วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

"ปิดเทอม" เพิ่มทักษะการเงินให้ลูกรัก

โดยกาญจนา หงษ์ทอง

"ปิดเทอม" อาจจะเป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ เฝ้ารอคอย

แต่ในช่วงเวลาแห่งการพักเรียนของลูกหลาน ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทายของบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองด้วยเช่นกัน

เพราะในช่วงเดือนครึ่งถึงสองเดือนนี้ เป็นโจทย์ที่พ่อแม่ต้องวางแผนว่าจะทำอย่างไรดี ให้ช่วงนี้ เป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนที่มีคุณภาพของลูกหลาน

บางคนอาจจะพาลูกเดินทางไปท่องเที่ยวในและต่างประเทศ บางคนส่งลูกไปเข้าแคมป์ซัมเมอร์ บางคนพาลูกไปฝึกทักษะทางดนตรีและกีฬา และก็มีอีกหลายคนที่ยังให้ลูกไปเข้าโรงเรียนติวเข้มด้านวิชาการ

มีทักษะอย่างหนึ่งที่ พ่อแม่ก็สามารถสอดแทรกให้ลูกในช่วงปิดเทอมนี้ได้ คือทักษะในเรื่องเงินๆ ทองๆ Fundamentals ฉบับนี้ พาไปดูว่าพ่อแม่จะเพิ่มทักษะด้านการเงินให้กับลูกหลานในช่วงปิดเทอมอย่างไรได้บ้าง

********

ให้ลูกมีเป้าหมายในช่วงปิดเทอม-ทำงานบ้านแลกเงิน

ปิดเทอมครั้งที่ผ่านๆ มา ลูกหลานของคุณทำอะไรบ้างในช่วงเวลานี้ จริงอยู่ที่เป็นช่วงเวลาแห่งการปลดปล่อย พ่อแม่หลายๆ คนจึงให้ลูกได้พักผ่อนหย่อนสมองเที่ยวเล่นอย่างเต็มที่ อีกฝั่งหนึ่งก็จะเป็นพ่อแม่ที่คุมเข้มและกวดขันลูกอยู่ตลอดเวลา ปิดเทอมจะช้าหรือนานแค่ไหน ก็ต้องส่งลูกให้เรียนพิเศษ ติวเข้มเรื่องวิชาการ

ไม่ว่าคุณจะเป็นพ่อแม่ในแบบไหนก็ตาม ขอให้รู้ไว้ว่า ยังมีเรื่องของทักษะด้านการจัดการเงินทอง ที่คุณสามารถสอดแทรกเข้าไปอบรมสั่งสอนลูกๆ ได้แบบสบายๆ

ทุกวันนี้ อาจจะดูเหมือนมีกิจกรรมในด้านเสริมทักษะการจัดการเงินทองอย่างเป็นทางการไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริง มีกิจกรรมให้คุณได้สอดแทรกทักษะ ลองมาฟังผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการเงินเหล่านี้กัน ว่าเมื่อต้องอยู่ในบทบาทและฐานะของพ่อและแม่ จะมีวิธีการเลี้ยงดูลูกอย่างไรในช่วงปิดเทอม ให้เป็นช่วงเวลาแห่งคุณภาพ

Oให้ลูกมีเป้าหมายในช่วงปิดเทอม

การตั้งเป้าหมายในชีวิต จะทำให้เด็กมีทักษะเรื่องนี้ติดตัวไปจนโต แม้กระทั่งช่วงเวลาปิดเทอม คุณก็ควรให้ลูกตั้งเป้าหมายดูซิว่า เขาอยากทำอะไรหรือไม่

"วนา พูลผล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี ในฐานะคุณพ่ออีกคนหนึ่ง ให้ทัศนะว่า โดยปกติเด็กๆ จะมีสิ่งที่พวกเขาอยากได้และอยากทำอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้ เราสามารถให้ลูกตั้งเป้าหมายทางการเงินในช่วงปิดเทอมนั้นเลยว่า เขาอยากทำอะไร

