ได้ตอบกระทู้หนึ่งด้วยความตั้งใจ เกีี่ยวกับพ่อแม่ที่มีลูกที่เก่งไม่เท่ากัน คิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับคนอื่น จึงขอนำมาเก็บที่นี่ด้วย
อยากแบ่งปันประสบการณ์จริงของตัวเอง เผื่อคุณแม่ๆจะได้เข้าใจความรู้สึกของลูกนะคะ แต่อยากบอกว่า เด็กแต่ละคนอาจจะไม่ได้คิดแบบดิฉันทุกคน พ่อแม่ต้องสังเกต
ตอนเล็กๆ ดิฉันและน้องสาว เรียนชั้นเดียวกันค่ะ เราไม่ใช่ลูกแฝด เป็นพี่น้องกันแท้ๆ แต่ดิฉันเป็นเด็กเรียนอ่อนกว่าน้อง น้องเรียนเก่งมาก ตอนอยู่อนุบาล คุณครูให้ดิฉันเรียนซำ้ชั้น ซึ่งเป็นปีเดียวกับน้องสาวเข้าโรงเรียนพอดี ทำให้เราเรียนชั้นเดียวกันมาตลอด ตั้งแต่นั้นมา
น้องสาวของดิฉันสอบได้ที่หนึ่งทุกปี ได้เปอร์เซ้นต์สูงมาก ส่วนดิฉันเรียนกลางๆ ได้ที่กลางๆ น้องได้รางวัลเยอะ จากญาติพี่น้อง แต่ดิฉันไม่เคยได้เลย ดิฉันก็ไม่เข้าใจนะคะ ตอนเล็กๆ แต่ก็อยากได้ของ รู้สึกน้อยใจ เสียใจ และคิดว่า ใครๆไม่รัก ทำให้เป็นเด็กมีปัญหา ดื้อ ไม่ตั้งใจเรียน และขี้หงุดหงิด ขี้โมโห เพราะำไม่มีความสุข เกลียดบ้าน เกลียดครอบครัว เกลียดญาติพี่น้อง เพราะมันอยู่ในจิตใต้สำนึกว่า แต่ละคนไม่ยุติธรรม เวลาไปบ้านญาติ หรือ เจอเพื่อนพ่อแม่ แต่ละคนก็ชื่นชมน้อง และถามว่า ทำไมเราสู้น้องไม่ได้ เจ็บปวดมากค่ะ กดดันมากๆ แต่โชคดีที่ดิฉันได้เรียนโรงเรียนดี คุณครูคอยให้กำลังใจ และมอบหมายให้รับหน้าที่สำคัญในชั้น เป็นหัวหน้าเวร หัวหน้าห้อง และช่วยงานโรงเรียน นำสวดมนต์ นำร้องเพลงชาติ มาตลอด แต่น้องไม่ได้รับเลือก
เมื่อย้ายโรงเรียนตอนมัธยม มีคุณครูจากโรงเรียนใหม่ท่านหนึ่ง มีเมตตา ท่านเรียกดิฉันมาคุย เพราะท่านก็เป็นอาจารย์ของน้องสาว และดิฉันเอง ท่านเห็นความแตกต่างของเราพี่น้อง และเห็นใจ ท่านบอกดิฉันว่า ท่านเข้าใจและเห็นใจในความรู้สึกที่ดิฉันรู้สึกด้อย แต่อยากชี้ให้เห็นว่า ดิฉันนั้น มีจุดเ่ด่นของตัวเอง ที่น้องไม่มี จุดเด่นและน่าภาคภูมิใจ น่าชื่นชมก็คือ ความมีนำ้ใจ ความกล้าหาญ ซึ่งหาคนเทียบยาก น้องของดิฉันมีจุดเด่น คือ ความมีปัญญาและความจำดี แต่ละคนจะประสบความสำเร็จในวิถีของตัวเอง ดิํฉันไม่ควรน้อยใจ หรือ รู้สึกด้อยค่า แต่กลับต้องภาคภูมิใจในความดีงามของตนอันนี้
