ปกติแล้ว ดิฉันและสามีไม่ค่อยซื้อเลโก้ใ้ห้ลูกเล่น แต่ที่บ้านก็มีเลโก้ เหมือนกันค่ะ ที่ไม่ชอบซื้อ ก็เพราะเห็นลูกเล่นไม่ค่อยเป็น และชอบทำหาย ไม่ครบชิ้น ของเล่นราคาแพง แต่ลูกไม่สามารถดูแลรักษาได้ ที่ผ่านมาจึงไม่ได้คิดจะสอนให้เล่นจริงๆจังๆ ลูกๆก็ได้เล่นตามโรงเรียน หรือ ตามบ้านเพื่อนบ้าง ที่บ้านบ้าง แบบต่อเองเปะปะ แล้วแต่จะคิด
สัปดาห์ก่อน ดิฉันพาลูกไปห้าง ลูกไม่อยากเล่นปีนป่ายที่เครื่องเล่นแล้ว แต่อยากนั่งเล่นเลโก้ และเล่นไ้ด้นานๆ ดิฉันจึงคิดว่า น่าจะถึงเวลาที่ลูกน่าจะได้ฝึกเล่นต่อเลโก้ เป็นชิ้นเป็นอัน จึงซื้อคันเล็กๆมาให้ลอง ซึ่งทำให้ดิฉันได้มีโอกาสเข้าใจ ข้อดีของการเล่นเลโก้ที่ถูกต้อง
ในการเล่นเลโก้นี่ เป็นการฝึกทักษะหลายด้าน ในเวลาเดียวกัน เช่น การอ่าน Instruction วิธีการในการต่อ การดูรูปประกอบ แล้วลงมือทำ ซึ่งคล้ายๆกับการฝึกข้อสอบเชาว์ต่างๆ ที่ต้องมาสังเกตรูป ร่างสี และตำแหน่งของชิ้นที่จะต้องมาต่อกัน
ในการเล่นต่อเลโก้ เด็กต้องอยู่ในสมาธิที่ต่อเนื่องมาก ซึ่งทำให้เด็กเต็มใจที่จะพยายามทำ เพราะผลลัพธ์ที่ได้ คือ ชิ้นงานที่สวยงาม ที่ตัวเองอยากได้ เป็นการใช้เวลาของเด็กที่ดีมาก แทนที่เด็กจะเสียเวลาไปกับทีวี หรือ กิจกรรมที่ไม่มีสาระ และเด็กก็สามารถหยุดนิ่ง อยู่กับตัวเองได้
อีกทั้งเป็นการฝึกความอดทน ความมานะ พยายาม การแก้ปัญหา เมื่อมีการต่อผิด ก็จะมีการให้เด็กมีโอกาสทบทวน รื้อแก้ไข เปรียบเทียบ และอื่นๆ
เมื่อต่อเสร็จแล้ว เด็กๆก็สามารถเอามาเล่น จินตนาการในแบบของตัวเองได้
ประเด็นคือ เลโก้ เป็นของเล่นที่มีราคาแพง และการต่อแต่ละชิ้นงานก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ในครั้งแรกๆ ในเด็กอนุบาล หรือ ประถมต้น คุณพ่อ คุณแม่ หรือ ผู้ใหญ่มักจะต้องผู้ช่วยทำเป็นส่วนมาก ซึ่งหากพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ ไม่สอนไปด้วย ทำไปด้วย เด็กๆก็จะมีของเล่นราคาแพง แต่ไม่มีโอกาสฝึกทักษะ ที่หลากหลายตามเจตนารมณ์ของๆเล่นนั้น
สิ่งที่ดิฉันทำคือ ดิฉันให้ลูกรื้อเลโก้ที่ต่อเสร็จแล้ว ทุกครั้งก่อนเก็บ และหากอยากจะเล่น ลูกต้องมาต่อเอง เพราะคุณพ่อจะสอนเพียงครั้งเดียว นอกนั้นลูกต้องรื้อเอง ต่อเอง และเก็บให้ครบ พร้อมคู่มือ เท่าที่ดูมา 2-3 วัน น้องแชงสามารถรื้อและต่องานชิ้นแรกได้เองแล้ว และทำได้เร็วขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ลูกเริ่มเข้าใจการอ่านคู่มือ และมีทักษะการสังเกต ดีขึ้น สามารถต่อชิ้นงานได้เร็วขึ้น ดิฉันจึงเตรียมซื้อชิ้นงานใหม่ เพื่อฝึกลูกในช่วงปิดเทอมค่ะ เพราะปิดเทอม เวลาเหลือเฟือ เอามาเวลามาฝึกทักษะ แบบไม่ต้องท่องจำ จะดีกว่า
ที่จริงแล้ว การฝึกทักษะแบบนี้ ทำได้หลายอย่างค่ะ ไม่ต้องเป็นเลโก้ ก็ได้ แต่ให้เป็นแบบที่ลูกสนใจ เช่น ทำอาหาร ทำขนม งานประดิษฐ์ต่างๆ ซึ่งเราสามารถสอนลูกค้นคว้า หากสูตรต่างๆ วิธีทำได้จากอินเตอร์เนต จดรายละเอียด แล้วลงมือทำ ทำงานชิ้นนึง ก็หมดไป ค่อนวันแล้วค่ะ
ที่สำคัญคือ การฝึกลูกให้เป็นนักประดิษฐ์ เป็นการฝึกลูกให้ "ลงมือทำ" มิใช่แค่ คิดเป็น แต่ทำงานไม่เป็น ไม่ใช่แค่การจินตนาการฟุ้งซ่านไปวันๆ แต่สามารถทำสิ่งที่คิด ให้เป็นรูปธรรมได้ ทำให้เด็กได้ฝึกล้มเหลว ฝึกผิดพลาด และเรียนรู้ว่า หลายๆครั้ง สิ่งที่คิด ก็ไม่ได้เป็นสิ่งทีีถูกต้อง หรือ ทำได้เสมอไป
การเป็นนักประดิษฐ์ นักลงมือทำ สามารถทำให้ลูกต่อยอดได้ในหลายสาขาวิชา เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้มีโอกาสค้นหาตัวเอง ว่าอะไรใช่ หรือไม่ใช่สำหรับลูก ลูกอาจจะต่อไปเป็นนักประดิษฐ์หุ่นยนต์ ประดิษฐ์รถ หรือ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร ก็เป็นไปได้นะคะ
ลองดูนะคะ
1 ความคิดเห็น:
จะลองนำไปเล่นกับลูกบ้างค่ะ
แสดงความคิดเห็น