Oทำงานบ้านแลกเงิน

วนา แนะว่า เป้าหมายของเด็ก โดยมากจะอยากได้นั่นได้นี่ ฉะนั้น เมื่อลูกอยากได้อะไร ก็ลองดูก่อนว่าของชิ้นนั้นราคาเท่าไหร่ แล้วให้ทำงานเพื่อหารายได้มาเพื่อซื้อของชิ้นนั้น เช่นถ้าเป็นเด็กโตหน่อยก็อาจจะให้เขาลองทำงานนอกบ้าน แต่ถ้าเด็กยังเล็กอยู่ ก็อาจจะใช้วิธีให้ช่วยทำงานบ้าน เพื่อแลกกับค่าขนมในช่วงปิดเทอม และให้เขาสะสมเงินเพื่อนำไปซื้อของชิ้นนั้น

"ที่จริงใช้วิธีนี้ จะทำให้ลูกรู้จักคุณค่าของเงินมากขึ้น ให้เขาช่วยรดน้ำต้นไม้ ตัดหญ้า ทำงานเพื่อแลกเงิน ไม่ใช่ว่าลูกอยากได้อะไรก็ซื้อให้ง่ายๆ หรือถ้าเขาไม่อยากได้อะไร เมื่อได้เงินก้อนเล็กๆ ก็ให้เขาเก็บสะสมเอาไว้" วนา แนะ

Oขายของหาค่าขนม

อีกวิธีหนึ่งที่เด็กๆ จะสามารถหาค่าขนมในช่วงปิดเทอมได้คือ ให้พวกเขาลองสำรวจข้าวของในบ้านดู ว่ามีเสื้อผ้ารองเท้า กระเป๋า หรือพวกของใช้สภาพดีบ้างหรือไม่ ที่ไม่ได้ใช้แล้ว จากนั้น ก็ลองรวบรวม แล้วไปเปิดท้ายขายของกันตามตลาดนัด ที่เดี๋ยวนี้มีเยอะมาก

งานนี้ได้หลายเด้งเลยทีเดียว เรียกว่า ได้ทั้งเงินค่าขนม ประสบการณ์ แล้วน้องๆ หนูๆ อาจจะได้อาชีพใหม่ ทุกๆ ปิดเทอมอาจจะกวาดของไปขายได้อีกหลายรอบ

Oทำพาร์ทไทม์ได้ทั้งเงิน&ประสบการณ์

ที่จริงก็มีงานอีกหลายแบบที่ลูกหลานของคุณทำได้ในช่วงปิดเทอม ยิ่งถ้าเป็นเด็กโตขึ้นมานิด อาจจะหางานทำเพิ่มประสบการณ์และรายได้กัน เช่นเป็นพนักงานประจำร้านอาหารตามห้างสรรพสินค้า หรือพนักงานร้านฟาสต์ฟู้ดทั่วๆ ไป นอกจากจะได้เงินค่าขนมและประสบการณ์ที่ดีแล้ว ใครจะรู้ว่าต่อไปอาจจะเป็นโพรไฟล์ที่ดีในการหางานการทำในอนาคตอีกด้วย

"เพิ่มพล ประเสริฐล้ำ" กรรมการผู้จัดการ บลจ.พรีมาเวสท์ แนะว่า ในช่วงปิดเทอม ถ้าเด็กๆ ได้ลองทำงานพิเศษ จะทำให้ลูกหลานของคุณรักเงินที่ได้มา ปกติความรักที่มีคุณค่ามักจะเกิดจากการรู้คุณค่าของสิ่งนั้นๆ ดังนั้น การที่จะทำให้ลูกหลานของคุณรักเงินและถนอมเงิน ก็คือการทำให้รู้ว่ากว่าจะได้เงินมานั้นต้องมานะอดทน

ดังนั้นช่วงปิดเทอมนี้ถ้าลูกหลานของคุณอยู่ในข่ายที่จะสามารถทำงานพิเศษได้ ก็เป็นการดีที่ท่านจะให้บุตรหลานออกไปทำงานพาร์ทไทม์ ซึ่งก็มีหลายสถาบันที่น่าเชื่อถือได้เปิดรับสมัครเด็กทำงานพิเศษช่วงปิดเรียน คุณในฐานะพ่อแม่ก็คงต้องคอยติดตามบุตรหลานในระหว่างช่วงนี้ด้วย เพื่อให้เข้าร่วมกับสังคมโดยความเหมาะสม เพราะนอกจากเด็กจะได้เบี้ยเลี้ยงแล้ว ยังได้ประสบการณ์ที่นำมาใช้ประโยชน์ในอนาคตได้

