วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

สิ่งที่ควรใคร่ครวญเรื่องการเรียนโฮมสคูล

เมื่อลองศึกษาและคิดดู ดิฉันมีความคิดว่า การศึกษาแบบโฮมสคูลนั้น ไม่ได้เหมาะสำหรับเด็กทุกคน หรือ ทุกครอบครัว แต่เหมาะสมกับครอบครัวที่มีลูกเล็ก ก่อนวัย 6 ขวบ ในช่วงก่อนประถมนั้น การจัดการศึกษาของลูกนั้น เป็นเพียงการฝึกฝนทักษะต่างๆ ทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และนิสัยต่างๆ เพราะเป็นช่วงที่ 5 Q นั้น จะเพาะพันธุ์ ฝังรากลงในจิตใจของลูกๆ แต่หากจะมาฝังตอนโต คือชั้นประถมนั้น จะยากแล้ว เพราะนิสัยเสียต่างๆ ฝังรากลึกพอควร และลึกมากขึ้นเรื่อยๆ หากจะถอนออก จะยิ่งเจ็บปวดทั้งลูกเองและพ่อแม่

(มีต่อในความเห็น)

4 ความคิดเห็น:

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

พ่อแม่หลายๆคน ซึ่งรวมถึงดิฉันด้วย ได้ส่งลูกไปเข้าเนอสฯ จ้า่งพีเลี้ยง ฝากญาติพี่น้อง ให้ดูแลลูกเล็ก หรือเอาไปเข้าโรงเรียนอนุบาล ทำให้เวลาที่ได้เห็นพัฒนาการทางด้านร่างกายและจิตใจ มีน้อยมาก เมื่อลูกมีปัญหาพฤติกรรมระยะแรกๆ บางทีพ่อแม่จะไม่เห็น ไม่ทราบ เช่น พฤติกรรมรังแกเพื่อน แย่งของเล่น ไม่เก็บของให้เข้าที่ เป็นต้น กว่าพ่อแม่จะทราบ เด็กก็ติดเป็นนิสัย แก้ไขยากพอควร พ่อแม่บางคนคิดว่า เอาลูกเข้าโรงเรียน เสียเงินแล้ว โรงเรียนต้องสอนลูกทุกอย่าง ให้ช่วยตัวเอง มีนิสัยที่ดี ซึ่งในความจริงแล้ว เป็นไปได้ยาก จำนวนครู 1 คน ต่อนักเรียน 5 คน 8 คน ทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง และ บางอย่างก็เห็นว่าไม่สำคัญ การที่พ่อแม่อยากให้ลูกสมบูรณ์พร้อมทั้ง 5 Q โดยที่เด็กเข้าโรงเรียน อาจจะเป็นไปได้ยากกว่า การที่พ่อแม่เลี้ยงดูลูกด้วยตนเอง หากพ่อแม่ใส่ใจ และทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ คอยชี้แจง บ่มเพาะนิสัยลูก ผ่านกิจกรรมในชีวิตประจำวัน คอยสังเกตวัชพืชกาฝากที่โผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ ตามเวลา ลูกก็จะเป็นเด็กที่สมบูรณ์ครบ 5 Q มากกว่า

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

อย่างไรก็ตาม หากลูกอยู่กับพ่อแม่ที่บ้าน ไม่เข้าโรงเรียน แต่พ่อแม่ ทำโฮมสคูลสอนเองอยู่บ้าน แต่ไม่จริงจังในการฝึกฝนนิสัย ไม่ปล่อยให้ลูกช่วยเหลือตนเอง ไม่แก้นิสัยลูกที่เอาแต่ใจ ก้าวร้าว ไม่สุภาพอ่อนน้อม เป็นต้น หรือ โอ๋กันเกินเหตุ เลี้ยงดูแบบ Little Price ก็จะไม่ต่างจกาส่งลูกไปโรงเรียน หนำซำ้อาจจะแย่กว่า เพราะไม่มีคนตักเตือน ไม่มีสังคมให้ฝึกฝน ดังนั้นพ่อแม่ที่คิดจะเลี้ยงดูลูกแบบโฮมสคูล ต้องมีวินัยมากๆ และต้องตั้งใจที่จะอบรม และฝึกทักษะทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ต่างๆ ของลูกอย่างจริงจัง ไม่ละเลย มิฉะนั้นเด็กอาจจะเพาะนิสัยไม่ดี และพลาดโอกาสในการพัฒนาตนเองให้เป็นไปตามศักยภาพของตัวลูกเองได้

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

แต่เมื่อเด็กย่างเข้าอยู่ประถม การเรียนการศึกษาของเด็กจะเป็นวิชาการมากขึ้น ก่อนที่พ่อแม่จะตัดสินใจจะเอาลูกเข้าสู่ระบบโฮมสคูล ต้องทบทวนศักยภาพของตนเองและครอบครัว และดูนิสัยของลูกด้วยว่า เหมาะกับการศึกษาแบบโฮมสคูลซึ่งต้องรับผิดชอบตัวเอง และต้องแสวงหาความรู้เองหรือไม่

บางครอบครัว ไม่ได้ตั้งใจจริงจังในการปลูกฝังการนิสัยรับผิดชอบ
รักเรียนให้กับลูกๆ ลูกเรียนบ้างไม่เรียนบ้างแล้วแต่อารมณ์ ต้องไล่ป้อน
ลูกไม่มีความเป็น Active Learner ไม่ชอบกิจกรรม ไม่รับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย
ไม่ชอบทำการบ้าน หัดคัดหัดเขียน เป็นต้น แบบนี้ลูกไม่เหมาะที่จะเรียนแบบโฮมสคูลค่ะ เพราะในขั้นที่สูงขึ้น คือประถมสาม ประถมสี่ วัย 8 ขวบขึ้นไป เด็กจะไม่เชื่อพ่อแม่เท่าไหร่ และเขาต้องเป็นผู้หาข้อมูล ฝึกฝนเอง ซึ่งถึงเวลานั้น ลูกอาจจะไม่รับผิดชอบกับการเรียนของเขาได้ ดังนั้นพ่อแม่ควรให้ลูกไปเรียนตามระบบจะดีกว่า เพราะมีครูและเพื่อนหรือสังคมคอยผลักดัน

อีกประการหนึ่ง หากพ่อแม่ไม่พร้อม ไม่มีเวลา หรือ ไม่มีความรู้ หรือ ไม่มีความชอบในการเรียนรู้ไปกับลูก พ่อแม่จะสอนลูกในวิชาที่ยากขึ้นไม่ได้ เช่นคณิต ภาษา วิทยาศาสตร์ เป็นต้น พ่อแม่บางคนเลือกให้ลูกเรียนแต่วิชาที่ตนเองถนัดสอน ลูกไม่ได้เรียนวิชาอื่นๆที่พ่อแม่ไม่ถนัด ทำให้ความรู้ไม่รอบด้าน ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนั้น เพราะทุกวิชา สุดท้ายล้วนเป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ และการดำรงชีพ จะขาดสิ่งใดไปไม่ควร แต่มีน้อยไม่เท่ากันได้ มันทำให้คนแตกต่างกัน

มีคนบางกลุ่มที่ต้องเลือกแนวทางการศึกษาแบบโฮมสคูล เช่น ทาทายัง ก็เป็นตัวอย่างของเด็กโฮมสคูล ด้วยพ่อแม่ของเธอ ได้ส่งเสริมเธอให้เป็นศิลปิน เวลาของการศึกษาจึงหมดไปกับการฝึกร้องเพลงอย่างหนัก
ในขณะที่เด็กอื่นๆ ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน สุดท้ายปัจจุบัน เธอเป็นศิลปินดังสมใจ แต่นิสัยบางอย่างก็ไม่โอเค เพราะพ่อแม่อาจจะละเลยเรื่องนิสัยบางอย่าง จะเห็นว่า
เธอเป็นคนที่ไม่ค่อยแคร์สังคม เพราะเธอไม่ได้เติบโต
ในระบบการศึกษาปกติที่มีสังคม วิธีคิด วิธีมองโลกของเธอ ไม่ค่อยเหมือนใครในสังคม

Rattana MNSHANG กล่าวว่า...

เท่าที่ดิฉันศึกษาดูในระบบของต่างประเทศ แม้เขาจะให้เด็กๆเรียนระบบโฮมาสคูลมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นแบบที่พ่อแม่ลูกสอนกันโดดเดี่ยว แต่จะมีการรวมกลุ่มกัน เรียนเป็นแบบ Playgroup มีการพบปะ ทำกิจกรรมร่วมกันตลอดเวลา ทุกวัน หรือ อย่างน้อยก็ทุกสัปดาห์ เด็กๆได้มีสังคมเพื่อนฝูง รู้วิธีใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่น ปรับตัวให้เข้ากับสังคมเด็กวัยเดียวกัน

พ่อแม่ที่ทำโฮมสคูลลักษณะนี้ จะแบ่งงานกันตามที่ถนัด รับผิดชอบคนละส่วน ทำให้พ่อแม่เหนื่อยน้อยลง เด็กได้เรียนรู้จากคนที่เชี่ยวชาญครบถ้วนทุกวิชา ช่วงเช้าเป็นกิจกรรมการเรียน ช่วงบ่ายเป็นกิจกรรมกลางแจ้ง มีการประชุมกลุ่ม คิดประดิษฐ์ผลงาน ฝึกนำเสนอในที่ชุมชน เป็นต้น

อีกอย่างคือจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา เช่น หากใครใช้ระบบการเรียนของ Charlotte Mason ก็จะคอยดูในเวบ ว่าเธอจะไปเปิดสัมมนนาที่เมืองใด ใกล้ที่บ้านหรือไม่ เมื่อไหร่ และจะจัดตารางเวลาพาลูกไปร่วมสัมมนา เพื่อได้พบปะกับกลุ่มพ่อแม่ลูก ที่เรียนระบบเดียวกัน ไ้ด้สร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ซึ่งเรียนระบบเดียวกัน อีกทั้งได้คุยและรับข้อมูลจากผู้ที่สร้างระบบ สามารถสอบถาม ซักถามจุดที่ยังไม่เข้าใจ หรือ มีปัญหาระหว่างการเรียนการสอนได้กระจ่าง

แต่ในระบบการศึกษาของโฮมสคูลของบ้านเรา มีพ่อแม่บางส่วน ไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างเครื่อข่ายพ่อแม่
และไม่ค่อยสนใจการพบปะกับพ่อแม่ท่านอื่นๆ ที่จะสามารถเรียนรู้และพัฒนาการเรียนการสอนร่วมกัน
ต่างคนต่างสอนเดี่ยวๆในบ้าน และสอนลูกตามสิ่งที่ตัวเองคิด ซึ่งอาจจะถูกหรือไม่ก็ได้ แต่ลูกๆก็ไม่มีสิทธิ์เลือก เพราะพ่อแม่เป็นคนเลือกไว้ทั้งหมด เรื่องนี้ต้องระวังมากๆ

ในความคิดเห็นของดิฉัน เมื่อเด็กอยู่ในระดับประถม พ่อแม่ควรที่จะยึดหลักสูตรเป็นมาตรฐานด้วย เนื้อหาต้องครอบคลุมตามหลักสูตรทุกวิชา แต่วิธีการเรียนการสอน สามารถเลือกตามจริตของลูก เช่นการสอนเลข ในโรงเรียนอาจจะสอนจากสูตรสำเร็จที่ท่องจำ เรียนที่รู้จากทฤษฎี๊บทต่างๆ แต่หากเรียนแบบ โฮมสคูล ก็สามารถเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ผ่านการเล่นอุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น

ดิฉันอ่านบทความที่กล่าวว่า จะมีการเปิดโรงเรียนชาวนา สอนลูกหลานชาวนา เรื่องการปลูกข้าว ตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ ถึงเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ดี เพราะลูกหลานเกษตรกร ได้เรียนรู้ในสิ่งที่เขาจะยึดเป็นอาชีพลึกซึ้ง แต่ต้องพึงระลึกว่า วิชานี้ จะเป็นวิชาหนึ่งที่เรียนเพิ่มของโรงเรียนนี้ แต่เด็กๆก็ต้องเรียนวิชาอื่นๆ ตามหลักสูตรปกติดด้วย เพื่อให้รอบรู้สมบูรณ์ เช่น คณิต วิทย์ สุขศึกษา ภาษาไทย เป็นต้น

คำว่า "หลักสูตร" ไม่ได้หมายถึง ต้องเป็นหลักสูตรที่กระทรวงกำหนด เราจะใช้หลักสูตรต่างประเทศก็ได้ แต่ขอให้สอบเทียบวัดระดับได้ผ่านตามมาตรฐาของ
ประเทศก็พอ ในความคิดของดิฉัน แม้ตัวเองจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับใบประกาศรับรองต่างๆ แต่ต้องให้เกียรติลูก ให้โอกาสลูกได้มี เผื่อเขาอาจจะต้องใช้ เรื่องอนาคตไม่มีใครรู้ ว่าลูกจะเป็นอะไร จะเลือกอะไร สิ่งที่ลูกเลือก อาจจะไม่ตรงกับที่เราอยากให้เป็น ดังนั้น การที่ดิฉันจะสอนโฮมสคูลให้ลูก ดิฉันจะต้องเปิดโอกาสทุกๆบาน ทุกๆด้านให้ลูก ให้เขาลองดู ชิมดู ว่าสนใจหรือไม่ แล้วให้เลือกเอง ซึ่งหากเราดูแลใกล้ชิด และทำโฮมสคูลจริงจัง ในช่วง
ุ6 ปีแรก เราคงเห็นและประเมินได้ ว่าลูกมีศักยภาพประมาณไหน นิสัยพื้นฐานเป็นอย่างไร และชอบอะไร แล้วจึงส่งเสริมไปในสิ่งที่เขาเลือก แต่หากพ่อแม่ไม่ดูแลจริงจัง ไม่สังเกต ก็จะมองไม่ออกค่ะ และเด็กก็ค้นหาตัวเองไ่ม่เจอ เด็กสมัยนี้ เรียนจบปริญญาตรี ปริญญาโท ยังไม่พบตัวเอง ว่าตัวเองชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เพราะวิธีการเรียน การสอน วิธีเลี้ยงดู ทำให้เด็กหาตัวเองไม่เจอ เรื่องนี้ต้องระวัง ุุ