วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555

เล่าสู่กันฟัง...การศึกษาของประชาชนคนเยอรมัน

เรื่องราวต่อไปนี้ คัดลอกมาจาก Web ของคุณ พลอยชมพู ซึ่งคุณแม่ของเธอ คือคุณ Niraya Weigel ได้ถ่ายทอดไว้ค่ะ เห็นว่าเป็นข้อมูลที่ดี จึงมาคัดลอกเก็บไว้ เพื่อสะดวกในการค้นหาต่อไป




ตอน การศึกษาของประชาชนคนเยอรมัน
(ข้อความข้างล่างนี้อ้างอิงมาจากเว็บชาวไทย http://www.schau-thai.de/forum/index.php?topic=5054.0 (ตอนนี้เว็บเดี้ยงไปแล้ว) เขียนแบบสังเขปโดยพี่สาวใจดี พี่แก๋งโฮ๊ะ หรือครูต้อม ที่เป็นทั้งล่าม และครูสอนภาษาอยู่เยอรมนีมากว่า 20 ปี)

การศึกษาภาคบังคับของเยอรมนี เริ่มเมื่อเด็กมีอายุ 6 ปีเป็นต้นไป และสิ้นสุดที่อายุ 16 ปี คือเด็กที่มีอายุระหว่าง 6 ปี ถึง 16 ปี กฎหมายบังคับให้เข้าโรงเรียน หากไม่เข้าเรียน ก็อาจจะมีการเอาโทษกับผู้ปกครองได้ การศึกษาและโรงเรียนในเยอรมนีอาจแตกต่างกันบ้างในแต่ละรัฐ แต่โดยทั่วไปอาจแบ่งได้ดังนี้
1. การศึกษาในวัยก่อนเข้าโรงเรียน
คือ ในโรงเรียนอนุบาล ที่เรียกว่า คินแดร์การ์เท็น (Kindergarten) จะรับเด็กอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปจนถึง 6 ปี การเรียนในระดับนี้ไม่ใช่ภาคบังคับ จะให้เด็กเข้าเรียนก็ได้ ไม่ให้เข้าเรียนก็ไม่เป็นไร ที่นี่เด็กจะได้รับการกระตุ้นพัฒนาการทั้งทางร่างกายและทางสมอง โดยจะเรียนรู้สิ่งต่างๆจากการเล่นกับเด็กในวัยเดียวกัน เป็นการฝึกฝนการใช้ชีวิตในสังคม การใช้สมาธิตามเหตุการณ์และสภาพแวดล้อมของแต่ละวัน เป็นการปรับตัวและเตรียมความพร้อมของเด็กเพื่อการเข้าเรียนในโรงเรียนประถม ต่อไป

2. การศึกษาระดับประถม
เป็นการเริ่มต้นการศึกษาภาค บังคับ เด็กที่อายุครบ 6 ปี จะต้องเข้าเรียนในชั้นประถม ในเยอรมนีเด็กจะต้องเข้าโรงเรียนในเขตที่ตัวเองพำนักอยู่ โรงเรียนประถมเรียกว่า กรุนชูเล (Grundschule) การศึกษาชั้นประถมจะมี 4 ชั้น คือ ชั้นที่ 1 ถึง ชั้นที่ 4 แต่ในบางรัฐอาจจะรวมเอาชั้น ที่ 5 และ 6 อยู่ในระดับประถมด้วยในโรงเรียนประถมจะเน้นการปูพื้นฐานการเรียนเป็นหลัก เด็กจะได้รับการฝึกการเขียนและอ่านภาษาเยอรมัน คณิตศาสตร์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นอาจจะมีวิชาเสริม เช่น ดนตรี หัตถ-ศึกษา ศาสนา กีฬา เป็นต้น

3. การศึกษาระดับมัธยม
โรงเรียนในระดับมัธยมของเยอรมนีจะมีอยู่ 4 รูปแบบด้วยกัน คือ
3.1 เฮาพ์ชูเล (Hauptschule) เป็นโรงเรียนมัธยมที่สอนเน้นความรู้ทั่วไป เช่น ภาษาเยอรมัน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาต่างประเทศ
มี ตั้งแต่ชั้นที่ 5 ถึง 9 เมื่อจบชั้นปีที่ 9 จะได้รับประกาศนียบัตรมัธยมตอนต้น เฮาพ์ชูลอับชลุส (Hauptschulabschluss) สามารถเข้าเรียนต่อด้านอาชีพประเภทช่างหรืออาจจะเรียนต่อชั้นที่ 10 ต่อไปก็ได้ เพราะการเรียนสายอาชีพบางสาขาจะต้องจบชั้นที่ 10
3.2 เรอาลชูเล (Realschule) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นเช่นกัน แต่จะมีตั้งแต่ชั้นที่ 5 ถึงชั้นที่ 10 วิชาที่เรียนจะมากกว่าโรงเรียนมัธยมแบบเฮาพ์-ชูเล เมื่อจบชั้นที่ 10 จะได้ประกาศนียบัตรที่เรียกว่า มิทท์เลเร ไรเฟ(Mittlere Reife) และสามารถเรียนต่อสายอาชีพทุกสาขาได้ทันที
3.3 กึมนาซิอุม (Gymnasium ) เป็นโรงเรียนมัธยม จะมีทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เซคุนดาร์ ชทูเฟ อายส์ (Sekundar Stufe I) และระดับเตรียมอุดมศึกษาที่เรียกว่า เซคุนดาร์ ชทูเฟ ซวาย (Sekundar Stufe II) หรือ
โอแบร์ชทูเฟ(Oberstufe) ระดับมัธยมตอนต้นเรียนตั้งแต่ชั้นที่ 5 ถึง ชั้นที่ 10 ในระดับมัธยมตอนปลายเริ่มจากชั้นที่ 11 ถึง 13 การเรียนจะเน้นทางด้านวิชาการมากกว่า ดังนั้นเด็กที่จะเรียนกึมนาซิอุมควรเป็นเด็กที่เรียนดีพอสมควร เมื่อสำเร็จการ ศึกษา ก็จะได้ประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลายที่เรียกว่า
อบิทัวร์ (Abitur ) และสามารถเข้าเรียนต่อในขั้นอุดมศึกษาได้
3.4 เกซัมท์ชูเล (Gesamtschule) เป็นโรงเรียนมัธยมประสม คือนำเอารูปแบบโรงเรียนมัธยมทั้งสามแบบที่กล่าวไปแล้วมารวมอยู่ด้วยกัน จะเปิดสอนตั้งแต่ชั้นที่ 5 ถึง ชั้นที่ 13 เด็กที่เข้าเรียนที่นี่สามารถที่จะเลือกเรียนชั้นมัธยมรูปแบบหนึ่งในสามแบบ จากที่นี่ เมื่อเรียนไปแล้วเห็นว่าไม่เหมาะกับความสามารถของตน ก็อาจที่จะย้ายไปเรียนอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เหมาะกับตัวได้

5. การเรียนระดับอุดมศึกษา ผู้ที่จบ Abitur สามารถที่จะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยได้โดยไม่มีการสอบคัดเลือก นอกจากบางสาขาวิชาที่มีคนต้อง
การเรียนมาก เช่น แพทย์ศาสตร์ ผู้ที่ต้องการศึกษาต่อสามารถที่จะเลือกสมัครสาขาวิชาที่ต้องการเรียนได้ ปัจจุบัน การศึกษาในบางรัฐต้องจ่ายเล่าเรียนเทอมละ 500 ยูโร


พลอยชมพู ได้เข้าเรียนระดับอนุบาล (Kindergarten) ตอนอายุ 3 ขวบเต็ม เริ่ม 8 โมงเช้า-เที่ยง ไปส่งลูกสายได้ไม่เกิน 9 โมงเช้า ส่วนพ่อแม่ที่ต้องทำงานช่วงบ่ายไม่สามารถดูแลลูกได้ ก็จะให้ลูกทานอาหารกลางวัน และอยู่ที่ ร.ร. จนถึงเวลาประมาณ 4 โมงเย็น เรื่องค่าใช้จ่าย ครอบครัวเราเป็นชนชั้นที่มีรายได้ปานกลาง เราจึงเสียปรกติคือเดือนละ 150 ยูโร หากครอบครัวไหนมีรายได้น้อยจะไม่เสียอะไรเลย (ได้เงิน 150 ยูโรจากรัฐบาลเป็นค่าขนมลูก แต่เอามาจ่ายค่าร.ร.แทน เท่ากับไม่ได้อะไรเลย)
ที่ ร.ร. จะมีเด็กราว 50-60 คน มี 3 ห้องเท่านั้นเอง แต่ละห้องจะจัดเด็ก ๆ ต่างวัยคละรวมกัน เพราะเด็กที่โตกว่าจะได้เรียนรู้การช่วยเหลือเพื่อนที่ตัวเล็กกว่า และเด็กเล็กจะได้มีพัฒนาตามเด็กโต
ที่เมืองเล็ก ๆ ที่ดิฉันอยู่นั้น อยากให้ลองจินตนาการดูว่าพลเมืองราว 2 หมื่น คน จะมี ร.ร. อนุบาลกระจายอยู่แทบทุกถนน แต่ละ ร.ร. ก็จะมีขนาดประมาณเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็น ร.ร. ของโบสถ์คริสต์แทบทั้งหมด
ร.ร. จะอยู่ในหมู่บ้าน จะไม่มีการเรียนข้ามเขต เราสองแม่ลูกเดินเท้าไป ร.ร. ด้วยกันทุกเช้า เราอยากบอกว่าเรามีความสุขกับความทรงจำเล็ก ๆ นี้มาก ระหว่างทางที่เราได้สนทนากัน ได้รู้จักลูกมากขึ้นในทุก ๆ วัน จากการเดินเท้า 1 ก.ม. จนกระทั่งอายุ 5 ขวบ พลอยชมพูก็ขี่จักรยานเองได้ เราจึงไป ร.ร. ด้วยจักรยานทุกวัน ยกเว้นวันที่ฝนตกฟ้าร้อง ดิฉันจะขับรถส่วนตัวไปส่งและรับลูก
ที่นี่ไม่มีการสอนหนังสือเด็กให้อ่านออกเขียนได้เลย ตลอด 3 ปี! อ้าว...แล้วจะส่งลูกไปเรียนหาพระแสงง้าวอะไรฮ่วย! แหมๆๆ...อย่าเพิ่งด่วนสรุปนะคะ ว่าตลอด 3 ปี ส่งลูกไป ร.ร. เพื่ออะไร ดิฉันอยากบอกว่าที่ ร.ร. เน้นการพัฒนาทักษะของเด็ก เรียนรู้แบบธรรมชาติ การปรับตัวของเด็กที่ต้องอยู่ร่วมคนอื่นในสังคม ใน 3 ปี แค่เขียนชื่อนามสกุลของตนเองได้ และอ่าน A-Z ได้ ก็เพียงพอแล้วกับวัยนี้
ดิฉันเองก็อยากรู้ว่าวัน ๆ คุณครูสอนอะไรบ้าง จะว่าไปเวลาแค่ 3 -4 ชั่วโมง มันเป็นเวลาสั้น ๆ เท่านั้นเอง แต่ละวันลูกคงได้อะไรจาก ร.ร.ไม่มากนัก หากครูปล่อยให้เด็กเล่น ก็กินเวลาไปครึ่งหนึ่งแล้ว
เกือบทุกวัน พลอยชมพูจะกลับมาพร้อมกับสิ่งของบางอย่างจาก ร.ร. เอามาอวดพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ วาดรูป, ปั้นดินน้ำมัน, งานประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ บางทีก็ร้องเพลงใหม่ ๆ ให้แม่ฟัง ก็จะเป็นแบบนี้อยู่ตลอด
ที่ ร.ร. จะมีการจัดทัศนะศึกษาปีละครั้ง พาเด็ก ๆ ไปฟาร์ม หรือ ไปเดินป่า ตรงส่วนนี้ชอบนะคะ เพราะเห็นลูกสนุกทุกครั้งที่มีกิจกรรมแบบนี้





ดิฉันเคยบ่นกับสามี ว่าเด็กที่เมืองไทยอายุ 5-6 ขวบ อ่านออกเขียนได้ก่อนขึ้นชั้นประถมฯ กันทั้งนั้น แต่ที่เยอรมนีทำไมไม่ทำแบบนั้นมั่ง 3 ปี เขียนได้แค่ชื่อและนามสกุล ไม่เห็นจะได้เรียนอะไรเลย แต่กลับให้เด็กเล่นซะมากกว่า แต่เมื่อ ณ วันที่ พลอยชมพูโตขึ้นเข้าชั้นประถมศึกษา เรากลับมีความคิดใหม่ กลับชมเชยการศึกษาระดับอนุบาลว่าเป็นการดี ที่ให้เด็กเรียนแบบไม่เครียด ไม่ยัดเยียดเด็กจนเกินไป เอาเวลาไปบริหารทักษะอื่น ๆ ของเด็กให้มีพื้นฐานการเรียนรู้ที่ดี ซึ่งจะมีผลในการเรียนรู้ในขั้นต่อไปในอนาคตของเด็ก
แต่ละเทอมจะมีการประชุมผู้ปกครอง เราเองก็ต้องแปลกใจ เวลาเขาประชุมผู้ปกครองมันไม่เหมือนที่เมืองไทยเลย ที่พ่อแม่ของเด็ก ๆ ต้องไปนั่งรวมกับที่หอประชุม และจะมีอาจารย์มาพูดๆๆๆๆๆๆ แต่ที่ ร.ร. นี้ จะเรียกผู้ปกครองเด็กเข้าไปในห้องทีละครอบครัว จะรายงานผลตัวต่อตัว ว่าลูกของคุณเป็นอย่างไรเมื่อเขาอยู่ที่ ร.ร. ไม่ว่าจะติ หรือ ชม ก็จะพูดกันแบบตรงไม่มีอ้อม เอาแบบซึ่ง ๆ หน้า พร้อมชี้แนวทางว่า เมื่อเด็กเข้าระดับสูงขึ้นไปนั้น ควรจะให้เด็กเรียนไปทางสายไหน ส่วนพลอยชมพูนั้น เธอต้องไปเรียนต่อสายศิลป์ เพราะแววการช่างคิด ช่างทำ ช่างประดิษฐ์มันฉายออกมาแล้ว การประชุมผู้ปกครองนี้ น่าจะเรียกว่า “การประเมินผลการเรียนรู้ของเด็ก” มากกว่า
หลังจากผ่านวัยอนุบาลมาแล้ว ก็ถึงวัยประถมศึกษา คุณสามีเลือกโรงเรียนให้ลูกอยู่ห่างจากบ้านราว ๆ 3 ก.ม. เป็นร.ร.ที่ลูกกับภรรยาเก่าของเขาเรียนมาก่อน เขาจึงมีความเชื่อมั่นที่นี่สูง มีชั้นเรียนทั้งหมด 4 ชั้นเรียน คือ ชั้นประถมฯ 1 -4 โดยแต่ละชั้นมีเพียง 2 ห้อง (ห้องเอ และบี) แต่ละห้องมีนักเรียนไม่เกิน 20 คน ครูประจำชั้น 1 คน และครูผู้ช่วย 1 คน ไม่ใช่ว่านักเรียนน้อยนะคะ แต่เขามีขีดจำกัดเรื่องคุณภาพการเรียนและความคุณภาพชีวิต เด็กต้องได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง และเด็กต้องไม่รู้สึกอึดอัดเบียดเสียดหากจำนวนนักเรียนมากเกินไปในชั้น ใครที่ไปจองโรงเรียนช้า (สำหรับโรงเรียนดี ๆ ต้องจองกันข้ามปี แม้แต่อนุบาลก็ต้องจองเช่นกัน) ต้องไปหาที่อื่น จะไม่มีการอัดเด็กเป็นปลากระป๋อง
ระดับประถม 1 และ 2 มีวิชาว่ายน้ำถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรด้วย ซึ่งดิฉันเองไม่รู้ว่าเป็นแบบนี้ทุกเมืองหรือเปล่า แต่หากใช่ เด็กทุกคนในประเทศเยอรมนี เมื่อจบ ป.2 แล้วต้องว่ายน้ำเป็นทุกคน อันนี้ถูกใจมาก ๆ เขาคิดได้ไงเนี่ย วิชานี้มันช่วยชีวิตเด็กมามากต่อมากแล้ว เรียนไปได้ใช้จนตายเลยนะเนี่ย
เรื่องเนื้อหาตารางเรียนตอนประถม 1 นั้นมีไม่มาก ไม่ซีเรียส พลอยชมพูเริ่มหัดอ่าน หัดเขียนเยอรมันก็ตอนประถม 1 นี่แหละ ไปโรงเรียนด้วยรถบัสโรงเรียน แบบไม่ต้องจ่ายเงิน งานนี้ของหลวง โรงเรียนก็ของหลวงไม่ต้องจ่ายอะไรทั้งสิ้น เขาจะให้ขึ้นรถบัสฟรีเฉพาะเด็กที่อยู่นอกรัศมีโรงเรียนที่ไม่สามารถเดินเท้าหรือขี่จักรยานมาเองได้ หากใครบ้านอยู่ใกล้สามารถไปร.ร.เองได้ แต่อยากนั่งรถบัส ก็ต้องเสียค่ารถเป็นรายเดือนอยู่ราวๆ 30-60 ยูโร จำตัวเลยไม่ค่อยได้ละ และ แม้แต่หนังสือเรียนก็มีให้ยืม แต่ละเทอมเราซื้อหนังสือเรียนให้ลูกแบบที่ต้องใช้ส่วนตัวเพียงไม่กี่ยูโรเท่านั้น คนที่นี่ ไม่ว่าร๊วยรวย หรือจ๊นจน ก็อยู่โรงเรียนเดียวกันมีชีวิตในวัยเรียนเหมือน ๆ กันทั้งหมด ไม่ต้องแยกระดับโรงเรียนไฮโซ หรือโรงเรียนโลโซ เพราะทุกโรงเรียนล้วนเป็นของหลวงมีมาตราฐานเดียวกันหมด


เมื่อขึ้นประถม 5 จะมีการแยกเด็กจากความสามารถและความเฉลียวฉลาด เช่น เด็กเอ หัวดีมาก ก็จะได้ไปโรงเรียนระดับหัวกระทิของจังหวัด มีสิทธิ์เรียนต่อมหาวิทยาลัย เด็กบี ฉลาดปานกลางก็ไปเรียนที่ร.ร.ระดับกลาง ๆ แต่หากเรียนดีขึ้นก็สามารถย้ายไปต่อที่ ร.ร.หัวกระทิได้ ส่วนเด็กสมองทึบก็มี ร.ร. แยกออกไปอีกต่างหาก ที่นี่หากพูดว่าลูกชั้นเรียนอยู่ที่ ร.ร. กึมนาซิอูม (Gymnasium ) คุณยืดยกพูดได้เลย เพราะเด็กจำนวนไม่มากที่สามารถเรียนต่อจนจบจากที่นี่ได้ การเรียนการสอนค่อนข้างเข้มข้น เด็กต้องมีสติปัญญาในระดับดี และมีความตั้งใจเรียนด้วย ไม่งั้น...ไม่จบ ลูกเลี้ยงของดิฉันสองคนก็เรียนที่นี่ แต่จบไปได้และต่อมหาวิทยาลัยเพียงคนเดียวเท่านั้น ส่วนอีกคนต้องลดชั้นไปเรียนที่ เบรุฟเอาส์บลิวดุง(Berufsausbildung) แทน (เรียนวิชาชีพ)
สำหรับร.ร.เอกชน ที่จังหวัดเราไม่มี รวมทั้งสถาบันติวเตอร์ใด ๆ ไม่มีทั้งสิ้น การแข่งขันในการศึกษาไม่สูง เด็กทุกคนเรียนอย่างมีความสุข ไม่เครียด ไม่กดดัน
ช่วงประถมฯ 1 พลอยชมพูเลิกเรียน 11.45 น. ทุกวัน
ช่วงประถมฯ 2 เลิกเรียน 11.30 น. เหมือนเดิม แต่จะมี 1 วันในสัปดาห์ที่เลิก 12.30 น.
ช่วงประถมฯ 3 เลิกเรียน 12.30 น. ทุกวัน แต่จะมี 1 วันในสัปดาห์ที่เลิก 13.20 น.
ช่วงประถมฯ 4 เลิกเรียน 12.30 น. เกือบทุกวัน จะมี 2 วันในสัปดาห์ที่เลิก 13.20 น.
เกิดเป็นเด็กในประเทศเยอรมนี ช่างมีความสุขแท้ ๆ เพราะไม่ถูกยัดเยียดให้เรียนหนัก ๆ ไม่ต้องเรียนพิเศษในตอนเย็น หรือวันหยุด แต่เอ...เรียนน้อย ๆ แบบนี้เด็ก ๆ ที่นี่เขาจะฉลาดเหรอ เขาเอาเวลาช่วงบ่ายไปทำอะไร เล่นทั้งวันเลยเหรอ??
ตรงนี้คืออีกจุดหนึ่งที่ดิฉันชอบม๊ากกกกกก ที่เขาให้เด็ก ๆ กลับบ้านเร็ว รัฐบาลบรรจุวิชาที่จำเป็นที่เด็กต้องเรียนรู้ ที่เรียกวิชาบังคับนะแหละ เช่นวิชา ภาษาเยอรมัน, เลขคณิต, อังกฤษ, สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต, ศาสนา, กีฬา, ศิลปะ (นับในตารางสอนของลูกไม่ถึง 10 วิชาเลยง่ะ) ใช้เวลาประมาณ 4-5 ชั่วโมงต่อวัน พัก 2 ครั้ง เด็กจะห่ออาหารเช้าไปทานที่ ร.ร. กับเพื่อน ๆ ตอนเบรกแรก ซึ่งจริง ๆ แล้ว จะทานจากที่บ้านพอรองท้องไปนิดหน่อย พอเบรกที่สองจะเป็นเบรกใหญ่ให้เด็ก ๆ เล่นตามอัธยาศัย เรื่องเงินทองลูกก็ไม่เคยพกเงินไป ร.ร. เพราะที่ ร.ร. ไม่มีโรงอาหาร หรือ ร้านขายของใดๆ ทั้งสิ้น พลอยชมพูไม่เคยใช้เงิน มีเงินเมื่อไหร่เอาเก็บใส่ธนาคารหมด (แอบงกอีกต่างหาก)
ดิฉันมีความสุขมากที่เห็นลูกกลับบ้านช่วงหลังเที่ยง มาทานข้าวบ้านทุกวัน ช่วงบ่ายนี้แหละเป็นเวลาทองสำหรับเด็ก ๆ ที่เมืองของเราจะมีสถาบันสอนดนตรี, เต้น, ศิลปะ, กีฬาต่าง ๆ เช่นขี่ม้า, ว่ายน้ำ, ศิลปะ, ดนตรี, ยูโด, ไอซ์สเก็ต ฯลฯ กิจกรรมใด ๆ ก็ตามที่ลูกสนใจ เราก็จะพาลูกไปเรียน ซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่มช่วงบ่ายจนถึง 1 ทุ่ม งานนี้ต้องควักกระเป๋าเองทุกอย่าง เรามีความสุขที่ได้ให้ลูกทำกิจกรรมที่เขาสนใจและชอบ เรามองย้อนกลับไปตอนที่เรียนมัธยมต้น เราเกลียดวิชาฟันดาบ, เรียนแตะตะกร้อ, เรียนเขย่าอังกะลุง และอีกหลายวิชาที่ผู้ใหญ่จัดห้ายยย นอกจากบังคับเด็กให้เรียนแล้วแถมโตขึ้นมาก็หาได้มีประโยชน์กับชีวิตเราไม่ (เห่อๆๆ พูดประโยคโบราณยังกะละครนางทาสงั้นแหละ) เราดีใจที่ทุกวันมีค่าสำหรับลูก ได้เรียนอะไรที่ชอบและมีประโยชน์กับตนเองในอนาคต และที่สำคัญ ทั้งเรียนและการทำกิจกรรม ไม่ได้เบียดเวลาสำหรับครอบครัวเลย เพราะวันเสาร์-อาทิตย์ เราสามคน พ่อแม่ลูกอยู่ด้วยกันทั้งวัน ขับรถไปเที่ยวกันบ้าง ไปเยี่ยมญาติ หรือเพื่อนบ้าง มีความสุขจริงๆ
ดิฉันมานั่งทบทวน เมื่อตอนเราอายุ 9 ขวบ เราทำอะไรเป็นบ้าง เปรียบเทียบกับลูกพลอยชมพู มันเทียบกันไม่ได้เลยสักกระผีก การศึกษาของที่นี่ มีส่วนให้พลอยชมพูเก่งกว่าวัยที่ควรจะเป็น เพราะ “เวลา” เป็นตัวช่วยที่ดีที่สุด เมื่อมีเวลาช่วงบ่ายมาก เราก็สามารถจัดการเรียนการสอนให้ลูกเพิ่มเติมได้ ลูกไม่ต้องเรียนหรือทำกิจกรรมบ้า ๆ บอ ๆ ไร้สาระ (สำหรับดิฉัน) ที่ผู้ใหญ่จัดให้โดยไม่เต็มใจ




อีกเรื่องที่ดิฉันชอบใจ คือ “ครูประจำชั้น” ตั้งแต่ ประถมฯ 1 ถึง ประถมฯ 4 ก็เป็นครูคนเดียวกันมาตลอด ครูรู้จักเด็กทุกคนในห้องแบบลึกซึ้งทีเดียว และครูก็เห็นการพัฒนาในทุก ๆ ด้านของเด็กตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรียน จนถึงวันจบประถมฯ 4 การรายงานประเมินการเรียนรู้ของเด็กก็เหมือนเดิม คือส่งจดหมายให้ผู้ปกครอบเลือกเวลามาประชุม เมื่อถึงเวลาก็เข้าไปทีละครอบครัว (พ่อกับแม่ หรือใครคนใดคนหนึ่ง) ครูก็จะเริ่มรายงานความประพฤติ และการเรียนรู้ของเด็กว่าดี หรือแย่ อะไรที่ต้องปรับปรุง ก็จะชี้แจงแบบตัวต่อตัว

พอเรียนใกล้จบประถมฯ 4 ครูก็จะเรียกไปประชุมอีก และเลือกโรงเรียนที่เหมาะกับเด็กให้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ครูแนะนำให้ไปเข้าเรียนที่ไหน พ่อแม่มักจะทำตามแต่โดยดี เป้าหมายของพ่อแม่ในเยอรมนีอยากให้ลูกไปเรียนที่ ร.ร. กึมนาซิอูม (Gymnasium) กันทั้งนั้น เพราะดีกรีดีกว่าที่อื่น ๆ เข้าได้เฉพาะเด็กหัวดีมีความสามารถสูง แต่หากลูกสมองไม่ถึงระดับ ครูให้ไปเรียนที่อื่นก็ต้องยอมรับ เพราะดันทุรังไปก็ไม่มีประโยชน์ หากรั้นไปเข้า ร.ร. ที่เกินความสามารถของเด็ก สุดท้ายก็ต้องซ้ำชั้นและโดนเปลี่ยนโรงเรียนในภายหลัง มันเสียเวลาเปล่า ๆ
ที่เยอรมนีแปลกตาลปัดจากไทยในเรื่องการออกเกรดให้เด็ก เกรด 1 หมายถึง “ดีมาก” ไล่ไปจนถึงเกรด 4 ที่หมายถึง “ไม่ดีนัก” จริงๆ มันก็ถูกของเขานะ เกรด 1 หมายถึง ที่ 1 หมายถึงอะไร ๆ คืออันดับ 1 และคือสุดยอด แล้วมันจะเป็นเกรดที่หมายถึงแย่ หมายถึง "ไม่ดี" ในการออกเกรดให้เด็กของร.ร.ไทย ได้ไงเนี่ย งง ....

จะว่าไปดูเหมือนว่าการศึกษาของประชาชนเยอรมันระดับอนุบาลและประถมยืดหยุ่นดี รัฐบาลจัดการศึกษาให้เด็กครึ่งวัน และพ่อแม่จัดการศึกษาให้ลูกเองอีกครึ่งวัน นี่แหละจุดเด่น ที่ทำให้เด็ก ๆ มีความสามารถสูง ด้านวิชาการก็ได้เต็มที่ ด้านกิจกรรมความสามารถพิเศษก็ได้เต็มทีเช่นกัน ผิดกับการศึกษาแบบไทยๆ ที่จัดให้เด็ก ๆ ทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่างโดยไม่คำนึงถึงว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นความชอบ หรือความถนัด แต่ต้องมาจำใจเรียนในสิ่งเดียวกัน....
อยากเล่าต่ออีกนิดถึงเด็กที่เรียนระดับมัธยมปลาย ซึ่งลูกเลี้ยงของดิฉันทั้งสองได้ผ่านมาแล้ว ซึ่งการเรียนใน ร.ร. กึมนาซิอูม (Gymnasium) จะเน้นวิชาการมาก เพราะสายนี้จะมุ่งตรงเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย เด็กทุกคนได้เรียนฟรี แต่เสียเงินซื้อหนังสือนิดหน่อย เวลาไปเรียนก็คล้าย ๆ ระดับประถม เลิกเรียนช้าสุด 13.20น. กว่าลูกชายจะปั่นจักรยานกลับมาถึงบ้านก็ราวบ่าย 2 โมง ถึงได้ทานอาหารกลางวัน ช่วงบ่ายเป็นช่วงสบาย ๆ ของลูกชายทั้งสอง ส่วนตอนเย็นเขาก็ไปเข้ากลุ่มว่ายน้ำ ว่ายแข่งขันได้ชัยชนะมาพอประมาณทั้งสองคน เราว่าชีวิตวัยเด็กของพวกเขามีความสุขกับการเรียนและเล่นมาก ๆ


ตอนนี้ลูกเลี้ยงคนโตเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยในเมืองใหญ่เมืองหนึ่งในเยอรมนี เขาเรียนเก่งจนได้รับทุนจากมหาวิทยาลัย เราส่งเสียค่ากินและที่พัก เขาจะออกค่าเทอมของเขาเอง อีกราว ๆ 2 ปี จะจบปริญญาโท (ที่เยอรมนีไม่มีปริญญาตรี) เห็นลูกชายเล่าว่าที่ชั้นเรียนของเขา ตอนนี้นักเรียนหายไปครึ่งห้องแล้ว เพราะเรียนไม่ไหว ยากมาก การเรียนระดับมหาวิทยาลัยของเด็กที่นี่ เรียนหนักมาก คือเราเห็นแต่เขาอ่านหนังสือ และช่วยงานในมหาวิทยาลัย ไม่ได้ออกไปเที่ยวเลยมา 3 ปีแล้ว เราบอกเขาว่าหน้าร้อนปีหน้า 2010 ไปเยี่ยมแม่ที่ไทยพร้อมเรามั้ย เขาก็บอกไม่มีเวลา รอเรียนจบทีเดียวเลย (แม่เขาเป็นคนไทย)
จริง ๆ แล้ว การเรียนระดับมหาวิทยาลัย หากผู้ปกครองไม่สามารถส่งเสียได้ ก็สามารถขอยืมเงินรัฐบาลเรียนได้ แต่จะได้เฉพาะพ่อแม่ที่มีรายได้น้อยเท่านั้น สามีเราผ่านจุดนี้มาแล้ว หากเขาไม่ได้ไปเป็นทหาร 1 ปี เขาก็คงไม่เสียเงินเรียน เขาเลยได้เป็นรุ่นแรกของประเทศที่ใช้กฎหมายใหม่ คือ เด็กรุ่นใหม่จะไม่ได้เรียนฟรีอีกแล้ว ต้องเรียนแล้วใช้หนี้รัฐบาลในภายหลังเท่านั้น

ส่วนลูกเลี้ยงคนเล็กเรียนวิชาชีพปีหน้าเรียนจบ หากจบก็คงเทียบเท่า ป.ว.ช. เสียเวลาถึง 3 ปี เรียนย้อนใหม่เพราะไม่ตั้งใจเรียน จริงๆ เรื่องการศึกษาของเยอรมันจะซับซ้อนกว่าของไทย แต่เราคงเล่าให้ฟังได้เพียงเท่านี้ค่ะ

จบแล้วจ้า ยาวมั๊กๆๆๆๆๆ
แม่หน่อยแน่
ของพลอยชมพู


แหล่งที่มา  บ้านพลอยชมพู

วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2555

นิทานสอนใจ : ยอดเขายายกะตา

กบฝูงหนึ่งอาศัยอยู่ที่เชิงเขายายกะตา ตามตำนานของฝูงกบเหล่านี้เล่าว่า ยอดเขายายกะตาเป็นยอดเขาที่ศักดิ์สิทธิ์มากสำหรับกบ หากกบตัวใดสามารถปีนขึ้นไปถึงยอดเขายายกะตาได้ ก็จะพบกับความสุขสมบูรณ์ มีแมลงรสอร่อยกิน ไม่อดอยากไปจนตลอดชีวิตการเป็นกบ
      
       แต่กระนั้นก็ตาม การปีนขึ้นเขาก็เป็นเรื่องยากมากสำหรับกบ ดังนั้นจึงยังไม่เคยมีกบตัวใดลองพิสูจน์ตำนานนี้ดูสักที แล้ววันหนึ่ง ฝูงกบเกิดนึกสนุกชวนกันแข่งขันปีนขึ้นยอดเขายายกะตา ใครไปถึงยอดเขาเป็นตัวแรก นอกจากจะเป็นสิริมงคลแก่ตนตามตำนานแล้ว ยังจะได้รับรางวัลสุดยอดกบจากเพื่อน ๆ อีกด้วย
       เมื่อถึงเวลา กบทุกตัวก็เริ่มปีนขึ้นเขาพร้อมกัน กบตัวที่แข็งแรงกว่าสามารถแซงเพื่อนตัวอื่น ๆ ขึ้นไปอยู่แถวหน้าได้ แต่ปีนไปได้เพียงครึ่งทาง พวกมันก็เริ่มถอดใจ ทนความเหนื่อยล้า และความลำบากไม่ได้
      
       "ข้าเหนื่อย ข้าไปไม่ไหวแล้ว" กบตัวที่แข็งแรงที่สุดว่า
      
       "ข้าก็เหมือนกัน เมื่อยแข้งเมื่อยขาไปหมด อยากกลับบ้านเสียจริง" กบอีกตัวบอก ตัวอื่น ๆ จึงพากันเสริมเป็นการใหญ่
      
       "นั่นน่ะสิ ยอดเขายายกะตาเป็นเพียงตำนาน ข้าไม่เชื่อหรอกว่าจะมีกบตัวไหนเคยปีนขึ้นไปถึง"
      
       "บางทีอาจจะเป็นนิทานหลอกเด็กของพวกบรรพบุรุษที่ว่างจัดของเราก็ได้"
      
       "อย่างนั้นก็กลับกันเถอะ เปลืองแรงเปล่า ๆ" กบตัวที่แข็งแรงที่สุดบอก แล้วทุก ๆ ตัวซึ่งเป็นกบที่อยู่แถวหน้าสุดก็หันหลังปีนลงเขาไป
      
       เมื่อพวกกบที่อยู่ข้างหลังเห็นกบแถวหน้าปีนลงมาก็ถามด้วยความแปลกใจว่า
      
       "อ้าว ลงมาทำไมน่ะเพื่อน"
      
       กบตัวที่แข็งแรงที่สุดตอบว่า "ก็แล้วจะปีนขึ้นไปให้เสียแรงเสียเวลาสทำไมล่ะ อย่างไรก็ปีนไม่ถึงหรอก ยอดเขายายกะตาอยู่สูงลิ่วขนาดนั้น พวกกบอย่างเราจะมีทางไปถึงได้อย่างไร"
      
       "แต่บรรพบุรุษของเราเคยไปถึงที่นั่นนะ" กบอีกตัวซึ่งอยู่แถวหลังแย้ง
      
       "บรรพบุรุษหลอกเราเพื่อสร้างความเก่งกล้าให้ตัวเองน่ะสิ ทางแบบนี้จะมีใครปีนไปถึงได้ล่ะ ไม่มีทางหรอก" กบแถวหน้าอีกตัวโต้
      
       พวกกบแถวหลังเมื่อเห็นกบแถวหน้าซึ่งมีความแข็งแรงมากยังพูดถึงขนาดนี้ก็ชักจะคล้อยตามไปโดยง่าย สุดท้ายพวกมันจึงชวนกันปีนตามลงมาด้วย
      
       "กลับเถอะ พวกเราไม่มีทางปีนขึ้นไปได้หรอก เสียเวลาเปล่า ๆ" พวกกบที่ปีนลงเขาป่าวประกาศให้เพื่อน ๆ ที่กำลังปีนสวนทางขึ้นไปรู้ "ขนาดกบที่แข็งแรงที่สุดในฝูงยังปีนไม่ไหวเลย แล้วเราจะปีนได้อย่างไร กลับลงไปเถอะ"
      
       พวกกบแถวหลัง ๆ ได้ฟังดังนั้นก็เชื่อสนิทใจคิดว่าทางข้างหน้าคงลำบากมาก และพวกตนคงไม่มีทางปีนขึ้นไปได้จริง ๆ จึงชักชวนกันกลับ ไม่ปีนขึ้นเขาอีกต่อไป
      
       เมื่อกบทุกตัวปีนลงมา พวกมันก็สังเกตเห็นว่ามีสมาชิกในฝูงตัวหนึ่งหายไป
      
       "ใครหายไปหนึ่งตัว" พวกกบร้องถามกันและกันด้วยความเป็นห่วงเพื่อน แล้วทันใดนั้นก็มีเสียงร้องตะโกนด้วยความดีใจดังลงมาจากยอดเขายายกะตาว่า
      
       "ข้าถึงแล้ว! ข้ามาถึงแล้ว!"
      
       กบที่อยู่เชิงเขามองขึ้นไปบนยอดเขายายกะตา แล้วพวกมันก็เห็นกบตัวหนึ่งกระโดดเริงร่าอยู่บนนั้น
      
       "ข้ารู้แล้วว่า ทำไมที่นี่จึงมีชื่อว่า ยอดเขายายกะตา ก็เพราะมีรูปปั้นยายกะตาที่ใจดีอยู่บนนี้นี่เอง..ว่าแต่ทำไมเพื่อน ๆ ถึงลงไปกันหมดล่ะ..แต่ไม่เป็นไร ข้าจะขอพรจากรูปปั้นนี้ และขอเผื่อเพื่อน ๆ ด้วยก็แล้วกันนะ"
      
       เหล่ากบมองหน้ากันด้วยความฉงน เหตุใดกบตัวนั้นจึงเอาชนะความยากลำบากปีนไปถึงยอดเขายายกะตาได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อกบตัวนั้นปีนลงมา พวกกบตัวอื่น ๆ ก็พากันเข้าไปแสดงความยินดีด้วยใจจริง และรุมถามข้อข้องใจเป็นการใหญ่
      
       "ทำไมเจ้าถึงปีนไปถึงนั่นได้ล่ะเพื่อน เมื่อกบที่แข็งแรงบอกว่าเราไม่อาจขึ้นไปถึงบนนั้นได้ ทำไมเจ้าไม่เชื่อเล่า"
      
       กบตัวนั้นได้แต่ยิ้มหน้าแฉล้ม
      
       "ว่าอย่างไร ทำไมไม่ตอบ" เพื่อนกบถามอีก
      
       กบตัวนั้นก็ยิ้มตอบเพื่อน ๆ อีก
      
       "เอ๊ะ! เจ้านี่มันกวนเสียจริง" เพื่อนกบชักหงุดหงิดที่ไม่ได้คำตอบเสียที แต่แล้วกบตั้วนั้นก็พูดขึ้นมาว่า
      
       "ดูเหมือนเพื่อนจะโกรธอะไรข้าสักอย่างนะ แต่อย่าได้โกรธไปเลย เพราะข้าหูหนวกมานานแล้ว ไม่ได้ยินที่เพื่อนพูดหรอก"
      
       พวกกบได้ฟังดังนั้นก็เข้าใจทันทีว่า เหตุใดกบตัวนี้จึงปีนขึ้นไปถึงยอดเขายายกะตาได้ นั่นก็เพราะมันหูหนวกจึงไม่ได้รับฟังคำพูดของใครที่ทำให้ตนคิดท้อถอย สามารถปีนไปถึงยอดเขายายกะตา ได้รับพรจากรูปปั้นยายกะตา และได้รางวัลสุดยอดกบไปครองในที่สุด
      
       บทสรุปของผู้แต่ง
      
       หนึ่งในอุปสรรคที่ทำให้เราไม่ประสบความสำเร็จทั้ง ๆ ที่เห็นเป้าหมายของชีวิตอยู่ตรงหน้าแล้วก็คือ "การฟังคนอื่นมากเกินไป" นั่นเอง
      
       เราอาจเป็นคนยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องแยกแยะให้ถูกด้วยว่า ความคิดเห็นอันไหนติเพื่อก่อ หรืออันไหนไม่มีประโยชน์ที่จะสนใจ เมื่อตั้งใจจะทำอะไรด้วยใจรัก และคิดไตร่ตรองดูแล้วว่า สิ่งนั้นทำให้ชีวิตของเรามีความสุข และไม่เบียดเบียนใคร เราก็จงตั้งใจทำให้บรรลุผลเถิด ถ้าเมื่อใดมีคำบ่นว่าอย่างไร้ประโยชน์ส่งมาถึงตัวก็ขอให้ทำเป็นหูหนวกเสีย ไม่อย่างนั้นเราจะเหน็ดเหนื่อยกับการไล่ตามความคิดของคนอื่น และสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไปในที่สุด
      
       อีกอย่างหนึ่ง เมื่อกลับบทบาทกัน และเราเป็นคนพูดถึงเป้าหมายในชีวิตของผู้อื่น ก็ขอให้พูดแสดงความคิดเห็นแต่ในข้อที่เป็นประโยชน์แก่เขา ให้กำลังใจเขา อย่าด่วนสรุปความคิดและเป้าหมายของเขาว่าเป็นเรื่องที่ใช้ไม่ได้ เพราะถ้าทำเช่นนั้น เราเองต่างหากที่เป็นคนใช้ไม่ได้ การทำลายความหวัง และความฝันของคนอื่น ไม่ต่างกับการฆ่าคนให้ตายทั้งเป็น ซึ่งเป็นเรื่องที่คนดี ๆ ไม่ทำกัน

      
       ///////////////
      
       ขอขอบคุณสำนักพิมพ์ฟรีมายด์ที่เอื้อเฟื้อนิทานสอนใจดี ๆ ในชุดหนังสือนิทานสีขาวของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา

วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2555

กว่าจะเป็นหนึ่งในตำนานของสตีฟ จ็อบส์ (ุ8)



ส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพของสตีฟ จ็อบส์ ที่เป็นคน "นอกกรอบ" มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ไม่แคร์ใคร ไม่สนใจจะเดินตามกระแสสังคม นอกจากสิ่งที่ตัวเองคิดและต้องการนั้น แม้จะทำให้เขาประสบปัญหาในการเรียนหลายครั้ง รวมทั้งปัญหาในการทำงานร่วมกับทีมงานในอนาคต แต่มันก็ทำให้เขาสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ และ เปลี่ยนแปลงนวตกรรมด้านไอทีในปัจจุบัน และที่มาของบุคลิกเหล่านี้ มาจากการที่เขาเติบโตในยุค "บุปผาชน" หรือ "ฮิปปี้" ในสมัย ทศวรรษที่ 60 ประกอบกับบ้านในวัยเด็กของเขา ซึ่งอยู่ใกล้ซิลิคอน วัลเล่ย์ ที่เป็นแหล่งรวมของผู้ทำงาน ทำธุรกิจแวดวง อิเล็กทรอนิคส์และไอที มันก็อยู่ใกล้จุดศูนย์กลางของฮิปปี้ด้วย คือ ย่านซานฟรานซิสโก และเป็นอีกส่วนหนึ่งของที่มาของการใช้ยาเสพติดของสตีฟ จ็อบส์ด้วย มีบทความหนึ่งของผู้เขียนใน Exteen Blog ชื่อ tiew@fine ได้เล่าถึงที่มาที่ไป ของ ฮิปปี้ดังนี้


ต้องเข้าใจก่อนว่า อเมริกาช่วง 1946-1964 เป็นยุคของ เบบี้บูม ก่อนการมาถึง ของฮิบปี้ อันว่า เบบี้บูม นี้ คือยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่ง อเมริกา ถือว่าตัวเองเป็นผู้ชนะสงคราม เ้ป็นผู้นำโลกเสรี

ผู้คนในประเทศอยู่ในบรรยากาศเฉลิมฉลอง มีความสุข การแต่งงาน มีลูก มีงาน มีรถ มีบ้าน กับ ลูกหมา อีก 1 ตัว ในลักษณะสูตรสำเร็จที่เรียกกันว่า American dream จึงแพร่กระจายไปทั่ว ฉะนั้น ฮิบปี้ ก็คือลูกๆ หรือผลผลิตของ เบบี้บูม นั้นเอง เมื่อเศรษฐกิจ ตกต่ำ สถาบันของรัฐสั่นคลอนด้วยวิกฤติศรัทธาในคดีวอเตอร์เกต อเมริกาเข้าไปยุ่งในสงครามที่ตัวเองเคยเป็นผู้ชนะและภูมิใจ แต่สมรภูมิใหม่ คือ เวียดนาม ซึ่งสังเวยให้กับ สงครามเย็น นั้น มีแต่รายชื่อทหารลูกชาวบ้าน เสียชีวิตรายวัน

ว่ากันว่า ใครมีลูกชาย ในครอบครัวอเมริกัน ใครคนหนึ่งต้องตายไป เพราะสงครามเวียดนาม ความจริงปรากฎว่า อเมริกันผู้เคยอหังการ์ กลับต้องพ่ายแพ้ให้กับประเทศเล็กๆ


สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้เกิด “ขบวนการบุปผาชน” ที่แพร่หลายไปทั่วโลก


จากหนังสือ “สหรัฐอเมริกาในโลกปัจจุบัน (ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๘๐)” โดย ศาสตราจารย์สมร นิติทัณฑ์ประภาศ เขียนไว้ว่า

"ในราว ค.ศ. ๑๙๖๗ คนหนุ่มสาวอเมริกันที่เบื่อระอาสังคมชนชั้นกลางและระดับสูงกว่านั้น เพราะไม่อาจปฏิรูปสังคมได้ดังใจนึก และไม่อาจจะเข้าใจถึงค่านิยมของพ่อแม่ที่เน้นความสำคัญของเงินตรา สถานภาพทางสังคมและความสำคัญของการทำงานหนักในชีวิต เพราะตนเติบโตมาโดยไม่ต้องผ่านการต่อสู้ชีวิตมาอย่างหนักเช่นพ่อแม่ คนเหล่านั้นต่างพากันปลีกตัวออกนอกสังคม หันไปเจริญรอยตามพวกบีตนิกแห่งทศวรรษที่ ๕๐ แต่ดำรงชีวิตอยู่อย่างน่าสมเพชกว่า หนุ่มสาวเหล่านี้ได้ชื่อว่าพวก “ฮิปปี้”

ฮิปปี้โดยทั่วไปด้อยการศึกษา แต่งกายสกปรกซอมซ่อรุงรังไว้หนวดเครา ผมยาว ห้อยลูกประคำ สวมรองเท้าแตะ ไม่สนใจจะผูกเนกไทหรือสวมถุงเท้า นิยมสูบกัญชาและยาเสพย์ติดอื่น ๆ ชิงชังการสะสมความมั่งคั่ง บางคนทำงานหนักที่ไม่ต้องใช้สมองเท่าใดนัก และรายได้ต่ำมาก บางคนก็ขอเงินจากทางบ้าน และมีไม่น้อยทำตนเป็นขอทาน

พวกฮิปปี้ส่วนใหญ่พากันไปมั่วสุมกันที่ตำบลไฮต์แอชเบอรี (Haight-Ashbury) ในนครซานฟรานซิสโก และที่อีสต์วิลเลจ(East Village) ในนครนิวยอร์ก พวกฮิปปี้เรียกตนเองว่า "บุปผาดรุณ” (flower children) หรือ “บุปผาชน” (flower people) พอใจที่จะยื่นดอกไม้ให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และอัยการที่นำตนขึ้นฟ้องร้องต่อศาลมากกว่าจะใช้วิธีประท้วงอย่างรุนแรงไม่สนใจต่อขนบธรรมเนียมประเพณีใด ๆ ปล่อยตนตามสบายอยู่อย่างสงบ บางคนก็หันไปสนใจศาสนาที่แตกต่างไปจากที่ตนเองและครอบครัวเคยนับถือ เช่น ศาสนาและนิกายในตะวันออก อาทิ ศาสนาฮินดู ลัทธิขงจื๊อ นิกายเซน ลัทธิเต๋าทั้งนี้เพื่อไว้ปลอบประโลมใจและเป็นประสบการณ์ในชีวิตไปด้วยบ้างก็หมกมุ่นอยู่กับไสยศาสตร์และโหราศาสตร์ บ้างก็จับกลุ่มกันอยู่แบบคอมมูน โดยกินอยู่ใช้สอยร่วมกัน แบ่งความรับผิดชอบ ทรัพย์สมบัติและความรักให้ทั่วถึงกัน ภายในคอมมูนมีการช่วยกันทำสวนครัว ออกไปทำงานหาเงินนอกบ้านมาใช้ร่วมกัน แต่เมื่อเศรษฐกิจฝืดเคืองจนคอมมูนต้องสลายตัวไป คนพวกนี้ก็กระจัดกระจายไปทั่ว บ้างก็กลับไปหาครอบครัว บ้างก็หางานทำ บ้างก็กลับไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย บ้างก็ตุหรัดตุเหร่ไปในต่างแดน

พวกฮิปปี้ไม่สนใจการเมือง ซึ่งตนถือว่าเป็นเรื่องไม่จริงใจต่อกันและกัน ไม่ชอบมีเงินตราไว้เกินกว่าเพื่อยังชีพเท่าที่จำเป็นไม่ก้าวร้าวในรูปใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าด้วยกำลังหรือวาจา เรียกร้องแต่ความรัก ความซื่อสัตย์ เปิดเผย และความเป็นอิสระ ซึ่งตนเห็นว่าหาไม่ได้จากสังคม คนพวกนี้ต้องการจะมีชีวิตอยู่ตามธรรมชาติ เหมือนอาดัมกับอีฟ มนุษย์คู่แรกของโลก
ยาเสพย์ติด ความรักเสรี ดนตรีร็อก เป็นสิ่งขาดไม่ได้ของพวกฮิปปี้ ใน ค.ศ. ๑๙๖๙ สถาบันสุขภาพจิตสหรัฐฯ รายงานว่า มีคนอเมริกันกว่าแสนคนที่ติดยาเสพย์ติตอย่างร้ายแรงและ ๘ ถึง ๑๒ ล้านคน ได้เคยลองสูบกัญชามาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ภาพของฮิปปี้หนุ่มสาววัยฉกรรจ์ที่ติดยาเสพย์ติดอย่างร้ายแรงจนซูบผอมและมีอาการเศร้าซึมเพราะพิษยา ก่อให้เกิดความเศร้าสลดใจแก่ประชาชนที่ได้พบเห็น หนุ่มสาวเหล่านั้นไม่น้อยจบชีวิตลงด้วยความตาย หรือไม่ก็คุกตะราง

เมื่อใกล้จะสิ้นทศวรรษที่ ๖๐ สภาวะของพวกบุปผาชนยิ่งเลวร้ายลงกลายเป็น “คนข้างถนน” (street people) ที่สกปรกโสมม ภาคภูมิใจกับการลักเล็กขโมยน้อยเพื่อยังชีพร่อนเร่พเนจรทั่วไป บ้างก็จับกลุ่มมั่วโลกีย์กันเป็นกลุ่ม ๆ และก่อความรุนแรงที่ท้าทายกฎหมาย อาทิ พวกแก๊งมอเตอร์ไซค์ที่ขับฉวัดเฉวียนเสี่ยงความตาย และส่งเสียงอึกทึกครึกโครม เช่น แก๊งเฮลส์ แองเจล (Hell's Angel) ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย และพวกลักลอบค้ายาเสพย์ติด ใน ค.ศ. ๑๙๖๙ ชารอน เทต (Sharon Tate) ดาราภาพยนตร์ผู้มีชื่อเสียงซึ่งกำลังตั้งครรภ์แก่และคนอื่น ๆ อีกหลายคนถูกสังหารอย่างทารุณ โดยหญิง ๓ คน ซึ่งเป็นสมาชิกในครอบครัวฮิปปี้ของชาร์ลส์ แมนสัน (Charles Manson) ผู้บงการโดยมิได้มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน คดีฆาตกรรมที่โหดร้ายนี้อื้อฉาวไปทั่วโลก ทำให้พวกฮิปปี้ได้รับคำประณามว่า “ต่ำทราม ยังไม่โต นึกถึงแต่ตัวเองและไร้ความรับผิดชอบอย่างเห็นแก่ตัว” เมื่อย่างเข้ากลางทศวรรษที่ ๗๐ สถานการณ์ภายในประเทศค่อยคลายความตึงเครียดลงเนื่องจากสงครามเวียดนามยุติลงแล้ว การต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนก็อ่อนกำลังลง ชุมชนของพวกฮิปปี้ก็พลอยอันตรธานไปด้วย ต่างแยกย้ายกระจัดกระจายกันไป

“ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี”




ากบทความสองตอนนี้ ทำให้เราพอเห็นสังคมอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมของวัยรุ่นในสมัยนั้นว่า เป็นอย่างไร ชีวิตของสตีฟ จ็อบส์ในช่วงเวลาที่เขากำัลังศึกษาในมัธยม จนถึง ช่วงก่อตั้ง Apple เป็นครั้งแรกนั้น ในเรื่องการใช้ชีวิตส่วนตัว เขาใช้ชีวิตในคอมมูนอยู่ช่วงหนึ่ง หันมานับถือศาสนาพุทธนิกายเซน และเคยใช้ชีวิตช่วงหนึ่ง ระหว่างที่หยุดเรียนจากมหาวิทยาลัย ในประเทศอินเดีย เพื่อจาริกแสวงบุญ ค้นหาเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่ ไม่สนใจที่จะแต่งตัวดีๆ แต่งตัวรุงรัง ไม่อาบน้ำ ใช้ชีวิตแบบฮิปปี้ "ตัวพ่อ" เลยทีเดียว 

แต่กระนั้น ความสามารถล้นเหลือด้านไอทีของเขา ทำให้เขาสามารถหางานทำได้ในบริษัทออกแบบเกมที่มีชื่อเสียง คือ Atari แม้ว่าพนักงานส่วนมากจะทนความสกปรก และนิสัยหยาบคายของเขาไม่ค่อยได้ แต่เจ้านายผู้มีวิสัยทัศน์ เจ้าของบริษัท Atari คือ โนแลน บุชเนล ได้จ้างงานเขา และให้เขาไปทำงานกะกลางคืน ที่ไม่ต้องกระทบกระทั่งมีปัญหากับพนักงานคนอื่นๆมากเกินไป การทำงานใน Atari ช่วยให้สตีฟ จ็อบส์ ได้รู้วิธีทำธุรกิจและออกแบบที่เรียบง่าย ใช้งานได้ดี รอนเวย์น เพื่อนร่วมงานของ Atari บอกว่า

"ความเรียบง่ายคือสิ่งที่สตีฟชอบ มันทำให้เขาเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับตัวผลิตภัณฑ์เป็นอย่างมาก"


มีบทความหนึ่งของมติชน ที่กล่าวถึง สตีฟ จ็อบส์ เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า


ความ "ง่าย" การเป็น "ขบถ" และความมี "รสนิยม" ส่วนหนึ่งของปรัชญาที่เป็นวิถีของฮิปปี้ในยุค 60 จำหลักอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ยิ่งใหญ่ทุกชิ้นของสตีฟ จ็อบส์ เขาเน้นและพูดถึง "รสนิยม" บ่อยครั้งมากพอๆ กับการให้ความสำคัญของคำถามที่ว่า "ถ้าเราทำเพื่อให้ตัวเองใช้ เราต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้" ที่กลายเป็นหลักในการสร้างผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลมาจนถึงทุกวันนี้
รีจิส แมคเคนนา นักการตลาดที่ยิ่งใหญ่ผู้หนึ่งแห่งซิลิคอน วัลเลย์ คนที่สตีฟเข้าไปปรึกษาเมื่อต้องการสร้างแบรนด์ "แอปเปิล" ให้แข็งแกร่ง บอกว่า การทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย คือ อัจฉริยภาพสูงสุดของสตีฟ จ็อบส์ สตีฟตัดทอนส่วนที่ซับซ้อนอย่างยิ่งของผลิตภัณฑ์ที่เต็มไปด้วยโครงสร้างวุ่นวายทางวิศวกรรมให้หลงเหลือเพียงส่วนที่ง่าย แต่งาม อย่างยิ่งไว้เท่านั้น

แอปเปิลไม่เคยทำวิจัยด้านการตลาด หรือผลวิจัยด้านการตลาดไม่เคยมีอิทธิพลใดๆ ต่อการออกแบบผลิตภัณฑ์ของแอปเปิล เหตุผลง่ายๆ ของเขาก็คือ ผู้บริโภคไม่มีหน้าที่ต้องมาคิดว่าตัวเองต้องการอะไร ผู้ผลิตต่างหากที่ต้องคิดและทำออกมาให้ดีที่สุด ชนิดที่เมื่อทุกคนได้เห็นแล้วต้องชอบและปลาบปลื้มเมื่อได้เป็นเจ้าของมัน วิญญาณขบถมีอยู่เต็มเปี่ยมในตัวสตีฟ เขาออกนอกแนวทางดั้งเดิมในความคิดเรื่องธุรกิจเพลงโดยสิ้นเชิงด้วย ไอพอด และ ไอจูน เขาสร้างสรรค์วิธีการติดต่อสื่อสารและรูปแบบการใช้งานโทรศัพท์มือถือเสียใหม่และต่างออกไปจากเดิมโดยสิ้นเชิงด้วยไอโฟน

เขาไม่เพียงทำให้ "แท็บเล็ต" มีนิยามใหม่ด้วยไอแพด แต่ยังทำให้มันโดดเด่นจนบดบังเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทุกเครื่องที่เคยผลิตกันมา แม้แต่กระทั่งแม็คและแอปเปิลเอง
ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่า ถ้าหากสตีฟ จ็อบส์ ยังคงอยู่ต่อไป เขาจะพลิกโฉมอะไร และอย่างไรไปอีกบ้าง-เพียงรู้ว่า มันจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนเท่านั้นเอง

หน้า 30,มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม 2554
สรุปได้ว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นที่มาของปัญหายาเสพติดของสตีฟ จ็อบส์ รวมทั้งที่มาที่ไปของบุคลิกภาพด้านที่รักอิสระ เสรีภาพ นอกกรอบ ไม่แคร์สังคมของเขานั้น มาจากค่านิยมในยุคสมัยและ สภาพสังคมเช่นกัน  แต่ดังที่เคยสรุปแล้วว่า คนในยุคนั้น มีบุปผาชนมากมาย คนอเมริกันติดยา กว่า 8-12 ล้านคน  แต่มีผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูงและสร้างความแตกต่างให้กับโลกได้เพียงไม่กี่คน  แต่ที่เหลือนั้น มีจำนวนไม่น้อย เสียชีวิต เสียอนาคต หรืออาจจะพิการทางสมอง มีอาการทางจิตไป เป็นจำนวนมาก  

วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

กว่าจะเป็นหนึ่งในตำนานของสตีฟ จ็อบส์ (7)



ก่อนที่จะมาลงรายละเอียดเรื่องการใช้ยาเสพติดของสตีฟ จ็อบส์ มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชีวิตการศึกษาของเขาที่อยากจะเอามาพูดคุย  เพราะในฐานะ พ่อแม่ หรือ ครูบาอาจารย์  อาจจะสามารถนำเรื่องนี้ มาปรับใช้ในการดูแลลูกหลานได้

ในตอนที่เรียนชั้นประถมปีที่ ๔  หรือ เกรด ๔  นั้น การเรียนของสตีฟ จ็อบส์ในโรงเรียน เริ่มมีแนวโน้มในทางที่ดี  กล่าวคือ  คุณครูของเขา ได้แยกเพื่อนคู่หู ขาโจ๋ของเขาไปเรียนที่ห้องอื่น ทำให้เขาไม่มีเพื่อนที่จะไปทำเรื่องแสบๆได้อีก  และในปีการศึกษาใหม่นี้เองที่เขาได้ครูประจำชั้นคนใหม่ ที่เป็นคนกล้าและเอาจริงเอาจังในการสอน  ในหนังสือเล่มนี้ วอลเตอร์ ไอแซคสัน ได้เล่าเรื่องราวสมัยที่เรียนเกรด ๔ หรือ ประมาณ ประถม ๔ ของสตีฟ จ็อบส์ว่า

"จ็อบส์เล่าว่า "ครูเท็ดดี้เป็นแม่พระในชีวิตผมเลย"  หลังจากเฝ้าดูจ็อบส์ไม่กี่อาทิตย์ ครูก็รู้ว่าวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้จ็อบส์น้อยตั้งใจเรียนคือ ต้องติดสินบนกันนิดหน่อย "วันหนึ่งหลังเลิกเรียน ครูยื่นแบบฝึกหัดเลขให้ผม บอกให้เอากลับไปทำที่บ้าน ผมคิดในใจว่า "ครูจะบ้าเหรอ"  แล้วครูก็เอาอมยิ้มแท่งเบ้อเริ่มออกมาโชว์ ครูบอกว่า  ถ้าืำืทำเสร็จและคำตอบถูกเป็นส่วนใหญ่ ครูจะให้อมยิ้มแท่งนั้น กับเงินอีก 5 เหรียญ ผมเอาการบ้านกลับไปทำแล้วเอามาส่งในอีก 2 วันต่อมา" หลังจากนั้นไม่ีกี่เดือน จ็อบส์ก็ไม่ต้องรับสินบนจากครูอีกต่อไป "ผมอยากเรียนและอยากทำให้ครูดีใจ"

ครูฮิลล์ก็ตอบแทนด้วยการหาชุดเครื่องมือสำหรับทำงานอดิเรกต่างๆมาให้ เช่น ชุดสำหรับฝนเลนซ์และทำกล้องถ่ายรูป "ผมได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆจากครูเท็ดดี้มากกว่าจากครูคนไหนๆ  ถ้าไม่มีเธอ ผมคงเข้าไปนอนในคุกแล้ว"   เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ความคิดเรื่องการเป็นคนพิเศษออกมาให้เห็น "ในชั้นเรียน ครูแคร์ผมคนเดียวเท่านั้น ครูเห็นอะไรบางอย่างในตัวผม"

จากเรื่องราวข้างต้น  ทำให้ดิฉันนึกย้อนถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในโรงเรียนในช่วงที่เขาเข้าเรียนหนังสือในปีแรกๆ  ความที่เขาได้รับการเลี้ยงดูอย่างอิสระเสรี  พ่อแม่บุญธรรมของเขาเชื่อเสมอว่า สตีฟ เป็นเด็กที่ไม่ธรรมดา และมีความสามารถพิเศษ  เปิดโอกาสให้เขาศึกษาเรียนรู้อย่างเต็มที่ตามศักยภาพที่เขามี  ทำให้เขามีความรู้มากกว่าเด็กในวัยเดียวกัน  จากที่ทราบมาแล้วว่า คุณแม่บุญธรรมของเขา สอนเขาให้อ่านออกเขียนได้ตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียนประถม  ประกอบกับการได้เีัรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับเครื่องยนต์กลไก จากพ่อมาแต่เล็ก  อาจจะทำให้การเรียนในโรงเรียนเป็นเรื่องที่น่าเบื่อและไม่สนุกก็เป็นได้  เพราะไม่มีแปลกใหม่ และไม่เคยรู้มาก่อน

อีกประการหนึ่ง ด้วยพื้นนิสัยเป็นเด็กรักอิสระ และถูกเลี้ยงดูมาอย่างอิสระ และตามใจ  ทำให้เมื่อต้องมาอยู่ในระเบียบวินัย อยู่ในกรอบกฎกติกา ทำให้เขาอึดอัด และหงุดหงิด  จนต้องหาเรื่องอาละวาด ทำเรื่องวุ่นวาย   เมื่อเด็กไม่อยู่ในระเบียบวินัย ไม่เชือ่ฟัง ไม่อยู่ในกรอบกติกาที่กำหนด ก็ย่อมถูกคาดโทษ เพ่งเล็งว่า เป็นเด็กที่มีปัญหา และอาจจะไม่ได้รับความสนใจจากครูที่มาสอนก็เป็นได้  และสิ่งนี้ยิ่งทำให้เด็กเกลียดการเรียน เกลียดโรงเรียน เพราะโรงเรียนกลายเป็นสถานกักกัน ไม่มีคนที่รัก  ไม่มีความอบอุ่น จึงเป็นเรื่องที่ไม่สนุกที่ต้องมาเรียนหนังสือ ต่อมาในชั้นเกรด ๔  เขาเจอครูที่ให้ึความสนใจ เห็นคุณค่าในตัวของเขา และสิ่งที่เธอให้เขาทำนั้น ทำให้เขามีความเชื่อมั่นว่า เขาทำได้ดีกว่าเด็กคนอื่นๆ ซึ่งนำพาความภาคภูมิใจมาให้ตัวเขาและพ่อแม่  เขาจึงเริ่มมีความเพียร และสนุกกับการเรียน

เทคนิคที่ครูเท็ดดี้ใช้กับการดัดนิสัยของสตีฟ จ็อบส์ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ  การที่สตีฟ จ็อบส์มีปัญหากับการเรียนและโรงเรียนมาอย่างหนักใน 2-3 ปีแรกของการเรียนหนังสือนั้น เชื่อว่าเขาคงไม่ค่อยตั้งใจเรียน และไม่ค่อยทำการบ้าน จึงทำให้พื้นฐานความรู้ไม่แน่น  การดึงดูดให้สตีฟ จ็อบส์ มาทำการบ้าน ทำแบบฝึกหัดอย่างสม่ำเสมอนั้น ช่วยแก้ปัญหาพื้นฐานความรู้ที่ไม่แน่นของเขาให้ดีขึ้น   เด็กที่มีพื้นฐานการเรียนไม่แน่น พื้นความรู้ไม่ดี มักมีความไม่มั่นใจในการเรียนและอาจจะเรียนไม่รู้เรื่อง  เมื่อเขาสามารถทำได้ เรียนรู้เรื่อง  เขาก็จะเริ่มสนุกกับมัน และการบังคับหรือการติดสินบนให้ทำ ก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป

การให้รางวัลนี่ก็เป็นเทคนิคที่น่าสนใจ  การให้รางวัลพร่ำเพรื่อ ให้ของรางวัลไม่จูงใจ ก็ทำให้การให้รางวัลเป็นสิ่งที่สร้างความเสียหาย มากกว่าสร้างแรงจูงใจ   ครูท่านนี้ เลือกให้ของรางวัล ของขวัญที่ตรงตามนิสัยของสตีฟ  จ็อบส์ ซึ่งทำให้เธอสามารถฝ่ากำแพงอคติที่เขามีต่อครู ต่อโรงเรียนได้  และผลงานที่เธอทำให้เขามีการเรียนที่ดีขึ้น สนุกกับการเรียน ทำให้เขามีความรัก ความเชื่อมั่นในตัวเธอและยินยอมทำตามด้วยความสมัครใจ

"ตอนใกล้จบเกรด ๔  ครูฮิลล์ให้จ็อบทำข้อสอบ เขาเล่าว่า" ผมสอบได้เทียบเท่ากับนักเรีัยนเกรด 10" เป็นอันชัดเจนว่า ความสามารถพิเศษด้่านวิชาการของเขาเป็นที่ประจักษ์ไม่เพียงแต่เฉพาะตัวเขาเองและพ่อแม่เท่านั้น  แต่ครูก็รู้แล้วด้วย โรงเรียนจึงเสนอกให้เขาข้ามเกรด 5 เกรด 6 ไปเข้าเรียนเกรด 7 ได้เลย  นี่เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะทำให้จ็อบรู้สึกท้าทายและอยากเรียนหนังสือ  แต่ด้วยเหตุผลหลายๆอย่าง พอลและคลาร่าตัดสินใจให้จ็อบส์ข้ามชั้นเรียนเพียงชั้นเดียวเท่านั้น"

ในช่วงที่เรียนเกรด ๖ นั้น สตีฟ จ็อบส์ ต้องย้ายไปเรียนที่โรงเรียนอื่น ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนเดิมนัก ที่แย่คือ โรงเรียนนี้ มี "สิ่งแวดล้อม" ที่ไม่ดี มีแก็งก์มากมาย มีความรุนแรง ขู่กรรโชกทรัพย์กัน และข่มขืน  สตีฟ จ็อบส์ ที่เพิ่งปรับทัศนคติที่ดีต่อการศึกษา ต้องผจญกับการถูกรังแกบ่อยๆ จนสตีฟ จ็อบส์ต้องขอย้ายโรงเรียน

ตอนที่เรียนเกรด ๙ นั้นเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกช่วงหนึ่งของการศึกษาของเขา  ตอนนั้นเขาน่าจะประมาณ ม. ๓ ในเมืองไทย นับอายุน่าจะประมาณ 12-13 ปี เข้าสู่วัยรุ่น วัยหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต เขาไ้ด้ย้ายมาเรียนที่ Homestead High  และได้ใกล้ชิดไอที และยาเสพติดเ็ป็นครั้งแรก  วอลเตอร์ ไอแซคสันได้เล่าถึงช่วงนี้ไว้ว่า

"จ็อบส์มีเพื่อนในวัยเดียวกันไม่มากนัก แต่รู้จักรุ่นพี่หลายคนที่ตื่นตัวในกระแสต่อต้านวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในปลายทศวรรษ 1960  ช่วงนั้้นเป็นช่วงที่โลกของพวกเซียนเทคโนโลยีกับพวกฮิปปี้เริ่มทับซ้อนกัน "เพื่อนผมหลายคนเป็นเด็กฉลาดมาก ผมชอบคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กับอิเล็กทรอนิคส์  เพื่อนผมก็ชอบเหมือนกัน  แล้วก็ LSD (ยาเสพติดชนิดหนึ่ง) ด้วย  และชอบท่องเที่ยวกับพวกฮิ้ปปี้ที่ทำอะไรสวนกระแสวัฒนธรรมในขณะนั้น"

"ระหว่างที่เรียนอยู่เกรด 10 และ 11 ที่ Homestead High  จ็อบส์เริ่มหัดสูบกัญชา  "ผมหัดสูบตอนอายุ 15 ปี แล้วก็เริ่มสูบเป็นประจำ" มีอยู่ึึครั้งหนึ่ง พ่อจับได้ว่ามีกัญชาอยู่ในรถเฟียตของลูกชาย "นี่มันอะไร" พ่อถาม จ็อบส์ตอบหน้าตาเฉยว่า "ก็กัญชาไงพ่อ" นั่นเป็นเพียงไม่กี่ครั้งในชีวิตจ็อบส์ที่เห็นพ่อโกรธจัด "เป็นครั้งเดียวที่พ่อกับผมทะเลาะกันอย่างแรง" แต่ในทีุ่สุดพ่อก็ยอม "พ่อขอให้ผมสัญญาว่าจะไม่สูบกัญชาอีก แต่ผมไม่ยอมสัญญา"  ที่จริงตอนเรียนมัธยมปลายปีสุดท้าย จ็อบส์ได้ลอง LSD ด้วย ผลรุนแรงถึงขนาดทำให้ประสาทหลอนและนอนไม่หลับ  "ผมเริ่มลองอะไรบางอย่างหนักขึ้นด้วย" บางทีก็ลองเสพยาด้วย ส่วนใหญ่จะทำเวลาอยู่ในรถหรือออกไปเที่ยวเล่นที่สนาม"

อ่านมาถึงตอนนี้ในความเห็นส่วนตัวของดิฉันนั้น ดิฉันคิดว่า ตลอดจนเ้ส้นทางการศึกษาของสตีฟ จ้อบส์นั้น  เขาเป็นคนที่ไม่ค่อยมีโชคด้านการศึกษาในโรงเรียน เพราะมาเจอครูที่ไม่เข้าใจเขา  และเจอเพื่อนหรือสังคมที่ไม่ค่อยดี  สิ่งแวดล้อมที่โรงเรียนเป็นพิษ ทำให้เขาไม่ค่อยประสบความสำเร็จนักในการศึกษาเท่าที่ควร ทั้งๆที่เป็นคนเก่ง และมีความสามารถ   การเข้าใกล้เรื่องยาเสพติดของเขานั้น มีมาจากหลายๆประเด็น แต่เรื่องสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา กลุ่มเด็กนักเรียนที่เขาคบหานั้น ชักจูงเขาให้เข้าหายาเสพติด จะว่าแบบนั้นก็ได้   และเป็นเรื่องที่พ่อแม่ควรให้ความระมัดระวัง โรงเรียนดัง สถาบันดี ไม่ได้เป็นเครื่องบอกว่า ลูกจะไปเิดินไปในทางที่ผิด ทางที่ดีพ่อแม่ควรสอดส่องดูเพื่อนๆของลูก วัฒนธรรมโรงเรียนของลูก ว่า มีแนวโน้มไปในทางที่เป็นพิษหรือไม่ เพราะคนที่เข้าในติดกับสังคมแย่ๆ เพื่อนแย่ๆ  หรือยาเสพติด มีไม่กี่คนหรอกค่ะ ที่จะมีความเข้มแข็งและสามารถหลุดออกจากวงจรอุบาศก์พวกนี้ได้

กว่าจะเป็นหนึ่งในตำนานของสตีฟ จ็อบส์ (ุ6)




ชีวิตของสตีฟ จ็อบส์นี้ก็เหมือนกับคนทั่วๆไป ที่มีด้านสว่างและด้านมืด  โดยรวมๆ แล้ว ดิฉันอยากบอกว่า เขาเป็นคนโชคดีมาก  ความโชคดีของเขา ทำให้เขาได้มีโอกาสมีพ่อแม่บุญธรรมที่สุดยอด ที่ปลูกฝังบ่มเพาะนิสัยของเขา จน มีความรักและหลงใหลในอิเล็กทรอนิคส์  และ มีทักษะความสามารถด้านการวางแผนเรื่องต้นทุน มีทักษะในการซื้อขายต่อรอง  

ความโชคดีของเขาทำให้เขาได้เผอิญมาอาศัยอยู่ใกล้ ซิลิคอน วัลเล่ย์  ในช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ในช่วงปี 1960 กว่านั้น เป็นช่วงที่ธุรกิจด้านเซมิคอนดักเตอร์ในอเมริกา ในย่านนี้กำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง  ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ที่หลงใหลในอิเล็กทรอนิคส์ ผู้ที่หลงใหล ในคอมพิวเตอร์ ต่างหลั่งไหลมาทำงานแถวนี้ มาอยู่อาศัยในย่านนี้  ซึ่งทำให้เขา แวดล้อมไปด้วยผู้ที่หลงใหล ชื่นชอบ และพูดคุย พบปะในเรื่องเดียวกัน  (หากเป็นสมัยนี้ อาจจะไม่เป็นอย่างนี้แล้ว)

ความโชคดีของเขา ที่ทำให้เขา เป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเองสูง อยากรู้ อยากเห็น และมีความทะเยอทะยานที่จะเรียนรู้ และทำสิ่งต่างๆให้ดียิ่งๆขึ้นไป  มีความมานะพยายาม  และไม่ขี้เกียจ  ซึ่งเป็นบุคลิกภาพที่สำคัญของคนที่จะมีโอกาสประสบความสำเร็จ

หากไม่มีความโชคดีแบบนี้  สตีฟ จ็อบส์ อาจจะไม่สามารถกลายเป็นบุคคลในตำนาน อย่างที่เขาเป็นในตอนนี้  อาจจะไม่มีไอแพ็ด ไอโฟน ที่เป็นที่คลั่งใคล้ของหนุ่มสาว วัยเด็ก วัยรุ่น วัยชรา แบบทุกวันนี้  แต่อาจจะมีคนที่ล้มเหลว แต่งตัวมอมแมม สกปรก  นอนอย่างไม่ยี่หระสายตาชาวบ้านในถนนแห่งใดแห่งหนึ่งบนโลกใบนี้แทน

ชีวิตในวัยเรียนของ สตีฟ จ็อบส์  ก็เหมือนกับเด็กจำนวนหนึ่ง ที่มีปัญหากับระบบการศึกษา ปัญหาอาจจะไม่ได้มาจากระบบการศึกษาก็ได้ แต่มันอาจจะไม่เหมาะกับนิสัยของเขาก็ได้   แม่บุญธรรมของสตีฟ จ็อบส์ เป็นคนสอนให้สตีฟอ่านหนังสือตั้งแต่ก่อนที่เขาจะเข้าเรียนชั้นประถม   ทำให้เขาเบื่อการเรียนที่โรงเรียน จ็อบส์เล่าว่า

"ผมเบื่อมากช่วง 2-3 ปีแรก เลยเอาแต่หาเรื่อง" ไม่นานก็เห็นชัดว่า ด้วยธรรมชาติ และการเลี้ยงดู ทำให้จ็อบส์เป็นเด็กที่ไม่ชอบการถูกบังคับ  "ผมเจอคนชอบใช้อำาจบังคับในแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน ผมไม่ชอบเลย  มันเืกือบเล่นงานผมเหมือนกัน เกือบทำให้ความอยากรู้อยากเห็นของผมหมดไปเลยทีเดียว"

เขาเป็นเด็กแสบของโรงเรียน และมักก่อความวุ่นวายหลายเรื่อง ตอนที่ไม่ทันจบเกรด 3 เขาก็ถูกส่งตัวกลับบ้านแล้ว 2-3 ครั้ง   แต่คุุณพ่อของเขา เป็นผู้ที่ไปยืนยันความสามารถพิเศษของลูกชาย จนเขาได้เรียนต่อไป  วอลเตอร์ ไอแซคสัน เล่าถึงตอนนี้ในหนังสือว่า

"พ่อของเขา ซึ่งตอนนั้นเลี้ยงดูเขาอย่างดีเป็นพิเศษ ตอบครูด้วยมาดสุขุมมั่นคงว่า เขาต้องการให้โรงเรียนดูแลลูกชายในฐานะเด็กที่มีความรู้ความสามารถพิเศษด้วยเหมือนกัน จ็อบส์เล่าว่า "พ่อบอกครูว่า มันไม่ใช่ความผิดของผม  ถ้าครูทำให้ผมสนใจเรียนไม่ได้ นั่นเป็นความผิดของครู" ... พ่อกับแม่รู้ว่าโรงเรียนทำไม่ถูก ที่บังคับให้ผมท่องจำอะไรก็ไม่รู้มากมายก่ายกอง"  จ็อบส์เริ่มฉายแววการเป็นคนอ่อนไหว และไม่แคร์ เกรี้ยวกราดและแปลกแยก ซึ่งเป็นลักษณะที่ติดตัวเขาไปตลอดชีวิต

เรื่องราวในตอนนี้ั้นั้น ทำให้เราเห็นนิสัยพื้นฐานของจ็อบส์ในบางเรื่อง  นิสัยนี้ ทำให้เขาประสบความสำเร็จในบางเรื่อง และทำให้เขาล้มเหลวในบางอย่าง  มันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาคิดนอกกรอบ คิดไม่เหมือนคนอื่น  เมื่อรวมกับนิสัยด้านดีของเขา ที่เป็นคนมานะพยายาม และพยายามทำสิ่งที่ทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีก รวมทั้งความรู้ความสามารถทักษะด้านไอทีที่สั่งสมมาแต่เด็ก ยาวนาน  ทำให้เขาสามารถสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเลิศให้โลกไอทียุคปัจจุบันได้    แต่หากนิสัยเสียๆแบบนี้ ไปอยู่ในคนที่ไม่มีความสามารถโดดเด่น  แถมยังขี้เกียจตัวเป็นขน  ไม่หยิบไม่จับ รักความบันเทิงไปวันๆ  ก็จะนำพาคนๆนั้น ไปสู่ความหายนะในที่สุด

อีกประเด็นหนึ่ง คือ นิสัยเกรี้ยวกราด ไม่เห็นหัวคน ไม่เกรงใจ ไม่ให้เกียรติผู้อื่น ทำให้เมื่อธุรกิจของ Apple เติบใหญ่ในภายหลัง  แม้ว่าเขาจะเป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจ แต่ทำให้คนทำงานกับเขายากมาก และต้องออกจากการนั่งเก้าอี้บริหารบริษัท Apple ไป  มันทำให้เขาต้องประสบปัญหาในการทำงาน ทำธุรกิจ หลายปี กว่าจะมีโอกาสเรียนรู้ความผิดพลาดของตน และกลับมากุมบังเหียนบริษัท Apple ที่สร้างมากับมืออีกครั้ง ก่อนเสียชีวิต

จะเห็นว่า นิสัยหนึ่งๆของคนเรานั้น ไม่ใช่นำพาที่สิ่งดีงาม ความสำเร็จมาให้คนๆนั้น  แต่ก็นำพาความเสียหายมาสู่คนๆนั้นในบางโอกาส บางเรื่องด้วย   นิสัยบางอย่างที่ดูเหมือนเป็นเรื่องดีงาม หากไม่มีความพอดี นิสัยนั้นก็ก่อให้เกิดโทษเช่นกัน  เช่น คนบางคนมีความ เพียรพยายาม กัดไม่ปล่อย  ไม่สำเร็จไม่ล้มเลิก ก็อาจทำให้คนๆนั้นประสบความสำเร็จรุ่งเรืองในหลายๆเรื่อง  แต่ก็ทำให้เครียด กดดัน และรับไม่ได้ ปล่อยวางไม่ได้ กับความล้มเหลว  ซึ่งในชีวิตของคนเรานั้น เป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน ความสำเร็จหรือความล้มเหลว บางครั้งก็เป็นเรื่องที่หลีีกเลี่ยงไม่ได้เลย  ต้องหัดทำใจ  

หรือคนที่สดับตรับฟังพระธรรมมากมาย แต่ไม่มีสติพิจารณา เอาธรรมะบางข้อมาใช้ โดยไม่ปฎิบัติแบบองค์รวม อาจจะนำพาความเสียหายยิ่งใหญ่ได้  เช่น ความมีเมตตา กรุณานั้น หมายถึงความเห็นอกเห็นใจ ปรารถนาให้ผู้อื่น เป็นสุข พ้นทุกข์   คนที่มีเมตตากรุณามาก มักจะเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือผู้อื่น  แต่บางครั้งอาจจะเผลอไปช่วยคนที่ไม่สมควรช่วยเหลือ หรือช่วยในกรณีที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดผลเสียต่อสังคมส่วนรวมได้  เพราะไม่มีความเป็นอุเบกขา  เช่นคนทำผิดควรต้องได้รับโทษ  แต่เมตตามากเกินไป ทำให้คนทำผิดได้ใจ ไม่ต้องรับโทษ มาทำผิดซ้ำซากใหญ่หลวง  หรือสังคมเสียบรรทัดฐานในการอยู่ร่วมกัน ปล่อยคนชั่วลอยนวล คนดีเสียหาย ก็ยิ่งเสียหายมาก เพราะนิสัยที่เมตตาเกินพอดีของคนเรา

มาเล่าเรื่องสตีฟ จ็อบส์กันต่อ คือ อยากบอกว่า การกระทำของพ่อของเขาที่มาพูดคุยกับครูในลักษณะนี้ ก็เป็นเรื่องที่ควรมาศึกษาเช่นกัน  ในฐานะพ่อที่รู้จักลูกของตนเป็นอย่างดี และมาพูดคุยอธิบายให้ครูฟัง แบบนี้เป็นเรื่องที่ดี  เพราะครูอาจจะไม่รู้จักความสามารถของเด็กด้านอื่น    แต่ประเด็นคือ เขาไม่ควรพูดต่อหน้าลูก   การพูดยกหาง เข้าข้างลูก ต่อหน้าครู ทำให้ลูกไม่มีความยอมรับนับถือครู  และทำให้เขาเหลิง ปกครองไม่ได้อีก  เพราะเด็กจะคิดว่าเขาทำถูกต้อง  และสามารถทำเช่นนี้ได้อีก  ต่อไปครูพูด เขาจะไม่เชื่อฟัง เพราะคิดว่า ครูบังคับเขาไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก

คนที่เป็นพ่อแม่นั้น แม้จะรู้ว่าครูทำไม่ถูก ระบบการศึกษาทำไม่ถูก ที่ำทำให้เด็กต้องท่องจำมากมายเกินไป ต้องเรียนรู้ในเรื่องไม่เป็นเรื่อง แต่ต่อหน้าลูก กับลูกนั้น เราไม่ควรจะต่อว่า บ่นตำหนิ โรงเรียน ครู หรือระบบการศึกษาให้ลูกฟัง  เพราะเมื่อเด็กฟังแล้วจะสิ้นความยอมรับนับถือ ศรัทธากับครู โรงเรียน และระบบการศึกษา และจะไม่เห็นความสำคัญของการเรียนในโรงเรียนอีกต่อไป  และหากเป็นเช่นนั้น พ่อแม่ผู้ปกครอง ก็คงจะต้องจัดการศึกษาให้ลูกเอง เพราะไม่มีใครจะสอนลูกเราได้อีกต่อไป   การที่ประวัติการเรียนในโรงเรียนที่ผ่านมาในอดีตของสตีฟ จ็อบส์ล้มเหลว เพราะเขามีทัศนคติที่ไม่ดีกับการศึกษา ระบบการศึกษา ดิฉันคิดว่าจุดเริ่มต้นสำคัญมาจากจุดนี้ค่ะ  เมื่อเติบโตขึ้นมา เขาก็เป็นตัวป่วนไปทั่ว  ไม่ยอมเรียน ยกเว้นที่อยากเรียน  ไม่ยอมอยู่ในระเบียบข้อบังคับ และคำพูดของใคร แม้แต่กับพ่อแม่ของเขาเอง   และทำให้เขาต้องไปอยู่ในวังวนยาเสพติดหลายปี

เขาเป็นคนโชคดีที่เป็นคนประสบความสำเ้ร็จ หาไม่แล้วเขาก็คงจบชีวิตด้วยยาเสพติด หรือ หมดสิ้นอนาคต สิ้นชื่อไปแล้ว ก่อนที่เราจะมี อุปกรณ์ดีๆ สนุกๆ เช่น ไอโฟน ไอแพ็ด มาใช้ในปัจจุบัน

วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

กว่าจะเป็นหนึ่งในตำนานของสตีฟ จ็อบส์ (5)


เราหันมาดูเรื่องราวของ สตีเฟน วอซเนียก หุ้นส่วนคนสำคัญ และผู้ก่อตั้ง Apple ร่วมกับสตีฟ จ็อบส์กันอีกครั้ง  การสั่งสมด้านประสบการณ์ความรู้ความสามารถของวอซเนียกนั้น ไม่ค่อยต่างจาก สตีฟ จ็อบส์สักเท่าไหร่นัก เขาได้ใกล้ชิดกับบิดานักวิศวกรของเขา ทำให้เขามีความรู้ มีแรงบันดาลใจ และใจรักการสร้างสรรค์เทคโนโลยีตั้งแต่เด็กๆ   เขาอยากเป็นวิศวกรเหมือนพ่อ  มากกว่าจะเป็นผู้นำธุรกิจ  ในหนังสือของ วอลเตอร์ ไอแซคสัน ได้เล่าความสามารถอันน่าทึ่งของ สตีเฟน วอซเนียก ในวัยเกรด ๔  หรือเทียบการเรียนเมืองไทย คือ แค่ ป.๔  เท่านั้น ตอนนั้น อายุไม่น่าจะเกิน 10 ขวบไว้ว่า

"พอเรียนถึงเกรด 4  วอซเนียกก็กลายเป็น "เด็กอิเล็กทรอนิคส์"  ให้เขาจ้องมองทรานซิสเตอร์ยังง่ายกว่าสบตาสาวเีสียอีก ...ตอนอายุเท่าจ็อบส์ ขณะที่จ็อบส์ยังงงอยู่กับไมโครโฟนคาร์บอน วอซเนียกใช้ทรานซิสเตอร์สร้างระบบอินเทอร์คอมที่มีทั้งเครื่องขยายเสียง รีเลย์ แสงและบัชเชอร์ ซึ่งเชื่อมต่อกับห้องนอนเด็กของบ้าน ๖ หลังในย่านเดียวกัน  และตอนที่จ็อบส์ยังเล่นชุดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ Healthkit อยู่ วอซเนียกกำลังประกอบตัวถ่ายทอดและตัวรับสัญญาณวิทยุของ Hallicrafters ซึ่งเป็นวิทยุที่ทันสมัยที่สุดขณะนั้น และได้รับใบอนุญาตวิทยุสมัครเล่นพร้อมกับพ่อเขาเรียบร้อยแล้ว"

"พอเรียนถึงเกรด 8  (หรือประมาณ ม.๒) เขาได้สร้างเครื่องคิดเลขโดยใช้ทฤษฏีเลขไบนารี่  เครื่องคิดเลขของเขาใช้ทรานซิสเตอร์ 100 ตัว  ไดโอด 200 ชิ้น  ตังต้านทาน 200 ชิ้น ทั้งหมดอยูบนแผงวงจร 10 แผง   เครื่องคิดเลขของวอซ ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดซึ่งจัดโดยกองทัพอากาศ เอาชนะเพื่อนคู่แข่งที่เป็นนักเรียนเกรด 12 ได้"

จากเรื่องราวที่วอลเตอร์ ไ้ด้ถ่ายทอดไว้ในหนังสือของเขา จะเห็นว่า สตีเฟน วอซเนียกเอง ก็ใช้เวลาในวัยเด็ก และวัยรุ่นนั้น ทุ่มเท และจดจ่อกับการเรียนรู้ และลองผิดลองถูกในการสร้างงานประดิษฐ์ มากกว่าจะใช้เวลาในการไปเที่ยวเตร่ เสียเวลากับเรื่องไร้สาระ  เวลาทั้งหมด ใช้ไปกับการศึกษาหาความรู้ด้านสิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยีที่เขาสนใจ  และนำมาลองสร้างสรรค์ผลงาน ไม่ได้แค่อ่านผ่านๆ แค่มี ไอเดีย แต่ไม่ลงมือทำ

"ปีสุดท้าย (น่าจะประมาณ ม.๖ หรือ เกรด 12) วอซเนียกได้งานพาร์ทไทม์ทำที่บริษัท Sylvania เป็นครั้งแรกที่เขาได้ทำงานกับคอมพิวเตอร์  เขาเรียนภาษา FORTRAN จากหนังสือ และอ่านคู่มือใช้งานของระบบคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในขณะนั้น  ...เป้าหมายของเขาคือออกแบบคอมพิวเตอร์ดีไซน์เดิมโดยใช้ชิ้นส่วนให้น้อยที่สุด  "ผมปิดประตู  นั่งทำงานคนเดียวในห้อง"  แต่ละคืน เขาจะปรับแบบที่เขียนไว้ในคืนก่อนให้ดียิ่งขึ้น  พอเรียนจบ เขาก็กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ  "ผมออกแบบคอมพิวเตอร์แบบเดียวกับบริษัทของผู้ผลิต  แต่ใช้ชิบน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง  แต่แบบทั้งหมดยังอยู่บนกระดาษ"  เขาไม่ไ้ด้บอกเพื่อน"

ในระหว่างการเรียนปีหนึ่งในมหาวิทยาลัย วอซเนียกก็ยังคงใช้เวลากับการทดลองสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ตามความคิดของตัวเอง  ทำเรื่องแผลงในมหาวิทยาลัย จนสอบตกหลายวิชา และถูกภาคทัณฑ์  และในเวลาปิดเทอมภาคฤดูร้อนในปีนั้น เขาก็ได้รับการแนะนำให้รู้จัก  สตีฟ จ็อบส์ เป็นครั้งแรก  สตีฟ นั้น อายุน้อย เป็นรุ่นน้องของเขา ๕ ปี  แต่ทั้งคู่มีความสนใจหลายอย่างที่ตรงกัน  ทำให้เขาคุยกันได้นาน และเข้าใจงานของกันและกัน  และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพอันยาวนาน และจุดกำเนิดของ บริษัท Apple ในเวลาต่อมา

หลังจากค้นพบคู่หูที่ความสนใจตรงกัน เด็กทั้งคู่ก็ร่วมกันสร้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์สนุกๆ เอาไว้แกล้งคน  ทำเพื่อความสะใจ ความสนุกสนานเท่านั้น ทั้งคู่ช่วยกันค้นคว้า สร้างสรรค์ผลงานด้วยกัน  จนวันหนึ่ง วอซเนียกได้อ่านหนังสือนิตยสาร Esquire ฉบับเดือนกันยายน 1971 บทความชื่อ "Secret of the Little Blue Box"  ซึ่งเป็นเรื่องราวของพวกแฮ็กเกอร์กับพวกแอบใช้โทรศัพท์ค้นพบวิธีโทรศัพท์ทางไกลแบบไม่ต้องเสียเงิน  โดยการเลียนเสียงสัญญาณโทรศัพท์บนโครงข่ายของ AT&T   เขารีบโทรไปเล่าให้ สตีฟ จ็อบส์ ซึ่งกำลังเรียนมัธยมปีสุดท้ายฟัง   ทั้งคู่จึงช่วยกันคิดสร้างประดิษฐ์ Blue Box ขึ้นมาด้วยความคะนอง และต่อมาก็กลายเป็นโครงการแรกที่ทำรายได้ให้กับเด็กหนุ่มทั้งสอง   จ็อบส์คิดว่า Blue Box ไม่ควรเป็นแค่งานอดิเรกไว้เล่นสนุกๆ น่าจะำทำขายได้

"ทั้งสองคนจะเดินไปเคาะประตูห้องพักนักศึกษาในหอพัก  ถามว่ามีใครอยากได้บ้าง สาธิตคุณภาพให้ว่าที่ลูกค้าดู โดยต่อ Blue Box กับเครื่องโทรศัพท์และลำโพง  แล้วโทรไปที่ไหนสักแห่ง เช่น โรงแรมริทซ์ในกรุงลอนดอน  หรือหมุนไปฟังเรื่องตลกทางโทรศัพท์ที่ dial-a-joke ในออสเตรเลีย จ็อบส์จำได้ว่า "เราทำบลูบ็อกซ์ประมาณ 100 กว่าชิ้น ขายได้เกือบหมด"

ประสบการณ์จากการทำ Blue Box ขายในวัยรุ่นนั้น ทั้งจ็อบส์ และ วอซเนียก เห็นตรงกันว่า มันเ็ป็นจุดที่สร้างความมั่นใจให้ทั้งสองคน  ทำให้พวกเขาได้รู้ว่า เขาทำอะไรได้บ้างกับความรู้ด้านวิศวกรรมของวอซเนียก และวิสัยทัศน์ของสตีฟ  ทั้งสองคนได้เรียนรู้วิธีที่จะทำงานร่วมกัน มั่นใจว่าพวกเขาสามารถแก้ไขปัญหาทางเทคนิคและนำไปผลิตได้   และโครงการสนุกๆได้เงินชิ้นแรกนี้ ทำให้ วอซเนียก ซึ่งเป็นอัจฉริยะผู้ขี้อายและสุภาพ. ซึ่งปกติจะ ยินดีที่จะยกสิ่งประดิษฐ์อันล้ำเลิศของตัวเองให้ใครๆก็ได้ฟรีๆ แต่คราวนี้ จ็อบส์จะเป็นคนคอยคิดว่า จะทำอย่างไรให้สิ่งประดิษฐ์์นั้นใช้งานง่าย ถูกใจคนใช้ ทักษะสองอย่างนี้ถูกนำมารวมกัน ผลิตสินค้าออกขายทำเงิน

อ่านมาถึงตอนนี้ มานึกถึงน้องๆ ที่กำลังเรียนอยู่หรือเรียนจบออกมาทำงานแล้ว หลายๆคน ก็ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ  อาจจะเป็นเพราะไม่มีโอกาส  ไม่มีเวลาได้ลองผิดลองถูกในการทำสิ่งที่ตัวเองคิด ตัวเองชื่นชอบ และใฝ่ฝันในวัยเด็ก  การที่เด็กๆ มีเวลาว่างมากพอ ที่จะมาฝึกหัด ทดลองทำอะไรสนุกๆ ที่ตัวเองชื่นชอบ สนใจเป็นพิเศษ  ก็อาจจะช่วยให้เขาค้นหาตัวเองได้เร็วขึ้น ไม่เปะปะ หาตัวเองไม่เจอ เพราะไม่เคยรู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบงานแบบไหน  น่าเสียดายที่เด็กไทยของเรา กลับไม่มีเวลาแม้แต่จะกินข้าว หรือนอนให้เต็มอิ่ม  การเรียนในโรงเรียนชื่อดังที่ไกลบ้าน ต้องเสียเวลาตื่นแต่เช้า ฝ่าการจราจรไปโรงเรียน และกลับค่ำมืด เพราะสภาพจราจร และการติวสารพัดแห่ง เพื่อให้เป็นเลิศด้านการสอบแข่งขัน  ทำให้เด็กๆ ไม่มีเวลาว่างในการค้นหาด้วยซ้ำว่า จริงๆแล้ว ตัวเองอยากทำอะไร อยากฝึกอะไร  อยากเป็นอะไร     เมื่อเรียนในระดับสูง เรียนจนจบ หรือใกล้จบ ก็พบว่า สิ่งที่เรียนมานั้น ไม่ใช่สิ่งที่อยากทำ  หรือ เมื่อทำงานแล้ว ก็ไม่สนุกกับงาน  ไม่มีความสุขกับงานที่ทำ เพราะตัวเองไม่มีความรัก พึงพอใจกับงานนั้นๆ

กว่าจะเป็นหนึ่งในตำนานของสตีฟ จ็อบส์ (4)



อีกสิ่งหนึ่งที่เหมือนๆกันในการหล่อหลอมอัจฉริยภาพด้านอิเล็กทรอนิคส์ในตัวของสตีฟ จ็อบส์ และ สตีเฟน วอซแนก  คือ "สิ่งแวดล้อม"    เด็กสองคน ที่ชื่นชอบและสนุกกับกิจกรรมยามว่างที่ได้ทำกับพ่อ ได้ดูพ่อทำงาน  ได้เรียนรู้ไปกับพ่อ  คงไม่มีโอกาสก้าวหน้าเหนือไปกว่าพ่อของเขาได้  หากเขา ไม่ไ้ด้อยู่ในสิ่งแวดล้อม ที่เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิคส์    การที่ำพวกเขาได้มีโอกาสพบปะ เพื่อนรุ่นพี่ รุ่นพ่อ รุ่นอา  ที่เป็นคนทำงานในแวดวงคอมพิวเตอร์ ทำให้พวกเขาได้เปิดโลกทัศน์ด้านการทำงาน   ได้ฟังผู้ใหญ่ปรึกษาหารือกัน ในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ  และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น  เด็กทั้งสอง ได้ซึมซับความรู้เหล่านี้ สั่งสมเป็นประสบการณ์ีที่ยาวนาน  แม้ว่าจะมีอายุน้อย เป็นเพียงวัยรุ่น เท่านั้น แต่ก็มีประสบการณ์ความรู้ ความสามารถ ไม่แพ้ผู้ใหญ่บางคน   และที่สำคัญ คือ โอกาสที่พวกเขาได้เข้าใกล้ชิดสิ่งแวดล้อม แวดวงผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้  บ่อยครั้ง เป็นสิ่งที่เด็กทั้งสอง ค้นคว้า ไขว่คว้า หาช่องทางเข้าไปศึกษาด้วยตัวของพวกเขาเอง

บ้านที่สตีฟ จ็อบส์ อาศัยอยู่ในวัยเด็กนั้น อยู่ในเขตจัดสรรแถว เมาเทนวิว  ทางตอนใต้ของ พาโล อัลโต และอยู่ไม่ไกลจาก ซิลิคอน แวลเลย์ ซึ่งอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีเกิดใหม่ กำลังเบ่งบานในย่านนั้น เพื่อนบ้านของเขา จึงเต็มไปด้วยคนที่ทำงานในอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิคส์ และคอมพิวเตอร์  เป็นผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ วิศวกร ในโรงงานต่างๆ   ในหนังสือประวัติสตีฟ จ็อบส์ ของ วอลเตอร์  ไอแซคสัน ได้พูดเรื่องนี้ว่า

"จ็อบส์ก็เหมือนเด็กอีกหลายคนที่ได้รับอิทธิพลจากผู้ใหญ่ที่อยู่รอบๆตัว "หัวหน้าครอบครัวส่วนใหญ่ที่อยู่แถวบ้าน เป็นคนมีฝีมือทำงานละเอียดมาก ไม่ว่าจะเป็นโซลาเซล แบตเตอรี่ หรือ เรดาร์  ผมโตมากับของพวกนี้  ผมถามผู้ใหญ่อยู่เรื่อยว่า มันคืออะไร"  เพื่อนบ้านคนสำคัญคนหนึ่ง คือ แลรี่ แลงก์  ทีอยู่ถัดจากบ้านจ็อบส์ไป 7 หลัง  เขาเล่าให้ฟังระหว่างเราเดินไปที่บ้านของแลรี่ว่า "แลรี่ เป็นแบบอย่างของผมว่า วิศวกร HP ควรเป็นอย่างไร  เขาเป็นนักวิทยุสมัครเล่นมือเก่า เป็นช่างอิเล็กทรอนิคส์ ระดับฮาร์ดคอร์เลยทีเดียว  เขามักจะมีของติดมือมาให้ผมเล่นเสมอ"

การที่ได้ใกล้ชิด แลรี่ แลงก์ วิศวกรของ HP ในวัยเด็ก และเป็นคนที่เขาโปรดปราน นำพาชีวิตของสตีฟ จ็อบส์ ให้เข้าใกล้แหล่งความรู้ที่ยิ่งใหญ่ด้านคอมพิวเตอร์ในยุคนั้น คือ Hewlett-Packard หรือ HP  ในตอนช่วงมัธยมต้น แลงก์ ได้พาสตีฟ ไปร่วมกิจกรรม Hewlett-Packard Explorers Club ที่จัดเป็นประำจำทุกค่ำวันอังคารที่ร้านอาหารของบริษัท  จะมีนักเรียนราว 15 คนมาร่วมกิจกรรม

"จ็อบส์เล่าว่า "แต่ละครั้งจะมีวิศวกรจากแล็บมาคุยให้พวกเราฟังว่า เขากำลังทำอะไรกันอยู่  พ่อจะขับรถไปส่ง ผมสนุกมาก HP เป็นผู้บุกเบิกหลอดไดโอดเปล่งแสง (light emitting diodes)  เราคุยกันว่า จะเอามันมาทำอะไรดี...แตสิ่งที่ยังคงประทับใจอยู่จนบัดนี้ คือ การที่เขาได้เห็นเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่ HP กำลังพัฒนา  "ผมเห็น Desk top Computer เครื่องแรกที่นั่น มีชื่อว่า 9100A   เป็นเครื่องคิดเลขที่ยอดมาก  แต่ก็เป็น Desk Top Computer จริงๆ เครื่องแรกด้วย ขนาดใหญ่มาก หนักประมาณ 40 ปอนด์เห็นจะได้ สวยมาก ผมหลงรักมันทันที"

การร่วมกิจกรรม Hewlett-Packard Explorers Club ได้เปิดโอกาสให้เด็กๆที่เข้าร่วมกิจกรรมได้ทำโปรเจค ในขณะที่ทำชิ้นงาน  สตีฟต้องการอะำไหล่บางอย่างในการผลิตชิ้นงาน ซึ่งเป็นอะไหล่ที่ HP ผลิต  เขาจึงเปิดสมุดโทรศัพท์ เพื่อหาเบอร์โทรศัพท์ของ บิล ฮิวเล็ตต์ CEO ของ HP เพื่อขออะไหล่ที่เขาต้องการ สตีฟ จ็อบส์เล่าว่า

"สมััยนั้นสมุดโทรศัพท์พิมพ์เบอร์โทรศัพท์ทุกเบอร์  ผมเลยหาชื่อบิล ฮิวเล็ตต์ ในพาโล อัลโต  โทรไปหาเขาที่บ้าน  เขารับสาย และคุยกับผมอยู่ตั้ง 20 นาที เขาให้อะไหล่ตามที่ผมต้องการ แถมยังให้งานผมทำในโรงงานผลิตเครื่องวัดความถี่ด้วย จ็อบส์ทำงานที่นั่น ระหว่างปิดภาคฤดูร้อน  หลังจากเรียนจบปีแรก ที่ Homestead High "พ่อจะขับรถไปส่งตอนเช้าและมารับทุกเย็น"

เล่ามาถึงตอนนี้ เราจะเห็นเรื่องราวหลายแง่มุม  ทั้งในแง่ความรักของผู้เป็นพ่อของพอล จ็อบส์  แม้ไม่ใช่พ่อบังเกิดเกล้า  แต่ เขาก็ให้ความรัก ความเอาใจใส่ และเปิดโอกาสให้ลูกชาย ค้นหาสิ่งที่ตนเองต้องการ ตามหาฝันของตน โดยไม่ขัดขวาง แต่กลับให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ นี่เป็นเรื่องที่ซาบซึ้งมากค่ะ

อีกมุมหนึ่ง คือ เห็นนิสัยความกล้าแสวงหาโอกาสของสตีฟ จ็อบส์  มาอ่าเรื่องราวตอนนี้ สตีฟ จ็อบส์เพิ่งเรียนมัธยมปลายเป็นปีแรก คือ ประมาณ ม.ต้น  เกรด 8 ของฝรั่ง ก็นะจะประมาณ ม.๒  หรืออายุ อาจจะแค่เพียง 12 ปีเท่านั้น แต่เขากล้าโทรศัพท์ โทรไปหา CEO ผู้ยิ่งใหญ่ของ HP  เพื่อขอชิ้นส่วนอะไหล่มาทำงานประดิษฐ์ของเขา   ในขณะเรามามองเด็กมัธยมบ้านเรา  ม.ต้น เด็กอาจจะยังไม่สามารถทำการบ้านด้วยตัวเองได้ด้วยซ้ำ หากไม่มีพ่อแม่ ไม่มีติวเตอร์คอยช่วยเหลือ   ในวัย ม.๒  เด็กฝรั่งอย่างสตีฟ จ็อบส์ เขาเริ่มทำงาน Part-time กันแล้ว  แต่เด็กไทยเรา จบมหาวิทยาลัย ก็ยังขอเงินพ่อแม่อยู่เลยค่ะ  อ่านแล้วอึ้งไปเหมือนกัน คิดถึงอนาคตของชาติมันดูมืดมน  หากเราไม่ช่วยกันเปลี่ยนวิธีสอนลูก

หน้าที่ของสตีฟ จ็อบส์ ใน HP นั้น เป็นงานง่ายๆคือ" แค่วางน็อตกับสกรูลงบนของ"   ดังนั้น เ่ท่าที่ดิฉันเดา คือ บิล ฮิวเล็ตต์ คงพึงพอใจความกล้า ความสนใจใคร่รู้และรักในอิเ็ล็กทรอนิคส์ของเขา  จึงมอบโอกาสที่แสนวิเศษให้สตีฟ จ็อบส์ ได้มีโอกาสมาสัมผัส เรียนรู้การทำงานอย่างใกล้ชิด เป็นการต่อยอดความรู้ของเด็ก  และที่นี่ สตีฟ จ็อบส์ได้มีโอกาสได้พบปะคนทำงาน พี่ๆนักวิศวกรของ HP  

"จ็อบส์ผูกมิตรกับวิศวกรที่ทำงานชั้นบนได้ดีกว่า "บนนั้นมีกาแฟกับโดนัทเสิร์ฟทุกวันตอนสิบโมงเช้า ผมเลยชอบขึ้นไปข้างบนคุยเล่นกับพี่ๆวิศวกร"

ในระหว่างที่เรียนมัธยม  สตีฟ จ็อบส์ ได้ทำงานหลายอย่างในเวลาว่าง เขาเคยเป็นคนส่งหนังสือพิมพ์   ตอนที่เรียนในเกรด 11 หรือ ม.5 เขาทำงานช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์และปิดเทอมเป็นเสมียนคุมสต็อกสินค้าที่ร้านขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ขนาดมหึมาที่ขื่อ Haltek  เขาสนุกสนานกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์พวกนี้มาก ที่นี่จ็อบส์ ได้สะสมความรู้เรื่องชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ ต่อรองราคาแล้วนำมาขายทำกำไร  เขาไปตลาดนัดขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ เช่น ที่ซาน โฮเซ่ หาแผงวงจรใช้แล้วที่มีชิปหรือชิ้นส่วนที่มีค่าแล้วนำมาขายให้ผู้จัดการที่ร้าน Haltek

เขียนมาถึงตอนนี้ มาคิดถึง สตีฟ จ็อบส์ ก่อนที่จะมาเป็นผู้มีความรอบรู้เชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์ไอที จนมีความสามารถในการพัฒนา ผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับได้ขนาดนี้  เขาได้ผ่านการบ่มเพาะ สร้างสมประสบการณ์จากกูรูผู้เชี่ยวชาญที่เขาได้ใกล้ชิด   การลงมือทำงานจริงๆ ตั้งแต่ในวัยเด็กก็ว่าได้  มามองปัญหาของเด็กสมัยนี้ หรือคนทำงานจำนวนมาก  เรียนจบออกมา อยากได้งานดีๆ ตำแหน่งสูงๆ มีแต่ความรู้ มีแต่ใบปริญญา เหรียญรางวัล  มีแต่ Idea ไม่มี Ido   เมื่อมาทำงาน ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว  เพราะไม่มีความสามารถในการทำงานที่แท้จริง  

หากเรายินยอมให้ลูกๆของเรา  หรือเปิดโอกาสให้เด็กๆชั้นมัธยมของเรา ได้มีโอกาสหางานทำในบริษัท ห้างร้านในช่วงปิดเทอม หรือวันหยุด  จะเป็นการเปิดโลกอาชีพให้เด็กๆ ได้ลองค้นหาตัวเองว่า ตัวเองนั้นชอบหรือไม่ชอบทำอะไร  อยากทำงานด้านไหน  และสามารถสั่งสมความรู้ ประสบการณ์ด้วยการลงมือทำจริงและเรียนรู้จากคนในสายงานนั้น จะเป็นประโยชน์มากกว่า การเอาเด็กไปเรียนพิเศษ  กวดวิชา เช้าจรดเย็นในห้องสี่เหลี่ยม หรือ พาไปสอบในสนามต่างๆ เพราะในชีวิตจริงๆของคนเรานั้น มีเหลี่ยมมีมุม   ไม่ใช่ราบเรียบ เหมือนแผ่นกระดาษแบนๆ ที่นำมาใช้ทดสอบความสามารถของเด็กค่ะ

กว่าจะเป็นหนึ่งในตำนานของสตีฟ จ็อบส์ (3)



เล่าเรื่องพ่อบุญธรรมของสตีฟ จ็อบส์ ที่เป็นแบบอย่างที่ดี และเป็นคนหล่อหลอม ปลูกฝังนิสัยการชื่นชอบเครื่องยนต์กลไก และชื่นชอบอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ให้กับเขา  ก็ต้องเอาเรื่องอีกหนึ่งหนุ่ม ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท Apple ในยุคบุกเบิก คือ สตีเฟน วอซเนียก  ในการก่อตั้งบริษัท Apple ในยุคแรกนั้น มีผู้ถือหุ้นหลักสามคน คือ สตีฟ จ็อบส์   สตีเฟน วอซเนียก และ รอน เวย์น   ในสัดส่วน  45: 45: 10   แต่ภายหลัง รอน เวย์น ได้ตัดสินใจขายหุ้นให้กับเพื่อนทั้งสองของเขา ด้วยความที่เขาไม่มีนิสัยรักความเสี่ยงทางธุรกิจ

สตีเฟน วอซเนียก เป็นอัจฉริยะทางอิเล็กทรอนิคส์  เขาเป็นเซียนอิเล็กทรอนิคส์ระดับติดดาวของโรงเรียนมัธยม  Homestead High  เป็นเพื่อนรุ่นพี่ของสตีฟ จ็อบส์ 5 ปี สองคนมีความสนิทสนมกัน เนื่องจากมีความชื่นชอบในอิเล็กทรอนิคส์เหมือนกัน และมีรสนิยมหลายๆเรื่องที่คล้ายคลึงกัน วอซเนียก เป็นคนที่ออกแบบแผงวงจรอิเล็กทรอนิคส์ที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ของ Apple ในยุคแรก   จุดกำเนิดแห่งความสนใจด้านอิเล็กทรอนิคส์  จนกระทั่งทำให้เขากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ และสร้างสรรค์ผลงานอันน่าทึ่งซึ่งจุดเริ่มต้นของผลิตภัณฑ์ Apple ก็คือ พ่อของเขาเช่นกัน

พ่อของสตีเฟน วอซเนียก เป็นวิศวกรที่จบจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอเนีย (Cal Tech) เขายกย่องวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ดูถูกนักธุรกิจ นักการตลาด และนักขาย  เขาทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ Lockheed สร้างระบบขีปนาวุธนำวิถี  ซึ่งมุมมองของเขา ต่อการทำธุรกิจ และนักธุรกิจของเขา ก็หล่อหลอมนิสัยของ สตีเฟน วอซเนียก ในยามเติบโตเช่นกัน  เขาเล่าว่า

"ผมจำไ้ด้ พ่อสอนผมเสมอว่า วิศวกรรมเป็นศาสตร์ชั้นสูงที่สำคัญที่สุดเท่าที่เราจะเรียนได้ในโลกใบนี้  เป็นวิชาที่ช่วยพัฒนาโลกเราให้ดีขึ้น"  หนึ่งในความทรงจำแรกๆของวอซเีนียกในวัยเด็ก  คือการได้ไปที่ทำงานของพ่อในวันสุดสัปดาห์ และพ่อหยิบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ให้ดู  "พ่อวางชิ้นส่วนพวกนั้นไว้บนโต๊ะ ให้ผมเล่น" เขานั่งดูพ่อทำงานอย่างฉงนฉงายที่เห็นพ่อพยายามทำให้เส้นรูปคลื่นบนจอวีดีโอให้อยู่เป็นเส้นตรงแนวนอน  เพื่อโชว์ว่าวงจรที่เขาออกแบบทำงานได้ผล "ผมได้เห็นว่าอะไรก็ตามที่พ่อทำ  มันเป็นเรื่องดีและสำคัญทั้งนั้น"  วอซ มักจะถามพ่อเรื่องตัวต้านทาน และทรานซิสเตอร์ที่วางอยู่ในบ้าน พ่อจะเอากระดานดำมาเขียนอธิบายให้ฟังว่ามันทำงานอย่างไร เขาเล่าว่า  "พ่อจะอธิบายให้ฟังว่าตังต้านทานคืออะไร อธิบายย้อนไปถึงเรื่องอะตอม กับอิเล็กตรอน  ตอนผมเรียนอยู่เกรด ๒ ท่านอธิบายให้ฟังว่า ตัวต้านทานทำงานอย่างไร ไม่ใช่ด้วยการเขียนสมการให้ดู แต่ให้ผมนึกภาพเอา"

อ่านเรื่องราวข้างต้นที่  วอลเตอร์ ไอแซคสัน ได้เขียนเรื่องความทรงจำในวัยเด็กของ สตีเฟน วอซเนียก จะเห็นได้ว่า  มีความคล้ายคลึงกันที่พ่อของทั้งคู่ ต่างเปิดโอกาสให้ลูกของตนได้ติดตาม มองเห็นการทำงานของพ่อ พ่อได้เล่าเรื่องราว การทำงาน และทำงานให้ลูกเห็นเป็นแบบอย่าง  ในระหว่างที่ทำงาน ก็อนุญาตให้เด็กๆได้สัมผัส จับต้องลองทำไปด้วย  และเมื่อลูกมีคำถาม ก็ใ้ห้คำชี้แนะ อธิบาย อย่างหมดจรด กระจ่าง  ความอบอุ่นในวัยเด็ก ในยามที่ได้ใกล้ชิดพ่อ ได้เรียนรู้จากพ่อด้วยความรัก  เป็นความทรงจำที่ประทับแน่นในความรู้สึกของ สตีฟ จ็อบส์ และ สตีเฟน วอซเนียก  จนทั้งสองคนได้นำมาบอกเล่าให้ วอลเตอร์ ไอแซคสัน ได้นำมาถ่ายทอดในหนังสือเล่มนี้  และมันเป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจในการทำงานด้านอิเล็กทรอนิคส์  และการสร้างสรรค์นวัตกรรมแห่งยุคในเวลาต่อมา

แม้ว่าสตีฟ จ็อบส์ และสตีเฟน วอซเนียก จะมีอะไรที่คล้ายคลึงกัน แต่ทั้งคู่ก็มีนิสัยบางอย่างที่แตกต่างกันมาก วอซเนียกจะมีบุคลิกภาพขี้อาย เคอะเขินเวลาเข้าสังคม พูดไม่เก่ง  เขาบอกว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้เขามีบุคลิกแบบนี้ ซึ่งตรงข้ามกับสตีฟ จ็อบส์ คือ พ่อของเขาเน้นเรื่อง ห้ามโกหก

  "พ่อเชื่อเรื่องความซื่อสัตย์อย่างที่สุด เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ท่านสอนผม ผมไม่เคยโกหก แม้กระทั่งทุกวันนี้"   นอกจากนั้น เจอรี่ (พ่อของสตีเฟน วอซเนียก) ยังปลูกฝังลูกชายไม่ให้ทะเยอทะยานอยากจนเกินไป  ซึ่งเป็นลักษณะที่ตรงกันข้ามกับสตีฟ จ็อบส์  หลังจากรู้จักกันมา 40 ปี วอซเนียกพูดถึงความแตกต่างข้อนี้ในงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของ Apple ในปี 2010 ว่า "พ่อสอนให้ผมเดินทางสายกลางเสมอ  ผมไม่เคยนึกอยากขึ้นไปอยู่สูงๆ  เหมือนสตีฟ  พ่อผมเป็นวิศวกร  และผมก็อยากเป็นวิศวกรเหมือนกัน ผมขี้อายเกินกว่าจะเป็นผู้นำธุรกิจอย่างสตีฟ"

บุคลิกภาพ และความรู้สึกนึกคิดของสตีเฟน วอซเีนียก ที่ได้มาจากการอบรมบ่มเพาะของพ่อนั้น ทำให้เขาเป็นส่วนผสมที่ลงตัว ในการทำธุรกิจร่วมกับสตีฟ จ็อบส์  เพราะวอซเีนียก สร้างผลงานอันมาจากความคิดชั้นเลิศ  ที่ขายได้ แต่เจ้าตัวไม่คิดจะขาย คิดแต่จะทำเพื่อความสนุกท้าทาย หรือ ทำเพื่อแจกฟรีเป็นวิทยาทาน  แต่จ็อบส์ สามารถช่วยวางกลยุทธ์ในการทำรายได้จากผลงานนั้น  และจ็อบส์ ก็มีความสามารถ และความกล้าในการโฆษณา ขายของอีกด้วย

เรื่องราวของวอซเีนียก ผู้ก่อตั้งอีกคนหนึ่งของบริษัท Apple  เป็นตัวอย่างที่ยืนยันความสำคัญของผู้ที่เป็นพ่อแม่  หากพ่อแม่ได้เปิดโอกาสให้ลูกได้ใกล้ชิด ได้สัมผัสชีวิตการทำงาน ความรับผิดชอบของพ่อแม่บ้าง  เด็กๆจะมีโอกาสได้ลองสัมผัสอาชีพการงานของผู้ใหญ่ ได้เห็นความสำคัญของความรับผิดชอบ ได้เรียนรู้ว่างานแต่ละงานมีความยากลำบาก และต้องมีทักษะอะไรในการจะประสบความสำเร็จในงานนั้นๆได้  ซึ่งอาจจะเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้เขาได้ค้นพบตัวเองว่า ตัวเองนั้นมีเป้าหมายในชีวิตเป็นอย่างไร  ชอบทำอะไร ไม่ชอบทำอะไร  และ สามารถหล่อหลอมสร้างนิสัยที่นำพาไปสู่ความสำเร็จในอาชีพนั้นๆไ้ด้

กว่าจะเป็นหนึ่งในตำนานของสตีฟ จ็อบส์ (2)


ชีวิตในวัยเด็กของสตีฟ จ็อบส์ เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ ในหลายๆแง่มุม  ดิฉันไม่ติดใจเท่าไหร่นักในความฉลาดปราดเปรื่อง เป็นนอกกรอบของเขา เพราะเป็นเรื่องที่เคยอ่าน เคยเขียนถึงไปแล้ว  แต่ดิฉันสนใจการดูแลของคุณพ่อคุณแม่บุญธรรมของเขา ที่รู้จักผ่อนสั้น ผ่อนยาว อดทนกับความ "เฮี๊ยว" และ "เซี๊ยว" ของเขา  รวมทั้งความ "โชคดี" ของเขา ที่เขาเผอิญ ได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้เขา มีโอกาส สร้างทักษะ ความรู้ ความสามารถ ด้านไอที ของเขา ตั้งแต่เล็กๆ  และเขาเองก็ฉลาดพอ ทีจะทุ่มเทเวลา ในการฝึกฝน เรียนรู้ในสิ่งที่เขาชื่นชอบ

คนที่มีปัญหาแบบสตีฟ จ็อบส์นี่ ในโลกนี้ก็มีมากมาย  การนำพาชีวิตไปสู่แวดวงยาเสพติดก็มีมากจนเป็นปัญหาระดับโลกก็ว่าได้  แต่จะมีสักกี่คน ที่มีโอกาส กลับมายืนได้ และมีความสามารถในการสร้างผลงานที่แตกต่าง สร้างตำนานให้กับโลกเหมือนสตีฟ จ็อบส์ ซึ่งสิ่งที่ทำให้เขา มีโอกาสกลับมาเป็นผู้เป็นคน ประสบความสำเร็จในชีวิต  ก็คือทักษะ ความรู้ ความสามารถด้านไอที ที่เขาสร้างสม บ่มเพาะมาตั้งแต่เยาว์วัยนั่นเอง

พอล จ็อบส์ พ่อบุญธรรมของสตีฟ จ็อบส์ เป็นคนที่ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย  เขาเติบโตในครอบครัวที่ยากจน และเติบโตมาในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง เรียนจบเพียงชั้นมัธยม และออกมาทำงานด้านการซ่อมเครื่องยนต์  เมื่อเขาแต่งงานกับภรรยาได้ ๙ ปี ทั้งคู่ไม่มีบุตร แต่มีความพร้อมที่จะสร้างครอบครัวที่อบอุ่นของตนเอง เขาจึงรับสตีฟ จ็อบส์มาเลี้ยง ด้วยความรัก

ตอนอายุได้ประมาณ  6 ปี พ่อของสตีฟ จ็อบส์ ได้ย้ายงาน และย้ายที่อยู่นอกเมือง  และเขาได้ปลูกฝังความรู้เรื่องเครื่องยนต์ให้กับลูกของเขา  พ่อของเขาได้แบ่งที่ทำงานบนโต๊ะทำงานของเขาในโรงรถ ให้กับสตีฟ จ็อบส์  เขาบอกลูกว่า

"สตีฟ ตรงนี้ เ็ป็นโต๊ะทำงานของลูกนะ"

"จ็อบส์จำได้ดีว่า เขาทึ่่งมากที่พ่อสนอกสนใจเรื่องานฝีมือ เขาเล่าว่า "พ่อมีความรู้เรื่องการออกแบบดีมากเลย  พ่อรู้วิธีทำอะไรหลายอย่าง ถ้าเราอยากได้ตู้สักใบ พ่อก็จะทำให้ ตอนพ่อสร้างรั้วบ้าน พ่อส่งค้อนให้ผมช่วยทำงานด้วย"

การที่พ่อของสตีฟ จ็อบส์ ให้โอกาสได้ใกล้ชิดกับเขา ด้วยการมีโต๊ะทำงาน ที่ลูกชายจะสามารถสังเกตการทำงานของเขา ได้เรียนรู้ทักษะต่างๆทีละเล็กละน้อย  และการเปิดโอกาสให้ลูกได้ช่วยงาน ได้ลองทำด้วยตนเอง  นอกจากจะเป็นการลงมือทำงานแล้ว  ยังสร้างความเชื่อมั่นในตนเองให้กับลูกชายด้วย  เรียกว่า ไม่ได้มี แค่ " Idea " เหมือนเด็กสมัยนี้  แต่มี "I do" ด้วย

ผู้เขียน คือ วอลเตอร์ ไอแซคสัน ได้กล่าวในหนังสือตอนหนึ่งว่า

"เพราะ เรื่องรถยนต์ จ็อบส์ จึงได้เรียนรู้เรื่องอิเล็กทรอนิคส์จากพ่อ  "พ่อไม่ได้รู้เรื่องอิเล็กทรอนิคส์ อย่างลึกซึ้งนักหรอก แต่ต้องเจอกับเรื่องพวกนี้เยอะเวลาซ่อมรถ หรือซ่อมอะไรอย่างอื่น พ่อเป็นคนสอนให้ผมรู้พื้นฐานเกี่ยวกับอิเลคทรอนิคส์ ซึ่งผมสนใจมาก"   ที่น่าสนุกยิ่งกว่านั้น คือ การได้ออกไปตะลุยหาซื้ออะไหล่กับพ่อ...  พ่อเป็นคนต่อราคาเก่ง พ่อมีความรู้ดีกว่าคนขาย รู้ว่าอะไรควรมีราคาเท่าไหร่"

จากข้อความนี้ จะเห็นได้ว่าการเติบโตอย่างใกล้ชิดคุณพ่อ (ผู้เป็นแบบอย่างที่ดี)  ทำให้สตีฟ จ็อบส์ ได้ซึมซับเรียนรู้วิธีการทำงาน  ตลอดจนการคิดคำนวณราคา ต้นทุนไว้อย่างเชี่ยวชาญ   ตอนที่สตีฟ จ็อบส์ เติบโตเป็นวัยรุ่น  เขาได้ใช้ทักษะ การคำนวณต้นทุน การตั้งราคา ในการทำธุรกิจสมัครเล่นครั้งแรกของเขา  ในครั้งนั้น เขาและวอซ ประดิษฐ์เครื่อง Bluebox  สิ่งประดิษฐ์อุปกรณ์ปลอมสัญญาณโทรศัพท์แบบดิจิทัล ออกมาเล่นสนุกๆ  ตอนนั้นทั้งสองคนมีอายุ สิบกว่าปีเท่านั้น ในตอนนั้น จอบส์ กำลังเรียนในชั้นมัธยมปลาย  เขาเริ่มมีความคิดว่ามันไม่ควรจะเป็นแค่งานอดิเรกไว้เล่นสนุกๆ น่าจะทำขายได้ เขาจึงได้คำนวณต้นทุน และตั้งราคาขาย

วอลเตอร์ ไอแซคสันกล่าวในหนังสือว่า "บทบาทนี้คือสิ่งที่เขาทำเมื่อตั้งบริษัท Apple ผลงานที่สำเร็จออกมามีขนาดเท่าไพ่สองสำรับ ต้นทุนอุปกรณ์และชิ้นส่วนทั้งหมดประมาณ 40 เหรียญ จ็อบตั้งราคาขายที่ 150 เหรียญ"

สรุปในประเด็นนี้ ดิฉันมีความเชื่อว่า พื้นฐานความรัก และการปลูกฝังที่คุณพ่อบุญธรรมของสตีฟ จ็อบส์ ได้ให้เขาในวัยเด็ก  ได้สร้างพื้นฐานความชื่นชอบด้านเครื่องยนต์กลไก และอิเลคทรอนิคส์ให้กับเขา และเปิดโอกาสให้เขา ไ้ด้มีโอกาสใกล้ชิดผู้ที่มีความรู้ และแหล่งความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ และอิเลคทรอนิคส์ในภายหลัง และพ่อของเขาไ้ด้ทักษะด้านการคำนวณต้นทุน การตั้งราคาสินค้า ให้กับเขาทางอ้อม ด้วยการพาไปดู และให้ลูกได้มีโอกาสติดตาม ดูการทำงานของพ่ออย่างใกล้ชิด  ที่สำคัญคือ พ่อของเขาไม่ได้สอนลูกด้วยหนังสือ หรือการพูด Lecture แต่ประการเดียว  แต่เปิดโอกาสให้ลูกได้ลงมือปฎิบัติในสิ่งที่คิด  ไม่ใช่สักแต่คิดอย่างเดียว ปฎิบัติไม่ได้  

นี่เป็นประเด็นแรกที่ดิฉันตั้งข้อสังเกต กว่าจะมาเป็นหนึ่งในตำนานของสตีฟ จ็อบส์ นี่ การกระทำของพ่อเป็นจุดสำคัญจุดแรกเลยทีเดียว   สังเกตว่า สตีฟ จ็อบส์ รักคุณพ่อคุณแม่บุญธรรมของเขามาก  ในระหว่างที่เขาเดินหลงทางชีวิตในช่วงวัยรุ่น  หลายๆครั้ง การระลึกถึงความรัก ความห่วงใย และความทุ่มเท ที่พ่อแม่บุญธรรม ทำให้เขามาชั่วชีวิต  เป็นตัวเหนี่ยวรั้งสติของเขา ให้หันกลับมาจากความหลงผิดเหมือนกัน


มานั่งคิดถึงพ่อแม่สมัยนี้ ที่ไม่มีเวลาให้ลูก  ลูกๆไม่มีโอกาสได้ดูพ่อแม่ทำงาน ไม่มีโอกาสได้ลองทำงาน แม้กระทั่งช่วยเหลือตนเอง เด็กๆมีหน้าที่แค่เรียนหนังสือ ไปเรียนพิเศษ กวดวิชา ท่องจำเพื่อการสอบแข่งขัน เช้าจรดเย็นใช้ชีวิตในห้องเรียน สุดสัปดาห์ใช้ชีวิตในห้างสรรพสินค้า   ไม่เคยฝึกงานบ้าน ไม่เคยเก็บกวาดบ้าน อย่าว่าแต่ได้คิดประดิษฐ์อะไร  แม้แต่การเรียนกวดวิชาสมัยนี้ จะเจอครูเป็นๆยังน้อย วันๆได้แต่ฟังการสอน ทางวีดีโอ  อัจฉริยะไม่ได้ถูกพัฒนา แต่ถดถอย เพราะพ่อแม่ใช้เทคโนโลยีในการเลี้ยงลูก น่าเศร้าค่ะ

วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

กว่าจะเป็นหนึ่งในตำนานของสตีฟ จ็อบส์ (1)






ตอนแรกที่เห็นหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้มีความคิดที่จะซื้อมาอ่านเลย เพราะดิฉันเอง ก็ไม่ไ้ด้เป็นสาวกของพวก แก็ตเจ็ตอะไรพวกนี้ ใช้ก็ไม่ค่อยเป็น แต่เคยอ่านเรื่องราวของสตีฟ จ็อปส์ในหลายๆที่ และมีบางตอน ดิฉันเองก็ได้นำบทสุนทรพจน์ของเขา มาแบ่งปันให้เพื่อนๆพ่อแม่อ่าน เพราะเขาเป็นหนึ่งในผู้ที่ประสบความสำเร็จ โดยไม่ต้องมีปริญญา ความนอกกรอบของเขา ทำให้เขาสามารถสร้างความแตกต่างให้เพื่อนมนุษย์ได้ด้วยการสร้างสิ่งที่ คนในยุคปัจจุบันหลงใหล คลั่งไคล้ เป็นการเปลี่ยนโลกไอทีในปัจจุบันก็ว่าได้ แต่ดิฉันก็ไม่รู้ว่า อีก 20-30 ปี ในวันที่เทคโนโลยี จะล้ำหน้าไปกว่านี้อีกมาก จะมีใครที่จำเขาได้หรือไม่ หากไม่มีหนังสือเล่มนี้

แต่เมื่อได้อ่านบทความในกรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ ทำให้อดซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านไม่ได้ เพราะสัมผัสได้ว่า เป็นความตั้งใจของเขา ที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของเขา ชนิดหมดเปลือก เพื่อเป็นบทเรียน หรือ เพื่อเป็นอุทาหรณ์ในหลายๆแง่มุม ให้กับคนเป็นพ่อแม่ ให้กับคนทำงาน  เรื่องราวชีวิตและความล้มเหลวของเขา ถูกถ่ายทอดชนิดที่แทบจะไม่ปิดบังจากมุมมองของเขา และคนที่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องราวที่น่าศึกษา และติดตาม พ่อแม่อย่างเรา สามารถเรียนรู้ได้มากมาย เกี่ยวกับการอบรมดูแลลูก มีหลายตอนทีอ่านแล้ว ต้องถามตัวเองว่า หากเรามีลูกที่เป็นแบบนี้ เราจะทำใจได้อย่างไร ต้องชื่นชมพ่อแม่ของสตีฟ จ็อบส์ ว่า สุดยอดมากๆ เสียตายที่ตายไปซะก่อน อยากสัมภาษณ์ว่าทำใจได้อย่างไรที่ลูกเดินเส้นทางชีวิตที่เหมือนอยู่บนปากเหวแบบนั้น

ในเรื่องราวที่ดิฉันอยากแบ่งปัน ในบทความนี้ เป็นเรื่องราวของสตีฟ จ็อบส์ในวัยเด็ก ที่หล่อหลอมตัวตน ความคิดของเขา หนทางที่เค้าใช้ในการค้นหาตัวเอง จนในวันที่เขาค้นพบตัวเอง และเบ่งบาน จุดเริ่มต้นของธุรกิจ Apple ที่โด่งดัง  เพราะในเรื่องราวของจุดเริ่มต้นนี้ เป็นจุดสำคัญที่เพื่อนๆพ่อแม่ และเด็กๆ ที่อยู่ในวัยค้นหาตัวเอง ควรจะมีโอกาสเรียนรู้  บทเรียนที่เจ็บปวดของเขา และความมานะ พยายาม การฝ่าฟันของสตีฟ จ็อบส์ และความอดทน อดกลั้น ความทุ่มเทของพ่อแม่ของเขา ที่ทำให้เขามีวันที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต ในวันที่ ๕ สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา

สตีฟ จ็อบส์ ได้เคยกล่าวกับผู้ใกล้ชิดว่า สิ่งที่เค้าค้นพบตั้งแต่เป็นวัยรุ่น ติดยาเสพติด คือ" การได้มีโอกาสสร้างสรรค์งานอันยิ่งใหญ่  ไม่ใช่เอาแต่หาเงิน ผมอยากให้ผลงานที่ผมสร้่างเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ และความทรงจำของมนุษย์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้"

เมือไม่นานมานี้ ก็มีศิลปินผู้โด่งดังในเมืองไทยท่านนึง ก็มีปัญหาเรื่องยาเสพติด  คนติดยาเสพติดนั้นส่วนมากก็ฝันเฟื่องที่จะสร้างผลงานอิสระ หลุดโลก ที่เป็นสุดยอดในตำนาน แต่ไม่ใช่คนทุกคน และเชื่อว่ามีน้อยคน ที่จะโชคดีที่ทำได้อย่างที่ตัวเองคิด เหมือนสตีฟ จ็อบส์  แต่เรื่องราวนี้ เป็นเรื่องราว ที่เราในฐานะพ่อแ่ม่ ควรที่จะได้เรียนรู้ หากคนในครอบครัวหรือลูกหลาน  ต้องพานพบใกล้ชิดกับสิ่งเหล่านี้  เราจะต้องรับมืออย่างไร  ที่จะประคับประคองให้ผู้เป็นที่รัก หลุดออกจากวงจรของมัน และสามารถไปตามความฝันอันยิ่งใหญ่ของเขาได้มากที่สุด   เพราะหากเราไม่สามารถช่วยกันอดทน ประคับประคองจน ผู้เสพยาให้สามารถฝ่าความอำนาจอันรุนแรงของยานั้นออกมาได้ แทนที่จะได้อัจฉริยะมีหนึ่งคน เราอาจจะได้ ปัญหายิ่งใหญ่ให้สังคมในอนาคตก็ได้








วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

เรื่องเล่าจากคุณแม่ปากเปราะ ถึงคุณแม่จอมเฮี๊ยบ (ุึจบ)

