วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

ลงทุนอย่างไร เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงิน

หลายปีมานี่ ตั้งแต่แต่งงาน มีบุตรนี่ ดิฉันทำงานหลักคือ เป็น "หลังบ้าน" ของสามี  ทำหน้าที่ดูแลอบรมสั่งสอนลูกสองคน ดูแลสุขภาพอาหารการกิน และการเงินของครอบครัว  ดังนั้น ดิฉันจึงให้ความสนใจในเรื่องการเงินเป็นพิเศษ   โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนให้งอกเงย  การบริหารทรัพย์สิน และเห็นว่า ความรู้เรื่องเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ต้องถ่ายทอดไปถึงลูกๆด้วย   เพราะคนเรานั้น ต่อให้ทำงานเก่งแค่ไหน  หาเงินได้มากหรือน้อยก็แล้วแต่  แต่หากไม่สามารถบริหารการเงินและทรัพย์สินแล้ว  หาได้เท่าไหร่ก็ไม่พอค่ะ  ค่าใช้จ่ายต่างๆ มันจะสูงขึ้นตามวัน  และค่าครองชีพก็สูงขึ้น ตามสภาพเงินเฟ้อง  รวมทั้สภาพเศรษฐกิจที่ผันผวน ทำให้ยากที่จะควบคุม    การบริหารการเงินอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น ที่จะทำให้เราสามารถ "รอด" ได้ ไม่ว่าจะหาเงินได้มากหรือน้อย  หรือ สภาพเศรษฐกิจเป็นอย่างไรก็ตาม 

นี่เป็นอีกบทความนึง ที่น่าสนใจ สำหรับผู้ที่ตั้งใจจะหาความรู้เรื่องการบริหารเงินนะคะ


ลงทุนอย่างไร เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงิน 


ลงทุนอย่างไร เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงิน 
            ใน โลกของการลงทุน นักลงทุนแต่ละคนมีเป้าหมายในการลงทุนที่แตกต่างกันไป บางคนต้องการเก็บเงินซื้อรถยนต์ บางคนต้องการออมเงินเพื่อเกษียณอายุ  ทำ ให้สินทรัพย์ที่ลงทุนของแต่ละคนก็แตกต่างกันไปอีกด้วย บทความฉบับนี้จะขอเป็นตัวช่วยในการเลือกสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่เหมาะสม กับเป้าหมายของนักลงทุน โดยเป้าหมายในการลงทุนสามารถแบ่งตามระยะเวลาได้ 3 แบบ คือ เป้าหมายระยะสั้น เป้าหมายระยะปานกลาง และเป้าหมายระยะยาว
            เป้าหมายระยะสั้น คือเป้าหมายที่มีระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี ยกตัวอย่างเช่น การออมเงินเพื่อซื้อรถยนต์ การออมเงินเพื่อเที่ยวต่างประเทศ การออมเงินเพื่อเป้าหมายระยะสั้นจะเป็นการออมในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง เพื่อให้สามารถนำเงินมาใช้จ่ายสำหรับเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์ที่นักลงทุนจะลงทุนนั้น จะแตกต่างกันไปตามความจำเป็นของเป้าหมาย หากเป้าหมายมีความสำคัญมาก เช่น การซื้อรถยนต์ สินทรัพย์ที่นักลงทุนควรลงทุนจะเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ เช่น เงินฝาก กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนตราสารหนี้ที่มีกำหนดระยะเวลา หากเป้าหมายมีความสำคัญน้อยลง ยกตัวอย่างเช่น การท่องเที่ยว นักลงทุนสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นได้ เนื่องจาก หากคุณไม่สามารถออมเงินเพื่อเป้าหมายนี้ได้ในระยะเวลาที่กำหนด คุณสามารถเลื่อนระยะเวลาออกไป หรือปรับลดงบประมาณในการท่องเที่ยวลงได้ ดังนั้น การออมเงินเพื่อเป้าหมายประเภทนี้ นอกจากสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำที่ได้แนะนำข้างต้นแล้ว คุณสามารถแบ่งเงินบางส่วนมาลงทุนในกองทุนผสม ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนทั้งในตราสารหนี้และตราสารทุน เพื่อเป็นการเพิ่มอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าวมีการลงทุนในหุ้นด้วย ดังนั้นเงินต้นที่คุณแบ่งมาลงทุนในกองทุนผสมนี้มีโอกาสปรับลดลงได้ด้วยค่ะ
            เป้าหมายระยะกลาง คือเป้าหมายที่มีระยะเวลาตั้งแต่ 3 ปี แต่ไม่เกิน 7 ปี ยกตัวอย่างเช่น การออมเงินเพื่อดาวน์บ้าน การออมเงินเพื่อการศึกษาบุตร เนื่องจากเป้าหมายระยะกลางมีระยะเวลาที่นานกว่าเป้าหมายระยะสั้น ดังนั้น สินทรัพย์ที่ลงทุนไม่จำเป็นที่จะต้องมีสภาพคล่องสูงเหมือนกับการออมเพื่อ เป้าหมายระยะสั้น สำหรับการแบ่งสัดส่วนเงินลงทุนนั้น คุณสามารถลงทุนได้ทั้งในตราสารหนี้ ตราสารทุน หรือสินค้าโภคภัณฑ์ ตามระดับความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้
            เป้าหมายระยะยาว คือเป้าหมายที่มีระยะเวลาการลงทุนมากกว่า 7 ปี เช่น การออมเงินเพื่อเกษียณอายุ สำหรับการลงทุนระยะยาวนั้น นอกจากการลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารทุน หรือสินค้าโภคภัณฑ์แล้ว นักลงทุนสามารถพิจารณาลงทุนในกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ได้แก่ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือประกันชีวิต เพื่อได้รับประโยชน์ 2 ต่อ ทั้งในด้านการออมเงินเพื่อเกษียณอายุ และการลดหย่อนภาษี หากนักลงทุนไม่ต้องการความยุ่งยากในการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท ขอแนะนำให้ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ค่ะ เนื่องจากกองทุนประเภทนี้มีการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท ทำให้นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนตามความสามารถในการรับความเสี่ยง ตั้งแต่ตราสารหนี้ ตราสารทุน ผสม (ตราสารหนี้และตราสารทุนในกองทุนเดียวกัน) และทองคำ ทั้งนี้ สำหรับกองทุนลดหย่อนภาษีทั้ง 2 ประเภท มีกฎเกณฑ์ของกรมสรรพากรในการซื้อและขายหน่วยลงทุน ขอให้นักลงทุนศึกษาข้อมูลการลงทุนก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนด้วยนะคะ
            ไม่ว่าเป้าหมายการลงทุนของคุณจะเป็นรูปแบบใด ขอแนะนำให้คุณลงทุนอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน (Dollar Cost Averaging) เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง และป้องกันการหลงลืมการลงทุนได้อีกด้วยค่ะ โดยหากคุณลงทุนผ่านกองทุนรวม ปัจจุบันบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนหลายแห่งมีบริการหักบัญชีเงินฝากเพื่อ อำนวยความสะดวกให้นักลงทุนสามารถลงทุนรายเดือนได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้นักลงทุนมีวินัยในการออม สุดท้ายนี้ อย่าลืมศึกษาข้อมูลสินทรัพย์ที่คุณจะลงทุน ก่อนตัดสินใจลงทุนกันด้วยนะคะ 
โดย : ปานตา ฉัตรมาศฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาสินเชื่อส่วนบุคคล  ธนาคารกสิกรไทย

ไม่มีความคิดเห็น: