่นคลอนด้วยวิกฤติศรัทธาในคดีวอเตอร์เกต อเมริกาเข้าไปยุ่งในสงครามที่ตัวเองเคยเป็นผู้ชนะและภูมิใจ แต่สมรภูมิใหม่ คือ เวียดนาม ซึ่งสังเวยให้กับ สงครามเย็น นั้น มีแต่รายชื่อทหารลูกชาวบ้าน เสียชีวิตรายวัน
ว่ากันว่า ใครมีลูกชาย ในครอบครัวอเมริกัน ใครคนหนึ่งต้องตายไป เพราะสงครามเวียดนาม ความจริงปรากฎว่า อเมริกันผู้เคยอหังการ์ กลับต้องพ่ายแพ้ให้กับประเทศเล็กๆ
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้เกิด “ขบวนการบุปผาชน” ที่แพร่หลายไปทั่วโลก
จากหนังสือ “สหรัฐอเมริกาในโลกปัจจุบัน (ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๘๐)” โดย ศาสตราจารย์สมร นิติทัณฑ์ประภาศ เขียนไว้ว่า
"ในราว ค.ศ. ๑๙๖๗ คนหนุ่มสาวอเมริกันที่เบื่อระอาสังคมชนชั้นกลางและระดับสูงกว่านั้น เพราะไม่อาจปฏิรูปสังคมได้ดังใจนึก และไม่อาจจะเข้าใจถึงค่านิยมของพ่อแม่ที่เน้นความสำคัญของเงินตรา สถานภาพทางสังคมและความสำคัญของการทำงานหนักในชีวิต เพราะตนเติบโตมาโดยไม่ต้องผ่านการต่อสู้ชีวิตมาอย่างหนักเช่นพ่อแม่ คนเหล่านั้นต่างพากันปลีกตัวออกนอกสังคม หันไปเจริญรอยตามพวกบีตนิกแห่งทศวรรษที่ ๕๐ แต่ดำรงชีวิตอยู่อย่างน่าสมเพชกว่า หนุ่มสาวเหล่านี้ได้ชื่อว่าพวก “ฮิปปี้”
ฮิปปี้โดยทั่วไปด้อยการศึกษา แต่งกายสกปรกซอมซ่อรุงรังไว้หนวดเครา ผมยาว ห้อยลูกประคำ สวมรองเท้าแตะ ไม่สนใจจะผูกเนกไทหรือสวมถุงเท้า นิยมสูบกัญชาและยาเสพย์ติดอื่น ๆ ชิงชังการสะสมความมั่งคั่ง บางคนทำงานหนักที่ไม่ต้องใช้สมองเท่าใดนัก และรายได้ต่ำมาก บางคนก็ขอเงินจากทางบ้าน และมีไม่น้อยทำตนเป็นขอทาน
พวกฮิปปี้ส่วนใหญ่พากันไปมั่วสุมกันที่ตำบลไฮต์แอชเบอรี (Haight-Ashbury) ในนครซานฟรานซิสโก และที่อีสต์วิลเลจ(East Village) ในนครนิวยอร์ก พวกฮิปปี้เรียกตนเองว่า "บุปผาดรุณ” (flower children) หรือ “บุปผาชน” (flower people) พอใจที่จะยื่นดอกไม้ให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และอัยการที่นำตนขึ้นฟ้องร้องต่อศาลมากกว่าจะใช้วิธีประท้วงอย่างรุนแรงไม่สนใจต่อขนบธรรมเนียมประเพณีใด ๆ ปล่อยตนตามสบายอยู่อย่างสงบ บางคนก็หันไปสนใจศาสนาที่แตกต่างไปจากที่ตนเองและครอบครัวเคยนับถือ เช่น ศาสนาและนิกายในตะวันออก อาทิ ศาสนาฮินดู ลัทธิขงจื๊อ นิกายเซน ลัทธิเต๋าทั้งนี้เพื่อไว้ปลอบประโลมใจและเป็นประสบการณ์ในชีวิตไปด้วยบ้างก็หมกมุ่นอยู่กับไสยศาสตร์และโหราศาสตร์ บ้างก็จับกลุ่มกันอยู่แบบคอมมูน โดยกินอยู่ใช้สอยร่วมกัน แบ่งความรับผิดชอบ ทรัพย์สมบัติและความรักให้ทั่วถึงกัน ภายในคอมมูนมีการช่วยกันทำสวนครัว ออกไปทำงานหาเงินนอกบ้านมาใช้ร่วมกัน แต่เมื่อเศรษฐกิจฝืดเคืองจนคอมมูนต้องสลายตัวไป คนพวกนี้ก็กระจัดกระจายไปทั่ว บ้างก็กลับไปหาครอบครัว บ้างก็หางานทำ บ้างก็กลับไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย บ้างก็ตุหรัดตุเหร่ไปในต่างแดน
พวกฮิปปี้ไม่สนใจการเมือง ซึ่งตนถือว่าเป็นเรื่องไม่จริงใจต่อกันและกัน ไม่ชอบมีเงินตราไว้เกินกว่าเพื่อยังชีพเท่าที่จำเป็นไม่ก้าวร้าวในรูปใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าด้วยกำลังหรือวาจา เรียกร้องแต่ความรัก ความซื่อสัตย์ เปิดเผย และความเป็นอิสระ ซึ่งตนเห็นว่าหาไม่ได้จากสังคม คนพวกนี้ต้องการจะมีชีวิตอยู่ตามธรรมชาติ เหมือนอาดัมกับอีฟ มนุษย์คู่แรกของโลก
ยาเสพย์ติด ความรักเสรี ดนตรีร็อก เป็นสิ่งขาดไม่ได้ของพวกฮิปปี้ ใน ค.ศ. ๑๙๖๙ สถาบันสุขภาพจิตสหรัฐฯ รายงานว่า มีคนอเมริกันกว่าแสนคนที่ติดยาเสพย์ติตอย่างร้ายแรงและ ๘ ถึง ๑๒ ล้านคน ได้เคยลองสูบกัญชามาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ภาพของฮิปปี้หนุ่มสาววัยฉกรรจ์ที่ติดยาเสพย์ติดอย่างร้ายแรงจนซูบผอมและมีอาการเศร้าซึมเพราะพิษยา ก่อให้เกิดความเศร้าสลดใจแก่ประชาชนที่ได้พบเห็น หนุ่มสาวเหล่านั้นไม่น้อยจบชีวิตลงด้วยความตาย หรือไม่ก็คุกตะราง
เมื่อใกล้จะสิ้นทศวรรษที่ ๖๐ สภาวะของพวกบุปผาชนยิ่งเลวร้ายลงกลายเป็น “คนข้างถนน” (street people) ที่สกปรกโสมม ภาคภูมิใจกับการลักเล็กขโมยน้อยเพื่อยังชีพร่อนเร่พเนจรทั่วไป บ้างก็จับกลุ่มมั่วโลกีย์กันเป็นกลุ่ม ๆ และก่อความรุนแรงที่ท้าทายกฎหมาย อาทิ พวกแก๊งมอเตอร์ไซค์ที่ขับฉวัดเฉวียนเสี่ยงความตาย และส่งเสียงอึกทึกครึกโครม เช่น แก๊งเฮลส์ แองเจล (Hell's Angel) ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย และพวกลักลอบค้ายาเสพย์ติด ใน ค.ศ. ๑๙๖๙ ชารอน เทต (Sharon Tate) ดาราภาพยนตร์ผู้มีชื่อเสียงซึ่งกำลังตั้งครรภ์แก่และคนอื่น ๆ อีกหลายคนถูกสังหารอย่างทารุณ โดยหญิง ๓ คน ซึ่งเป็นสมาชิกในครอบครัวฮิปปี้ของชาร์ลส์ แมนสัน (Charles Manson) ผู้บงการโดยมิได้มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน คดีฆาตกรรมที่โหดร้ายนี้อื้อฉาวไปทั่วโลก ทำให้พวกฮิปปี้ได้รับคำประณามว่า “ต่ำทราม ยังไม่โต นึกถึงแต่ตัวเองและไร้ความรับผิดชอบอย่างเห็นแก่ตัว” เมื่อย่างเข้ากลางทศวรรษที่ ๗๐ สถานการณ์ภายในประเทศค่อยคลายความตึงเครียดลงเนื่องจากสงครามเวียดนามยุติลงแล้ว การต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนก็อ่อนกำลังลง ชุมชนของพวกฮิปปี้ก็พลอยอันตรธานไปด้วย ต่างแยกย้ายกระจัดกระจายกันไป
“ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี”
จากบทความสองตอนนี้ ทำให้เราพอเห็นสังคมอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมของวัยรุ่นในสมัยนั้นว่า เป็นอย่างไร ชีวิตของสตีฟ จ็อบส์ในช่วงเวลาที่เขากำัลังศึกษาในมัธยม จนถึง ช่วงก่อตั้ง Apple เป็นครั้งแรกนั้น ในเรื่องการใช้ชีวิตส่วนตัว เขาใช้ชีวิตในคอมมูนอยู่ช่วงหนึ่ง หันมานับถือศาสนาพุทธนิกายเซน และเคยใช้ชีวิตช่วงหนึ่ง ระหว่างที่หยุดเรียนจากมหาวิทยาลัย ในประเทศอินเดีย เพื่อจาริกแสวงบุญ ค้นหาเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่ ไม่สนใจที่จะแต่งตัวดีๆ แต่งตัวรุงรัง ไม่อาบน้ำ ใช้ชีวิตแบบฮิปปี้ "ตัวพ่อ" เลยทีเดียว
แต่กระนั้น ความสามารถล้นเหลือด้านไอทีของเขา ทำให้เขาสามารถหางานทำได้ในบริษัทออกแบบเกมที่มีชื่อเสียง คือ Atari แม้ว่าพนักงานส่วนมากจะทนความสกปรก และนิสัยหยาบคายของเขาไม่ค่อยได้ แต่เจ้านายผู้มีวิสัยทัศน์ เจ้าของบริษัท Atari คือ โนแลน บุชเนล ได้จ้างงานเขา และให้เขาไปทำงานกะกลางคืน ที่ไม่ต้องกระทบกระทั่งมีปัญหากับพนักงานคนอื่นๆมากเกินไป การทำงานใน Atari ช่วยให้สตีฟ จ็อบส์ ได้รู้วิธีทำธุรกิจและออกแบบที่เรียบง่าย ใช้งานได้ดี รอนเวย์น เพื่อนร่วมงานของ Atari บอกว่า
มีบทความหนึ่งของมติชน ที่กล่าวถึง สตีฟ จ็อบส์ เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
"ความเรียบง่ายคือสิ่งที่สตีฟชอบ มันทำให้เขาเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับตัวผลิตภัณฑ์เป็นอย่างมาก"
มีบทความหนึ่งของมติชน ที่กล่าวถึง สตีฟ จ็อบส์ เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
ความ "ง่าย" การเป็น "ขบถ" และความมี "รสนิยม" ส่วนหนึ่งของปรัชญาที่เป็นวิถีของฮิปปี้ในยุค 60 จำหลักอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ยิ่งใหญ่ทุกชิ้นของสตีฟ จ็อบส์ เขาเน้นและพูดถึง "รสนิยม" บ่อยครั้งมากพอๆ กับการให้ความสำคัญของคำถามที่ว่า "ถ้าเราทำเพื่อให้ตัวเองใช้ เราต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้" ที่กลายเป็นหลักในการสร้างผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลมาจนถึงทุกวันนี้
รีจิส แมคเคนนา นักการตลาดที่ยิ่งใหญ่ผู้หนึ่งแห่งซิลิคอน วัลเลย์ คนที่สตีฟเข้าไปปรึกษาเมื่อต้องการสร้างแบรนด์ "แอปเปิล" ให้แข็งแกร่ง บอกว่า การทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย คือ อัจฉริยภาพสูงสุดของสตีฟ จ็อบส์ สตีฟตัดทอนส่วนที่ซับซ้อนอย่างยิ่งของผลิตภัณฑ์ที่เต็มไปด้วยโครงสร้างวุ่นวายทางวิศวกรรมให้หลงเหลือเพียงส่วนที่ง่าย แต่งาม อย่างยิ่งไว้เท่านั้น
แอปเปิลไม่เคยทำวิจัยด้านการตลาด หรือผลวิจัยด้านการตลาดไม่เคยมีอิทธิพลใดๆ ต่อการออกแบบผลิตภัณฑ์ของแอปเปิล เหตุผลง่ายๆ ของเขาก็คือ ผู้บริโภคไม่มีหน้าที่ต้องมาคิดว่าตัวเองต้องการอะไร ผู้ผลิตต่างหากที่ต้องคิดและทำออกมาให้ดีที่สุด ชนิดที่เมื่อทุกคนได้เห็นแล้วต้องชอบและปลาบปลื้มเมื่อได้เป็นเจ้าของมัน วิญญาณขบถมีอยู่เต็มเปี่ยมในตัวสตีฟ เขาออกนอกแนวทางดั้งเดิมในความคิดเรื่องธุรกิจเพลงโดยสิ้นเชิงด้วย ไอพอด และ ไอจูน เขาสร้างสรรค์วิธีการติดต่อสื่อสารและรูปแบบการใช้งานโทรศัพท์มือถือเสียใหม่และต่างออกไปจากเดิมโดยสิ้นเชิงด้วยไอโฟน
เขาไม่เพียงทำให้ "แท็บเล็ต" มีนิยามใหม่ด้วยไอแพด แต่ยังทำให้มันโดดเด่นจนบดบังเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทุกเครื่องที่เคยผลิตกันมา แม้แต่กระทั่งแม็คและแอปเปิลเอง
ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่า ถ้าหากสตีฟ จ็อบส์ ยังคงอยู่ต่อไป เขาจะพลิกโฉมอะไร และอย่างไรไปอีกบ้าง-เพียงรู้ว่า มันจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนเท่านั้นเอง
หน้า 30,มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม 2554
สรุปได้ว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นที่มาของปัญหายาเสพติดของสตีฟ จ็อบส์ รวมทั้งที่มาที่ไปของบุคลิกภาพด้านที่รักอิสระ เสรีภาพ นอกกรอบ ไม่แคร์สังคมของเขานั้น มาจากค่านิยมในยุคสมัยและ สภาพสังคมเช่นกัน แต่ดังที่เคยสรุปแล้วว่า คนในยุคนั้น มีบุปผาชนมากมาย คนอเมริกันติดยา กว่า 8-12 ล้านคน แต่มีผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูงและสร้างความแตกต่างให้กับโลกได้เพียงไม่กี่คน แต่ที่เหลือนั้น มีจำนวนไม่น้อย เสียชีวิต เสียอนาคต หรืออาจจะพิการทางสมอง มีอาการทางจิตไป เป็นจำนวนมาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น