โลกของคุณปั้น บัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) มีหลายด้านทั้งโลกการแข่งขันในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ เศรษฐกิจโลก
โลกความสุขใจเล็กๆ ที่เมืองน่าน แรงดลใจที่ทำให้ลงทุนซื้อกิจการโรงแรมเก่าแก่ ปรับปรุงเป็นโรงแรมเล็กๆ น่าพัก "พูคาน่านฟ้า"
ล่าสุด อีกหนึ่งบทบาทใหม่ คือ การออกโรงเป็นแม่งานฝ่ายฆราวาส แถลงข่าวโครงการจัดหาทุนซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งเป็นชาวกาญจนบุรี จะทรงเจริญพระชันษา 100 ปี ในปี 2556
นับเป็นหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจไม่น้อย สำหรับบทบาทในโลกทางธรรมของนายแบงก์ที่ชื่อ บัณฑูร ซึ่งปัจจุบันรั้งตำแหน่งประธานกรรมการ และผู้จัดการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย
นอกจากนี้ ยังมีบทบาทเป็นไวยาวัจกรของวัดบวรนิเวศวิหารและไวยาวัจกรของวัดญาณสังวราราม บทบาทนอกเหนือจากงานธนาคารเหล่านี้ คุณปั้นเล่าว่า มีจุดเริ่มต้นมาจากสัมพันธภาพที่เป็นมงคลแก่ชีวิต
จากความผูกพันกับวัดบวรนิเวศวิหารซึ่งเขาเคยบวชและจำพรรษาอยู่ที่นี่ โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ เป็นพระอุปัชฌาย์
"ปี 2520 ผมเรียนจบมาใหม่ๆ ก็มาบวชที่นี่ เกิดมาไม่เคยมาวัดบวรฯเลย เพราะคุณย่าเข้าวัดเทพศิรินทร์ แต่มีญาติผู้ใหญ่ฝ่ายแม่แนะนำ พามาฝากที่วัดบวรฯ บวชหนึ่งพรรษา โดยมีสมเด็จพระญาณสังวรฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ นั่นคือจุดเริ่มต้นของสัมพันธภาพที่เป็นมงคลต่อชีวิต ระหว่างที่บวชเรียน รู้สึกประทับใจในพระจริยวัตรของสมเด็จพระอุปัชฌาย์ที่รับหน้าที่สอนพระใหม่ ด้วยพระองค์เองทุกวัน รวมถึงวัตรปฏิบัติต่างๆ ของสงฆ์ ทั้งการออกบิณฑบาตเองทุกวัน แม้ชันษาตอนนั้นจะ 60 แล้ว" คุณปั้นเล่าย้อนถึงความประทับใจของการบวชเรียนเป็นศิษย์ทางธรรมครั้งแรก เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว
นับจากนั้นเวลามีปัญหาก็จะมาปรึกษาและติดต่อโดยตลอด จนกระทั่งได้รับมอบหมายจากสมเด็จพระสังฆราช ให้เข้ามาช่วยทำหน้าที่จัดการระบบทรัพย์สินที่สะสมมา 5 รัชกาลของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย รวมทั้งดูแลจัดการบริหารทรัพย์สินของวัดบวรฯ
"เป็นงานที่สมเด็จพระสังฆราชมอบหมายให้มาทำ ก่อนที่ท่านจะไม่ค่อยสบาย ท่านคงเห็นปัญหาต่างๆ ที่มี และรู้ว่าเราไม่ได้มาคนเดียว แต่มาช่วยทั้งทีม เพราะงานมูลนิธิฯทำคนเดียวไม่ได้ ต้องทำเป็นคณะ"
ถึงแม้ช่วงแรกจะมีกรณีคำสั่งปลดออกจากตำแหน่ง แต่ในที่สุดปัญหาการเข้าไปจัดการระบบจัดการผลประโยชน์ ปิดช่องโหว่ต่างๆ ให้มีความรัดกุมและเป็นระบบก็สามารถคลี่คลายได้ในที่สุด
"การเข้าไปแก้ไข สำคัญคือต้องมีอำนาจในการจัดการ ไม่ได้ไปฟาดฟันอะไรใคร แต่ต้องจัดการให้ถูกต้องตามที่ควรจะเป็น และไม่ได้ทำคนเดียว แต่เอาผู้ที่เกี่ยวข้องมาทำกันหลายคน...
