ปลุกพลังอัจฉริยภาพให้ลูก สอนลูกให้ชนะโลก ให้อยู่รอดในโลกใบนี้ได้อย่างสนุกสนาน ในแบบที่ลูกเป็น ไม่ใช่ในแบบที่เราต้องการให้ลูกเป็น ด้วยพลังแห่งความรักความอบอุ่นของครอบครัว
วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
เคล็ดลับฝึกเด็กให้รับมือกับความผิดหวัง
พญ.โสรยา ชัชวาลานนท์...
1. "ครอบครัวเข้มแข็ง คือที่พักพิงใจที่สำคัญ" ครอบครัวเป็นสถาบันหลักที่อบรมเลี้ยงดูเด็กให้เจริญเติบโตทั้งด้านร่างกาย สติปัญญาและเป็นที่พึ่งทางจิตใจที่สำคัญที่สุด เมื่อเด็กเจอความผิดหวัง หน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่คือ ต้องไม่แสดงความอ่อนแอให้ลูกเห็น เช่น ร้องไห้พร้อมกับลูก เพราะยิ่งจะทำให้เด็กเสียขวัญ และรู้สึกเสียใจที่คุณพ่อคุณแม่ต้องมาเสียน้ำตา
2. "ภาษากาย" ความรักและความอบอุ่นที่เด็กสัมผัสได้ เมื่อเด็กรู้สึกผิดหวัง ทำให้ไม่พร้อมที่จะรับฟังคำพูดปลอบประโลมหรือคำอธิบายต่างๆ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงหรือพูดให้น้อยที่สุด แล้วหันมาใช้ "ภาษากาย" เพื่อแสดงการปลอบโยนและเข้าใจถึงความรู้สึกที่เด็กมี อาทิ การกอด เอามือตบไหล่หรือใช้เวลาอยู่ด้วยกันให้นานขึ้น วิธีนี้จะช่วยให้เด็กรู้สึกว่าต่อให้เกิดอะไรขึ้นก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ก็ยังรักและเป็นกำลังใจให้เขาเสมอ
3. "ไม่ซ้ำ-ไม่ย้ำ-ไม่ตำหนิ" นอกจากคำตำหนิแล้วคำต้องห้ามที่ไม่ควรพูดให้เด็กได้ยิน เช่น น่าเสียดาย เพราะจะยิ่งไปซ้ำเติมภาวะจิตใจที่แย่อยู่แล้วให้หนักเข้าไปอีก
4. "เป็นผู้รับฟังที่ดี" พยายามกระตุ้นให้เด็กเล่าหรืออธิบายสิ่งที่ติดค้างในใจ เพื่อระบายความรู้สึกที่ไม่สบายใจออกมา คุณพ่อคุณแม่อาจถามในประเด็นที่สำคัญและรับฟังคำตอบอย่างตั้งใจ เพราะเพียงแค่ได้เล่าออกมาให้ใครสักคนฟังเด็กจะรู้สึกสบายใจขึ้น
5. "เบี่ยงเบนความสนใจจากอดีตด้วยกิจกรรมใหม่ๆ ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน" บางครั้งเด็กจะกังวลและยังจดจ่ออยู่กับความผิดหวังในอดีตที่ผ่านไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยและแนะนำโดยให้มองไปยังเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตแทน
6. "ความพ่ายแพ้และความผิดหวัง คือเครื่องเตือนใจให้เราอย่าหยุดพัฒนาตัวเอง" คุณพ่อคุณแม่ควรใช้เวลาอยู่กับเด็ก โดยเน้นพูดคุยถึงเรื่องดีๆ ในวันข้างหน้า เช่น อนาคตอยากทำอะไร รู้สึกอย่างไรถ้าวันหนึ่งประสบความสำเร็จในชีวิต ได้ทำในสิ่งที่อยากทำมานาน หรือให้เล่าประสบการณ์ดีๆ ที่ประทับใจเพื่อลดความรู้สึกด้านลบของเด็ก
7. "ค้นหาเด็กเก่งคนใหม่ที่ซ่อนอยู่ในลูกคนเดิม" คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลดความกังวลให้กับเด็กได้ ด้วยการดึงความสามารถด้านอื่นๆ ที่เด็กมีอยู่ออกมาอีก จะช่วยให้ลูกมีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาความสามารถนั้นมาทดแทน
การเลี้ยงลูกในยุคที่มีการแข่งขันสูง คุณพ่อคุณแม่รุ่นใหม่จึงต้องสร้าง "ต้นทุนชีวิตและภูมิคุ้มกันทางจิตใจ" ให้ลูก ไม่ว่าจะเป็นการทุ่มเททั้งความรักและความปรารถนาดี เปิดใจรับฟังและทำความเข้าใจในสิ่งที่ลูกพูด เพื่อหล่อหลอมให้ลูกๆ เจริญเติบโตและเริ่มต้นตั้งหลักชีวิตได้อย่างแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต
พญ.โสรยา ชัชวาลานนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
โรงพยาบาลเด็ก สมิติเวช ศรีนครินทร์
ที่มา คอลัมน์ สดจากเยาวชน/ข่าวสดออนไลน์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น