ผมเรียกเขาว่า “มนุษย์พันธุ์พิเศษ” เพราะ Steve Jobs เปลี่ยนโลกใบนี้ด้วยเป้าหมายอย่างเดียว
56 ปีบนโลกใบนี้จึงสั้นอย่างโหดร้ายเกินไปสำหรับคนที่เกิดมาเพื่อสร้าง ประดิษฐกรรมที่คาดการณ์ล่วงหน้าว่ามนุษย์ทั่วไปต้องการอะไรก่อนที่ผู้คนเอง จะรู้ตัวด้วยซ้ำไปว่านั่นคือสิ่งที่พวกเขาต้องการ
สตีฟ จ็อบส์ บอกนักศึกษารับปริญญาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เมื่อปี ค.ศ.2005 ตอนหนึ่งว่า “เวลาของคุณมีจำกัด ดังนั้น อย่าได้ดำเนินชีวิตของคนอื่นเลย”
เขาสอนเราว่าการดำรงชีวิตที่มีความหมายนั้นไม่จำเป็นต้อง “สำเร็จ” เสมอไป เพราะบ่อยครั้ง “ความล้มเหลว” ก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องเรียนรู้ที่จะรับได้ก่อน
สำหรับเขา ความล้มเหลวมาพร้อมกับการเปิดตาดูโลกวันแรก เพราะพ่อแม่ส่งไปให้คนอื่นเลี้ยงจนโต และเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย เขาก็เรียนไม่จบ ตั้ง Apple แล้ว เขาก็เผชิญกับอุปสรรคนานัปการ จนถูกขับออกจากตำแหน่ง ต้องหวนกลับมาอีกรอบจึงจะสามารถสร้างผลงานที่ตราตรึงไว้กับโลก
และเมื่อเขาจากไปหลังการต่อสู้กับโรคมะเร็งในตับอ่อนมาหลายปีเมื่อสอง วันก่อน ทั้งโลกก็คารวะในความเป็นอัจฉริยะของเขาอย่างปราศจากความสงสัย
ผมชอบ “บัญญัติ 10 ประการ” ที่ Leander Kahney เขียนเอาไว้จากการสัมภาษณ์สตีฟ จ็อบส์ อย่างโชกโชน และนั่นคือสูตรสำหรับคนทุกคนที่ต้องการแสวงหาความหมายในการทำงานเช่นเดียว กับเขา
สตีฟ จ็อบส์ ยืนยันว่าจะทำอะไรต้องมุ่งสู่ความเป็นเลิศเท่านั้น อย่าได้ทำอะไรชุ่ยๆ หรือสักแต่ว่าทำให้เสร็จเท่านั้น แต่จะต้องแสวงหาว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่คุณจะพึงหวังได้
อีกข้อหนึ่งคือ “อย่าหยุดเรียนรู้เป็นอันขาด” ตามมาด้วยการทำอะไรให้ง่ายเอาไว้ อย่าหลงเชื่อว่าการทำอะไรที่มันดูยุ่งยากสลับซับซ้อนนั้นคือความสำเร็จ
ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งที่เขาเน้นเสมอว่าการทำงานอะไรจะให้ถึงเป้านั้นพยายามให้ทีมงานของคุณเล็กเอาไว้ ทำนอง "จิ๋วแต่แจ๋ว" เพราะการคิดว่าต้องใช้คนเยอะหรือเอาจำนวนเข้าว่าคือทางสู่ความสำเร็จนั้นคือวิธีคิดที่ผิดพลาดมานักต่อนักแล้ว
สตีฟสอนให้คนทำงานเด็ดเดี่ยว กล้าตัดสินใจ อย่ายึดมั่นถือมั่น ไม่ยอมทิ้งทั้งๆ ที่เห็นแล้วว่าเดินหน้าไม่ไหว เอาอัตตามากำหนดชีวิต ก็มีแต่จะผลักดันตัวเองให้เข้าทางตันเท่านั้น
เขาสอนให้วิ่งเข้าหาคนที่รู้จริง อย่าลังเลที่จะขอความเห็นและคำแนะนำจากคนที่รู้จริง เพราะนั่นคือหนทางแห่งการบรรลุถึงสัจธรรม
สตีฟ ไม่เชื่อการใช้ focus groups อย่างที่นักบริหารบางคนถือเป็นหลักปฏิบัติในการวิจัยการตลาด
เพราะเขาเชื่อว่าผู้บริโภคจะไม่รู้ว่าตนเองต้องการอะไร จนกว่าคุณในฐานะผู้ผลิตสินค้าเสนอให้เห็น
“People don’t know what they want until you show it to them.”
แปลว่าคุณต้องคิดแทนผู้บริโภคตลอดเวลา คุณจึงจะมีอะไรใหม่ที่นำเสนอต่อสังคม
เขาบอกด้วยว่าการรักษาความลับระหว่างการทำงานเพื่อมุ่งไปหาสิ่งที่คุณ ตั้งเป้าไว้นั้นเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ดังนั้น คนทำงานที่ Apple จึงจะไม่ปริปากกระซิบบอกคุณว่าพวกเขากำลังทำอะไรจนกว่าจะได้จังหวะเวลาที่ เหมาะควรที่จะเป็นที่รับรู้ของคนหมู่มาก
เขาสอนให้คนทำงานทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำ prototype ขึ้นมาอย่างละเอียดลออ และไม่ต้องกลัวที่จะลองมันเป็นร้อยครั้งพันครั้งจนกว่าคุณจะเรียนรู้อะไร ใหม่จากมัน และแม้สตีฟ จะได้ชื่อว่าเป็นผู้บริหารที่โหดในวินัยการทำงาน แต่เขาก็ยืนยันว่าการให้กำลังใจสำคัญกว่าการลงโทษ
นั่นคือเหตุผลที่ทีมงาน Mac รุ่นแรกๆ ยอมทำให้สัปดาห์ละ 90 ชั่วโมงเป็นเวลาสามปีเต็มๆ เพื่อผลิตคอมพิวเตอร์ที่ “ดีอย่างบ้าระห่ำ” (insanely great) สำหรับสาวกแอ๊ปเปิ้ลทั้งโลก
สำหรับผม เขาคืออัจฉริยะที่เปลี่ยนโลกด้วยความเก่งอย่างบ้าระห่ำ
วันที่ 7 ตุลาคม 2554 กาแฟดำ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น