โครงสร้างกรรมการในมูลนิธิฯ ไม่ได้ถือว่าเปลี่ยน พระยังเป็นกรรมการ อำนาจคือพระ ฆราวาสเป็นแค่ลูกมือ การตัดสินต้องตัดสินโดยพระแต่คนรับไปทำคือฆราวาส อาจจะมีกรรมการใหม่เข้ามาเพิ่มบ้าง แทนคนเก่าที่เสียชีวิต....
ที่ผ่านมา คุณปั้นเข้ามาทำงานนี้ 8-9 ปีแล้ว จัดการระบบทรัพย์สินต่างทั้งเรื่องการทำบัญชี และสัญญาต่างๆ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของมูลนิธิฯ เพื่อนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์หลักเพื่อจัดการศึกษาปริยัติของพระสายธรรมยุติ โดยเข้ามาดูแลการเช่าให้ได้ผลประโยชน์ที่เหมาะสม ยกเว้นในกรณีคนที่อนาถานั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่พวกที่มาอยู่ที่ดินย่านการค้าก็ควรต้องจ่ายใกล้เคียงกับราคาตลาด โดยอิงจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และอาจจะต่ำกว่านิดหน่อยด้วยซ้ำ ไม่ใช่เช่าไปทำร้านเพชรโดยไม่จ่ายค่าเช่า"
ธรรมะจากพระสังฆราช
หากจะถามถึงธรรมะที่ได้รับการถ่ายทอดจากสมเด็จพระสังฆราชในช่วงที่เคยบวช เรียน และนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน หนึ่งในนั้นคือการจัดการด้านอารมณ์ความเป็นคนขี้โมโหซึ่งเป็นบุคลิกติดตัวมา แต่ไหนแต่ไร
"เคยถามสมเด็จพระอุปัชฌาย์ว่าตัวเองเป็นคนขี้โมโหจะทำยังไงดี ท่านบอกว่าอาตมาก็ขี้โมโห สมัยหนุ่มๆ ก็เคยจับลูกศิษย์เฆี่ยน ตอนหลังก็ไม่รู้เฆี่ยนไปทำไม"
เป็นธรรมะที่ได้เรียนรู้จากสมเด็จพระสังฆราชว่า การจะทำอะไรให้ได้ผล ไม่จำเป็นต้องโมโห เพราะโมโหไม่ใช่การแก้ปัญหา ยิ่งโมโหมากเกินไปจะยิ่งเสีย ให้พิจารณาดูตามเหตุตามผล แล้วก็แก้ไปตามเหตุตามผล
"ตอนหนุ่มๆ ก็ยังโมโหอยู่ แต่พออายุมากขึ้นก็ใจเย็นลงไปเยอะ ได้เห็นว่าเย็นลงแล้วมันดีกว่าร้อน ได้เห็นว่าการโมโหไม่ได้แก้ปัญหา เผลอๆ ยิ่งทำให้ปัญหามากขึ้น การแก้ปัญหาต่างๆ ถ้าแก้ด้วยความมีสติ มันดีกว่าโวยวายใช้อารมณ์ แต่บางครั้งก็ต้องมีบ้าง ไม่งั้นมันไม่เดิน (ยิ้ม)"
คุณปั้นบอกว่าตอนนี้เริ่มปล่อยวางได้ขั้นหนึ่ง แต่ยังปล่อยวางได้ไม่หมด เพราะยังมีหน้าที่ มีความรับผิดชอบ
ส่วนเทคนิคในการบริหารจัดการอารมณ์มีเคล็ดลับง่ายๆ คือ ถ้ามีสติเพ่งลงไปโดยไม่จินตนาการปรุงแต่งให้มันเร็วไปกว่าเดิม สักพักมันก็จะหายไป ส่วนใหญ่เวลามีอะไรเข้ามากระทบแล้วไม่พอใจ เรามักจะไปปรุงแต่งต่อ เช่น ไอ้นี่มันมาดูถูกฉันอย่างนั้นอย่างนี้ คือ อีโก้ของคนมันจะยิ่งไปทำให้ระเบิด
เดี๋ยวนี้สติมาเร็วขึ้นกว่าเดิม เพราะแก่ลง เห็นโลกมามากขึ้น ทำให้เกิดปัญญา สติมันจะมาจากปัญญาก่อน ปัญญาว่าเราควรตั้งสติอย่างนี้ ไม่ใช่ทำอะไรพรวดพราดออกไป
ในชีวิตของคุณปั้น เคยห่มผ้าเหลืองมาแล้ว 2 ครั้ง บวชเรียนจนได้นักธรรมตรี ครั้งแรกบวชเรียน 1 พรรษาตอนเรียนจบใหม่ๆ ที่วัดบวรฯ ก่อนบวชครั้งที่สองในวัย 50 ที่วัดญาณสังวราราม
"เคยบวชอีกครั้ง 15 วันที่วัดญาณสังวราราม คิดว่าเอาสักหน่อย เพราะเป็นไวยาวัจกรมา 2 วัดแล้ว บวชครั้งที่สองทำอีกแบบหนึ่ง กินมื้อเดียว เดินขึ้นเดินลง นอนไม่มีไฟ ทำวัตรปฏิบัติแบบพระป่า ไปอยู่บนเขา"
วัดญาณสังวราราม จ.ชลบุรี เป็นอีกหนึ่งวัดที่คุณปั้นเข้าไปมีบทบาทเป็นไวยาวัจกรของวัด โดยเข้าไปปรับปรุงระบบการจัดต่างๆ ภายใน เนื่องจากเป็นอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเป็น วัดที่เป็นพระนามของสมเด็จพระสังฆราช
"ตอนนี้หลายอย่างปรับปรุงดีขึ้น แต่ยังต้องทำอะไรอีกเยอะ เพราะเป็นวัดใหญ่มีเนื้อที่กว่า 3,000 ไร่"
ที่นั่นยังมีบ้านพักส่วนตัวที่สร้างขึ้นในบริเวณใกล้เคียง เดิมตั้งชื่อว่า "บ้านสามญาณ" หมายถึง ญาณที่พระพุทธเจ้าสำเร็จในวันตรัสรู้ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อใหม่ตามคำแนะนำของอาจารย์ที่นับถือ เป็นชื่อ "บ้านไพรระหง" แปลว่า ต้นไม้ป่าที่สูง
ส่วนหลังจากนี้คุณปั้นมีคำตอบยืนยันชัดเจนว่าไม่มีความคิดจะบวชอีก
"ไม่ได้ๆ เดี๋ยวเป็นชายสามโบสถ์ สามอย่างอื่นได้ แต่อย่าสามโบสถ์ (หัวเราะ)"
หลักแห่งความสมดุล
การให้ความสำคัญกับการติดอาวุธทาง “ปัญญา” นอกจากองค์ความรู้ทางโลก องค์ความรู้ทางธรรมเป็นเรื่องหนึ่งที่คุณปั้นให้ความสนใจ เหตุผลเพราะมองว่าธรรมะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
“ ไม่ได้สัมผัสธรรมะด้วยการบวชอย่างเดียว แม้กระทั่งในชีวิตประจำวัน การอ่านหนังสือ รับจากสื่อต่างๆ ก็ถือเป็นการสัมผัสธรรมะอย่างหนึ่ง ธรรมะมีอยู่โดยทั่วไป ขึ้นอยู่กับใครจะปฏิบัติตามปกติแบบไหน
คำว่าปฏิบัติธรรม ถ้าหมายถึงการนั่งสมาธิ ก็ทำขั้นหนึ่งไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่จะสวดมนต์ทุกวัน คำว่าปฏิบัติธรรมไม่ได้หมายความว่าจะต้องเข้าฌานทุกวัน การศึกษาในเชิงธรรมะยังได้จากการดูความเป็นไปของโลกมนุษย์
อย่างที่มีคนบอกว่ามันโกหก มันโกงกันทุกวัน ก็เป็นการศึกษาในเชิงธรรมะว่าโลกมนุษย์มันเป็นอย่างนี้ แล้วเราก็ไม่ใช่ใครที่จะลุกไปแก้มันในวันเดียว หรือความเห็นของเราจะเป็นความเห็นอันเดียวที่ถูกต้อง ก็ต้องมองในเชิงธรรมะด้วยว่าโลกมนุษย์ก็เป็นอย่างนี้ แต่เราทำในส่วนที่เราต้องทำเพื่อหวังว่ามันจะมีส่วนช่วยให้ดีขึ้นทีละนิด”
หลักธรรมหนึ่งที่คุณปั้นนำมาใช้เป็นธรรมะของการจัดการธุรกิจ หลักการยึดหลักความสมดุล และความเหมาะสม