ดิฉันบอกไม่ถูกว่ารู้สึกอย่างไร มันเหมือนกับดอกไม้บานออกมา เราเห็นตัวเอง เราบอกกับตัวเองว่า นี่คือฉันหรือ ฉันเป็นคนดีกับเขาเหมือนกัน เป็นคนมีค่า จุดนี้เป็นจุดพลิกผันที่สำคัญของชีวิตค่ะ หาไม่มีคำชี้นี้ ของคุณครูท่านนี้ ชีวิตของไร้ทิศทาง เพราะมองตัวเองไร้ค่า ไม่มีความสามารถมากขึ้นทุกวัน ยิ่งน้องดี น้องเก่ง เราก็ยิ่งเลว
คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกแตกต่างกันแบบนี้ ต้องมองลูกตัวเองให้เจอว่า ลูกแต่ละคน ตัวตนของเขาคืออะไร เด็กแต่ละคนแม้เป็นฝาแฝด เขาก็เป็นปัจเจกบุคคล เขาแตกต่างกัน ไม่ต้องให้เขาทำอะไรเหมือนๆกัน ชอบอะไรเหมือนกัน แต่งตัวเหมือนกันก็ได้ ให้เขาแตกต่าง และยอมรับว่า เขาเป็นคนที่แตกต่างกัน ส่งเสริมและให้กำลังใจ ให้เขา ทำในสิ่งที่เขาถนัด และเป็นตัวเขาเถิด และบอกเขาค่ะ แม้เขาจะเด็ก ก็บอกให้เขารู้ว่า แต่ละคนมีจุดดี จุดเด่นอย่างไร ที่ไม่ต้องเหมือนกัน ให้เขาชื่นชมและภูมิใจในตัวเอง ที่แตกต่างกันเถืดนะคะ คุณเท่านั้น ที่จะช่วยให้กำลังใจลูกได้
ให้กำลังใจน้องเขาด้วยนะคะ
5 ความคิดเห็น:
ในเรื่องการจัดการกับปัญหานี้ จากประสบการณ์นะคะ แต่ละวัย การแก้ปัญหาจัดการจะไม่เหมือนกัน แต่สิ่งแรกที่ต้องทำ ในฐานะพ่อแม่ คือการปรับทัศนคติของตัวเอง ที่มีต่อลูกแต่ละคน
โดยธรรมชาติของพ่อแม่นั้น รักลูกทุกๆคน เมื่อลูกคลอดออกมาตัวเล็กๆ แบเบาะ พ่อแม่ก็มักจะรัก ทะนุถนนอมห่วงใย พอๆกัน แต่เมื่อเลี้ยงๆไป ธรรมชาติพื้นฐานนิสัย สุขภาพของเด็กแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เด็กบางคน เลี้ยงยากตั้งแต่เล็ก งอแง เป็นโคลิค ท้องอืด ทำให้ร้องไห้ทั้งวัน ทั้งคืน แต่ลูกบางคน เกิดมาเลี้ยงง่ายร่างกายแข็งแรง กินแล้วนอน ไม่ร้องโยเย ทำให้ พ่อแม่ ไ่ม่เหนื่อย เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ที่พ่อแม่ก็มักจะรัก ชื่นชม และชื่นใจกับลูกที่อ้วนท้วนแข็งแรง ไม่งอแง และจะหงุดหงิดลูกที่งอแง ร้องไห้ทั้งวัน บทสนทนาในใจ ที่มีต่อลูกที่งอแง ร้องทั้งวัน คือ ลูกคนนี้น่าเบื่อ เลี้ยงยาก ลูกคนนี้มีปัญหา
เมื่อพ่อแม่หรือคนรอบข้างมีทัศนคติอย่างไรกับเด็กก็แล้วแต่ อัตโนมัติ การกระทำก็จะสะท้อนออกมา บางทีเราพูดกับคนที่เราไม่ชอบ หรือ คนที่เรารู้สึกน่าเบื่อ นำ้เสียง สำเนียง สีหน้า แววตา และคำพูด ก็ออกมาต่างกัน ทำให้เด็กรับรู้และสัมผัสได้ค่ะ มันออกมาโดยอัตโนมัติ จากจิตใต้สำนึกของเราเอง ซึ่งเราไม่รู้ตัวด้วยซำ้ ว่าเราเป็นแบบนี้ แต่คนอื่นจะสังเกตเห็นได้
ดังนั้นในการจัดการกับปัญหานี้ พ่อแม่ต้องล้างทัศนคติเกี่ยวกับลูกทั้งสามคนออกไป เด็กแต่ละคน มีจุดดี และจุดด้อยของตัวเองทุกๆคน ไม่มีเด็กคนใดเกิดมาสมบูรณ์แบบ เด็กแต่ละคน แม้จะเป็นฝาแฝด ไข่ใบเดียวกัน ก็มีนิสัยบางอย่างที่แตกต่างกัน ดังนั้น เราต้องมองดูให้ลึกซึ้ง ว่าลูกแต่คน มีพื้นฐานนิสัยเป็นอย่างไร นิสัยดีอย่างไร เสียอย่างไร
ในการเป็นพ่อแม่ เหมือนเราเป็นคนปลูกต้นไม้ หลายๆพันธุ์ พืชแต่ละพันธุ์ มีจุดออ่นจุดแข็ง มีข้อควรระวัง และต้องใช้สูตรปุ๋ย และปริมาณนำ้ อุณหภูมิ ที่แตกต่าง เรานั้นควรชื่นชมลูก ในจุดที่ลูกทำดี ทำถูกต้อง และจุดที่เป็นจุดเด่นของเขา แต่ในขณะเดียวกัน เราต้องให้กำลังใจลูก ในการลด หรือ แก้ไข จุดด้อยของเขาด้วย
สำหรับลูกของคุณมนจ ลองดูสิคะ ว่า ลูกคนกลางมีจุดเด่น หรือข้อดีอย่างไร เทียบกับพี่น้องของเขา เด็กบางคน วาดรูปเก่ง ร้องเพลงเก่ง หรือ มีนำ้ใจมักช่วยเหลือ รักสัตว์ ลองสังเกตดู และตัวคุณเอง ก็ควรภาคภูมิใจกับจุดเด่นของเขา เมื่อคุณภาคภูมืิใจในความน่ารักและความเก่งของลูกอย่างจริงใจ คุณจะแสดงออกมาเองโดยธรรมชาติค่ะ สีหน้าและแววตา เมื่อคุณเอ่ยปากชื่นชมเขา มันจะมีพลังให้ลูกสัมผัสได้เอง ว่า เขาเก่ง เขาดีจริงๆ มันเป็นพลังให้เขาได้ค่ะ
(ยังมีต่อ)
ในลูกวัยเล็กๆ ที่ยังคุยไม่ค่อยรู้เรื่อง เช่นลูกก่อนเข้าโรงเรียน หรืออยู่ชั้นอนุบาล สิ่งที่คุณควรทำกับลูกแต่ละคน คือ การกอดลูก คนนั้นที คนนี้ที ไม่จำเป็นต้องกอดพร้อมๆกันสามคน หรือจูบคนนี้เสร็จต้องคนนั้น พ่อแม่บางคนกลัวลูกน้อยใจ หาว่ารักลูกไม่เท่ากันค่ะ ทำอะไรต้องทำพร้อมกันหมด คนนี้ได้คนนั้นก็ต้องได้ หรือบางคน ก็ไม่กล้าให้ลูกคนนี้ต่อหน้าลูกคนนั้น หรือ ไม่กล้ากอดลูกจูบลูกต่อหน้ากัน กลัวน้อยใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ ดูไม่ธรรมชาติ ไม่จริงใจ เด็กรู้สึกได้ค่ะ
ดิฉันเองมีลูกสองคน วัยเล็กมากๆ แรกๆ คนโตก็น้อยใจ เวลาเห็นเราอุ้มหรือกอดลูกคนเล็กนะคะ แต่เราก็อธิบายใ้ห้ฟัง ว่า เรารักเขาและน้องเท่าๆกัน รักที่สุด แต่ตอนนี้น้องยังเล็ก หรือ ตอนนี้น้องกินนม หรือ น้องปวดท้อง น้องไม่สบาย เราต้องดูแลก่อน เราต้องรักน้อง และสอนให้เขารักน้องด้วยกัน ตอนนี้ลูกคนที่สองเริ่มรู้ความ เห็นเราให้พี่ ไม่เหมือนกับเขา เช่น กินขนม หรือ อ่านหนังสือ ระบายสี ซึ่งเขาทำไม่ได้ เขาก็เริ่มแสดงอาการ ดิฉันก็ใช้วิธีอธิบายต่อหน้าลูกคนโต ด้วยว่า ตอนนี้ลูกยังเล็ก ยังทำไม่เป็น ยังเคี้ยวไม่เป็น แม่จึงยังไม่ให้ ลูกแต่ละคนไม่เหมือนกัน ยังไม่ถึงเวลา อะไรแบบนี้
การกระทำทุกอย่างของพ่อแม่ ต้องมาจากใจ เป็นธรรมชาติ และควรมีคำอธิบายให้ลูกฟังเสมอๆ เป็นการค่อยๆปลูกฝัง ว่า เขากับพี่น้องเป็นคนละคนกัน พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องปฎิบัติกับลูกทุกคนเหมือนๆกัน หรือเท่าๆกัน เพราะแต่ละคนแตกต่างกัน ดิฉันดูแลลูก 2 คน ตามวัย ตามนิสัย ของเขาเอง แต่ก็มีหลายๆอย่างที่เป็นระเบียบ เป็นสิ่งที่ต้องทำเหมือนๆกัน เพราะมันเป็นหน้าที่ของคน แต่ในรายละเอียด การกิน การทำกิจกรรม การเล่น ต่างๆ การแต่งตัว กีฬา ต้องค่อยๆดู และพัฒนาเขาตามแบบที่เขาเป็นค่ะ
หากลูกเล็กๆ เราต้องทำซำ้ๆ พูดบ่อยๆ กอดบ่อยๆ ชื่นชมบ่อยๆ ในจุดที่ีเขาแตกต่าง และควรชื่นชมพี่น้อง แต่ละคน ให้เขาฟังด้วย ว่า แต่ละคนดีอย่างไร เก่งอย่างไร ซึ่งบอกเขาว่า เห็นไม๊ แต่ละคนเก่งไม่เหมือนกัน แตกต่างกัน เราไม่ต้องน้อยใจ หรือคิดว่าเราไม่ดี สู้คนอื่นไม่ได้
การกระทำแบบนี้ เป็นการปลูกฝังให้เด็กเล็กๆ เข้าใจว่า คนเรานั้นแตกต่างกัน เขาไปโรงเรียน เจอเพื่อน เจอครู ที่ไม่เหมือน พ่อแม่ที่บ้าน ไม่เหมือนพี่น้อง เขาก็ปรับตัวได้ง่าย เพราะเขาเข้าใจว่า คนเราไม่เหมือนกัน เหมือนกับที่เขาและพี่น้อง ไม่เหมือนกัน
ข้อสำคัญ พ่อแม่ อย่าพยายาม แต่งตัวลูกเหมือนๆกัน แม้จะเป็นลูกแฝด เพราะมันทำให้เด็กเข้าใจว่า เขาเหมือนกัน ต่อไป คนหนึ่งเป็นอย่างหนึ่ง อีกคนหนึ่งก็จะต้องพยายามเป็นเหมือนกัน แม้จะไม่ใช่สิ่งที่ชอบ คนหนึ่งแต่งงาน อีกคนไม่ได้แต่ง หรือ ไม่มีแฟน ก็จะมีปัญหาด้านจิตใจค่ะ เรื่องนี้มีเรื่องจริง