Oลิมิตวงเงินใช้จ่ายเวลาพาลูกเที่ยว

"เรืองวิทย์ นันทาภิวัฒน์" อดีตนักการเงินที่อยู่ในแวดวงกองทุนรวม แนะว่าทักษะอย่างหนึ่งที่สอนลูกได้คือเรื่องการบริหารค่าใช้จ่าย เพราะโดยมากในช่วงเวลาปิดเทอม พ่อแม่มักจะพาลูกเดินทางท่องเที่ยว ไม่ว่าจะในหรือต่างประเทศก็ตาม แต่พ่อแม่สามารถฝึกทักษะการใช้จ่ายเงินได้ เช่น มีการตกลงกันก่อนออกเดินทางว่าทริปนี้ ลูกสามารถชอปปิงได้เท่านั้นเท่านี้

"ทำแบบนี้ลูกจะรู้จักการบริหารงบไปในตัว เพราะเวลาไปเที่ยว ธรรมชาติของเด็ก เขามักจะอยากได้ของอยู่แล้ว ถ้าวันแรกๆ เขาเริ่มช้อปเยอะ ก็บอกเขาได้ว่า ถ้าลูกเริ่มจ่ายตั้งแต่วันนี้ เดี๋ยววันหลังๆ อาจจะไม่เหลือเงินไว้ซื้อของก็ได้นะ วิธีนี้จะทำให้เขารู้จักยับยั้งชั่งใจ " เรืองวิทย์แนะ

Oมีโบนัสพิเศษเมื่อออมได้เพิ่มขึ้น

วิธีนี้เพิ่มพลมองว่า แล้วแต่ผู้ปกครองแต่ละคน ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่เขาได้รู้จักผู้ปกครองหลายคนที่ใช้วิธีนี้ ปรากฏว่าลูกหลานนิยมการออมเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น ในช่วงทุกๆ 3 เดือน ผู้ปกครองก็จะเข้ามาดูบัญชีที่เปิดไว้ร่วมกันว่ามีเงินออมเพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้ามีเพิ่มขึ้นผู้ปกครองก็จะมีโบนัสให้เท่ากับจำนวนที่เพิ่มขึ้นเข้าบัญชีนี้ อาจจะนำมาประยุกต์กับช่วงเวลาปิดเทอมนี้ได้

"ผมว่าหลักๆ เราต้องทำให้ลูกหลานคิดก่อนจ่ายเงินซื้อของฟุ่มเฟือย แต่อย่าสอนให้เป็นคนตระหนี่ที่จะจ่ายเงิน นอกจากนี้ถ้าคุณเข้ามาเป็นที่ปรึกษาทุกกระบวนการให้แก่บุตรหลาน การเข้ามาเป็นที่ปรึกษานี้เองจะทำให้คุณและบุตรหลานได้พูดคุยกันมากขึ้น ซึ่งก็มีความเป็นไปได้สูงที่บุตรหลาน เมื่อจะใช้จ่ายเงินก็จะมาหารือกันก่อนใช้จ่าย ซึ่งผู้ปกครองก็อาจยึดทางสายกลาง และมีเหตุผลที่ผู้ใหญ่มีต่อผู้เยาว์ในการใช้เงินออมนี้"

เพิ่มพลบอกอีกว่า พื้นฐานของความมั่งคั่งที่มั่นคง คือรักการออมตั้งแต่วัยเด็ก ขณะที่ รากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศจริงแล้ว ก็คือทำให้คนในชาติมีนิสัยรักการออม เพราะว่าถ้าคนเราขาดเงินออมแล้ว จะมีแหล่งเงินทุนใดๆ ที่จะมั่นคงพอที่เราจะกล้านำไปลงทุน ซื้อทรัพย์สิน หลายคนคงเถียงว่าถ้าต้องการลงทุนหรือซื้อทรัพย์สินอื่นๆ ก็ใช้วิธีการกู้เงิน เพราะเป็นวิธีที่สามารถหากำไรได้ง่ายสุดและไม่ต้องรอเงินออมให้เสียเวลา แต่อย่าลืมว่าการกู้เงินย่อมต้องคืนเงินที่กู้มาพร้อมต้นทุนการกู้ หรือเราเรียกว่า “ดอกเบี้ยเงินกู้” จะมากหรือน้อยก็ขึ้นกับความยากง่ายในการกู้ เช่น ถ้ากู้ซื้อบ้านดอกเบี้ยก็ต่ำลงมา ปัจจุบันก็ไม่ต่ำกว่า 4-5% ต่อปีเมื่อเทียบกับการกู้สินเชื่อบุคคลซึ่งสูงในระดับกว่า 10%

ที่สำคัญด้วยปัจจุบันที่การกู้เงินเป็นเรื่องง่าย ถ้ากู้มาซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยเกินกว่าความสามารถที่จะจ่ายได้ จะเกิดอะไรขึ้นจะขายสินค้าฟุ่มเฟือย (ซึ่งปกติราคาขายต่อจะลดต่ำลง) เพื่อไปใช้หนี้ที่ซื้อมาราคาเต็มหรือ หรือยิ่งถ้ากู้มาเพื่อลงทุนในหุ้นแล้วขาดทุน จะหาเงินมาคืนทั้งเงินต้นที่กู้และดอกเบี้ยได้หรือ

" ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วดูเหมือนการออมจะเป็นคำตอบของการที่จะมีแหล่งเงินที่มั่นคงจริง แต่จุดอ่อนของการออมคือการทยอยเก็บ เพราะจำนวนเงินออมที่มากขึ้นต้องใช้เวลา และการมีวินัยในการเก็บ เพื่อให้ได้มีจำนวนมากพอที่เมื่อต้องการใช้จะสามารถนำมาใช้ได้ วันนี้เขาจึงอยากชักชวนให้ผู้ปกครองปลูกฝังการรักการออมให้แก่ลูกหลาน อย่างน้อยที่สุดในช่วงปิดเทอม ก็เป็นโอกาสที่ดี"

อีกอย่างหนึ่งที่เพิ่มพลบอกว่า น่าจะลองทำดูในช่วงปิดเทอม คือทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างง่าย วิธีนี้ใช้ได้กับทั้งลูกหลานที่มีความพร้อมทำงานพิเศษในช่วงปิดเทอม และลูกหลานที่ไม่มีความพร้อมทำงานช่วงปิดเทอมได้ เพราะเป็นวิธีที่ง่ายเพียงแต่นำเงินที่ได้มาเป็นตัวตั้งและหักค่าใช้จ่าย ที่เหลือเท่าไหร่ใส่กระปุกและนำไปฝากเงิน ซึ่งท่านอาจจะทำเป็นรายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือนก็ได้

เพิ่มพลย้ำว่าเราควรปลูกฝัง และสร้างพื้นฐานการเก็บออมและการรู้จักใช้เงินของเด็กๆ ตั้งแต่ช่วงนี้ ซึ่งหลายๆ คนก็คงสอนลูกหลานให้รู้จักเก็บออมหยอดกระปุกอยู่แล้ว แต่ผู้ปกครองก็ควรต้องช่วยสร้างแรงจูงใจให้นำเงินออมที่สะสมไว้ไปทำให้เกิดรายได้ด้วย ไม่ใช่แค่เก็บไว้เฉยๆ ซึ่งจะช่วยฝึกให้ลูกหลานค่อยๆ เข้าใจวิธีการลงทุนโดยการหาผลประโยชน์จากเงินออมนั้นไปในคราวเดียวกันด้วย

วิธีเบื้องต้นและปลอดภัยก็คือให้ลูกหลานมีความเข้าใจเรื่องการนำเงินออมไปฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ สร้างแรงจูงใจอยากให้เขาไปเปิดบัญชีกับธนาคารเพื่อให้ได้รับผลตอบแทน โดยเขาแนะนำให้ผู้ปกครองเป็นผู้พาเด็กไปที่ธนาคารด้วยกัน แทนที่ผู้ปกครองจะไปเปิดบัญชีให้เอง ซึ่งหากเด็กได้ไปเปิดบัญชีกับธนาคารด้วยตัวเขาเอง แม้ว่าจะยังไม่สามารถเปิดเป็นชื่อเขาได้คนเดียว แต่ก็จะสร้างความเชื่อมั่น และมั่นใจแก่เขาว่าบัญชีนี้เป็นบัญชีเงินออมที่เขาเก็บออมเอง มีเงินออมเพิ่มเมื่อไรก็สามารถนำไปฝากเพิ่ม และให้เขารับผิดชอบเก็บสมุดเงินฝากไว้เอง จะทำให้เขาเรียนรู้และเห็นความเปลี่ยนแปลงในยอดเงินในสมุดอย่างเป็นระยะๆ ซึ่งเป็นการค่อยพัฒนาให้เขาเรียนรู้การออมควบคู่กับการลงทุนในคราวเดียวกัน หากผู้ปกครองต้องการสะสมเงินไว้ให้ลูกหลานอีกส่วนหนึ่ง ก็สามารถเปิดเป็นอีกบัญชีที่ไม่เกี่ยวกับตรงนี้ ซึ่งผู้ปกครองจะเก็บสมุดบัญชีไว้เอง แยกต่างหากออกไป

"ผมเชื่อว่าด้วยวิธีเหล่านี้จริงๆ แล้วใช้ได้ตลอด แต่ถ้าอยากจะทำเป็นโปรแกรมสั้นๆ ในช่วงปิดเทอมนี้ก็สามารถทำได้ ช่วยกันให้เราเป็นสังคมรักการออม ช่วยกันสร้างเด็กให้รักการออม และสอดแทรกให้รู้จักการลงทุนด้วยการฝากเงินกับธนาคาร ก็เท่ากับว่าท่านกำลังสร้างสังคมที่ดีแก่บุตรหลานในอนาคต ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่มีปัญหาสังคมค่อนข้างมาก การสร้างหนี้สินโดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลและหนี้บัตรเครดิตกำลังเป็นปัญหาที่เรื้อรังและสร้างปัญหาสังคมขึ้น"

Oส่งเข้าแคมป์การเงิน

"วรวรรณ ธาราภูมิ" กรรมการผู้จัดการ บลจ.บัวหลวง บอกว่าที่จริงช่วงปิดเทอมควรจะมีพวกแคมป์การเงิน เพื่อส่งให้เด็กได้เข้าไปฝึกอบรมและเพิ่มพูนทักษะในเรื่องนี้ แต่ทุกวันนี้ยังไม่ค่อยมี ซึ่ง บลจ.บัวหลวงเองเราก็คิดจะทำตรงนี้ขึ้น โดยอาจจะเป็นแคมป์ที่ฝึกฝนให้ลูกน้อยมีพื้นฐานเรื่องของเงิน ๆทองๆ เพื่อให้เด็กได้มีทักษะการเงินมากขึ้น

เรืองวิทย์ บอกว่า ทุกวันนี้พวกแคมป์การเงิน หรือคอร์สอบรมการเงินในช่วงปิดเทอมยังไม่ค่อยมี ซึ่งถ้ามีจะดีมาก แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กเกินไปก็อาจจะไม่สนุก ต้องให้เด็กโตขึ้นมานิดหนึ่ง

"ในการฝึกทักษะทางการเงินนั้น ลูกของผมจะใช้วิธี ให้อ่านและเขียน เช่น อาจจะให้ลูกเขียนเรียงความช่วงปิดเทอม หรืออาจจะหาหนังสือการเงินที่อ่านง่ายๆ ให้เขาอ่าน ผมว่าทักษะสองอย่างนี้จำเป็นมากสำหรับเด็ก"

วนา เป็นอีกคนหนึ่งที่เห็นด้วยในเรื่องนี้ ว่าระหว่างปิดเทอม ควรจะมีพวกแคมป์การเงิน ที่เปิดโอกาสให้พ่อแม่ส่งลูกไปเรียนคอร์สฝึกอบรมพิเศษ เข้าแคมป์ หรือหลักสูตรสั้นๆ ที่ช่วยเสริมทักษะด้านการเงินได้

ยังพอมีเวลา สำหรับใครที่อยากให้ลูกหลานของตัวเองได้เพิ่มทักษะการเงินในช่วงปิดเทอม







ขอบคุณบทความในกรุงเทพธุรกิจ วันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2551


ไม่มีความคิดเห็น: