วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สตีฟ จ็อบส์ เซน และความตาย


เป็นเรื่องแปลกไม่น้อยที่เหตุใดเจ้าของธุรกิจไอทีอย่าง สตีฟ จ็อบส์ จึงกลายเป็น "ขวัญใจ" คนทั้งโลกได้อย่างน่าอัศจรรย์

  โดยเฉพาะสังเกตจากปฏิกิริยาของคนทุกสาขาวิชาชีพ เมื่อมีคำประกาศว่าเขาเสียชีวิตแล้วด้วยวัยเพียง 56 ปี
 ยิ่งกว่านั้น เขาคงเป็นคนทำงานในแวดวงไอทีเพียงคนเดียวกระมังที่เมื่ออำลาโลกไปแล้วก็ยัง ทิ้ง "คำคม" เอาไว้ให้คนได้ขบคิด ถามหา และนำไปเป็นสิ่งบันดาลใจให้สู้กับชีวิตและแสวงหาเป้าหมายแห่งตน
 สตีฟ จ็อบส์ เป็นนักปรัชญาของชีวิตพอๆ กับเป็นอัจฉริยะทางนวัตกรรมของไอที
 เพราะลำพังหากเขาเป็นเพียงคนเก่งด้านไอทีอย่างเดียว ไม่ว่าจะสามารถแค่ไหน ก็คงไม่ได้สถานภาพเหมือนเป็น "วีรบุรุษ" ของชาวโลก
 เพราะ Mac  iPhone  iPad เปลี่ยนวิถีชีวิตของการทำงานและบันเทิงของมนุษย์ทำงานทั่วไปอย่างมีคุณค่าที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
 อาจจะเพราะเขาพูดจาเป็นปรัชญาบ่อย และเป็นคนครุ่นคิดถึงความหมายของชีวิตไม่น้อย สิ่งที่ผู้คนจำเขาได้จึงไม่ใช่เพียงแค่ว่าเขาเก่งทางด้านไอที ออกแบบและผลิตสินค้าที่ผู้คนชื่นชอบเท่านั้น แต่เขายังเป็น "มนุษย์ที่มีความคิด" ที่กระตุ้นให้คนอื่นอยากเอาอย่างด้วยอีกต่างหาก
 เพราะเขาป่วยด้วยมะเร็งตับอ่อน และคนทั้งโลกก็รับรู้ว่าเขากำลังต่อสู้กับความตายอย่างเด็ดเดี่ยว ยืนยันที่จะทำงานจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต สตีฟ จึงกลายเป็นนักคิดนักประดิษฐ์พร้อมๆ กันไป
 น้อยคนจะรู้ว่าเขามีความเป็น "เซน" ไม่น้อยไปกว่าความเป็นนักธุรกิจ
 หนังสือ ชื่อ "Icon" ที่เขียนโดย Jeffrey Young และ William Simon ย้อนเล่าถึงตอนหนุ่มเมื่อเขาไปเรียนการทำสมาธิกับอาจารย์เซนที่ชื่อ Kobin Chino ที่ Los Altos Zen Center ในแคลิฟอร์เนียขณะที่เขาทำงานอยู่กับบริษัท Atari
 เหตุเพราะสตีฟ ไม่ได้ร่ำเรียนหนังสืออย่างเป็นทางการมากมายนัก การที่เขาเข้าหา "เซน" เพื่อฝึกฝนความคิดที่ลุ่มลึกจึงเป็นวิธีการสร้างบุคลิกของเขาอย่างชนิดที่ตัวเองก็ยังคาดไม่ถึง
 สตีฟ เคยไปอินเดีย และพบกับอาจารย์เซน อีกท่านหนึ่ง พอกลับบ้าน เขาประกาศตนเป็นสาวกเซนอย่างจริงจัง
 จากนั้นเขาก็หยุดกินเนื้อสัตว์ บำเพ็ญตนเป็นผู้บริโภคผักและปลา เพื่อดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายและใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น
 และในยามป่วย สตีฟ ก็หันมาใช้ "แพทย์ทางเลือก" พร้อมๆ กับการรักษากับหมอแพทย์แผนปัจจุบัน
 อ่านความคิดของเขาเกี่ยวกับชีวิตโดยเฉพาะความตาย (เมื่อเขารู้ตัวว่าเป็นมะเร็งที่กำลังจะคร่าชีวิตของเขา) แล้วก็จะสัมผัสได้กับความเป็นเซน ของเขาที่ CEO ธุรกิจหมื่นล้านของสหรัฐคนอื่นไม่มีอย่างแน่นอน
 สตีฟพูดถึงความตายในหลายโอกาส
 "การที่รู้ว่าจะต้องตายในไม่ช้า เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดสำหรับผม เพราะเมื่อรู้ว่าความตายกำลังคืบคลานมา ผมก็สามารถเลือกอะไรในชีวิตได้ชัดเจนและง่ายขึ้น สิ่งต่างๆ ที่เป็นของภายนอกเช่นความคาดหวัง ความยโส ความกลัว ความล้มเหลว ก็อันตรธานหายไปสิ้น...เหลือแต่สิ่งที่สำคัญจริงๆ..."
 สตีฟบอกต่อว่า
 "การที่รู้ว่าตัวเองกำลังจะจากโลกนี้ ไปเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะหลีกลี้ กับดักของการคิดว่าเรามีอะไรจะสูญเสีย เพราะคุณเปลือยเปล่าแล้ว ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ทำตามที่หัวใจต้องการอีกต่อไป..."
 นี่ย่อมมิใช่วิธีคิดของนักบริหารธุรกิจตะวันตกธรรมดาทั่วไปที่มีค่านิยมในชีวิตที่ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อการอยู่ให้ยาวนานที่สุด
 ความเป็น "เซน" สอนให้เขา "ปล่อยวาง" ได้ในระดับที่ทำให้เขาสามารถบอกตัวเองว่าที่เหลือของชีวิตไม่มีอะไรมากไป กว่าการทำสิ่งที่ตนอยากทำเพื่อคนอื่นจะได้ประโยชน์ หลังจากที่ตัวเองล้มหายตายจากไปเท่านั้น
 อีกประโยคหนึ่งที่เขาเคยบอกกับคนข่าว เมื่อถูกถามว่ามีความรู้สึกอย่างไรที่เป็นอภิมหาเศรษฐี เพราะหุ้นบริษัท Apple ของเขาพุ่งพรวดพราดอย่างรวดเร็วฉับพลัน
 สตีฟ บอกว่า "การเป็นคนรวยที่สุดในสุสาน (หมายถึงนอนตายพร้อมกับคนอื่นๆ) ไม่มีความหมายอะไรสำหรับผม แต่การเข้านอนทุกคืน และบอกตัวเองได้ว่าผมได้ทำอะไรที่มันวิเศษสุด นั่นแหละคือสิ่งที่ผมแสวงหา..."
 และท้ายสุด สตีฟ ก็บอกกับเพื่อนร่วมโลกที่รู้จักเขาดีจากการทุ่มเทสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อพลิกวิถีชีวิตทำงานและบันเทิงว่า
 "ความตายคือจุดหมายปลายทางที่มนุษย์ทุกคนมีร่วมกันนั่นแหละ" และเขายืนยันว่า
 "ความตายคือประดิษฐกรรมสุดยอดของการมีชีวิต" นี่ครับ สตีฟ จ็อบส์ เซน และความตาย

วันที่ 8 ตุลาคม 2554    กาแฟดำ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: