คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในความปรารถนาอันสูงสุดของพ่อแม่ คือความต้องการเห็นลูกประสบความสำเร็จ ทั้งเรื่องชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงาน ดังนั้น จึงเป็นความเต็มใจอย่างยิ่งของพ่อแม่ที่จะให้วิชาความรู้กับลูก ทั้งทักษะการดำเนินชีวิตและการศึกษาให้ได้เรียนสูงๆ เพื่อจะได้มีอนาคตการงานที่มั่นคง ดังที่หลายท่านมีทัศนคติว่าสิ่งที่พ่อแม่ให้ลูกได้ดีที่สุดคือ วิชาความรู้ที่จะติดตัวอยู่ตลอดไป ไม่ใช่เพียงทรัพย์สินเงินทองที่อาจหมดไปได้ ดังคำกล่าวที่ว่า “มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน”
แต่ถ้าหันมามองภาวะตลาดแรงงานไทยแล้วก็ต้องยอมรับความจริงที่ไม่ค่อยน่าชื่นใจเท่าไหร่ โดยเฉพาะในปัจจุบันซึ่งบัณฑิตปริญญาตรีจบใหม่จำนวนมากไม่สามารถหางานทำได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาคธุรกิจไม่ได้ขยายตัวเร็วเพียงพอที่จะสร้างตำแหน่งงานรองรับได้มากนัก อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริษัทต่างๆ ต้องการรับผู้จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น มีแนวโน้มลาออกไปเรียนต่อน้อยกว่า มีความรู้ความสามารถเหมาะกับเนื้องานมากกว่า เป็นต้น ทำให้เดากันได้ไม่ยากว่า การศึกษาในระดับสูงขึ้นน่าจะเป็นสิ่งเติมเต็มความปรารถนาของพ่อแม่ได้มากกว่า
การ เตรียมความพร้อมด้านการเงินเพื่อการศึกษาลูก จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่ต้องให้ความใส่ใจตั้งแต่เนิ่นๆ บทความนี้จะนำ 6 ขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อวางแผนการศึกษาลูกมาฝากกันครับ
1. ตั้งเป้าหมายการศึกษาให้ชัดเจน ว่า จะให้เรียนสูงสุดระดับไหนและเป็นหลักสูตรประเภทใด เช่น ถ้าตั้งเป้าให้เรียนถึงระดับปริญญาโทขณะที่ตอนนี้ลูกยังไม่เริ่มเรียนอนุบาล ก็ให้พิจารณาตั้งแต่ระดับอนุบาลเลยว่าจะเลือกเรียนหลักสูตรภาษาเดียว สองภาษา หรือนานาชาติ และไล่ไปเรื่อยๆ จนถึงระดับปริญญาโทว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ เอกชน หรือต่างประเทศ เพื่อจะได้พิจารณาค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ใกล้เคียงมากยิ่งขึ้น ข้อมูลค่าเล่าเรียนและค่าครองชีพก็สามารถดูได้จากเว็บไซต์ของสถาบันการศึกษา ที่เราสนใจ พร้อมทั้งต้องเผื่อค่าเล่าเรียนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย มอง คร่าวๆ ก็เฉลี่ยปีละ 5% ถึง 10% นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกประการหนึ่งคือ การเลือกสถานศึกษาที่เหมาะกับการดำเนินชีวิตของครอบครัว เช่น ใกล้บ้าน หรือเป็นทางผ่านของที่ทำงาน เพราะถ้าเลือกโรงเรียนดังแต่ต้องตื่นเช้ามากๆ ก็อาจให้ผลเสียมากกว่าผลดี
2. คำนึงถึงเป้าหมายอื่นๆ ของครอบครัวด้วย แม้ การศึกษาลูกจะมีความสำคัญ แต่ชีวิตครอบครัวย่อมมีเป้าหมายทางการเงินอื่นๆ ที่ขาดไม่ได้เช่นกัน เช่น การเตรียมตัวมีลูกคนต่อไป การซื้อบ้านใหม่ การซื้อรถยนต์ การท่องเที่ยวต่างประเทศ ฯลฯ ซึ่งก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว ดังนั้น เราจำเป็นที่ต้อง กำหนดลำดับความสำคัญของเป้าหมาย เริ่มด้วยการเขียนสิ่งที่ต้องการลงบนกระดาษ ระบุเวลาและงบประมาณที่น่าจะต้องใช้ในแต่ละเป้าหมาย แล้วจึงมาพิจารณาว่าควรเตรียมความพร้อมทางการเงินให้บรรลุเป้าหมายใดเป็น อันดับต้นๆ เช่น ถ้าเป็นเป้าหมายที่จำเป็นแต่ยังใช้เวลาอีกนาน (เช่น การเรียนปริญญาโทในอีกสัก 20 ปีข้างหน้า) ก็จะมีลำดับความสำคัญน้อยกว่าเป้าหมายที่จำเป็นปานกลางแต่ต้องทำในเวลาอัน สั้น (เช่น การซื้อบ้านใหม่ในอีก 2 ปีข้างหน้า) การจัดลำดับความสำคัญนี่แหละจะช่วยให้เราพิจารณาได้ว่า ควรจัดสรรเงินออมเพื่อเป้าหมายไหนก่อนเป้าหมายไหนหลัง
3. ประเมินความพร้อมและจัดทำเป้าหมายการออม เริ่มด้วยการสำรวจสถานะทางการเงินของครอบครัว ในแง่ของสินทรัพย์คือเงินที่เก็บออมไว้แล้วในปัจจุบัน และความสามารถในการออมคือรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตไม่ว่าจะมาจากรายได้ จากงานประจำ การลงทุน หรือธุรกิจส่วนตัว หักด้วยรายจ่ายเพื่อชำระหนี้สินและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของครอบครัว แล้วนำมาเทียบกับเป้าหมายที่เราจัดลำดับไว้แล้วก่อนหน้านี้ วิธีนี้ช่วยให้เราแปล “เป้าหมายการเงิน” ของเราออกมาเป็น “เป้าหมายการออม” เพื่อให้มองภาพได้ชัดขึ้นว่าเป้าหมายที่จะต้องเริ่มดำเนินการนั้นยังขาดเงินออมต่อเดือนอีกเท่าไหร่
4. เริ่มออมเงิน ก่อนอื่นแนะนำให้แต่ละครอบครัวตั้งเป้าให้มีเงินออมเป็นพื้นฐานไว้อย่างน้อย 6 เท่าของค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน เรียกว่าเป็น เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน (emergency funds) เช่น ถ้าเรามีรายจ่ายเฉลี่ยเดือนละ 20,000 บาท ก็ควรมีเงินสำรองดังกล่าวอย่างน้อย 120,000 บาท โดยการออมนี้ต้องอยู่ในรูปของสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงและความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝากออมทรัพย์ และกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น เท่านั้น เผื่อต้องนำเงินไปใช้ยามจำเป็นก็จะได้ไม่กระทบกับเงินที่เราออมไว้เพื่อเป็น ทุนการศึกษาลูกครับ
ลำดับต่อมา ต้องออมเงินอย่างสม่ำเสมอตามเป้าหมายเงินออมที่วางไว้ สิ่งสำคัญในการลงมือปฏิบัติคือ การมีวินัยการออม จุดนี้สำคัญมาก เพราะคนส่วนใหญ่คิดว่ากว่าลูกจะโตใช้เงินอีกนาน จึงเป็นที่มาของการผัดวันประกันพรุ่งไม่เริ่มออมสักที การแก้ไขปัญหาในจุดนี้ ขอแนะนำให้ทำ บัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อจะได้วิเคราะห์ว่ารายจ่ายใดจำเป็นและรายจ่ายใดเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยสามารถตัดลดลงได้ ซึ่งจะช่วยให้ครอบครัวออมเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ทั้งนี้ ท่านที่สนใจสามารถดาวน์โหลดโปรแกรมสมุดบันทึกเงินออมได้ที่ www.k-weplan.com โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด)
อีกเทคนิคหนึ่งที่เป็นประโยชน์คือ การออมก่อนใช้ คือเมื่อได้รายได้มาแล้วให้กันเงินบางส่วนไว้ อย่างน้อย 10% เป็นเงินออมไปเลย ส่วนที่เหลือจึงเป็นเงินสำหรับใช้จ่าย และหากใช้จ่ายคงเหลือเท่าไหร่แล้วก็ให้นำมาเป็นเงินออมเพิ่มอีก ถ้าทำได้แล้วก็ให้ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายขึ้น โดยอาจเป็น 15% หรือ 20% จากรายได้
5. นำเงินที่เริ่มมีมากขึ้นนี้ไปลงทุนและป้องกันความเสี่ยง เงิน ส่วนที่เกินจากที่กันไว้เป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินควรนำไปใช้ประโยชน์ให้งอก เงยเร็วขึ้นด้วย แต่เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำหรือปานกลางค่อนข้างต่ำ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น (เช่น K-Money) กองทุนรวมเพื่อลดหย่อนภาษีที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ (KGBRMF หรือ KSFRMF) เป็นต้น ทั้งนี้ รูปแบบการออมการลงทุนเพื่อการศึกษาบุตรก็มีอยู่อย่างหลากหลาย บทความฉบับหน้าจะอธิบายรายละเอียดในเรื่องนี้ครับ แต่ถ้าใครที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมทางการเงิน ก็สามารถส่งมาหาเราก่อนได้ที่ askk-weplan@kasikornbank.com
ในขั้นตอนนี้ สิ่งที่ต้องระวังคือการไม่เอาเงินเพื่อเป้าหมายการศึกษาลูกไปปนกับเป้าหมายอื่น หลายท่านก็มักจะหลงลืมหรือขาดความเคร่งครัด เช่น เห็นว่ายังอีกนานกว่าลูกจะเข้าเรียน เลยเอาเงินเพื่อการศึกษาลูกไป “หมุน” ด้วยการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าบ้าง ดาวน์รถบ้าง บางท่านเอาไปเก็งกำไรตลาดหุ้นเผื่อได้กำไร ซึ่งถ้าได้กำไรจริงก็รอดตัวไป แต่ถ้าขาดทุนเงินต้นสูญหาย ก็จะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการศึกษาลูกได้
ดังนั้น สำหรับท่านที่ชำนาญและต้องการลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง แนะนำให้แยก “บัญชีการออมเพื่อการศึกษาลูก” ซึ่งครอบคลุมเงินฝากต่างๆ รวมทั้งการลงทุนประเภทกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น ออกจาก “บัญชีลงทุนเพื่อการศึกษาลูก” ซึ่ง ตั้งใจไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง (แต่ยังต้องคงเงินออมสำหรับเป้าหมายการศึกษาลูกจำนวนเท่าเดิม) วิธีนี้ช่วยให้เงินในบัญชีเงินออมไม่ได้รับผลกระทบถ้าการลงทุนนั้นเกิดผลขาด ทุน และถ้าได้กำไรจากบัญชีลงทุนก็ให้เอากำไรไปออมเพิ่มในบัญชีการออมครับ
แต่ต้องเน้นย้ำตรงนี้ว่า การลงทุนอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบสุดท้าย คุณพ่อแม่ควรทำประกันความเสี่ยงต่างๆ ไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ ประกันโรคร้ายแรง เพื่อว่าในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่ความฝันหรือเจ็บป่วยซึ่งต้องใช้เงินรักษา จำนวนมาก ก็จะยังคงมั่นใจได้ว่าเงินทุนเพื่อการศึกษาลูกจะยังคงอยู่ต่อไป เรื่องนี้จำเป็นต้องเปลี่ยนทัศนคติต่อการทำประกันที่เคยมองกันว่าทำแล้วไม่ รู้จะได้ใช้ประโยชน์อะไร คุ้มหรือเปล่าก็ไม่รู้ มาเป็นการมองว่าช่วยป้องกันความเสี่ยงด้านการเงินที่อาจเกิดขึ้นกับครอบครัว ซึ่งการที่เหตุการณ์เสี่ยงจะเกิดขึ้นหรือไม่นั้น อันนี้ไม่มีใครตอบได้ เพราะความเสี่ยงคือความไม่แน่นอนซึ่งส่งผลด้านลบ และการทำประกันคือการป้องกันผลกระทบจากความเสี่ยงนั้น
6. ติดตามและปรับปรุงแผนอย่างสม่ำเสมอ หลังจากปฏิบัติไปได้ระยะหนึ่ง ก็ต้องคอยติดตามว่าสถานการณ์ต่างๆ หรือเป้าหมายครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปจากตอนแรกที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ เช่น การเพิ่มขึ้นของค่าเล่าเรียน ค่าครองชีพ รายได้ครอบครัว ความมั่นคงในอาชีพของตัว เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะมีผลให้เราต้องประเมินว่าควรเพิ่มเงินออมอีกหรือเปล่า แนะนำให้ติดตามผลทุก 6 เดือนครับ
ขั้น ตอนวางแผนการออมเพื่อการศึกษาบุตรทั้ง 6 ขั้นตอนนี้น่าจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เริ่มมั่นใจขึ้นได้ไม่มากก็น้อย ส่วนบทความฉบับหน้าจะมาลงรายละเอียดถึงแนวทางการลงทุนและผลิตภัณฑ์ทางการ เงินที่จำเป็นสำหรับการศึกษาลูกครับ
โดย : คนอง ศรีพิบูลพานิชย์ และฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์
ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาสินเชื่อส่วนบุคคล ธนาคารกสิกรไทย
ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาสินเชื่อส่วนบุคคล ธนาคารกสิกรไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น