(เดี๋ยวมีต่อ)
เมื่อลูกโตแล้ว เป็นเด็กประถม เด็กวัยนี้จะเรื่มช่างคิด และจะเข้าใจอะไรมากขึ้น เขาอาจจะไม่ถาม แต่จะตีความเอาเอง เช่น พ่อแม่ให้น้องแบบนี้ แปลว่า พ่อแม่รักน้องมากกว่า ไม่รักเขา หรือ พ่อแม่ชมพี่แบบนี้ แปลว่า พี่ดีกว่า เขามันไม่มีใครเอา
ความรู้สึกแบบนี้ การตีความแบบนี้ เป็นเรื่องอันตรายและน่าห่วงมาก เด็กจะไม่พูดออกมานอกจากเวลาที่คับแค้นใจจริงๆ แต่เราเป็นพ่อแม่จะสังเกตได้จากพฤติกรรมของลูกค่ะ เช่น ลูกก้าวร้าว หงุดหงิด ไม่มีความสุข ผลการเรียนไม่ดี หรือ หลบหน้าหลบตา เก็บตัว ซึมเศร้า ต้องดูค่ะ ว่ามีอาการ แบบใด
และเมื่อเด็กตีความแบบนี้ หรือ รู้สึกแบบนี้ เขาจะมองเห็นพฤติกรรมทุกอย่างที่พ่อแม่ทำกับพี่ กับน้อง แล้วเปรียบเทียบกับตัวเองโดยอัตโนมัติ และสรุปกับตัวเองว่า ไม่มีใครรักเรา เรามันไม่เก่ง เราไม่ดีพอ เป็นต้น และความคิดแบบนี้ จะนำพาเด็กไปสู่การติดเพื่อน ติดเกมส์ ติดการ์ตูน ติดยาเสพติด ตอนเด็กๆดิฉันติดนิยายรักค่ะ ติดมากๆ เพราะมันพาเราออกจากโลกแห่งความจริง โลกที่เราไม่มีความดีใดๆ ไม่มีค่า ไม่มีตัวตน (ในความรู้สึก)
สิ่งที่พ่อแม่จะทำกับลูกๆ ที่อยู่ในวัยนี้ ควรเป็นเรื่องการให้คุณค่า ให้ความสำคัญ เช่น การมอบหมายหน้าที่ๆสำคัญ สำหรับดิฉัน จำได้ไม่ลืม ที่รอดจากปัญหา ไม่เสียคน เพราะคุณครูในโรงเรียน ให้ความสำคัญค่ะ มอบหมายหน้าที่หัวหน้าห้อง หัวหน้าเวร หัวหน้ากลุ่ม เป็นคนนำร้องเพลงชาติ สวดมนต์
จำได้ว่า คุณครูบอกว่า เราเป็นเด็กดี มีความรับผิดชอบสูง และเป็นคนกล้าหาญ เราทำได้ ครูไว้ใจมาก และขอให้ทำหน้าที่ให้ดี เป็นตัวอย่างกับเพื่อนๆ
อันนี้ภูมิใจมากๆค่ะ ทุกครั้งที่จะทำตัวเหลวแหลก ก็จำได้ถึงคำๆนี้ รู้สึกว่า เราสำคัญ เรามีค่า
การมอบหมายหน้าที่ๆสำคัญให้กับลูกตามวัย อาจจะดูเหมือนทำให้ลูกลำบาก แต่ที่จริง มันเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้เด็กๆ ลองดูว่าลูกนิสัยเป็นอย่างไร เช่น
หากลูกชอบต้นไม้ รักต้นไม้ ก็มอบหมายการดูแลต้นไม้ให้ลูก บอกว่าหากลูกไม่ดูแลมันดีๆ หรือ ไม่ใส่ใจ จะทำให้มันตาย ทำให้บ้านเราไม่มีต้นไม้ เป็นต้น
ก่อนที่จะมอบหมายหน้าที่ ต้องอธิบายโน้มน้าวให้เขาเห็นว่า งานที่เขาทำนี้ มีคุณค่า มีความสำคัญอย่างไร กับทุกๆคนในบ้าน หากไม่มีเขา เราต้องลำบากอย่างไร และทำไม เขาจึงได้รับเกียรติให้ทำงานนี้ ไม่ใช่พี่น้องคนอื่นๆ ต้องเขาเท่านั้น
เรื่องนี้สำคัญนะคะ หากคุณมอบหมาย โดยไม่อธิบาย ว่าทำไมเขาต้องทำ ในขณะที่พี่น้องไม่ต้องทำ จะกลายเป็นว่า คุณรักพี่น้องของเขามากกว่าเขา กลัวลูกคนอื่นลำบาก แต่ไม่สงสารเขาเลย เรื่องนี้ดิฉันก็เจอมาแล้ว เกลียดพ่อและแม่มากเลยค่ะ แต่ก่อน กว่าจะมารู้ก็เกือบสายแล้ว
ข้อดีของการมีพี่น้องเยอะๆ คือ ลูกๆสามารช่วยเหลือ เล่นกันเองได้ โดยให้พี่สอนน้อง เราจะมีเวลาว่างมากขึ้น หากเลี้ยงถูกวิธีนะคะ เราต้องสอนให้ลูกรักกัน เห็นข้อดีจุดเ่ด่นของกันและกัน และคนที่เก่งอะไร ก็ช่วยคนอื่น และเรียนรู้จากกันและกัน หากคุณสอนลูกให้เล่นพวก หมากฮอส Crossword หรือ แม้แต่การเขียนไดอารี่ ใครวาดเก่งก็วาดเป็นรูป ใครเขียนเก่ง ก็เขียนออกมา จะเป็นการพัฒนาทักษะหลายๆด้านของลูก และการทำกิจกรรมแบบนี้ ลูกต้องอยู่กับตัวเองค่ะ เขาก็จะกวนคนอื่นน้อยลง แต่ที่สำคัญเราต้องให้กำลังใจลูกไปเรื่อยๆ ดูผลงาน ชื่นชม จนกิจกรรมเหล่านี้ ปลูกฝังเป็นนิสัย แล้วต่อไปเขาก็จะฝึกฝน จนเป็นจุดเด่นที่ยากหาคนเทียบได้
เออ... ดิฉันสังเกตเด็กมาเยอะ ที่บ้านพี่น้องเยอะค่ะ หลานก็แยะ สังเกตว่า เด็กที่งอแง ขี้หงุดหงิด มักจะเป็นเด็กที่มีอารมณ์อ่อนไหวค่ะ ขี้น้อยใจ และขี้อิจฉา ชอบเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้วน้อยใจ แต่น้องๆเหล่านี้ จะมีอารมณ์ศิลปินมากเลย เช่น พวกงานละเอียดอ่อน วาดรูป ระบายสี การเขียน การแต่งกลอน อะไรพวกนี้ และหลายๆคนก็เก่งทางดนตรีค่ะ หากส่งเสริมดู เห็นมีแวว ไปทางนี้ก็ดี อาจจะเป็นนักโฆษณา ทำพวกงานกราฟฟิค ตอนโตได้ หรือพวกออกแบบ อินทีเรียต่างๆ ที่เล่านี่ เพราะเห็นพ่อแม่บางคนก็ยึดติด ลูกผู้ชายต้องชอบกีฬา เรียนวิทย์ คณิตเก่งๆ อะไรแบบนี้ พวกวาดรูปศิลปะ เป็นเรื่องเด็กอ่อนแอ เด็กผู้หญิง เมื่อคิดแบบนี้ก็มาผลักดัน และคอยกังวลว่าลูกผิดปกติหรือเปล่า ยิ่งแย่ไปใหญ่
เดี๋ยวมาต่อ
มาเรื่องเด็กที่โตบ้าง ที่เขียนมานั้น เรื่องการมอบหมายความรับผิดชอบ ทำให้เด็กรู้สึกตัวเองมีคุณค่า มีความสามารถ เท่าที่ประสบการณ์ผ่านมา จะใช้ได้กับเด็กตั้งแต่ประถม ถึงมัธยมค่ะ ประมาณ ไม่เกิน 15 ปี แต่หากเด็กโตกว่านั้น ค่อนข้างจะแก้ไขยาก เพราะความน้อยเนื้อตำ่ใจนี้สะสม มานานมากๆ เป็นสิบปี และเด็กก็สร้างพฤติกรรมไม่ดีไปมากแล้ว เด็กวัยรุ่นปัจจุบันหลายๆคน พวกเด็กซิ่ง เด็กแว้นท์ เด็กก๊อยต่างๆ ก็มาจากความรู้สึกแบบนี้ คือรู้สึกไร้ค่า สังคมไม่ยอมรับ กลายเป็นเด็กเกกมะเหรกเกเร ไปเลย
การที่จะเหนี่ยวรั้ง ทำให้เด็กไม่น้อยใจ เห็นคุณค่าของตน ก็มาจากผลงานของตนเองเท่านั้น ยกตัวอย่างดิฉันเอง ในช่วงวัยนั้น การเรียนไม่เอาไหน แต่การงานที่โรงเรียนเด่น ได้ืำทำหนังสือโรงเรียน เป็นบรรณาธิการ มีหลักฐานจนทุกวันนี้ เห็นทีไรก็ภูมิใจ และ เป็นประธานนักเรียน ที่บุกเบิก ทำให้โรงเรียนเปลี่ยนวิืธีการสอน เป็นนักเรียนชั้น ม. 6 สอบไล่จบเดือนมกราคม เหลือ 2 เดือน คือ กุมภาพันธ์ มีนาคม เรียนติวสอบเข้ามหาวิทยาลัยอย่างเดียว การเปลี่ยนแปลงนั้น มาจากการเขียนจดหมายคำร้องของดิฉันเอง ซึ่งศิษย์รุ่นปัจจุบัน ก็เรียนแบบนี้ถึงทุกวันนี้ เพราะเด็กสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้มากเป็นประวัติศาสตร์ของโรงเรียน
แต่เด็กคนอื่นๆ อาจจะมีเหรียญ เรียนดีในวิชาที่ถนัด หรือ รางวัลงานศิลปะต่างๆ หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นความภาคภูมิใจของเขา สิ่งนี้ทำให้เด็กรู้ดีว่า เขาเก่ง และมีจุดเด่นที่ไม่เหมือนใครอย่างไร สิ่งนี้จะเป็นกำลังใจ และสร้างความภาคภูมิใจแก่เขา ในยามที่เขาต้องเผชิญความทุกข์ยากในภายหน้าค่ะ
สรุปแล้ว พ่อแม่และความภาคภูมิใจของพ่อแม่ที่มีต่อลูก เปิดโอกาสให้ลูกรับผิดชอบหน้าที่ที่สำคัญ ที่เสริมจุดเด่นของเขา จะทำให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเอง และภาคภูมิใจในตัวเองได้
ให้กำลังใจพ่อแม่ และน้องๆทุกคน นะคะ ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ ใต้ฟ้านี้ เด็กๆทุกคน ประสบความสำเร็จได้ มีค่าทุกๆคนแหละ
แสดงความคิดเห็น