แม่เสือสอนลูก - Battle Hymn of  the Tiger Mother


ดิฉันเป็นเหมือน ลูลู ลูกสาวคนเล็กของเอมี่ค่ะ พี่น้องบางคนก็เป็นเหมือนลูกสาวคนโต โซเฟีย ประสบความสำเร็จ สุขสบายแต่เค้าก็ไม่มีความสุขหรอกค่ะ มีเพื่อนหลายคนก็เป็นเหมือนโซเฟีย ประสบความสำเร็จมหาศาล แต่ไม่มีความสุข เพราะเค้าบอกว่า เค้าไม่เคยรู้สึกว่า เค้าได้เลือกเอง ไม่รู้ว่า อะไรที่ทำให้เค้าสนุกที่จะทำ นอกจากทำตามหน้าที่ และกลัวว่า หากพ่อแม่ตาย ไม่อยู่ที่จะสั่งให้เค้าทำโน่นนี่ เค้าจะรู้ไม๊ ว่าเค้าควรทำ หรือไม่ควรทำอะไร 


คนที่เป็นแบบโซเฟีย คือ พี่น้องบางคนของดิฉัน หรือเพื่อนที่เป็นแบบนี้ เค้าอิจฉาดิฉันเหมือนกัน แม้ในแง่การเงิน เค้าจะดีกว่าดิฉันมาก แต่เค้าบอกว่า ดิฉันแข็งแกร่ง และพร้อมที่จะรับมือทุกสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ฆ่าไม่ตาย ในขณะที่พวกเค้ากลัว การเปลี่ยนแปลง กลัวความไม่แน่นอนในอนาคตว่าจะอยู่รอดได้ไม๊ ในวันที่ไม่มีพ่อแม่


แต่มีพี่น้องที่เป็นเหมือนลูลู ไม่ได้รับการเยียวยาแบบดิฉัน ก็อยู่อย่างเหน็ดเหนือย และเคียดแค้นพ่อแม่ เหนื่อยเพราะต้องทำให้ดียิ่งๆขึ้นไป หยุดไม่ได้ กลัวพ่อแม่หัวเราะเยาะเย้ย ดูถูก (แบบคนจีนค่ะ การดูถูก ท้าทาย เชื่อว่าทำให้ลูกฮึดสู้) มันเหนื่อยและเจ็บปวด สำหรับดิฉัน สิบปีมานี่ มีความสุขมากเลยค่ะ มันผ่านไปแล้ว และทิ้งมันไว้ข้างหลัง เข้าใจตัวเอง เข้าใจพ่อแม่ ไม่แบกอดีตมาด้วยอีกแล้ว มันวางได้ค่ะ


อีกเรื่่องนึงที่อยากจะเล่า คือ เรื่องการเรียนดนตรี หรือกีฬา ที่มีจุดประสงค์ เพื่อเจียระไนให้เป็นนักดนตรี หรือ กีฬามืออาชีพ  เท่าที่ได้พูดคุยกับหลายๆท่าน คิดว่า การมีวินัยในการซ้อม การซ้อมอย่างหนัก เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้   ต่อให้เด็กที่เรียนด้านวิชาการ แต่ต้องไปสอบแข่งขัน วัดระดับ สนามสอบต่างๆ ก็คงทำกันแบบนี้   วันๆเด็กต้องซ้อมดนตรี หรือกีฬา หรือฝึกหัดทำโจทย์ต่างๆ วันละ หลายๆชม.  เพื่อสามารถที่จะพัฒนาฝีมือให้เป็นเลิศ หรือ รักษาคุณภาพของการเล่นให้ได้ในระดับสูง

ในหนังสือเล่มนี้  Amy เคี่ยวเข็ญฝึกซ้อมดนตรี ไม่ต่ำกว่าวันละ ๖ ชม. ไม่เว้นแม้แต่วันที่เด็กป่วย หรือ วันหยุด วันเดินทางไปต่างประเทศใดๆ   และหากเธอไม่ว่าง หรือ ในเวลาที่เธอต้องทำงาน เด็กทั้งสองก็จะถูกส่งไปฝึกซ้อมกับครูที่ดีที่สุด เท่าที่หาได้ในเมืองนั้น     ตามธรรมชาติของเด็กเล็กๆนั้น ย่อมต้องการอิสระ ที่จะวิ่งเล่น มีกิจกรรมกับเพื่อนๆในวัยเดียวกัน  และได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆในโรงเรียน   แต่เด็กทั้งสอง ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้เล่นกับเพื่อน แม้แต่ในเวลาพัก หรือ หลังเลิกเรียน  เพราะตารางกิจกรรม การซ้อม ที่แม่จัดไว้จนยาวเหยียด   การฝึกแบบนี้ ทำให้เด็กมีวินัยสูง และมีความรับผิดชอบสูง  ในแง่ที่ว่า แม้ว่าจะไม่อยากทำ ไม่อยากซ้อม แต่ก็ถูกบีบบังคับ จนสามารถเอาชนะ ความอยากไม่อยากไปได้ ทำๆไปตามหน้าที่ เพื่อเป้าหมาย  คือ การหยุดซ้อมได้พักสักที เมื่อฝีมือได้ระดับที่แม่พอใจ


ในตอนท้ายของเรื่อง ลูลู  บุตรสาวคนเล็ก ตัดสินใจที่จะเลิกเอาดีทางด้านไวโอลิน  แม้ว่าจะชื่นชอบและใช้เป็นงานอดิเรกยามว่าง แล้วหันไปเล่นเทนนิส   แต่ เมื่อเธอไปเล่นเทนนิส  เธอก็ได้ใช้วินัยในการฝึกฝน ความมานะ อุตสาหะ ความอึด  ทำให้ ฝีมือการเล่นเทนนิส ก้าวหน้าและสามารถได้รับชัยชนะในหลายทัวนาเม้นต์  สิ่งที่อยากบอกในเรื่องนี้คือ   ในฐานะพ่อแม่นั้น เราไม่จำเป็นจะต้องบีบบังคับลูกด้วยความรุนแรง ในการจะเค้นสิ่งที่ดี หรือ อัจฉริยะภาพของลูกออกมา    สิ่งที่เราควรทำ คือเป็นจุดยืนให้ลูกได้ค้นหาสิ่งที่ตัวเองอยากทำ สนใจใคร่ลองเรียนรู้   และเมื่อใช่สิ่งที่เค้าค้นหา เค้าจะหลงใหลใผ่ฝันกับมัน  Passion หรือจะเรียกว่า ความหลงใหล จะทำให้เขาดื่มด่ำ อยากเรียนรู้ อยากค้นคว้า ให้รู้แจ้ง  มีความทะเยอทะยานไม่รู้จบ ในสิ่งที่เขาอยากทำ  และเวลานั้น พลังแห่งความอึด ความมานะ อดทน ก็จะมาเอง

มีครูหลายคน ชอบบอกพ่อแม่ว่า "เสียดาย หากเด็กฝึกอันนี้แต่เด็ก มันจะดีมาก สมองเด็กจะพร้อมกว่าเรา มือเด็กจะอ่อนกว่าเรา ดัดง่าย"   ทำให้พ่อแม่หลายๆคน พยายามยัดเยียด พาเด็กไปฝึกไปหัด เื่พื่อให้หัดง่าย เป็นเร็ว และได้เปรียบคนอื่น   แต่ในความเป็นจริงแล้ว   การยัดเยียด บังคับ โดยที่เด็กไม่ได้เต็มใจ หรือไม่สนุกไปกับมัน ทำให้เด็กรู้สึกเหมือนสิ่งนั้น เป็นเครื่องพันธนาการ ทำให้ขาดอิสระภาพ ทำลายความสุข   แม้ว่าเขาจะชอบมัน เป็นเลิศกับมัน แต่สุดท้าย เขาก็อาจจะไปเรียนหรือพัฒนาในต่อเนื่อง และเลิกล้มทันที ที่สามารถเลือกได้

อีกเรื่องนึงที่อยากจะเล่า คือ โศกนาฎกรรมของเด็กที่ประสบความสำเร็จในชีวิตตั้งแต่ อายุน้อย  หลายๆคน หรือแม้แต่คนที่โต แล้วนั้น  มีหลายคน ตื่นเต้น ตกใจ ยึดติด ไปกับลาภ ยศ สรรเสริญ  ชื่อเสียง คำชื่นชม หรือรางวัล    หากไม่ได้มีการสอนให้เข้าใจธรรมะ หรือ ความไม่เที่ยงของสิ่งเหล่านี้  ก็จะกลายเป็นทุกขลาภ มากกว่า เป็นรางวัลของความมานะ ความเพียร  ในโลกแห่งการแข่งขันนั้น ตำแหน่งชัยชนะ ไม่ได้มีไว้สำหรับคนทุกคน  จึงมีคนที่พ่ายแพ้ เพลี่ยงพล้ำ มากกว่าคนที่ได้รางวัล

การแข่งขันของทุกอาชีพ ย่อมมีคลื่นลูกใหม่ ที่มาแทนที่คลื่นลูกเก่าเสมอ  คนเรานั้น มีวันที่อ่อนแรง มีวันที่อ่อนแอ  มีวันที่แก่  เราไม่สามารถที่จะมีแรงพลังอึด ตลอดเวลา ที่จะนำพาตัวเอง ฝึกปรือฝีมือให้ไม่มีวันตก  การที่จะรักษาระัดับความเป็นเลิศตลอดชั่วชีวิต เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ไ้ด้   มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสอนเด็ก ให้ลึกซึ้งถึงสัจจธรรมข้อนี้   ต้องสามารถปล่อยวางความกระหายชื่อเสียง ความกระหายชัยชนะได้ เมื่อถึงเวลา    เด็กๆหลายคน และผู้ใหญ่หลายคน  เมื่อได้รับชัยชนะในจุดสูงสุด ก็มักไม่ทันได้คิดถึง ความเสื่อม  เมือ่ถึงเวลานั้น ไม่ทันเตรียมตัว เตรียมใจ  ตกเป็นทาสความเครียด ใช้ยานอนหลับ  ยาเสพติด หรือ จบชีวิตตนเอง เพราะยอมรับความเสื่อมของสังขาร และชื่อเสียงไม่ได้

ในหนังสือเล่มนี้ Amy Chua ไม่เคยได้ตระหนักถึงสัจจธรรมเรื่องนี้ ชีวิตที่ประสบแต่ชัยชนะ  ลงทุนลงแรงไปเท่าไหร่ ก็ได้ผลตอบแทนกลับมาเท่าที่ทำ  ไม่เคยพ่ายแพ้ เพลี่ยงพล้ำ นับว่าเป็นคนโชคดีมาก และเมื่อฝึกลูกด้วยวิธีนี้ ลูกก็เป็นเด็กมีความสามารถพอที่จะทำได้สำเร็จ ดังที่แม่หวัง   ตราบเมื่อวันที่เห็นลูกสาวคนเล็ก พลาดหวังจากการได้รับการคัดตัว เข้าศึกษาในสถาบันดนตรีชื่อดัง  ทั้งๆที่ผ่านการเคี่ยวกรำ ทุ่มเททั้งแม่และลูก  ทำให้ลูกสาวเจ็บปวดอย่างรุนแรง เหมือนถูกหลอกให้ซ้อมหนัก ทุ่มเททั้งชีวิต เพื่อมาพบความพ่ายแพ้  มันเป็นบทเรียนที่สำคัญที่ทำให้แม่ลูกได้เรียนรู้จักความพ่ายแพ้   รู้ว่าการลงทุนลงแรงอย่างเต็มที่ ก็ไม่ไ้ด้แปลว่าจะได้ผลตามที่หวัง

Amy Chau คุณแม่ที่มีอัตตาสูง ยึดมั่นถือมั่น ทั้งวิธีคิด การดำรงชีวิต   มีปมด้อยจากการเรื่องเชื้อชาติในอดีตและทะเยอทะยาน กระหายความสำเร็จ ไ้ด้เรียนรู้ที่จะฝึกปล่อยวางความคาดหวังจากคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือลูกๆ  และพยายามรักษาเยียวยาความสัมพันธ์กับครอบครัว ที่เกิดจากการเลี้ยงดูลูกที่สุดโต่งของเธอ  ดิฉันเองก็ไม่คิดว่า เธอจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ทั้งหมด  แต่อย่างน้อย เท่าที่อ่านดู ดิฉันคิดว่า เธอค้นพบที่มาที่ไป ของ Winning Formula (สูตรแกร่ง) ของเธอ และค้นพบนิสัยแย่ๆของเธอด้วย   เธอสามารถรับรู้ถึงความเจ็บปวดของลูกๆ และสามี คนที่เธอรัก ความได้รับความเจ็บปวดกับนิสัยแย่ๆของเธอ   และเชื่อว่า เธอเองสามารถควบคุมมันได้ดี  และคนในครอบครัวของเธอ ก็คงจะมีความสุขมากขึ้น และเด็กๆก็สามารถเติบโต อย่างเด็กที่ไม่มีบาดแผลรุนแรงมากนักในความทรงจำ จากการกระทำของแม่

เรื่องเล่าจากคุณแม่ปากเปราะ ถึงคุณแม่จอมเฮี๊ยบ (ุ6)

แม่เสือสอนลูก - Battle Hymn of  the Tiger Mother

อีกคนหนึ่งที่ต้องเอามาเล่า ไม่เล่าไม่ได้ เพราะเขาเป็นคนสำคัญที่รักษาบาดแผล และสมดุลของครอบครัว คือ คุณเจด ผู้เป็นสามี   เขาเป็นหนุ่มอเมริกัน เชื้อสายยิว ที่เคร่งครัดต่อประเพณียิว เช่นกัน แต่เขาเติบโตมาในแบบครอบครัวอเมริกัน ที่ให้อิสระลูกในการเลือกใช้ชีวิต    บิดาของเจด เป็นจิตแพทย์ที่มีชื่อเสียงในกรุง วอชิงตัน ดี ซี    และเป็นผู้ที่มีพรสวรรค์ด้่านดนตรี    แม่ของเขา เป็นนักวิจารณ์ศิลปะ  ซึ่งมีชื่อเสียง และมีความเป็นอิสระสูง มีความคิดที่เป็นตัวของตัวเอง  พ่อแม่ของเจดเองก็มีชีวิตในวัยเด็กที่ไม่มีความสุขนัก เมื่อมีลูก ทั้งสองจึงเห็นพ้องทีจะให้ลูกๆ มีอิสระ และมีพื้นที่ของตัวเองอย่างที่ตนไม่เคยมีวัยเด็ก  ท่านเชื่อว่า ทุกคนมีสิทธิเลือก และให้ความสำคัญกับการมีอิสระ ความคิดสร้างสรรค์ และสิทธิในการตั้งคำถามกับผู้ที่เหนือกว่า   ทำให้เจด สามี ของ Amy เติบโตมาอย่างมีความสุข สุขภาพจิตค่อนข้างดี ไม่เก็บกดเหมือนภรรยา

จากอ่านในหนังสือ สัมผัสได้ว่า สามีภรรยา มีึความรักใคร่ และมีความสุขในชีวิตคู่มาก เธอเล่าในตอนหนึ่งว่า


"ฉันอยากจะซื้ออะไรบางอย่าง"  ดิฉันว่า

"อะไรหรือเอมี" เจดถาม "ถ้ามีอะไรบางอย่างที่เธออยากได้จริงๆ ฉันจะหาทางซื้อให้"



"ดิฉันโชคดีมากในเรื่องความรัก เจดทั้งหล่อ ตลก ฉลาดและทำใจได้กับรสนิยมห่วยๆ และมักจะถูกหลอกใ้ห้ซื้อของแพงๆของดิฉัน"

แม้ว่า จะเติบโตกันมาคนละแบบ แต่เจด สามีของเธอก็ยินยอม ให้เกียรติภรรยา เป็นผู้อบรมดูแลลูก แม้ว่า เค้าจะไม่เห็นด้วยในบางเรื่อง แต่เค้าก็ไม่แสดงออกต่อหน้าลูก เลือกที่จะคุย หรือปรามภรรยา ตามลำพัง  และ ต่อรองกับลูก เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง ด้วยการพาเ็ด็กๆ ไปพักผ่อน หรือ ออกกำลังกลางแจ้ง เป็นรางวัลที่ลูกยอมซ้อมดนตรี  มีตอนหนึ่ง ที่ Amy เล่าเรื่องเกี่ยวกับปฎิกิริยาของสามี เรื่องการดูแลลูกที่เข้มงวด

"ขณะเดียวกัน เจดและดิฉันมีความเห็นขัดแย้งกันมากขึ้นเรื่อยๆ เขาึคุยกับดิฉันเป็นการส่วนตัวด้วยความโกรธ ว่า ให้ปล่อยวางและเลิกมีความคิดบ้าๆ ว่า "ฝรั่ง" หรือ "จีน" จะต้องเหมือนกันทุกคนเสียที  "ฉันรู้ว่าเธอคิดว่า เธอกำลังช่วยทุกคนด้วยการตำหนิเพื่อให้พวกเขาทำตัวให้ดีขึ้น" เขาว่า "แต่เธอเคยคิดหรือเปล่าว่าเธอกำลังทำให้คนรู้สึกแย่?  ที่แย่ที่สุดที่เจด ว่าดิฉันก็คือ "ทำไม เธอถึง ต้องพร่ำชมโซเฟีย ต่อหน้าลูลูตลอดเวลา?   เธอคิดหรือเปล่าว่า ลูลู จะรู้สึกยังไง?  เธอไม่เห็นหรือว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง? "

"ทว่านอกจากการเข้ามาขวางเป็นครั้งคราวเพื่อระงับศึกแล้ว เจดจะเข้าข้างดิฉันเมื่ออยู่ต่อหน้าเด็กๆเสมอ เราสองคนจับมือกันเป็นพันธมิตรตั้งแต่แรก แม้เจดจะไม่แน่ใจในสิ่งที่ดิฉันทำอยู่นัก แต่เขาก็ไม่เคยล้มเลิก ทว่าพยายามทำดีที่สุด เพื่อนำความสมดุลมาสู่ครอบครัวของเรา เช่น พาทุกคนออกไปเที่ยวขี่จักรยาน สอนเด็กๆเล็กโป๊กเกอร์ และสนุกเกอร์   อ่านนิยายวิทยาศาสตร์ วรรณกรรมของเชคสเปียร์ และดิ๊คเกนส์ให้เด็กๆฟัง"

ในความเห็นส่วนตัวของดิฉัน ดิฉันคิดว่า เจดเข้าใจนิสัยมุทะลุ ใจร้อน ดุเดือดของภรรยาได้ดี  เธอเป็นคนที่รัก "หน้าตา" ของเธอเป็นอันมาก  การที่เธออบรมสั่งสอนลูกอย่างเข้มงวด รุนแรง ก็เพื่อให้ลูกเชื่อฟัง และ เกรงเธอ  หากเจดเข้าไปต่อว่า หรือขัดคอต่อหน้าลูกๆ ย่อมทำให้อารมณ์เดือดของเธอรุนแรงยิ่งขึ้น  เพระเธอย่อมไม่พอใจที่รู้สึกถูก "ฉีกหน้า" ต่อหน้าลูก   การเรียกมาคุย ต่อว่ากันตามลำพัง ย่อมดีกว่า และเด็กเองก็ไม่สับสน หรือ ไม่รู้สึกว่า แม่กำลังสอนผิดๆ ซึ่งทำให้เด็กไม่มั่นใจในตัวของเแม่

อีกประการหนึ่ง คือ นิสัยแบบ Amy นั้น เป็นคนที่่รักการต่อสู้ รักการแข่งขัน และไม่ยอมพ่ายแพ้  เธอคงได้รับบาดเจ็บมาไม่น้อยในอดีต ในเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจ  ในโลกของการแข่งขัน คนที่บ้าการรบ ยากที่จะมองใครว่าเป็นมิตร ปรารถนาดี  ความรัก ความจริงใจเท่านั้น ที่จะทำให้คนเช่นนี้ โอนอ่อน ผ่อนตาม และยอมอ่อนข้อ คลายความดุเดือดไปได้

ในการช่วยเหลือลูกๆของเจดนั้น ดิฉันเชื่อว่า คงเหมาะสมที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้ ความรัก ความมั่นคง เห็นอกเห็นใจทุกๆฝ่าย และกล้ายื่นมือเข้าไปช่วยเหลือลูกๆ ในยามที่เหมาะสม  ทำให้บาดแผลที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ของแม่ลูกนั้น ไม่รุนแรง แบบที่ควรจะเป็น หรือ เกิดเรื่องเลวร้ายกับลูกๆจนกู่ไม่กลับ

ดิฉันเชื่อว่า เหตุการณ์นี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกในสังคมบ้านเรา หรือสังคมเอเชีย ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์  ก็ล้วนแต่ ได้รับอิทธิพลเรื่องความเชื่อโบราณ และวิธีการอบรมสั่งสอนลูกแบบนี้ ในบางครอบครัวนั้น มีการ Tack Team ทั้งพ่อแม่ ผลัดกันรุมยำลูกคนเดียว   เด็กตัวเล็กๆ ยึดพ่อแม่เป็นสรณะ  ยินยอมพร้อมใจ เชื่อฟัง  สูญเสียอิสรภาพในวัยเด็ก เพื่อรับการเคี่ยวกรำอยากหนัก เพื่อให้เป็นอัจฉริยะน้อยที่่พ่อแม่ภาคภูมิใจ  พ่อแม่ได้แต่ภาคภูมิใจในความมหัศจรรย์เหนือมนุษย์ ของลูก  ภูมิใจในตัวเอง ที่สามารถเจียระไนลูก ออกมาเป็นเพชรเม็ดงาม ประดับมงกุฎของความเป็นพ่อแม่   อาจจะไม่รับรู้ว่า ในระหว่างการเจียระไนนั้น ก็ได้เจียระไนเอาความสุข และความทรงจำที่ดีงามของลูกในวัยเด็กไปด้วย

ในโลกแห่งการแข่งขัน ที่เป็น Zero Sum Game มีคนชนะแค่คนเดียว นอกนั้นกลายเป็นผู้แพ้ เด็กที่ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ พลังและชีวิต เพื่อให้ได้ชัยชนะ มีไม่น้อย รวมทั้งพ่อแม่ ที่ทุ่มเท จะสร้างลูกให้ได้ชัยชนะ เพื่อเกียรติยศ ความภาคภูมิใจของลูก และตระกูล แต่หากผิดหวังล้มเหลว มันทำลายเด็กมาก หากพ่อแม่จัดการเรื่องนี้ไม่ดี เฝ้ากระหน่ำซ้ำเติม หวังให้แรงเจ็บแค้น เป็นแรงผลักดันให้ลูกฮึดสู้ มันก่อผลเสียทางใจ และพฤติกรรมของลูกมากกว่า


เด็กกลุ่มนึงอาจฮึดสู้ แต่อีกกลุ่มนึง ก็อาจเบี่ยงเบน เลือกทางพยศ ประชดประชัน ทำสิ่งที่ตรงกันข้าม สุดท้าย อาจจะทำลายชีวิตตนเอง หรือ ทำลายอนาคตของตนเอง ชนิดกู่ไม่กลับก็ได้


ดิฉันเองก็เกิดมาในครอบครัวแบบนี้ค่ะ ใช้ิชีวิตวิถีไม่ต่างจากเธอในวัยเด็ก ชีวิตความรู้สึกของชาวจีนโพ้นทะเล ไม่ต่างกัน แม้ว่าครอบครัวของดิฉันไม่ได้เลี้ยงลูกแบบโหดแบบนี้ แต่ก็สร้างบาดแผลให้ลูกๆไม่น้อยเลย ดิฉันโชคดีที่เจอหลักสูตรเยียวยาอดีต ในขณะทีี่พี่น้องคนอื่นๆไม่ยอมเข้าอบรม พวกเขาจึงไม่ได้มีโอกาสสัมผัสความรักอันลึกซึ้งของพ่อแม่ เท่าที่ดิฉันสัมผัส ท่ามกลางความดุดัน แข็งกร้าว มันเป็นความรักที่ ตายแทนเราได้ค่ะ


คุณแม่ของดิฉันนี่ก็เป็นคนทีโตมาท่ามกลางความกดดันแบบเธอ จนตอนนี้แก่แล้ว ก็ไม่ค่อยมีความสุข เพราะปล่อยวางความเจ็บปวดที่ได้รับการดูถูกเหยียดหยามจากสังคมไม่ได้ คนแบบนี้น่าสงสารค่ะ ทั้งที่สุดท้ายประสบความสำเร็จทุกอย่าง ลูกๆก็ไปได้ดี แต่เธอก็รู้สึก ไม่ดีพอ น่าจะดีกว่านี้อีก


 ความรู้สึกแบบนี้ เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ เพราะคนเป็นลูก แต่ละคน แม้จะรักแม่ แต่ความบาดเจ็บมันทำให้อึดอัดที่ต้องอยู่กับท่าน บางที ท่านก็เตือนโน่น แนะนำนี่ประสานี่ แต่ฟังแล้วเจ็บทุกที คุยกันไม่ได้นาน รู้สึกแต่ว่า ท่านกำลังบอกว่า เราไม่ดีพอ ไม่ดีพอ ลงท้ายก็ทะเลาะกัน พี่น้องคนอื่นก็รู้สึกแบบเดียวกัน ดิฉันเองพอตั้งสติก็จะบอกตัวเองว่า มันคือการแสดงความรักในแบบที่ท่านเป็น ท่านกำลังบอกว่าท่านรักเรา แต่พี่น้องคนอื่น มองเป็นการตำหนิ ติเตียนว่าไม่ดีพอ


อยากเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง เพราะเห็นผปค.หลายท่าน อ่านเรื่องนี้แค่ How to ในการสร้่างลูกทีี่เป็นเลิศ ไม่อ่านให้จบ และไม่อ่านว่า มันส่งผลกระทบที่ยากจะเยียวยา 

เรื่องเล่าจากคุณแม่ปากเปราะ ถึงคุณแม่จอมเฮี๊ยบ (5)

แม่เสือสอนลูก - Battle Hymn of  the Tiger Mother

เท่าที่วิเคราะห์จากการกระำทำต่างๆ ของ Amy Chau แม่เสือท่านนี้ เธอเป็นคุณแม่ Perfectionism มาก มีความทะเยอทะยาน คาดหวังสูง  ความคาดหวัง ทะเยอทะยานนี่  ไม่ได้เพิ่งมามีในฐานะที่เป็นแม่  แต่ มีมาตั้งแต่เด็กๆ  ที่จะต้องทำอะไรให้เป็นเลิศ  แบกรับความคาดหวังของตนเอง และพ่อแม่มาโดยตลอด  ซึ่งคงไม่ต่างกับลูกจีนในยุคสมัยของเธอ  ที่ถูกเลี้ยงมาให้แบกรับเกียรติยศ ชื่อเสียงของวงศ์ตระูกูล  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะลูกคนโต  ที่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้น้องๆ    ครอบครัวชาวจีน มักชอบเปรียบเทียบลูกคนนี้ กับลูกคนอื่นๆ  และลูกเพื่อนบ้าน ลูกเพื่อนๆในสังคม    และ Amy ก็เป็นคนที่โชคดีที่สามารถทำได้ดังที่พ่อหวัง  จากการฝึกหนัก เรียนหนัก และเดินตามคำสั่งของพ่อแม่อย่างเคร่งครัด  ทำให้สิ่งนี้ เป็น Key Success Factor หรือ จุดแกร่ง ที่เธอใช้เป็นอาวุธในการฝึกลูกของเธอ

และดูจากนิสัย คำพูดต่างๆ เธอเป็นคนที่มีความเครียดสูงมาก จากนิสัย Hyper ของเธอ  ชีวิตของเธอในฐานะอาจารย์  และคุณแม่ผู้ทุ่มเทให้กับลูก รวมทั้งการทำงานเขียนหนังสือ เลี้ยงสุนัข และสังคมเพื่อนฝูง ทำให้เธอไม่ค่อยมีเวลาหย่อนใจ  เธอกล่าวว่า

"ความจริงก็คือ ดิฉันไม่เก่งกับเรื่องการมีความสุขกับสิ่งดีๆในชีวิต  ดิฉันจะเป็นคนประเภทที่มีรายการสิ่งที่ต้องทำยาวเหยียดพกติดตัวเสมอ เกลียดการนวด การนอนอาบแดด  กินลม ชมวิวแถบทะเลแคริบเบียน  ฟลอเรนซ์ (แม่สามีของเธอ) มองว่า ช่วงเวลาวัยเด็ก คือช่วงเวลาสั้นๆ ที่จะมีความสุขกับมัน  ส่วนดิฉันมองว่ามันคือช่วงเวลาสำหรับการอบรมบ่มเพาะ สร้างนิสัยและลงทุนสำหรับอนาคต"

หลายๆตอนในหนังสือ แสดงให้เห็นว่า เธอและครอบครัวได้รับความกดดันอย่างหนักจากความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น และ การถูกล้อเลียน ไม่ยอมรับจากคนอเมริกัน  ทำให้เธอ และครอบครัวยิ่งยึดมั่นถือมั่นกับความเป็นคนจีน และใช้ความเป็นคนจีนนั้น มานะฝ่าฟัน บากบั่นจนประสบความสำเร็จลืมตาอ้าปากได้ และมีที่ยืนอย่างสง่างามในสังคมอเมริกัน  เธอจึงกระหายความสำเร็จ  บ้าการแข่งขัน แม้แต่เรื่องสุนัขที่หามาเลี้ยง ก็ยังกระหายที่จะรู้อันดับของสุนัขที่เธอเลี้ยงไว้เล่นๆ  มีตอนหนึ่งที่เธอกล่าวไว้ เรื่องไวโอลิน เป็นเรื่องที่สะท้อนความรู้สึกของเธอเรื่องนี้ได้ดี

"ไวโอลินสำหรับดิฉันคือสัญญลักษณ์ของความเป็นเลิศ ความเป็นผู้ดี ความลุ่มลึก... สำหรับดิฉัน ไวโอลิน เป็นสัญญลักษณ์ของความเคารพในอาวุโส มาตรฐาน และความชำนาญ  สำหรับผู้ที่รู้จักมันดีจนสอนได้  สำหรับผู้ที่เล่นดีจนเป็นแรงบันดาลใจได้ และสำหรับพ่อแม่

นอกจากนี้ ไวโอลิน ยังเป็นสัญญลักษณ์ของอดีต ชาวจีนไม่เคยประสบความสำเร็จสูงสุดในดนตรีคลาสสิคตะวันตก ไม่เคยมีบทประพันธ์ดนตรีจีนชิ้นใดเท่าเทียมซิมโฟนีหมายเลข 9 ของบีโทเฟน...

ที่สำคัญที่สุดคือ ไวโอลิน เป็นสัญญลักษณ์ของการควบคุม ไม่ว่าจะความเสื่อมของตระกูล ลำดับการเกิด ชะตากรรม หรือลูก... สรุปคือ ไวโอลิน เป็นสัญญลักษณ์ของความสำเร็จของการเลี้ยงลูกแบบคนจีน"

ด้วยความคาดหวังสูง เกี่ยวกับอนาคตของลูก และการแบกรับความเชื่อที่ว่าจะต้องรักษาชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล  และการงานที่มากมาย จากอุปนิสัยที่ไม่หยุดนิ่งของเธอ  และการเก็บกดความขมขื่นในอดีตที่ถูกกดขี่ดูถูกเรื่องเชื้อชาติวัฒนธรรมที่แตกต่างจากคนอื่นในอเมริกา  ทำให้เธอมีความเครียดสูง และแสดงออกด้วยอาการก้าวร้าว เจ้าอารมณ์ และวิธีการอบรมลูกที่ค่อนข้างจะโหดกว่าคนจีนปกติ

เหตุการณ์ที่สำคัญอีกเหตุการณ์หนึ่งที่สอนธรรมะให้เธอได้เป็นอย่างดี คือ อาการป่วยขั้นรุนแรงของน้องสาวของเธอเอง  ในระหว่างที่เธอรบรากับลูกสาวคนเล็กขั้นแตกหัก   น้องสาวของเธอก็ล้มป่วยกระทันหัน ด้วยโรคมะเร็งในเม็ดเลือด  และมีโอกาสรอดน้อยมาก  น้องสาวของเธอ เป็นห่วงลูกเล็กๆของเธอเอง คือลูกชายวัย 10 ขวบ และลูกสาววัยไม่ถึงขวบ   ในระหว่างที่รักษาตัว น้องของเธอ พยายามใช้เวลาีที่เหลืออยู่ในการดูแลลูกทั้งสองอย่างดี  เพื่อเป็นความรักความทรงจำให้ลูกน้อย ก่อนที่เธอจะจากไป  

ความรักและอาลัยในตัวน้องสาว ทำให้ Amy ตระหนักถึงคุณค่าของคนในครอบครัว  ไม่มีสิ่งใดที่จะมีความสำคัญไปกว่า การที่จะรักษาครอบครัวไว้ให้นานที่สุด ประจวบกับการต่อต้านรุนแรง คำพูดที่เผ็ดร้อนของลูกสาว และความห่างเหินของลูกสาว รวมทั้งสามี ที่เริ่มมีปากเสียงกับเธอเรื่องวิธีการที่เธอจัดการกับลูกจนลูกกลายเป็นเด็กก้าวร้าว และต่อต้านทุกรูปแบบ   ทำให้เธอต้องทบทวนการกระำทำของตนเอง และผ่อนปรน ปล่อยวาง

ในที่สุดเธอก็ยอมให้ลูกสาวคนเล็กของเธอ เลิกเล่นไวโอลิน และเป็นอิสระจากการควบคุมตารางซ้อมของเธอผู้เป็นแม่

ทั้งๆที่จริงแล้ว ลูลู ลูกสาวคนเล็กของเธอ เป็นเด็กที่มีความสามารถด้านไวโอลินสูงมาก เป็นที่ยอมรับ  และลูลูเอง ก็รักการเล่นไวโอลินมาก  แต่ประสบการณ์เลวร้ายตั้งแต่เด็กๆ ในการซ้อมไวโอลินอย่างบ้าคลั่งกับแม่ ทำให้เธอเกลียดกลัวแม่มาก   ดิฉันคิดว่าดิฉันเข้าใจความรู้สึกของเด็กคนนี้พอสมควร   หากเธอยังเล่นไวโอลินต่อไป  เธอก็ต้องปะทะกับสันดานบ้าแข่งขัน ซ้อมดุเดือดของแม่ ซึ่งอาจจะทำให้ความสัมพันธ์ของเธอและแม่เสียหายไปกว่านี้  เธอจึงเลือกที่จะเลิกเล่นไวโอลิน  ไปหัดเรียนเทนนิส ที่แม่ของเธอไม่ถนัด และไม่สามารถมาควบคุมเธอได้อีก

เป็นที่น่าเสียดาย ที่เด็กที่มีความสามารถด้านดนตรีสูงชนิดหาตัวจับยาก และรักการเล่นดนตรี ต้องเลิกเล่นดนตรีที่เธอรัก  เพราะไม่สามารถมีความสุขกับมันได้  คงอีกนานที่เธอจะสามารถมาเอาจริงเอาจังเรื่องไวโอลินได้อีก  ยกเว้น เธอจะสามารถปล่อยวางความกลัว ความเจ็บปวด จากการซ้อมอย่างบ้าคลั่ง วาจาเชือดเฉือนของแม่ที่ไม่มีความพอใจ ในอดีตได้

เรื่องเล่าจากคุณแม่ปากเปราะ ถึงคุณแม่จอมเฮี๊ยบ (4)

แม่เสือสอนลูก - Battle Hymn of  the Tiger Mother

ดิฉันขอข้ามมาเล่าเรื่องราวในตอนสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้  มันเป็นบทเฉลยที่ชัดเจน ว่าสาเหตุใดที่เธอเขียนหนังสือที่แรงขนาดนี้      Amy Chua เขียนหนังสือเล่มนี้ ในวันที่ 29 มิถุนายน 2009 หลังจากที่เธอและครอบครัว กลับจากการเดินทางไปรัสเซีย ในระหว่างที่ไปรัสเซียนั้น มีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้เธอ ตัดสินใจเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูกของเธอ  และในยามที่เขียนหนังสือเล่มนี้  เธอให้ลูกทั้งสองคนของเธอ และสามี ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ไปพร้อมๆกัน   เธอเล่าว่า

" มีบางส่วนที่ดิฉันต้องเขียนใหม่หลายสิบครั้งก่อนที่ทั้งโซเฟียและลูลูจะพอใจ  บ่อยครั้งที่คนใดคนหนึ่งจะอ่านบทร่าง ต่อมน้ำแตกและเดินกระแทกเท้าออกไป "

"ทว่า เมื่อเวลาผ่านไป ยิ่งได้อ่านมากขึ้นเท่าใด ทั้งสองก็ยิ่งมีส่วนร่วมมากขึ้นเท่านั้น ความจริง มันเป็นการบำบัดอย่างหนึ่ง-- อันเป็นแนวคิดแบบฝรั่ง"

เรื่องราววิธีการเลี้ยงลูกสุดโหดของเธอ เพื่อให้ลูกเป็นเด็กอัจฉริยะ ทางดนตรีนั้น คงไม่จบลงแบบ Happy Ending เยี่ยงนี้ หากเธอไม่ได้เขียนหนังสือเล่มนี้ ที่เป็นเสมือนการปรับความเข้าใจกับครอบครัว  เปรียบเสมือนการขอโทษลูกและสามี  และยินยอมพร้อมใจ ที่จะปล่อยวาง

สิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอในรัสเซีย และก่อนหน้านั้น คือ เธอต้องฟาดฟันกับความพยศ และประกาศอิสรภาพของลูกสาวคนเล็กอย่างรุนแรง   ลูกของเธอนั้น ต่อต้านเธอมาแต่เล็ก จนกระทั่งอายุ 13 ปี ลูกสาวคนเล็กของเธอ มีปัญหาพฤติกรรมที่ก้าวร้าว ไร้มรรยาท  ไม่เพียงแต่กับเธอเท่านั้น แต่กับครูที่สอนดนตรีของเธอด้วย   

มีอยู่คืนหนึ่ง หลังจากที่ลูกสาวคนเล็กประท้วงการซ้อมไวโอลินอย่างหนัก ด้วยการไม่ยอมซ้อมตามตารางที่กำหนด  ลูลู ปิดประตูเงียบในห้องหลายชม.  เมื่อ Amy เดินเข้าไปในห้อง เธอพบว่าลูกสาวของเธอ เอากรรไกร ตัดผมแสนสวยของเธอทิ้ง อย่างไม่แยแสความงาม    ในวันนั้น เธอเล่าว่า

"เจด (สามีของเธอ) พูดกับฉันหลังจากนั้นว่า "เราต้องเปลี่ยนแล้วนะเอมี เรากำลังมีปัญหาใหญ่แล้ว"

"เป็นครั้งที่สองในคืนนั้นที่ดิฉันอยากจะปล่อยโฮออกมา แต่ดิฉันกลับกลอกตา "ไม่ใช่เรื่องใหญ่หรอกนะ" ดิฉันว่า "อย่าทำเรื่องที่ไม่ใช่ปัญหาให้เป็นปัญหาหน่อยเลย ฉันจัดการได้"

และในระหว่างการเดินทางในมอสโคว  ความเข้มงวด เจ้ากี้เจ้าการ ของเธอ ทำให้ลูกสาวคนเล็กของเธอ อาละวาดในร้านอาหาร ท่ามกลางคนจำนวนมาก 

"แม่ไม่รักหนู" ลูลูพ่น  "แม่แค่คิดว่า รัก แต่แม่ไม่รักจริง แม่ทำให้หนูรู้สึกไม่ดีกับตัวเองทุกๆวินาที  แม่ทำลายชีวิตหนู  หนูทนไม่ได้ที่จะเห็นแม่อีกต่อไปแล้ว  นี่ใช่มั๊ยที่แม่ต้องการ?"

"แม่เป็นแม่ ที่ แย่ที่สุด เห็นแก่ตัว ไม่เคยคิดถึง คนอื่นนอกจากตัวเอง ทำไม...แม่ไม่เชื่อว่าหนูอกตัญญูได้ขนาดนี้หรือ?  แม่ทำทุกอย่างเพื่อหนูหรือ?   ทุกอย่างที่แม่ทำก็เพื่อตัวเองทั้งนั้น"

แล้วลูกสาวของเธอก็ืื้ท้าทายเธอ ด้วยการเขวี้ยงแ้ก้วลงบนพื้นร้านอาหาร ท่ามกลางสายตาของคนจำนวนมาก  เหตุการณ์นี้ ทำให้ Amy ช็อก ตกใจไปกับความหยาบคาย ไร้มรรยาทของลูก จนต้องวิ่งหนีอย่างคนเสียสติไปที่จตุรัสแดง

หากเพื่อนๆได้อ่านเรื่องราวนี้หมดทั้งเล่ม  เพื่อนๆก็อาจจะรู้สึกสะใจ ที่แม่อย่างเธอได้รับบทเรียนอย่างสาสม  เพราะสิ่งที่เธอทำกับลูกสาวทั้งสองของเธอนั้น เข้าขั้นทารุณกรรม  หลายๆต่อหลายครั้งลูกสาวของเธอ ถูกบีบบังคับให้ซ้อมอย่างต่อเนื่องจนเธอพอใจ จนไม่ได้ทานอาหารค่ำ   

"ดิฉันถลกแขนเสื้อและเดินกลับไปหาลูลู (ซึ่งตอนนั้นเป็นเด็ก 7-8 ขวบ) งัดอาวุธและกลเม็ดเด็ดพรายทุกอย่างที่คิดขึ้นได้ นั่งซ้อมกับเธอจนดึกดื่นเลยเวลาอาหารเย็น โดยไม่ยอมให้เธอลุกจากเก้าอี้ไปดื่มน้ำหรือแม้แต่เข้าห้องน้ำ บ้านของเรากลายเป็นสนามรบ ดิฉันทั้งพูดดีด้วย ทั้งตวาดจนเสียงแหบเสียงแห้ง แต่ดูเหมือนจะมีแต่ความก้าวหน้าเชิงลบจนแม้แต่ตัวดิฉันเองก็เริ่มไม่แน่ใจ"

การฝึกชนิดโหดมหาหินนี้ ส่งผลให้ลูกทั้งสองของเธอ ฝึกทักษะการเล่นได้ก้าวหน้า เหนือเด็กรุ่นเดียวกันมากมาย และนำความภาคภูมิใจมาสู่เด็กๆ และตัวเธอ ที่เห็นความก้าวหน้า   เธอจึงใช้เทคนิคนี้ต่อเนื่องยาวนาน  จนลูกไม่ยอม และมีผลต่อพฤติกรรมของลูกคนเล็ก และทัศนคติที่มีต่อครอบครัวอย่างรุนแรง  

Amy กล่าวในหนังสือของเธอว่า " พ่อแม่ฝรั่งจะมัวแต่กังวลกับความมั่นใจของลูก แต่ในฐานะพ่อแม่ สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่คุณสามารถทำกับความมั่นใจของลูกก็คือ การปล่อยให้พวกเขายอมแพ้ ในทางตรงกันข้าม ไม่มีอะไรที่ช่วยสร้างความมั่นใจได้ดีไม่กว่าการได้รู้ว่า คุณสามารถทำอะไรบางอย่างที่คุณคิดว่าทำไม่ได้"

แต่สิ่งนึงที่ Amy ไม่กล่าวถึงในตอนแรกก็คือเรื่องปัญหาของความสัมพันธ์ของครอบครัวของบิดาของเธอ   ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่เธอเฉลยในตอนจบ ว่าคุณพ่อของเธอก็ถูกเลี้ยงดูมาแบบนี้ ได้รับความกดดันอย่างหนักจากย่าของเธอ  ถูกเปรียบเทียบกับพี่น้องคนอื่นๆ  จนไม่มีที่จะยืน  เมื่อพ่อของเธอสามารถโยกย้ายมาเรียนและทำงานในสหรัฐอเมริกา  เขาก็เลือกที่จะทิ้งครอบครัวพ่อแม่พี่น้องที่ฟิลิปปินส์  โดยไม่คิดจะกลับไปคบหาเจอหน้ากันอีกเลย   ความทรงจำของพ่อของเธอที่มีต่อแม่ของเขานั้น เต็มไปด้วยความเจ็บปวด ที่ยากจะให้อภัย และเขาก็ไม่กลับไปเยี่ยมครอบครัว พ่อแม่พี่น้องอีกเลยตั้งแต่จากมา

บิดาชาวจีนที่เชื่อถือวัฒนธรรมดั้งเดิมอย่างสูง ในการดำรงชีวิต ละทิ้ง ความกตัญญู ที่เป็นคุณธรรมสำคัญที่ชาวจีนทุกคนต้องปฎิบัติ  เพราะความเจ็บช้ำบาดหมาง จนยากที่จะให้อภัย จากการกระทำของแม่ของท่านเช่นกัน เหตุการณ์นี้กำลังเกิดขึ้นกับลูกสาวของเธอ ที่พร่ำกล่าว ต่อว่าต่อขานเธอรุนแรงแต่เด็ก ที่มีแม่แบบเธอ

สิ่งที่เกิดขึ้นกับพฤติกรรมของลูกสาวคนเล็กของเธอ  ความสัมพันธ์ที่ค่อยๆห่างเหิน ไม่สนิทสนม ไม่เชื่อฟังของลูก ทำให้เธอตระหนักในเรื่องนี้  ในฐานะแม่ที่รักลูกเต็มหัวใจ เธอไม่อยากจะสูญเสียลูกไป เธอจึงยินยอมที่จะปล่อยวาง และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่อลูก เพื่อเยียวยา ความสัมพันธ์กับลูกๆ มิให้ร้าวฉานไปมากกว่านี้