“การใช้ธรรมะในธุรกิจ ไม่ว่าจะธุรกิจธนาคารหรือธุรกิจอะไรก็ตาม หลักการใหญ่ๆ ก็คือความสมดุลของผลประโยชน์ อีกอันหนึ่งคือต้องมีความเพียรในการสร้างธุรกิจ ซึ่งถือเป็นธรรมดาของมนุษย์ที่ทำมาหากินจะต้องใช้ความเพียรพยายามในการคิด สร้างรูปแบบการทำมาหากิน
เมื่อธุรกิจเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาแล้ว และก็มีประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก มี 4 กลุ่มใหญ่ๆ ที่จะต้องสร้างความสมดุล คือ ฝ่ายเจ้าของธุรกิจหรือผู้ถือหุ้น ฝ่ายลูกค้าที่มาใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ ฝ่ายพนักงานที่ทำธุรกิจด้วยกัน และสังคมประเทศชาติโดยรวม ไม่ว่าจะธุรกิจใดก็ตามมีโจทย์ที่ต้องสร้างความพอดีทั้งสี่กลุ่มใหญ่ให้เกิด ขึ้นให้ได้
ถ้าใครได้มากเกินไปน้อยเกินไปมันก็จะเป็นความไม่ปกติเกิดขึ้น นั่นก็คือธรรมะของการจัดการกิจการของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง หรือแม้กระทั่งการกุศล การจัดการเงินของวัดที่ต้องมีความสมดุล อะไรให้ได้ อะไรให้ไม่ได้
หลักความสมดุลใช้ได้กับหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้งบประมาณที่ต้องมีความสมดุล ความสมดุลที่จะอยู่กับกระแสความผันผวนของโลก ความสมดุลทางการเมืองที่จะห้ำหั่นกันหรือจะปรองดองเพื่อไปด้วยกันได้”
สุขภาพดีด้วยการกิน
หลักการมีสมดุลยังนำมาใช้กับชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเรื่องการละเว้นการกินเนื้อสัตว์ที่ค่อยปรับวิถีชีวิต ค่อยลดมาทีละขั้น เริ่มจากงดสัตว์ใหญ่ก่อน โดยเลิกกินเนื้อวัวมา 20 ปีแล้ว ตามด้วยเลิกกินหมูมา 10 ปี ส่วนเป็ดและไก่เพิ่งเลิกได้เมื่อไม่นานมานี้
“ตอนนี้ยังมีกุ้ง หอย ปู ปลาที่ยังกินอยู่ แต่สัตว์ใหญ่ไม่กินแล้ว เพื่อดูแลสุขภาพ เพราะคนเราเมื่ออายุมากขึ้น ความสามารถในการย่อยเนื้อสัตว์พวกนี้จะน้อยลง การออกกำลังกายก็เป็นส่วนประกอบหนึ่ง แต่สำคัญที่สุดคือเรื่องการกิน มนุษย์มักจะพังเพราะเรื่องการกิน ถ้ากินและดื่มไม่เหมาะสมร่างกายจะพัง”
สิ่งที่มากระตุกให้หันมารับประทานอย่างมีสติ หันมาดูแลสุขภาพ กลัวมะเร็ง กลัวอ้วน กลัวไขมันมากขึ้น เพราะคุณพ่อ (บัญชา ล่ำซำ) ที่ล่วงลับไปแล้วป่วยเป็นมะเร็งลำไส้
“ เขาชอบกินมากเลยไอ้พวกสเต๊กเนี่ย สมัยก่อนก็ไม่เคยเข้าใจพวกนี้ ตอนหลังแม้แต่ฝรั่งก็ศึกษา โดยสถิติคนกินวัวเป็นมะเร็งมากกว่าไม่กินวัว ก็เลยกลัวเพราะว่าลูกก็ยังเล็ก แต่ไม่ได้บังคับเขา ยังเด็กอยู่อยากกินอะไรก็กินไป กว่าผมจะเลิกกินเนื้อวัวได้ตอนอายุ 39 แต่ละคนก็ต้องไปตัดสินว่าความสมดุลของตัวเองอยู่ตรงไหน......
ความเหมาะสม ความสมดุลเป็นหลักที่สำคัญในชีวิต มันทำให้ทุกอย่างไปได้เรื่อยๆ อย่างที่ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่าการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง..อย่างยั่งยืน ชีวิตมนุษย์ก็เหมือนกัน ถ้ารักษาความสมดุลได้ อายุ 59 ก็ยังไปได้ เตะอะไรยังดัง..หมายถึงเตะฟุตบอลนะ” คุณปั้น เล่าหัวเราะร่าอารมณ์ดี
นอกจากดูแลอาหารการกิน ยังออกกำลังกายโดยการเล่นโยคะเวลากลางคืนสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
“ เดี๋ยวนี้ ไม่เจ็บไม่ไข้ ร่างกายแข็งแรง รู้สึกสดชื่น จากสมัยหนุ่มเดี๋ยวป่วย เดี๋ยวป่วย เดี๋ยวนี้ไม่เป็นอะไรเลย ไม่ต้องกินยาอะไรทั้งสิ้น อายุมากขึ้นกลับสุขภาพดีขึ้น คนอื่นรอบๆ ข้างอายุน้อยกว่าเป็นสิบปีเสียอีกที่ชอบมาป่วยใส่ผม”
ความสมดุลยังเป็นหลักที่คุณปั้นนำมาสอนลูกๆ ในการดำเนินชีวิต ซึ่งค่อนข้างเป็นคุณพ่อที่ให้อิสระการใช้ชีวิตกับลูก เปลี่ยนจากสมัยเดิมที่ตัวเองเคยโดนเข้มงวดมาจากรุ่นพ่อ
“ค่อนข้างให้อิสระ จะไม่เข้าไปจู้จี้อะไรกับเขามาก แต่เขาต้องไปหาความสมดุลชีวิตของเขาเอง ทั้งเรื่องการเรียนหนังสือ การพักผ่อน การออกกำลัง ให้ดูความสมดุลเป็นหลัก“
ส่วนเคล็ดลับการคลี่คลายความทุกข์ในใจ คุณปั้นยึดหลักว่า ทำให้ดีที่สุด ตื่นเช้ามาทำให้เต็มที่ ก่อนนอนจะได้สบายใจว่าได้ทำดีที่สุดแล้ว
“ ธรรมะช่วยทำให้มีสติ สติสำคัญมาก การแก้ปัญหาโดยไม่ใช้อารมณ์จนเกินไปก็สำคัญ ปล่อยวาง คือ ปลายทางตอนจบ คือหมายถึงฉันได้ทำเต็มที่แล้ว คืนนี้ก็นอนหลับ ไม่ใช่ปล่อยวาง ว่าฉันไม่สนใจ ไม่เป็นเดือดเป็นร้อน ไม่ต้องรับผิดชอบ อันนั้นต้องไปอยู่ในป่า
แต่ถ้าปล่อยวางแบบฆราวาส คือ ทำเต็มที่ดีที่สุดแล้ว ก็ไม่ไปทุกข์ร้อน จนกระทั่งนอนไม่ได้ เพราะถ้าคืนนี้นอนไม่ได้ พรุ่งนี้ก็ไม่ต้องแก้ปัญหา เพราะร่างกายจะไม่ไหว”
คำถามว่าคิดว่าจะวางมือทางธุรกิจเมื่อไหร่ สำหรับคุณปั้นในวัย 59 คำตอบจึงชัดเจนว่า “ยังไม่ใช่ตอนนี้ เพราะยังมีกำลังวังชา ยังทำประโยชน์ได้หลายอย่าง”
ขณะที่ความสุขในชีวิตของนายแบงก์ใหญ่ในเวลานี้ ไม่มีอะไรจะมีความสุขมากไปกว่าการทำหน้าที่พ่อ ดูแลจัดการให้ลูกทั้ง 3 คนซึ่งในช่วงวัยศึกษาเล่าเรียนที่สหรัฐอเมริกา โดยเรียนระดับมหาวิทยาลัย 2 คน และมัธยมศึกษา 1 คน มีการพัฒนาไปในทิศทางที่มั่นคงและเจริญก้าวหน้าในชีวิต
วันที่ 9 ตุลาคม
กรุงเืทพธุรกิจออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น